ปัญหาตรรกะ 'การยอมรับความชอบธรรม' ของคณะปฏิรูปฯ
โดย ประวิตร โรจนพฤกษ์ผู้เขียนคิดว่าการให้ความชอบธรรมแก่คณะปฏิรูปโดยการอ้างเหตุผลต่างๆ มีปัญหาทาง
ตรรกะไม่น้อย ดังจะขอเสนอความเห็นโต้ตรรกะต่างๆ เป็นข้อๆ ดังนี้
ตรรกะที่ 1: ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติ แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับ กลุ่มนี้ซึ่งมีจำนวนมากในหมู่นักกิจกรรม (Activist) สมาชิกองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ
ซึ่งปัจจุบันกำลังวุ่นวายอยู่กับการเสนอให้คณะปฏิวัติทำโน่นทำนี่ รวมถึงว่าใครเหมาะสม
หรือไม่เหมาะสมที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการยอมรับความชอบธรรม
ของกลุ่มผู้ก่อรัฐประหารไปโดยปริยาย
คำถามที่สำคัญและพื้นฐานกว่าคือ คุณยอมรับความชอบธรรมของคณะรัฐประหารที่ใช้
กำลังอาวุธล้มล้างรัฐบาลและรัฐธรรมนูญรวมทั้งจำกัดสิทธิต่างๆหรือไม่ ถ้าใช่ เพราะ
อะไร ถ้าไม่ เพราะเหตุใด สังคมไทยไม่มีวันไปถึงความเป็นประชาธิปไตยได้หากผู้คน
ไม่สามารถคิดประเด็นนี้แตก
หากทักษิณ = การบริหารสังคมที่ผิด และเป็นเผด็จการในคราบประชาธิปไตย + การ
กระทำรัฐประหารซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมาย
เพราะฉะนั้น ผิด + ผิด = ถูก หรือประชาธิปไตย ได้จริงหรือ?
ตรรกะนี้ง่อนแง่นมาก เพราะตอนทักษิณได้รับการเลือกตั้งด้วยเสียงท่วมท้น 16 ล้านเสียง
ผู้คนโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตร ทำไมจึงไม่ยอมรับทักษิณแล้วบอกว่า ยอมรับเพราะทักษิณ
ชนะการเลือกตั้งแล้ว
ตอบ: ก็เพราะพวกเขาเชื่อว่าทักษิณโกงเลือกตั้ง ใช้นโยบายประชานิยมมอมเมาคนจน
คนชนบท พวกเขาจึงสรุปว่าทักษิณบิดเบือนเจตนารมณ์ระบอบประชาธิปไตย และลุกขึ้น
ต่อสู้
แต่พอทหารใช้กำลังยึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญ จำกัดสิทธิต่างๆอย่างไม่ถูกต้อง กลับ
บอกว่า แล้วจะให้ทำไงล่ะ ก็มันเกิดขึ้นแล้ว ช่างสองมาตรฐานจริงๆ
ตรรกะที่ 2: ทักษิณเลวกว่า (ระบอบเผด็จการทหารใหม่)ประเด็นคือ คุณวัดได้อย่างไร และสรุปได้แล้วหรือว่าเลวร้ายกว่า อย่าลืมว่าผู้คนส่วน
ใหญ่ใช้เวลาหลายปีกว่าจะรู้ตัว ซาบซึ้งในความเป็นทรราชที่คดโกงของทักษิณ และ
คนจำนวนมากที่ยอมรับกลุ่มรัฐประหารก็เคยลงคะแนนเลือกทักษิณมาก่อน และเคย
มองว่าทักษิณเป็นฮีโร่ สนับสนุนทักษิณแบบไม่ลืมหูลืมตาเสียเป็นปีๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้
จำนวนไม่น้อยก็กำลังบอกในตอนนี้ว่าการยึดอำนาจของทหารเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
(ผู้เขียนไม่เคยไปลงคะแนนให้ทักษิณ เพราะเชื่อว่ามันอันตรายต่อประชาธิปไตยที่จะ
เลือกลงคะแนนให้คนที่รวยที่สุดอันดับต้นๆ ของประเทศเป็นนายกฯ ซึ่งเท่ากับช่วย
ให้อำนาจการเงินและการเมืองกระจุกอยู่ภายใต้คนๆ เดียว)
ถ้าเราต้องการหาข้อสรุปตอนนี้ อาจต้องรอให้กลุ่มทหารกุมอำนาจอีก 5 ปี (เพราะทหาร
อาจแต่งตั้งรัฐบาลหุ่นกระบอกและอาจโยงใยมีเอี่ยวกับการเลือกตั้งอีกหนึ่งปีข้างหน้าที่
พวกเขาสัญญาว่าจะจัดให้ และถ้าเลือกตั้งมีปัญหาอีก ก็อาจกลับมายึดอำนาจใหม่อีกรอบ
สองรอบก็ยังได้ และซากเดนระบอบทักษิณยังมีโอกาสกลับมาได้รับการเลือกตั้งอีก เพราะ
คนชนบทยังคงนิยมอยู่)
ตรรกะที่ 3: การปฏิวัติครั้งนี้มิได้เกิดความรุนแรง ทำให้สังคมสงบ เลิกแตกแยก แถมผู้คน
ในกรุงเทพฯ ไปมอบดอกไม้ ถ่ายรูปคู่ใครก็ตามที่บอกว่าการปฏิวัติครั้งนี้ปราศจากความรุนแรงนั้น คงเข้าใจเรื่องความรุนแรง
อย่างจำกัดและแคบมากๆ ในทัศนะผู้เขียน ความรุนแรงได้เกิดขึ้นแล้วโดยทหารที่ส่ง
รถถังและกำลังเข้าไปล้อมสถานีโทรทัศน์และจุดสำคัญต่างๆ การฉีกรัฐธรรมนูญฉบับ
ประชาชน และประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน รวมถึงการสั่งให้สื่อเสนอข่าว
ที่ สร้างสรรค์ เหล่านี้ล้วนเป็นการใช้ความรุนแรงทั้งสิ้นและอย่างชัดเจน
อย่าลืมว่าแกนนำระบอบทักษิณก็ยังถูกควบคุมตัว รวมถึงคุณฉลาด วรฉัตรที่ออกไป
ประท้วงและถูกมองว่าเป็นพวกเดียวกับทักษิณ โดยที่ขณะนี้คนส่วนใหญ่ไม่รู้และไม่สนใจ
ว่าคนอย่างคุณฉลาดอยู่ไหนและเป็นอย่างไรบ้าง
ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน ตำรวจสองนายก็ได้เข้าไปบอกให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัย
ธรรมศาสตร์ให้ดูแลควบคุมไม่ให้นักศึกษาออกมาประท้วงที่ธรรมศาสตร์
ส่วนประเด็นเรื่องว่าสังคมไทยตอนนี้สงบ ไม่แตกแยก และหยุดทะเลาะกันแล้ว จริงหรือ
ผู้เขียนได้ชมการให้สัมภาษณ์ของคุณวสันต์ เจ้าของกิจการรถเบนซ์ทองหล่อทางยูบีซี
ช่อง 7 เวลาประมาณ 11.00 น.ของวันที่ 25 ก.ย. ว่าสถานการณ์ตอนนี้ ดีกว่าเก่า
มันหยุดทะเลาะกัน เป็นความเห็นที่ต้องตั้งคำถามว่าหยุดทะเลาะหรือถูกอำนาจทหาร
บังคับให้เงียบสงบชั่วคราว และจะสงบเงียบได้นานเพียงใด หรือต้องอยู่ภายใต้กระบอก
ปืนทุกๆ 10 ปี โดยเชิญ คณะปาฏิหารย์ทางการเมือง มาปฏิรูปอีก
ความสงบในปัจจุบันนี้เป็นความสงบแต่เปลือก ฉาบฉวย เพราะถูกกำลังบังคับให้หุบปาก
และอยู่นิ่ง ไม่มีหลักประกันใดๆว่ามันจะนำไปสู่ทางออกอย่างแท้จริง จนกว่าสังคมไทย
จะสามารถเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาการเมืองและอื่นๆโดยการไม่ใช้กำลัง
การยอมรับวิธีแก้ปัญหาโดยการยึดอำนาจ ไม่ต่างจากเด็กทะเลาะกันแล้วต้องรอให้
ผู้ใหญ่ผู้มีอำนาจต้องมากดปุ่ม Reset เกมส์ประชาธิปไตยกันใหม่ แล้วถ้าคนชนบท
คนจนไปเลือกนักการเมืองเลวร้ายอย่างทักษิณ ซึ่งอาจมาในชื่ออื่นแล้ว เราจะทำ
อย่างไร อย่างนี้สู้มิต้องมีการเลือกตั้งเสียเลยดีไหม กลับไปปกครองระบบไพร่ทาสให้
รู้แล้วรู้รอดไป ทั้งคนไทยและต่างชาติจะได้ไม่ต้องสับสนกับคำว่า ประชาธิปไตย
อีกต่อไป
ส่วนมายาภาพที่ว่าทุกคนแฮปปี้กันดีจริงนั้น หากเป็นจร้งแล้ว กลุม่ทหารจะควบคุมสื่อ
ปิดกั้นการชุมนุมโดยสงบทำไม (ได้ยินมาว่านักจัดรายการทีวีชื่อดังคนหนึ่งไม่พอใจที่
ทหารห้ามส่ง SMS มายังรายการ ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าไม่พอใจเพราะทนเห็นประชาชนขาด
เวทีแสดงออก หรือเพราะขาดรายได้กันแน่) ขอให้สังเกตว่าสื่อต่างชาติให้ความสนใจ
รายละเอียดกลุ่มผู้ประท้วงการรัฐประหารมากกว่าสื่อไทยเสียอีก แม้กระทั่งห้างสยาม
พารากอนก็ปิดรั้วไม่ให้ผู้ชุมนุมใช้สถานที่ แถมส่งพนักงานทำความสะอาดมาทำความ
สะอาดประจำปีเวลาห้าโมงของเย็นวันศุกร์ ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้ประท้วงนัดชุมนุม ช่างเป็น
การบังเอิญเสียจริงๆจนคนทั่วไปอาจคิดว่ามันไม่เกี่ยวข้องกับเสียงคัดค้านทางการเมือง
ตรรกะที่ 4: รัฐธรรมนูญตายไปนานแล้วถ้ายอมรับเช่นนี้ก็เท่ากับยอมปล่อยให้ศพซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญเละขึ้นไปอีก โดยปล่อยให้
กลุ่มคนที่ใช้อำนาจอีกกลุ่มหนึ่งมาปู้ยี้ปู้ยำศพต่อไป การยอมรัฐประหารมิได้ช่วยรัฐธรรมนูญ
แถมยังตอกย้ำความเชื่อและธรรมเนียมผิดๆ ที่ว่าไม่ชอบใจ แก้ปัญหาการเมืองไม่ได้เมื่อใด
ก็ใช้กำลังฉีกรัฐธรรมนูญและยึดอำนาจรัฐบาลมันเสียเลย
ผู้เขียนขอเสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งชุดลาออก เพื่อแสดงสปิริต
จุดยืนว่าไม่ร่วมสังฆกรรมกับกระบอกปืนและรถถัง ตอนนี้หากขับไล่เผด็จการกลุ่มใหม่
ไม่ได้ พวกท่านเหล่านั้นก็น่าจะสามารถแสดงจุดยืนจุดประกายให้สังคมหยุดคิดว่าควร
ให้ความร่วมมือกับผู้ยึดอำนาจโดยใช้กำลัง และละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอย่างฉกรรจ์
หรือไม่
ตรรกะที่ 5: เชื่อในความดีของตัวบุคคล ผู้นำคณะรัฐประหารสำหรับคนที่เชื่อว่า พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นคนดีและหวังดีต่อบ้านเมือง (ซึ่งอาจ
ดีจริงในแง่ปักเจก) ต้องเข้าใจก่อนว่าพลเอกสนธิได้กลืนคำพูดตัวเองไปแล้วคำโต เพราะ
เคยพูดทำนองว่าการปฏิวัติเป็นอดีตไปแล้ว ทหารในระบอบประชาธิปไตยไม่ทำ
และถึงแม้อาจจะดีจริงๆ สุดท้ายก็ต้องถามว่า พลเอกสนธิจะควบคุมไม่ให้ลูกน้องไป
ตัดเค้กแบ่งผลประโยชน์กับลิ่วล้อระบอบทักษิณและระบอบอื่นๆได้จริงหรือ เมื่อวันศุกร์
ที่แล้วมีข่าวชิ้นหนึ่งพูดถึงการไปมอบตัวของอดีตส.ส. พรรคไทยรักไทย และหนึ่งในสอง
ส.ส.ก็ให้สัมภาษณ์ว่าตนรู้จักทหารในพื้นที่ดี การพูดคุยจึงเรียบร้อยไม่มีอะไร สังคมไทย
เป็นสังคมที่เล่นพรรคเล่นพวก ใยสัมพันธ์โยงใยหลายระดับทั้งแนวดิ่ง แนวราบ แนว
ทะแยง และแนวผลประโยชน์อย่างผิดกฎหมายและศีลธรรม
คนไทยยึดติดกับตัวบุคคลมาก หนังสือพิมพ์สู้กับเผด็จการจนในที่สุดลืมตนไปว่า กำลังสู้
กับระบอบเผด็จการ ไม่ใช่แค่ตัวทักษิณ แต่พวกเขายอมรับผู้นำเผด็จการชุดใหม่ได้เพราะ
ยังเชื่อว่าพลเอกสนธิเป็นคนดี หกปีที่แล้วผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งเอ็นจีโอ แอกติวิสต์ ก็
เชื่อว่าทักษิณเป็นคนดีเช่นกัน
ส่วนที่หลายคนอ้างว่า ทหารสัญญาแล้วว่าจะคืนอำนาจและปฏิรูปการเมืองไปสู่
ประชาธิปไตยนั้น ต้องถามว่าทหารที่ปฏิวัติชุดก่อนๆในอดีต มีชุดไหนบ้างไหมที่พอยึด
อำนาจได้แล้วจะออกมาประกาศว่า เราจะคืนอำนาจสู่ประชาชนโดยช้าที่สุด และจะขอ
โกงกินต่อจากกลุ่มอำนาจเก่าที่เพิ่งถีบออกไป
น่าสงสัยว่าคนที่คิดว่าตอนนี้เรายังไม่สามารถสรุปได้ เพราะยังเร็วเกินไป เคยเรียนรู้อะไร
จากอดีตหรือไม่ เพราะหากเรายอมรับว่าพอทหารยึดอำนาจ ก็ต้องให้เวลาฮันนีมูนกับเขา
ไปก่อน อีกหน่อยจึงจะตัดสินใจได้ แล้วพอประชาชนถูกทรยศก็จะบอกว่า ไม่รู้มาก่อนว่า
จะลงเอยแบบนี้ อีกหน่อยทหารรุ่นใหม่ก็จะได้ใจ เข้ามายึดอำนาจปฏิวัติรัฐประหารอีก
เวลาเกิดความขัดแย้งในสังคม (ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย) เพราะพวกเขา
รู้ว่า พวกเขาจะได้โอกาสฮันนีมูนดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับสื่อและประชาชนอีก ครั้งแล้ว
ครั้งเล่าอย่างแน่นอน
ตรรกะที่ 6: ไม่เอารัฐประหารแล้วจะเอาอะไร ก็เห็นเมื่อก่อนพูดกันหนาหูว่า ไม่เอาทักษิณแล้วจะเอาใคร...
โลกนี้มิได้มีแค่ 2 ทางเลือกเสมอไป คงต้องช่วยกันคิดทางเลือกที่ 3 ที่ 4 กันต่อไป
โลกนี้ไม่ได้มีแค่ทักษิณกับรถถัง
ตรรกะที่ 7: กลัวปฏิวัติซ้อนจากทักษิณคนที่คิดเช่นนี้จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะความกลัวไปอีกนานเพียงใด เมื่อไหร่จะกล้าพอที่จะ
ฟูมฟักความมั่นใจว่าประชาชนจะสามารถแก้ปัญหาโดยสันติวิธีได้ในที่สุด แทนที่จะรอ
ปาฏิหารย์ จากทหาร ซึ่งย่อมสร้างบรรทัดฐานผิดๆ ต่อไป
ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่าการแก้ปัญหาผิดๆ ซ้ำซาก ไม่ได้ผล แถมยังไม่สามารถเรียนรู้อะไร
ได้จากประสบการณ์ในอดีต
http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=5150&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai