ถ้าเราเชื่อว่าจะผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้จริง เราต้องไปทำและพยายามทำให้ได้บทสัมภาษณ์ : ศาสตราจารย์ ดร. สุรพล นิติไกรพจน์อาจารย์มีความเห็นอย่างไรที่มีข้อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
แห่งชาติ โดยศิษย์เก่าและนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวนหนึ่งผ่านทาง
Website แห่งหนึ่ง ผมได้ดูข้อเรียกร้องและรายชื่อตลอดจนความเห็นต่างๆ ของผู้ลงชื่อแล้ว แต่ก็ยัง
รออยู่
ว่าเมื่อไหร่จะมาพบหรือยื่นหนังสือ จะได้ถือโอกาสพูดคุยทำความเข้าใจกันว่าเหตุผล
ของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไรในเรื่องนี้ แต่ก็ยังไม่เห็นนัดมาพบ ก็ยังคงทราบจาก Website
เท่านั้น แต่ก็ถือกันว่า
เป็นเรื่องปกติธรรมดาในประชาคมธรรมศาสตร์ที่ต้องมีความเห็นใน
เรื่องการเมืองการปกครอง และมีแนวคิดที่แตกต่างกันไปในลักษณะอย่างนี้
ถ้าไม่มี
ปฏิกิริยาอะไรหรือทุกคนเห็นด้วยเหมือนกันไปหมด นั่นแหละจะเป็นเรื่องที่แปลกของ
ธรรมศาสตร์ รู้สึกประหลาดใจไหมที่มีอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐ ๑๔ คน ได้รับแต่งตั้งให้เป็น
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่มีคนเรียกร้องให้อธิการบดีธรรมศาสตร์คนเดียว
ลาออก ผมก็ไม่ประหลาดใจอะไรนะ เพราะเข้าใจอยู่แล้วว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยทาง
การเมืองการปกครอง และเริ่มต้นมาอย่างนั้น ประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ก็ผูกพันอยู่กับการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและการเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมมาตลอด
เพราะฉะนั้นตำแหน่งอธิการบดีธรรมศาสตร์ จึงมีที่อยู่เฉพาะของมันในบริบททางการเมือง
ของสังคมไทย พูดอย่างนี้ไมได้หมายความว่าดีเลิศหรือวิเศษกว่าอธิการบดีที่อื่นๆ แต่ผม
คิดว่า
อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีพันธะและหน้าที่ต่อประชาคมธรรมศาสตร์ และ
ต่อการเมืองไทยที่หนักกว่าที่อื่นๆ และจะต้องตอบคำถามและถูกมองในเรื่องระบอบ
ประชาธิปไตยและจุดยืนทางการเมือง มากกว่าที่อื่น คุณต้องไม่ลืมนะว่ามหาวิทยาลัย
แห่งนี้เมื่อเริ่มสถาปนาขึ้นเมื่อ ๗๒ ปี ที่แล้ว มีชื่อดั้งเดิมเรียกว่า มหาวิทยาลัยวิชาธรรม-
ศาสตร์และการเมือง และความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกือบทุกครั้งในประเทศนี้ มี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือคนของมหาวิทยาลัยนี้ ไปเกี่ยวข้องโดยตลอด นี่ก็คง
อธิบายตำแหน่งแห่งที่และ ภาระต่อสังคม ของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่
บ้างตามสมควรว่า มันไม่เหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ
การถูกเรียกร้องหรือถูกตรวจสอบ
ในเรื่องจุดยืนทางการเมืองของคนที่อยู่ตรงนี้ ก็คงต้องถือว่า เป็นเหตุการณ์ปกติ ถ้าอย่างนั้น อาจารย์จะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อข้อเสนอและการเรียกร้อง ผมเห็นว่า
ข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึกที่ผมได้อ่านจาก Website ฉบับนี้
ก็มีเหตุมีผลและสามารถอธิบายข้อเสนอที่เรียกร้อง ให้ทำได้ แต่ก็ต้องเรียนด้วยว่าข้อเสนอ ความคิด
และแนวทางต่อเรื่องนี้ของผมเองก็มีอยู่ และก็เชื่อว่ามันก็มีเหตุผลที่ควรรับฟังเช่นกัน
นอกจากนั้น ก็มีข้อเสนอและความคิดของคนอื่นๆ ที่แจ้งมาให้ผมทราบทั้งทางจดหมาย
โทรศัพท์ และที่มาขอพบเป็นการส่วนตัว ซึ่งมีจุดยืนที่ตรงกันข้ามกับจดหมายเปิดผนึก
ฉบับนี้ก็มีอยู่มาก ผมฟังๆ เขาดูก็เห็นว่ามีเหตุมีผลรับฟังได้เช่นเดียวกัน เพียงแต่ไม่ได้มี
คนเอาไป Post ใน Website หรือไม่ได้มีการเรียกร้องให้มาลงชื่อด้วยเท่านั้น เพราะงั้น
ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่ควรให้ความสนใจก็คือ เหตุผลและคำอธิบายสำหรับจุดยืนของแต่
ละคน นี่เป็นสาเหตุที่ผมบอกกับนักข่าวที่มาถามผมว่า ผมยังไม่มีความเห็นอะไรในเรื่องนี้
แต่จะรอให้มีคนมายื่นจดหมายแล้วเราได้นั่งคุยกัน และแลกเปลี่ยนความเห็นและเหตุผล
ผมคิดว่าผมควรจะฟังเขาให้มากกว่าที่เขาเขียนมาในจดหมายสั้นๆ นั้น และในทางกลับกัน
เขาก็ควรจะได้มีโอกาสฟังเหตุผลและจุดยืนของผมด้วย ว่าฟังได้หรือไม่ได้ เพราะอะไร
ผมไม่คิดว่าการ Post ความเห็นใน Website ข้างเดียวตามที่บางคนอยากจะพูด แล้วไม่
ฟังใครอื่นเลยแม้แต่กระทั่ง คนที่เราไม่เห็นด้วยนั้น มันจะนำไปสู่การพัฒนาจิตวิญญาณ
แบบประชาธิปไตยหรือแม้แต่ทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญาอะไรขึ้นมาได้ เพราะ
ฉะนั้น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมรอให้ผู้ที่เรียกร้องมายื่นจดหมาย แล้วจะได้พบตัวและคุยกัน
เพื่อแลกเปลี่ยน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องปิดห้องคุยกันสองคนนะ จะมีนักข่าว จะมีใครมาฟังก็ยินดี
เพราะ
ผมก็เข้าใจว่านี่เป็นประเด็นสาธารณะ ตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่เขาเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็น สมาชิกสภานิติบัญญัติ ก็เป็นตำแหน่งสาธารณะ
เพราะเรื่องอย่างนี้
ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ระหว่างอธิการบดีกับนักศึกษาคนนั้นหรือคนนี้เป็น
การเฉพาะอยู่แล้ว
จำนวนคนที่ลงชื่อและที่จะมายื่นจดหมายมีผลหรือมีความสำคัญไหม ไม่ ผมคิดว่าจะลงชื่อมาสามคนหรือสามร้อยคนหรือสามพันคนก็มีน้ำหนักเท่ากันสำหรับผม
ความสำคัญขึ้นอยู่กับคำอธิบาย กับเหตุและผลของเรื่อง ที่จริงก็ไม่ต้องรอจนกระทั่งมีคน
มาลงชื่อมากๆ หรอก มาพบผมตอนนี้ก็ได้จะได้คุยกัน จะได้หารือ ถกเถียง เรื่องเหตุและผล
และเรื่องความเหมาะสมของการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบนี้ของคนเป็นอธิการบดี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันเสียให้ชัดเจน แต่นี่ผมห่วงก็มีแต่เพียงว่าถ้าเกิดมาหลายร้อย
หรือมาเป็นพัน ผมจะไม่มีที่ให้นั่งและไม่รู้ว่าจะอธิบายและแลกเปลี่ยนกับคนไหนดีเท่านั้น
ล่ะ แต่ผมเรียนว่าผมอยากให้หลายคนที่ลงชื่อจริงและให้เหตุผลที่ดีน่าฟัง เช่น อาจารย์
จอน หรืออาจารย์ธงชัย หรือคุณวัฒนชัย มาด้วยน่ะ เพราะผมเคารพในความคิดเห็นของ
คนเหล่านี้ ที่ Post ไว้ และคิดว่ามีเหตุมีผลอยู่ ก็เลยอยากจะแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกัน
และกันในเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้นด้วยว่าทำอย่างไรจึงจะดีที่สุดในสถานการณ์อย่างนี้
ในเชิงเนื้อหาของการเรียกร้อง อาจารย์มีข้อชี้แจงอะไรที่คิดว่าควรจะอธิบายหรือตอบ
สำหรับผู้เรียกร้องในตอนนี้บ้างไหม ถ้าให้ตอบตอนนี้ก็เป็นการตอบผ่านสื่อหรือตอบผ่าน Website อยู่ดี มันไม่ได้มีโอกาส
ซักไซร้ไล่เรียงหรือแย้งหรือค้านกันได้ แต่ผมคิดว่าหลักใหญ่ๆ ที่ผมจะอธิบายจุดยืนของ
ผมในเรื่องนี้คงจะมีสัก ๓-๔ ประเด็นนี้คือ
ข้อแรก ผมไม่เห็นด้วยและคัดค้านการใช้กำลังทำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญและ
ระบอบประชาธิปไตย นี่เป็นจุดยืนที่ชัดเจนของผมมาโดยตลอด เชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็น
อีกเรื่องหนึ่ง แต่ผมคิดว่าตลอดชีวิตทางวิชาการ ๒๕ ปีของผม ผมได้พูด ได้เขียน และ
ได้เสนอ ความเห็นและจุดยืนของผมในแนวทางนี้มาตลอด ผมไม่คิดว่าคนจะเปลี่ยนกัน
ได้ชั่วข้ามคืน ถ้ากลับไปเปิดดูสิ่งที่ผมคิด เขียนและให้สัมภาษณ์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่มีอยู่
ในที่ต่างๆ ไม่น้อย ก็จะพบหลักฐานอย่างนี้ปรากฏอยู่ และถ้าเลือกได้ในวันนี้ ผมก็เลือกที่
จะให้ ไม่มีเหตุการณ์วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ และให้กลไกของระบบซึ่งอาจพิกลพิการ
ไปบ้างค่อยๆ ปรับแก้ เยียวยาด้วยตัวมันเอง แต่คำถาม ที่ต้องถามต่อไปก็คือ วันนี้ วันที่
๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙ และ
เรากลับไปเปลี่ยนสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตได้หรือไม่ และจะทำ
ให้ คปค. หรือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หายไป รัฐบาลและสภารักษาการที่มีอยู่
เมื่อ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๙ กลับมาได้หรือไม่ มีรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ฟื้นคืนกลับมาได้หรือ
ไม่ คุณก็รู้คำตอบอยู่แล้วว่าในชีวิตจริงมันคืออะไร
(
แทรก) แต่ก็มีคนบอกว่า แม้ย้อนอดีตไม่ได้ แต่เราก็มีทางเลือกที่จะไม่ร่วมสังฆกรรม
หรือไปเกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนหรือเป็นพวกกับฝ่ายที่ทำรัฐประหารเพราะนั้นก็คือการ
สนับสนุนการใช้กำลังล้มล้างระบอบประชาธิปไตยโดยปริยาย มันคงขึ้นอยู่กับสถานภาพของแต่ละคนในขณะนั้น ผมไม่ปฏิเสธว่าในสถานภาพของนัก
วิชาการหรือคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ รัฐบาลหรือองค์กรของรัฐ จะสามารถแสดงจุดยืน
ได้ดีกว่า ที่จะไม่เกี่ยวข้อง ไม่ยอมรับ เรียกร้องให้คืนระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกกฎ
อัยการศึก แต่ผมถามว่า ถ้าสมมุติว่าข้อเรียกร้องเหล่านี้ ซึ่งผมเห็นด้วยนะ ว่าให้เลิกกฎ
อัยการศึกโดยเร็ว ยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุม ทางการเมือง ถ้ามันเป็นจริงแล้ว สเต็ปต่อไป
คืออะไร มันก็คือเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและประชาชนมีส่วน
ร่วม สร้างโดยเร็ว ก็ต้องติดตามว่ารัฐธรรมนูญใหม่จะมีมาได้อย่างไร ก็ต้องมีคนทำ
ยกร่าง จะไปเสกเป่าให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หายไป รัฐบาลคุณสุรยุทธ์หาย
ไป สนช. หายไป แล้วรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ฟื้นคืนชีพมาใหม่ มันทำได้ไหมล่ะ ผมว่าใน
ระดับหนึ่งเราต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ และระบอบการปกครองตาม
รัฐธรรมนูญนี้ถูกเลิกไปแล้วโดยการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการประหารรัฐ และประหารรัฐ-
ธรรมนูญโดยใช้กำลัง ถ้าจะให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย อย่างที่เราเรียกร้อง
มันก็ต้องเขียนขึ้นใหม่ พิจารณายกร่างใหม่ ทีนี้ใครจะเป็นคนทำ? จะให้คณะรัฐประหาร
ไปยกร่างกันเองเพื่อที่จะเอามาด่ากันต่อว่า ไม่เป็นประชาธิปไตยหรือ สืบทอดอำนาจ
เผด็จการหรือ แล้วจากนั้นก็มีการต่อสู้เรียกร้อง มีความขัดแย้งแล้วก็นำไปสู่ความแตก-
แยกในชาติอีก ผมคิดว่าคนที่เชื่อเรื่องต้องไม่ไปเกี่ยวข้อง ไม่ไปสนับสนุน ต้องคิดต่อต้าน
คณะรัฐประหารก็มีเหตุมีผลของเขา ผมเองก็มีความคิดอย่างนี้ แต่ถ้ามองประเทศชาติ
และมองสังคมไทยโดยรวม ผมคิดว่า ในสถานภาพของผมที่เป็นอยู่ทั้งในทางส่วนตัวที่
ผมเป็นนักวิชาการ ทางกฎหมายมหาชน และในสถานภาพของอธิการบดีมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมากจะน้อยมันมีความเป็นสัญลักษณ์ของอะไร บางอย่างอยู่ เป็นเรื่อง
ที่
ผมควรจะต้องเข้าไปทำอะไรเพื่อสังคมไทยในวันพรุ่งนี้ เพื่อให้มีกติกาที่ดีขึ้นบ้าง ตาม
กำลังความสามารถ ที่จะผลักดันได้ ผมก็เข้าไปทำ ก็มีเท่านั้น
แต่คนตั้งคำถามว่าอธิการบดีธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยประชาธิปไตย
ไม่ควรเอาสถาบันเข้าไปแปดเปื้อน และถึงเข้าไปก็ทำอะไรไม่ได้เท่าไหร่หรอก หรือว่าได้
ไม่คุ้มกับที่เสีย ผมไม่ปฏิเสธหรอกว่าถึงแม้จะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ
เป็นส่วนตัวเป็นชื่อนายสุรพล แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็เป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์และเวลา
ไปประชุมผมก็เป็นนายสุรพลซึ่งเป็นอธิการบดีธรรมศาสตร์ไปประชุมนั่นเอง แต่ขอเรียน
ว่า เมื่อวานนี้ (๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๙) มีประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมีเรื่องที่
ให้สภามหาวิทยาลัยเสนอชื่อตัวแทนไปเป็นสมาชิก สมัชชาแห่งชาติ ตามที่สกอ. แจ้ง
มาเป็นหนังสือ และมีคนตั้งประเด็นในเรื่องการเข้าร่วมสังฆกรรมกับคณะรัฐประหารหรือ
รัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง ก็มีกรรมการสภามหาวิทยาลัยอภิปรายเรื่องนี้หลายท่าน
ผมไม่อ้างถึงสิ่งที่กรรมการคนอื่นอภิปราย แต่ผมขอเรียนเฉพาะสิ่งที่ผมอภิปราย ในสภา
มหาวิทยาลัยว่า
ประเด็นในเรื่องความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหารหรือรัฐบาลคณะรัฐประหารแต่งตั้งนั้น
มันอาจจะอธิบายง่าย สำหรับนักวิชาการ คนหนึ่งหรือประชาชนคนหนึ่ง แต่เมื่อใดที่เรา
เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรของรัฐหรือมีภารกิจหน้าที่ที่ต้องทำตามกฎหมาย ความซับซ้อน
ของเรื่องก็จะมีมากขึ้น ผมตั้งคำถามเพื่อให้เห็นประเด็นในสภามหาวิทยาลัยว่าการไม่ยอม
รับคณะรัฐประหารจะรวมไปถึงการปฎิเสธ สภานิติบัญญัติที่คณะรัฐประหารตั้งหรือรัฐบาล
ที่มาจากคณะรัฐประหารด้วยหรือไม่
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะปฏิเสธการรัฐประหาร
โดยการไม่ของบประมาณประจำปี 2550 ไปยังรัฐบาลที่มาจากคณะรัฐประหาร และจะ
ไม่เสนอร่างกฎหมายออกนอกระบบที่ยังค้างอยู่ไปให้ สภานิติบัญญัติที่มาจากคณะ
รัฐประหารด้วย
ใช่ไหม หรือเราจะปฏิเสธรัฐมนตรีศึกษาหรือนายกที่มาจากการรัฐประหาร
และไม่ทำตามที่เขาสั่ง ไม่ของบประมาณ ไม่ขออัตรากำลัง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวด้วยทั้งหมด
เลย ได้หรือ ถ้าเราไม่ปฎิเสธรัฐบาล ถามว่าเราจะปฏิเสธ สภาไหม ออกกฎหมายอะไร
ออกมาเราจะไม่ปฏิบัติใช่ไหม ในสภามหาวิทยาลัยก็ฟังประเด็นเหล่านี้กัน แล้วก็ไม่มีใคร
อภิปราย แย้งหรือคัดค้านอะไร เพราะผมเข้าใจว่า สภามหาวิทยาลัยก็ตระหนักถึงบทบาท
และภารกิจในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบองค์กรของรัฐ อย่างที่มหาวิทยาลัยมีสถานภาพอยู่
ประเด็นเรื่องของเรื่องจริงๆ ที่ผมอยากจะบอกก็คือว่า ผม
แยกระหว่างสิ่งที่มันเกิดขึ้นและ
แก้ไขอะไรไม่ได้โดยที่เราไม่ได้เห็นด้วย กับมัน - กับผลที่ตามมาซึ่งเป็นปัจจุบัน และอยู่
ในวิสัยที่เราจะดัดแปลงหรือไปผลักดันให้มันออกมาในทางที่ดีและป้องกันไม่ให้สิ่งที่เรา
ไม่ชอบหรือเห็นว่า ไม่ถูกต้องให้มีโอกาสเกิดขึ้นมาได้อีก
สำหรับประเด็นที่ว่า เข้าไปแล้วจะทำอะไรได้ไหม และจะได้อะไรคุ้มกับการเอาตำแหน่ง
อธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเกี่ยวข้องด้วยไหม ผมขอเรียนว่าผมเชื่อโดย
สุจริต หรือจะพูดให้เท่หน่อยก็ขอบอกว่า ผมเชื่อในมโนสำนึกของผมว่าทั้งในฐานะ นัก
กฎหมายมหาชน และทั้งในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีน้ำหนักและ
ศักยภาพที่จะผลักดันเพื่อให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงได้ไม่มากก็น้อย ไปให้ไปในทิศทาง
ที่ผมยึดถือและเชื่อมั่นได้ ผมเป็นพวกชอบอ่านนิยายกำลังภายในและเชื่อที่
โก้วเล้งเขียนไว้ในหลายเรื่องว่า
ถ้าหากเราไม่ลงนรก แล้วผู้ใดจะลงนรก ถ้าคนที่รู้เรื่อง เข้าใจการ-
เมือง และพูดอะไรก็มีคนฟังอยู่บ้าง อย่างที่ผมและเพื่อนนักวิชาการหลายคนเป็นอยู่ ไม่
เข้าไปผลักดัน ไม่เข้าไปถากถางเส้นทางของระบบปกครองในระบอบใหม่ ที่กำลังจะเกิด
ขึ้น แล้วใครจะเข้าไปทำ เราจะไว้วางใจ ให้คณะทหารหรือคนที่ทำงาน ให้ทหารมาโดย
ตลอด เป็นคนกำหนดกติกา การปกครอง เป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญ เป็นคนออกกฎหมาย
แต่ฝ่ายเดียวอย่างนั้นหรือ ผมว่าสิ่งสุดท้าย ที่จะใช้อธิบายกับผู้คนหลัง จากยกตัวอย่าง
และอธิบายเหตุผลต่างๆ ทั้งหมดแล้วก็คือผมจะบอกว่า ผมสุจริตใจและเชื่อมั่นในมโนสำนึก
ของผมที่จะคอยเตือน ให้ทำในสิ่งที่ถูกและคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย แม้ว่าจะเห็น
ว่าการวางเฉย การไม่ร่วมสังฆกรรมใดๆ ทั้งสิ้น อย่างที่เพื่อนนักวิชาการหลายคนทำ จะ
ทำให้เราปลอดภัย สถานภาพของเราไม่ถูกกระทบกระเทือน และไม่ถูกใครมาด่า จะเป็น
ทางที่ง่ายที่สุด ในการรักษาภาพลักษณ์ รักษาหน้าตาของตัวเอง และพูดได้ว่าเราได้รักษา
หลักการที่น่าเชื่อไว้ก็ตาม
เมื่อกี้อาจารย์พูดถึงเหตุผลและคำชี้แจง เพิ่งพูดไปได้ข้อเดียว มีอะไรที่จะใช้อธิบายจุดยืน
ของอาจารย์อีกบ้างไหม ประเด็นแรกเมื่อกี้ผมพูดว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร แต่ความจริงที่ต้องยอมรับ
คือมันเกิดขึ้นแล้วและผ่านไปแล้ว โดยแก้ไขอะไรในอดีตไม่ได้
ข้อที่สอง ที่ผมอยากชี้แจงก็คือ เมื่อการรัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องมีกติกาการ
ปกครองใหม่ ถ้าเราเชื่อว่าเราจะผลักดันให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงได้จริง เราก็ต้อง
ไปทำและพยายามทำให้ได้ ผมขอเรียนว่าหลังรัฐประหาร ๑ สัปดาห์ คือเมื่อ ๒๕
กันยายน ๒๕๔๙ ผมได้รับการติดต่อจากนักกฎหมายที่กำลังยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ
ชั่วคราวที่ใช้อยู่นี้ ให้ไปช่วยดูร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างเบื้องต้นเสร็จแล้ว ที่สำนักงาน
คณะกรรมการกฤษฎีกา ผมก็ตัดสินใจไป โดยความเชื่ออย่างที่ว่า และเมื่อเข้าไปก็ได้
เสนอความเห็นตามแนวทางที่ผมเชื่อ หลายเรื่อง เช่น การตัดบทบัญญัติทำนองเดียว
กับมาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญการปกครองสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่ให้อำนาจเกือบจะ
เด็ดขาดแก่คณะปฏิวัติ เรื่องการห้ามไม่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
รวมตลอดไปถึงคณะรัฐประหารหรือ คปค. เข้ามามีบทบาททางการเมือง ในรัฐธรรมนูญ
ถาวรต่อไปอีก โดยห้ามมิให้มาสมัคร สส. หรือดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา เรื่องการ
กำหนดโครงสร้างของคณะตุลาการ รัฐธรรมนูญซึ่งผมเสนอให้นำตุลาการในศาลปกครอง
สูงสุด เข้าไปร่วมกับผู้พิพากษา ศาลฎีกาด้วยเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องหลัก ๆ ซึ่งพอเสนอเข้า
ไป ข้อเสนอเหล่านี้ก็ได้รับการยอมรับ และกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มของนัก
กฎหมายที่มาช่วยกันดูตัวร่าง แล้วพอเสนอคณะรัฐประหาร และอธิบายเหตุผลในเชิง
หลักการ เขาก็ยอมให้กำหนด อย่างนี้ได้ แล้วหลายกรณีก็ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับ
ชั่วคราวที่ใช้บังคับอยู่ นี่ก็เป็นสิ่ง ที่ทำให้ผมเห็นว่ามันมีโอกาสและ มีทิศทางในการ
ผลักดันสิ่งที่เราเชื่อให้เป็นจริงได้ และเราจะทำอะไรได้ตามสมควรในการช่วยกันสร้าง
สังคมไทย ให้มีความเป็น ประชาธิปไตยขึ้นได้ และปรากฎการณ์นี้ก็ทำให้คิดไปได้ว่า
คณะรัฐประหาร ซึ่งกระทำรัฐประหารด้วยเหตุผลความจำเป็นใดก็ตาม ที่ผมไม่ทราบ
และไม่เห็นด้วยนั้นไม่ได้คิดไปในทางที่อยากจะมีอำนาจ หรือสืบทอดอำนาจของตัวเอง
ต่อไป อันนี้ผมย้ำว่าเป็น ความเชื่อส่วนตัว ของผมเท่านั้น และทำให้ผมรู้สึกว่ามันมีความ
เป็นไปได้ในการที่จะเข้าไปผลักดันให้เกิดอะไรบางอย่างได้ ผมก็เข้าไปทำก็เท่านั้นเอง
ข้อที่สาม ที่ดูเหมือนไม่ใช่ประเด็นสำคัญมากนัก แต่เข้าใจว่าต้องชี้แจงด้วยก็คือข้อที่ว่า
การไปทำหน้าที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ ทำให้ผมทำงานให้ธรรมศาสตร์ได้น้อยลงและ
ผิดไปจากพันธะที่ผมมีต่อมหาวิทยาลัยเมื่อเสนอตัวมาทำหน้าที่อธิการบดี
ข้อนี้ผมเรียนว่า
การเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติคงทำให้ผมต้องมีภาระมากขึ้น แต่ผมไม่
คิดว่าจะเป็นปัญหาต่อการทำงานในฐานะ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะ
ผมคงต้องทุ่มเทกับการทำงานให้มากขึ้น ทุกวันนี้หลาย ๆวัน ผมก็อยู่มหาวิทยาลัยถึง
ทุ่มสองทุ่ม และมาทำงาน ทุกวันรวมทั้งเสาร์หรืออาทิตย์ด้วยอยู่แล้ว ก็คงต้องทำอย่าง
นี้ต่อไป งานบริหารมหาวิทยาลัยเป็นงานที่หนัก และถ้าอยากจะบริหารมหาวิทยาลัยให้
ดี อย่างที่ผมเชื่อว่าผมกำลังทำอยู่ ก็ต้องทำงานให้หนักมากขึ้น แต่นี่คือสิ่งที่ผมเสนอตัว
และอาสาเข้ามาทำเพื่อจะให้มหาวิทยาลัยนี้ดีขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อผมไปรับทำอะไรเพิ่ม
ขึ้นอีกก็ต้องแน่ใจว่า ภารกิจหลักของเรา ไม่กระทบกระเทือน ผมยืนยันว่างานบริหาร
มหาวิทยาลัยจะเป็นไป ได้ด้วยดีอย่างที่ผมได้ทำมาตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา ในทาง
ตรงกันข้าม หากผมไปเสนอตัวรับเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างที่มีเพื่อน
สมาชิกหลายคนเสนอและสนับสนุนต่างหาก ที่ผมคิดว่าจะทำให้งานในตำแหน่ง
อธิการบดีกระทบ และในกรณีเช่นนั้น ผมคงต้องพิจารณาลาออกจากการเป็นอธิการบดี
ผมเรียนกว่าผมมีความมั่นใจว่า วาระการปฏิบัติหน้าที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ของผมซึ่งยังเหลืออยู่อีกไม่ถึงหนึ่งปีนี้ จะไม่มีการปฏิบัติงานใดได้รับผลกกระทบกระเทือน
จากการเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติแน่นอนครับ
สุดท้าย อาจารย์จะตอบอย่างไรกับความเห็นที่ว่า อาจารย์เอาชื่อเสียงและเกียรติภูมิของ
ธรรมศาสตร์ไปแปดเปื้อนกับ การรัฐประหาร อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แต่ละคนมีบทบาทและระยะห่างจากการเมืองมาก
น้อยต่างกันตามสถานการณ์ทางการเมือง การปกครอง ในยุคสมัยนั้น ๆ สิ่งที่ผมเชื่อก็
คือทุกท่านได้ใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจอย่างรอบคอบในยุคสมัยของแต่ละท่าน
และสุดท้าย
ประวัติศาสตร์ก็จะตัดสินว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ผมคิดว่าผมมีเหตุและมีผล
มีความเชื่อในสิ่งที่ผมยึดถือและสุจริตใจ ผมก็ทำตามสิ่งที่ผมเชื่อ แล้ววันข้างหน้าคน
ธรรมศาสตร์หรือสังคมไทยโดยรวมก็จะตัดสินและผมก็พร้อมที่จะยอมรับผล ที่มาจาก
การตัดสินใจของผมเอง ผมคิดว่า ผมรับฟังความคิดเห็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์และเหตุผล
ของคนอื่น แต่ผมก็จะตัดสินใจเอง และพร้อมที่จะรับผลของการตัดสินใจนั้น ผมหวังว่า
คนธรรมศาสตร์ก็จะรับฟังความคิดเห็นและเหตุผลของผม ตลอดทั้งเคารพในสิทธิ ที่จะ
ตัดสินใจของผมเช่นกัน
ร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่
http://e-learning.tu.ac.th/oth/webboard/webboard.php?Category=atuโดย งานประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๙
http://www.tu.ac.th/news/2006/11/01-rect.htm#rector