ท่านขุนน้อย
11 มิถุนายน 2551 กองบรรณาธิการ
ทฤษฎี 1 ต่ำ
ในบรรดานักบริหาร นักวิชาการ ที่ออกมาให้ความคิด ความเห็น ในเรื่องปัญหาราคาข้าว เท่าที่เห็นและเป็นอยู่ในขณะนี้...ดูเหมือนว่าอาจารย์ดอกเตอร์ ณรงค์ เพชรประเสริฐ ผู้มีฉายาว่า เศรษฐสยาม เจ้าเก่านี่แหละ ที่สามารถให้คำตอบแบบสั้นๆ แต่ชัดเจน ตรงไป-ตรงมา กินความหมายครอบคลุมกว้างขวางไปทั่วทั้งกระบวนการ และทั่วทั้งระบบ...
----------------------------------------
ในรายการสนทนาทางทีวีสาธารณะเมื่อค่ำวันจันทร์ที่ผ่านมา เมื่อพิธีกรอย่างคุณ กรุณา บัวคำศรี เธอตั้งคำถามแบบครอบคลุมไปทั่วทั้งระบบว่า "การแก้ปัญหาราคาข้าวอย่างยั่งยืนมีหรือไม่?...และมีวิธีอย่างไร?" โดยให้เวลาตอบคำถามประมาณ 1 นาที อาจารย์ ณรงค์ ท่านก็ตอบสนองด้วยการใช้คำพูดประมาณแค่ 1 ประโยคและใช้เวลาไม่น่าจะเกิน 10 วินาที นั่นก็คือตอบว่า... "มี...และวิธีก็คือ...หาทางลดต้นทุนการผลิตให้กับชาวนา" อันนี้ต้องเรียกว่า...เป๊ะๆๆ...ไม่ต้องเสียเวลาลากไปลากมา น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง ไปไหนมาสามวาสองศอก...ออกอ่าวออกทะเล ตีกรรเชียงลอดอุโมงค์แม่น้ำโขง...ดังเช่นพิธีกรรายการชิมไป-ด่าไปแม้แต่นิด...
----------------------------------------
เพราะคำว่า การลดต้นทุนการผลิตของชาวนา เพียงคำเดียว...มันสามารถนำเอาไปอธิบาย ขยายความ ได้ทั่วทั้งระบบ ทั้งกระบวนการ ไม่ว่าจะไล่มาตั้งแต่เรื่อง ค่าเช่าที่นา การจัดสรรที่ดิน การปฏิรูปที่ดิน หรือจะโยงใยไปถึงการกว้านซื้อที่ดินโดยบรรดา นอมินี อีกด้วยก็ยังได้ พูดง่ายๆ ก็คือ จะหาทางทำให้ ปัจจัยการผลิต ขั้นพื้นฐานของเกษตรกรชาวนา-ชาวไร่ อันได้แก่ ที่ดิน นั้น ได้รับการควบคุม ดูแล ตลอดไปจนถึงการป้องกัน เพื่อให้เกิด ความเป็นธรรม ขึ้นมาได้อย่างไร?...นั่นเอง รัฐที่มีทั้ง อำนาจ เครื่องมือ กฎหมาย งบประมาณ...พร้อมสรรพ ถ้าสามารถใช้กลไกต่างๆ สร้างความเป็นธรรมขึ้นมาได้แม้แต่เพียงนิดๆ ภาระของชาวนาไม่ว่าในระยะสั้นๆ หรือระยะยาวก็ตามที... น่าจะลดลงไปได้ไม่น้อยทีเดียว....
-------------------------------------------
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น...ก็คือต้นทุนการผลิตในลำดับต่อไป ไล่มาตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ ที่ถือได้ว่าเป็น เครื่องมือในการผลิต ในขั้นตอนต่างๆ ถ้าหากรัฐบาลสามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ ได้เหมือนกับควบคุมราคาค่าโดยสาร ค่าไฟ ค่าน้ำ ฯลฯ อั้นเอาไว้ไม่ให้มันกลายเป็นภาระของชาวนามากเกินไป จนต้นทุนการผลิตข้าวต่อไร่ขณะนี้ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า 3 เท่า และไม่เคยลดลงมาเลย ไม่ว่าราคาข้าวจะตก หรือจะแกว่งไกวกันในลักษณะไหนก็ตาม ลองดูซิว่า...บริษัทผลิตปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร บริษัทขายเมล็ดพันธุ์ ฯลฯ มันจะกล้าฆ่าตัวตายกันแบบชาวนาเลยหรือไม่??? หรืออย่างมาก...ก็แค่ขอลด งบบริจาค ให้กับพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง-พรรคใด แต่เพียงเท่านั้นหรือเปล่า...???
----------------------------------------------
แน่นอนว่า...ถ้าหาก ต้นทุนการผลิต ของชาวนาลดลงมาเหลือแค่ไร่ละ 4,000-5,000 บาท ต่อให้ราคาข้าวจะหัวทิ่มลงมาเหลือแค่ 7,000-8,000 บาท ชาวนาก็น่าจะแฮปปี้แล้ว ยังเหลือกำไรต่อไร่ตั้ง 2,000-3,000 บาท คงไม่คิดจะยกขบวนมาปิดถนนไม่ต้องเสียเวลามาปวดหัวกับเรื่องความชื้นของข้าว ไม่ต้องมึนงงกับความซับซ้อนของสิ่งที่เรียกว่า กลไกตลาด ไม่ว่าภายในประเทศหรือในระดับโลกก็ตาม และคงไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องทุ่มเทงบประมาณ ยกขบวนพยุหยาตราเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ลงไปทำหน้าที่ ค้ำประกันราคาข้าว ซึ่งมักจะกลายเป็นรายการ เสียค่าโง่ ให้กับพ่อค้ากันไปซะทุกที...เพียงแต่รัฐบาลได้ทำหน้าที่ ค้ำประกันต้นทุนการผลิต หรือทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาลดต่ำลงมา ด้วยกรรมวิธีที่ถูกต้อง เหมาะสม หรือด้วยการยึดมั่นอยู่ใน ความเป็นธรรม กันจริงๆ แล้ว...ภายใต้ ทฤษฎี 1 ต่ำ หรือต้นทุนการผลิตลดต่ำลงมาอย่างเดียวเท่านั้น...ทั้งชาวนาก็แฮปปี้ และผู้บริโภคก็ย่อมมีโอกาสแฮปปี้ตามไปด้วย เนื่องจากราคาข้าวมันย่อมต้องถูกลง ไปตามต้นทุนการผลิตที่ลดลง... วิน-วิน ด้วยกันทั้งสองฝ่าย....
------------------------------------------------------
แต่เหตุที่ทั้งชาวนาและผู้บริโภค...ต่างกลายเป็นผู้ที่ต้องฉิบหายไปด้วยกันทั้งคู่ ก็เพราะผู้ที่ วินตัวจริง และ วินมาโดยตลอด นั้น...มันไม่ได้เป็นทั้งชาวนาและผู้บริโภคทั้งหลาย แต่มักจะได้แก่ผู้ที่ถือครองปัจจัยการผลิต ผู้ที่มีอิทธิพลในการควบคุมกระบวนการผลิต ไปจนถึงผู้ที่ครอบครองกลไกการตลาด...นั่นเอง ซึ่งว่าไปแล้ว...ก็เป็นเพียงแค่ผู้คน ไม่กี่กลุ่ม ไม่กี่กระจุก แต่ว่ากลับสามารถแฮปปี้ท่ามกลางความฉิบหายของผู้คนนับล้านๆ ในแต่ละประเทศ หรือนับเป็นพันๆ ล้านในระดับโลกเอาเลยก็ว่าได้...
-----------------------------------------------------
ในขณะที่ราคาสินค้าการเกษตร หรือราคาอาหารทั่วโลก แพงระเบิดเถิดเทิงพุ่งขึ้นไปถึงระดับเป็นร้อยๆ เปอร์เซ็นต์ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้คนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านคน อีกประมาณ 200 ล้านคนอยู่ในสภาพอดอยากหิวโหยใกล้จะอดตาย ไม่น้อยกว่า 30 ประเทศเกิดการจลาจลอาหาร...แต่เมื่อลองหันมาดูตัวเลข กำไร ของบรรษัทธุรกิจการเกษตรในระดับโลก ที่เป็นผู้ควบคุมปัจจัยการผลิต กระบวนการผลิต และการตลาดแบบครบวงจร ไล่มาตั้งแต่บรรษัทยักษ์ใหญ่อย่าง มอนซานโต ผลกำไรในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มจาก 543 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้วมาเป็น 1.2 พันล้านดอลลาร์ บริษัท คาร์กิล จาก 553 ล้านดอลลาร์เมื่อปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 1 พันล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีนี้เช่นกัน บริษัท อาเธอร์ ดาเนียล มิดแลนด์ จาก 363 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสแรกของปีที่แล้ว เพิ่มเป็น 517 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 42 เปอร์เซ็นต์ บริษัทค้าปุ๋ยเคมีระดับโลกอย่าง โมเสค คอมปานี จากกำไรประมาณ 42.2 ล้านดอลลาร์ใน 3 เดือนแรกของปีที่แล้ว มาปีนี้เพิ่มกำไรขึ้นเป็น 520.8 ล้านดอลลาร์เพียงแค่ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา...ฯลฯ
----------------------------------------------------
สำหรับบ้านเรานั้น...ใครจะรวย แบบอุจจาระแตก อุจจาระแตน เหมือนกับบรรษัทธุรกิจการเกษตรระดับโลกหรือไม่? เพียงใด? ก็คงต้องไปคิดกันเอาเอง!!! แต่ทั้งนั้น-ทั้งนี้...ไม่ว่าใครจะตื่นเต้น ฮือฮา ซี้ดๆ ซ้าดๆ ไปกับทฤษฎี 2 สูง 3 สูงหรือ 4 สูงก็แล้วแต่...แต่ก็อย่าลืมคิดด้วยว่า ต้นทุนการผลิต ของสินค้าการเกษตรต่างๆ มันย่อมต้องสูงง์ง์ง์...ตามไปด้วย ชนิดที่ไม่เคยทำให้ กำไร ของบรรษัทเหล่านี้ กวัดแกว่ง หรือลดระดับลงมาเลยแม้แต่น้อย ต่างไปจากรายได้ชาวนา และรายได้ของผู้บริโภคทั้งหลาย ที่ต่างก็จะต้องแบกรับภาระต้นทุนกันในแต่ละรูปละแบบ แถมยังต้องเสี่ยงกับภาวะความผันผวน ขึ้นๆ-ลงๆ ของราคาตามกลไกตลาด ที่ทุกวันนี้มันกลายเป็นบ่อนการพนันเพราะการเก็งกำไรกันไปทั้งระบบ เมื่อหักลบกลบหนี้เรียบร้อยแล้ว (โดยแทบไม่ต้องคิดถึงอัตราเงินเฟ้ออีกด้วยก็ได้)...ยังไงๆ ก็คงต้องตกอยู่ในสภาพ...มีแต่...ตาย...กับ...ตาย เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต...ปัจจุบัน...และในอนาคตเบื้องหน้า ชนิดแทบไม่ต้องสงสัยใดๆ เลย...
--------------------------------------------------------
ปิดท้ายด้วยวาทะวันนี้จาก มหาตะมะ คานธี... "ความชั่วมิได้สิงสถิตอยู่ในความล้าหลัง อย่างเช่นการใช้เกวียนเทียมวัว...แต่มันสิงสถิตอยู่ใน...ความเห็นแก่ตัว...ที่มักจะมาพร้อมๆ กับความทันสมัย..."
------------------------------------------------------
http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&iDate=11/Jun/2551&news_id=159710&cat_id=500-----------------
เคยคุยกันในกลุ่มเพื่อน ๆ เกี่ยวกับวามคิดนี้ เห็นกันว่า แม้คนจะมีเงินเพิ่มแต่ใช่ว่า จะแก้ปัญหา ชาวนา ได้
ข้างหนึ่งสูงขึ้น แต่ก็ไปใช้จ่ายอย่างอื่นไม่ถึงมือ ชาวนา เพราะ พ่อค้าคนกลางเอาไปหมด
ชาวนา ชาวสนวน ชาวไร่ ฯลฯ มันไปอยุ่ที่พ่อค้าคนกลาง ถ้าจำกัด หรือ กำจัด พ่อค้าคนกลางได้ จะดีที่สุด
สมาชิกเวปบอร์ดนี้ เคยทิ้งความคิดเรื่อง ต้นทาง---ปลายทาง ทำยังไงให้ ต้นทาง--ปลายทางถึงมือกัน
หรือ มี ปชช พ่อค้า แม่ค้า ผลไม้ สินค้น ต่าง เดินทางไปซื้อจากชาวนาชาวสวนาวไร่ โดยตรง เลย มาขาย
ไม่ต้องผ่า คนกลาง ไปซื้อจากชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน แล้วพ่อค้า แม่ค้า ตามทั่ว ๆ ไป ต้องไปซื้อกับพ่อค้าคนกลางอีกที
ทำหงจะตัดพ่อค้าคนกลาง ทิ้งเสีย เหลือต้นทาง---ปลายทาง ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง นอกจากการลดต้นทุนการผลิต
ท.สองสูง เป็น ท. ขูดเลือดขุดเนื้อ จากคนมีเงิน และจากคนจน