ชิชะ
บุคคลทั่วไป
|
|
« เมื่อ: 17-09-2008, 17:28 » |
|
แกะเงื่อนงำ "ชินณิชาวิลล์" หมู่บ้าน ครม. ทรท.ใครคือนอมินี "เจ๊แดง"?
บทความพิเศษ ศัลยา ประชาชาติ มติชนรายสัปดาห์ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 26 ฉบับที่ 1340
2ปีที่แล้วคราวที่ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เปิดตัวโครงการหมู่บ้านหรู "ชินณิชาวิลล์" ย่านถนนแจ้งวัฒนะ ท่ามกลางแขกเหรื่อคับคั่ง มีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร และรัฐมนตรี หอบกระเช้าไปร่วมแสดงความยินดี ไม่มีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์ดังกล่าว จะนำมาซึ่งความยุ่งยากให้แก่รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในวันนี้ นั่นก็คือสัปดาห์ที่ผ่านมา นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาเปิดโปงว่านางเยาวภามีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ กรณีเป็นเจ้าของหมู่บ้านชินณิชาวิลล์ อย่างมีเงื่อนงำ และลูกสาวยังเป็นเจ้าของหุ้นบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อบริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด ธุรกิจลอจิสติกส์ชื่อบริษัท วินโคสต์ อินดัสเทรียล พาร์ค จำกัด และทรัพย์สินอื่นที่เกิดขึ้นในรอบ 5 ปีอีกหลายรายการ
พร้อมทั้งชงเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้าตรวจสอบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ประเด็นกล่าวหาต่อกรณีหมู่บ้านชินณิชาวิลล์ก็คือ หมู่บ้านแห่งนี้เดิมชื่อโครงการการ์เด้นท์ ซิตี้ ลากูน เป็นหนี้เอ็นพีแอล บริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ของกลุ่มนางเยาวภาซื้อจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) ในวงเงิน 800 ล้านบาท และเมื่อปี 2546 เพิ่มทุน 150 ล้านบาท พร้อมตั้งชื่อว่า "ชินณิชาวิลล์" ซึ่งเป็นชื่อของลูกสาวคนโตของนางเยาวภา จึงสงสัยว่า เงินก้อนนี้มาจากไหน แล้วเอาเงินที่ไหนไปซื้อโครงการ 800 ล้านบาทจาก บสท.?
ต่อมาแม้ นายไพวงษ์ เตชะณรงค์ เจ้าของโบนันซ่ารีสอร์ท (ผู้รับเหมาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ใน กฟภ.) ได้เข้ามารับซื้อ "ชินณิชาวิลล์" แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่ Beverly Hills ในปัจจุบัน ออกมาปฏิเสธว่า หมู่บ้านนี้ไม่เกี่ยวข้องกับเจ๊แดง แต่ทว่าเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กลับพบเงื่อนงำที่น่าสนใจ
ทั้งนี้เพราะ บริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 23 พฤษภาคม 2537 ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 1 ล้านบาท วันที่ 27 มีนาคม 2546 เพิ่มเป็น 450 ล้านบาท ที่ตั้งเลขที่ 222 หมู่ 4 แขวงทุ่งสองห้อง ขณะนั้นมีกรรมการ 3 คน คือ นางวัสสา จีนะวิจารณะ นายยงยุทธ วิเศษสรรค์ และ นายสุธรรม มลิลา โดยมี นายวัลลภ ลิ้มเจริญ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
มีผู้ถือหุ้นใหญ่ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2546 เป็นนิติบุคคล 3 ราย ได้แก่ บริษัท ริเวียร่า โฮลดิ้งส์ จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ทีเอสบี โฮลดิ้งส์ จำกัด) 25,499,996 หุ้น บริษัท สินมหัต จำกัด 18,000,000 หุ้น และบริษัท ทรัพย์สินฝาจีบ จำกัด 1,500,000 หุ้น
จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ทีเอสบี โฮลดิ้งส์ จดทะเบียนก่อตั้งวันที่ 3 กันยายน 2545 ทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.5 ล้านหุ้น หุ้นละ 100 บาท มีผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 13 มีนาคม 2546 มี 11 คน ได้แก่ นายยงยุทธ วิเศษสรรค์ 424,998 หุ้น นายสุธรรม มลิลา 100,000 หุ้น นายวรุศ มลิลา 600,000 หุ้น นายปรีชา เพชรติ้น 300,000 หุ้น นายบุญญฤทธิ์ สันติกุล จำนวน 1 หุ้น นายธีระรักษ์ รัชตะทรัพย์ จำนวน 1 หุ้น นายสมศักดิ์ เผ่าโภคสถิตย์ 25,000 หุ้น นายไพโรจน์ เจริญสวัสดิพงศ์ 25,000 หุ้น นางสาวสุภาพร ไชยราช 10,000 หุ้น นางสาวอนัญญา ศรีไทย 10,000 หุ้น และ นายบวร บุรีพันธ์ 5,000 หุ้น
ขณะที่บริษัท สินมหัต จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 ทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาทให้คำแนะนำและปรึกษาทางธุรกิจ ต่อมาวันที่ 7 มิถุนายน 2547 เพิ่มเป็น 100 ล้านบาท มี นางสุนิสา ปฐมพฤกษ์ ถือหุ้นใหญ่ 999,994 หุ้น หุ้นละ 100 บาท
ล่าสุด วันที่ 11 กรกฎาคม 2548 บริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ เปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหม่ บริษัท ทีเอสบี โฮลดิ้งส์ ถือหุ้นใหญ่เท่าเดิม แต่ทว่า หุ้นของบริษัทสินมหัต 18 ล้านหุ้น โอนไปให้ นายสุธรรม มลิลา 4,500,001 หุ้น นายวรุศ มลิลา 4,500,000 หุ้น นางสาวกนกวรรณ ประพันธ์เนติวุฒิ 4,500,000 หุ้น นายธเนศ รัชตะทรัพย์ 4,500,000 หุ้น
ขณะที่บริษัท ทีเอสบี โฮลดิ้งส์ จำกัด มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนด้วยเช่นกัน โดย นายยงยุทธ วิเศษสรรค์ 225,000 หุ้น นายสุธรรม มลิลา 100,000 หุ้น บริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด 600,000 หุ้น นายวรุศ มลิลา 49,999 หุ้น นายธเนศ รัชตะทรัพย์ 374,999 หุ้น นายบุญญฤทธิ์ สันติกุล 1 หุ้น นายธีระรักษ์ รัชตะทรัพย์ 1 หุ้น นายสกล จิตมงคลบุตร 75,000 หุ้น นายโกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ 75,000 หุ้น
และยังพบอีกว่า บริษัท นิติบุคคลแจ้งวัฒนะ 17 จำกัด ผู้บริหารโครงการชินณิชาวิลล์ ก่อนหน้านี้วันที่ 30 เมษายน 2547 บริษัททีเอสบี โฮลดิ้งส์ ถือ 5,997 หุ้น บริษัทสินมหัต ถือ 3,998 หุ้น นางวัสสา จีนะวิจารณะ 1 หุ้น
ปรากฏว่าวันที่ 11 กรกฎาคม 2548 มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหม่เป็นบริษัท ทีเอสบี โฮลดิ้งส์ 5,997 หุ้น นายสุธรรม มลิลา 1,000 หุ้น นายวรุศ มลิลา 1,000 หุ้น นางสาวกนกวรรณ ประพันธ์เนติวุฒิ 1,000 หุ้น นายธเนศ รัชตะทรัพย์ 1,000 หุ้น นายบุญญฤทธิ์ สันติกุล 1 หุ้น และ นายธีระรักษ์ รัชตะทรัพย์ 2 หุ้น
น่าสังเกตว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2548 ที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นบริษัท สร้างสิน พร็อพเพอร์ตี้ ไล่เลี่ยกับช่วงที่มีกระแสข่าวว่ากลุ่มนางเยาวภาได้ขายหุ้นหมู่บ้านชินณิชาวิลล์ ให้แก่นักลงทุนรายอื่นแล้ว
ในรอบปี 2546 บริษัทสินมหัต มีสินทรัพย์ 132.2 ล้านบาท ปี 2547 มีสินทรัพย์ 158.1 ล้านบาท ผลประกอบการปี 2546 มีรายได้ 1.2 ล้านบาท กำไร 129,422 บาท ปี 2547 มีรายได้รวม 2.6 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,447,731 บาท
ข้อมูลสำคัญคือ นางสุนิสา ผู้ถือหุ้นใหญ่ "สินมหัต" เป็นน้องสาวของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รมช.คมนาคม ผู้ผลักดันสายการเดินเรือแห่งชาติ นางสุนิสาเพิ่งลาออกจากการเป็นกรรมการ บริษัทเอ็มลิงค์ เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ปัจจุบันเป็นกรรมการถึง 12 บริษัท ได้แก่ บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (บริษัทนี้ถือหุ้นอยู่ในบริษัท คุณนที จำกัด ซึ่งเป็นผู้ลงทุนในสายการเดินเรือแห่งชาติ), บริษัท พอร์ทัลเน็ท จำกัด, บริษัท วินโคสท์ เซอร์วิส จำกัด, บริษัท อีดีซี สแควร์ จำกัด (ฝึกอบรมระบบคอมพิวเตอร์), บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท เอ็มโซลูชั่น จำกัด, บริษัท เทเลแม็กซ์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท เป๋าตุงเฮง จำกัด, บมจ.วินโคสต์ อินดัสเทรียล พาร์ค, บริษัท สยามคอมมอน กรุ๊ป จำกัด, บริษัท สินมหัต จำกัด และบริษัท เอ็ม ช็อป โมบาย จำกัด
บริษัทเกือบทั้งหมดที่นางสุนิสาเป็นกรรมการ มีที่ตั้งเดียวกับเอ็มลิงค์ และ บมจ.วินโคสต์ฯ ซึ่งคนในครอบครัววงศ์สวัสดิ์ถือหุ้นใหญ่
คำถามที่ว่า ใครเป็นนอมินีของเจ๊แดงในหมู่บ้านชินณิชาวิลล์?
เด็กอมมือก็ตอบได้
หน้า 14
|