ชัดแล้วครับว่าทำไมเจ้าสัวถึงเสนอทฤษฎีนี้ออกมา
เพราะกระเป๋าตัวเองล้วนๆ ไม่ได้หวังจะแก้ปัญหาอะไรให้กับประเทศชาติหรอก
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9510000064447“พันธุ์ข้าวลูกผสม” จุดเปลี่ยนชีวิตชาวนาไทย??
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มิถุนายน 2551 19:13 น.
ธนินท์ เจียรวนนท์
ผู้จัดการออนไลน์ - “ไบโอไทย” เปิดผลศึกษาวิเคราะห์ปัญหาพันธุ์ข้าวลูกผสมของเครือซีพี ชี้ผลผลิตไม่ได้เพิ่มสูงดังคำโฆษณา แถมคุณภาพข้าวต่ำกว่า ชาวนาต้องแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น เผยบริษัทยักษ์ใหญ่เดินเกมผลักดันเชิงนโยบายให้สภาพัฒน์ - กระทรวงเกษตรฯ - ธ.ก.ส. เกื้อหนุนธุรกิจของบริษัทเพื่อครอบครองตลาดพันธุ์ข้าวลูกผสมอย่างแยบยล ซึ่งมีผลต่อการผันเปลี่ยนชีวิตและชะตากรรมของชาวนาไทยในอนาคต
วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และ จักรกฤษณ์ พูลสวัสดิ์กิติกุล นักวิจัย มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย - BioThai) แถลงผลการศึกษา “รายงานวิเคราะห์ปัญหาของพันธุ์ข้าวลูกผสม ศึกษากรณีพันธุ์ข้าวลูกผสมของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์” ซึ่งใช้เวลาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2551 สำรวจผลผลิตของการปลูกข้าวลูกผสมโดยลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์เกษตรกร ศึกษาสมุดบันทึกรายละเอียดการปลูกข้าวลูกผสมซึ่งเป็นคู่มือที่บริษัทใช้ติดตามงานของทีมส่งเสริมของบริษัทในพื้นที่ โดยได้สุ่มคัดเลือกชาวนาที่ปลูกข้าวลูกผสมของซีพีรวม 9 ราย ที่ปลูกข้าวนาปรังในฤดูการผลิต 2550-2551 ในจังหวัดกำแพงเพชร และอุตรดิษฐ์
จากการวิจัยภาคสนาม พบตัวเลขของผลผลิต ต้นทุนการผลิตต่างๆ โดยสรุปได้ว่า ผลผลิตเฉลี่ยของชาวนาที่ปลูกข้าวลูกผสมจะได้ผลผลิตเฉลี่ย 958 กิโลกรัม/ไร่ เมื่อเปรียบเทียบผลผลิตที่อ้างโดยซีพีในการแถลงข่าวและให้สัมภาษณ์หลายครั้งที่บอกว่าข้าวลูกผสมของซีพีสามารถให้ผลผลิตสูงถึง 1,500 กิโลกรัม/ไร่ จะพบว่าผลผลิตที่ได้ในทางปฏิบัตินั้น ต่ำกว่าที่ซีพีโฆษณาถึง 36% ในขณะเดียวกัน การศึกษาในพื้นที่พบว่าต้นทุนการผลิตข้าวลูกผสมนั้นสูงเฉลี่ย 4,462 บาท/ไร่ โดยสัดส่วนของค่าเมล็ดพันธุ์และปักดำนั้นสูงถึงร้อยละ 38 ของต้นทุนการทำนาทั้งหมด
ผลการศึกษาครั้งนี้ คณะผู้วิจัย ได้วิเคราะห์ประโยชน์ของข้าวลูกผสมตกอยู่ที่บริษัท แต่ผลกระทบตกอยู่ที่เกษตรกรและภาคเกษตรกรรมไทยโดยรวม กล่าวคือ
*** 1) ผลผลิตของข้าวลูกผสมสูงกว่าผลผลิตข้าวทั่วไปเล็กน้อยไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น
จากผลการศึกษา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผลผลิตข้าวลูกผสมเมื่อเปรียบเทียบกับข้าวทั่วไป ภายใต้ปัจจัยแวดล้อมเดียวกัน(โดยไม่คิดการเพิ่มขึ้นของปุ๋ยเคมี และสารเคมีกำจัดศัตรูพืช) จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 15 % กล่าวคือผลผลิตข้าวต่อไร่ของชาวนาที่ทำการศึกษานั้นมีผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 810 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตข้าวลูกผสมของซีพีนั้นสูงกว่า โดยได้ผลผลิตเฉลี่ย 958 กิโลกรัม/ไร่
อย่างไรก็ตามผลผลิตข้าวที่สูงขึ้นนั้น ไม่คุ้มค่ากับต้นทุนที่เกษตรกรต้องจ่ายเพิ่มขึ้น โดยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่คือค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเมล็ดพันธุ์และปักดำซึ่งสูงถึง 1,700 บาท/ไร่ ไม่ว่าเกษตรกรจะเลือกวิธีการปลูกโดยการหว่านเมล็ดหรือปักดำก็ตาม (ในขณะที่ต้นทุนการทำนาโดยทั่วไปค่าใช้จ่ายสำหรับเมล็ดพันธุ์นั้นอยู่ที่ 300 บาท/ไร่ เท่านั้น) สัดส่วนค่าใช้จ่ายสำหรับเมล็ดพันธุ์นั้นมีสัดส่วนสูงเกือบ 40% ของต้นทุนการทำนาทั้งหมด
นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายด้านเมล็ดพันธุ์แล้ว ชาวนาส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการปลูกข้าวลูกผสมยังต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับค่าปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร และผลิตภัณฑ์อื่นๆเพิ่มเติมมากกว่าการปลูกข้าวทั่วไปอีกด้วย
จากการเปรียบเทียบการปลูกข้าวลูกผสมในปีการผลิต 2551 กับการปลูกข้าวพันธุ์พิษณุโลก 2 และสุพรรณ 4 ของชาวนาใน ต. พญาแมน อำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิษฐ์ ในปีการผลิต 2550 พบว่าต้นทุนในการทำนาข้าวลูกผสมสูงกว่าเกือบ 2 เท่าตัว และได้ผลกำไรน้อยกว่ามาก
กล่าวคือ แปลงนาที่ปลูกข้าวลูกผสม มีต้นทุนต่อไร่ ดังนี้ ค่าพันธุ์ 1,500 บาท เตรียมพื้นที่ 360 บาท สูบน้ำ 200 บาท ปุ๋ย 850 บาท สารเคมี 600 บาท ค่าแรง 200 บาท เก็บเกี่ยว 400 บาท ขนส่ง 100 บาท รวม 4,210 บาท ได้ผลผลิตต่อไร่ 980 กก. รายได้ต่อไร่ 5,684 บาท รายได้สุทธิ 1,474 บาท
ส่วนแปลงนาที่ปลูกข้าวทั่วไป มีต้นทุนต่อไร่ ดังนี้ ค่าพันธุ์ 300 บาท เตรียมพื้นที่ 360 บาท สูบน้ำ 200 บาท ปุ๋ย 425 บาท สารเคมี 300 บาท ค่าแรง 200 บาท เก็บเกี่ยว 400 บาท รวม 2,285 บาท ผลผลิตต่อไร่ 800 ก.ก. รายได้ต่อไร่ 4,640 บาท รายได้สุทธิ 2,355 บาท/ไร่
จากการสอบถามชาวนาในพื้นที่พบว่าประมาณ 20-30% ของชาวนาจะเลิกการปลูกข้าวลูกผสม โดยเหตุผลส่วนใหญ่คือต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและต้องดูแลตามขั้นตอนต่างๆที่บริษัทกำหนด ในขณะที่ชาวนาส่วนที่เหลือยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะปลูกข้าวลูกผสมต่อไปหรือหันกลับไปปลูกพันธุ์ข้าวแบบเดิม โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ราคาข้าว ราคาของปัจจัยการผลิตต่างๆ เป็นต้น
*** 2) คุณภาพของข้าวลูกผสมต่ำกว่าข้าวสายพันธุ์อื่นๆ
มีเกษตรกรหลายรายในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ได้นำข้าวลูกผสมซีพี 304 ไปสีและหุงรับประทาน พบว่า เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำมาก กล่าวคือแข็งและรับประทานไม่อร่อย ตรงกับข้อสรุปของกรมการข้าวของไทย ที่ได้ข้อสรุปว่า ข้าวลูกผสมเท่าที่มีการพัฒนาขึ้นในประเทศไทยนั้นเป็นข้าวคุณภาพต่ำ เหมาะกับการเอาไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่น เช่น แนะนำให้ใช้สำหรับการแปรรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ หรือการผลิตเอธานอล เป็นต้น ซีพีเองที่รับซื้อผลผลิตข้าวลูกผสมจากเกษตรกรก็นำไปแปรรูปเป็นข้าวนึ่ง ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพต่ำ ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในประเทศแอฟริกา
ปัญหาข้าวลูกผสมจะเป็นปัญหาสำหรับทั้งต่อเกษตรกรและต่อตลาดข้าวของไทยในอนาคต เนื่องจากในขณะนี้เกษตรกรขายข้าวลูกผสมในราคาข้าวทั่วไป แต่ในระยะยาวเมื่อมีการปลูกข้าวลูกผสมมากขึ้น ข้าวคุณภาพต่ำเหล่านี้จะมีราคาต่ำกว่าข้าวทั่วไป
ที่สำคัญคือเมื่อข้าวลูกผสมเหล่านี้ผสมปนกับข้าวขาวทั่วไปของไทยโดยไม่แยกแยะเป็นชั้นพันธุ์ข้าวอีกระดับหนึ่ง จะส่งผลให้คุณภาพข้าวจากประเทศไทยซึ่งได้ชื่อว่าเป็นตลาดข้าวคุณภาพดีได้รับผลกระทบ สร้างความเสียหายให้กับตลาดข้าวทั้งหมดในที่สุด
*** 3) การผูกขาดเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรและบรรษัทข้ามชาติในระยะยาว
ข้าวลูกผสมเป็นพันธุ์ข้าวที่ชาวนาไม่สามารถเก็บรักษาพันธุ์ไปปลูกต่อได้เหมือนพันธุ์ข้าวแบบผสมเปิด(open pollinated seed) ทั่วไป ชาวนาจะต้องซื้อพันธุ์ข้าวซึ่งมีราคาแพงจากบริษัทในทุกฤดูการผลิต เป็นการผลักดันให้เกษตรกรต้องพึ่งพาบริษัทในท้ายที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไปถูกแทนที่ด้วยพันธุ์ข้าวลูกผสมทั้งหมด โดยที่ภาครัฐไม่สามารถดำเนินการเพื่อคานอำนาจการผูกขาดบริษัทได้ เนื่องจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมนั้นมีความยุ่งยาก และต้องอาศัยการจัดการที่มีประสิทธิภาพเกินกว่าที่ระบบราชการไทยจะดำเนินการได้
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือ ลำพังแม้แต่การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั่วไปซึ่งมีความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวประมาณ 1 ล้านตันต่อปีนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ได้เพียง 60,00-70,000 ตันต่อปีเท่านั้น
บทเรียนจากการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดลูกผสม น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญของไทย เพราะในที่สุดแล้ว ข้าวโพดลูกผสมคุณภาพดีสุวรรณ 1 ได้ถูกยึดครองโดยบริษัทยักษ์ใหญ่การเกษตรและบรรษัทข้ามชาติแทบทั้งหมด ตลาดข้าวโพดถูกผูกขาด เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง จนเกษตรกรต้องร้องเรียนต่อกรมการค้าภายในอยู่เนืองๆ
นอกเหนือจากการผูกขาดเมล็ดพันธุ์แล้ว บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ยังมีชื่อเสียงในการดำเนินการระบบการผลิตการเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) ซึ่งนอกจากการขายเมล็ดพันธุ์แล้ว ยังรวมไปถึงปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร และบริการอื่นๆ เช่น การให้บริการดำนา เก็บเกี่ยว รวมถึงการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรด้วย ในแง่นี้ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะเข้ามามีบทบาทครอบงำการผลิตและการตลาดข้าวของประเทศ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในสาขาการผลิตกุ้ง ไก่ หรือการเลี้ยงปลาทับทิม
สิ่งที่สังคมควรตระหนักก็คือ ประเทศไทยนั้นเป็นดินแดนที่มีการปลูกข้าวมาช้านาน มีความหลากหลายของพันธุ์ข้าวซึ่งเกิดจากชุมชนชาวนาได้คัดเลือกปรับปรุงมารุ่นแล้วรุ่นเล่า แม้ผลผลิตข้าวพื้นบ้านต่อไร่จะไม่สูงนักแต่ก็เป็นข้าวคุณภาพดี ตอบสนองต่อการบริโภคภายในประเทศ และเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ การปล่อยให้บรรษัทยึดครองเมล็ดพันธุ์ข้าว จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารของประเทศในที่สุด
*** 4) ความร่วมมือระหว่างภาครัฐที่เอื้ออำนวยประโยชน์ต่อบริษัทการเกษตร
ที่จริงแล้วกรมการข้าวของไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะไม่สนับสนุนหรือส่งเสริมข้าวลูกผสมในประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าคุณภาพของข้าวชนิดนี้สู้ข้าวทั่วไปไม่ได้ และปัญหาเกี่ยวกับขั้นตอนความยุ่งยากในการผลิตเมล็ดพันธุ์ โดยบทบาทของกรมเกี่ยวกับข้าวลูกผสมนั้น เป็นการวิจัยเพื่อให้เท่าทันการพัฒนาเทคโนโลยีในการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและเพื่อเป็นการเตรียมการในกรณีที่เกษตรกรให้การยอมรับข้าวลูกผสมในอนาคต เพื่อที่จะสร้างทางเลือกให้กับเกษตรกรเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์วิกฤติเรื่องอาหาร-วิกฤติพลังงานนั้น นายธนินทร์ เจียรวรานนท์ ประธานบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ได้เสนอความคิดที่จะให้มีการลดพื้นที่ปลูกข้าวจาก 62 ล้านไร่ ให้เหลือ 25 ล้านไร่ และที่เหลือให้ใช้สำหรับการปลูกยางอีก 30 ล้านไร่ และปลูกปาล์มเพิ่มอีก 12 ล้านไร่ ทั้งนี้โดยเสนอให้รัฐบาลใช้พันธุ์ข้าวที่มีผลผลิตสูงเพื่อทดแทนพื้นที่ปลูกข้าวที่ลดลง โดยสามารถปลูกข้าวได้ปีละ 3 ครั้ง เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวเท่ากับพื้นที่ปลูกที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งก็คือการเสนอให้ปลูกข้าวลูกผสมของตนนั่นเอง
ข้อเสนอของประธานบริษัทซีพี ได้รับการขานรับจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของไทย รวมทั้งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ซึ่งอาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของกรมการข้าวและนโยบายของรัฐบาลภายในระยะเวลาไม่นาน
ดังเป็นที่ทราบกันว่า ซีพีมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับสถาบันต่างๆอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ทหาร ข้าราชการระดับสูง สถาบันการศึกษา ฯลฯ เพราะแม้แต่ภริยาของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็เป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงของซีพี รายการทีวีเกี่ยวกับอาหารของนายสมัคร สุนทรเวช ก็มีบริษัทนี้เป็นผู้สนับสนุนหลักของรายการ
จากการสำรวจข้อมูลในพื้นที่ พบว่า กลไกของรัฐในระดับพื้นที่ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรในระดับจังหวัด ได้ชักชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวลูกผสมโดยหลายๆวิธีการ เช่น เป็นเงื่อนไขในการอนุมัติเงินกู้ของธนาคาร นำพันธุ์ข้าวลูกผสมพร้อมกับปุ๋ยเคมีและปัจจัยการผลิตไปแจกจ่ายแก่เกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด โดยทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์
ไม่น่าแปลกใจที่กลไกของรัฐได้ทำหน้าที่สนับสนุนการส่งเสริมข้าวลูกผสมอย่างแข็งขันขนาดนี้ ทั้งนี้เนื่องจาก นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหลายสมัยติดต่อกัน
แม้จากการวิเคราะห์และการศึกษาในพื้นที่จริงพบว่า ข้าวลูกผสมไม่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและมีผลกระทบต่อตลาดข้าวของไทย แต่อิทธิพลของซีพีในแวดวงการเกษตรและการเมือง รวมทั้งกลไกของรัฐในระดับท้องถิ่นนั้น มีโอกาสที่นโยบายเรื่องการปลูกข้าวของประเทศไทยจะเปลี่ยนไป โดยหันไปสนับสนุนส่งเสริมข้าวลูกผสมมากขึ้น และผลักดันให้เกษตกรเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวสายพันธุ์ทั่วไปมาเป็นสายพันธุ์ข้าวลูกผสมของซีพี ทั้งๆที่ผลประโยชน์จากการผลักดันข้าวโพดลูกผสมนั้น คือบริษัทเจริญโภคภัณฑ์และพันธมิตรบรรษัทข้ามชาติ เช่น มอนซานโต้ และซินเจนต้า เป็นต้น
////////////////////////////
ธุรกิจพันธุ์ข้าวลูกผสมของเครือซีพี
บริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์จำกัด (ซีพี.) ได้ก่อตั้งกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรขึ้นในปี พ.ศ. 2522 ปัจจุบันกิจการกลุ่มพืชครบวงจรมีสินค้าหลากหลายสำหรับสนองความต้องการของตลาด ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกล ข้าว สินค้าเกษตรแปรรูป กล้วยไม้ ชา ไวน์ ผลไม้แปรรูปและสด กล้ายาง เมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมซีพี
ในปี พ.ศ. 2548 กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจรมีรายได้ 4,000 ล้านบาท และในปี พ.ศ. 2549 มูลค่ายอดขายเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 4,500 ล้านบาท ผลงานความสำเร็จด้านธุรกิจของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ ด้านพืชไร่ ข้าวโพดถือเป็นพืชที่สร้างรายได้จำนวนมากให้กับบริษัท โดยปัจจุบัน ข้าวโพดของซีพี มีการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและทั่วเอเชีย
ข้าวลูกผสม ถือว่าเป็นธัญพืชอีกชนิดที่เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ให้ความสนใจ โดยอาศัยงานทดลองจากจีนเป็นต้นแบบ โดยความร่วมมือของนักวิชาการจากจีน และสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ฟิลิปปินส์ สำหรับตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสม กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ได้ตั้งเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นผู้นำตลาดเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมอย่างครบวงจรในระดับสากล โดยได้เริ่มโครงการข้าวครบวงจรขึ้นในปี พ.ศ. 2537 โดยดำเนินการวิจัย ณ ฟาร์มกำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
จากข้อมูลของบริษัท ปัจจุบันซีพีมีพันธุ์ข้าวลูกผสมที่พร้อมเผยแพร่แล้วจำนวน 3 สายพันธุ์คือข้าวลูกผสมพันธุ์ CP 304 เป็นพันธุ์ ข้าวเจ้าเกิดจากการผสมระหว่างข้าวอินดิกา (Indica) กับอินดิกา ณ สถานีวิจัยข้าวฟาร์มกำแพงเพชร และทดสอบโดยงานวิจัยข้าวลูกผสมเมื่อ ปี พ.ศ. 2545 ข้าวลูกผสมพันธุ์ CP 357 เป็นพันธุ์ ข้าวเจ้าเกิดจากการผสมระหว่างข้าวอินดิกา (Indica) กับอินดิกาเช่นเดียวกับซีพี 304 ณ สถานีวิจัยข้าวฟาร์มกำแพงเพชร และทดสอบโดยงานวิจัยข้าวลูกผสมเมื่อ ปี พ.ศ. 2547 และข้าวลูกผสมคือ ซีพี77 เป็นเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาและจัดจำหน่ายในประเทศจีน
***ทุ่มส่งเสริมการขาย
ซีพี ส่งเสริมการขายข้าวลูกผสมโดยจัดทำโครงการ "ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร ซีพี" ขึ้นเพื่อนำร่องการส่งเสริมข้าวลูกผสม โดยมีแผนจัดสร้างศูนย์ดังกล่าวจำนวน 15 แห่งในปี 2551 ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ได้แก่ ชัยนาท นครสวรรค์ พิษณุโลก แพร่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน พะเยา นครราชสีมา พิจิตร ฯลฯ
จากการศึกษาภาคสนามพบว่า ซีพีดำเนินการส่งเสริมข้าวลูกผสม โดยจัดทำนิทรรศการเพื่อเชิญชวนชาวนาให้เข้าร่วมโครงการในงานต่างๆ ของจังหวัด รวมถึงในระดับหมู่บ้าน ชาวบ้านที่สนใจจะถูกส่งไปสัมมนา และเมื่อตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ก็จะมีทีมงานเข้าไปแนะนำเทคนิคการทำนาเป็นระยะๆ
ซีพี แนะนำให้ชาวนาปลูกข้าวแบบปักดำ และใช้บริการรถปักดำของบริษัท โดยคิดค่าบริการรวมค่าพันธุ์ข้าวและค่าเครื่องจักรปักดำ 1,600 บาท/ไร่ แต่หากจะปลูกแบบหว่านก็ได้ โดยบริษัทจะขายเมล็ดพันธุ์ให้ในระดับราคากิโลกรัมละ 150 บาท พร้อมทั้งขายผลิตภัณฑ์อื่นๆควบคู่ไปด้วย เช่น การใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ "วีโก้" และสารกำจัดศัตรูพืช "วูการ์" ในการกำจัดโรค เป็นต้น
จากการลงพื้นที่เพื่อทำการศึกษาข้อมูลในจังหวัดกำแพงเพชร พบว่าข้าวลูกผสมของซีพียังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก แม้ว่าจะมีการเริ่มทำการตลาดมาแล้ว 3 ปี โดยเห็นได้จากการมีที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์เพียงแห่งเดียวเท่านั้นในจังหวัดกำแพงเพชร และจะต้องทำการสั่งซื้อ ทางศูนย์จะไปรับมาให้จากโรงงานซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 วันจึงจะได้เมล็ดพันธุ์ โดยโรงงานผลิตเมล็ดพันธุ์ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยนาท
ในการปลูกข้าวลูกผสม ชาวนาจะเป็นผู้ลงทุนในเรื่องต่างๆ ทั้งหมด ซีพีเป็นฝ่ายสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้ทั้งหมด และให้คำแนะนำด้านเทคนิค ในกรณีที่เกษตรกรไม่มีเงินก็สามารถทำสัญญากับบริษัทเอาไว้ล่วงหน้า เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายผลผลิตได้แล้วค่อยหักต้นทุนคืนกลับบริษัท ซีพีจะรับซื้อข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ทั้งหมด โดยรับประกันราคาขั้นต่ำ 6 บาท/กิโลกรัม
จากการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของบริษัทระบุว่า ข้าวที่ได้จะส่งไปที่ โรงสีหวังดี อำเภอบรรพตวิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ทำการสีและทำเป็นข้าวนึ่ง แต่เกษตรกรจะนำไปขายเองกับโรงสีเองก็ได้
ซีพีได้จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการตลาด ได้แก่ โครงการแชมป์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม ปี 2551 (Champion Farmer) เพื่อลุ้นทองคำหนัก 1 บาท โดยการรับสมัครเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแชมป์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์ลูกผสม ผู้ชนะจะได้รับสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท มีการกำหนดเงื่อนไขผู้สมัคร ว่าต้องเป็นเกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการแชมป์เกษตรกรผู้ปลูกพันธุ์ข้าวลูกผสมมีพื้นที่เพาะปลูกพันธุ์ข้าวลูกผสมอย่างน้อยพันธุ์ละ 3 ไร่ขึ้นไปมีการเชิญเจ้าหน้าที่จาก ธ.ก.ส - เกษตรอำเภอ / จังหวัด ตัวแทนกลุ่มเอเย่นต์ ตัวแทนกลุ่มเกษตรกร ตัวแทนบริษัทร่วมเป็นสักขีพยาน และเป็นคณะกรรมการ
สำหรับเกษตรกรที่ได้รับรางวัลในฐานะแชมป์เกษตรกรผู้ปลูกข้าวลูกผสมเขตภาคเหนือฤดูการผลิต 2549/2550 ได้แก่ นายสมหวัง แหน่งฮวบ เป็นเกษตรกรที่ทำนาปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เดือน ม.ค. – เม.ย. ใช้พันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 1 ,ชัยนาท1 ผลผลิตเฉลี่ย 850 กิโลกรัม/ไร่ (ปี 49/50 ได้ผลผลิต 700 กิโลกรัม/ไร่) ครั้งที่ 2 เดือน ส.ค. – พ.ย. ใช้พันธุ์ข้าวสุพรรณบุรี 1, พิษณุโลก 2 ผลผลิตเฉลี่ย 1,000 กิโลกรัม/ไร่ ในฤดูการผลิต 49/50 เดือน ม.ค. – เม.ย. 50 ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด มาแนะนำพันธุ์ข้าวลูกผสม ซีพี 304 จึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการแชมป์เกษตรกร โดยปลูกข้าวพันธุ์ ซีพี304 ปลูกบนพื้นที่ 4 ไร่ เริ่มปลูกเมื่อวันที่ 27 ม.ค.50 และเก็บเกี่ยวเมื่อวันที่ 29 เม.ย.50 รวมอายุข้าวได้ 92 วัน หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วได้ผลผลิตสูงถึง 1,520 กิโลกรัม/ไร่ ( ที่ความชื้น 22 % )
จะเห็นได้ว่าแนวทางการจัดประกวดนี้ถือเป็นกลยุทธ์ด้านการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายเมล็ดพันธุ์ที่ทางซีพีได้เคยประสบผลสำเร็จแล้วในการกระตุ้นให้คนหันมาสนใจเลี้ยงไก่ให้มากยิ่งขึ้น เมื่อสมัยที่ซีพีเริ่มดำเนินธุรกิจการเลี้ยงไก่ใหม่ๆ ด้วยการหาทางส่งเสริมคนเลี้ยง ด้วยการประกวดไก่ตอนที่มีน้ำหนักดี มีการเลี้ยงแข่งขัน มีรายการชิงโชค มีรายการจับฉลาก แจกรางวัล ใครเลี้ยงโตเร็วที่สุด น้ำหนักมากที่สุดก็ได้รางวัล โดยใช้อาหารสำเร็จรูปเลี้ยงไก่ ทุกปีมีรายการชิงโชคคนเลี้ยงและวงการไก่ก็คึกคักขึ้นมา
****โฆษณาข้าวลูกผสมซีพี 304
ซีพี จัดทำเอกสารเผยแพร่ข้าวลูกผสมพันธุ์นี้ออกแจกจ่ายแก่เกษตรกร โดยระบุว่า เป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีศักยภาพสามารถให้ผลผลิตสูงได้ถึง 1,600 ก.ก./ไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการจัดการของเกษตรกรในแปลงนาที่ถูกต้องตามคำแนะนำของบริษัท และปลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ข้อดีของพันธุ์ข้าวลูกผสม มีดังนี้
-ข้าวลูกผสม ซีพี 304 ให้ ผลผลิตข้าวสูงกว่าข้าวสายพันธุ์ทั่วไปประมาณ 20-50 % โดยปลูกในสภาพแวดล้อมเดียวกัน
-ข้าวลูกผสม ซีพี 304 ไม่มีพันธุ์ปน ระบบรากมีความแข็งแรงและแผ่กระจายมากกว่า
-ข้าวลูกผสม ซีพี 304 จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก
-สำหรับการผลิตข้าวเชิงการค้า ข้าวลูกผสม ซีพี 304 ให้ผลตอบแทนที่มากกว่าข้าวสายพันธุ์แท้
-เป็นวิธีการเพิ่มผลผลิตข้าวโดยไม่ต้องขยายพื้นที่ปลูก
-เป็นการลดการใช้สารเคมีเมื่อปลูกข้าวลูกผสมที่ต้านทานโรคและแมลงศัตรูข้าว
-ประหยัดการใช้น้ำและเพิ่มรอบการปลูก เมื่อปลูกข้าวลูกผสมอายุสั้น
////////////////////////////////////////////
2551 ดีเดย์ปูพรมส่งเสริมข้าวลูกผสม
ประเทศไทย เริ่มงานวิจัยและพัฒนาข้าวลูกผสมในปี พ.ศ. 2522 โดยกรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยมีข้าวพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัย 2 ชุด คือ
ชุดแรก เป็นพันธุ์ลูกผสมสามทาง เป็นชุดที่ผ่านการศึกษาเปรียบเทียบผลผลิตกับพันธุ์ข้าวมาตรฐานของไทย 4 สายพันธุ์ คือ ปทุมธานี 1 กข.31 (ปทุมธานี80) สุพรรณบุรี 2 และ SPR88096 ที่ศูนย์วิจัยข้าว 4 แห่ง ซึ่งให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์มาตรฐาน 20-30 % หรือที่ระดับผลผลิตประมาณ 1,100-1,200 กิโลกรัม/ไร่ ที่ความชื้น 14% มีอยู่ 8 คู่สาย มีทั้งกลุ่มพันธุ์ข้าวที่มีอไมโลสสูง ปานกลาง และต่ำ เป็นข้าวคุณภาพดีทั้ง 8 คู่สาย ขณะนี้กำลังมีการตรวจสอบประเมินผลในพื้นที่ต่างๆ ที่ศูนย์วิจัยข้าวรวม 10 แห่ง เพื่อคัดเลือกคู่สายพันธุ์ที่ดีที่สุดของแต่ละกลุ่มข้าวแนะนำสู่เกษตรกรในปี พ.ศ. 2551
ชุดที่สอง มีอยู่ 16 คู่สาย กำลังอยู่ในขั้นปลูกเปรียบเทียบกับ 4 พันธุ์มาตรฐานดังกล่าว ที่ศูนย์วิจัยข้าว 4 แห่ง สิทธิ์ในการครอบครองสายพันธุ์เพื่อการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวลูกผสมจำหน่ายยังไม่มีการกล่าวถึง โดยวางแผนไว้ว่าในปี พ.ศ. 2551 จะนำพันธุ์ข้าวลูกผสมใหม่เพื่อส่งเสริม ให้เกษตรกรปลูกได้ประมาณ 2 สายพันธุ์ โดยสามารถขายให้เกษตรกรนำไปเพาะปลูกได้ในราคาประมาณ 50 กว่าบาทต่อกิโลกรัม
ในปัจจุบันมีภาคเอกชนอย่างน้อย 5 บริษัท ให้ความสนใจและได้เข้าร่วมประชุมหารือกับกรมวิชาการเกษตรเพื่อหาลู่ทางในการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีข้าวลูกผสมในประเทศไทย ได้แก่ บริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี) บริษัทมอนซานโต้ บริษัทโนวาร์ตีส นิวทริชั่น (ประเทศไทย) บริษัทแอดเวนตีส ครอปไซเอนส์ และ บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ จำกัด
อย่างไรก็ตาม จากข่าวสารต่างๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา แต่ดูเหมือนว่าจะมีเพียงบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี.) เท่านั้นที่ออกมาเสนอข่าวเป็นระยะอย่างต่อเนื่องถึงพันธุ์ข้าวลูกผสมที่บริษัทได้พัฒนาขึ้น ว่าสามารถออกทำการตลาดได้แล้ว