ความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาฯโดย เกษียร เตชะพีระเช้านี้ ผมเพิ่งไปไหว้วีรชน 14 ตุลาฯ และ 6 ตุลาฯ มา...
ปกติสัปดาห์หรือสองสัปดาห์ครั้ง ผมจะซื้อพวงมาลัย 2 พวง ไปไหว้ประติมากรรม
อนุสรณ์เหตุการณ์ประชาชนลุกขึ้นสู้เผด็จการ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์
ล้อมปราบฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชน 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ที่หน้าหอประชุมใหญ่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มาลัยพวงหนึ่ง ผมจะคล้องมือรูปจำลองวีรชน
14 ตุลาฯ แล้วพนมมือไหว้พลางน้อม
รำลึกถึง
"สิทธิเสรีภาพ"อีกพวงหนึ่ง ผมจะวางบนกลางแท่นหินอ่อนรำลึกวีรชน
6 ตุลาฯ แล้วพนมมือไหว้
พลางน้อมรำลึกถึง
"ความเป็นธรรมทางสังคม"แน่นอน คำว่า "ความเป็นธรรมทางสังคม" เมื่อ 30 ปีก่อนนั้นถูกตีความว่าเท่ากับ
"ลัทธิสังคมนิยม" ก่อนที่วิกฤตทางการเมืองของขบวนการปฏิวัติไทยใต้การนำของ
พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและวิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมสากลในสอง
ทศวรรษต่อมาจะทำให้การตีความนี้ค่อยๆ เลือนหายไป
แต่กระนั้น ความใฝ่ฝันถึง "ความเป็นธรรมทางสังคม" ก็ยังดำรงอยู่
สำหรับ "คนเดือนตุลาฯ" รุ่นผม, แนวคิดอุดมการณ์ทั้งสองที่แทนตนโดยเหตุการณ์
ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ 2516 และ 6 ตุลาฯ 2519 มีความแตกต่าง แต่ก็มีความ
ต่อเนื่องเกี่ยวพันกันอยู่ อาจกล่าวได้ว่า ในแง่หนึ่ง ถ้าไม่มีสิทธิเสรีภาพ ก็ไม่อาจต่อสู้
แสวงหาความเป็นธรรมทางสังคม, ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีความเป็นธรรมทางสังคม
สิทธิเสรีภาพที่ได้มาก็ไม่มีความหมาย-อย่างน้อยก็ไม่มีความหมายต่อสังคม ต่อเพื่อน
มนุษย์ร่วมชาติร่วมโลกและร่วมทุกข์ร่วมสุขคนอื่นๆ แม้ว่ามันอาจจะมีความหมายต่อ
ปัจเจกบุคคลก็ตาม แต่นั่นไม่เพียงพอ
การแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของความแตกต่างทว่าต่อเนื่องเกี่ยวพันของสองแนวคิด
อุดมการณ์ดังกล่าวก็คือ (พันธมิตรสามประสาน: กรรมกร-ชาวนา-นักศึกษาปัญญาชน)
ที่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้อย่างสันติในเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบเปิดช่วง
3 ปี ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พ.ศ. 2516 แล้วคลี่คลายไปสู่การต่อสู้ด้วยอาวุธใน
ชนบทภายหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และเผด็จการคืนชีพต่อมา
ผมอยากเสนอว่า อุดมการณ์ 14 ตุลาคมและ 6 ตุลาคม หรือนัยหนึ่ง
อุดมการณ์เดือน
ตุลาฯ อันได้แก่ (สิทธิเสรีภาพ+ความเป็นธรรมทางสังคม) ดังกล่าวมานี้ได้
"แตกสลาย
ลงแล้ว" ในปัจจุบัน และเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายแห่งความแตกสลายที่ว่าก็คือการ
แบ่งแยกแตกข้างของพลังประชาชนในสังคมไทยท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง
อันเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาลทักษิณในรอบปีที่ผ่านมานั่นเอง
มันใช้เวลาถึง 30 ปีกว่าที่อุดมการณ์เดือนตุลาฯ จะอ่อนล้าลง ทว่าในที่สุดก็ดูเหมือน
ว่ามันจะโรยราแล้ว
ความข้อนี้สะท้อนออกให้เห็นได้ง่ายผ่านความขัดแย้งในหมู่เพื่อนพ้องน้องพี่ "คนเดือน
ตุลาฯ" ด้วยกันเอง ซึ่งต่างแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แตกข้างแยกค่าย ด่าทอประณามกันเอง
ชุลมุนวุ่นวายจนเละเป็นวุ้นไปหมดในระยะที่ผ่านมา
ข้างหนึ่งก็มีหมอพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, หมอสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี, ภูมิธรรม เวชยชัย,
จาตุรนต์ ฉายแสง, สุธรรม แสงประทุม, พินิจ จารุสมบัติ, อดิศร เพียงเกษ, เกรียงกมล
เลาหไพโรจน์, พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ฯลฯ
ส่วนอีกข้างได้แก่ ธีรยุทธ บุญมี, พิภพ ธงไชย, ประสาร มฤคพิทักษ์, หมอเหวง
โตจิราการ, เจิ่มศักดิ์ ปิ่นทอง, แก้วสรร อติโพธิ, ชัยวัฒน์ สุรวิชัย, คำนูณ สิทธิสมาน,
ชัชริทนทร์ ไชยวัฒน์, ยุค ศรีอาริยะ, สุวินัย ภรณวลัย ฯลฯ
ในประเด็นแหลมคมร้อนแรงต่างๆ ที่สืบเนื่องจากการต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่ากรณี
ขอให้ทรงใช้พระราชอำนาจตามมาตรา 7 แห่งรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อพระราชทาน
นายกรัฐมนตรี, กรณีตุลาการภิวัตน์, และกรณีรัฐประหาร 19 กันยายน, หรือในหมู่อดีต
นักเคลื่อนไหวปัญญาชนรุ่นถัดๆ มา เช่น รุ่นพฤษภาประชาธรรม 2535, รุ่นปฏิรูป
การเมืองและการเมืองภาคประชาชน 2540 ก็ตาม ความขัดแย้งแบ่งฝ่ายก็ดุเดือด
ไม่แพ้กัน
ความรุนแรงของความขัดแย้งเหล่านี้ถึงขั้นเว็บไซต์บางแห่งของเพื่อนพ้องน้องพี่ "คน
เดือนตุลาฯ" และอดีตสหายจากป่า "เซ็นเซอร์" ข้อเขียนของธงชัย วินิจจะกูล ที่โพสต์
มาจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา และคณะกรรมการสโมสร19 ของอดีต
สหายภาคอีสานใต้ก็ถูกเพื่อนสมาชิกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการแสดงท่าทีทางการเมือง
ที่ค่อนข้างใกล้ชิดรัฐบาลทักษิณอย่างหนักจนต้องประกาศลาออกทั้งชุดกลางคันเพื่อ
เปิดทางให้เลือกตั้งกันใหม่
อย่างไรก็ตาม หลักฐานแห่ง
ความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาฯ ที่แท้จริงคือการที่พลังประชาสังคมคนชั้นกลางที่เรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการเมือง-เศรษฐกิจ
แตกหักแยกทางกับพลังเครือข่ายมวลชนรากหญ้าในเมืองและชนบทที่เรียกร้องความ
เป็นธรรมทางเศรษฐกิจสังคม อย่างเด็ดขาดชัดเจนตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา โดยฝ่ายแรก
ต่อต้านรัฐบาลทักษิณที่เป็นตัวแทนอำนาจการเมืองของชนชั้นนายทุนใหญ่ในประเทศ
แล้วหันไปร่วมกับชนชั้นนำตามประเพณีขับโค่นรัฐบาลทักษิณ ในขณะที่ฝ่ายหลังสนับ-
สนุนปกป้องรัฐบาลทักษิณ
นับเป็นตลกร้ายทางประวัติศาสตร์ ที่คนชั้นกลางพากันไปหวังพึ่งชนชั้นนำ ทหาร
ข้าราชการ-เทคโนแครต หรือหากจะเรียกในภาษาคนเดือนตุลาฯ แต่เดิมก็คือชนชั้นนำ
"ขุนศึกขุนนางศักดินา" ว่าจะนำมาซึ่งสิทธิเสรีภาพแก่ตน
ในทางกลับกัน มวลชนรากหญ้าชั้นล่างก็กลับหวังพึ่งชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาดว่าจะ
อำนวยความเป็นธรรมแก่ตนเช่นกันน้อยนักที่เราจะได้เห็น
จิตสำนึกหลงผิดที่กลับหัวกลับหางทับซ้อนกันสองชั้น (double
false consciousness) อย่างนี้ในสังคมการเมืองเดียว!
และถ้าหากนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) อย่างการแปรรูปรัฐ-
วิสาหกิจเป็นของเอกชน, การเปิดเสรีกิจการสาธารณูปโภค, การทำข้อตกลง FTAs,
รวมทั้งกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนและคอร์รัปชั่นทางนโยบายต่างๆ อาทิ การขายหุ้น
ชินคอร์ปให้เทมาเส็กสิงคโปร์ ฯลฯ ของรัฐบาลทักษิณ เป็นหลักฐานความหลงผิดของ
ฝ่ายหลังแล้ว...
บรรดาประกาศคำสั่งของ คปค. โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับ พ.ศ. 2549
ก็คือ หลักฐานความหลงผิดที่ชัดแจ้งที่สุดของฝ่ายแรกนั่นเอง!
แต่สิ่งเหล่านี้ต่างก็มีที่มาของมัน การที่คนชั้นกลางฝากความหวังเรื่องสิทธิเสรีภาพ
ของตนไว้กับชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินาแทนที่จะเป็นชนชั้นนายทุนใหญ่ ก็มิใช่
เพราะลักษณะอำนาจนิยม-อาญาสิทธิ์-อัตตาธิปไตยของรัฐบาลนายทุนใหญ่ที่ละเมิด
ลิดรอนหลักนิติธรรม รัฐธรรมนูญและสิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของ
ผู้คนพลเมืองใต้การปกครองอย่างกว้างขวางโจ่งแจ้งตลอด 5 ปีที่ผ่านมาดอกหรือ?
จนในที่สุด รัฐบาลนายทุนใหญ่ก็ผลักไสคนชั้นกลางกลุ่มต่างๆ ที่ควรเป็นฐานการเมือง
ของตนได้ให้ไปเป็นพันธมิตรของชนชั้นนำขุนศึกขุนนางศักดินาเสีย
พูดให้ถึงที่สุด
การนำที่ผิดพลาดของทักษิณในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค
ไทยรักไทยนี่แหละที่ผลักการปฏิวัติกระฎุมพีของไทยให้ถอยหลังไปนับสิบปี!ในทางกลับกัน การที่มวลชนรากหญ้าฝากความหวังเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ
สังคมของตนไว้กับชนชั้นนายทุนใหญ่ผูกขาด ก็เพราะทางเลือกเศรษฐกิจชุมชน-
พอเพียงนั้นลำบากยากเข็ญเนิ่นช้ายาวนาน เรียกร้องความปักใจมั่นเสียสละอดทน
อดกลั้นอดเปรี้ยวไว้กินหวานมองการณ์ไกลสูง,ไม่ใกล้มือและไม่จูงใจเท่าทางเลือก
ประชานิยมเพื่อทุนนิยม + บริโภคนิยม (capitalist&consumerist populism) ของ
รัฐบาลนายทุนใหญ่ มิใช่หรือ? จนในที่สุด มวลชนรากหญ้าที่เคยเป็นฐานให้ชนชั้นนำ
ขุนศึกขุนนางศักดินาเอาชนะการท้าทายที่ใหญ่โตที่สุดที่รัฐของพวกเขาเคยเผชิญมา
ในสงครามประชาชนกับคอมมิวนิสต์เมื่อ 20 ปีก่อน ก็กลับกลายเป็นฐานคะแนนเสียง
เลือกตั้งและฐานมวลชนในการเคลื่อนไหวชุมนุมที่กว้างใหญ่และเหนียวแน่นยิ่งของ
พรรคชนชั้นนายทุนใหญ่แทน
พูดให้ถึงที่สุด การที่มวลชนรากหญ้าส่วนมากหันไปนิยมนโยบายประชานิยมเพื่อ
ทุนนิยม+บริโภคนิยมที่รัฐบาลนายทุนใหญ่หว่านโปรยมาก็สะท้อนขีดจำกัดแห่งพลัง
ฝืนขืนทวนกระแสหลักของแนวทางเศรษฐกิจชุมชน-พอเพียงนั่นเอง
การแสวงหาสิทธิเสรีภาพจากขุนศึกขุนนางศักดินา และการแสวงหาความเป็นธรรมจาก
นายทุนใหญ่ผูกขาด รังแต่จะนำไปสู่ทางตันเหมือนกัน
การหลงทางและป่าวประณามซึ่งกันและกันระหว่างอดีตสหายร่วมขบวนการหรือร่วม
อุดมการณ์สามารถผลิตซ้ำตัวมันเองไปได้ไม่มีที่สิ้นสุดบนพื้นฐานซีกส่วนต่างๆ ของ
อุดมการณ์เดือนตุลาฯ เดียวกันนั้นเอง
ไม่มีคำค่าประณามของฝ่ายไหนผิดหมด แต่ก็ไม่มีฝ่ายที่ร้องด่าประณามผู้อื่นคนใดจะ
ถูกถ้วนเช่นกัน (แน่นอน คงรวมทั้งผู้เขียนด้วย) เพราะขีดจำกัดที่ยิ่งใหญ่เบื้องหน้าเรา
เป็นขีดจำกัดแห่งความเป็นจริงของพลังการเมืองและทางเลือกในประวัติศาสตร์ของ
สังคมไทยเองโดยรวม, เป็นขีดจำกัดของทั้งชนชั้นนำตามประเพณีและของชนชั้น
นายทุนใหญ่ผูกขาดที่ขึ้นมาใหม่, และเป็นขีดจำกัดของทั้งพลังประชาสังคมของคน
ชั้นกลางและของพลังเครือข่ายมวลชนรากหญ้าชั้นล่างด้วย
ที่สำคัญ มันเป็นขีดจำกัดที่แยกสลายอุดมการณ์เดือนตุลาฯ ให้แตกแยกออกเป็นเสี่ยงๆ
อย่างถึงรากถึงโคนจนยากจะมองเห็นว่ามันจะกลับมาฟื้นฟูเชื่อมประสานเป็นปึกแผ่น
เดียวกันอย่างไรต่อไปในอนาคต
ที่มา มติชน วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10450
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01201049&day=2006/10/20ขอไว้อาลัยให้กับความแตกสลายของอุดมการณ์เดือนตุลาฯ
ความแตกแยกระหว่างประชาชนกลุ่มต่างๆ
ขอความปรองดองสมานฉันท์และสันติสุขจงคืนกลับมาสู่ประเทศไทย
อันเป้นที่รักยิ่งของเราทุกคน ... โดยเร็ว
ขอให้ความเกลียดชังอคติจงหายไปจากใจ ... ด้วยเทอญ
หมายเหตุ เพลงประกอบ อย่าโกรธกันเลย ของ สาวสาวสาว ท่อนแรก (เก่ามาก)