
ลุยเช็คบิลเอ็กซิมแบงก์
ปล่อยกู้พม่าคิดดอกถูก
ชินวัตร-เลาหพงศ์ชนะ
เบิกจ่ายเงินกู้จนพุงกาง
18 September 2006 09:13
ถึงคิวเชือด เอ็กซิมแบงก์ สตง.ไล่ล่าสอบปล่อยกู้พม่า 4 พันล้านอื้อฉาว เหตุปล่อยกู้คิดดอกแค่ 3% แต่ตัวเองต้องกู้มา 4.3% ขาดทุนบักโกรกใช้เงินภาษีชาวบ้านจ่ายชดเชยกว่า 700 ล้าน เผย 17 บริษัทที่รับงานในพม่าและมากู้ มีธุรกิจการเมืองของตระกูล ชินวัตร และ เลาหพงศ์ชนะ ที่ฟาดกันจนพุงกาง แหล่งข่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบการปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ เอ็กซิมแบงก์ กับธนาคารการค้าระหว่างประเทศแห่งสหภาพพม่า มูลค่า 4,000 ล้านบาท ที่มีเงื่อนไขการชำระคืนในระยะเวลา 12 ปีนั้น ธสน.ใช้วิธีระดมทุนระยะสั้นจากตลาดเงินและระดมทุนระยะยาวจากตลาดทุน โดยมีต้นทุนในการออกพันธบัตรที่ 3.11-5.64% แต่การปล่อยกู้ให้พม่าในครั้งนี้กลับมีการคิดดอกเบี้ยเพียง 3% เท่านั้น ส่วนต่างของต้นทุนดอกเบี้ยดังกล่าว กระทรวงการคลังจะต้องเป็นผู้รับภาระชดเชยให้กับ ธสน. ซึ่งในการทำธุรกิจของธนาคาร แม้จะเป็นการปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะไม่ปล่อยให้ธนาคารต้องมาแบกรับส่วนต่างของต้นทุนที่สูงในระดับนี้ และเงินที่กระทรวงการคลังต้องนำมาชดเชยให้กับ ธสน.ก็เป็นเงินภาษีของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีการทบทวนการปล่อยกู้ดังกล่าวว่ามีความเหมาะสมเพียงใด
"เอ็กซิมแบงก์เคยออกมาชี้แจงว่าการดำเนินการในโครงการลักษณะนี้ เอ็กซิมแบงก์ไม่เคยทำเพราะขาดทุนในต้นทุน เนื่องจากเอ็กซิมแบงก์ต้องกู้เงินจากสถาบันอื่นมาให้พม่ากู้ และในสัญญาการชำระเงินกู้ของพม่า ถูกกำหนดว่าให้คิดดอกเบี้ย 3% ทั้งที่ต้นทุนดอกเบี้ยของเอ็กซิมแบงก์เฉลี่ยอยู่ที่ 4.3% ซึ่งหากคิดในระยะ 12 ปีของสัญญา ธสน.จะต้องใช้งบชดเชยเฉพาะค่าดอกเบี้ยส่วนเกินถึง 700 กว่าล้านบาท"แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า การปล่อยกู้ครั้งนี้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนการเมืองอย่างมโหฬาร ซึ่งมูลค่าสัญญาการซื้อขายสินค้า ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2549 มีสัญญาซื้อขายทั้งสิ้น 24 สัญญา มูลค่าประมาณ 3,870 ล้านบาท มีการเบิกเงินไปแล้วจำนวน 2,773 ล้านบาท และยังเหลือวงเงินอีกประมาณ 130 ล้านบาทที่ยังไม่มีการทำสัญญา ซึ่งเป็นที่น่าจับตาว่าในช่วงใกล้มีการเลือกตั้ง อาจมีพรรคการเมืองเข้าไปหาผลประโยชน์จากการทำสัญญาในวงเงินที่เหลือนี้เพื่อใช้เป็นทุนสำหรับการเลือกตั้ง
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเอกชนของไทยที่เป็นคู่สัญญากับรัฐบาลพม่าทั้ง 17 บริษัท มีอยู่ 2 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลพรรคไทยรักไทยโดยตรง คือ บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) ของครอบครัวพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี มีมูลค่า 9.37 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีการเบิกจ่ายไปแล้ว 8.47 ล้านเหรียญ
ขณะที่บริษัท กรุงไทย แทร็คเตอร์ จำกัด เป็นธุรกิจในครอบครัวของนายปรีชา เลาหพงษ์ชนะ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีสัญญาการซื้อขายจำนวน 4 สัญญา มูลค่ารวม 38.99 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการเบิกจ่ายไปแล้วถึง 24.99 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในการซื้อขายสินค้าครั้งนี้ บริษัทเอกชนทั้งหมดจะได้รับเงินโดยตรงจาก ธสน. แล้วส่งสินค้าให้กับคู่สัญญาที่ประเทศพม่า
"การปล่อยกู้ครั้งนี้ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำลังดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียด ซึ่งอาจเห็นว่ามีการทำสัญญาซื้อขายกันขึ้นมา แต่ไม่มีการส่งมอบสินค้า หรือเป็นสัญญาลมนั่นเอง เพราะการปล่อยกู้ที่เกิดขึ้นล้วนแต่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแทบทั้งสิ้น อีกทั้งการทำสัญญานี้ทำกับรัฐบาลทหารพม่าชุดเก่าที่หมดอำนาจไปแล้ว ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีความเสี่ยงต่อการได้รับเงินต้นคืนมากน้อยเพียงใด"แหล่งข่าวกล่าว
ข่าวจากทีมงาน ThaiInsider.Com_
http://www.thaiinsider.com/ShowNews.php?Link=News/Economic/2006-09-18/09-13.htmประเทศไทยกำลังจ่ายบรรณาการ ให้แก่ประเทศพม่าอยู่รึเปล่า
หรือประเทศไทย กลายเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปแล้ว ???
* ข่าวออกมาว่ามีมติครม ให้จ่ายดอกเบี้ยให้อีก
