การใช้กลอุบายหลอกลวงและแจ้งเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากการโอนหุ้นให้กัน ระหว่าง คุณหญิงพจมาน ชินวัตร กับ นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของตนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เริ่มฟ้องความจริงต่อสังคม เมื่อที่ประชุม คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2549 ว่าจะสั่งการให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากนายบรรณพจน์ ที่อ้างว่าซื้อ หุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2540 จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ตระกูลชินวัตร (ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น หุ้นละ 164 บาท มูลค่า 738 ล้านบาท โดยอ้างว่าซื้อ-ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ต้องเสียภาษี แต่ คตส.ตรวจสอบพบว่า นายบรรณพจน์ ไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินซื้อหุ้นดังกล่าวเอง แต่คนจ่ายเงินคือคุณหญิงพจมาน โดยคุณหญิงพจมานเป็นคนเสียค่าธรรมเนียมให้แก่นายหน้า (โบรกเกอร์) ทั้งค่าธรรมเนียมของฝ่ายตนและฝ่ายนายบรรณพจน์ รวมเป็นเงิน 7.38 ล้านบาท!
คตส.จึงมองว่า การซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นการทำ นิติกรรมอำพราง โดย นายบรรณพจน์ ควรจะต้องเสียภาษีจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน แต่ที่ผ่านมากรมสรรพากรเห็นว่า นายบรรณพจน์ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์แจ้งว่า เป็นการโอนหุ้นให้ในลักษณะอุปการะโดยเสน่หาโดยธรรมจรรยา ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงานและมีบุตร!?!เมื่อ คตส.เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงภาษีธรรมดา แต่ผู้เกี่ยวข้องน่าจะเข้าข่ายหลอกลวงด้วย ที่ประชุม คตส.จึงมีมติเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2549 ให้กรมสรรพากรเก็บภาษีและเบี้ยปรับจากนายบรรณพจน์เป็นเงิน 546 ล้านบาท (2 เท่าของยอดเงินต้นภาษีที่ควรจะเสีย คือ 273 ล้าน) โดยให้เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ภายใน 30 วัน เนื่องจากเห็นว่ามีการดำเนินการที่อาจจงใจหลีกเลี่ยงภาษี
ส่วนข้ออ้างที่ว่า คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้ นายบรรณพจน์ เป็นลักษณะการอุปการะตามธรรมเนียมประเพณีที่ นายบรรณพจน์ แต่งงานและมีบุตรนั้น คตส.พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมานอกจากคุณหญิงพจมานจะไม่เคยอุปการะพี่น้องคนอื่นๆ แล้ว ยังประจักษ์ชัดว่า ช่วงเวลาที่นายบรรณพจน์แต่งงานและมีบุตรก็ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้ เพราะระยะเวลาห่างกันเป็นปี โดยนายบรรณพจน์แต่งงานต้นปี 39 (12 ม.ค.2539) มีบุตรปลายปี 39 (4 ธ.ค.2539) แต่โอนหุ้นให้ในวันที่ 7 พ.ย.2540
ไม่เพียงช่วงเวลาในการโอนหุ้นจะไม่สอดคล้องกับเหตุผลที่อ้าง แต่การที่คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์อ้างว่า เป็นการโอนหุ้นให้ในลักษณะอุปการะนั้น ยังอาจไม่เข้าข่ายด้วย เพราะ คตส.พบว่า เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า การอุปการะ นั้น เป็นเรื่องของ พ่อแม่ ที่จะให้แก่ ลูก เท่านั้น ไม่ใช่การให้ระหว่าง พี่-น้อง ที่ประชุมใหญ่ คตส.จึงเห็นควรให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ เพื่อเอาผิดทางอาญาคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ฐานให้ถ้อยคำเท็จ ฉ้อโกงและหลีกเลี่ยงการเสียภาษี!
หลังจากไต่สวนนานประมาณ 1 เดือน อนุกรรมการของ คตส.ได้มีมติให้ทำหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 6 คนมารับทราบข้อกล่าวหาฐานจงใจให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จในวันที่ 4 ม.ค.2550 ประกอบด้วย คุณหญิงพจมาน, นายบรรณพจน์, น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ตระกูลชินวัตร (ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน), นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน, นายวันชัย หงส์เหิน สามีนางกาญจนาภา ในฐานะโบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ และ นางปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ไม่ได้เข้าชี้แจงข้อกล่าวหาต่ออนุกรรมการไต่สวนของ คตส.ด้วยตัวเอง โดยส่ง นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความเข้ายื่นหนังสือชี้แจงแทนโดยยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย คือ ให้หุ้นโดยเสน่หาตามขนบธรรมเนียมประเพณี!?!
หลังอนุกรรมการไต่สวนฯ สรุปผลสอบเสนอ คตส.ชุดใหญ่แล้ว ที่ประชุม คตส.ได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2550 ให้เสนอเรื่องนี้ต่ออัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง คุณหญิงพจมาน นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา ต่อศาลอาญา ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลืออีก 3 คน คือ น.ส.ดวงตา-นายวันชัย และนางปราณี นั้น คตส.สรุปว่า ไม่มีหลักฐานว่ากระทำผิด จึงไม่ส่งฟ้อง สำหรับข้อกล่าวหาที่ คตส.สรุปส่งฟ้องคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ต่ออัยการสูงสุดนั้นมี 2 กระทง คือ เข้าข่ายกระทำความผิดตาม มาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร (มีลักษณะใช้อุบายหรือฉ้อโกง) และ มาตรา 37 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 และ 91 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (มีลักษณะแจ้งเท็จหรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ) ส่วนนางกาญจนาภา คตส.เห็นควรให้ส่งฟ้องข้อหาเดียว คือ ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรือโดยอุบาย ตาม มาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร
1 เดือนต่อมา 14 มี.ค. 2550 อัยการสูงสุดก็ได้มีความเห็นสั่งฟ้องคุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา ต่อศาลอาญาตามที่ คตส.เสนอ โดยนายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน-7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาว่าผิดจริงและลงโทษเต็มอัตรา คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์จะต้องได้รับโทษ 2 เท่า คือจำคุกสูงสุด 14 ปี และปรับสูงสุด 4 แสนบาท ส่วนนางกาญจนาภา อัยการสูงสุดก็มีความเห็นเช่นเดียวกับ คตส.คือสั่งฟ้องข้อหาเดียว ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง และโดยอุบาย ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 37(2)
ส่วนกรณีที่ คุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรนั้น นายอรรถพล ชี้แจงว่า คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า พยานดังกล่าว คตส.ได้สอบสวนแล้ว และได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจึงไม่จำเป็นต้องสอบพยานดังกล่าวเพิ่มเติมอีก อัยการสูงสุดจึงได้นัดให้คุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา เข้ารายงานตัวเพื่อส่งฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่ 26 มี.ค.2550
ซึ่งเมื่อถึงวันนัด (26 มี.ค.) คุณหญิงพจมานกับพวกก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการเข้ารายงานตัวต่อกระบวนการยุติธรรม คือแทนที่จะไปรายงานตัวต่ออัยการก่อน แล้วอัยการค่อยนำตัวส่งฟ้องต่อศาลอาญา คุณหญิงพจมานกลับขออัยการสูงสุดว่าจะไปรายงานตัวที่ศาลฯ เลย โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งฝ่ายอัยการเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการขัดขวางหรือก่อให้เกิดความยุ่งยากในการฟ้องคดี จึงอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสามไปรอที่ศาลอาญาได้เลย!?!
หลังกระบวนการส่งฟ้องแล้วเสร็จ ศาลได้ประทับรับฟ้อง และนัดคู่ความตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 14 พ.ค. 2550 โดยอนุญาตให้จำเลยทั้งสาม (คุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา) ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในวงเงินคนละ 5 ล้านบาท แต่ห้ามจำเลยทั้งสามหรือผู้แทนหรือผู้เกี่ยวข้องกับจำเลยกระทำการใดใดหรือให้ข่าวที่อาจกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีนี้ มิฉะนั้นศาลอาจเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว!
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และ นางกาญจนาภา ต่างยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาที่อัยการส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งหากพิจารณาสำนวนในคำฟ้องของอัยการที่มีความยาว 12 หน้าแล้ว จะเห็นว่า มีการลำดับข้อมูลเรื่องราวที่ประจักษ์ชัดถึงความพยายามใช้กลอุบายหลอกลวงปิดบังอำพรางและให้ข้อมูลเท็จของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์กับพวก เพื่อจงใจหลีกเลี่ยงภาษีที่นายบรรณพจน์ควรจะต้องเสียจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน
โดยเริ่มตั้งแต่การใช้กลอุบายอำพรางการโอนหุ้น (เมื่อวันที่ 7 พ.ย.40) ให้เป็นการซื้อ-ขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อที่นายบรรณพจน์ ในฐานะผู้ได้รับหุ้นจากคุณหญิงพจมานจะได้ไม่ต้องเสียภาษี โดยมีการสร้างหลักฐานการจ่ายเช็คค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์/นายหน้า เพื่อยืนยันว่ามีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจริง และมีการจ่ายเช็คค่าหุ้นประมาณ 740 ล้านให้ น.ส.ดวงตา แต่ภายหลังมีการตรวจสอบพบว่า การซื้อ-ขายหุ้นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง และผู้ที่จ่ายเช็คค่าหุ้นก็ไม่ใช่นายบรรณพจน์ แต่เป็นคุณหญิงพจมาน ซึ่งที่สุดแล้ว คุณหญิงพจมานและนางกาญจนาภา ก็ร่วมกันนำเช็คที่ตนเองจ่ายให้ น.ส.ดวงตา ไปเข้าบัญชีของคุณหญิงพจมาน สรุปก็คือ นำเงินที่ตนเองทำทีจ่ายออกไป กลับมาเป็นของตนเองอีกครั้งนั่นเอง!
ถือได้ว่า จำเลยได้ร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือโดยวิธีอื่นใด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐเสียหายขาดรายได้จากภาษีที่จำเลยที่ 1 คือนายบรรณพจน์ จะต้องเสียภาษีในปี 2540 เป็นเงินกว่า 273 ล้านบาท!
เมื่อเรื่องนี้ถูก ป.ป.ช.และกรมสรรพากรตรวจสอบพบในปี 44 คุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ก็ได้ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรอีก โดยนายบรรณพจน์ อ้างว่า ตนเป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณหญิงพจมาน และช่วยเหลือกิจการของคุณหญิงพจมานจนมีความเจริญก้าวหน้า กระทั่งปี 38 คุณหญิงพจมาน สนับสนุนให้ตนมีครอบครัว และดำริจะมอบของขวัญให้แก่บุตรของตนซึ่งมีอายุครบ 1 ปีในปลายปี40 ด้วยการมอบหุ้นให้ 4.5 ล้านหุ้น ตนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการให้โดยเสน่หาตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย!?!
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คำอ้างของ นายบรรณพจน์ ที่ว่า คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้ในโอกาสที่บุตรของตนอายุครบ 1 ปีนั้น ถือว่าเป็นเหตุผลที่เบี่ยงเบนไปจากเดิมอีกครั้ง เพราะตอนแรกอ้างว่า เป็นการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ต้องเสียภาษี แต่พอถูกจับได้ว่าไม่ได้มีการซื้อขายจริง เป็นเพียงการทำนิติกรรมอำพราง นายบรรณพจน์ก็อ้างใหม่ว่า คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้ตนโดยเสน่หาโดยธรรมจรรยาในโอกาสที่ตนแต่งงานและมีบุตร แต่พอถูกจับได้ว่า ช่วงเวลาที่โอนหุ้นไม่สอดคล้องกับที่นายบรรณพจน์อ้าง เพราะโอนให้หลังจากนายบรรณพจน์แต่งงานแล้วถึง 2 ปีและหลังนายบรรณพจน์มีบุตรแล้ว 1 ปี นายบรรณพจน์จึงมาอ้างใหม่อีกว่า คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้ในโอกาสบุตรของตนอายุครบ 1 ปี!?!
ขณะที่คุณหญิงพจมาน ก็อ้างว่า นายบรรณพจน์ เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาตน ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวตนจนมีความมั่นคงและมีทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อตนเห็นว่า นายบรรณพจน์ควรมีครอบครัว จึงสนับสนุนให้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา วันสุนิล เมื่อต้นปี 39 และให้ปลูกสร้างเรือนหอในที่ดินของครอบครัวตน (ดามาพงศ์) นอกจากนี้ ยังตั้งใจจะมอบหุ้นให้ในวันแต่งงาน เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน อย่างไรก็ตาม คุณหญิงพจมานอ้างว่า ตอนนั้นให้หุ้นไม่ทัน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานการเมือง จึงต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จก่อน กระทั่งบุตรชายนายบรรณพจน์ ซึ่งเกิดวันที่ 4 ธ.ค.2539 จะมีอายุครบ 1 ปี และการจัดการด้านบริหารงานของตนเสร็จสิ้นพอดี จึงยกหุ้นให้นายบรรณพจน์ 4.5 ล้านหุ้นในวันที่ 7 พ.ย.2540 เพื่อเป็นของขวัญ
อย่างไรก็ตาม อัยการได้ระบุในคำฟ้องว่า การกระทำของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ที่ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นเพียง ข้ออ้าง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากรเชื่อว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือการให้โดยเสน่หา เนื่องในโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษี การกระทำของจำเลยที่ 1-2 คือนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมาน จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จและโดยการฉ้อโกง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้เงินภาษีอากรและเงินเพิ่มกว่า 546 ล้านบาท!
คดีนี้ต้องจับตากันต่อไปว่า ที่สุดแล้วศาลอาญาจะพิพากษาว่าอย่างไร? จะจบแบบผู้เลี่ยงภาษี ให้ถ้อยคำเท็จ ก็ให้ถ้อยคำใหม่ได้เรื่อยๆ เหมือนกับ ติ๊กผิด ก็ติ๊กใหม่ได้ดังกรณีวุ่นๆ เรื่องหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิงพจมานและลูกๆ หรือไม่? หรือควรจะจบแบบ ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง อีกต่อไป โดยล่าสุด คดีอยู่ระหว่างศาลอาญานัดสืบพยานจำเลยในเดือน เม.ย.นี้
แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า ในส่วนของการเรียกเก็บภาษีและเบี้ยปรับจากนายบรรณพจน์ 546 ล้านบาทนั้น ชัดเจนแล้วว่า รัฐหรือกรมสรรพากรต้องสูญภาษีและเบี้ยปรับดังกล่าว เพราะหลังจากกรมสรรพากรทำเรื่องเรียกเก็บจากนายบรรณพจน์ก่อนหน้านี้ ทางนายบรรณพจน์ได้อุทธรณ์ต่อ คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษี (ประกอบด้วยตัวแทนจาก 3 ฝ่าย คือ อัยการ-กระทรวงมหาดไทย-กรมสรรพากร) ซึ่งล่าสุด คณะกรรมการดังกล่าวได้มีมติ 2 : 1 ให้นายบรรณพจน์ไม่ต้องเสียภาษีจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมาน โดยให้เหตุผลว่า เพราะคดีดังกล่าวขาดอายุความแล้ว เพราะเกิดขึ้นมานานเกิน 5 ปีแล้ว
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีมองข้อกฎหมายต่างจาก คตส. เพราะ คตส.มองว่าการที่นายบรรณพจน์ต้องเสียภาษีจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิงพจมานนั้น เข้าข่าย ประมวลรัษฎากรมาตรา 40(

ซึ่งมีอายุความนานถึง 10 ปี แต่คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีกลับมองว่าการต้องเสียภาษีของนายบรรณพจน์เข้าข่าย ประมวลรัษฎากรมาตรา 40(2) ซึ่งมีอายุความแค่ 5 ปี!
หลังคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีมีมติเข้าทาง นายบรรณพจน์ ปรากฏว่า นายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความนายบรรณพจน์ ได้รีบออกมาชี้นำศาลอาญาเมื่อวานนี้ (3 มี.ค. 2551) ว่า คำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีดังกล่าวจะส่งผลดีต่อคดีอาญาที่มีการฟ้องนายบรรณพจน์และคุณหญิงพจมานว่าหลีกเลี่ยงชำระภาษีแน่นอน!?!
แต่ทางอัยการไม่มองเช่นนั้น โดย นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 เจ้าของสำนวนคดีเลี่ยงชำระภาษีหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ฯ ชี้ว่า การที่คณะกรรมการอุทธรณ์ภาษีมีมติว่าไม่สามารถเรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ได้ เพราะขาดอายุความนั้น ถือเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเป็นความผิดทางแพ่ง ซึ่งการวินิจฉัยดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อคดีที่กระทำผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด โดยนายบรรณพจน์ต้องพิสูจน์ว่ามีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการเสียภาษีตามที่อัยการยื่นฟ้องหรือไม่?
อีกไม่นานเกินรอ คงได้ทราบกันว่า คุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์จะรอดพ้นคดีอาญาฐานใช้กลอุบายหลอกลวงและแจ้งเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากการโอนหุ้นให้กันหรือไม่? หวังว่า...ในยุคที่ รัฐบาลนอมินีเฟื่องฟู จะยังพอมีความถูกต้อง-ชอบธรรมหลงเหลืออยู่บ้าง!!
Updated : 4/3/2551
เรียบเรียงจาก :
ผู้จัดการออนไลน์
********************************************************************************
เอาไปอ่านปูพื้นกันก่อนนะครับ....
เพื่อพรุ่งนี้... จะได้ไม่งงงงงงง.....
