ประชามติ" ส่อเหลว!! ขัดรธน. "ม.165" กม.ระบุชัด ห้ามดำเนินการหากเป็นข้อขัดแย้งระหว่าง "คณะบุคคล"
"การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้"
จากกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับหลักการให้จัดทำประชามติเกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและการบริหารประเทศของรัฐบาลว่าควรทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ เมื่อวันที่ 4 กันยายน
"มติชนออนไลน์" พลิกดูกฎหมายรัฐธรรมนูญ หมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน มาตรา 165 ที่ระบุว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีสิทธิออกเสียงประชามติ การจัดให้มีการออกเสียงประชามติให้กระทำได้ในเหตุ ดังต่อไปนี้ (1) ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจกระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีการออกเสียงประชามติได้
(2) ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติตาม (1) หรือ (2) อาจจัดให้เป็นการออกเสียงเพื่อมีข้อยุติโดยเสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติในปัญหาที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติหรือเป็นการออกเสียงเพื่อให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีก็ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้
ก่อนการออกเสียงประชามติ รัฐต้องดำเนินการให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ และให้บุคคลฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบกับกิจการนั้น มีโอกาสแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างเท่าเทียมกัน
หลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ซึ่งอย่างน้อยต้องกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการออกเสียงประชามติ ระยะเวลาในการดำเนินการ และจำนวนเสียงประชามติ เพื่อมีข้อยุติ
****************************
จากข้อกฎหมายดังกล่าว เห็นว่า ครม.สามารถใช้อำนาจตาม (1) ได้ ที่ระบุว่า หากมีเรื่องใดที่กระทบถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกฯ สามารถปรึกษาประธานสภาฯ หรือประธานวุฒิสภาได้ เพื่อประกาศให้มีการออกเสียงประชามติลงในราชกิจจานุเบกษา
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าคิดว่าการออกเสียงประชามติครั้งนี้ อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญใน วรรค 4 ได้ เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า "การออกเสียงประชามติต้องเป็นการให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในกิจการตามที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ และการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคล จะกระทำมิได้"
ดังนั้น หากพิจารณาตามนี้แล้ว จะเห็นว่า ประเด็นปัญหาที่จะให้มีการออกเสียงประชามติ เกิดจากความขัดแย้งระหว่างคณะบุคคล 2 ฝ่าย อันได้แก่ "คณะรัฐบาล และกลุ่มพันธมิตรฯ" ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการจะให้มีการชุมนุมต่อไปหรือไม่ หรือให้ความเห็นชอบว่ารัฐบาลควรจะบริหารประเทศต่อไปหรือไม่ ล้วนเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดจาก "ความขัดแย้งเกี่ยวกับคณะบุคคล" ทั้งสิ้น
ฉะนั้น หากเปิดให้มีการทำประชามติในประเด็นดังกล่าวจริง ก็อาจจะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 165 วรรค 4
ดับฝันคณะรัฐบาลเลย