เมียร้องไห้โฮๆๆๆๆ นายกสิงคโปร์โกรธจนกระอักเลือด ขนาดลีกวนยูผู้พ่อ ยังต้องคลานกลับมาเล่นการเมือง เจ๊งยับ เทมาเสก http://www.matichon.co.th/weekly/weekly.php?srctag=MDQxMDMwNjEwNDk=&srcday=MjAwNi8xMC8wNg==&search=noต่างประเทศ
บทเรียนราคาแพงจากเมืองไทย ของ"เทมาเส็ก"
สตีเฟน เบนเนตต์ ทนายความแห่งสำนักงานฮันตัน แอนด์ วิลเลียมส์ ในกรุงเทพฯ ที่เป็นสำนักงานทนายความที่แนะนำให้เทมาเส็กชื้อกิจการ ชิน คอร์ปอเรชั่น บอกกับนิวยอร์ก ไทม์ส เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ผลสะเทือนจาก "ดีล" มูลค่า 1,900 ล้านดอลลาร์ครั้งนั้นจะมากมายถึงขนาดนี้
เขาบอกว่าไม่คิดว่าจะมีใครคาดการณ์ได้ว่าผลกระทบทางการเมืองจากดีลครั้งนั้นจะเป็นอย่างที่เห็นอยู่ ไม่เพียงไม่คาดคิดเท่านั้น แม้แต่พูดถึงกันบนโต๊ะเจรจายังไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดถึง
ถ้ารู้-ดีลนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้น เขาเชื่ออย่างนั้น
หลายประโยคของ สตีฟ เบนเนตต์ บ่งบอกชัดเจนว่า การตัดสินใจของเทมาเส็ก บริษัทเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เพื่อซื้อกิจการของครอบครัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นั้น เป็นความผิดพลาดประการหนึ่ง-จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่
ด้วยการซื้อกิจการของชินคอร์ป ทางหนึ่งยั่วยุให้กระแสชาตินิยมพุ่งสูงขึ้นอย่างพรวดพราดในไทย ยิ่งเป็นการซื้อจากครอบครัวของนายกรัฐมนตรีที่กำลังถูกกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่าคอร์รัปชั่น ยิ่งเสมือนหนึ่งสาดน้ำมันเข้าใส่กองไฟการชุมนุมประท้วงเพื่อต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ให้คุโชนลุกลามออกไป และในที่สุดก็อยู่นอกเหนือความควบคุม ลงเอยด้วยการยึดอำนาจ
ตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณลี้ภัยการเมืองอยู่ในลอนดอน ส่วนเทมาเส็กเจ๊งไปแล้วเกือบ 690 ล้านดอลลาร์ (2.7 หมื่นล้านบาท) เพราะดีลในครั้งนั้น
วิบากกรรมดังกล่าวยังไม่จบเพียงเท่านั้น "ดีล" ครั้งประวัติศาสตร์ของเมืองไทยหนนั้นยังตกเป็นเป้าการสอบสวนต่อของทางการไทยต่อไปด้วยว่า เข้าข่ายการละเมิดกฎหมายของไทยหรือไม่? สุดท้ายแล้ว ดีลชิน-เทมาเส็ก จะไปจบลงตรงไหน ยังไง ยังไม่มีใครบอกได้ในขณะนี้
ที่แน่ๆ ก็คือ ชื่อเสียงของ "เทมาเส็ก" สำหรับหลายคนในเมืองไทย "เน่าเสีย" ไปเรียบร้อยแล้ว!
ดีลหนนี้ยังทำให้บริษัทที่ปิดตัวเอง กันผู้บริหารแทบทั้งหมดจากการพูดคุย ตอบคำถามโดยตรงกับผู้สื่อข่าว ต้องออกมาให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเป็นครั้งแรก แม้จะจำกัดอยู่เพียง 3 คนจาก 3 สำนักคือ นิวสวีก, บลูมเบิร์ก และเอพี ก็ตามที
เพราะผลสะเทือนจากการทำความตกลงซื้อขายกันในครั้งนั้นทำให้เทมาเส็กตกเป็นที่สนใจในระดับโลกอย่างช่วยไม่ได้
เทมาเส็กยืนยันเสมอมาว่า แม้จะเป็นบริษัทของรัฐบาล มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การดำเนินการของบริษัท ไม่เกี่ยวกับการเมือง ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และปลอดจากการตัดสินใจในเชิงการเมือง
แม้จะยืนยันเสมอมา แต่ก็ถูกเคลือบแคลงเสมอมาเช่นกันว่า เป็นไปได้อย่างไรที่บริษัทซึ่งมีโครงสร้างทำนองนี้จะปลอดจากอิทธิพลของรัฐบาล เทมาเส็กไม่เพียงมี โฮ ชิง ภรรยานายกรัฐมนตรี ลี เซียน หลุง ดำรงตำแหน่งซีอีโอเท่านั้น คณะกรรมการบริหารทั้งหมดยัง "แต่งตั้ง" มาจากกระทรวงการคลัง ซึ่งมี "ลี เซียน หลุง" คนเดียวกันเป็นรัฐมนตรี เอส. ธนาบาลัน ประธานของเทมาเส็ก ก็คืออดีตรัฐมนตรีต่างประเทศ หนึ่งในสองรองประธานเทมาเส็ก ก็คือปลัดกระทรวงการคลังของสิงคโปร์!
ตามข้อมูลของ ทอมสัน ไฟแนนเชียล กองทุนเพื่อการลงทุนของเทมาเส็กถูกประเมินค่าไว้ว่าอยู่ที่ประมาณ 81,200 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นหนึ่งในกองทุนรวมเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีรัฐเป็นเจ้าของ
แต่เดิมการลงทุนของเทมาเส็กเน้นหนักอยู่แต่ภายในประเทศ เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ต่อด้วยฟองสบู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีแตกในปี 2000 สิงคโปร์ตกอยู่ในสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ กองทุนของเทมาเส็กวูบหายไปราว 1 ใน 5
มาดาม โฮ ชิง วิศวกรปริญญาเอกจากสแตนฟอร์ด คือผู้ที่ถูกมอบหมายให้เข้ามากอบกู้สถานะของเทมาเส็กในปี 2002 หลายคนให้เครดิตเธอในฐานะผู้ที่เข้ามาจัดการให้เกิด "วินัยในการลงทุน" และเสริมสร้าง "ความเชี่ยวชาญในระดับโลก" ขึ้นในเทมาเส็ก
27 เปอร์เซ็นต์ของพนักงานที่เทมาเส็กว่าจ้างอยู่ในเวลานี้ จึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนในระดับโลกที่เป็นชาวต่างชาติ
บทเรียนในอดีตทำให้เทมาเส็กเริ่มต้นออกไปลงทุนในต่างประเทศ ในขณะนี้ยุทธศาสตร์การลงทุนของเทมาเส็ก แยกออกเป็น 3 ส่วน ด้านหนึ่งคือ การลงทุนในเอเชีย อีกด้านหนึ่งคือ การลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว และอีกด้านหนึ่ง จึงเป็นการลงทุนภายในประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนยอมรับว่ายุทธศาสตร์ดังกล่าวเหมาะสมกับเทมาเส็กมากกว่า เป็นผลดีกับเทมาเส็กมากกว่าจำกัดอยู่แค่การลงทุนภายในประเทศ ไม่เพียงเป็นการค้ำประกันความเสี่ยงไปในตัว ยังไปได้ด้วยดีกับยุทธศาสตร์ของสิงคโปร์ที่หวังใช้การค้าและการลงทุนเป็นสะพานเชื่อมสิงคโปร์กับประชาคมโลก
ยุทธศาสตร์เหมาะสม ถูกต้อง แต่เกิดอะไรขึ้นกับการลงทุนของเทมาเส็กในไทย โดยเฉพาะในดีลระหว่างเทมาเส็กกับชินคอร์ปหนนี้?
ผู้เชี่ยวชาญบางคนบอกว่า สาเหตุสำคัญที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เพราะความเคลือบแคลงว่า สภาพปลอดการเมืองของเทมาเส็ก-ไม่ได้ปลอดการเมืองจริงๆ
แกร์รี่ โรแดน ศาสตราจารย์ชาวออสเตรเลียประจำศูนย์วิจัยเอเชีย ของมหาวิทยาลัยเมอร์ด็อค ในเมืองเพิร์ธ เองก็ไม่เชื่อว่ารัฐบาลสิงคโปร์จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจในการลงทุนของเทมาเส็ก เขาบอกว่า ยิ่งออกไปลงทุนข้างนอกมากเท่าไหร่ รัฐบาลสิงคโปร์ยิ่งจำเป็นต้องเข้าไปมีอิทธิพลมากขึ้นเท่านั้นว่า จะลงทุนที่ไหน ลงทุนเท่าไหร่?
ในทางหนึ่ง ความไม่เชื่อถือว่าปลอดการเมืองจริงๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่แนวความคิดแบบชาตินิยมต่อต้านดีลครั้งนี้
ในอีกทางหนึ่ง การเมืองที่เข้าแทรก ทำให้เทมาเส็กมองข้ามปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายไป และตัดสินใจลงทุนครั้งนี้ เพราะฝ่ายการเมืองบอกว่า "ต้องซื้อ"!
นักวิเคราะห์อีกบางคนไม่เชื่อว่า เทมาเส็กจะมีการเมืองเคลือบแฝงอยู่ภายใน เขาบอกว่าปัญหาของเทมาเส็กในเมืองไทยเกิดขึ้นจาก "ความเชื่อมั่นในตัวเองมากจนเกินไป"
ใครก็ตามที่เชื่อมั่นในตัวเองจนเกินระดับเหมาะสม มักตัดสินใจผิดพลาด เมื่อผิดพลาดย่อมต้องได้รับบทเรียน
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการตัดสินใจของเทมาเส็กหนนี้ ผิดหรือไม่ผิด ถูกการเมืองแทรกหรือไม่ บทเรียนครั้งใหญ่ก็เกิดขึ้นแล้ว
เป็นบทเรียนมูลค่ามหาศาล ชนิดที่เรียกได้ว่าแพงระยับเสียด้วยซี!