เยือน'เกาะกง' สานสัมพันธ์'ไทย-กัมพูชา' "น้องขอร้อง-พี่ขอช่วย"
เมื่อต้นเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา ร.ต.อ.วรเดช จันทรศร ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ท.พ.สมศักดิ์ จักรไพวงศ์ รองปลัดทบวงฯ นางฉันทวิทย์ สุชาตานนท์ ผู้ช่วยปลัดทบวงฯ น.ส.อาภรณ์ แก่นวงศ์ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ พร้อมด้วย นายสุชาติ อุปถัมภ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา น.พ.ศรชัย หรูอารีย์สุวรรณ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะได้เดินทางไปเยือน จ.เกาะกง ราชอาณาจักรรัฐกัมพูชา โดยมี นายสมบูรณ์ งามลักษณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ช่วยประสานงานในการข้ามชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณด่านหาดเล็กไปยังโรงแรมที่พักใน จ.เกาะกง
ซึ่งการเดินทางของคณะผู้บริหารทบวงฯ และมหาวิทยาลัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาและสาธารณสุขระหว่างไทยกับ จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา
ถ้าหากพูดถึง จ.เกาะกง ใครๆ อาจจะนึกไปถึงเมืองที่มีแต่ความศิวิไลซ์เต็มไปด้วยแสงสีและอารยธรรมเพราะที่นี่ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงอนุญาตให้เปิดบ่อนเสรีได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ทำให้ชาวต่างชาติโดยเฉพาะคนไทยหลั่งไหลกันเข้าไปเสี่ยงโชคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำให้กับ จ.เกาะกง ทีเดียว
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าความจริงแล้ว จ.เกาะกง เป็นจังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งของกัมพูชาที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเล ตั้งอยู่บริเวณภาคตะวันตกเฉียงเหนือของราชอาณาจักรกัมพูชา ทิศเหนือติดกับจังหวัด Pursat ส่วนทิศตะวันออกติดกับจังหวัด Kamgpong Speu และ Kampot ส่วนทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับหมู่บ้าน Sihanouk และอ่าวไทย
ส่วนการปกครองของ จ.เกาะกง แบ่งเป็น 8 อำเภอ 33 ตำบล และ 131 หมู่บ้าน เกาะกงถือเป็นจังหวัดขนาดเล็กที่มีประชากรอาศัยอยู่ 23,168 หลังคาเรือน และมีประชากรจำนวนทั้งสิ้น 132,106 คน
สำหรับเมืองหลักที่มีชาว จ.เกาะกง อาศัยอยู่ถึง 22% ของประชากรทั้งหมดคือ Smach Meanchey ส่วนประชากรอีก 75% ไม่ใช่ชาวพื้นเมือง จ.เกาะกง แต่ย้ายมาจากจังหวัดอื่นๆ ของกัมพูชา ส่วนใหญ่จะเข้ามาหางานที่ดีกว่าทำที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา
ที่สำคัญคือประชากรใน จ.เกาะกง ไม่ได้ร่ำรวยหรือมีฐานะดีไปตามรายได้ที่ไหลเข้าบ่อนการพนันเลย ตรงกันข้ามกลับมีฐานะยากจน การศึกษาน้อย และคุณภาพชีวิตไม่ดี
ทั้งนี้ ก่อนที่ผู้บริหารฝ่ายไทยจะจะเริ่มเจรจาแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางวิชาการกับผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงที่ศาลากลางจังหวัด ร.ต.อ.วรเดชได้แจกแจงถึงความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชาที่มีมาแต่เก่าก่อนว่า "กัมพูชามีทรัพยากรมากและเป็นแหล่งเศรษฐกิจ การที่ไทยช่วยเหลือกัมพูชาในด้านต่างๆ รวมทั้ง การตัดถนนลาดยาง 300 กิโลเมตร จากเกาะกงผ่านพนมเปญไปถึงเวียดนาม ถือเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ เพราะไทยจะแข็งแกร่งไม่ได้ถ้าเพื่อนบ้านไม่แข็งแกร่ง ถ้าเขมรแข็งแกร่ง รวย มีเศรษฐกิจดี เศรษฐกิจของไทยก็จะดีไปด้วย"
สำหรับความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างไทย-กัมพูชา ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านพี่เมืองน้องนั้น ปลัดทบวงฯเล่าว่า "ด้านการศึกษานั้นมหาวิทยาลัยบูรพาเข้าไปช่วยโดยมอบทุนการศึกษาให้ชาวเกาะกงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี ทั้งระดับปริญญาตรี และโทด้านบริหารธุรกิจ รัฐประศาสนศาสตร์ นิเทศศาสตร์ การศึกษา พยาบาลศาสตร์ และสาธารณสุขศาสตร์ โดยเริ่มแรกจะเอานักปกครองของจังหวัดมาเรียนก่อน จะได้มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างลูกของผู้ว่าฯเกาะกง"
"ส่วนมหิดลก็เข้าไปช่วยด้านการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากนี้ยังเอาหมอมารักษาโรคเอดส์ พยาธิและมาลาเรีย รวมทั้งเอาคนเกาะกงกลับไปเทรนที่มหิดลด้วย" ปลัดทบวงฯกล่าว
สำหรับมหาวิทยาลัยบูรพาซึ่งเป็นแกนหลักในการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการกับ จ.เกาะกง นั้น อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพาก็เล่าว่า มหาวิทยาลัยให้ทุนปริญญาตรี 3 ทุน และโท 3 ทุน รวม 6 ทุน ด้านพัฒนาชุมชนและบริหารรัฐกิจ เมื่อเรียนจบแล้วจะได้กลับไปช่วยพัฒนาเกาะกงพัฒนาคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชนใน จ.เกาะกง ให้แข็งแกร่ง
"การเปิดสอนปริญญาตรีของกัมพูชายังมีข้อจำกัด ส่วนใหญ่มีแต่อนุปริญญา เพราะถ้าต่อยอดปริญญาตรีจะต้องไปเรียนถึงพนมเปญ ม.บูรพาจึงให้ทุนในรูปโควตารวมถึงทุนที่กรมวิเทศสหการที่ให้ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เพราะถ้าไปเรียนปริญญาตรีที่พนมเปญจะต้องใช้เวลาเดินทาง 6-7 ชั่วโมง เพราะห่างจาก จ.เกาะกง ถึง 300 กิโลเมตร แต่ถ้าถนนที่รัฐบาลไทยมาช่วยสร้างเสร็จก็จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง เท่านั้น"
กิจกรรมที่มหาวิทยาลัยบูรพาจะใช้ในการพัฒนาชุมชน จ.เกาะกง ก็มีหลายกิจกรรม แต่กิจกรรมที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเห็นว่าสำคัญที่สุดก็คือการพัฒนาบุคลากรของ จ.เกาะกง ให้เข้มแข็งเพราะจะเป็นประโยชน์ต่อไทยด้วย จึงจัดอบรมและดูงานระยะสั้นที่ จ.ตราด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ช่วยประสานงานให้เช่น พยาบาลศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ บริหารธุรกิจ เทคโนโลยี และสิ่งที่ชาว จ.เกาะกง ต้องการมากคือการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการโรงแรม
"ส่วนกิจกรรมอื่นๆ ก็มีการวิจัยเชิงพัฒนาระดับชุมชนของ จ.เกาะกง เป็นความร่วมมือของอาจารย์ และนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาทำร่วมกัน นอกจากนี้ยังฝึกอบรมระยะสั้นที่ จ.ตราด เพราะไม่ไกลจากเกาะกงนัก อาจารย์ไม่ต้องข้ามไปข้ามมา โดยใช้เวลา 3 วัน ซึ่งกิจกรรมที่อบรมก็จะคล้ายๆ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ มีสิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์ต่างๆ ตามความต้องการของชาวเกาะกง ส่วนหนึ่งบอกว่าอยากซ่อมเครื่องยนต์เป็น โดยคนที่เข้าอบรมจะเสียเฉพาะค่าเดินทาง ส่วนค่าเรียนไม่ต้องเสีย โดยมหาวิทยาลัยได้พยายามหาแหล่งเงินทุนใน จ.ตราด"
นายสุชาติยังบอกเล่าถึงเป้าหมายในการร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ว่า "ทำให้บุคลากรของบูรพาและเกาะกงได้ใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งจะทำให้มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อไป มีการทำงานวิจัยและพัฒนาชุมชนร่วมกัน ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม และประเทศมั่นคงดีขึ้นระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็ปรารถนาเช่นนั้น เพราะความจริงแล้วชาวเกาะกงก็เหมือนคนไทย เพราะเดิมพื้นที่นี้ก็เป็นของคนไทยมาก่อนในสมัยรัชกาลที่ 5 และผู้ว่าฯเกาะกง ก็เคยอยู่ในเมืองไทย"
ทราบที่มาที่ไปกันเรียบร้อยแล้วถึงความร่วมมือระหว่างทบวงฯ มหาวิทยาลัยบูรพา และ จ.เกาะกง ฉะนั้น ในการหารือร่วมกับ นายยุทธ ภูทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง ปลัดอำเภอเกาะกง ศึกษาธิการจังหวัดเกาะกง และผู้บริหารของไทยที่ศาลากลางจังหวัดนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงซึ่งพูดไทยชัดเจน จนถ้าไม่บอกก็นึกว่าคนไทยแท้ๆ ได้บอกเล่าถึงความลำบากยากแค้นของชาวเขมรในยุคที่พลพตเป็นผู้นำเขมรแดงให้ฟังว่า
"คนกัมพูชานั้นตกทุกข์ได้ยากเพราะสงครามในกัมพูชา ตั้งแต่ผมจำความได้ก็อยู่ในไฟสงครามมาตลอด เพิ่งได้ปลดปล่อยประเทศเมื่อไม่ถึง 10 ปี กัมพูชามีการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อปี 1991 แต่ก็ยังมีไฟสงครามอยู่ เพราะพื้นที่จำนวนหนึ่งอยู่ในการปกครองของเขมรแดง กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เมื่อปี 1998 กัมพูชาจึงเป็นอิสระโดยสมบูรณ์"
ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงยังเล่าต่อว่า "ในช่วงที่กัมพูชาตกอยู่ในไฟสงครามล้างเผ่าพันธุ์มาตลอดภายใต้การปกครองของพลพต ได้ลบล้างวัฒนธรรมที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่มีโรงเรียน วัด และตลาด ทุกคนอยู่ในคุกมืด ตอนอายุ 20 ปี ผมได้เข้าเรียนชั้นมัธยมในภาวะสงคราม ปีหนึ่งเรียนได้ 3 เดือน เรียนไปก็ต้องถือปืนด้วย เด็กชาวกัมพูชาไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือเต็มที่ ดังนั้น การไม่มีพื้นฐานในโรงเรียนจึงลำบากทำให้ชาวเขมรบางคนไม่รู้จักหนังสือเลยหลังปลดปล่อยประเทศ"
"หลังจากประเทศได้รับการปลดปล่อยมีครูทั่วประเทศแค่ 75 คน เกาะกงไม่มีครูไม่มีโรงเรียนเราก็รณรงค์ให้คนรู้จักหนังสือ คนรู้ต้องสอนคนไม่รู้ คนรู้มากต้องสอนคนรู้น้อย ก่อนสงครามคนที่ได้เรียน ป.1-2 ต้องสอนคนไม่เป็น คนที่เรียน ป.3-4 ต้องสอนคนที่เรียน ป.1-2 ครูสอนโดยไม่มีเงินเดือนมีแต่ข้าวให้สอนกันจนกว่าจะเป็นครูได้ อบรมคนเฒ่าคนแก่จนตั้งโรงเรียนประถมและมัธยม เวลานี้มีโรงเรียนประถม 33 แห่ง มัธยม 2 แห่ง" นายยุทธกล่าว
นอกจากกัมพูชาภายหลังสงครามสิ้นสุดจะมีครูไม่ถึง 100 คนแล้ว ยังไม่มีศาสตราจารย์ด้วยเพราะต้องหลบซ่อนตัว เนื่องจากในยุคที่เขมรแดงปกครองประเทศนั้น ผู้นำเขมรแดงประกาศว่าจะฆ่าคนที่ใส่แว่นตาให้หมด ทำให้ประเทศอยู่ในภาวะลำบากและประชาชนต้องหนีออกนอกประเทศ
นายยุทธยังเล่าว่า "ก่อนหน้าที่ จ.ตราด และ จ.เกาะกง จะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันเหมือนปัจจุบันนี้พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาบริเวณนี้เคยเป็นสนามรบที่รุนแรงที่สุด มีกับระเบิดเต็มไปหมดจนสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้บอกว่าจะเปลี่ยนสนามรบเป็นตลาดการค้า แต่สายทางหรือถนนที่จะไปพนมเปญก็ลำบากมาก พวกสินค้าจากไทยไม่ว่าจะเป็นผักสดหรือผลไม้ก็เน่าเสียก่อนที่จะเดินทางไปถึงพนมเปญ รัฐบาลไทยจึงให้งบประมาณ 130 ล้านบาท พร้อมกับส่งทหารช่างมาช่วยสร้างถนนและลาดยางให้จนถึงเวียดนาม จนเหมือนเส้นเลือดสำคัญของกัมพูชา"
ว่าแล้วก็อ้อนขอความช่วยเหลือจากฝ่ายไทยว่า "แม้กฎหมายระหว่าง 2 ประเทศจะยังไม่บรรลุ แต่ทางจังหวัดได้รับการอำนวยความสะดวกจากผู้ว่าฯตราด ผมเคยส่งรองผู้ว่าฯเกาะกง ไปคุยกับทบวงฯเพื่อขอทุนให้กับนักศึกษา เพราะเราชาวเกาะกงคงไม่มีอะไรจะแลกเปลี่ยนกับไทยได้ มีแต่จะขอความช่วยเหลือ"
พร้อมกับเล่าถึงปัญหาที่ทำให้เด็กๆ บนเกาะกงไม่มีโอกาสเรียนหนังสือว่า "เด็กที่เกาะกงเมื่อจบ ม.ปลายแล้วเรียนต่อไปไม่ได้เพราะพนมเปญห่างมาก พ่อแม่ยากจน ถ้าจะไปเรียนที่ไทยก็ต้องมีทุน แต่ถ้ารอทุนรัฐบาลกัมพูชาเองก็ยุ่งยาก นอกจากนี้เด็กที่เรียนที่นี่ก็สู้เด็กเมืองหลวงไม่ได้ จะเอาข้าราชการต่างจังหวัดมาอยู่ที่เกาะกงก็อยู่ไม่ได้นานเพราะไม่มีบ้าน ผมอยากให้เด็กได้เรียนวิทย์ บริหารธุรกิจ การค้าต่างประเทศ เพราะเด็กเกาะกงเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส"
"เมื่อจะเริ่มเรื่องนี้ก็ต้องประสานกับ จ.ตราด เพราะการศึกษาสำคัญต่อการพัฒนาประเทศจนกลายเป็นจุดเด่นในการจับมือระหว่างไทย-กัมพูชา อีกทั้ง เกาะกงเป็นจังหวัดชายแดน เด็กเกาะกงพูดไทยได้มาก แต่ถ้าจะไปเรียนเองต้องเสียเงินประมาณ 2 แสนบาทต่อคน อย่างผมก็ส่งลูก 2 คนไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยบูรพาเพราะได้ทุน ถ้าให้ส่งเองผมก็ไม่มีปัญญา จึงอยากให้ไทยช่วยให้ทุนปีละ 10 ทุน ปริญญาโท 5 ทุน และเอก 5 ทุน ผมอยากเห็นเด็กๆ ได้เรียนหนังสือ"
ก่อนจะตบท้ายเกี่ยวกับปัญหาด้านการแพทย์และสาธารณสุขว่า "อยากให้คณะหมอไทยมาตรวจรักษาเด็กๆ และทำวิจัยที่นี่เดือนละครั้ง เพราะถ้าไปอบรมที่ไทยจะไม่เหมือนกัน ตอนนี้มีพวกฝรั่งเศสมาอาทิตย์ละครั้ง มาผ่าตัด อยากให้ไทยมาช่วยด้วยรวมทั้งจะเสนอขอความช่วยเหลือจากโครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ด้วย"
ซึ่งการประชุมครั้งนี้ก็เป็นไปอย่างราบรื่น ปลัดวรเดชก็รับปากว่าจะกลับไปดูว่าจะช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้กับ จ.เกาะกง ได้อย่างไรบ้าง โดยมหาวิทยาลัยบูรพาจะเป็นแกนนำหลักในการพัฒนาบุคลากรทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ส่วนคณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน น.พ.ศรชัยก็พร้อมที่จะช่วยเหลือด้านการพัฒนาบุคลากรระดับสูงด้านการแพทย์ พยาบาล สาธารณสุขและอนามัยในระดับปริญญาโท และเอก รวมทั้ง จัดอบรมระยะสั้นให้กับบุคลากรของ จ.เกาะกง 1-3 เดือนเกี่ยวกับโรคเขตร้อน
ส่วน ท.พ.สมศักดิ์ซึ่งเป็นประธานโครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง ว่าถ้าต้องการให้โครงการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ขยายความช่วยเหลือจาก จ.กัมปงธม มาที่ จ.เกาะกง โดยเสนอให้สมเด็จฮุนเซนขอพระราชทานโครงการจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่ทรงต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ให้ดี
ก็เชื่อว่าความร่วมมือด้านการศึกษาและสาธารณสุขระหว่างไทยกับ จ.เกาะกง ในครั้งนี้จะเป็นอีกวิถีทางหนึ่งที่จะสานสัมพันธไมตรีอันดีให้กับบ้านพี่เมืองน้องอย่างไทย-กัมพูชาให้เจริญงอกงามต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด!!
http://db.onec.go.th/thaied_news/index1.php?id=2118คนไทยได้ช่วยเหลือกัมพูชาไว้มากมาย
บทความนี้ ปี ๔๕ เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือเกาะกงทางด้านการศึกษา สาธารณสุข อาชีพ ฯลฯ
กรณีพิพาทเขาพระวิหารแสดงธาตุแท้ของนักการเมืองไม่ว่าจะเขมรหรือไทย
จำชื้อ รตอ วรเดช จันทรศร กันได้บ้างหรือไม่ ????? ได้ทำอะไรกับการศึกษาไทย
ไทยให้ความช่วยเหลือตั้งมากมาย ทุนการศึกษา การส่งเสริมทางวิชาการ
กระทั่งสร้างถนนจากตราดไปสู่เกาะกง
นักการเมืองไทยระบอบแม้ว-เหลี่ยม ที่กำเริบเสิบสาน คิดจะเอาทรัพยาการชาติแลกกับผลประโยชน์ส่วนตน