ปฏิรูปการเมืองให้ "กินได้"
โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์
การกระทำที่เรียกว่าปฏิรูปการเมือง ควรหมายถึงอะไรบ้าง ตามความเข้าใจของผม น่าจะ
หมายถึงการกระทำสามด้านที่เกี่ยวโยงกัน
ด้านแรกคือจัดวางกลไกเพื่อการปกครอง (ซึ่งประกอบด้วยการบริหาร, นิติบัญญัติ และ
ตุลาการ) ตั้งแต่ระดับชาติมาถึงระดับท้องถิ่น ให้มีประสิทธิภาพแต่ตรวจสอบได้ ควบคุมได้
และต่อรองได้ ด้านนี้เป็นด้านที่มักได้รับความเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะจาก
นักการเมืองหรือผู้ที่อยู่ใกล้อำนาจทางการเมือง ฉะนั้นผมจะไม่ขอพูดอะไรมากไปกว่านี้
เพราะมีรายงานข่าวในสื่ออยู่มากและเสมอ
ด้านที่สอง เมื่อกล่าวโดยสรุปคือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน
ประชาธิปไตยในประเทศไทย หรือว่ากันที่จริงในสังคมอื่นๆ ด้วย ในทางปฏิบัติ ไม่ได้เปิดพื้นที่
ทางการเมืองให้แก่คนอีกหลายกลุ่ม ยิ่งมองประชาธิปไตยแต่เพียงด้านแรกด้านเดียว ก็ยิ่ง
กีดกันคนส่วนใหญ่ออกไปจากการเมืองด้วยซ้ำ การเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิเสมอภาคของพลเมือง
ไม่ทำให้ใครเข้าถึงพื้นที่ทางการเมือง เพื่อการต่อรองได้เลย
เสียงของคน
ทุกกลุ่มต้องดังพอที่จะสร้างญัตติสาธารณะได้บ้าง
ไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่เป็น
นักการพนันในตลาดหุ้น, นักการเมือง, นายทุน, ข้าราชการ, นักวิชาการ และดาราเท่านั้น ที่
สามารถสั่งสังคมให้ถกเถียงกันเรื่องอะไรก็ได้ คนอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีผลประโยชน์เดียวกัน
กับกลุ่มคนที่กล่าวแล้วนั้น ก็ควรมีพลังพอจะดึงสังคมให้มาใส่ใจกับสิ่งที่เขาเห็นว่ามีความ
สำคัญด้วยเช่นกัน
แต่ตราบเท่าที่คนเหล่านั้นเข้าไม่ถึงสื่อ (เข้าไม่ถึงเพราะไม่มีสื่อในมือ หรือเข้าไม่ถึงเพราะสื่อ
ไม่คิดว่าเป็นหน้าที่ต้องรายงานความเห็นของเขาก็ตาม) เขาก็ย่อมกลายเป็นคนไร้เสียง
(ไร้ชื่อ, ไร้ทรรศนะ, หรือไร้ตัวตนเลยทีเดียว) ในสังคมการเมือง มีอยู่เพียงเพื่อไปเลือกตั้ง,
เสียภาษี, และเป็นทหารเท่านั้น
กฎหมายอย่างเดียวไม่ช่วยให้บังเกิดผลเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่คนทุกกลุ่มได้ใน
ทางปฏิบัติ ถ้าสังคมนั้นไม่มีปัจจัยอื่นๆ ที่เอื้อต่อการเปิดพื้นที่ทางการเมืองแก่คนทุกกลุ่มจริง
การประท้วงโดยสงบปราศจากอาวุธของสมัชชาคนจน (ซึ่งมีกฎหมายรองรับ) ถูกเทศบาล
กทม.ใช้กำลังเข้าขับไล่ โดยสื่อแทบจะไม่ให้ความสนใจใดๆ และสังคมจึงเมินเฉยต่อการ "ปิด"
พื้นที่ทางการเมืองของพี่น้องร่วมชาติ เช่นเดียวกับตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมของพี่น้องชาว
จะนะที่หาดใหญ่
เพราะเข้าไม่ถึงพื้นที่ทางการเมือง รัฐธรรมนูญ 2540 จึงแทบไม่ได้ช่วยให้ประชาชนส่วนใหญ่ยุติหรือแม้แต่บรรเทาการแย่งชิงฐานทรัพยากรของตนไปบำเรอคนกลุ่มน้อยที่เข้าถึงพื้นที่ทาง
การเมือง ถ้าใช้ภาษาของสมัชชาคนจน การปฏิรูปการเมืองในครั้งที่แล้ว จึงไม่ทำให้เกิด
ประชาธิปไตยที่ "กินได้" ขึ้นมาเลย
และเพราะกฎหมายอย่างเดียวไม่พอนี่แหละ ที่ทำให้การปฏิรูปการเมืองด้านนี้ทำได้ยาก และ
ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักวิชาการและนักการเมือง แต่หากการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่นี้
ไม่เป็นผลให้มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างกว้างขวางขึ้น
ไม่แต่เพียง "การเมือง" จะ
ไม่ได้รับความใส่ใจจากประชาชนส่วนใหญ่เท่านั้น แม้แต่ "ประชาธิปไตย" ก็จะไม่ได้รับความ
ศรัทธาไปด้วย (ปรากฏการณ์นี้พอเห็นได้แม้ในปัจจุบัน จากเสียงสนับสนุนของ
ประชาชนระดับล่างที่เข้าไม่ถึงพื้นที่ทางการเมืองแก่พรรค ทรท.ซึ่งแทบจะไม่มีภาพพจน์ของ
ประชาธิปไตยอยู่เลย)
ด้านที่สามของปฏิรูปการเมือง คือ การสร้างกระบวนการทางกฎหมาย, กระบวนการ, สถาบัน,
ฯลฯ ที่จะทำให้สองด้านแรกนั้นเชื่อมต่อกันได้ มิฉะนั้นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดขึ้นจะหมายถึง
ความปั่นป่วนวุ่นวายและการจลาจลเท่านั้น สมมุติว่าผู้ส่งออกต้องการอะไรก็ต้องเดินขบวนไป
ล้อมทำเนียบ ก่อนที่จะได้เจรจากับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง จะวุ่นวายขนาดไหน แต่มีกฎหมาย,
กระบวนการ, สถาบัน ฯลฯ หลายอย่างที่ผู้ส่งออกใช้เพื่อเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองโดยราบรื่น,
สงบ, และมีประสิทธิผล ส่วนนี้ก็ต้องคิดถึงคนกลุ่มใหม่ๆ ซึ่งจะเข้าสู่พื้นที่ทางการเมืองเช่นกัน
ว่าการเข้ามาเคลื่อนไหวอย่างเสรีและเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่นๆ นั้น จะเป็นผลให้เชื่อมโยงกับ
ปฏิรูปการเมืองด้านแรกได้อย่างไร
ทุกคนคงใจไม่ถึงเท่าแม่ไฮที่จะลงมือทุบเขื่อนด้วยมือตนเอง เพื่อเตรียมตัวเข้าคุก หลังจาก
เจรจากับรัฐโดยสงบมากว่า 10 ปี จนได้รับความเห็นใจจากสื่อและสังคมไทยที่เพิ่งมีโอกาส
รู้เรื่อง
ปฏิรูปการเมืองในครั้งที่แล้วซึ่งทำให้ได้รัฐธรรมนูญ 2540 ก็พยายามทำทั้งสามด้านนี้ แต่ไม่ได้
สร้างกลไกที่แข็งแรงเพียงพอจะทำให้มีการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้กว้างขวางขึ้น เช่นเดียว
กับการเชื่อมต่อก็ไม่มีกลไกที่แข็งขันรองรับเช่นกัน ฉะนั้นเราจึงมีกฎหมายป่าชุมชน อันเป็น
กฎหมายที่ประชาชนร่างขึ้น ตกไปจากการพิจารณารองรับในขั้นสุดท้ายของรัฐสภาไปสาม
รัฐบาล การศึกษา "ฟรี" ที่ต้องเสียเงินมากกว่าสมัยที่เก็บค่าเล่าเรียน สวัสดิการพื้นฐานซึ่ง
รัฐธรรมนูญให้หลักประกันจ่ายแจกไปไม่ถึงประชาชน และน้อยเกินไป สมบัติสาธารณะที่
รัฐธรรมนูญรองรับไว้มั่นคงเช่นคลื่นความถี่ก็ยังถูกคนบางกลุ่มยึดกุมไว้ในนามของรัฐ (ร้ายไป
กว่านั้นประชาชนที่เชื่อรัฐธรรมนูญ ใช้สมบัติสาธารณะนี้ก็อาจถูกลงโทษถึงติดคุกได้เพราะผิด
กม.อาญา)
ประชาธิปไตยที่ "กินได้" ในทางรูปธรรมจึงมีความหมายได้หลายอย่าง ซึ่งคนที่คิดหรือทำ
เรื่องปฏิรูปการเมืองอยู่ในเวลานี้ควรคิดให้มาก ในที่นี้จะยกเป็นตัวอย่างเพียงสองสามประเด็น
เช่น สวัสดิการพื้นฐานและมาตรการที่เหมาะสมต้องมีความชัดเจน ชนิดที่รัฐหรือหน่วยงาน
ของรัฐจะหลีกเลี่ยงหรือใช้ลูกเล่นอะไรไม่ได้ เรียน "ฟรี" ก็ต้อง "ฟรี" จริงเป็นต้น
เช่น การจำกัดอำนาจรัฐ ต้องเปิดให้ประชาชนสามารถทำได้โดยตรงบ้าง ไม่ใช่ปล่อยให้
องค์กรอิสระซึ่งถูกทำให้เป็นหมันหมดแต่ฝ่ายเดียว เป็นต้นว่าการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นบาง
อย่างอาจต้องได้รับคำรับรองจากประชาชนในพื้นที่โดยตรง ไม่เฉพาะแต่ อบต.หรือกำนัน
ผู้ใหญ่บ้านเท่านั้น
เช่น สิทธิในพื้นที่ทางการเมืองทั้งหลาย นับตั้งแต่สื่อโดยเฉพาะคลื่นความถี่ และสิ่งพิมพ์,
การชุมนุมโดยสงบ, ฯลฯ ต้องได้รับคำรับรองที่แข็งขันอันไม่อาจละเมิดได้
ประชาธิปไตยที่ "กินได้" ในทางรูปธรรม ไม่ได้เกิดจากการคิดเอาเอง แต่
เกิดจาก
ประสบการณ์จริงของประชาชน และก่อนที่ใครจะคิดถึงมาตรการทางกฎหมายหรือการเมือง
อย่างใดอย่างหนึ่งออกมา ก็ควรต้องมีข้อมูลจริงจากประชาชน รับฟังความคิดเห็นจาก
ประชาชนให้มาก เพราะเขาคือคนที่รู้ดีว่าขยับเขยื้อนทางการเมืองได้ยาก เพราะความไม่มี
พื้นที่ทางการเมืองของตนเองนั้น เป็นอย่างไร ติดขัดตรงไหน
น่าเสียดายที่ปฏิรูปการเมืองในครั้งหลังนี้ ไม่ได้มีความสนใจเพียงพอว่าจะทำให้การเมืองใน
ระบอบประชาธิปไตย มีความหมายต่อชีวิตของผู้คนส่วนใหญ่ในเมืองไทยได้อย่างไร บางครั้ง
กลายเป็นเรื่องของนักกฎหมายล้วนๆ บางครั้งเป็นเรื่องของนักการเมืองล้วนๆ บางครั้งเป็น
เรื่องของคนสองจำพวกนี้รวมหัวกันแก้รัฐธรรมนูญ แล้วเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าปฏิรูปการเมือง
ในช่วงนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ได้เปิดพื้นที่ในเว็บไซต์ของตน ตั้งโครงการที่เรียกว่า
"ธนาคารนโยบายประชาชน" (
www.midnightuniv.org/forum/index.php?topic)
เปิดให้ส่งความเห็นด้านนโยบายและข้อเสนอแก่สาธารณะ โดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะ
รวบรวมประเด็นจากจดหมายเหล่านี้เป็นระยะๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถ "เบิก" เอาไปใช้ได้
ตามสะดวก
การเปิดพื้นที่เช่นนี้มีความสำคัญต่อการปฏิรูปการเมืองด้วย เพราะส่วนหนึ่งคือนโยบายและ
ข้อเสนอที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงของประชาชน
ตรงนี้คือฐานความรู้สำหรับการปฏิรูปการเมืองที่แท้จริง เพราะตรงนี้คือคำถามที่ผู้ตอบต้องรู้
เสียก่อนที่จะไปเปิดรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นเป็นแบบอย่าง หรือคิดแต่แง่มุมของกฎหมาย
ลอยๆ โดยไม่สัมพันธ์กับคำถามของสังคม
ที่มา มติชน วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10411
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03110949&day=2006/09/11