คลี่ปม "จรัญ จงอ่อน" พ้นโทษ...แต่ (ยัง) มีสิทธิติดคุกไขข้อข้องแว่นดำโผล่ตื้บม็อบต้านยังมีสิทธิเข้า "คุก" เมื่อสำนักงานคุมประพฤติ จ.สุราษฎร์ธานีระบุว่า ผิดเงื่อนไขไม่ยอมรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติครั้งที่ 7
เป็นที่ "ข้องใจ" กันเหลือเกินว่า เหตุใด นายจรัญ จงอ่อน ผู้ต้องโทษจำคุกตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดในคดียาบ้าจำนวน 525 เม็ด และ พ.ร.บ.อาวุธปืน
ไฉน...จึงได้ลอดช่อง "มุ้งสายบัว" ก่อนครบกำหนดโทษจำคุก 11 ปี ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2551 หรืออีก 1 ปีเศษ ตามคำพิพากษาของศาลอาญา ออกมาร่วม "ก๊วนหนุนทักษิณ" ก่อเหตุทำร้าย "กลุ่มต้านทักษิณ" ที่ตะโกนไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะไปเป็นประธานพิธีเปิดให้บริการ "ดิจิทัล ทีเค พาร์ค" ที่อุทยานเรียนรู้ส่วนบริการของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา
ก่อให้เกิดเสียงวิจารณ์กันหนาหูว่า "โทษจำคุก" บ้านเรา เอาเข้าจริงไม่ได้น่าสะพรึงกลัว ติดจริงไม่นานก็ลอยคอออกมาก่อเรื่องได้อีกแล้ว
ด้วยเหตุนี้ จึงต้องมาดูถึง "ระเบียบว่าด้วยการพักการลงโทษ" ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพราะทำให้นักโทษได้รับการลดหย่อนโทษ ทำให้นักโทษบางคนไม่ต้องอยู่ใน "คุก" เต็มตามคำพิพากษา
ก่อนอื่นต้องมาดูถึงวัตถุประสงค์ของ "ระเบียบว่าด้วยการพักการลงโทษ" ว่าเป็นอย่างไร
สำหรับระเบียบดังกล่าวนี้ มุ่งหมายให้นักโทษที่มีความประพฤติดี มีความก้าวหน้าทางการศึกษาและได้ทำงานเกิดผลดีแก่เรือนจำหรือทำความชอบแก่ทางราชการเป็นพิเศษ ได้รับการปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ
การปล่อยตัวก่อนครบกำหนดโทษ จึงเป็นความหวังสูงสุดของนักโทษทุกราย เมื่อเริ่มเข้าไปมีชีวิตหลังกำแพงคุก คำว่า "ชั้น" มีความสำคัญต่อนักโทษเด็ดขาดอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ นักโทษจึงต้องพยายามประพฤติตนให้ดีขึ้นและไม่ทำผิดวินัย หรือฝ่าฝืนระเบียบของเรือนจำ
เพราะนอกจากจะถูกลงโทษแล้ว ยังต้องถูกลดชั้น และถูกตัดสิทธิประโยชน์ที่ตนเองจะพึงได้รับ ฉะนั้นนักโทษจะพยายามรักษา "ชั้น" ของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น และ "ชั้น" นักโทษนี่เอง ทำให้มีการวิ่งเต้นทั้งจากภายในและภายนอกคุก เพื่อให้ได้เป็น "ผู้ช่วยผู้คุม" จะได้ทำงานรับใช้ใกล้ชิดผู้คุม
โดยมีหน้าที่ "เป็นหูเป็นตา" ให้เจ้าหน้าที่ในการดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในเรือนจำ และเมื่อ "ผู้คุม" เห็นผลงานความดี ก็จะเสนอชื่อให้เลื่อนชั้น
จากนักโทษ "ชั้นกลาง" ก็เลื่อนเป็นนักโทษ "ชั้นดี" จากนั้นก็เลื่อนเป็น "ชั้นดีมาก" และสุดท้ายคือ "ชั้นเยี่ยม"
ซึ่งนักโทษในแต่ละชั้นจะได้รับสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน ทั้งในเรื่องการแยกแดนคุมขัง การเยี่ยมญาติ การเยี่ยมแบบใกล้ชิด การลดวันต้องโทษจากการออกทำงานสาธารณะ รวมทั้งการได้รับ "พระราชทานอภัยโทษ"
ทั้งนี้สำหรับ "คุณสมบัติ" ของนักโทษที่จะได้รับการปล่อยตัว พักการลงโทษต้องเป็น "นักโทษเด็ดขาด" กล่าวคือ คดีถึงที่สุดแล้ว
โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้ "นักโทษชั้นเยี่ยม" เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 3 "ชั้นดีมาก" เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 4 และ "ชั้นดี" เหลือโทษจำคุกไม่เกิน 1 ใน 5
เมื่อมีรายชื่ออยู่ในเกณฑ์พักการลงโทษแล้ว เรือนจำจะประกาศรายชื่อให้ทราบทั่วกัน เพื่อให้นักโทษเตรียมให้ข้อมูลส่วนตัวที่ถูกต้อง พร้อมถิ่นที่อยู่และแจ้งชื่อผู้ที่จะรับเป็นผู้อุปการะ แก่เจ้าพนักงานเรือนจำ
ทำคำร้องขอคัดสำเนาคำพิพากษาผ่านเรือนจำ หรือเพื่อความสะดวกรวดเร็ว ก็แจ้งให้ญาติไปติดต่อขอคัดสำเนาคำพิพากษาจากศาลเพื่อส่งให้เรือนจำโดยตรง
จากนั้นนักโทษต้องแจ้งให้ญาติไปติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่ปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอให้รับรองความประพฤติตามเอกสาร (พ.3 หรือ พ.4 พิเศษ) แล้วนำมามอบให้เรือนจำ เมื่อเจ้าพนักงานเรือนจำรวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ "คณะกรรมการเรือนจำ" และส่งเรื่องไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อพิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ระหว่างการคุมประพฤติจะมี "เจ้าพนักงานคุมประพฤติ" หรือ "อาสาสมัครคุมประพฤติ" ไปเยี่ยมที่บ้านของผู้ที่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อให้คำปรึกษาแนะนำ ดูแลช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อมีปัญหา
โดยที่ผู้ถูกคุมประพฤติจะต้องประพฤติปฏิบัติตามเงื่อนไข 8 ข้อ ดังนี้ 1. จะต้องพักอาศัยอยู่ตามที่อยู่ที่แจ้งไว้กับเรือนจำ 2.ห้ามออกนอกเขตท้องที่ที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาต 3.ห้ามประพฤติตนเสื่อมเสีย เช่น เล่นการพนัน ดื่มสุรา ยาเสพติด และกระทำผิดอาญาขึ้นอีก 4.ประกอบอาชีพโดยสุจริต 5.ปฏิบัติตามลัทธิศาสนา 6.ห้ามพกพาอาวุธ 7.ห้ามไปเยี่ยมบ้านหรือติดต่อกับนักโทษอื่นที่ไม่ใช่ญาติ 8.ให้ไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติเรือนจำ เจ้าพนักงานปกครองหรือหัวหน้าสถานีตำรวจทุกเดือน
หากประพฤติผิดเงื่อนไข จะถูกนำตัวกลับมาคุมขังไว้ในเรือนจำให้ครบกำหนดโทษเดิม และจะถูกลงโทษทางวินัยด้วย
และถ้าผู้ได้รับการปล่อยตัวประพฤติตนตามเงื่อนไขด้วยดีตลอด ก็จะได้รับ "ใบบริสุทธิ์" และพ้นโทษไปตามคำพิพากษา เป็นพลเมืองดีของประเทศต่อไป
กลับมาที่กรณีของ "จรัญ จงอ่อน" ตามประวัตินายจรัญต้องโทษในปี 2540 ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง และเมื่อศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้รับโทษจำคุก 11 ปี "จรัญ" จึงมีสถานะเป็นนักโทษเด็ดขาด จึงถูกย้ายไปขังไว้ที่เรือนจำกลางคลองเปรม
ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษ 8 ปี 8 เดือน จะครบกำหนดโทษในวันที่ 21 มกราคม 2549 และหลังจากเขารับโทษจำคุกในเรือนจำกลางคลองเปรมมาจนถึงปี 2545 นายจรัญได้ทำเรื่องขอย้ายสถานที่คุมขังไปยังเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช และในปี 2546 ขอย้ายไปเรือนจำอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ตามภูมิลำเนา
กระทั่งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2548 นายจรัญมีคุณสมบัติได้รับการปล่อยตัว พักการลงโทษก่อนครบกำหนดโทษ ภายใต้เงื่อนไขคุมประพฤติ 1 ปี ดังนั้น หลังจากวันที่ 21 มกราคม 2549 นายจรัญจึงถือเป็น ผู้พ้นจากโทษจำคุกโดยสมบูรณ์
แต่ตอนนี้ สำนักงานคุมประพฤติ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นผู้คุมประพฤตินายจรัญขณะรับการพักโทษจำคุกก่อนครบกำหนด ออกมาระบุว่า นายจรัญทำผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ โดยไม่ยอมมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติในครั้งที่ 7 เงื่อนไขนี้นายจรัญอาจต้องกลับเข้าคุกอีกครั้ง ทั้งนี้เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะทำรายงานให้คณะกรรมการพักการลงโทษและลดวันต้องโทษของเรือนจำอำเภอปากพนังพิจารณา และหากมีข้อสรุปว่า นายจรัญจงใจหลบหนี ไม่มารายงานตัวตามกำหนด เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์สามารถจับกุมตัวมารับโทษในส่วนที่ถูกพักไว้ได้และอาจถูกลงโทษทางวินัยด้วย ส่วนการก่อเหตุวิวาท ทำร้ายร่างกายหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ไม่ถือเป็นการผิดเงื่อนไขคุมประพฤติ แต่เป็นการออกมาก่อคดีอาญาเป็น "คดีใหม่" หลังพ้นโทษจำคุกคดียาบ้าและพกพาอาวุธปืน ซึ่งในทางปฏิบัติตำรวจจะต้องรายงานประวัติอาชญากรของนายจรัญแนบไปในสำนวนคดี เพื่อให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้อง
เพราะใน "ชั้นศาล" ประวัติอาชญากรจะถูกนำมาพิจารณาว่า ความผิดที่ก่อครั้งใหม่ สมควรได้รับความเมตตา ลดหย่อนโทษหรือไม่
ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย
****************
ความคืบหน้า