http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01ent01040649&day=2006/06/04คอลัมน์ อาทิตย์เธียเตอร์
โดย พล พะยาบ
ขณะที่ภาพและเรื่องราวค่อยๆ ดำเนินไปเพียงแค่ไม่กี่นาที ความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นคือ ประหลาดใจ และสงสัยใคร่รู้ในเรื่องราวแปลกประหลาดไร้ที่มาที่ไป
ก่อนที่อีกไม่นานนาทีจากนั้น พลันเกิดความรู้สึกเพิ่มเติมคือ หลอน!
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นขณะชม Innocence หนังฝรั่งเศสปี 2004 ผลงานกำกับฯเรื่องแรกของผู้กำกับฯหญิง ลูซิล ฮัดเซียลิโลวิช (Lucile Hadzihalilovic) อดีตนักศึกษาวิชาภาพยนตร์ที่แม้จะไม่มีผลงานการันตีฝีมือมาก่อน นอกจากหนังสั้นเพียง 2 เรื่อง แต่หากบอกว่าเธอเป็นคู่ชีวิตของ กัสปาร์ โนเอ (Gaspar Noe) ผู้กำกับฯชาวอาร์เจนไตน์ ที่เคยทำหนังหลอนเรื่องดัง Irreversible (2002) คอหนังคงรู้สึกคุ้นเคยกับเธอมากขึ้น
หนังหลอนประหลาดเรื่องนี้ ดัดแปลงจาก Mine-Haha or the corporeal education of girls เรื่องสั้นปี 1888 ของ แฟรงค์ วิดคินด์ (Frank Wedekind) นักเขียนบทละครชาวเยอรมัน เล่าถึงชีวิตของเด็กผู้หญิงหลายสิบคนอายุระหว่าง 6-12 ขวบ ในโรงเรียนประจำที่เต็มไปด้วยกฎระเบียบ และมีสภาพแปลกประหลาดชนิดที่ไม่น่าจะมีอยู่จริงบนโลกนี้
อิริส เด็กหญิงวัย 6 ขวบ ถูกส่งมาภายในโลงศพไม้ที่มีรูปดาว 7 แฉกบนฝาโลง เธอเป็นสมาชิกใหม่ของกลุ่มเด็กผู้หญิงวัยไล่เรียงกันอีก 6 คน โดยมีสีของโบว์ผูกผมเป็นสัญลักษณ์บอกขั้นอายุ อิริสเด็กที่สุดจะผูกโบสีแดง ขณะที่เบียงกา วัย 12 ขวบ อายุมากที่สุดและเป็นคนคอยดูแลน้องๆ ผูกโบสีม่วง
กลุ่มเด็กๆ มีทั้งหมด 5 กลุ่ม แยกกันอยู่ในบ้าน 5 หลัง มีหญิงชราเป็นคนคอยดูแลรับใช้ กิจวัตรประจำวันถูกกำหนดตายตัวตามเวลา พวกเธอต้องเข้าชั้นเรียนที่แยกตามอายุกับครูสาว 2 คน คนหนึ่งสอนชีววิทยา โดยเน้นเรื่องวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของสิ่งมีชีวิต ส่วนครูอีกคนหนึ่งสอนเต้นบัลเล่ต์
เด็กทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบเคร่งครัด คนฝ่าฝืนต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง จนมีเรื่องเล่าปากต่อปากว่าคนที่หนีและถูกจับได้จะต้องอยู่ที่นี่ตลอดชีวิต กลายมาเป็นหญิงชราที่คอยปรนนิบัติรับใช้เด็กๆ ในบ้านนั่นเอง
สถานที่ประหลาดแห่งนี้อยู่ภายในป่าทึบ เต็มไปด้วยแมกไม้ครึ้มใบเขียว ทั้งยังมีลำธารกว้างใหญ่ให้เด็กๆ เล่นน้ำ โอบล้อมด้วยกำแพงสูงกั้นขวางโลกภายนอกไว้มิดชิด เบื้องล่างมีอุโมงค์ใต้ดินมืดมิดไม่รู้จุดหมายปลายทาง บ่อยครั้งที่ได้ยินเสียงรถไฟแล่นผ่านจากด้านล่างกระหึ่มดังเป็นที่สนใจของเด็กๆ
ที่แห่งนี้ไม่มีผู้ปกครองมาเยี่ยม ไม่มีทางติดต่อกับพ่อแม่พี่น้อง เด็กๆ ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้จนกว่าจะถึงเวลาอันเหมาะสมของตนเองซึ่งต่างอยู่ในช่วงวัยเดียวกัน มีเพียงทางเดียวที่เด็กคนใดคนหนึ่งจะได้ออกไปเร็วกว่ากำหนด นั่นคือต้องเป็นเด็กผูกโบสีน้ำเงิน และได้รับเลือกจากอาจารย์ใหญ่ซึ่งมาเยี่ยมที่นี่ปีละครั้ง
ในฐานะเด็กใหม่ซึ่งยังอ่อนเยาว์ อิริสทั้งหวาดกลัวและสับสนเมื่อต้องมาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ เธอจึงสนิทกับเบียงกามากเป็นพิเศษราวกับน้องสาวตัวเล็กติดพี่สาว แต่เบียงกาก็ไม่ได้อยู่กับเธอตลอดเวลา โดยเฉพาะตอนกลางคืน เบียงกาและเด็กหญิงผูกโบว์สีม่วงคนอื่นๆ จะต้องออกไปทำอะไรบางอย่างเป็นประจำทุกคืน โดยที่อิริสได้แต่เฝ้ามองด้วยความสงสัย
ที่เล่ารายละเอียดของหนังค่อนข้างมาก ผู้เขียนยืนยันว่าไม่ทำให้ผู้อ่านเสียอรรถรสเมื่อได้ชมอย่างแน่นอน และเชื่อว่าการยิ่งเปิดเผยรายละเอียดจะยิ่งสร้างความสงสัยใคร่รู้และคิดอยากดูหนังมากขึ้น โดยตัวหนังจริงๆ ยังมีอะไรให้ติดตาม ค้นหา และให้ผู้ชมตื่นเต้นสับสนอีกมากมายตลอดทั้งเรื่อง (อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องบอกกล่าวไว้ก่อนว่า หากอ่านเลยไปถึงการตีความของผู้เขียนในบรรทัดต่อไปจากนี้ เป็นไปได้ที่จะลดความตื่นเต้นลงไปบ้างเมื่อได้ชม)
คำถามที่เกิดขึ้นระหว่างชมคือ Innocence เรื่องนี้เป็นหนังเกี่ยวกับอะไรกันแน่ จะไปจบลงตรงไหน และมีคำเฉลยในตอนท้ายหรือไม่ คำถามเหล่านี้คือพาหนะชั้นดีที่จะพาเราติดตามชมเรื่องราวแปลกประหลาดไปจนจบ เพื่อจะได้พบคำเฉลยว่า...ต้องค้นหาคำตอบกันเอง
Innocence ไม่ใช่หนังแบบ The Village ของ เอ็ม.ไนท์ ชามาลัน ที่ให้ดูจนใกล้จบแล้วร้อง "อ๋อ!" ไม่ใช่นิทานเด็กที่ตอนจบลงท้ายด้วย "เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า..." แต่เป็นหนังที่ฉายภาพของมนุษย์ผู้หญิงที่กำลังเปลี่ยนจากเด็กหญิงอันบริสุทธิ์ผุดผ่องสู่วัยสาวสะพรั่ง โดยนำมาขยายและแต่งเติมให้เป็นเรื่องราว
แม้ว่าหนังจะเริ่มต้นด้วยเรื่องของอิริส ซึ่งเป็นเด็กมาใหม่ แต่เรื่องราวไม่ได้จับไปที่อิริสเป็นหลักตลอดเวลา ช่วงกลางเรื่องหนังเปลี่ยนมาเล่าเรื่องของอลิซ เด็กหญิงโบว์สีน้ำเงินซึ่งเป็นช่วงวัยกึ่งกลาง ที่หวังจะได้รับเลือกจากครูใหญ่และได้ออกไปจากสถานที่นี้ ก่อนที่ตอนท้ายจะย้ายมายังเบียงกา ผู้กำลังเริ่มต้นการเป็นหญิงสาว และจะได้ออกไปเผชิญโลกภายนอก
จากเด็กน้อยอย่างอิริส สู่อลิซซึ่งโตขึ้นมาหน่อย ถึงเบียงกาที่ก้าวสู่วัยแรกสาว ก็คือกรณีศึกษาความเปลี่ยนแปลงแต่ละช่วงอายุของเด็กหญิงนั่นเอง
อิริสอ่อนเยาว์บริสุทธิ์ สนุกสนานร่าเริง ต้องการความรักความอบอุ่น อลิซคือตัวอย่างของเด็กที่มองหาทางลัดสู่วัยสาวก่อนวัยอันควร ขณะที่เบียงกาผู้เติบโตตามวัย เริ่มสนใจในเรือนร่างของตนเอง ของเพศตรงข้าม และทำความรู้จักกับความสวยงามในแบบของหญิงสาว...ไม่ใช่ความน่ารักบริสุทธิ์แบบเด็กผู้หญิงอีกต่อไป
กิจวัตรของเบียงกาทุกค่ำคืนที่หนังเปิดเผยในช่วงท้ายคือ เธอกับเพื่อนต้องแสดงบัลเล่ต์ในโรงละครต่อหน้าผู้ชมที่นั่งอยู่ในเงามืด ครั้งหนึ่งระหว่างที่เธอแสดง มีดอกกุหลาบสีแดงถูกโยนจากผู้ชมมาให้เธอ พร้อมกับคำพูดว่า "เธอสวยที่สุด" โดยเจ้าของเสียงนั้นเป็นผู้ชาย คำพูดและดอกกุหลาบดอกนั้นได้สะกดเบียงกาให้รับรู้ถึงความรู้สึกแบบหญิงสาวเป็นครั้งแรก
สำหรับอิริส สิ่งที่เบียงกาทำทุกคืนเป็นเหมือนเรื่องลึกลับสำหรับเธอ นั่นหมายความว่า ในวัยเพียง 6 ขวบ เด็กหญิงทุกคนยังไม่อาจเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงมากมายในอนาคตอันใกล้ ธรรมชาติของเด็กวัยนี้คือความร่าเริงสดใสบริสุทธิ์ และค่อยๆ เรียนรู้ไปตามวันเวลา
ส่วนอลิซ ในช่วงวัยของเธอนั้นการได้ออกไปเผชิญโลกภายนอกก่อนเวลาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะเด็กบางคนในวัยเดียวกันอาจมีความพร้อมกว่าคนอื่น (กระทั่งได้รับเลือกจากครูใหญ่) แต่การที่เธอหนีออกไปเอง นั่นหมายถึงเธอกระโจนเข้าสู่วัยสาวทั้งที่ยังไม่ถึงเวลา หนังบอกผลเสียของการกระทำนี้ด้วยบทสนทนาระหว่างครูทั้งสองว่า "ถ้าปรับตัวไม่ได้ เธอจะต้องทุกข์ทรมาน เหมือนที่เราเป็นอยู่"
ครูสาว 2 คนแห่งสถานที่ประหลาดนี้จึงเปรียบเป็นตัวแทนของอดีตเด็กหญิงที่ย่างก้าวสู่ความสาวทั้งที่ยังไม่พร้อม ได้ย้อนกลับมาเป็นกฤษณาสอนน้องประคับประคองด้วยหวังดี
หนังใช้ธรรมชาติอันงดงามทั้งต้นไม้ใบหญ้า สายน้ำ เปรียบเทียบกับความร่าเริงบริสุทธิ์ของเด็กๆ ได้อย่างน่าชื่นชม บางครั้งใช้การเคลื่อนกล้องเชื่อมร้อยระหว่างเด็กกับธรรมชาติดูอ่อนโยนเนียนตา ขณะเดียวกัน หลายภาพหลายฉากกลับให้ความรู้สึกน่าประหวั่นพรั่นพรึงชวนสงสัยสับสน โดยเฉพาะฉากกลางคืนที่ถ่ายแบบเดย์ฟอร์ไนต์ ทั้งหมดนี้เป็นฝีมือการถ่ายภาพของ เบนัวต์ ดีบี (Benoit Debie) ซึ่งเคยฝากผลงานหลอนๆ ไว้ใน Irreversible มาแล้ว
แม้จะเป็นงานกำกับฯครั้งแรก แต่ลูซิล ฮัดเซียลิโลวิช ทำ Innocence ออกมาได้น่าตื่นตาตื่นใจ นอกจากจะเต็มไปด้วยเรื่องราวน่าประหลาดใจผสมกับความรู้สึกหลอนๆ แล้ว เชื่อว่าผู้ที่ได้ชมจะต้อง "หลง" หนังเรื่องนี้โดยไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะ "หลงใหล" กับความงามประหลาดล้ำของหนัง หรือ "หลงคว้าง" แบบคนไม่พบทางออกก็ตาม
หน้า 23