คณะรัฐมนตรีควรคำนึง ปัญหาแต่งตั้งโยกย้ายขรก.
บทนำมติชน
นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กลายเป็น "ยอดมนุษย์" ในทรรศนะของสื่อมวลชน เพราะจะย้ายกลับมาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2549 หลังจากที่เคยนั่งในตำแหน่งนี้มาแล้ว 6 ปี แต่มีอันต้องเว้นวรรคไปในห้วงเวลาสั้นๆ ไม่กี่เดือน เพราะไปนั่งในตำแหน่งปลัดกระทรวงแรงงาน ก่อนหน้านี้ นายรองพล เจริญพันธุ์ ก็ย้ายจากปลัดสำนักนายนายกรัฐมนตรี ไปเป็นเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ พล.ต.ท.พีระพันธุ์ เปรมภูติ ย้ายจากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไปนั่งเก้าอี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งยังเกิดคำถามเรื่องการโยกย้ายและการรักษาการ
มิใช่การเล่นตลกประเภทละครจำอวดชวนให้ขำขัน จะไปกล่าวตำหนิให้ร้ายนายสมชาย นายรองพล หรือ พล.ต.ท.พีระพันธุ์ย่อมไม่ถูกต้อง เพราะนายสมชายเป็นข้าราชการประจำคนหนึ่ง ไม่อาจแต่งตั้งโยกย้ายตัวเองได้ตามใจชอบ เช่นเดียวกับข้าราชการประจำระดับสูงคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหารหรือรัฐวิสาหกิจก็ไม่อาจเลื่อนตำแหน่งหรือผันตัวเองไปดำรงตำแหน่งต่างๆ ได้ หากทว่าเป็นอำนาจของฝ่ายการเมืองได้แก่รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบเสียก่อน
ในยามบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ ระบบต่างๆ ทำงานไปโดยราบรื่น การบริหารราชการแผ่นดินมีทั้งกฎหมายและคุณธรรมคอยกำกับอยู่ กระนั้นการเล่นพรรคเล่นพวก เล่นเครือญาติ การซื้อขายเก้าอี้ ฯลฯ ก็ยังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตา ความสามารถก็ดี ระบบอาวุโสก็ดี แทนที่จะเป็นคุณสมบัติเบื้องตนในการพิจารณาอย่างรอบคอบก็กลายเป็นเรื่องที่มาทีหลัง ในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ "วิกฤตที่สุดในโลก" ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและไม่รู้ว่าจะมีได้เมื่อใด ส่วนวุฒิสภาก็ใช้วุฒิสภาชุดเดิมรักษาการ ไม่มีอำนาจในการควบคุมรัฐบาล ในส่วนของฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรีก็รักษาการเช่นกัน โดยระบบการเมืองจึงมีแต่คณะรัฐมนตรีรักษาการ ไม่มีฝ่ายค้านและไม่มีวุฒิสภาที่จะคอยควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประสิทธิภาพและมีความซื่อสัตย์สุจริต
ความไม่สมประกอบของระบบการเมืองดังกล่าวนี้ ส่งผลถึงการใช้อำนาจของคณะรัฐมนตรีในหลายๆ เรื่อง รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จริงอยู่ ในการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อถึงฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำปีซึ่งเริ่มขึ้นแล้ว จำเป็นที่รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจะได้เตรียมการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับ 11 หรือแม้ข้าราชการตำรวจ ทหาร รัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีก็เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่รัฐธรรมนูญตามมาตรา 215 บัญญัติไว้ชัดเจน คณะรัฐมนตรีรักษาการ (ระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งและยังไม่มีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่) ไม่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง
การบัญญัติไว้ในกฎหมายสูงสุดเช่นนี้เพื่อป้องกันมิให้คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจอย่างผิดครรลองครองธรรมอันอาจนำไปสู่การเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องและต่อหมู่คณะของตนเอง สำหรับคณะรัฐมนตรีปัจจุบันได้รักษาการมาตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ซึ่งเป็นวันยุบสภา จนถึงวันนี้นับได้ 146 วันแล้ว (เกือบ 5 เดือนเต็ม) ความไม่ชอบธรรมในการเป็นคณะรัฐมนตรีที่จะใช้อำนาจไปดำเนินการใดๆในเรื่องที่สำคัญโดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประจำที่ถูกเพ่งเล็งและตั้งข้อสงสัยจากสังคม ดังกรณีที่เกิดขึ้นย่อมนำมาซึ่งความมัวหมองและสร้างมลทินให้กับคณะรัฐมนตรีชุดนี้
ขณะที่รักษาการนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เรียกร้องให้ใครต่อใครซึ่งไม่ได้มีอำนาจรัฐ ไม่ได้เป็นคณะรัฐมนตรีและไม่ได้เป็นฝ่ายค้านตามกติกาแห่งรัฐธรรมนูญทำตามกติกา เคารพต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริง คณะรัฐมนตรีรักษาการต่างหากที่กำลังละเมิดกติกา
การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่เล่นพวกเล่นพ้อง เล่นเครือญาติปรากฏให้เห็นอยู่โทนโท่ พฤติกรรมที่ไม่ชอบธรรม ขัดต่อกฎหมายและคุณธรรมถูกหลายฝ่ายแสดงปฏิกิริยาไม่ยอมรับ แต่ในแวดวงข้าราชการประจำกลับไม่มีท่าทีใดๆ ออกมา นี่เองทำให้คณะรัฐมนตรีรักษาการย่ามใจที่จะใช้อำนาจไปเรื่อยๆ โดยไม่คิดหาทางแก้ไขซึ่งตัวเองเป็นต้นเหตุแห่งปัญหาที่แท้จริง
หน้า 2<
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01edi01210749&day=2006/07/21