ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
15-01-2025, 10:13
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : “ผม คือ NGOs สายกลาง” 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม : “ผม คือ NGOs สายกลาง”  (อ่าน 839 ครั้ง)
meriwa
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 1,100



เว็บไซต์
« เมื่อ: 07-10-2006, 21:44 »

http://www.thaingo.org/man_ngo/paiboon.htm

ตัดบทสัมภาษณ์มาบางตอนครับ

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : ใช่หรือเปล่าว่า อาจารย์เป็นเสมือน กาวใจ ระหว่าง NGOs กับรัฐ
อาจารย์ไพบูลย์ : ผมคงไม่ได้เป็นหลัก, เป็นตัวกลางหรือ เรียกว่า ผู้เชื่อมระหว่างกรณีขัดแย้งเป็นการเฉพาะ แต่หากบอกว่าเชื่อมประสานเป็นการทั่วไปคงจะถูกต้องมากกว่า ผมผ่านการทำงานในหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ, ภาคธุรกิจ, ภาคประชาสังคมและเชื่อว่าทุกภาคส่วนต่างเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสังคม เพราะว่าเคยทำงานทุกภาคส่วนมากกว่า จึงอยู่ในฐานะที่รู้จักมักคุ้น เข้าอกเข้าใจแต่ละฝ่ายในเกณฑ์ที่ดีกับความเชื่อมั่นในการทำงานแบบเชื่อมประสาน ร่วมมือ เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันจึงดูเป็นตัวเชื่อมไป

ทำงานมาหลายส่วนและออกจะดูมีอายุมากกว่าใครสักหน่อยด้วย คนเค้านับถือตามอายุ (หัวเราะ) ชาวบ้านก็คุ้นเคยดี NGOs ก็คุ้นเคยดี คนในภาครัฐ-ภาคธุรกิจก็รู้จักกันไม่น้อย ฉะนั้น การเชื่อมประสานสร้างความสัมพันธ์ที่ดีจึงย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ และโดยทั่วไปคงไม่ใช่กรณีขัดแย้ง ช่วยกันทำงานช่วยกันออกความเห็นมากกว่า คิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องธรรมดาด้วยเหตุที่ว่านิสัยใจคอ ‘เย็นหน่อย รับฟังหน่อย’ จึงเหมาะที่จะรับบทเป็นผู้เชื่อมประสานมากกว่า

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : งานภาคธุรกิจ ภาครัฐ หรือ NGOs มีความต่างกันอย่างไร
อาจารย์ไพบูลย์ : แต่ละกลุ่มมีทั้งจุดอ่อน-จุดแข็งที่แตกต่างกันไป แต่ละส่วนมีข้อจำกัด ภาครัฐ ถืออำนาจตามตัวบทกฎหมาย แต่ก็มีข้อจำกัดในเรื่องกฎเกณฑ์-กติกา ระบบการทำงานไม่คล่องตัว ทำอะไรภายใต้กรอบซึ่งบางทีรัดตัวเกินไป หยุมหยิมเกินไป ภาคธุรกิจ ซึ่งมุ่งเน้นประสิทธิภาพมาก ทำให้ขาดมุมมองทางสังคม ส่วนภาคประชาสังคมหรือ NGOs ถืออุดมคติ-อุดมการณ์ มุ่งมั่นทำงาน แต่ละเลยกฎ-กติกาหรือหลักความรับผิดชอบ การดูแลเรื่องการบริหารจัดการ วินัยเรื่องการเงินหย่อนยาน

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : การพึ่งพาตนเองไม่ได้หมายความว่า หยุดนิ่ง ไม่ติดต่อกับโลกภายนอก
 อาจารย์ไพบูลย์ : พึ่งพาตนเอง เป็นทัศนคติและเป็นการปฏิบัติ อย่างตัวของเรา เราควรจะมีทัศนคติคิดพึ่งตนเอง ขณะเดียวกัน คำว่า พึ่งตนเอง ก็ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ติดต่อกับใคร ไม่อยู่กับใคร พึ่งตนเอง หมายถึงว่า ยังไงๆ ผมก็คิดพึ่งตนเองจัดการด้วยตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง เผชิญสถานการณ์อย่างพึ่งตนเอง ไม่ใช่คอยเรียกร้องหาคนมาช่วยแต่การที่เราจะจัดการกับสถานการณ์ต่างๆ หมายความว่า เราต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น

 คนอื่น อาจจะเป็น นายจ้าง ลูกจ้าง คู่ค้า เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน เราต้องเกี่ยวข้องกับคนอื่น ชาวบ้านที่คิดพึ่งตนเอง หมายถึงว่า ในตัวชาวบ้านเองเค้ามีทรัพยากร มีความรู้ มีประสบการณ์ มีสินทรัพย์ มีบ้าน ที่ดิน มีความรู้ มีแรงงาน มีสติปัญญา เงินทองอาจจะมีเก็บสะสมไว้บ้าง นั่นคือ สิ่งที่เค้ามี เมื่อรวมกันทั้งหมู่บ้าน ทั้งตำบล แปลว่า มีทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ในรูปของบุคคล ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน แหล่งน้ำ ในรูปของเงินออม ในรูปของความรู้ประสบการณ์ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม การจัดการ หมายถึง นำเอาสิ่งที่มีอยู่มาจัดการ ดูแล ดำเนินการ มีชีวิตอยู่ได้อย่างสุขสมบูรณ์พอสมควร มีกินมีใช้ ปัจจัยสี่ มีความมั่นคงเจริญก้าวหน้าในชีวิต มีการศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะเด็ก-เยาวชน มีสวัสดิการ ทั้งหมดนี้ คือ การจัดการพึ่งตนเอง ไม่ใช่ต้องให้คนนั้นมาช่วย ต้องให้คนนี้มาช่วย แต่จัดการเอง

การพึ่งตนเองไม่ต้องรอให้ใครมาช่วย เค้าจัดการได้ เค้าอยู่ของเค้าได้ โดยหน้าที่รัฐบาลต้องไปดูอยู่แล้ว เพราะว่า รัฐบาลเก็บภาษีมาจากประชาชนต้องบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชน เป็นธรรม ตามที่เหมาะที่ควร ชุมชนพึ่งตนเองได้รับส่วนนี้ จากสังคมหรือจากรัฐ เท่าที่เหมาะที่ควรและเป็นธรรมไม่ต้องการมากกว่านั้นชุมชนที่ไม่ได้พึ่งตนเองจะต้องการมากกว่านั้นต้องการให้ช่วยเป็นพิเศษ ดูแลเป็นพิเศษอย่างนั้น เรียกว่า ไม่พึ่งตนเอง

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : สังคมสันติสุขในความคิดของอาจารย์เป็นยังไง
อาจารย์ไพบูลย์ : คนใช้ชีวิตปกติสุข อยู่ในสภาพสังคมในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ความสุขมาจากหลายมุม ความสุขทางร่างกาย ความสุขทางจิตใจ ความสุขจากการใช้ชีวิตส่วนตัว มีปัจจัย 4 มีครอบครัว มีความสุขจากการทำงาน

คนเราต้องทำงาน ต้องมีผลผลิต ต้องมีรายได้ ต้องมีอาชีพ เกษียณ แล้วยังต้องมีกิจกรรมอะไรที่สร้างประโยชน์ให้สังคมตามสมควรแก่สภาพ ความสุขทางโครงสร้างประเพณี วัฒนธรรม กลไก องค์กรต่างๆ มีปฏิสัมพันธ์กับคน ปฏิสัมพันธ์ที่ดีทำให้เกิดความสุข คนจะรู้สึกถึงคุณค่าบทบาท สังคมเห็นคุณค่า อย่างนี้เรียกว่า ความสุขเชิงความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศ สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม คนไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมช่วยกันดูแลหรือจัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้ออำนวย จัดผังเมือง จัดโครงสร้างพื้นฐาน ดูแลเรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องอากาศให้เอื้อต่อการมีชีวิตปกติ ทั้งหมดนี้ คือ ความสุข

ความเป็นสุข ความอยู่เย็นเป็นสุข คือ ความสันติสุข รวมถึงความสัมพันธ์ที่ดี ความสุขในความสัมพันธ์ระหว่างคน ระหว่างกลุ่มคน ในครอบครัว ในชุมชน ในองค์กร ในสังคม คนอยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นปกติสุข ใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่มีความบีบคั้น ไม่ว่าโดยจากคน จากธรรมชาติ จากสังคม หรือจากกฎกติกาทั้งหลายที่เอื้ออำนวยให้ชีวิตดำเนินไปได้ โรคภัยไข้เจ็บมีบ้างเป็นธรรมดาแต่ใช่ว่ามากเกินธรรมชาติหรือเกิดทะเลาะฆ่าฟันหรือเกิดความหวาดกลัวทุกข์ร้อนไม่ว่าภัยจากธรรมชาติ ภัยจากสังคม ภัยจากคน เหล่านี้รวมแล้ว คือ สันติสุข

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : เพราะคนทุกวันนี้ อ้างว้างทางจิตวิญญาณ
อาจารย์ไพบูลย์ : เปล่า วันนี้อาจจะอ้างว้างพรุ่งนี้อาจจะมีสุข (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าจะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดตลอด ธรรมชาติคนมีบวกมีลบ มีคุณมีโทษ มีบุญมีบาปรวมอยู่ในตัวแล้วแต่ว่าวาสนา สภาพแวดล้อม ความสามารถที่ได้จากสภาพแวดล้อม ความสามารถที่สร้างขึ้นเอง ช่วยจัดการเรื่องต่างๆ ได้ดีแค่ไหน ให้ส่วนดีมากกว่าส่วนไม่ดี ให้บุญเหนือบาป ให้จุดแข็งเหนือจุดอ่อน ให้คุณมากกว่าโทษ คนไหนอ่อนแอ อัตคัด โชคไม่ดี สภาพไม่เอื้ออำนวย หรือครอบครัวแตกแยก ส่วนลบจะมากขึ้น เป็นกิเลส เป็นความโกรธ ความโลภจะมากเป็นธรรมดา สังคม คือ ผลรวมของคนทั้งหลายยิ่งมองย้อนหลังหลายพันปีจนถึงปัจจุบัน มนุษย์ มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน เรียกได้ว่า เดินทางมาได้ดีบ้างไม่ดีบ้าง ล้มบ้างลุกบ้าง สุขบ้างทุกข์บ้าง สันติบ้างทำลายล้างกันบ้าง เป็นสัจธรรมเป็นธรรมชาติไม่ทำลายล้างกันขนาดใหญ่ต้องทำลายล้างกันในจุดย่อยๆ มีมาเรื่อยและคงจะเป็นอย่างนี้ต่อไป (หัวเราะ) สิ่งที่ทำได้ คือ คงต้องทำส่วนดีให้มากขึ้น ลดส่วนเสียส่วนที่เป็นจุดอ่อนให้น้อยลง ทำได้ สังคมจะเป็นปกติสุขมากขึ้น ช่วงไหนอ่อนแรง สังคมจะวุ่นวาย เป็นวัฏจักร จะพูดว่า เพราะคนทุกวันนี้ รู้สึกอ้างว้างก็คงใช่ แต่ที่ไม่อ้างว้างก็มี

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์คุณธรรมให้สวนดุสิตโพลสำรวจความคิดเห็นของคนถึงเรื่องคุณธรรมในสังคมวันนี้ ปรากฏว่า ถึง 83% มองว่าคุณธรรมเสื่อมลง ผมคิดว่า ความเห็นทำนองนี้ ถ้าถามคนเมื่อ 100 ปีที่แล้ว น่าจะได้คำตอบคล้ายๆ กัน คนมีแนวโน้มคิดถึงเรื่องราวเชิงลบ เหมือนอย่างบันทึกข้อความที่ผมเคยเจอเมื่อ 2,000-3,000 ปีมาแล้ว คนยุคนั้นบันทึกเอาไว้ทำนองว่า เด็กไม่เคารพผู้ใหญ่ เกเร ดื้อดึง คุณคิดดูสินี่คำพูดเมื่อ 2,000-3,000 ปีที่แล้ว(หัวเราะ) ทุกวันนี้ คนยังพูด ผู้ใหญ่มักจะมองว่า เด็กไม่ดีอย่างที่ตัวเคยเป็นที่จริงผู้ใหญ่บางคนในวัยเด็กอาจจะไม่ได้ดีไปกว่าเด็กในวันนี้มากนัก แล้วเด็กวันนี้โตเป็นผู้ใหญ่จะมองว่าเด็กรุ่นหลังไม่ดีอย่างที่ตัวเป็น ผมคิดว่า สังคมวันนี้กลางๆ ไม่ได้ดี ไม่ได้เลวจะว่าปัจจุบันดีกว่าอดีตหรือเลวกว่าอดีต ผมว่าไม่เชิง บางคนสร้างความรู้สึกว่า สังคมในอดีตคนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ในน้ำมีปลา-ในนามีข้าว เดี๋ยวนี้มันลำบากยากเข็ญ ผมคิดว่าคงไม่ใช่เสียทั้งหมด ผมอ่านบันทึกของ ท่านปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 พูดถึงความยากลำบากของเกษตรกรชาวนา เอาไว้ผลผลิต ราคา แมลงทำร้าย ถูกเจ้าของที่นาเรียกค่าเช่า เป็นหนี้เป็นสิน การที่คนพูดว่า วันนี้แย่กว่าวันก่อน จึงเป็นการนึกถึงของที่ไม่ดีในวันนี้เปรียบกับของที่ดีในวันก่อน

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : คนนิยมพูดกันเฉพาะเรื่องไม่ดี
อาจารย์ไพบูลย์ : เป็นแนวโน้ม นึกถึงเรื่องไม่ดี นินทาว่าร้าย แทนที่จะพูดว่า คนนั้นดีจัง น่าชื่นชม อากาศดีคนไม่พูดอากาศไม่ดีคนถึงพูด บอกว่า ปีนี้มันร้อนที่สุดเลยนะ แล้วปีหน้าพูดอย่างนี้อีก (หัวเราะ) ผมอยู่ชนบท 50-60 ปี ก่อน ผมเห็นมันทั้งด้านดีด้านไม่ดีจะว่ารักใคร่ ปรองดอง สมัครสมานสามัคคีก็ไม่เชิง ฆ่าฟัน ทะเลาะ ตีกัน มีเป็นธรรมดา ขณะเดียวกันรักใคร่ปรองดอง เป็นพี่เป็นน้อง เป็นญาติกัน ด้านสภาพแวดล้อม น้ำ อากาศดีกว่าปัจจุบัน แต่ว่า เรื่องอนามัยไม่มี โรคภัยไข้เจ็บ รักษายาก ผมว่าถ้ามองอย่างใจเป็นกลางต้องเอาข้อเท็จจริงมาดู ผมเองคิดว่า ความดีความไม่ดี มันมีแนวโน้มที่จะหักล้างกันมนุษย์และสังคมดีมากๆ จะมีไม่ดีมาถ่วงดุล พอไม่ดีมากๆ จะมีด้านดีมาถ่วงดุล ดีมากๆ มันผิดธรรมชาติ ธรรมชาติ คือ หมุนเวียนเปลี่ยนไป ฉะนั้นที่พระพุทธเจ้าบอกว่า อนิจจัง น่าจะถูกที่สุด

ทีมงานไทยเอ็นจีโอ : หากพูดว่าอาจารย์เป็นนักพัฒนาสายกลางจะถูกต้องหรือเปล่า
อาจารย์ไพบูลย์ : คงจะถูกต้องในความหมายที่ว่าไม่ได้สุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง

กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์
ทีมงานไทยเอ็นจีโอ
27 พฤษภาคม 2548

-----------------------------------
บันทึกการเข้า

ผู้ปกครองระดับธรรมดา   ใช้ความสามารถของตน    อย่างเต็มที่
ผู้ปกครองระดับกลาง       ใช้กำลังของคนอื่น             อย่างเต็มที่
ผู้ปกครองระดับสูง           ใช้ปัญญาของคนอื่น           อย่างเต็มที่

                                                                  ...คำคมขงเบ้ง
หน้า: [1]
    กระโดดไป: