ข้าราชการต้องเลิก"ปอดแหก"ต่อการเมือง...โปรดฟังอีกครั้ง 24 ตุลาคม 2549 18:56 น.
ใครวิพากษ์กระทรวงการคลัง ในยุค 'ประชานิยม' ก็ไม่ชัดเจน และ 'เตะผ่าหมาก' ได้เหมือนคุณชาย 'อุ๋ย' หรือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เพราะท่านเคยเดินเข้าออกแวดวงราชการและเอกชนด้านนี้มานมนาน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
วันนี้ มาเป็นรองนายกฯและรัฐมนตรีคลัง 'หม่อมอุ๋ย' จึงบอกกล่าวให้คนทั้งหลายได้รู้ว่าเวลาข้าราชการถูกการเมืองครอบงำมากๆ นั้น สามารถเสียผู้เสียคนได้ถึงขนาดไหน
สำนักงานเศรษฐกิจและการคลังที่วงในเรียกขานอย่างคล่องแคล่วว่า 'สศค.' ครบรอบการก่อตั้ง 45 ปี เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้รัฐมนตรีคลังคนใหม่มีโอกาสเปิดใจให้ได้ฟังกันอย่างตรงไปตรงมา...เปิดหูเปิดตาชาวบ้านอย่างพวกผม ว่างั้นเถอะ
คุณชายอุ๋ย บอกว่า ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้วางระบบให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นเสาหลักด้านการเงิน และให้ สศค.เป็นเสาหลักด้านนโยบายการคลัง
ตลอด 25 ปีแรก สศค.ทำหน้าที่ได้ดี และเป็นที่ยอมรับ แต่ในความเห็นของคุณชายปรีดิยาธร นั้น
"ในระยะหลัง ดูเหมือนว่าภาพความเป็นเสาหลัก สังคมจะไม่รับรู้เท่าไรนัก..."
"ไม่รับรู้เท่าไร" ดูเหมือนจะเป็นความเห็นที่เบาและสุภาพ เพราะหม่อมอุ๋ย พูดต่อว่า
"โดยเฉพาะในช่วง 4 ถึง 5 ปี ที่ผ่านมา สศค. ไม่ได้ทำหน้าที่ในการทัดทานนโยบายรัฐบาลที่อาจจะมีผลเสียต่อภาคการคลังในอนาคตเท่าที่ควร บางเรื่องที่ผมเคยร่วมประชุมอยู่ ผมก็เห็นว่ามีการทัดทานอยู่บ้าง แต่บางเรื่องก็ทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้ใช้มาตรการการคลัง และมาตรการกึ่งการคลังที่มีผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยไม่ยอมทัดทาน ทั้งที่รู้ว่านโยบายประชานิยมเหล่านั้นใช้เงินไม่คุ้มค่า และบางมาตรการมีผลเสียในระยะยาว แต่ไม่มีใครกล้าที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวออกมาให้สังคมได้รับทราบ ทั้งที่ความจริงมันมีศิลปะอีกมากมายที่จะทัดทานได้ โดยไม่เกิดความขัดแย้ง..." คุณชายอุ๋ย พูดต่อ เรื่องการใช้เงินงบประมาณของรัฐบาลก่อนก็เป็นประเด็นสำคัญ
"ถ้าไม่สามารถทัดทานได้ ก็ต้องมีการวางกฎเกณฑ์ให้การใช้จ่ายทำอย่างโปร่งใสที่สุดและตรวจสอบได้ หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องทำหน้าที่ที่ประเมินสรุปความเสี่ยง และรายงานให้ทราบ ถ้า สศค. ไม่ทำหน้าที่เหล่านี้ทั้งที่เป็นด่านสุดท้าย ประเทศจะอยู่อย่างไร?" ถ้าข้าราชการบอกว่าพวกเขากลัวอำนาจการเมืองล่ะ? รัฐมนตรีคลังคนใหม่บอกว่า
"ผมเข้าใจ และเห็นใจข้าราชการทุกคน เพราะทุกคนรับราชการเป็นอาชีพ ได้รับเงินเดือนก็ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าตกงานก็คงลำบาก มีลูกมีเมียที่ต้องรับผิดชอบ ถูกบีบ ถูกครอบ จนสุดท้ายก็ต้องทำ แต่ผมขอยกประโยคของอาจารย์ป๋วยมาเตือนใจ เพราะคำพูดคำนี้เป็นหลักการทำงานของผมเสมอ คือ
คนเราถ้าทำงานโดยไม่ยึดติดเก้าอี้ ก็ตัดสินใจได้ถูกต้องเสมอ..."
ผมยกคำพูดของหม่อมอุ๋ยทั้งพวงมาให้อ่านกันในคอลัมน์นี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เห็นว่าข้าราชการภายใต้ระบอบทักษิณนั้น ทำงานอยู่ในบรรยากาศแห่งความกลัวและเป็นอันตรายต่อประเทศชาติอย่างไร แต่กำลังจะบอกกับข้าราชการทั้งประเทศว่า วันนี้ 'ฟ้าใส' แล้ว ข้าราชการจะต้องสามารถลุกขึ้นมาทักท้วง ทัดทานและทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาของประชาชน (ที่เป็นเจ้านายที่แท้จริงของข้าราชการทั้งหมด) โดยไม่ต้องหวั่นเกรงต่ออำนาจหรืออิทธิพลทางการเมือง
เพราะหนึ่งในแกนสำคัญของรัฐบาลนี้ ได้ออกมาบอกเองว่าข้าราชการต้องไม่ 'ปอดแหก' (คำของผมเอง) เพราะความปอดแหกต่อนักการเมืองนั้น นำมาซึ่งความหายนะแห่งประเทศได้อย่างที่เห็นกัน เพราะเมื่อข้าราชการกลัวนักการเมืองฉ้อฉล และเพราะกลัวตกงาน ก็เป็นได้แต่เพียงขี้ข้า และ 'สุนัขรับใช้' (ภาษาคอมมิวนิสต์ที่ยังทันสมัยในวันนี้) ที่ไม่สนใจว่าประเทศชาติถูกปล้นสะดมไปแล้วอย่างไรบ้าง
วันนี้ เมื่อรองนายกฯ คนนี้ ออกมาเท้าความให้เห็นว่า คนของ สศค. เคย 'ปอดแหก' กับระบอบทักษิณอย่างไร ก็ได้เวลาแล้วที่อย่างน้อยคนรุ่นใหม่ที่มีอุดมการณ์เพื่อบ้านเพื่อเมืองในองค์กรนี้ (และแน่นอน หน่วยราชการทั้งหลายทั้งปวงที่ไม่ได้รับเกียรติถูกเอ่ยถึงด้วย) ที่จะแสดงความกล้าหาญ ความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง ด้วยการทำหน้าที่ของตัวเองอย่างไม่เกรงกลัวต่ออิทธิพลทางการเมือง หรือการเงิน หรือความพยายามจะครอบงำใดๆ ทั้งสิ้น
ต้องกล้าทั้งเปิดโปงความชั่วร้ายของระบอบทักษิณ และต้องกล้าที่จะวิพากษ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลชุดนี้ด้วย...http://www.bangkokbiznews.com/2006/10/25/u001_147880.php?news_id=147880เป็นคำแนะนำที่ดี น่าสนใจมาก 