สนธิ ลิ้มทองกุล เคยเขียนเกี่ยวกับคดีนี้ไว้ในบทความขนาดยาวมหึมาชื่อ "เจ้าพ่อ"
คอลัมน์ "ตะวันออกที่ท่าพระอาทิตย์" ในนสพ. "ผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับพิเศษ"
11-17 มิถุนายน พ.ศ.2533 เห็นมีชื่อ "พล.ต.ต.สล้าง บุนนาค" อยู่ด้วย
ค้นเจอแล้วก็เลยตัดมาลงให้นะครับไม่รู้จะถูกใจไหม ...
ถ้าสนใจอ่านฉบับเต็ม (ยาวมากๆๆๆๆ) ก็ไปได้ที่ลิงค์นี้ครับ...
http://www.gotomanager.com/books/details.aspx?id=279&menu=books,new---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
คดีฆ่าผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดภูเก็ตเพื่อยกตัวอย่างให้เห็นชัดเป็นรูปธรรมในทฤษฎีที่ผมพูดมาให้ท่านผู้อ่านฟัง ก็ขอยกตัวอย่างการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
ของตำรวจในคดีที่เคยอึกทึกครึกโครมมาเมื่อ ปี 2528-2529 นี้ให้ดู
ผู้พิพากษาหัวหน้าศาล นายปรีดี สุจริตกุล และโกโหลน พ่อค้าแร่จังหวัดภูเก็ต ถูกคนร้ายลอบยิงตายระหว่างขับรถไปดูที่ดิน
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมมือปืนได้ทั้งหมด และมือปืนก็ให้การรับสารภาพ ตลอดจนซัดทอดถึงผู้ว่าจ้างวานฆ่า
ตำรวจนำมือปืนเหล่านั้นขึ้นฟ้องศาล และศาลก็ได้พิพากษาให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยไม่มีความ ประสงค์จะอุทธรณ์
เพราะยอมรับผิด ในขณะเดียวกัน อัยการจังหวัดก็ได้ออกหมายจับผู้จ้างวานฆ่า คือนายโสภณ กิจประสาน ซึ่งเป็นเจ้าพ่อ
คนหนึ่งในจังหวัดภูเก็ตและพังงา
ในการทำคดีนี้ รัฐมนตรีมหาดไทยคือพลเอกสิทธิ จิรโรจน์ ได้ให้กำลังใจกับทีมงานที่ดำเนินการจับกุมคนร้าย ตลอดจนให้คำชมเชย
ต่อมานายโสภณ กิจประสาน ได้ทำเรื่องร้องเรียนมายังกองบังคับการกองปราบปราม ซึ่งยุคนั้นพล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์
เป็นผู้บังคับการ ตลอดจนทำเรื่องร้องเรียนมายังอัยการเขต 8 โดยกล่าวหาว่า ทีมงานตำรวจผู้ป ฏิบัติงานจับผิดคน
แล้วได้มีการซ้อมจำเลยเพื่อให้สารภาพ ความที่นายโสภณ กิจประสาน มีสายสัมพันธ์อันดีกับข้าราชการตำรวจในส่วนกลาง
ก็เลยทำให้เกิดความกดดันให้มีการทบทวนเรื่องนี้ โดย ตำรวจกองปราบฯ ได้ทำตนเป็นหัวหอก ในการลงไปตรวจสอบ
การทำงาน ตลอดจนมีความพยายามในการเขียนสำนวนการจับกุมขึ้นมาใหม่ ด้วยพยานหลักฐานใหม่ที่ตำรวจ กองปราบฯ
อ้างว่าได้สืบค้นมา
ตำรวจทั้งทีมทำคดีนี้ก็เลยโดนย้าย โดยคนหนึ่งซึ่งเป็นหัวหน้าทีม คือพล.ต.ต.สล้าง บุนนาค ได้ถูกย้ายจากผู้การเขต 12
มาเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา (คือไม่มีงานทำนั่นเอง) ตำรวจลูกทีมอีกหลายสิบคน ตั้งแต่สัญญาบัตรไปจนถึงประทวน
ถูกย้ายออกนอกพื้นที่ กระจัดกระจายไปทั่วราชอาณาจักร จากลูกเมียไปอย่างกะทันหัน โดยไม่รู้อนาคตของตนเอง จาก
คำสั่งย้ายของเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พันเอกเลิศ พึ่งพักตร์ นายทหารรุ่น 5 ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับ
พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์ ผู้บังคับการกองปราบฯ พร้อมกันนั้นอัยการเขต 8 ซึ่งปัจจุบันเกษียณอายุไปแล้ว ก็ได้เสนอ
ให้สั่งไม่ฟ้องนายโสภณ กิจประสาน โดยอ้างว่าหลักฐานที่ได้มาใหม่นั้นมีเหตุผลพอเพียงที่จะสั่งให้ไม่ฟ้องได้ ทั้งๆ ที่
ก่อนหน้านั้นได้มีคำสั่งสั่งให้ฟ้องออกมาอยู่แล้ว
เรื่องนี้เป็นเรื่องของการต่อสู้กันทางกฎหมาย และได้มีการต่อสู้กันทางกฎหมายระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกับอัยการเขต
นั้นว่า คำสั่งอันไหนถึงจะถูกต้อง ตามกฎหมาย แต่ในที่สุดกรมอัยการก็ต้องยอมสั่งฟ้องผู้ต้องหา ทั้งนี้เพราะจำนนด้วยข้อกฎหมาย
อธิบดีกรมอัยการยุคนั้นคือนายสุจินต์ ทิมสุวรรณ
การต่อสู้ระหว่างอัยการแผ่นดินและทนายฝ่ายโจทก์ผู้เสียหายกับฝ่ายจำเลย คือนายโสภณ กิจประสาน นั้นเป็นการต่อสู้
ที่เข้มข้นมาก เพราะฝ่ายจำเลยได้ขุดพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบ ซึ่งแม้กระทั่ง
พล.ต.ต.บุญชู วังกานนท์ และพลตรีภุชงค์ นิลขำ เอาเข้ามาเป็นพยานฝ่ายจำเลย
ซึ่งก็นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีตำรวจที่ทำคดีนี้ทั้ง 2 ฝ่ายขัดแย้งกันอย่างหนัก โดยฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของโจทก์
และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นพยานของจำเลย
นับเป็นเรื่องชวนหัวที่หัวเราะไม่ออกเสียจริงๆ
ในที่สุด ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา มีความเห็นว่าจำเลยคือนายโสภณ กิจประสาน นั้นมีความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหา
จึงพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่เนื่องจาก คำพิพากษา ศาลฎีกาได้ตกลงมาในช่วงระหว่างที่ในหลวงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา
จึงได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต
แต่กว่าจะมาถึงคำพิพากษาอันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจทุกคนที่ทำคดีนี้ ต่างก็อยู่ในสภาวะหวาดหวั่นขวัญเสีย และท้อถอยต่อการทำงาน
เพราะมันเหมือนกับว่าทำงานได้สำเร็จ แทนที่จะได้รางวัลกลับถูกลงโทษ
อธิบดีกรมตำรวจสมัยนั้นคือ พล.ต.อ.ณรงค์ มหานนท์ ตลอดจนนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่หลายนาย พากันหลบเลี่ยงปัญหาเพื่อเอาตัวรอด
ไม่มีใครที่จะกล้าพอลุกขึ้น มาปกป้องการทำงานของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ที่ทำงานไปตามหน้าที่ ทั้งนี้เพราะกลัวความ กดดัน
ที่จะทำให้ตัวเองต้องหลุดออกจากตำแหน่งหน้าที่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ยืนยันความผิดของนายโสภณ กิจประสาน เป็นที่น่าสังเกตว่า ได้เขียนออกมาอย่างชัดเจนตอนหนึ่งว่า
"พยานบุคคลที่จำเลยนำมาสืบนั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ขึ้น" แปลเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ พยานนั้นเป็นพยานโกหก ซึ่งประเด็นนี้
ถ้าใครอยากจะสืบสาวเอาเรื่องต่อในเรื่องการให้การเท็จ ก็ย่อมจะได้ เพราะอายุความยังไม่สิ้น (ขณะนั้น)
จะเห็นได้ชัดว่า เมื่อผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาได้ทำตามหน้าที่ และเมื่อมีอิทธิพลภายนอกเข้ามาบีบ ผู้บังคับบัญชากลับหดหัว
อยู่ในกระดอง ไม่กล้าออกมาปกป้องการทำงานที่ถูกต้องของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแล้ว เราจะหวังให้ตำรวจมีความกล้าพอ
ที่จะลุกขึ้นมายืนหยัดฟาดฟันแล้วลุกขึ้นมาต่อสู้กับเจ้าพ่อภูธรได้อย่างไร