ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
03-12-2024, 05:50
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สโมสรริมน้ำ  |  เรื่อง พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
เรื่อง พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชและสมเด็จพระนเรศวรมหาราช  (อ่าน 16500 ครั้ง)
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« เมื่อ: 18-05-2006, 00:06 »



เมื่อปี พ.ศ. 2308 พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่า ส่งทัพพม่ามากระหนาบกรุงศรีอยุธยา 2 ทาง
ทัพที่มาจากทางเหนือตั้งที่ปากน้ำประสบ ส่วนที่มาจากทางใต้ตั้งที่ทุ่งภูเขาทอง
ในระยะแรกที่พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา เสบียงอาหารยังบริบูรณ์แต่พม่าได้วางแผนตัดเส้นทางส่งเสบียงจากภายนอก
เพื่อให้กรุงศรีอยุธยาอ่อนกำลังจนไม่สามารถเป็นที่พึ่งแก่หัวเมืองขึ้นของพม่าได้อีกต่อไป

     สมเด็จพระเจ้าตากสิน ซึ่งขณะนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตาก เมื่อได้ข่าวพม่าล้อมกรุงได้นำทัพลงมาสมทบ
เสริมกำลังป้องกันกรุงศรีอยุธยา คุมไพร่พลอยู่ใกล้วัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่เพื่อป้องกันไม่ให้พม่ายกทัพเข้าเมือง
แต่สถานการณ์ภายในกองทัพเลวร้ายลงเรื่อยๆ ข้าราชการ ทหาร ทั้งแม่ทัพนายกองและไพร่พล
ต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีเอาตัวรอดกันโกลาหลทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายขึ้น

      กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ประมาณ 2 ปี พระยาตากคาดการณ์ว่ากรุงศรีอยุธยาคงจะต้องแตกแน่
เพราะกำลังหนุนของพม่านั้น ใหญ่หลวงนัก ประกอบกับทัพพระยาตากขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก
ถ้าสู้รบต่อไปก็เท่ากับพาทหารไปตายโดยไร้ประโยชน์ จึงได้วางแผนตีฝ่าวงล้อมพม่า
เพื่อไปสะสมเสบียงอาหารกำลังคนและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา

      ในวันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 4 ค่ำ จ.ศ. 1128 ตรงกับวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2310
พระยาตากรวบรวมไพร่พลทั้งไทยจีนได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่ามุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลตะวันออก
ที่ยังปลอดภัยจากอิทธิพลพม่าและเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับหัวเมืองสำคัญอื่นๆ ของราชอาณาจักร
รวมทั้งเหมาะสมที่จะใช้เป็นฐานยุทธศาสตร์เพื่อนำกำลังทัพกลับมากอบกู้กรุงศรีอยุธยา



หลังจากที่พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมพม่า มุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันออกประมาณ 3 เดือน
พม่าก็เข้ายึดกรุงศรีอยุธยาได้ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2310 พม่าจุดไฟเผาเมืองจนวอดวาย
พระเจ้ามังระกษัตริย์พม่ามีพระบรมราชโองการให้ทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับ แล้วให้จับพระเจ้าแผ่นดิน พระบรมวงศานุวงศ์
และรวบรวมสมบัติทั้งหมดของอยุธยาส่งกลับไปพม่า ข่าวกรุงแตกได้แพร่กระจาย ขณะที่พระยาตากอยู่ที่เมืองระยอง
พระยาตากจึงได้ประกาศตนเป็นผู้นำในการที่จะฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและกอบกู้กรุงศรีอยุธยาให้กลับรุ่งเรืองดังเดิม
บรรดาแม่ทัพนายกองที่สวามิภักดิ์ต่างพร้อมใจกันยกพระยาตากขึ้นเป็นผู้นำขบวนการกอบกู้แผ่นดิน
และเรียกพระยาตากว่า เจ้าตาก นับตั้งแต่นั้นมาเจ้าตากได้นำไพร่พลทั้งไทยและจีนเดินทางต่อไปยังฝั่งทะเลด้านตะวันออก
รอเวลาที่จะกอบกู้แผ่นดินจากพม่า ทุกขั้นตอนของแผนกอบกู้เอกราชล้วนแสดงถึงพระอัจฉริยภาพในด้านยุทธวิธีทางทหาร
ทั้งทางบกและทางน้ำของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

เส้นทางเดินทัพของพระยาตาก

      พระยาตากพาไพร่พลตีฝ่าวงล้อมของทัพพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยามุ่งตรงไปยังบ้านโพธิ์สังหาญ หรือ โพธิ์สาวหาญ
รุ่งเช้าได้ต่อสู้กับกองทหารพม่า ทหารไทยฆ่าฟันทหารพม่าล้มตายแตกหนีไปพระยาตาก จึงนำทหารเดินทางต่อ
และไปตั้งค่ายพักอยู่บ้านพรานนก ให้พวกทหารไปเที่ยวหาอาหาร มาเลี้ยงกัน ขณะนั้นมีทหารพม่ากองหนึ่ง
ซึ่งมีทหารม้าประมาณ 30 คน ทหารเดินเท้าประมาณ 200 คน เดินทาง มาจากแขวงเมืองปราจีนบุรี
สวนทางมาพบทหารพระยาตากที่เที่ยวหาเสบียงอาหาร ทหารพม่าก็ไล่จับและติดตามมายังบ้านพรานนก
พระยาตากจึงให้ทหารแยกออกซุ่มสองทาง ตนเองขึ้นขี่ม้าพร้อมกับทหารอีก 4 คน ควบตรงไปไล่ฟันทหารม้าพม่า
ทหารพม่าไม่ทันรู้ตัวตกใจถอยกลับไปปะทะกับทหารเดินเท้าของตนเองเกิดการอลหม่าน

ทหารไทยที่ซุ่มอยู่สองข้างจึงแยกเป็นปีกกาตีโอบทหารพม่าไว้สองข้าง แล้วไล่ฟันทหารพม่าล้มตายและแตกหนีไป
พวกราษฎรที่หลบซ่อนพม่าอยู่ ครั้นเห็นพระยาตากรบชนะพม่าก็ดีใจพากันเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก
พระยาตากจึงให้ราษฎรเหล่านั้นไปเกลี้ยกล่อมหัวหน้านายซ่องมาสวามิภักดิ์ นำช้าง ม้าพาหนะและเสบียงอาหารมามอบให้
นายซ่องใหญ่ที่ไม่ยอมอ่อนน้อมก็ถูกปราบปรามจนราบคาบริบพาหนะ ผู้คน ช้างม้า และศาสตราวุธได้เป็นจำนวนมาก

หลังจากนั้นพระยาตากจึงยกกองทหารไปทาง นาเริง เมืองนครนายก ผ่านด่านกบแจะ ข้ามลำน้ำปราจีนบุรี
ไปตั้งพักอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ข้างฝั่งตะวันออก พม่าที่ตั้งทัพอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ใต้เมืองปราจีนบุรียกพลตามมา
พระยาตากก็นำทหารไล่ติดตามฆ่าฟันทหารพม่า ล้มตายลงเป็นจำนวนมากที่เหลือก็หนีแตกกระจัดกระจายไป
นับแต่นั้นมา พม่าก็มิได้ติดตามกองทัพพระยาตากอีกต่อไป พระยาตากได้ยกกองทัพผ่านเมืองฉะเชิงเทรา ชลบุรี
แล้วจึงเดินทางต่อไปยังบ้านนาเกลือ แขวงเมืองบางละมุง

เมื่อถึงเมืองระยองเจ้าเมืองระยองซึ่งได้ยินกิติศัพท์ของพระยาตากก็ยอมอ่อนน้อมเชิญให้เข้าเมือง
พระยาตากใช้เวลาไม่ถึงเดือนนับจากตีหักออกจากกรุงศรีอยุธยาก็ยึดเมืองระยองเป็นที่มั่นได้
ความสามารถของพระยาตากในการรวบรวมคนไทยได้เป็นจำนวนมากเช่นนี้
แสดงถึงศักยภาพของพระยาตากที่มีเหนือกลุ่มอื่นๆในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา



พระยาตากเดินทัพจากระยองผ่านแกลงเข้าบางกระจะ มุ่งยึดจันทบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่
เพื่อใช้เป็นฐานกำลังฟื้นฟูขวัญของไพร่พล เจ้าเมืองจันทบุรีไม่ยอมสวามิภักดิ์
พระยาตากจึงต้องใช้จิตวิทยาในด้านการรบมาใช้กับแม่ทัพนายกองเพื่อต้องการรบให้ชนะ
โดยสั่งให้ทุบหม้อข้าวหม้อแกงหมายไปกินอาหารมื้อเช้าในเมือง ถ้าตีเมืองไม่ได้ก็ต้องอดตาย

ครั้นถึงเวลาค่ำ พระยาตากจึงได้สั่งให้ทหารไทยจีนลอบเข้าไปอยู่ตามสถานที่ที่ได้วางแผนไว้แล้ว
ให้คอยฟังสัญญาณเข้าตีเมืองพร้อมกัน มิให้ส่งเสียงจนกว่าจะเข้าเมืองได้จึงให้โห่ขึ้นให้พวกอื่นรู้
พอได้ฤกษ์เวลา 3 นาฬิกา เจ้าตากก็ขึ้นคอช้างพังคีรีบัญชร ให้ยิงปืนสัญญาณบอกพวกทหารเข้าตีเมืองพร้อมกัน
ส่วนพระยาตากก็ไสช้างเข้าพังประตูเมืองชาวเมืองที่ประจำการอยู่ก็ยิงปืนใหญ่เข้าใส่
นายท้ายช้างเกรงว่าพระยาตากจะถูกยิงจึงเกี่ยวช้างให้ถอยออกมา พระยาตากชักดาบออกมา
จะฟันนายท้ายช้างจึงได้ขอชีวิตไว้ แล้วไสช้างเข้าชนทำให้บานประตูเมืองพังลง
ทหารพระยาตากจึงกรูกันเข้าเมืองได้พวกชาวเมืองต่างพากันละทิ้งหน้าที่หนีไป

ส่วนพระยาจันทบุรีก็พาครอบครัวลงเรือหนีไปยัง เมืองบันทายมาศ พระยาตากตีเมืองจันทบุรีได้
ณ วันอาทิตย์ เดือน 7 แรม 3 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เพลา 3 ยามเศษ
ตรงกับวันที่ 15 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้ว 2 เดือน

      เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว พระยาตากได้เคลื่อนทัพไปยังเมืองตราด พวกกรมการและราษฎรเกิดความเกรงกลัว
ต่างพากันมาอ่อนน้อมโดยดี ที่ปากน้ำเมืองตราดมีเรือสำเภาจีนมาทอดทุ่นอยู่หลายลำ พระยาตากได้เรียกนายเรือมาพบ
แต่พวกจีนนายเรือขัดขืนต่อสู้ พระยาตากจึงลงเรือรบ คุมกองเรือไปล้อมสำเภาจีนเหล่านั้น
ได้ทำการต่อสู้กันอยู่ประมาณครึ่งวัน พระยาตากก็ยึดสำเภาจีนไว้ได้หมดได้ทรัพย์สินสิ่งของมาเป็นจำนวนมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่าเรือรบไทยสมัยนั้นมีขนาดพอๆกับเรือยาวที่ใช้แข่งตามแม่น้ำ
เมื่อสามารถเข้าตียึดเรือสำเภาขนาดใหญ่ที่ใช้เดินทะเลและมีปืนใหญ่ประจำเรือด้วยได้นั้น
แสดงว่าแม่ทัพเรือและทหารเรือจะต้องมีความสามารถมาก



หลังจากนั้นพระยาตากได้เดินทางจากตราดกลับมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองจันทบุรี เพื่อวางแผนปฏิบัติการรบ
เพื่อยึดกรุงศรีอยุธยาคืนจากข้าศึก พร้อมกับสั่งให้ต่อเรือรบและรวบรวมเครื่องศัตราวุธ ยุทธภัณฑ์
ได้ใช้เวลา 3 เดือนในการฝึกไพร่พลให้พร้อมที่จะปฏิบัติการ เมื่อสิ้นฤดูมรสุมซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากที่กรุงศรีอยุธยา
ได้เคลื่อนทัพโดยเลือกเส้นทางน้ำ เนื่องจากการยกกองทัพโดยใช้เส้นทางบกจะล่าช้า ทหาร จะเหนื่อยล้า
และพม่าอาจทราบข่าวการเคลื่อนทัพก่อนที่กองทัพไทยจะถึงอยุธยา ทำให้พม่ารู้ตัวและอาจรวบรวมกำลังต่อสู้ได้ทันท่วงที
อีกประการหนึ่งทหารพม่าชำนาญแต่การรบบนบกและที่สำคัญคือพม่าไม่มีเรือรบ

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือจากจันทบุรีเข้ามาทางปากแม่น้ำเจ้าพระยา
แล้วเข้าโจมตีข้าศึกที่เมืองธนบุรี (เมื่อพม่ายกทัพมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาได้ยึดเมืองธนบุรีไว้ก่อนที่จะเข้าล้อม กรุงศรีอยุธยา
พม่าให้คนไทยชื่อ นายทองอิน รักษาเมืองไว้เป็นเมืองหน้าด่าน)
เมื่อพระยาตากยึดเมือง ธนบุรีและปราบนายทองอินได้แล้ว จึงเคลื่อนทัพต่อไปที่กรุงศรีอยุธยา เข้ายึดค่ายโพธิ์สามต้น
ปราบพม่าจนราบคาบโดยที่พม่าไม่ทันรู้ตัวและไม่ทันวางแผนต่อสู้ จึงสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนมา
เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ
ซึ่งตรงกับวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 ใช้เวลาเพียง 7 เดือนหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา



หลังจากที่กรุงศรีอยุธยาซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากว่า 400 ปี ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับ เจ้าเมืองใหญ่ๆต่างพากันตั้งตัวเป็นเจ้า
และควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงไว้ในอำนาจที่สำคัญได้แก่ เจ้าพระยาพิษณุโลก เจ้าพิมาย เจ้าพระยานครศรีธรรมราช
และเจ้าพระฝาง ในการฟื้นฟูพระราชอาณาจักร สมเด็จพระเจ้าตากสินจำเป็น ต้องทำการปราบปรามนายชุมนุมเหล่านี้
เพื่อขยายอำนาจ ปกครอง ให้ไปถึงยังดินแดนที่เคยเป็นของพระราชอาณาจักรมาก่อน
เพื่อ "มีพระราชอาณาเขตปกแผ่ไปเป็นแผ่นดินเดียว"

การทำสงครามเพื่อปราบชุมนุมเหล่านี้เริ่มขึ้นหลังพระราชพิธีปราบดาภิเษก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2311 จนถึง พ.ศ. 2314



ศึกพม่าที่บางกุ้ง เขตเมืองสมุทรสงคราม ในปี พ.ศ. 2310

      นับเป็นการศึกครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี เนื่องมาจากทางพม่าทราบข่าวว่ามีคนไทยตั้งตัวเป็นใหญ่
จึงสั่งให้เจ้าเมืองทวายเข้าสืบข่าวเพื่อที่จะกำจัดเสีย สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้ข่าว
จึงโปรดให้จัดกองทัพไปขับไล่กองทัพพม่า - มอญ ทหารพม่าเป็นฝ่ายแพ้ต้องถอยทัพกลับทางเมืองทวาย
โดยทหารไทยสามารถยึดเรือรบอาวุธและเสบียงอาหารของพม่าไว้ได้

ศึกพม่าที่บางแก้ว ในปี พ.ศ. 2317

      เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรู้ข่าวว่าพม่ายกพลตามพวกมอญที่หนีเข้ามาในเขตไทย
จึงโปรดเกล้าฯให้ยกทัพมุ่งตรงไปยังราชบุรี โดยทรงบัญชาการทัพด้วยพระองค์เอง
ทรงตั้งค่ายล้อมค่ายพม่าและลอบตี ตัดทางลำเลียงเสบียงอาหาร โดยได้กำลังสนับสนุนจากพระยายมราช
ในที่สุดพม่าจึงต้องยอมแพ้ ชัยชนะในครั้งนี้ส่งผลให้ผู้คนที่หลบซ่อนตามที่ต่างๆ เข้ามาสวามิภักดิ์เป็นจำนวนมาก
เนื่องจากหมดความกลัว เกรงพม่า นับเป็นสงครามแบบจิตวิทยาโดยแท้

ศึกตีเวียงจันทน์ ในปี พ.ศ. 2321

      พระวอ เสนาบดีเมืองเวียงจันทน์ มีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าสิริบุญสารซึ่งเป็นเจ้าเมือง จึงเข้ามาพึ่งเจ้าเมืองจำปาศักดิ์
ซึ่งขึ้นต่อสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่เมื่อไทยยกทัพกลับไป เจ้าสิริบุญสารได้ให้คนมาฆ่าพระวอ
สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึกและพระยาสุรสีห์ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์
โดยได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าเมืองหลวงพระบาง ทัพไทยล้อมอยู่นาน 4 เดือน
พระเจ้ากรุงศรีสันตนาคนหุตจึงหลบหนีไป ทัพกรุงธนบุรีจึงตีได้เวียงจันทน์ หลวงพระบาง และล้านช้าง ทั้งหมด
พร้อมกับได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรีในคราวนี้ด้วย



การปกป้องแผ่นดินเป็นพระราชกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้กระทำตลอดพระชนม์ชีพ
ซึ่งนอกจากการต่อสู้เพื่อรวมแผ่นดินแล้ว ยังต้องป้องกันหัวเมืองชายแดนอีกด้วย

การป้องกันหัวเมืองชายแดน

     ตลอดรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินต้องทรงทำสงครามกับพม่าถึง 8 ครั้ง แต่ด้วยพระอัจฉริยะภาพทางยุทธวิธี
และความเชี่ยวชาญในการรบของทหาร จึงทำให้ทัพไทยรบชนะพม่าทุกครั้ง เช่น

     พ.ศ. 2310 ทรงตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้น สามารถยึดกรุงศรีอยุธยาคืนได้ ทำให้ไทยเป็นเอกราช
ในปีเดียวกันนั้นไทยรบกับพม่าที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม พม่าแพ้ต้องถอยทัพกลับมาเมืองทวาย
ไทยยึดเรือรบของพม่า ตลอดจนอาวุธและเสบียงอาหาร ได้เป็นจำนวนมาก

     พ.ศ. 2317 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงยกทัพไปตีพม่าที่เชียงใหม่เป็นครั้งที่ 2 สามารถขจัดอิทธิพลของพม่า
จากแผ่นดินล้านนา ยกเว้นเชียงแสน

การขยายอาณาเขต

      พระราชอาณาจักรไทยในสมัยกรุงธนบุรี ขยายออกกว้างขวางกว่าสมัยอยุธยามาก ทั้งนี้เพราะได้เมืองพุทไธมาศ
และกัมพูชาเข้ามาไว้ในราชอาณาเขตด้วย

     พ.ศ. 2319 ไทยได้อาณาเขตลาวใต้ มีนครจำปาศักดิ์ สีทันดร ดินแดนเขมรป่าดงแถบเมืองสุรินทร์
เมืองสังขะและเมืองขุขันธ์

     พ.ศ. 2321 ทัพไทยตีหัวเมืองรายทางไปจนถึงเวียงจันทน์ ได้เมืองเวียงจันทน์ หลวงพระบาง
ครั้นเสร็จศึกก็ได้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระแก้วมรกตกลับมาไว้ที่กรุงธนบุรีในปีนั้นด้วย

     การศึกสงครามดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พระราชอาณาจักรไทยเป็นเอกราชและมีความมั่นคงสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

อาณาเขตประเทศไทยในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

     ในสมัยกรุงธนบุรีได้มีการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ เข้ามาในพระราชอาณาจักร ได้แก่
ธนบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี อุทัยธานี นครสวรรค์ ฉะเชิงเทรา นครนายก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด
นครชัยศรี นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี กาญจนบุรี และประจวบคีรีขันธ์

     สมเด็จพระเจ้าตากสิน ได้ทรงต่อสู้เพื่อขยายพระราชอาณาจักรเกือบตลอดรัชกาล
อาณาเขตของประเทศไทยในสมัยนั้น มีดังนี้

ทิศเหนือ                        ตลอดอาณาจักรล้านนา
ทิศใต้                            ตลอดเมืองไทรบุรีและตรังกานู
ทิศตะวันออก                  ตลอดกัมพูชาจดญวนใต้
ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ   ตลอดเวียงจันทน์ หัวเมืองพาน และหลวงพระบาง หัวพันห้าทั้งหก
ทิศตะวันออกเฉียงใต ้      ตลอดเมืองพุทไธมาศ จดเมืองมะริด และตะนาวศรี
ทิศตะวันตก                    จดเมืองมะริด และตะนาวศรี ออกมหาสมุทรอินเดีย

http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_militaryact.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21-05-2006, 12:54 โดย narong » บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
Think Earth
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 196


« ตอบ #1 เมื่อ: 18-05-2006, 07:34 »

 Smile Smile Smile Smile
บันทึกการเข้า
โกวเฮง
ขาประจำ
*****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 334



เว็บไซต์
« ตอบ #2 เมื่อ: 18-05-2006, 07:42 »

ชอบมาก........
โหวต ครับ
บันทึกการเข้า

เสลา
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 514



« ตอบ #3 เมื่อ: 18-05-2006, 08:33 »

อ่านเรื่องที่คุณ narong นำมาเสนอแล้ว
ทำให้นึกถึง เพลงพระราชนิพนธ์เราสู้


เราสู้
       
       บรรพบุรุษของไทยแต่โบราณ ปกบ้านป้องเมืองคุ้มเย้า
       เสียเลือดเสียเนื้อมิใช่เบา หน้าที่เรารักษาสืบไป
       
       ลูกหลานเหลนโหลนภายหน้า จะได้มีพสุธาอาศัย
       อนาคตจะต้องมีประเทศไทย มิยอมให้ผู้ใดมาทำลาย
       
       ถึงขู่ฆ่าล้างโคตรก็ไม่หวั่น จะสู้กันไม่หลบหนีหาย
       สู้ตรงนี้สู้ที่นี่สู้จนตาย ถึงเป็นคนสุดท้ายก็ลองดู
       
       บ้านเมืองเราเราต้องรักษา อยากทำลายเชิญมาเราสู้
       เกียรติศักดิ์ของเราเราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว


*************

และขอยกเอาข้อเขียนบทเพลงพระราชนิพนธ์เราสู้ โดยคุณต่อพงษ์
จาก นสพ.ผู้จัดการ วันที่ 10 มิถุนายน 2548 มาด้วย

"ที่สำคัญเหตุการณ์ในอดีตกับเหตุการณ์ปัจจุบันนี้
เกิดความรู้สึกว่ามันคล้ายกันอย่างไรบอกไม่ถูก …
       
       ทั้งแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทั้งมองเห็นว่าใครกันที่เราจะต้องสู้...แถมต้องสู้อย่างเข้มแข็งเสียด้วย
       
       เรียนให้ทราบมาหลายสัปดาห์แล้วว่า เพลงปลุกใจที่เด็กๆ ต้องร้องในช่วง 2519-2523
ที่ร้องกันได้ดังที่สุดมีอยู่ 3 เพลง หนักแผ่นดินนั้นได้พูดถึงไปแล้ว
ก็ยังเหลืออีกสองเพลงนั่นคือ ‘เราสู้’ และ ‘ทหารเสือพระนเรศวร’

 เราสู้ กับ ทหารเสือพระนเรศวร นั้นเดี๋ยวนี้ไม่แน่ใจว่ายังมีหน่วยงานไหนเปิดกันอยู่หรือเปล่า
เพียงแต่เมื่อก่อนถ้าใครเปิดทีวีตอนเช้า เสาร์ – อาทิตย์ ทางช่อง 3
เราก็จะได้ยินเสียงเพลง ‘เราสู้’ นี้ตลอดก่อนที่รายการการ์ตูนเพื่อเด็กในวันเสาร์จะมา
หรือก่อนที่รายการธรรมมะในวันอาทิตย์จะปรากฏ
       
       ขณะที่ ทหารเสือพระนเรศวรนั้น ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่า ที่มาเป็นอย่างไร
จะเป็นบทเพลงของหน่วยทหารเสือหน่วยไหนหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ
รู้แต่ว่าพระนามของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น
พระองค์ท่านถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของการกู้ชาติ
และต่อสู้กับศัตรูภายนอกและภายในอย่างถึงที่สุดมาแล้ว
       
       ใครเคยฟังเพลงพระราชนิพนธ์ ‘ความฝันอันสูงสุด’
คงจะจำได้ว่าเป็นบทเพลงที่ถูกแต่งขึ้นโดยมีที่มา
จากความฝันของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลปัจจุบัน
ที่พระองค์ทรงฝันว่าได้พบกับพระนเรศวรเจ้า
ซึ่งทรงห่วงใยสถานการณ์บ้านเมืองของเราในขณะนั้นเช่นกัน
       
       เช่นเดียวกัน ประโยค ...เปรี้ยงเปรี้ยง ดังเสียงฟ้าฟาด โครมโครม พินาศพังสลอน...
ในทหารเสือพระนเรศวรก็กลายเป็นสโลแกนของพรรคชาติไทย
และกลายเป็นเพลงหาเสียงของพรรคนี้
ซึ่งตอนนั้นเราถือว่าเป็นพรรคประเภทขวาตกขอบ...
และเป็นหนึ่งในหัวหอกของขบวนการ ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ในเวลาต่อมา
       
       พูดถึงเรื่องนี้ก็ตลกดีอีกเหมือนกัน เพราะ
ถ้าเพลงทหารเสือพระนเรศวรนั้นเป็นเพลงประจำของพรรคชาติไทย
เพลงหนึ่งที่ผมไม่รู้ว่าชื่อเพลงอะไร แต่เนื้อเพลงท่อนแรกเขาขึ้นมาว่า
“กูจะสู้ แม้รู้ว่าพวกกูน้อย สู้ไม่ถอย แม้รู้ว่าจะดับสลาย แผ่นดินนี้ พ่อกูอยู่ ปู่กูตาย...”
ก็ถือว่าเป็นเพลงประจำของพรรคประชากรไทย
ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลางที่ยึดพื้นที่ของกรุงเทพในเวลานั้นเหมือนกัน
เพราะ แกมาหาเสียงแถวบ้านผมทีไรก็ต้องเอาเพลงนี้มาเปิดกันทุกครั้ง
       
       แล้วตอนหลังๆ จะเป็นยุคที่ตกต่ำถึงที่สุด หรือ ยุคที่ไม่มีใครเหลือในกรุงเทพเลย
เขาก็ยังคงมั่นคงกับเพลงนี้อยู่
       
       ที่ขำก็เพราะว่าเพลงนี้เป็นหอกที่แหลมคมมากของน้าหมัก
ที่ทิ่มใส่ศัตรูในอุดมการณ์ของท่าน(พวกขบวนการตุลาคมหรือฝ่ายซ้าย
ซึ่งปัจจุบันเป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล)...
ปรากฏว่า เดี๋ยวนี้แผ่นนี้คงจะตกร่องเสียแล้ว
เพราะน้าหมักกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลนี้อย่างออกนอกหน้า
ทั้งวิทยุและโทรทัศน์กันได้หลายๆเวลา
เป็นการผสมสานความสามัคคีของคนในชาติหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้ แต่เห็นแล้วก็ขำดี
       
       สำหรับเราสู้นั้น แม้จะไม่ถูกเอามาใช้อย่างเป็นทางการ
และถูกผูกขาดเป็นของใคร พรรคใดพรรคหนึ่ง แต่ก็เป็นที่แน่นอนว่า
เพลงนี้ถูกใช้เป็นอาวุธที่แหลมคมที่จะทิ่มใครก็ตามที่คิดจะชักจูง
หรือ ล้มล้างประเทศไทยไปทางใดทางหนึ่ง
ซึ่งตอนนั้นก็คือพวก ‘คอมมิวนิสต์’ นั่นเอง
       
       เพลงนี้จะว่าร้องง่ายๆ ก็ง่าย แต่จะว่าร้องยากก็ว่ายากเหมือนกัน
เพราะ เป็นการร้องหมู่ คือที่โรงเรียนผมนั้น
มีคุณครูประเทือง ทองหล่อ ครูใหญ่ท่านเป็นคนร้องนำ
แล้วพวกเราทั้งหมดก็ร้องคลอกันไป เรื่องลำบากนั้นอยู่ในท่อนก่อนจบนั่นเองครับ
ที่ร้องว่า ...บ้านเมืองเรา เราต้องรักษา...นั้นแหล่ะครับ
เพราะเพลงเขาจะมีจังหวะยกอยู่นิดหนึ่ง คุณครูท่านร้องไม่ผิดจังหวะหรอก
จะมีก็แต่พวกเราที่พอถึงต้องร้องท่อนนี้ มักจะล่มกันทุกที
เพราะ จังหวะหายใจที่ร้องกันขึ้นมานั้น มักจะขึ้นมาไม่พร้อมกันเอาเสียเลย
       
       ย้อนกลับไปถึงที่มาของเพลงๆ นี้ จากการค้นคว้าของคุณสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล
ที่ลงอยู่ในบทความ เราสู้: เพลงพระราชนิพนธ์การเมืองกับการเมืองปี 2518-2519
บอกว่าเพลงๆ นี้นำมาจาก พระราชดำรัสในวันที่ 4 ธันวาคม 2518
พระองค์ท่านพระราชทานไว้ดังนี้ครับ
       
      “... เพราะว่าถ้าเรานึกว่าเดี๋ยวนี้มาถือว่าประเทศชาติของเรามีความปั่นป่วน
แน่นอน มีอันตรายคุกคามแน่นอนจากทุกทิศทั้งภายนอกภายใน
กำลังรู้สึกกันนะ ทุกคนรู้สึกว่าเมืองนี้ชักจะอันตราย
จนกระทั่งมีบางคนเล่าลือกันว่า เก็บกระเป๋าขายของ ไปต่างประเทศเสียแล้วก็มี
แต่ว่าท่านพวกนั้นที่เก็บของ ขายของ หนีออกจากประเทศ
ไปเสียทีเพราะว่าเมืองไทยมันเต็มทนแล้ว...”
       
       “... แต่ทำไมเมืองไทยอยู่ได้ ก็เพราะว่า
บรรพบุรุษของเราทำมาเป็นแรมปีเป็นร้อยๆปี ทำมาด้วยความสุจริตใจ
ในสิ่งที่เรารู้ในประวัติศาสตร์ว่านักรบไทยได้ป้องกันประเทศให้อยู่
นักปกครองไทยได้ป้องกันความเป็นอยู่ของเมืองไทย
ให้อยู่ได้ตกทอดมาถึงเรานั้นน่ะ ท่านได้ทำมาด้วยความตั้งใจให้เป็นมรดก...
คือเป็นบารมี ได้สร้างบารมีมาตั้งแต่โบราณกาลมา สะสมมาเรื่อย...
ขอเปรียบเทียบเหมือนบารมี นั่นคือทำความดีนี้
เปรียบเทียบเหมือนการธนาคาร...
เราอย่าไป เบิกบารมีที่บ้านเมืองที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้
ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกิน
เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศชาติมีอนาคตที่แน่นอน
อนาคตที่จะสามารถถือว่าชั่วลูกชั่วหลานชั่วเหลนชั่วโหลน
ประเทศไทยก็ยังคงอยู่...

การสร้างบารมีของบรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล
ที่ได้รักษาสร้างบ้านเมืองขึ้นมาจนถึงเราแล้ว
ก็ในสมัยนี้ที่เราอยู่ในที่ที่เรากำลังเสียขวัญกลัวก็ไม่ต้องกลัว
ไม่ต้องกลัวเพราะเรามีทุนอยู่...”
       
       “...เรามีบ้านเมืองแล้ว เราต้องรักษาไม่ใช่ทำลาย
ใครอยากทำลายบ้านเมืองก็ทำลายเข้า เชิญทำลาย เราสู้
แต่ว่าผู้ที่จะทำลายระวังดีๆ คือว่าผู้ที่อยากทำลายนั้น
ไม่ใช่ว่าเขาอยากทำลายเพื่ออะไร แต่เขาทำลายตัวเอง
น่าสงสาร ส่วนมากเขาทำลายตัวเอง...”

       
       คุณสมศักดิ์มั่นใจว่าเพลงเราสู้ต้องมาจากพระราชดำรัสนี้แน่นอน
ขณะที่ประวัติอื่นๆ ที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ
บทเพลง"เราสู้" เกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
"ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองใส่คำร้องที่นายสมภพ จันทรประภา
ประพันธ์เป็นกลอนสุภาพ 4 บท ใน พ.ศ. 2516"

โดยที่ "คำร้องนี้นายสมภพได้ขอพระ ราชทานพระราชดำรัส
ที่พระราชทานแก่สมาชิกสภานิติบัญญัติ
ประกอบด้วยข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และประชาชน
ซึ่งได้จัดแข่งฟุตบอลเพื่อนำรายได้ทูลเกล้าฯถวายโดยเสด็จพระราชกุศล
และเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
มาเขียนเป็นคำกลอนถวาย" (ดนตรีจากพระราชหฤทัย, หน้า 187)
       
       "และได้ทรงพระราชทานให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ทหาร อาสาสมัคร
และตำรวจชายแดน" (ธ สถิตในดวงใจนิรันดร์, หน้า 333)
โดยท่านพระราชทานทำนองมาให้โดยใช้เวลาพระราชนิพนธ์ไม่นานนัก

       แต่ไม่ว่าที่มาของเพลงๆนี้จะเป็นอย่างไร
ผมก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่า พระราชดำรัสของพระองค์ท่านในอดีตนั้น
เป็นบุญหูที่ต้องจำไว้ในใจของทุกคน
เพราะ ผมเข้าใจเหมือนที่หลายคนเข้าใจว่า
ตอนนี้เรากำลังเดินเข้ามาสู่กระบวนการถูกทำลายแล้ว
       
       ส่วนใครเป็นผู้ทำลายนั้น คงไม่ต้องพูดกันมาก !!
       
       เพราะเหตุนี้ บทเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้ยังใช้ได้ดีอยู่
ไม่ว่าจะเป็นยุคเมื่อปี 2519 หรือ 2548
โดยเฉพาะในยามที่บ้านเมืองเรากำลังหาทางออกไม่เจอ
และกำลังเผชิญหน้ากับศัตรูของชาติในรูปแบบที่ซับซ้อน
และยิ่งใหญ่กว่าเมื่ออดีตมากมายนัก
       
       จากบทเพลงเริ่มต้นบอกที่มาแห่งความเป็นชาติ
และหน้าที่ของคนในชาติที่ต้องรักษาทั้งชาติและสิ่งที่เรา ‘รัก’ ให้คงอยู่ตลอดไป
ไม่ว่าจะต้องเสียเลือดเสียเนื้อสักเท่าไหร่ก็ตาม
การท้าทายที่บอกว่า ‘เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว’
นั่นจึงเป็นบทสรุปของคนไทยไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เชื้อใด หรือ อยู่ในภูมิภาคไหน
       
       แน่นอน ผมคงไม่ได้คิด หรือ ไม่ได้หูแว่วไปเองหรอกครับที่ว่า
ขณะนี้...เสียงเพลงเราสู้เริ่มดังในหัวใจของคนไทยหลายต่อหลายคนแล้วครับ
       



แถมด้วยเนื้อเพลง"หนักแผ่นดิน"
และเพลง"เกียรติศักดิ์ทหารเสือ" ขับร้องโดยคุณสันติ ลุนเผ่


http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9480000073368
บันทึกการเข้า

narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 18-05-2006, 10:40 »



พระราชประวัติ

     สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรีเสด็จพระราชสมภพ
ณ วันที่ 17 เมษายน พุทธศักราช 2277 ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
พระองค์ทรงเป็นสามัญชน กำเนิดในตระกูลแต้ มีพระนามเดิมว่า สิน พระราชบิดาเป็นจีนชื่อ ไหฮอง
เดินทางจากประเทศจีนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแล้วได้สมรสกับหญิงไทยชื่อ นางนกเอี้ยง มีหลักฐานบันทึกว่า
สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเคยเป็นพ่อค้าเกวียนผู้ทรงปัญญาเฉลียวฉลาดและมีความสามารถด้าน กฎหมายเป็นพิเศษ
ได้ช่วยกรมการเมืองชำระถ้อยความของราษฎรทางภาคเหนืออยู่เนืองๆ เนื่องจากได้ทำความดีมีความชอบต่อแผ่นดิน
จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตากในเวลาต่อมา

      ในปีพุทธศักราช 2308 - 2309 พระยาตากได้นำไพร่พลลงมาสมทบเพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยา
ระหว่างที่พม่าล้อมกรุงอยู่ได้ทำการต่อสู้จนเป็นที่เลื่องลือว่าเป็นแม่ทัพที่เข้มแข็งมากที่สุดคนหนึ่ง
และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร ในวันที่ 4 มกราคม พุทธศักราช 2310
(ก่อนที่จะเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าประมาณ3 เดือน) พระยาตากได้รวบรวมกำลังตีฝ่าวงล้อมของพม่า
ไปตั้งมั่นเพื่อที่จะกลับมากู้เอกราชต่อไป

      จากหลักฐานตามพระราชพงศาวดาร พระยาตากได้รวบรวมไพร่พลประมาณ 500 คน
มุ่งไปทางฝั่งทะเลทางทิศตะวันออกระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง
แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้งและสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ
ในวันที่ 8 เมษายน พุทธศักราช 2310 พม่ายึดกรุงศรีอยุธยาได้เจ้าเมืองใหญ่ๆพากันตั้งตัวเป็นเจ้า
และควบคุมหัวเมืองใกล้เคียงไว้ในอำนาจหลังจากพระยาตากยึดเมืองจันทบุรีได้ ก็ได้ประกาศตั้งตัวเป็นอิสระ
และจัดตั้งกองทัพขึ้นที่นี่ โดยมีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายสุดจินดา
ซึ่งต่อมาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่หนึ่ง


หลังฤดูมรสุมในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2310 พระยาตากได้ยกกองทัพเรือออกจากจันทบุรี
ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทยจนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ต่อสู้จนยึดกรุงธนบุรีคืนจากพม่าได้
ต่อจากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้น
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชให้ชาติไทยได้เป็นผลสำเร็จ
โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา ให้กับพม่า หลังจากนั้น ได้ทรงเลือกกรุงธนบุรีเป็นราชธานี
เนื่องจากทรงเห็นว่ามีชัยภูมิดี ประกอบกับกรุงศรีอยุธยาเสียหายหนัก จนยากแก่การบูรณะให้เหมือนเดิม

ต่อมาในปีพุทธศักราช 2311 ได้ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระบรมราชาที่ 4"
แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า "พระเจ้าตากสิน" ในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการทำศึกสงครามอยู่เกือบตลอดเวลา
ทั้งนี้เพื่อรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่นและขับไล่พม่าออกจากราชอาณาจักร
ถึงแม้ว่าบ้านเมืองจะอยู่ในภาวะสงครามเป็นส่วนใหญ่แต่สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ยังทรงมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูประเทศ
ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจและสังคม

ได้มีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ เช่น จีน อังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ได้โปรดให้มีการสร้างถนนและขุดคลอง
เพื่ออำนวยความสะดวกในการคมนาคม นอกจากนั้นยังทรงส่งเสริมทางด้านการศาสนา ศิลปวัฒนธรรมและวรรณกรรม
รวมทั้งการศึกษาในด้านต่างๆ ของประชาชนอีกด้วย


หลังจากครองราชย์ได้ประมาณ 15 ปี ได้มีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเหตุให้รัชสมัยของพระองค์ต้องสิ้นสุดลง
สมเด็จพระเจ้าตากสินเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 6 เมษายน พุทธศักราช 2325 ขณะที่มีพระชนมายุได้ 48 ปี
ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่ง ราชวงศ์จักรี
และได้ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพมหานคร

      เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อแผ่นดินไทยเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะได้ทรงกอบกู้เอกราชให้ชาติไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศให้วันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี
(ซึ่งตรงกับวันที่ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์) เป็น "วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน"

นอกจากนั้นคณะรัฐมนตรียังมีมติให้ถวาย พระราชสมัญญานามว่า"สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช"

http://www.wangdermpalace.com/kingtaksin/thai_thegreat.html
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #5 เมื่อ: 21-05-2006, 12:55 »

*เบญจเสนา 5ทัพ รูปแบบกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช*

*ในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์นักรบของคนไทย
ที่ทรงเป็นแบบอย่างในความวิริยะอุตสาหะ ความพระปรีชาสามารถทางการทหาร การปกครอง
รัชสมัยนี้นับเป็นสมัยที่กองทัพไทยรุ่งเรืองและเข้มแข็งเป็นที่ครั่นคร้ามแก่อาณาจักรน้อยใหญ่
และคู่ศึกอย่างพม่าและเขมร พระองค์ไม่เคยเกรงกลัวผู้ใด ไม่เคยหวาดเกรงศึกเหนือเสือใต้ใดๆ
ความอดทนอดกลั้นและอุดมการณ์อันแน่วแน่ของพระองค์ เป็นที่เลื่อมใสของไพร่ฟ้าทหารหาญทั้งกองทัพ

จากเด็กสู่วัยรุ่นสู่ผู้ใหญ่ สิ่งที่เป็นหลักชัยของพระองค์คือ ความเป็นไทย เอาบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง
พระองค์มิเคยย่อท้อต่อความ อดสู เมื่อครั้งดำรงตนเป็นเชลยตัวประกันที่หงสาวดี
แต่กลับเอาสิ่งด้อยนั้นเป็นแรงใจในการขับเคลื่อนสู่เป้าหมายหลัก ทรงวิรยะอุตสาหะในการพากเพียรเรียนรู้
เกี่ยวกับการเมืองการทหารการปกครอง ทรงเรียนรู้จากชนชาติศัตรู ทรงให้ความสำคัญและใส่พระทัย
ในการทุกอย่างของพม่าชาติที่เป็นศัตรู เพื่อสะสมไว้เป็นแต้มต่อในการกู้บ้านกู้เมือง*

**ทรงชำระตำรับตำราพิชัยสงคราม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิทยาการทางทหารที่นิยมปฎิบัติกันมานาน
ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของบ้านเมืองทรงไม่ยึดถือยึดติดกับกฎเณฑ์
ที่จะทำให้กองทัพล้าหลังและอ่อนแอ ทรงกระทำพระองค์ให้เป็นตัวอย่าง
แก่ทหารผู้ใต้บังคับบัญชาในกองทัพ สิ่งแรกที่พระองค์มองเห็นเมื่อเริ่มบริหารจัดการกองทัพคือ
ความอ่อนแอและไม่เข้มแข็งของคนไทย พระองค์ทรงใช้อำนาจเด็ดขาดในการปฎิรูปกองทัพ
ทหารหนีทัพ ทหารย่อนยาน ทหารที่ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นขุนทหารหรือไพร่ โทษเท่าเทียมกัน
พระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่ทหารที่เก่งในหน้าที่ ไม่ว่าทหารผู้นั้นจะต้อยต่ำเพียงใดในกองทัพ
คนเก่งคนกล้าคนมีฝีมือ พระองค์จะทรงส่งเสริมให้มีตำแหน่งในกองทัพและ


หากทหารคนใดไม่เหมาะสมต่อตำแหน่งหน้าที่ ไม่ว่าคนนั้นจะมีเชื้อสาย จะเป็นใครมาแต่ไหน
พระองค์จะไม่ให้มีอำนาจหน้าที่ในกองทัพและบ้านเมือง

นับเป็นยุคของการส่งเสริมคนดีคนเก่งคนกล้าของบ้านเมืองโดยแท้
คนเหล่านี้จึงปรากฎตัวออกมาร่วมกองทัพของพระองค์อย่างมากมาย
ส่งผลให้กองทัพไทยเข็มแข็งและทรงอานุภาพในเวลาไม่นาน

การบังคับบัญชากองทัพนั้น พระองค์ทรงกระทำได้เหมือนการทหารแบบตะวันตกได้อย่างน่าอัศจรรย์
ทั้งที่สมัยนั้นวิทยาการแบบนี้ยังไม่มีปรากฎมาก่อนในกองทัพอาณาจักรใดในเวลานั้น ทหารรบพิเศษ
หน่วยจู่โจม หน่วยแซปเปอร์วินาศกรรม หน่วยคอมมานโด พลซุ่มยิง กองพันปืนใหญ่อัตาจร ลว.ระยะไกล
ผู้ตรวจการหน้ากองสื่อสาร หน่วยเหล่านี้เกิดขึ้นในกองทัพของพระองค์อย่างน่าพิศวงเพียงแต่ชื่อเรียกเท่านั้นที่ไม่เหมือน
นับเป็นการปฎิวัติพิชัยสงครามอย่างขนานแท้ กลายเป็นแบบอย่างให้กองทัพไทยและกองทัพอาณาจักรอื่นในเวลาต่อมา
นับเป็นพระปรีชาสามารถของพระองค์โดยแท้ที่ทรงคิดทรงกระทำได้ก่อนใคร แม้แต่ทหารญี่ปุ่น ทหารโปรตุเกส ทหารจีน
ที่มาร่วมกองทัพยังต้องเขียนบันทึกส่งไปยังบ้านเมืองของตนเกี่ยวกับการทหารแบบใหม่นี้**

***ทหารรบพิเศษของพระองค์คือ หน่วยทหารขนาดเล็ก10-20คน พระองค์ทรงคัดฝีมือเอง
ภารกิจของพวกนี้คือการทำลายเส้นทางเดินทัพของพม่า ดักฆ่าทหารสอดแนมและม้าเร็วนำสาร
ที่ใช้ส่งข่าวสารระหว่างทัพต่างๆของพม่า ภารกิจพวกนี้ต้องใช้ทหารฝีมือดีเพราะต้องเข้าไปในเขตอำนาจทัพข้าศึก***




****หน่วยจู่โจมของพระองค์คือ หน่วยทหารขนาดเล็กเช่นกันประมาณ30-50คน
หน่วยนี้พระองค์จะเป็นหัวหน้าหน่วยเองเสมอใช้ปล้นค่ายทหารพม่าขนาดเล็ก
เช่น กองลำเลียง กองเกียกกาย และใช้โจมตีเพื่อยั่วศึก เช่นไปท้ารบหน้าค่ายพม่า เมื่อพม่ายกพลออกมา
ก็ทำทีหลบหนีให้พม่าตามไปเข้าคิลลิ่งฟิลด์ แล้วก็ถอนตัวกลับอย่างรวดเร็ว
ดังที่พระองค์เคยปีนค่ายพม่าจนเกิดตำนานพระแสงดาบคาบค่าย ก็ใช้หน่วยนี้****



*****หน่วยแซบเปอร์หรือหน่วยก่อวินาศกรรมของพระองค์คือ หน่วยทหารขนาดเล็กสุด 1-5คน
ภารกิจของหน่วยนี้คือ แฝงตัวเป็นคนไทยเชลย หรือ ทหารหนีทัพ เพื่อลอบเผาค่าย เสบียงกรัง
กระสุนดินดำและเป็นไส้ศึกคอยส่งข่าวสารให้พระองค์ได้ทราบความเคลื่อนไหว
ถูกพม่าจับได้ตัดหัวเสียบประจานหน้าค่ายก็หลายครั้งแต่ก็มีผู้อาสาอยู่ไม่ขาด
(คำให้การนายกองมอญที่แปรพักต์มาเข้ากับฝ่ายไทย)*****


******หน่วยคอมมานโดของพระองค์คือ หน่วยทหารขนาดกอง 100-500คน ภารกิจของหน่วยนี้คือ
คอยสนับสนุนหน่วยจู่โจม พระองค์ใช้ทหารพวกนี้เป็นกลศึกทุกครั้งจนพม่าเข็ดขยาด ไม่กล้าติดตามหากพระองค์ล่าถอย
ในศึกยุทธหัตถี ทหารพวกนี้คือทหารหน้าช้างต้นของพระองค์ ทำหน้าที่ปกป้องพระองค์เป็นด่านแรก
ก่อนถึง 75หน่วยทะลวงฟันดาบสองมือและ จาตุลังคบาท เป็นด่านสุดท้าย
ทหารพวกนี้พระองค์ให้ไปตั้งกองอยู่ตามป่า******


*******พลซุ่มยิงของพระองค์คือ หน่วยทหารปืนคาบศิลา พระองค์ใช้หน่วยนี้ในการยิงทหารที่อยู่บนเชิงเทินค่าย
ที่ทำหน้าที่ยิงปืนใหญ่ พระองค์ใช้ทหารพวกนี้ทุกครั้งในการตีเมืองข้าศึก
บางครั้งก็ใช้เพื่อต่อสู้กับทหารฮอลันดาที่พม่าจ้างมารบ ในกองทัพสมัยพระองค์ทหารกองธนูหน้าไม้
มีไว้ใช้รักษาพระนครเท่านั้น********


********ปืนใหญ่อัตตาจร เป็นครั้งแรกในย่านนี้ที่มีการขนปืนใหญ่ลงเรือสำเภาขนาดเล็ก
เป็นหน่วยสนับสนุนทหารราบกองต่างๆ พระองค์ทรงนิยมที่จะเดินทัพเลียบไปตามแม่น้ำเสมอ
และบางครั้งพระองค์จะสั่งให้ทหารทัพหน้า แสร้งทำทีร่นถอยเพื่อมาที่ริมน้ำให้เข้าระยะยิงของปืนบนเรือ
ในการศึกแถววิเศษชัยชาญ พระองค์ทรงทราบว่าทัพหลวงของพม่ามาตั้งทัพที่ริมแม่น้ำปากคลองวิเศษชัยชาญ
พระองค์ทรงนำเรือสำเภาเล็กติดปืนใหญ่ระดมยิงค่ายพม่าจนต้องเลิกค่ายหนี ในขณะที่กองทัพบกซุ่มคอยทีตีขนาบ
ศึกครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ซึ่งเป็นแม่ทัพหลวงหลบหนีไปได้ พม่าแตกพ่ายไม่เป็นหมวดเป็นกอง*******


*********หน่วยลาดตระเวนระยะไกล เป็นกองทหารม้าขนาด200-500คน
ใช้ลาดตระเวณเพื่อรับข่าวจากกองสอดแนมและทำลายกองทหารพม่าขนาดเล็กที่ออกหาเสบียง
บางครั้งทหารหน่วยนี้ลาดตระเวณไปไกลถึงเชียงใหม่ กองทหารม้าลาดตระเวนระยะไกลนี้
พระองค์ส่งออกไปทั้ง4ทิศของพระนคร หากเมื่อเกิดศึกใหญ่
กองทหารม้าพวกนี้จะกลับมารวมกับทัพใหญ่เสมอ********


***********ผู้ตรวจการหน้า พระองค์จะใช้ทหารระดับพระยา เป็นอาญาศึกต่างพระเนตรพระกรรณ
เพื่อคอยรายงานสถานการณ์ของกองทัพขณะทำศึก และคอยส่งคำบังคับบัญชาของพระองค์ในกลศึกต่างๆ
ไปยัง ผบ.เหล่าทัพที่รบอยู่ผู้ตรวจการหน้านี้สามารถประหารทหารทุกคนทุกระดับได้ทันทีหากไม่ทำตามบัญชา
และผู้ตรวจการหน้านี้เองที่เป็นผู้ถวายคำแนะนำและรายงานผลการรบในแนวหน้า
เพื่อให้พระองค์วินิจฉัยและสั่งการ**********


*************กองสื่อสาร ในกองทัพของพระองค์ มีทหารม้าคอยทำหน้าที่ส่งข่าวสารและคำบังคับบัญชา
ถ่ายทอดคำสั่งของผู้ตรวจการหน้าไปยังแม่ทัพนายกองทั้งหลาย
กองทัพของพระองค์จึงมีแบบแผนในการศึกอย่างทันท่วงทีเสมอต่างจากพม่าที่ใช้สัญญาณกลอง และธงเป็นหลัก
การที่พระองค์ใช้กองสื่อสารถ่ายทอดคำสั่งไปตามลำดับชั้นนั้นทำให้พม่าไม่สามารถทราบการเคลื่อนไหว
ในการสั่งการของกองทัพพระองค์ได้ อีกทั้งเครื่องแต่งกายของทหารในกองทัพไทยสมัยของพระองค์นั้น
ไม่แบ่งสีตามหลักพิชัยสงครามเดิม พม่าไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ตรงไหนทัพหน้า ตรงไหนกองทะลวง
ตรงไหนกองดั้งกองโตมร ถือได้ว่าระบบการสื่อสารสั่งการในกองทัพพระองค์นั้นล้ำยุคอย่างน่าอัศจรรย์***********


***************หลักการสงครามของพระองค์นั้นคือ เลือกกระทำการโดยข้าศึกไม่รู้ตัว
ออกรบก่อนไม่ตั้งมั่นให้ข้าศึกเข้าตีรวมกำลังให้มากกว่าข้าศึกและ
รบเฉพาะตำบลถึงข้าศึกจะมีกำลังเป็นแสนคนแต่ก็แยกกันอยู่
พระองค์เป็นผู้นำทหารออกรบเองทุกครั้งมีความกล้าหาญและมีวินัยสูง
ใช้กองทหารพิเศษต่างๆเป็นกำลังส่วนน้อยทำการรบอย่างรวดเร็ว โดยสงวนกำลังส่วนใหญ่ไว้รักษาพระนคร
ซุ่มตีรบกวนข้าศึกอย่างรุนแรงมิให้เข้าประชิดพระนครได้โดยง่าย************


*****************ในการศึกครั้งสำคัญ คือศึกยุตถหัตถีนั้น พระองค์ทรงจัดกองทัพ
เพื่อรับข้าศึกในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ เป็นตำราศึกที่พระองค์ทรงคิดขึ้นเอง
เพื่อให้เหมาะกับสถานการณ์เพราะพระองค์ประสงค์จะใช้ความไม่รู้ของข้าศึก
เพื่อเป็นการแก้ข้อด้อยที่กองทัพไทยมีกำลังน้อยกว่า พม่ามีพลถึงสองแสนสี่หมื่นคน
พระองค์มีเพียงเจ็ดหมื่นห้าพันคนเท่านั้น ไทยต้องรบแบบหนึ่งต่อสาม


พระองค์ทรงแบ่งกองทัพเจ็ดหมื่นห้าพันคนออกเป็นห้าส่วน ห้ากองทัพ
ในแต่ละกองทัพจะมี กองหน้า กองหลัง ปีกซ้าย ปีกขวา กองหลวง ให้แต่ละกองทัพออกรับข้าศึกพร้อมกัน
แล้วให้แต่ละทัพตีตัดทัพพม่าออกเป็นห้าส่วนให้ได้ เพื่อแยกกำลังทหารข้าศึกมิให้รุมรบได้


ส่วนกองทัพหลวงของพระองค์และพระอนุชานั้นจะทรงรับมือกับกองทัพหลวงของพระมหาอุปราชาเอง
ในแต่ละทัพของพม่านั้น พระองค์ทรงทราบดีว่าใครเป็นนายทัพ พระองค์ทรงรู้ฝีมืออยู่ทุกคน
พระองค์จึงจัดแม่ทัพไทยในแต่ละทัพได้อย่างเหมาะสมเพราะทรงรู้จักฝีมือขุนทหารคู่ใจทุกคนดีว่าใครเหมาะกับใคร
เมื่อกองทัพพม่าแตกออกเป็นห้าส่วนตามแผนที่ทรงวางไว้นั้น
พระองค์ทรงยกทัพหลวงพุ่งตรงไปตามช่องที่ว่างมุ่งสู่ทัพหลวงของพระมหาอุปราชพม่าทันที
แล้วผลการรบก็ออกมาเป็นที่ประจักษ์ในฝีมือการรบบนหลังช้างของพระองค์
ที่ทรงรู้ทางพระมหาอุปราชพม่าเป็นอย่างดี
เพราะทรงคุ้นเคยกันมาก่อนเมื่อครั้งไปเป็นตัวประกันที่หงสาวดี******************


*********พระเกียรติยศจากการศึกครั้งนี้ เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว บรรดาทหารต่างชาติทั้งสองฝ่าย
ต่างจดบันทึกการศึกครั้งนี้ไว้เป็นตำราศึกแบบใหม่ เกิดการชำระพิชัยสงครามครั้งใหญ่ในหลายอาณาจักร
แบบอย่างเบญจเสนาห้าทัพนี้ ถูกนำไปใช้ในกองทัพยุคต่อมาอย่างดีเลิศ
แม้แต่พม่าเองก็ยังเปลี่ยนมาใช้รูปแบบนี้ในยุคต่อมา การจัดกำลังทหารเป็นหน่วยพิเศษ
หน่วยย่อยขนาดเล็ก เพื่อต่อตีรบกวนข้าศึกแบบพระองค์ ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในสงครามครั้งต่อมา
นับว่าพระองค์เป็นอัจฉริยะทางการทหารโดยแท้ หลักฐานทาง ปวศ.ของพม่า โปรตุเกส ฮอลันดา ญี่ปุ่น จีน มลายู
ทั้งจารึก ใบลาน ตำราโบราณ พงศาวดารต่างกล่าวถึงเบญจเสนาห้าทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
นี้อย่างกว้างขวาง ส่งผลให้กรุงศรีอยุธยาว่างศึกไปนานถึง หนึ่งร้อยแปดปี ***********
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #6 เมื่อ: 21-05-2006, 12:56 »

ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ราชการสงครามในสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญยิ่งของชาติไทย
พระองค์ได้กู้อิสรภาพของไทยจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งแรก และได้ทรงแผ่อำนาจของราชอาณาจักรไทย
อย่างกว้างใหญ่ไพศาลนับตั้งแต่ประเทศพม่าตอนใต้ทั้งหมด นั่นคือ
จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียทางด้านตะวันตกไปจนถึงฝั่งมหาสมุทรปาซิฟิคทางด้านตะวันออก
ทางด้านทิศใต้ตลอดไปถึงแหลมมลายู ทางด้านทิศเหนือก็ถึงฝั่งแม่น้ำโขงโดยตลอด
และยังรวมไปถึงรัฐไทยใหญ่บางรัฐ พระองค์ได้ทำสงครามเข้าไปในประเทศที่เป็นข้าศึกของไทยในทุกทิศทาง
จนประเทศไทยอยู่เป็นปกติสุขปราศจากศึกสงครามเป็นระยะเวลายาวนาน

            พระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ทั้งสิ้นทั้งปวงของพระองค์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและคนไทยทั้งมวล
ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ จะอยู่ในสนามรบและชนบทโดยตลอดมิได้ว่างเว้น
แม้แต่เมื่อเสด็จสวรรคตก็เสด็จสวรรคตในระหว่างเดินทัพไปปราบศัตรูของชาติไทย นับว่าพระองค์ได้ทรงสละพระองค์
เพื่อชาติบ้านเมืองโดยสิ้นเชิงสมควรที่ชาวไทยรุ่นหลังต่อมาได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์
และจดจำวีรกรรมของพระองค์ เทอดทูลไว้เหนือเกล้าฯ ไปตราบชั่วกาลนาน

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เสด็จพระราชสมภพ ณ เมืองพิษณุโลก เมื่อปีเถาะ พุทธศักราช 2098
พระองค์เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระมหาธรรมราชา และพระวิสุทธิกษัตรี ราชธิดาในสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
และสมเด็จพระศรีสุริโยทัย  ดังนั้นพระองค์จึงมีพระชาติทั้งราชวงศ์พระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยทางพระราชบิดา
และราชวงศ์อยุธยาทางพระราชมารดา  พระองค์ทรงมีพระพี่นางพระนามว่า พระสุวรรณเทวีหรือพระสุพรรณกัลยา
และพระน้องยาเธอพระนามว่า สมเด็จพระเอกาทศรถ

            เมื่อพระองค์มีพระชันษาได้ 9 ปี พระเจ้าหงสาวดีได้ขอไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรม
พระองค์ได้ประทับอยู่ที่หงสาวดีถึง 6 ปี เมื่อพระชันษาได้ 15 ปี  จึงได้เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา
เพื่อช่วยราชการพระบิดา โดยได้เสด็จขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก
ขณะทรงพระเยาว์และในระหว่างที่พระองค์ประทับอยู่ที่กรุงหงสาวดีก็ได้ทรงศึกษาวิชาศิลปศาสตร์
และวิชาพิชัยสงคราม ทรงนิยมในวิชาการรบทัพจับศึก พระองค์ทรงมีโอกาสศึกษาทั้งภายในราชสำนักไทย
และราชสำนักพม่า มอญและได้ทราบยุทธวิธีของชาติต่างๆ ที่มารวมกันอยู่ในกรุงหงสาวดีเป็นอย่างดี
ทรงนำหลักวิชามาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับเหตุการณ์และสภาพแวดล้อมได้เป็นเลิศ

ดังเห็นได้จากการสงครามทุกครั้งของพระองค์ ยุทธวิธีที่ทรงใช้เช่น การใช้คนจำนวนน้อยเอาชนะคนจำนวนมาก
และยุทธวิธีเดินเส้นในพระองค์ทรงนำมาใช้ก่อนจอมทัพที่เลื่องชื่อในยุโรป
นอกจากนั้นหลักการสงครามที่เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบันเช่น การดำรงความมุ่งหมาย หลักการรุก
การออมกำลังและการรวมกำลัง การดำเนินกลยุทธเอกภาพในการบังคับบัญชา การระวังป้องกัน การจู่โจม
หลักความง่าย ฯลฯ พระองค์ก็ทรงนำมาใช้อย่างเชี่ยวชาญและประสบผลสำเร็จอย่างงดงามมาโดยตลอด

การฉวยโอกาสซ้ำเติมไทยของเขมร
เมื่อปี พ.ศ. 2113  พระยาละแวกหรือสมเด็จพระบรมราชา กษัตริย์เขมรซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาก่อน
ตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เห็นไทยบอบซ้ำจากการทำสงครามกับพม่า
ได้ถือโอกาสยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมกรุงศรีอยุธยา โดยยกกองทัพมีกำลัง 20,000 คน เข้ามาทางเมืองนครนายก
เมื่อเข้ามาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วได้ตั้งทัพอยู่ที่ตำบลบ้านกระทุ่มแล้วเคลื่อนพลเข้าประชิดพระนคร
โดยได้เข้ามายืนช้างบัญชาการรบอยู่ในวัดสามพิหาร และวางกำลังพลรายเรียงเข้ามาถึงวัดโรงฆ้องต่อไปถึงวัดกุฎีทอง
และนำกำลังพล 5,000 คน ช้าง 30 เชือก เข้ายึดแนวหน้าวัดพระเมรุราชิการาม พร้อมกับให้ทหารลงเรือ 50 ลำ
แล่นเข้ามาปล้นพระนครตรงมุมเจ้าสนุก

            สมเด็จพระมหาธรรมราชาเสด็จออกบัญชาการรบป้องกันพระนครเป็นสามารถ
กองทัพเขมรพยายามยกพลเข้าปล้นพระนครอยู่ 3 วัน แต่ไม่สำเร็จจึงยกกองทัพกลับไป
และได้กวาดต้อนผู้คนชาวบ้านนาและนครนายกไปยังประเทศเขมรเป็นจำนวนมาก

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2117  ในขณะที่กองทัพไทยในบังคับบัญชาของสมเด็จพระธรรมราชาธิราชกับ
สมเด็จพระนเรศวรโอรส ยกกองทัพไปช่วยพระเจ้าหงสาวดีไปตีเมืองศรีสัตนาคนหุต
พระยาละแวกกษัตริย์เขมรถือโอกาสยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก โดยยกมาทางเรือ
การศึกครั้งนี้โชคดีเป็นของไทย กล่าวคือขณะที่กองทัพไทยยกไปถึงหนองบัวลำภู เมืองอุดรธานี
สมเด็จพระนเรศวรทรงประชวรเป็นไข้ทรพิษ พระเจ้าหงสาวดีโปรดให้กองทัพไทยยกกลับกรุงศรีอยุธยา

            กองทัพไทยกลับมาได้ทันเวลาที่กรุงศรีอยุธยา ถูกโจมตีจากกองทัพเรือเขมรซึ่งขึ้นมาถึงกรุงศรีอยุธยา
เมื่อเดือนอ้าย พ.ศ. 2118  และได้ตั้งทัพชุมนุมพลอยู่ที่ตำบลขนอน บางตะนาว
และลอบแฝงเข้ามาอยู่ในวัดพะแนงเชิง (พนัญเชิง) และใช้เรือ 3 ลำ เข้าทำการปล้นชาวเมืองที่ตำบลนายก่าย

            ไทยใช้ปืนใหญ่ยิงไปยังป้อมค่ายนายก่ายถูกข้าศึกล้มตายเป็นอันมาก แล้วให้ทหารเรือเอาเรือไปท้าทาย
ให้ข้าศึกออกมารบพุ่งจากนั้นก็ล่อหลอกให้ข้าศึก รุกไล่เข้ามาในพื้นที่การยิงหวังผลของปืนใหญ่
เมื่อพร้อมแล้วก็ระดมยิงปืนใหญ่ ถูกทหารเขมรแตกพ่ายกลับไป

การให้บทเรียนแก่เขมรที่ไชยบาดาล

ในปี พ.ศ. 2121  เจ้ากรุงกัมพูชากษัตริย์เขมรให้พระทศโยธากับพระสุรินทรราชา
คุมกองทัพเขมรเข้ามากวาดต้อนราษฎรชาวไทยแถบเมืองนครราชสีมา เจ้าเมืองนครราชสีมามีกำลังน้อยจึงไม่ได้ออกต่อสู้
ฝ่ายเขมรเห็นได้ทีจึงได้ยกทัพมุ่งมาทางเมืองสระบุรี หมายปล้นสะดมหาเสบียงที่เมืองสระบุรีต่อไป
สมเด็จพระนเรศวร ซึ่งปกติพระองค์จะเสด็จประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก บังเอิญในเวลานั้นได้เสด็จมาเยี่ยม
พระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา ทราบข่าวกองทัพเขมรยกล่วงล้ำเข้ามาดังกล่าว จึงพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ
ทรงจัดกำลังช้างเร็ว ม้าเร็วกับทหาร 3,000 คน ยกขึ้นไปดักทัพเขมรที่เมืองไชยบาดาลให้พระยาไชยบุรี กับพระศรีถมอรัตน์
เจ้าเมืองท่าโรง (วิเชียรบุรี) คุมทัพม้า 500 เป็นกองหน้ารีบรุดขึ้นไปก่อนและให้ซุ่มอยู่สองข้างทางในดงใหญ่
ที่กองทัพเขมรจะยกมา ฝ่ายกองทัพเขมรเห็นว่าในระหว่างเดินทัพมาไม่มีการต่อสู้ขัดขวางจากฝ่ายไทย
และเห็นว่ายังอยู่ห่างไกลจากกรุงศรีอยุธยาจึงเคลื่อนทัพมาด้วยความประมาทขาดความระมัดระวัง
คิดว่าคงไม่มีใครออกมาต่อสู้ เมื่อกองหน้าของทัพเขมรถลำเข้ามาในพื้นที่ที่ฝ่ายไทยซุ่มอยู่
พระไชยบุรีกับพระศรีถมอรัตน์ จึงให้อาณัติสัญญาณให้ทหารที่ซุ่มอยู่ออกโจมตี
โดยฝ่ายเขมรไม่ทันรู้ตัวฝ่ายไทยไล่ฆ่าฟันทหารเขมรล้มตายเป็นอันมากกองทัพเขมรก็แตกฉาน
กองทัพไทยก็ติดตามไปจนถึงทัพหลวง

            ฝ่ายพระทศโยธา และพระสุรินทราชาเห็นทัพหน้าแตกยับเยินไม่ทราบแน่ว่ากองทัพไทยมีกำลังมากน้อยเพียงใด
ก็รีบถอยหนีกลับไปทางนครราชสีมาก็ได้ถูกทัพไทยที่ดักทางคอยอยู่ก่อนแล้ว เข้าโจมตีซ้ำเติมอีกกองทัพเขมรทั้งหมด
จึงรีบถอยหนีกลับไปกรุงกัมพูชา
            การรบครั้งนี้ทำให้สมเด็จพระนเรศวรเป็นที่เคารพยำเกรงแก่บรรดาแม่ทัพนายกองและบรรดาทหารทั้งปวงเป็นที่ยิ่ง
กิตติศัพท์อันนี้เป็นที่เลื่องลือไปถึงกรุงหงสาวดีและผลจากการรบครั้งนี้ทำให้เขมรไม่กล้าลอบมาโจมตีไทยถึงพระนครอีกเลย

การเสริมความแข็งแกร่ง

การที่เขมรลอบเข้ามาซ้ำเติมไทยหลายครั้งในห้วงเวลาที่ไทยเสียแก่พม่านั้น นับว่าเป็นคุณแก่ไทยในทางอ้อม
เพราะทำให้ราษฎรที่กระจัดกระจายอยู่ในที่ต่างๆ ครั้งเสียกรุงแก่พม่าให้หนีภัยเขมรกลับเข้ามาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
ทำให้ฝ่ายไทยมีกำลังขึ้น นอกจากนั้นก็เป็นโอกาสที่ฝ่ายไทยคิดอ่านจัดการป้องกันพระนครให้แข็งแกร่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยที่ไม่ต้องเกรงว่าทางพม่าจะระแวงสงสัย

            การดำเนินเสริมสร้างความมั่นคงดังกล่าวได้แก่การเสริมการป้องกันพระนครทางด้านตะวันออกซึ่งเป็นด้านที่ข้าศึก
เคยตีฝ่าเข้าพระนครมาได้ในสงครามที่ผ่านมาโดยให้ขุดขยายคลองขื่อหน้าคูพระนครตั้งแต่วัดแม่นางปลื้ม
ตรงที่ต่อปากคลองเมืองทุกวันนี้ลงไปจนปากข้าวสารให้ลึกและกว้างกว่าเดิมและผลจากการขุดคลองขื่อหน้านี้
ได้ให้กำแพงพระนครด้านทิศตะวันออก ขยายลงไปถึงริมแม่น้ำให้เหมือนกับกำแพงเมืองด้านอื่น
จากนั้นได้ให้สร้างป้อมใหญ่ขึ้นอีกป้อมหนึ่งที่มุมพระนครด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า ป้อมมหาชัย
ซึ่งอยู่ตรงตลาดหัวรอในปัจจุบัน

            ป้อมตามแนวกรุงเก่าซึ่งมีอยู่ 16 ป้อมด้วยกันนั้น มีป้อมสำคัญอยู่ 3 ป้อมคือ
ป้อมเพชร ตั้งอยู่ตรงลำแม่น้ำใช้รักษาพระนครทางด้านทิศใต้ ป้อมซัดกบ ตั้งอยู่ตรงลำแม่น้ำแควหัวตะพาน
ใช้รักษาพระนครทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทั้งสองป้อมนี้มีอยู่เดิมตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
ส่วนป้อมมหาชัยนั้นสร้างขึ้นใหม่ อยู่ตรงทางน้ำร่วมที่มุมเมืองด้านตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อใช้รักษาพระนครทางด้านนี้
            นอกจากการสร้างเสริมคูเมืองกำแพงเมืองและบรรดาป้อมปราการทั้งหลายแล้วก็ได้มีการรวบรวมกำลังพล
ช้าง ม้าพาหนะและจัดหาเครื่องศัตราวุธมีปืนใหญ่เป็นต้นมาเพิ่มเติมโดยจัดหาจากต่างประเทศที่เข้ามาค้าขายทางทะเลอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #7 เมื่อ: 21-05-2006, 12:57 »

การรบที่เมืองคัง

เมื่อปี พ.ศ. 2124  พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคต ราชโอรสองค์ใหญ่พระนามมังไชยสิงห์ซึ่งเป็นรัชทายาท
และดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ได้ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า พระเจ้านันทบุเรง พระเจ้านันทบุเรงได้ตั้งมังกะยอชะวา
พระราชโอรสขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา
เมื่อกษัตริย์องค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ก็จะต้องมีฎีกาบอกกล่าวไปยังบรรดาประเทศราชทั้งหลายให้มาเฝ้าตามพระราชประเพณี
ในครั้งนั้นก็มีพระเจ้าตองอู ผู้เป็นพระอนุชาพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้าแปรเป็นราชบุตรพระเจ้าบุเรงนอง
แต่คนละแม่กับพระเจ้านันทบุเรง พระเจ้าอังวะผู้เป็นราชบุตรเขยพระเจ้าบุเรงนอง
พระเจ้าเชียงใหม่ พระเจ้ามินปะลอง ผู้ครองเมืองยะไข่ พระเจ้าหน่อเมือง ผู้ครองเมืองลานช้าง
และสมเด็จพระมหาธรรมราชา ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาซึ่งทางกรุงศรีอยุธยา
สมเด็จพระมหาธรรมราชาได้ส่งพระโอรสพระองค์ใหญ่คือ สมเด็จพระนเรศวร เสด็จไปแทนพระองค์

            ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มีเจ้าเมืองคังไม่ได้มาเข้าเฝ้าตามประเพณี พระเจ้านันทบุเรงเห็นว่าเจ้าเมืองคังแข็งเมือง
จำต้องยกทัพไปปราบปรามเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป ในโอกาสที่เจ้าประเทศราชมาชุมนุมกันอยู่นี้
จึงให้โอรสของพระองค์และโอรสเจ้าประเทศราชที่มีฝีมือ ยกกำลังไปปราบปรามเมืองคังแทนพระองค์
ดังนั้นจึงได้จัดให้พระมหาอุปราชา (มังกะยอชะวา หรือ มังสามเกลียด) พระสังกทัต (นัดจินน่อง) ราชบุตรพระเจ้าตองอู
และสมเด็จพระนเรศวร  ยกทัพไปตีเมืองคังเป็นทำนองประชันฝีมือกัน

            เมืองคังเป็นเป็นที่ตั้งอยู่บนภูเขาเป็นเมืองเล็กพื้นที่น้อย การที่กองทัพทั้ง 3 จะเข้าตีพร้อมกันเป็นการลำบาก
เพราะไม่มีพื้นที่ให้ดำเนินกลยุทธได้เพียงพอจึงตกลงกันให้ผลัดกันเข้าตีวันละกองทัพ พระมหาอุปราชาได้รับเกียรติให้เข้าตีก่อน
เมื่อถึงวันกำหนด พระมหาอุปราชาก็ยกกำลังเข้าตีเมืองคังในเวลากลางคืน ชาวเมืองคังได้ต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ
รบกันจนรุ่งสว่างก็ไม่สามารถตีหักเอาเมืองได้ จึงต้องถอนกำลังกลับลงมา วันต่อมาพระสังกทัตได้ยกกำลังเข้าตีเมืองคัง
แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน

            เมื่อถึงวาระของสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ได้มีการเตรียมการเป็นอย่างดีโดยที่ในระหว่างสองวันแรก
ที่กองทัพทั้งสองผลัดกันเข้ามาโจมตรีนั้น พระองค์ได้ใช้เวลาดังกล่าวออกลาดตะเวณตรวจดูภูมิประเทศ
และเส้นทางบริเวณเมืองคังโดยตลอดก็พบว่ามีทางที่จะขึ้นไปยังเมืองคังทางด้านอื่นได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากเส้นทางหลักที่กองทัพทั้งสองใช้เข้าตีแต่เส้นทางดังกล่าวนั้นเป็นเส้นทางลับและคับแคบเคลื่อนกำลังไม่สะดวก
ดังนั้นพระองค์จึงแบ่งกำลังออกเป็นสองส่วน เมื่อถึงเวลาค่ำก็ให้กองทหารกองเล็กซุ่มอยู่ทางด้านหน้า
ซึ่งเป็นทางหลักที่พระมหาอุปราชาและพระสังกทัตใช้เป็นเส้นทางเข้าตีมาก่อนแล้วและให้กองทหารกองใหญ่
ไปวางกำลังอยู่ที่เส้นทางที่ตรวจพบใหม่ กองทัพไทยทั้งสองกองซุ่มอยู่ตลอดคืนจนถึงเวลาสี่นาฬิกา
พระองค์จึงให้กองทหารกองเล็ก ยิงปืนโห่ร้องแสดงอาการว่าจะเข้าตีเมืองทางด้านนั้น ชาวเมืองคังเข้าใจว่า
ข้าศึกจะยกเข้าตีหักเอาเมืองทางด้านนั้น เหมือนเช่นครั้งก่อนและด้วยเป็นเวลามืดมองไม่เห็นข้าศึกว่ามีมากน้อยเพียงใด
ก็พากันมารบพุ่งต้านทางในด้านนั้น เมื่อพระองค์ทรงเห็นว่า การต้านทานเมืองคังได้ทุ่มเทไปทางด้านนั้นหมดแล้ว
ก็สั่งให้กองกำลังส่วนใหญ่ที่ซุ่มคอยอยู่ที่เส้นทางใหม่เข้าตีหักเอาเมืองคังได้เมื่อเวลาเช้าจับได้ตัวเจ้าฟ้าเมืองคัง
มาถวายพระเจ้าหงสาวดี
            พระเจ้าหงสาวดีหมายมั่นที่จะให้การเข้าตีเมืองคังเป็นผลงานของพระมหาอุปราชา
แต่ผลงานกลับเป็นของสมเด็จพระนเรศวร ผลสำเร็จในการปฎิบัติการยุทธของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้
เพราะพระปรีชาสามารถที่ทรงใช้หลักการสงครามมาประยุกต์ใช้ในการปฎิบัติจริงอย่างได้ผล
เมื่อพระองค์เสด็จกลับมากรุงศรีอยุธยาแล้วก็ได้ทรงปรับปรุงกองทัพและเตรียมการณ์ต่างๆไว้พร้อม
ที่จะรับสถานการณ์ในอนาคตโดยมิได้ประมาท

การประกาศอิสรภาพ

เมื่อปี พ.ศ. 2126  พระเจ้าอังวะเป็นกบฎ  เนื่องจากไม่พอใจทางกรุงหงสาวดีอยู่หลายประการจึงแข็งเมือง
พร้อมกับเกลี้ยกล่อมเจ้าไทยใหญ่อีกหลายเมืองให้แข็งเมืองด้วย พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจึงยกทัพหลวงไปปราบ
ในการณ์นี้ได้สั่งให้เจ้าเมืองแปร เจ้าเมืองตองอู และเจ้าเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งทางกรุงศรีอยุธยาด้วยให้ยกทัพไปช่วย
ทางไทย สมเด็จพระมหาธรรมราชาโปรดให้สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปแทน สมเด็จพระนเรศวรยกทัพออกจากเมืองพิษณุโลก
เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 3 ปีมะแม พ.ศ. 2126  พระองค์ยกทัพไทยไปช้าๆ เพื่อให้การปราบปรามเจ้าอังวะเสร็จสิ้นไปก่อน
ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงแคลงใจว่าทางไทยคงจะถูกพระเจ้าอังวะชักชวนให้เข้าด้วยจึงสั่งให้พระมหาอุปราชา
คุมทัพรักษากรุงหงสาวดีไว้ ถ้าทัพไทยยกมาถึงก็ให้ต้อนรับและหาทางกำจัดเสีย และพระองค์ได้สั่งให้พระยามอญสองคนคือ
พระยาเกียรติและพระยาราม ซึ่งมีสมัครพรรคพวกอยู่ที่เมืองแครงมากและทำนองจะเป็นผู้คุ้นเคยกับสมเด็จพระนเรศวรมาแต่ก่อน
ลงมาคอยต้อนรับทัพไทยที่เมืองแครง อันเป็นชายแดนติดต่อกับไทย พระมหาอุปราชาได้ตรัสสั่งเป็นความลับว่า
เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพขึ้นไป ถ้าพระมหาอุปราชายกเข้าตีด้านหน้าเมื่อใดให้พระยาเกียรติและพระยาราม
คุมกำลังเข้าตีกระหนาบทางด้านหลังช่วยกันกำจัดสมเด็จพระนเรศวรเสียให้จงได้ พระยาเกียรติกับพระยาราม เมื่อไปถึงเมืองแครงแล้ว
ได้ขยายความลับนี้แก่พระมหาเถรคันฉ่อง ผู้เป็นอาจารย์ของตนทุกคนไม่มีใครเห็นดีด้วยกับแผนการของพระเจ้ากรุงหงสาวดี
เพราะมหาเถรคันฉ่องกับสมเด็จพระนเรศวร เคยรู้จักชอบพอกันมาก่อน

            กองทัพไทยยกมาถึงเมืองแครง เมื่อวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 6 ปีวอก พ.ศ. 2127 โดยใช้เวลาเดินทัพเกือบสองเดือน
กองทัพไทยตั้งทัพอยู่นอกเมือง เจ้าเมืองแครงพร้อมทั้งพระยาเกียรติกับพระยารามได้มาเฝ้าฯ  สมเด็จพระนเรศวร
จากนั้นสมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จไปเยี่ยมพระมหาเถรคันฉ่อง ซึ่งคุ้นเคยกันดีมาก่อน พระมหาเถรคันฉ่องมีใจสงสาร
จึงกราบทูลถึงเรื่องการคิดร้ายของทางกรุงหงสาวดี แล้วให้พระยาเกียรติกับพระยาราม กราบทูลให้ทราบตามความเป็นจริง
เมื่อพระองค์ได้ทราบความโดยตลอดแล้วก็ทรงมีพระดำริเห็นว่า การเป็นอริราชศัตรูกับกรุงหงสาวดีนั้น
ถึงกาลเวลาที่จะต้องเปิดเผยต่อไปแล้วจึงได้มีรับสั่งให้เรียกประชุมแม่ทัพนายกอง กรมการเมือง เจ้าเมืองแครง
รวมทั้งพระยาเกียรติพระยาราม และทหารมอญมาประชุมพร้อมกัน แล้วนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่องและพระสงฆ์มาเป็นสักขีพยาน
ทรงแจ้งเรื่องให้คนทั้งปวงที่มาชุมนุม ณ ที่นั้นทราบว่า พระเจ้าหงสาวดีคิดประทุษร้ายต่อพระองค์ จากนั้นพระองค์ได้ทรงหลั่งน้ำลงสู่แผ่นดิน
ด้วยสุวรรณภิงคาร (พระน้ำเต้าทองคำ) ประกาศแก่เทพยดาฟ้าดินว่า

"ด้วยพระเจ้าหงสาวดี มิได้อยู่ในครองสุจริตมิตรภาพขัตติยราชประเพณี เสียสามัคคีรสธรรม ประพฤติพาลทุจริต คิดจะทำอันตรายแก่เรา
ตั้งแต่นี้ไป กรุงศรีอยุธยาขาดไมตรีกับกรุงหงสาวดี มิได้เป็นมิตรร่วมสุวรรณปฐพีเดียวกันดุจดังแต่ก่อนสืบไป"


            จากนั้นพระองค์ได้ตรัสถามชาวเมืองแครงว่าจะเข้าข้างฝ่ายใด พวกมอญทั้งปวงต่างเข้ากับฝ่ายไทย
สมเด็จพระนเรศวรจึงให้จับเจ้าเมืองกรมการพม่า แล้วเอาเมืองแครงเป็นที่ตั้งประชุมทัพ เมื่อจัดกองทัพเสร็จก็ทรงยกทัพจากเมืองแครง
ไปยังเมืองหงสาวดี  เมื่อวันแรม 3 ค่ำ เดือน 6
            ฝ่ายพระมหาอุปราชาที่อยู่รักษาเมืองหงสาวดี  เมื่อทราบว่าพระยาเกียรติ พระยารามกลับไปเข้ากับสมเด็จพระนเรศวร
จึงได้แต่รักษาพระนครมั่นอยู่  สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปใกล้ถึงเมืองหงสาวดี ได้ทราบความว่า
พระเจ้ากรุงหงสาวดีมัชัยชนะได้เมืองอังวะแล้ว กำลังจะยกทัพกลับคืนพระนคร พระองค์เห็นว่าสถานการณ์ครั้งนี้ไม่สมคะเน
เห็นว่าจะตีเอาเมืองหงสาวดีในครั้งนี้ยังไม่ได้จึงให้กองทัพแยกย้ายกันเที่ยวบอกพวกครัวไทยที่พม่ากวาดต้อนไปแต่ก่อน
ให้อพยพกลับบ้านเมืองได้ผู้คนมาประมาณหมื่นเศษให้ยกล่วงหน้าไปก่อน พระองค์ทรงคุมกองทัพยกตามมาข้างหลัง

ฝ่ายพระมหาอุปราชาทราบข่าวว่า สมเด็จพระนเรศวรกวาดต้อนคนไทยกลับจึงได้ให้สุรกรรมาเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง
ยกติดตามกองทัพไทยมา กองหน้าของพม่าตามมาทันที่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ในขณะที่ฝ่ายไทยได้ข้ามแม่น้ำไปแล้ว
และคอยป้องกันมิให้ข้าศึกข้ามตามมาได้ ได้มีการต่อสู้กันที่ริมฝั่งแม่น้ำ สมเด็จพระนเรศวรทรงใช้พระแสงปืนนกสับยาวเก้าคืบ
ยิงถูกสุรกรรมา แม่ทัพหน้าพม่าตายบนคอช้าง กองทัพของพม่าเห็นแม่ทัพตายก็พากันเลิกทัพกลับไป
เมื่อพระมหาอุปราชาแม่ทัพหลวงทรงทราบ จึงให้เลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี

พระแสงปืนที่ใช้ยิงสุรกรรมาตายบนคอช้างนี้ได้นามปรากฎต่อมาว่า "พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง"
นับเป็นพระแสงอัษฎาวุธอันเป็นเครื่องราชูปโภค ยังปรากฎอยู่จนถึงทุกวันนี้


            เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงเมืองแครง ทรงดำริว่าพระมหาเถรคันฉ่องกับพระยาเกียรติพระยาราม
ได้มีอุปการะมากสมควรได้รับการตอบแทนให้สมแก่ความชอบจึงทรงชักชวนให้มาอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
พระมหาเถรคันฉ่องกับพระยามอญทั้งสองก็มีความยินดี พาพรรคพวกสเด็จเข้ามาด้วยเป็นอันมาก
ในการยกกำลังกลับครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเกรงว่า ข้าศึกอาจยกทัพตามมาอีก
ถ้าเสด็จกลับทางด่านแม่ละเมา มีกองทัพของนันทสูราชสังครำตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรจะเป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง
พระองค์จึงรีบสั่งให้พระยาเกียรติ พระยาราม นำทัพเดินผ่านหัวเมืองมอญลงมาทางใต้มาเข้าทางด่านเจดีย์สามองค์

            เมื่อกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว สมเด็จพระมหาธรรมราชาก็พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่พวกมอญที่สวามิภักดิ์
ทรงตั้งพระมาหาเถรคันฉ่องเป็นพระสังฆราชา ที่สมเด็จอริยวงศ์ และให้พระยาเกียรติ พระยารามมีตำแหน่งยศได้พระราชทานพานทอง
ควบคุมมอญที่เข้ามาด้วยให้ตั้งบ้านเรือนที่ริมวัดขมิ้นและวัดขุนแสนใกล้วังจันทร์ของสมเด็จพระนเรศวร
แล้วทรงมอบการทั้งปวงที่จะตระเตรียมต่อสู้ข้าศึกให้สมเด็จพระนเรศวรทรงบังคับบัญชาสิทธิขาดแต่นั้นมา

การเสริมความมั่นคง

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพแล้ว งานขั้นต่อไปของพระองค์คือ การปราบปรามศัตรูของไทยที่อยู่ทางภาคเหนือ
พระองค์จึงเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองพิษณุโลก บรรดาพวกไทยใหญ่ได้เข้ามาพึ่งพระบารมีเป็นจำนวนมาก
พม่าได้ส่งนันทสูราชสังครำ ซึ่งมีกำลังกองทัพมาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรอยู่ก่อนแล้ว ถือสาส์นมาขอตัวพวกไทยใหญ่ดังกล่าวคืน
แต่พระองค์ได้ปฏิเสธไปด้วยเหตุผลว่า
"ธรรมดาพระมหากษัตริย์ประเทศอิสระ  เมื่อชาวต่างชาติต่างภาษาหนีร้อนมาพึ่งเย็นต้องรับไว้ไม่มีเยี่ยงอย่างที่ไหนที่จะต้องส่งตัวคืน"
            พระองค์ได้สั่งให้พระไชยบุรีกับพระศรีถมอรัตน์ซึ่งเคยรบชนะเขมรมาด้วยกันที่ไชยบาดาลเป็นแม่ทัพหน้ายกกำลังไปกำแพงเพชร
แต่ยังไม่ทันถึง นันทสูราชสังครำทราบเรื่องก็เกรงกลัวรีบถอนทัพกลับกรุงหงสาวดี โดยที่ยังไม่ได้มีการปะทะกันรุนแรง
คงมีแต่เพียงประปรายเท่านั้น

            ฝ่ายเจ้าผู้ครองเมืองฝ่ายเหนือ เช่น พระยาสวรรคโลกและพระยาพิชัย (อุตรดิตถ์) ยังมีความเกรงกลัวพม่าอยู่
เห็นว่าทางสมเด็จพระนเรศวรยังมีกำลังรี้พลน้อย เกรงว่าจะสู้พม่าไม่ได้จึงคิดเอาตัวรอดไม่ยอมยกไปรบกับนันทสูราชสังครำตามคำสั่งเกณฑ์
เมื่อพระยาทั้งสองได้รับสั่งแล้วก็คิดการกบฎ โดยเกณฑ์ไพร่พลเมืองสวรรคโลกและเมืองพิชัยตลอดจนชาวเมืองอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง
ไปรวมกำลังตั้งมั่นแข็งเมืองอยู่ที่เมืองสวรรคโลก  คอยท่าทัพพม่าหรือทัพเชียงใหม่ยกลงมาช่วย

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงทราบจึงให้กองทัพไทยที่ยกติดตามนันทสูราชสังครำซึ่งอยู่ที่เมืองตาก ให้เลิกติดตามตีพม่า
และให้ยกมาทางบ้านด่านลานหอย เมื่อมาถึงเมืองสุโขทัยก็ให้ตั้งทัพอยู่ข้างวัดศรีชุม พระองค์มีพระราชดำริว่า
คนไทยยังไม่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันและยังมีความเกรงกลัวพม่าอยู่มาก พระองค์จึงคิดที่จะดำเนินการปลุกปลอบและปลูกฝังจิตใจ
ให้คนไทยฮึกเหิมเลิกกลัวพม่าจึงได้มีรับสั่งตั้งพิธี  "ศรีสัจปานการ"  ขึ้นพิธีนั้นมีโดยย่อคือ ตักน้ำตระพังโพยศรี ซึ่งนับถือกันว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์
ครั้งสมเด็จพระร่วง มาทำพิพัฒน์สัตยา ให้นายทัพนายกองตลอดจนไพร่พล ถือน้ำทำสัตย์สัญญาว่า
จะต่อสู้ข้าศึก กู้บ้านเมืองไทยให้ได้เป็นอิสรภาพให้จงได้จากนั้นจึงได้ยกทัพไปล้อมเมืองสวรรค์โลกไว้
บอกให้พระยาทั้งสองออกมาสารภาพผิดเสียโดยดีจะทรงพระกรุณายกโทษให้แต่พระยาทั้งสองไม่เชื่อฟัง
พระองค์จึงสั่งให้กองทัพเข้าตีเมืองอยู่สามยกจึงเข้าเมืองได้ ยกแรกให้กองทัพเข้าตีเมืองทางด้านเหนือและด้านตะวันตกพร้อมกัน
เพื่อจะเข้าทางประตูสามเกิด ประตูเตาหม้อและประตูสพานจันทรแต่เข้าไม่ได้ เนื่องจากเชิงเทินกำแพงเมืองนี้ได้
สร้างไว้อย่างดีตั้งแต่ครั้งสมัยพ่อขุนรามคำแห่งมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ยกที่สอง ได้ให้พระยาไชยบุรี หลวงธรรมไตรโลก ขุนราชวรินทร
ขุนอินทรเดช คุมพลเข้าปล้นเมืองทางประตูดอนแหลม แต่ไม่เป็นผลดังนั้น พระองค์จึงให้ปลูกเชิงเทินให้สูงเท่ากำแพงเมือง
แล้วนำปืนใหญ่ขึ้นตั้งบนเชิงเทินยิงเข้าไปในเมืองจนพวกที่ต่อสู้ป้องกันเมืองเกิดระส่ำระสายจากนั้นจึงให้เผาประตูเมืองด้านใต้พังทลายลง
จึงยกกำลังเข้าเมืองได้จับตัวพระยาทั้งสองไว้แล้วให้ประหารชีวิตเสียทั้งสองคน

            พระองค์ทรงประมาณสถานการเห็นว่า กองทัพพม่าจะต้องยกเข้ามาตีเมืองไทยในระยะต่อไปทางฝ่ายไทยจะต้องเตรียมรับมือพม่า
นับแต่บัดนั้น พระองค์จึงได้ให้อพยพผู้คนเมืองเหนือทั้งปวงมารวมกันเพื่อต่อสู้พม่า โดยรวมกำลังไว้ที่กรุงศรีอยุธยา
เพื่อใช้เป็นที่มั่นต่อสู้ข้าศึกแต่เพียงแห่งเดียวให้มีกำลังเป็นปึกแผ่น เนื่องจากขณะนั้นไทยยังอยู่ในสภาพที่บอบช้ำ
พม่ากวาดต้อนผู้คนพลเมืองไปมากกำลังไพร่พลมีน้อยทั้งบรรดาเมืองเหนือและตัวเมืองหลวงเอง
ทำให้ไทยไม่สามารถจะรักษาดินแดนอันกว้างใหญ่ได้อย่างทั่วถึง กำลังในการป้องกันก็กระจายกันออกไป เกิดความอ่อนแอไปทั่วทุกแห่ง
ด้วยแนวทางดังกล่าวจึงต้องปล่อยให้เมืองเหนือไว้ร้างชั่วคราว

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #8 เมื่อ: 21-05-2006, 12:57 »

สงครามไทย-พม่า ครั้งที่ 6

เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเห็นว่าไทยแข็งเมืองแต่คงยังไม่พร้อมที่จะทำสงครามได้จึงจัดให้พระยาพสิม ผู้เป็นพระเจ้าอาว์
ยกกองทัพมีกำลังประมาณสามหมื่นคนเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ในขณะเดียวกันก็ให้พระเจ้าเชียงใหม่ ผู้เป็นอนุชา
ยกทัพมีกำลังประมาณหนึ่งแสนคนยกมาทางเรือให้ทั้งสองกองทัพมาสมทบกันที่กรุงศรีอยุธยาแล้วจึงเข้าตีกรุงศรีอยุธยาพร้อมกัน

            พระนเรศวรทรงทราบว่าข้าศึกยกเข้ามาสองทางจึงได้จัดพลอาสาหัวเมืองฝ่ายเหนือเป็นกองทัพให้พระยาสุโขทัยเป็นนายทัพ
มีกำลังพลหมื่นเศษเป็นกำลังทางบก พร้อมกับให้จัดกำลังทางเรือให้พระยาจักรีเป็นนายทัพมีพระยาพระคลังเป็นยกกระบัตร
ให้กองทัพทั้งสองนี้เตรียมไว้สำหรับจะให้ไปรบพุ่งขัดขวางข้าศึกถึงที่อื่นได้โดยเร็วและให้ขนย้ายเสบียงอาหารให้ห่างข้าศึก
ที่จะยกมาทั้งสองทางแล้วกวาดต้นผู้คนเข้ามาไว้ในเมืองเตรียมป้องกันกรุงศรีอยุธยาอย่างเข้มเข็งแน่นหนา

            เนื่องจากกองข้าศึกเข้ามาไม่พร้อมกันในเดือนอ้าย กองทัพพระยาพสิมยกเข้ามาในแดนไทยทางเมืองกาญจนบุรีแต่ทัพเดียว
สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นโอกาสได้ดีจึงมีรับสั่งให้พระยาจักรี ยกกำลังทางเรือออกไปสกัดทัพข้าศึกที่ด่านสุพรรณบุรี
กองทัพพระยาพสิมยกมาหมายจะยึดเอาเมืองสุพรรณเห็นที่มั่น ถูกกองทัพพระยาจักรีจู่โจมโดยใช้ปืนใหญ่ระดมยิง
จนต้องถอยทัพไปตั้งอยู่บนดอนที่เขาพระยาแมน คอยฟังข่าวกองทัพเชียงใหม่ ครั้งถึงวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่
สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ  ยกกำลังทางเรือจากกรุงศรีอยุธยาไปทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิฟันไม้ข่มนามที่ตำบลลุมพลี
แล้วเสร็จไปประทับที่ป่าโมก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ใช้เป็นที่ประชุมแล้วให้พระยาสุโขทัย คุมทัพบกเมืองเหนือเป็นกองหน้า
ยกกำลังไปช่วยพระยาจักรี เข้าตีทัพพระยาพสิม พระองค์เสด็จเป็นทัพหลวง ไปตั้งอยู่ที่ตำบลสามขนอน แขวงเมืองสุพรรณบุรี
กองทัพพระยาสุโขทัยได้รบพุ่งกับกองทัพหน้าของพระยาพสิม จนแตกพ่ายถอยออกไปพ้นเขตกาญจนบุรีและถอยกลับไปพม่าในที่สุด
ฝ่ายไทยจับ ช้าง ม้าของข้าศึกมาได้เป็นจำนวนมาก

            ส่วนกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่ยกมาทางเหนือนั้น ได้ยกลงมาถึงปากน้ำโพหลังจากที่กองทัพพระยาพสิมแตกไปได้ประมาณ 15 วัน
เมื่อเห็นว่าไม่มีการต่อต้านจากฝ่ายไทยจึงได้ยกทัพล่วงลงมาถึงปากน้ำบางพุทรา แขวงเมืองพรหมบุรี
โดยที่ไม่ทราบว่ากองทัพพระยาพสิมแตกไปแล้ว
            ฝ่ายไทย เมื่อโจมตีกองทัพพระยาพสิมแตกกลับไปแล้ว สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถได้ทรงยกทัพหลวง
ขึ้นไปตั้งอยู่ที่บ้านชะไว แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ แล้วให้พระราชมนูเป็นนายทัพ ขุนรามเดชะเป็นยกกระบัตร คุมกองกำลังขนาดเล็ก
ประกอบด้วยทหารราบ 3,000 ยกขึ้นไปขัดขวางการปฏิบัติการของกองทัพเชียงใหม่ โดยจัดกองโจรออกทำลายข้าศึก
ที่เที่ยวลาดตระเวณหาเสบียงอาหารและปฏิบัติการแบบกองโจร รบกวนขัดขวางข้าศึกอยู่ตลอดเวลา
จนกองทัพเชียงใหม่ต้องถอยกลับไปที่เมืองชัยนาท ต่อมาเมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ทราบข่าวว่า กองทัพพระยาพสิมแตกกลับไปแล้ว
เห็นจะทำการต่อไปไม่สำเร็จจึงถอยทัพกลับไป

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm

สงครามไทย-พม่า ครั้งที่ 7 การรบที่บ้านสระเกศ

เมื่อพระยาพสิมกับพระเจ้าเชียงใหม่เสียทีแก่ไทยถอยทัพกลับไปแล้ว พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงขัดเคืองพระเจ้าเชียงใหม่ว่า
เฉื่อยช้าทำการไม่ทันกำหนดตามแผนการรบที่วางไว้ทำให้พระยาพสิมเสียทีจึงได้ให้ข้าหลวงสามคนเข้ามากำกับกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่
ซึ่งถอยทัพไปตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชรให้ทำการแก้ตัวใหม่ จึงได้ยกทัพลงมาตั้งอยู่ที่เมืองนครสวรรค์ เมื่อเดือน 4 ปีวอก พ.ศ. 2128
พร้อมกันนั้นก็ได้ให้พระมหาอุปราชา คุมกองทัพมีกำลังพล 50,000 คน เข้ามาตั้งอยู่ที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อเดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2128
ให้ไพร่พลทำนาอยู่ในท้องที่หัวเมืองเหนือ เพื่อเตรียมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพใหญ่
ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงจะเสด็จยกมาเอง ในฤดูแล้งปลายปีระกา

            พระเจ้าเชียงใหม่ได้รับมอบหมายให้ลงมาขัดตาทัพอยู่ที่เมืองชัยนาท เพื่อคอยขัดขวางมิให้กองทัพกรุงศรีอยุธยา
ยกขึ้นไปขัดขวางการสะสมเสบียงอาหารของกองทัพกรุงหงสาวดีในหัวเมืองภาคเหนือ กองกำลังของพระเจ้าเชียงใหม่
ได้ยกลงมาถึงบ้านสระเกศแขวงเมืองวิเศษชัยชาญ คอยรบกวนไม่ให้ฝ่ายไทยทำไร่ทำนาได้ในปีนั้นให้เจ้าเมืองพะเยาคุมกองทหารม้า
ลงมาเผาบ้านเรือนราษฎร และไล่จับผู้คนจนถึงสะพานเผาข้าวใกล้พระนคร

            ฝ่ายไทย เมื่อทราบข่าวข้าศึกยกลงมาทางเหนือ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า ข้าศึกยกลงมาครั้งนี้เป็นทัพใหญ่มีกำลังพลมากนัก
การออกไปสะกัดกั้นกลางทางจะทำได้ยาก จึงได้กวาดต้อนผู้คนเข้ามาไว้ในกรุงศรีอยุธยา เตรียมการรักษาพระนครไว้ให้เข้มแข็ง
เมื่อพระองค์ทราบการกระทำของข้าศึกดังกล่าว จึงเสด็จคุมกำลังออกไปพร้อมกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เข้ารบพุ่งข้าศึกถึงขั้นตลุมบอน
เจ้าเมืองพระเยาตายในที่รบ ไพร่พลที่เหลือก็พากันแตกหนีไป พระองค์ทรงพระดำริเห็นว่า จะต้องตีกองทัพพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ
ให้แตกกลับไป จึงทรงรวบรวมรี้พลจัดกองทัพบกทัพเรือมีกำลังพล 80,000 คน ไปตั้งประชุมพลที่ทุ่งลุมพลี ในห้วงเวลานั้นได้ข่าวลงมาว่า
มีกองกำลังเมืองเชียงใหม่ ยกมากวาดต้อนผู้คนจนถึงบ้านป่าโมก พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็รีบเสด็จไปด้วยกระบวนเรือเร็ว
ถึงตำบลป่าโมกน้อย ก็พบกองทัพสะเรนันทสู ซึ่งพระเจ้าเชียงใหม่ให้คุมพล 5,000 ยกลงมาทำร้ายราษฎรทางเมืองวิเศษชัยชาญ
จึงรับสั่งให้เทียบเรือเข้าข้างฝั่ง แล้วยกพลเข้าโจมตีข้าศึก พระองค์ทรงยิงพระแสงปืนถูกนายทัพฝ่ายเชียงใหม่ตาย ข้าศึกก็แตกหนีไปทางเหนือ
พวกพลอาสาก็ติดตามขึ้นไป จนปะทะหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งมีพระยาเชียงแสนเป็นแม่ทัพ  ฝ่ายไทย เมื่อเห็นว่าฝ่ายข้าศึกมีกำลังมากกว่า
ต้านทานไม่ไหวจึงล่าถอยลงมา พวกเชียงใหม่ก็ไล่ติดตามมา พระองค์จึงให้เลื่อนเรือพระที่นั่ง พร้อมทั้งเรือที่อยู่ในกระบวนเสด็จ
ขึ้นไปรายลำอยู่ข้างเหนือปากคลองป่าโมกน้อย พอข้าศึกไล่ตามกองอาสามาถึงที่นั้น ก็ให้เอาปืนใหญ่น้อยระดมยิงข้าศึกไปจากเรือ
ได้มีการรบพุ่งกันในระยะประชิด พอกองทัพทางบกจากกรุงตามขึ้นไปทันจึงเข้าช่วยรบพุ่ง กองทัพพระยาเชียงแสนก็ถอยหนีขึ้นไปทางเหนือ
พระองค์จึงทรงให้รวบรวมกองทัพทั้งปวงไว้ที่ตำบลป่าโมกที่บริเวณหลังตลาดป่าโมก ตรงข้ามกับอำเภอป่าโมกในปัจจุบัน
มีทุ่งใหญ่อยู่ทุ่งหนึ่งเรียกว่า ทุ่งเอกราช คงจะได้ชื่อจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น

            ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตั้งอยู่ที่บ้านสระเกศเห็นกองทัพหน้าแตกกลับมาก็คาดว่าสมเด็จพระนเรศวรคงจะยกกองทัพตามขึ้นไป
จึงปรึกษาแม่ทัพนายกองทั้งปวงเห็นว่า ควรจะยกกำลังเป็นกองทัพใหญ่ชิงเข้าตีกองทัพไทยเสียก่อนจึงได้จัดแจงทัพให้พระยาเชียงแสนกับ
สะเรนันทสู เป็นทัพหน้าคุมกำลัง 15,000  กองทัพหลวง ของพระเจ้าเชียงใหม่มีกำลัง 60,000 คน
กำหนดจะยกลงมาในวันแรม 2 ค่ำ เดือน 5 ปีระกา พ.ศ. 2128

            สมเด็จพระนเรศวรทรงพระดำริว่า กองทัพพระยาเชียงแสนที่ถอยหนีไปนั้น น่าไปรวบรวมกำลังเพิ่มเติมแล้วยกกลับมาอีก
แต่เมื่อรออยู่หลายวันก็ยังไม่ยกลงมา น่าจะคิดทำอุบายกลศึกอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงดำรัสสั่งให้พระราชมนูคุมกำลังพล 10,000
ยกขึ้นไปลาดตระเวณหยั่งกำลังข้าศึก ส่วนพระองค์กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จยกทัพหลวงมีกำลังพล 30,000 ตามขึ้นไป

 กองทัพพระราชมนูยกขึ้นไปถึงบางแก้ว ก็ปะทะกับทัพหน้าของพระเจ้าเชียงใหม่ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นไปถึงบ้านแห
ได้ยินเสียงปืนใหญ่น้อยจากการปะทะกันหนาแน่นขึ้นทุกที จึงทรงพระดำริจะใช้กลยุทธเอาชนะข้าศึกในครั้งนี้ โดยให้หยุดกองทัพหลวง
แล้วแปรกระบวนไปซุ่มอยู่ที่ป่าจิกป่ากระทุ่ม ข้างฝั่งตะวันตก แล้วให้ข้าหลวงขึ้นไปสั่งพระราชมนูให้ล่าถอยลงมา
ฝ่ายพระราชมนูไม่ทราบพระราชประสงค์ เห็นว่ากำลังรี้พลไล่เลี่ยกับกองทัพหน้าของข้าศึก พอจะต่อสู้รอกองทัพหลวงขึ้นไปถึงได้
จึงไม่ถอยลงมา  พระองค์จึงให้จมื่นทิพรักษาขึ้นไปเร่งให้ถอยอีก พระราชมนูก็สั่งให้มากราบทูลว่า กำลังรบพุ่งติดพันกับข้าศึกอยู่
ถ้าถอยลงมาเกรงจะเลยแตกพ่ายเอาไว้ไม่อยู่ ครั้งนี้พระองค์ทรงพิโรธ ดำรัสสั่งให้จมื่นทิพรักษา คุมทหารม้าเร็วกลับไปสั่งพระราชมนูให้ถอย
ถ้าไม่ถอยให้ตัดศีรษะพระราชมนูมาถวาย พระราชมนูจึงโบกธงให้สัญญาณถอยทัพ ขณะนั้นกองทัพหลวงพระเจ้าเชียงใหม่ยกหนุนมาถึง
สำคัญว่ากองทัพไทยแตกหนี ก็ยกทัพไล่ติดตามมาโดยประมาทไม่เป็นกระบวนศึก จนถึงพื้นที่ที่สมเด็จพระนเรศวรซุ่มกองทัพหลวงไว้
พระองค์เห็นข้าศึกเสียกลสมประสงค์ ก็ให้ยิงปืนโบกธงสัญญาณ ยกกองทัพหลวงเข้าตีกลางกองทัพข้าศึก
ฝ่ายพระราชมนูเห็นกองทัพหลวงเข้าตีโอบดังนั้น ก็ให้กองทัพของตนกลับตีกระหนาบข้าศึกอีกทางหนึ่ง ได้รบพุ่งกันถึงขั้นตะลุมบอน
กองทัพเชียงใหม่ก็แตกพ่ายไปทั้งทัพหน้าและทัพหลวง ทัพเชียงใหม่เสียนายทหารชั้นผู้ใหญ่ถึง 7 คน คือ
พระยาลอ  พระยากาว  พระยานคร  พระยาราย  พระยางิบ สมิงโยคราช และสะเรนันทสู  กองทัพไทยยึดได้ช้างใหญ่ 20 เชือก  ม้า 100 เศษ
กับเครื่องศัตราวุธอีกเป็นอันมาก

            สมเด็จพระนเรศวร เห็นโอกาสที่จะไม่ให้ข้าศึกตั้งตัวติด จึงได้เสด็จยกทัพหลวงติดตามข้าศึกไปจนพลบค่ำ
จึงให้พักแรมที่บ้านชะไวแล้วยกทัพต่อไปแต่กลางดึก ให้ถึงบ้านสระเกศเข้าตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ตอนเช้าตรู่
ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่เมื่อถอยหนีกลับไปถึงบ้านสระเกศแล้ว ทราบว่ากองทัพไทยยกติดตามขึ้นไป ก็รีบถอนทัพหนีกลับไปแต่ตอนกลางคืน
เมื่อกองทัพไทยติดตามไปถึงตอนเช้า พบข้าศึกกำลังถอยหนีกันอลหม่าน กองทัพไทยก็ยึดค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ได้จับได้พระยาเชียงแสน
และรี้พลเป็นเชลยรวม 10,000 คนเศษ กับช้าง 120 เชือก  ม้า 100 เศษ เรือรบและเรือเสบียงรวม 400 ลำ เครื่องศัตราวุธยุทธภัณฑ์
และเสบียงอาหารเป็นอันมาก รวมทั้งติดตามข้าศึกไปจนถึงเมืองนครสวรรค์ เมื่อทรงเห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่หนีไปสมทบกับกองทัพพระมหาอุปราชา
แล้วจะติดตามไปไม่ได้อีกจึงยกทัพกลับ ครั้งนั้น สมเด็จพระมหาธรรมราชา ได้จัดกองทัพหลวงเสด็จโดยขบวนเรือจากกรุงศรีอยุธยา
กำลังหนุนขึ้นไปถึงปากน้ำบางพุทรา เมื่อได้ทราบผลการรบแล้ว จึงมีรับสั่งให้เลิกกองทัพกลับกรุงศรีอยุธยา

            สมเด็จพระนเรศวรทรงได้ชัยชนะอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ พระองค์ได้รับการยกย่องเทิดทูนจากมหาชนอย่างกว้างขวาง
พระองค์ทรงมุ่งที่จะขยายผลการได้ชัยชนะออกไปอีก เพื่อกอบกู้ราชอาณาจักรไทยให้ยิ่งใหญ่ แต่สมเด็จพระราชบิดาทรงเห็นเห็นว่า
เมื่อได้อิสรภาพคืนมาก็เพียงพอแล้ว เพราะต้องการพื้นฟูบ้านเมืองให้กลับพื้นคืนดีบริบูรณ์เหมือนแต่ก่อน ดังนั้นหลังศึกพระเจ้าเชียงใหม่แล้ว
ทางกรุงศรีอยุธยาก็ได้เร่งรัดการทำนาในหัวเมืองชั้นในที่ขึ้นตรงต่อพระนคร เมื่อถึงฤดูฝนก็ให้เร่งทำนาทุกพื้นที่และเมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าว
เมื่อได้ข้าวมาแล้วก็ให้ขนข้าวมาสะสมไว้ในกรุงเพื่อไว้ใช้เป็นเสบียงอาหาร เมื่อมีศึกมาล้อมศึกข้าวที่เกี่ยวได้ไม่ทัน
ก็ให้เผาทำลายเสียมิให้ข้าศึกใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนั้นยังได้เร่งจัดหาสรรพวุธ พาหนะและกำลังพล เพื่อเตรียมต่อสู้ข้าศึกที่ประมาณการณ์ว่า
จะยกกำลังเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกในอนาคตอันใกล้ ส่วนบรรดาผู้คนที่อพยพหลบภัยข้าศึก กระจัดกระจายอยู่ตามป่าตามดงนั้น
พระองค์ก็ได้ทรงเลือกสรรบรรดาทหารที่ชำนาญป่า จัดตั้งเป็นนายกองอาสาออกไปเกลี้ยกล่อมให้เกิดมีใจรักชาติ
มีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้ข้าศึกศัตรูของชาติ แล้วจัดตั้งเป็นหน่วยกองโจรอยู่ตามป่า คอยทำสงครามแบบกองโจร
ทำลายการส่งเสบียงอาหารของข้าศึก

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #9 เมื่อ: 21-05-2006, 20:59 »

สงครามครั้งที่ 8 พระเจ้าหงสาวดีล้อมกรุง

สงครามครั้งนี้ ทางพม่าได้มีการเตรียมการแต่เนิ่นและฝ่ายไทยก็ทราบดี กล่าวคือกองทัพพระมหาอุปราชา
ได้เข้ามาทำนาตั้งแต่ปีระกา ครั้งถึงเดือนสิบสอง ปีจอ พ.ศ. 2129 พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงก็ยกกองทัพเข้ามถึงสามทัพ
จัดเป็นทัพสามกษัตริย์คือ ทัพพระเจ้าหงสาวดี ทัพพระมหาอุปราชา และทัพพระเจ้าตองอู
โดยมีทัพพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเป็นจอมทัพมีกำลังพลทั้งสิ้น 250,000 คน กองทัพทั้งสามมาชุมนุมกันที่เมืองกำแพงเพชร
ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่นั้นเนื่องจากรบแพ้ไทยไปครั้งก่อน จึงให้ทำหน้าที่ขนเสบียงอาหาร

            เมื่อทั้งสามทัพพร้อมกันแล้ว ก็เดินทัพลงมาถึงนครสวรรค์ โดยให้ทัพพระมหาอุปราชาเป็นปีกขวา
พระเจ้าตองอูเป็นปีกซ้าย เมื่อยกลงมาถึงเมืองนครสวรรค์ แล้วให้กองทัพพระมหาอุปราชายกมาทางเมืองลพบุรี เมืองสระบุรี
แล้วยกมาบรรจบทัพหลวงที่กรุงศรีอยุธยา ทัพพระเจ้าตองอู ให้ยกลงมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ทัพหลวงยกลงมาทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งสองทัพยกลงมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนยี่
จัดค่ายรายกันอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของพระนคร เนื่องจากเป็นทางที่จะเข้าตีพระนครได้สะดวกกว่าด้านอื่น
โดยที่กองทัพหลวงอยู่ทางด้านเหนือ ตั้งค่ายหลวงที่ขนอนปากคูกองมังมอด ราชบุตรกับพระยารามตั้งที่ตำบลมะขามหย่อง
กองพระยานครตั้งที่ตำบลพุทธเลา กองนันทสูตั้งที่ขนอนบางลาง กองทัพพระเจ้าตองอูตั้งที่ทุ่งชายเคืองทางทิศตะวันออก
เมื่อกองทัพพระมหาอุปราชามาถึง ก็ให้ตั้งที่ทุ่งชายเคืองตะวันออก ต่อจากกองทัพพระเจ้าตองอูลงมาทางบางตะนาวข้างใต้
 
            ทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาได้มีเวลาเตรียมการรักษาพระนครอยู่หลายเดือน เพราะทราบสถานการณ์มาก่อนแล้ว
การเตรียมการดังกล่าวได้แก่ การเตรียมเสบียง กำลังพล การรักษาเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ที่ติดต่อไปมาทางทะเล
โดยเรือใหญ่ได้สะดวก คือ เส้นทางเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาไปออกอ่าวไทย ส่วนข้างเหนือตั้งแต่เมืองวิเศษชัยชาญขึ้นไป
เห็นว่าไม่คุ้มค่าที่จะรักษาไว้ ในชานพระนครได้เตรียมปืนใหญ่และกำลังทางบกและทางเรือไว้คอยต่อสู้ป้องกัน
มิให้ข้าศึกเข้ามาตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในพระนครได้

ขณะเมื่อกองทัพข้าศึกยกลงมาถึงพระนครเมื่อต้นเดือนยี่ ข้าวในทุ่งหันตราซึ่งอยู่นอกพระนครด้านทิศตะวันออก
ยังเก็บเกี่ยวไม่เสร็จ เมื่อทราบว่าข้าศึกยกลงมาใกล้จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าเจ้าพระยากำแพงเพชรซึ่งได้ว่าที่สมุหพระกลาโหม
คุมกองทัพออกไปคอยป้องกันการเกี่ยวข้าวที่ทุ่งหันตรา พอกองทัพของพระมหาอุปราชายกลงมาถึงก็ให้กองทัพม้า
เข้าตีกองทัพพระยากำแพงเพชร ฝ่ายไทยสู้ไม่ได้แตกหนีเข้ามาในพระนคร สมเด็จพระนเรศวรกริ้วเจ้าพระยากำแพงเพชรยิ่งนัก
ด้วยรบกันมาในชั้นนี้ไทยยังไม่เคยเสียทีแก่ข้าศึกเลย เหตุการณ์ดังกล่าวจะทำให้กำลังพลเกรงกลัวข้าศึก
จึงให้รีบจัดทัพแลัวพระองค์กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จลงเรือพระที่นั่งลำเดียวกัน ยกออกไปรบพุ่งกับข้าศึกที่ทุ่งชายเคือง
เป็นสามารถจนถึงเวลาพลบค่ำ ข้าศึกจึงถอยไปจากค่ายของไทยที่ตีได้จึงเสด็จกลับและมีดำรัสสั่งให้ประหารชีวิต
เจ้าพระยากำแพงเพชรเสียแต่สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงขอชีวิตไว้ รับสั่งว่าเจ้าพระยากำแพงเพชรเป็นพลเรือน
เอาไปใช้รบเป็นทหารจึงแพ้กลับมา เจ้าพระยากำแพงเพชรจึงรอดตาย แต่ถูกถอดจากตำแหน่งมิให้ว่าการกลาโหมต่อไป
พวกข้าราชการทั้งปวงก็พากันเกรงพระราชอาญา ตั้งหน้ารบพุ่งอย่างเต็มขีดความสามารถ

            กองทัพข้าศึกตั้งล้อมพระนครอยู่ห่างๆ ให้กองทัพเข้าตีปล้นพระนครหลายครั้งก็ไม่เป็นผลฝ่ายไทยต่อสู้ป้องกัน
อย่างเข้มแข็งจนพม่าต้องถอยกลับไปทุกครั้ง ฝ่ายไทยก็ส่งทหารจากพระนครเข้าปล้นค่ายพม่าทั้งกลางวันกลางคืน
มิให้อยู่เป็นปกติได้ บรรดาพวกกองโจรที่จัดตั้งไว้หลายหมวด หลายกอง ก็พากันเข้าโจมตีตัดการลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึก
เกิดความขาดแคลนและความเจ็บไข้

            สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทหารเสด็จออกปล้นค่ายข้าศึกด้วยพระองค์เองหลายครั้ง ตีค่ายข้าศึกแตกไปสองแห่งคือ
ค่ายพระยานครที่ปากน้ำพุทธเลา และค่ายทัพหน้าของพระเจ้าหงสาวดี พระองค์ตีค่ายนี้แตกแล้วยังได้รุกไล่ต่อไป
จนถึงค่ายหลวงของพระเจ้าหงสาวดี พระองค์เสด็จลงจากม้าพระที่นั่ง ถือพระแสงดาบเข้ารบกับข้าศึก
เคียงบ่าเคียงไหล่กับทหารของพระองค์ ทรงคาบพระแสงดาบ นำทหารขึ้นปีนพะเนียดค่ายพระเจ้าหงสาวดี
แต่ข้าศึกได้ต่อสู้ป้องกันอย่างแข็งแรง พระองค์ถูกข้าศึกแทงตกลงมา เมื่อเห็นว่าจะตีหักเอาค่ายข้าศึกยังไม่ได้
จึงเสด็จกลับคืนเข้าพระนคร พระแสงดาบนั้นจึงได้นามว่า พระแสงดาบคาบค่าย ยังเป็นชื่อพระแสงดาบองค์หนึ่ง
ในจำนวนพระแสงราชศาสตรามาจนถึงทุกวันนี้

การปฏิบัติการของสมเด็จพระนเรศวรครั้งนี้ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีทรงทราบเรื่องถึงกับออกพระโอษฐแก่เสนาบดีว่า
"พระนเรศวรออกมาทำการเป็นอย่างพลทหารดังนี้ เหมือนกับเอาพิมเสนมาแลกกับเกลือ.....พระนเรศวรนี้ทำศึกอาจหาญนัก
ถ้าออกมาอีกถึงจะเสียทหารสักเท่าใดก็ตาม จะแลกเอาตัวพระนเรศวรให้จงได้" จากนั้นพระเจ้าหงสาวดีจึงให้ลักไวทำมู
ซึ่งเป็นนายทหารมีฝีมือคัดเลือกทหาร 10,000 คน ไปรักษาค่ายกองหน้าและทรงกำชับไปว่า
ถ้าพระนเรศวรออกมาอีกให้คิดอ่านจับเป็นให้จงได้

            ครั้นถึงวัน แรม 10 ค่ำ เดือน 4 สมเด็จพระนเรศวรทรงนำทัพไปซุ่มอยู่ที่ทุ่งลุมพลี
หมายจะเข้าปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดีอีก ลักไวทำมูรู้ดังนั้นจึงให้ทหารทศคุมกำลังหน่วยหนึ่งรุกมารบสมเด็จพระนเรศวร
ทรงนำกำลังเข้ารบด้วยลำพังกระบวนม้า พวกพม่ารบพลางถอยพลางไปจนถึงจุดที่ลักไวทำมูคุมกำลังซุ่มไว้
ข้าศึกก็กรูกันออกมาล้อมไว้ ลักไวทำมูขับม้าเข้ามาต่อสู้กับพระองค์ พระองค์ทรงแทงด้วยพระแสงทวนถูกลักไวทำมูตาย
การต่อสู้ดำเนินไปกว่าชั่วโมง กองทัพไทยจึงตามไปทันตีฝ่าวงล้อมข้าศึก แก้ไขสถานการณ์ได้แล้วจึงกลับเข้าสู่พระนคร
             ครั้นถึงวันแรม 4 ค่ำ เดือน 4 สมเด็จพระนเรศวรทรงนำกำลังทางเรือ ยกไปตีทัพพระมหาอุปราชา
ซึ่งอยู่ที่ขนอนบางตะนาวแตกพ่าย ต้องถอยทัพออกไปตั้งอยู่ที่บางกระดาน

            กองทัพพม่าล้อมกรุงอยู่ได้ 5 เดือน ตั้งแต่เดือนยี่ ปีจอ จนถึงเดือนหก ปีกุน ก็ไม่สามารถตีกรุงศรีอยุธยาได้
ไพร่พลก็เจ็บป่วยล้มตายร่อยหลอลงทุกที เห็นว่าเข้าฤดูฝนไพร่พลจะลำบากยิ่งขึ้น เสบียงอาหารก็ขาดแคลน
จึงยกทัพถอยกลับไปในวันแรม 10 ค่ำ เดือน 6 โดยให้กองทัพพระมหาอุปราชาถอยกลับไปก่อน ให้กองทัพพระเจ้าตองอู
เป็นกองหลัง สมเด็จพระนเรศวรทรงนำกำลังทางเรือลงไปที่บางกระดาน หมายจะตีกองทัพพระมหาอุปราชาอีก
เห็นพระมหาอุปราชากำลังถอยทัพกลับและทรงทราบว่าพระเจ้าหงสาวดีจะถอยทัพ จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร
แลัวรีบทรงกองทัพยกไปตั้งที่วัดเดช อยู่ริมน้ำตรงภูเขาทอง เมื่อวัน ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 7 ทรงให้เอาปืนขนาดใหญ่
ลงเรือสำเภาหลายลำ แล้วนำขึ้นไปยิงค่ายหลวงพระเจ้าหงสาวดีถูกผู้คนช้างม้าลมตายเป็นอันมาก
พระเจ้าหงสาวดีต้องถอยทัพหลวงไปตั้งอยู่ที่ป่าโมก สมเด็จพระนเรศวรทรงให้กำลังทางบกยกตามตีข้าศึก
จนถึงทะเลมหาราชทางหนึ่ง ส่วนพระองค์กับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จโดยทางเรือตามตีกองทัพหลวง
ของพระเจ้าหงสาวดีขึ้นไปจนถึงป่าโมกอีกทางหนึ่ง แต่ข้าศึกมีกำลังมากกว่ามากไม่ทำให้แตกฉานไปได้
พระองค์จึงเสด็จคืนสู่พระนคร พระเจ้าหงสาวดีก็ให้เลิกทัพกลับไป

การจัดการด้านเขมร

ขณะที่กองทัพพระเจ้าหงสาวดี ยกลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2130 นั้น นักพระสัตถาเจ้ากรุงกัมพูชา
ซึ่งเคยมาขออ่อนน้อมต่อกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2127 คาดการณ์ว่าการศึกครั้งนี้ฝ่ายไทยคงจะเสียทีแก่พม่า
จึงได้ให้กองทัพเขมรยกมาตีเมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเมืองชายแดนไทยด้านเขมร ในห้วงเวลานั้นชาวเมืองปราจีนบุรี
ถูกเกณฑ์มารักษาพระนครศรีอยุธยา ไม่มีกำลังพอที่จะต่อสู้ป้องกันเมืองจากกองทัพเขมรได้
กองทัพเขมรจึงตีเมืองปราจีนบุรีได้โดยง่าย ครั้งเมื่อเสร็จพม่าแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงให้พระยาศรีไสยณรงค์
คุมกองทัพไปขับไล่เขมรออกไป กองทัพทั้งสองฝ่ายได้ปะทะกันที่เมืองนครนายก กองทัพไทยตีกองทัพเขมรแตกพ่ายไป

            ครั้นถึงฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2130 สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพออกไปตีกรุงกัมพูชา ตีได้เมืองพระตะบองและโพธิสัตว์
เมื่อกองทัพส่วนใหญ่เข้าไปสู่แดนเขมร การดำเนินการส่งกำลังบำรุงยากขึ้น เกิดขัดสนเสบียงอาหาร ประกอบกับพระองค์ทรงห่วงว่า
ทางพม่าจะยกมารุกรานไทยอีกจึงยกทัพกลับพระนคร

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
เจนจิรา
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 127


ราชาวดี


« ตอบ #10 เมื่อ: 22-05-2006, 10:15 »

ชอบอ่านเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากคะ.. แต่ขอเซฟไว้ก่อน..
ว่างแล้วค่อยมาอ่านทีหลัง ขอบคุณ..คุณnarongที่กรุณาโพสให้อ่านคะ... Very Happy Smile Smile
บันทึกการเข้า

ความอดทนเป็นคุณสมบัติของนักปราชญ์
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #11 เมื่อ: 22-05-2006, 22:31 »

สงครามครั้งที่ 9 พระมหาอุปราชายกมาครั้งแรก

นับจากพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ถอยทัพกลับไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไทยก็ว่างศึกพม่าอยู่ 3 ปี
ระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาประชวรและสวรรคตในปี พ.ศ. 2133 สมเด็จพระนเรศวรมีพระชนมายุได้ 35 ปี
พระองค์ได้ขึ้นเสวยราชย์ และได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระเอกาทศรถให้เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้มีพระเกียรติยศสูงเสมอ
อย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง เมื่อพระองค์เสวยราชย์ได้แปดเดือนก็เกิดศึกพม่าอีก

            สาเหตุของสงครามครั้งนี้เนื่องจากเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองอีก ทางพม่าเห็นว่าการที่เมืองคังแข็งเมือง
เพราะเห็นว่าพม่าปราบไทยไม่ลง จึงตั้งแข็งเมืองอย่างไทย ตราบใดที่ยังปราบไทยไม่ได้ก็จะมีเมืองอื่นๆ
เอาอย่างไทยต่อไปอีกไม่สิ้นสุดจึงต้องดำเนินการปราบไทยซึ่งเป็นต้นเหตุให้ได้ สาเหตุอีกประการหนึ่ง
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ ราชการบ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงอาจไม่ปกติ
นับเป็นโอกาสที่จะเข้ามาโจมตีไทย พระเจ้าหงสาวดีจึงให้จัดกองทัพ
มีกำลังพล 200,000 คน ให้พระยาพสิม พระยาภุกามเป็นกองหน้า พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง

กองทัพพม่ายกออกจากเมืองหงสาวดี เมื่อวันแรม 12 ค่ำ เดือน 12 ปีขาล พ.ศ. 2133 เดินทัพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์
หมายจะจู่โจมเข้าตีกรุงศรีอยุธยาไม่ให้ทันได้เตรียมตัว เพราะการเดินทัพตามเส้นทางนี้ใช้เวลาเพียง 15 วัน
ก็จะถึงพระนครศรีอยุธยาแต่ถ้าเดินทัพมาทางด่านแม่ละเมาเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อน จะใช้เวลาถึงกว่าเดือน
และยังต้องมีการเตรียมเสบียงอาหารล่วงหน้าทำให้ฝ่ายไทยรู้ตัวมีเวลาเตรียมต่อสู้ได้นาน ทางฝ่ายไทย
สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า ถ้าจะคอยต่อสู้ข้าศึกอยู่ที่พระนครจะไม่ได้เปรียบข้าศึกเหมือนครั้งก่อน
จึงทรงมีพระราชดำริที่จะยกทัพไปต่อสู้พม่าที่ชายแดน พระองค์ได้รีบเสด็จยกทัพหลวงออกไปในเดือนยี่
เมื่อเสด็จถึงเมืองสุพรรณบุรี ทรงทราบว่ากองทัพข้าศึกยกมาถึงเมืองกาญจนบุรีแล้ว พระองค์จึงให้ซุ่มทัพหลวง
ไว้ที่ลำน้ำบ้านคอย แล้วแต่งกองทัพน้อย ทำทีเหมือนว่าจะให้ไปรักษาเมืองกาญจนบุรีเพื่อลวงและล่อข้าศึก

            ฝ่ายพระมหาอุปราชายกมาถึงเมืองกาญจนบุรี ไม่พบการต้านทานของฝ่ายไทย คิดว่าไทยคงจะใช้กรุงศรีอยุธยา
เป็นที่มั่นตั้งรับเช่นครั้งก่อนจึงเคลื่อนทัพเข้ามาด้วยความประมาท เมื่อมาพบกองทัพล่อของสมเด็จพระนเรศวร
เห็นว่าเป็นกองกำลังขนาดเล็ก กองทัพหน้าของพระมหาอุปราชาก็เข้าโจมตี กองทัพล่อแกล้งทำสู้ไปไม่ถอยหนีลงมา
กองทัพหลวงข้าศึกก็ไล่ติดตามมา เมื่อมาถึงพื้นที่ที่ซุ่มทัพของสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ให้กองทัพที่ซุ่มอยู่
ออกโจมตีทัพพม่าพร้อมกันได้รบกันถึงขั้นตะลุมบอน กองทัพข้าศึกก็แตกพ่ายถูกกองทัพไทยฆ่าฟันล้มตายเป็นอันมาก
พระยาพุกามแม่ทัพหน้าพม่าตายในที่รบ กองทัพไทยไล่ติดตามและจับพระยาพสิมแม่ทัพหน้าของพม่าอีกคนหนึ่งได้
ที่บ้านจรเข้สามพัน ทัพหน้าของข้าศึกแตกหนีไปปะทะทัพหลวง ทำให้ทัพหลวงแตกไปด้วย
ครั้งนั้นไทยเกือบจะจับพระมหาอุปราชาได้ พระมหาอุปราชาหนีกลับไปถึงหงสาวดี เมื่อเดือนห้า ปีเถาะ พ.ศ. 2134
พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงขัดเคือง ให้ลงอาชญาแม่ทัพนายกองทั้งปวงและภาคทัณฑ์พระมหาอุปราชาไว้
จะให้ทำการแก้ตัวใหม่

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #12 เมื่อ: 22-05-2006, 22:33 »

สงครามครั้งที่ 10 สงครามยุทธหัตถี

เมื่อพระมหาอุปราชาแตกทัพกลับไปครั้งก่อน ทำให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงพระวิตกยิ่งนัก
เพราะว่าพม่าเสียทั้งรี้พลและอำนาจ เป็นเหตุให้เมืองขึ้นต่างๆ ของพม่าเกิดความเคลื่อนไหวที่จะแข็งเมืองทั่วไป
การที่จะรักษาอำนาจพม่าไว้ได้ ก็ด้วยการเอาชนะไทยให้ได้ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาอุปราชา
ยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีก ในปี พ.ศ. 2135

            ตามพงศาวดารกล่าวไว้ว่า พระเจ้าหงสาวดีได้ตัดพ้อในที่ประชุมเจ้านายและขุนนาง ถึงการที่ไม่มีใครเจ็บร้อน
เรื่องเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรมีรี้พลเพียงหยิบมือเดียวก็ไม่มีใครกล้าไปรบพุ่ง เมืองหงสาวดีคงสิ้นคนดีเสียแล้ว
ขุนนางคนหนึ่งจึงกราบทูลว่า กรุงศรีอยุธยานั้น สำคัญอยู่ที่สมเด็จพระนเรศวรพระองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่มรบพุ่งเข้มแข็ง
ทั้งบังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด มีคนน้อยก็เหมือนมีคนมาก เจ้านายในกรุงหงสาวดีที่ทำสงครามเข้มแข็ง
เคยชนะศึกเหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรก็มีอยู่หลายองค์ ถ้าจัดกองทัพให้เป็นหลายกองทัพ
แล้วให้เจ้านายดังกล่าวเป็นแม่ทัพ ยกไปช่วยรบก็เห็นเอาชัยชนะได้ พระเจ้าหงสาวดีก็ได้ตรัสตอบ
ตามที่ปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า ข้อเสนอนั้นก็ดีอยู่ แต่ตัวของพระองค์เป็นคนอาภัพ ไม่เหมือนพระมหาธรรมราชาซึ่งมีลูก
พ่อไม่ต้องพักใช้ให้ไปรบ มีแต่กลับจะต้องห้ามเสียอีก ตัวของพระองค์เองไม่รู้ว่าจะใช้ใคร พระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น
ก็เกิดความอัปยศอดสู จึงกราบทูลว่าขอรับอาสามาตีเมืองไทยแก้ตัวใหม่

            สงครามคราวนี้ทางพม่าเกณฑ์กองทัพ 3 เมืองคือ กองทัพเมืองหงสาวดี ให้เจ้าเมืองจาปะโรเป็นกองหน้า
พระมหาอุปราชาเป็นกองหลวง กองทัพเมืองแปรให้พระเจ้าแปรลูกเธอที่ไปตีเมืองคังได้เมื่อครั้งหลังเป็นนายทัพ
กองทัพเมืองตองอูให้นัดจินหน่อง ลูกพระเจ้าตองอู ผู้ต้านทานกองทัพไทยไว้ได้เมื่อคราวที่พระเจ้าหงสาวดี
ล่าทัพจากเมืองไทยเป็นนายทัพ รวมกำลังพลทั้งสิ้น 240,000 คน นอกจากนั้นยังให้พระเจ้าเชียงใหม่
ยกกองทัพเมืองใหม่ใหม่ลงมาสมทบด้วยอีกหนึ่งกองทัพ

            กองทัพพระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงสาวดี เมื่อวันพุธ ขึ้น 7 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะโรง พ.ศ. 2135
เดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อล่วงเข้าถึงตำบลไทรโยคก็ให้ตั้งค่ายลง แล้วปรึกษาแผนการที่จะเข้าตีเมืองกาญจนบุรี
และเมื่อล่วงมาถึงลำตะเพินในตำบลลาดหญ้า ก็ให้พระยาจิตตองคุมพลสร้างสะพานเรือกเพื่อใช้ข้ามลำน้ำสายนี้
เมื่อเข้าเมืองกาญจนบุรีได้ก็พักอยู่หนึ่งคืน แล้วเคลื่อนทัพมายังตำบลตระพังกรุ แขวงเมืองกาญจนบุรี
พระมหาอุปราชาก็ทรงให้ตั้งค่ายแบบดาวล้อมเดือน ตรงชัยภูมินาคนาม ทัพพม่ายกมาครั้งนี้ จนล่วงเข้าเขตกาญจนบุรี
ไม่มีทัพไทยไปขัดตาทัพเลย จึงยกเข้ามาได้ตามลำดับ จนเข้าเขตเมืองสุพรรณบุรี แขวงบ้านพนมทวนเวลาบ่ายสามโมง
เกิดลมเวรัมภาพัดหมุนเป็นเกลียว ทำให้เศวตฉัตรของพระมหาอุปราชาหักสะบั้นลง พระมหาอุปราชาเห็นเป็นลางร้าย
มีความหวาดหวั่นพรั่นพระหฤทัยที่จะมาทำสงครามเพิ่มมากขึ้น กองทัพพม่ายกมาถึงตำบลตระพังกรุ แขวงเมืองสุพรรณบุรี
ก็ให้หยุดตั้งทัพอยู่ ณ ที่นั้น แล้วให้สมิงจอดราน สมิงเป่อ สมิงซาม่วน คุมกองทัพม้า ออกลาดตระเวณหาข่าว
กองทัพพม่าที่จะยกลงมาทางเหนือ  และสืบข่าวกองทัพฝ่ายไทย ว่าได้ยกออกมาและวางกำลังต่อสู้ไว้ที่ใดบ้าง

            กองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า ได้รบกันที่แขวงเมืองสุพรรณบุรีและกล่าวถึงกองทัพ
พระมหาอุปราชาเพียงทัพเดียว ไม่ปรากฎอีกสองกองทัพ คือกองทัพพระเจ้าแปร และกองทัพนัดจินหน่องแต่อย่างใด
เรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า กองทัพพม่าที่ยกมาครั้งนี้ น่าจะยกมาสองทางคือ
กองทัพพระมหาอุปราชายกมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ส่วนอีกสองกองทัพยกมาทางด่านแม่ละเมาและให้พระเจ้าเชียงใหม่
คุมเรือเป็นกองลงมาเช่นคราวก่อน กำหนดให้กองทัพที่ยกมาทั้งสองทางนี้มารวมกันที่กรุงศรีอยุธยา
แต่เมื่อฝ่ายไทย ตีกองทัพพระมหาอุปราชาแตกไปก่อนแล้ว ก็เป็นอันสิ้นสุดสงคราม ทัพพม่าอีกสองกองทัพที่ยกมาทางเหนือ
เดินทางมาถึงทีหลัง จึงยังไม่ทันเข้ารบพุ่งเลยต้องถอยกลับไป ข้อสันนิษฐานนี้น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด
เพราะแม้แต่จะมีหลักฐานบางแห่งกล่าวว่า ทัพเจ้าเมืองแปรเป็นปีกซ้าย ทัพเจ้าเมืองตองอูเป็นปีกขวา
เมื่อพิจารณาภูมิประเทศของเส้นทางเดินทัพมาทางด่านเจดีย์สามองค์ ห้องภูมิประเทศจะไม่อำนวยให้จัดทัพเช่นนั้นได้
จะทำได้เมื่อกองทัพเข้าสู่ที่ราบแล้วเท่านั้น และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ควรจะได้ปรากฎการปฏิบัติการของกองทัพทั้งสอง
บันทึกไว้แน่นอน

            ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวร ตั้งแต่กองทัพพระมหาอุปราชาแตกกลับไปเมื่อครั้งก่อน พระองค์ก็ทรงประมาณสถานการณ์ว่า
ไทยคงจะว่างศึกไปสักปีสองปี เพราะข้าศึกบอบช้ำมาก ต้องใช้เวลาฟื้นฟูเป็นเวลานาน ดังนั้นในปีมะโรง พ.ศ. 2135
ทรงวางแผนที่จะไปตีกรุงกัมพูชา เนื่องจากในระหว่างที่ไทยทำศึกติดพันอยู่กับพม่านั้น เขมรจะฉวยโอกาสเข้ามาซ้ำเติมไทย
อยู่หลายครั้ง แม้ต่อมาเมื่อเขมรเห็นว่าไทยเข้มแข็งขึ้น รบชนะพม่าทุกครั้งจะรีบเข้ามาขอเป็นไมตรีกับไทยก็ตาม
แต่ครั้นเห็นพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ยกกองทัพใหญ่เข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เขมรคาดว่าไทยจะสู้พม่าไม่ได้
ก็หันกลับไปสู่พฤติกรรมเดิม ฉวยโอกาสยกกำลังเข้ามาโจมตีไทยอีก พระองค์จึงคอยหาโอกาสที่จะยกกำลังไปปราบปรามเขมร
ให้สำนึกตน ครั้นถึงเดือนอ้าย ปีมะโรง พ.ศ. 2135 พระองค์ได้ทรงให้มีท้องตราเกณฑ์ทัพเพื่อไปตีเมืองเขมร
กำหนดให้ยกทัพไปในเดือนยี่ พอมีท้องตราไปได้ 6 วัน ถึงวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนยี่ ก็ได้รับใบบอกจากเมืองกาญจนบุรีว่า
พระเจ้าหงสาวดีทรงให้พระมหาอุปราชา ยกกองทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ และได้ข่าวจากหัวเมืองเหนือว่า
มีกองทัพข้าศึกยกลงมาอีกทางหนึ่ง

            ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ทรงพระราชดำริว่าข้าศึกยกลงมาสองทาง ถ้าปล่อยให้มาสมทบกันได้
ก็จะทำให้ข้าศึกมีกำลังมาก เมื่อกองทัพพระมหาอุปราชายกเข้ามาก่อน จึงจะต้องชิงตีให้แตกเสียก่อนเป็นการรวมกำลัง
เข้ากระทำการต่อข้าศึกเป็นส่วนๆ ไป เช่นที่เคยเอาชนะกองทัพพระยาพสิม ก่อนที่กองทัพพระเจ้าเชียงใหม่จะยกลงมาถึง
ในสงครามครั้งแรก ดังนั้นจากการเตรียมประชุมพลที่ทุ่งบางขวด เพื่อเตรียมยกไปตีกรุงกัมพูชา ก็เปลี่ยนมาเป็นประชุมพล
ที่ทุ่งป่าโมก แขวงเมืองวิเศษไชชาญ อันเป็นเส้นทางร่วมที่จะยกทัพไปเมืองสุพรรณบุรี และไปเมืองเหนือได้ทั้งสองทาง

            ในระหว่างนั้น พระองค์ก็ทรงให้พระอมรินทรฤาไชย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี คุมพล 500 คน จัดกำลังแบบกองโจร
ออกไปปฏิบัติการตีตัดเส้นทางลำเลียง และรื้อสะพานทางเดินทัพของข้าศึกทางด้านหลัง จัดทัพหัวเมือง ตรี จัตวา
และหัวเมืองปักษ์ใต้ รวม 23 หัวเมือง รวมกำลังพลได้ 50,000 คน ให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นนายทัพ
พระยาราชฤทธานนท์เป็นยกกระบัตร คุมกองทัพหัวเมืองไปตั้งขัดตาทัพสะกัดข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย แขวงเมืองสุพรรณบุรี
เมื่อเตรียมทัพหลวงเสร็จ  สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ก็เสด็จโดยกระบวนเรือพระที่นั่งจากพระนคร
ไปทำพิธีฟันไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพลี เมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือนยี่ แล้วเสด็จไปยังที่ตั้งทัพชัย ที่ตำบลมะม่วงหวาน
หยุดปรับกระบวนทัพอยู่สามคืน พอวันขึ้น 12 ค่ำ ก็เสด็จยกกองทัพหลวงมีกำลังพล 100,000 คน ออกจากทุ่งป่าโมก
ไปเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ ข้ามลำน้ำสุพรรณที่ท่าท้าวอู่ทอง ไปถึงค่ายหลวงที่หนองสาหร่ายริมลำน้ำท่าคอย
เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ

มีความในพระราชพงศาวดาร แสดงถึงความอัศจรรย์ตอนหนึ่งว่า ขณะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่ค่ายหลวง
ตำบลมะขามหวาน ก่อนวันที่จะเสด็จยกกองทัพไปเมืองสุพรรณบุรี ในตอนกลางคืน พระองค์ทรงพระสุบินว่า
มีน้ำท่วมป่าหลากมาแต่ทางทิศตะวันตก พระองค์เสด็จลุยน้ำไปพบจรเข้ใหญ่ตัวหนึ่งได้เข้าต่อสู้กัน
ทรงประหารจรเข้นั้นสิ้นชีวิตด้วยฝีพระหัตถ์ สายน้ำนั้นก็เหือดแห้งไป ทรงมีรับสั่งให้โหรทำนายพระสุบินนั้น
พระยาโหราธิบดีกราบทูลพยากรณ์ว่า เสด็จไปคราวนี้จะได้รบพุ่งกับข้าศึก เป็นมหายุทธสงคราม
ถึงได้ทำยุทธหัตถีและจะมีชัยชนะข้าศึก

            มีเรื่องของศุภนิมิตครั้งที่สองที่ได้กล่าวไว้ในที่บางแห่งว่า เมื่อใกล้ฤกษ์ยกทัพ สมเด็จพระนเรศวร
และสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จไปยังเกยทรงช้างพระที่นั่งตามพิชัยฤกษ์นั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็น
พระบรมสารีริกธาตุ ขนาดเท่าผลส้มเกลี้ยงส่องแสงเรืองอร่ามลอยมาในท้องฟ้าทางทิศใต้แล้วลอยวนรอบกองทัพไทย
เป็นทักษิณาวัตรสามรอบ จากนั้นจึงลอยขึ้นไปทางทิศเหนือ สมเด็จพระนเรศวร และพระอนุชาทรงปิติยินดีตื้นตัน
พระราชหฤทัยยิ่งนัก ทรงนมัสการและอธิษฐานให้ พระบรมสารีริกธาตุนั้น ปกป้องคุ้มครองกองทัพไทย
ให้พ้นอันตรายจากผองภัยทั้งมวล

            เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึงหนองสาหร่าย ก็ทรงให้กองทัพพระศรีไสยณรงค์กับ พระราชฤทธานนท์
ซึ่งออกไปขัดตาทัพอยู่ก่อนที่ลำน้ำท่าคอย เลื่อนออกไปขัดตาทัพที่ดอนระฆัง ส่วนกองทัพหลวงก็ทรงให้เตรียมค่ายคู
และกระบวนทัพที่จะรบข้าศึก ด้วยคาดว่าคงจะได้ปะทะกันในวันสองวันเป็นแน่ เพราะกองทัพของทั้งสองฝ่าย
อยู่ใกล้กันมากแล้ว พระองค์ทรงจัดทัพเป็นขบวน เบญจเสนา 5 ทัพ ดังนี้

            ทัพที่ 1 เป็นกองหน้า ให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นนายทัพ พระยาพิชัยรณฤทธิ์เป็นปีกขวา
พระยาวิชิตณรงค์เป็นปีกซ้าย
            ทัพที่ 2 เป็นกองเกียกกาย ให้พระยาเทพอรชุนเป็นนายทัพ พระยาพิชัยสงครามเป็นปีกขวา
พระยารามคำแหงเป็นปีกซ้าย
            ทัพที่ 3 เป็นกองหลวง สมเด็จพระนเรศวร ทรงเป็นจอมทัพ พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ
เจ้าพระยามหาเสนาเป็นปีกขวา  เจ้าพระยาจักรีเป็นปีกซ้าย
            ทัพที่ 4 เป็นกองยกกระบัตร ให้พระยาพระคลังเป็นนายทัพ พระราชสงครามเป็นปีกขวา
พระรามรณภพเป็นปีกซ้าย
            ทัพที่ 5 เป็นกองหลัง ให้พระยาท้ายน้ำเป็นนายทัพ หลวงหฤทัยเป็นปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกซ้าย

            ค่ายที่หนองสาหร่ายนี้ ทรงให้ตั้งเป็นกระบวนปทุมพยุหะเป็นรูปดอกบัว และเลือกชัยภูมิครุฑนาม
เพื่อข่มกองทัพข้าศึกซึ่งตั้งในชัยภูมินาคนาม ตามหลักตำราพิชัยสงคราม
            ครั้นถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่า ข้าศึกยกกองทัพใหญ่
พ้นบ้านจรเข้สามพันมาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวง เตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น
แล้วสั่งให้พระยาศรีไสยณรงค์ ยกออกไปหยั่งกำลังข้าศึก แล้วให้ถอยกลับมา

            ในวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ
ให้ผูกช้างพระที่นั่งชื่อ พลายภูเขาทอง ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นพระคชาธารของพระองค์
มีเจ้ารามราฆพเป็นกลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ อีกช้างหนึ่งชื่อพลายบุญเรือง ขึ้นระวางเป็นเจ้าพระยาปราบไตรจักร
เป็นพระคชาธารสมเด็จพระเอกาทศรถ มีหมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ พร้อมด้วย นายแวง จตุลังคบาท
พวกทหารคู่พระทัยสำหรับรักษาพระองค์

            ขณะนั้นเสียงปืนจากการปะทะกัน ระหว่างทัพหน้าของไทย กับทัพหน้าของพม่าดังขึ้น พระองค์จึงดำรัสให้
จมื่นทิพเสนา ปลัดกรมตำรวจ เอาม้าเร็วไปสืบข่าว ได้ความว่า พระยาศรีไสยณรงค์ได้ยกกำลังออกไป และได้ปะทะกับข้าศึก
ที่ตำบลดอนเผาข้าวเมื่อเวลาเช้า ฝ่ายข้าศึกมีกำลังมากต้านทานไม่ไหวจึงแตกถอยร่นมา
สมเด็จพระนเรศวรจึงปรึกษาแม่ทัพนายกองว่า สถานการณ์เช่นนี้ควรจะทำอย่างไร บรรดาแม่ทัพนายกองทั้งหลายกราบทูลว่า
ควรให้มีกองทัพหนุน ออกไปช่วยต้านทานข้าศึกไว้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงให้ทัพหลวงออกมาตีภายหลัง
สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเห็นชอบด้วย มีพระดำรัสว่า กองทัพแตกลงมาเช่นนี้แล้ว จะให้กองทัพไปหนุนไหนจะรับไว้อยู่
มาปะทะกันเข้าก็จะพากันแตกลงมาด้วยกัน ควรที่จะล่าถอยลงมาโดยเร็ว เพื่อปล่อยให้ข้าศึกยกติดตามมาอย่างไม่เป็นกระบวน
พอได้ทีให้ยกกำลังส่วนใหญ่เข้าโจมตีข้าศึก ก็คงจะได้ชัยชนะโดยง่าย สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้จมื่นทิพเสนา
กับ จมื่นราชามาตย์  ขึ้นม้าเร็ว รีบไปประกาศแก่พวกกองทัพหน้าของไทยว่า อย่าได้รั้งรอข้าศึกให้รีบล่าถอยหนีไปโดยเร็ว
กองทัพหน้าของพระยาศรีไสยณรงค์ก็พากันถอยหนีไม่เป็นกระบวน ข้าศึกเห็นดังนั้นก็พากันรุกไล่ลงมาด้วยเห็นได้ที
จนไม่เป็นกระบวนเช่นกัน

            สมเด็จพระนเรศวรสงบทัพหลวงรออยู่จน 11 นาฬิกา เห็นข้าศึกตามลงมาไม่เป็นกระบวนก็สมคะเนทรงดำรัส
สั่งให้บอกสัญญาณกองทัพทั้งปวงให้ยกออกตีข้าศึก พระองค์และพระเอกาทศรถ ยกกองทัพหลวงเข้าโอบกองทัพหน้าข้าศึก
ทัพท้าวพระยาอื่นๆ ได้ทราบกระแสรับสั่งได้เร็วบ้างช้าบ้าง เนื่องจากเหตุการณ์กระทันหันมีเวลาน้อยมาก
ทำให้ยกไปไม่ทันเสด็จเป็นส่วนมาก คงมีแต่กองทัพพระยาสีหราชเดโชชัย กับกองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งเป็นปีกขวา
ตามกองทัพหลวงเข้าจู่โจมข้าศึก กองทัพหน้าของพม่าไม่คาดว่าว่าจะมีกองทัพไทยไปยอทัพก็เสียทีแตกหนีอลหม่าน

            เหตุการณ์ตอนนี้มีเรื่องบันทึกไว้ในบางแห่งว่า ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประทับรอฟังข่าวทัพหน้าอยู่นั้น
ได้บังเกิดเมฆเยือกเย็นตั้งเค้ามืดอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แล้วกลับกลายเป็นเปิดโล่ง
เห็นดวงตะวันสาดแสงสว่างกระจ่างตา สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเคลื่อนทัพตามเกล็ดนาค
ซึ่งตามตำราพิชัยสงครามได้กำหนดไว้ว่า ในวันใดหัวนาคและหางนาคอยู่ทางทิศใดต้องไปตั้งทัพทางหัวนาค
แล้วเคลื่อนทัพไปทางหางนาค เป็นการเคลื่อนที่ตามเกล็ดนาคไม่ให้เคลื่อนที่ย้อนเกล็ดนาค
เมื่อช้างพระที่นั่งของทั้งสองพระองค์ได้ยินเสียงฆ้องกลองรบ และเสียงปืนที่ทั้งสองฝ่ายยิงต่อสู้กันก็เกิดความคึกคะนอง
ด้วยเหตุที่กำลังตกมัน แล้ววิ่งถลันเข้าไปในหมู่ข้าศึก ควาญไม่สามารถคัดท้ายอยู่ บรรดาแม่ทัพนายกองและไพร่พลทั้งปวง
ตามเสด็จไม่ทัน ผู้ที่สามารถตามเสด็จไปด้วยได้ คงมีแต่ผู้ที่มีหน้าที่อยู่ประจำช้างพระที่นั่ง คือกลางช้าง ควาญช้าง
และจตุลังคบาท ที่มีหน้าที่รักษาเท้าช้าง สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ ทอดพระเนตรเห็นข้าศึกมีกำลังมากมาย
ไม่เป็นทัพเป็นกองจึงทรงไสช้างพระที่นั่งเข้าชนช้างข้าศึก เหล่าข้าศึกพากันระดมยิงอาวุธมาดังห่าฝนแต่ไม่ถูกช้างทรง
ทันใดนั้นก็บังเกิดตะวันตลบมืด ท้องฟ้ามืดมิดราวกับไม่มีแสงตะวันจนมองไม่เห็นกัน สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นดังนั้น
จึงได้ประกาศแก่เทวดา พระพรหมทุกชั้นฟ้า ถึงปณิธานของพระองค์ที่ได้มาสืบวงศ์กษัตริย์ และมุ่งหวังที่จะทำนุบำรุง
พระบวรพุทธศาสนา ทันใดนั้นก็บังเกิดพายุใหญ่พัดปั่นป่วนในท้องฟ้า สนามรบก็สว่างแจ้ง พระองค์แลไปเห็นนายทัพข้าศึก
นั่งอยู่บนหลังช้างเผือกตัวหนึ่ง มีฉัตรกั้นอยู่ใต้ร่มต้นข่อย มีพล 4 เหล่า เรียงรายอยู่มากมาย ก็ทรงตระหนักแน่พระทัยว่า
เป็นพระมหาอุปราชา

            เหตุการณ์ในตอนนี้มีอยู่หลายสำนวน ตามพระราชพงศาวดารกล่าวไว้ว่า ให้เอาพลายภูเขาทอง ขึ้นระวางสะพัด
ชื่อเจ้าพระยาไชยานุภาพ สูง 6 ศอกคืบ 2 นิ้ว ติดน้ำมันหน้าหลัง เป็นคชาธารสมเด็จพระนเรศวร และให้เอาพลายบุญเรือง
ขึ้นระวางสะพัด ชื่อเจ้าพระยาปราบไตรจักร สูง 6 ศอก 2 คืบ ติดน้ำมันหน้าหลัง เป็นพระคชาธารสมเด็จพระอนุชาธิราช
พระเอกาทศรถ ส่วนพระคชาธารของพระมหาอุปราชานั้น ชื่อพลายพัทธกอ สูง 6 ศอกคืบ  6 นิ้ว ติดน้ำมันหน้าหลังเช่นเดียวกัน

            สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยาตราพระคชาธารเป็นบาทย่างสะเทินมา บ่ายหน้าต่อข้าศึก เจ้าพระยาไชยานุภาพ
เจ้าพระยาปราบไตรจักร ได้ยินเสียงพลและเสียงฆ้องกลองอึงคะนึง ก็เรียกมันครั่นครื้น กางหูชูหางกิริยาป่วนเป็นบาทย่างใหญ่
เร็วไปด้วยกำลังน้ำมัน ช้างท้าวพระยามุขมนตรี และโยธาหาญซ้ายขวาหลังนั้นตกลงไปมิทันเสด็จ พระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
ใกล้ทัพหน้าข้าศึก ทอดพระเนตรเห็นพลพม่ารามัญนั้นยกมาเต็มท้องทุ่ง เดินดุจคลื่นในมหาสมุทร พลข้าศึกไล่พลชาวพระนคร
ครั้งนั้นสลับซับซ้อนกันมิได้เป็นกระบวน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ขับพระคชาธารเข้าโจมแทงช้างม้ารี้พลปรปักษ์
ไล่สายเสยถีบฉัดตะลุมบอน พลพม่ารามัญตายเกลื่อนกลาด ช้างข้าศึกได้กลิ่นน้ำมันพระคชาธาร ก็หกหันตลบปะกันไป
เป็นอลหม่าน พลพม่ารามัญก็โทรมยิงธนู หน้าไม้ ปืนไฟ ระดมเอาพระคชาธารสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์
และธุมาการก็ตรลบมืดเป็นหมอกมัวไป มิได้เห็นกันประจักษ์

            สำนวนของวันวลิต ชาวฮอลันดา ซึ่งเข้ามาที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2176 ได้บรรยายเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า
พระเจ้ากรุงหงสาวดียกทัพอันมีกำลังใหญ่หลวง มายังกรุงศรีอยุธยา พระนเรศวรยกทัพมาถึงวัดร้างแห่งหนึ่ง เรียกว่า เครง หรือ
หนองสาหร่าย เพื่อปะทะทัพมอญ เมื่อกองทัพทั้งสองมาประจัญกันเข้า พระนเรศวรและพระมหาอุปราชา (ซึ่งต่างก็ทรงเครื่อง
อย่างกษัตริย์และประทับบนพระคชาธาร) ต่างทอดพระเนตรเห็นกันเข้า ต่างองค์ก็มีพระทัยฮึกเหิมเสด็จออกจากกองทัพ
ขับพระคชาธารโดยปราศจากรี้พลเข้าหากัน แต่พระคชาธารที่พระนเรศวรทรงอยู่นั้นเล็กกว่าช้างทรงพระมหาอุปราชามากนัก
เมื่อกษัตริย์ทั้งสองพระองค์มุ่งเข้าหากัน ช้างที่เล็กกว่าก็ตกใจกลัวช้างที่ใหญ่กว่าถึงกับเบนหัวจะถอยกลับ
พระนเรศวรทรงเห็นดังนั้น จึงตรัสปลอบพระยาช้างต้นให้มีใจฮึกเหิมกลับมาสู้ช้างข้าศึก และทรงพรมน้ำเทพมนต์ซึ่งพราหมณ์
ได้ทำถวายไว้สำหรับโอกาสนี้ ลงบนศีรษะช้าง พระยาช้างต้นผู้ชาญฉลาดเมื่อได้รับน้ำเทพมนต์ และได้ยินเสียงพระราชดำรัส
ของวีรกษัตริย์ก็มีใจฮึกเหิม ชูงวงขึ้นประณตแล้วเบนหัวสู่ข้าศึกพลันวิ่งพุ่งเข้าสู่กษัตริย์มอญอย่างเมามัน อำนาจของพระยาช้างต้น
ในการสู้รบครั้งนี้ แลดูน่าสพึงกลัวและน่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

            ทั้งหมดที่กล่าวมา เป็นเหตุการณ์ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การกระทำยุทธหัตถีของสองกษัตริย์ และสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
ทรงได้ชัยชนะอย่างงดงาม เป็นที่เลื่องลือไปทั่วทิศานุทิศ ข้าศึกศัตรูไม่หาญกล้ามาเบียดเบียนราชอาณาจักรไทยอีกเลยถึง 160 ปี
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #13 เมื่อ: 22-05-2006, 22:34 »


สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังพระมหาอุปราชา แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาแต่ก่อนมีความว่า
            "เจ้าพี่จะยืนช้างอยู่ในที่ร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะทำยุทธหัตถี
ได้อย่างเราจะไม่มีแล้ว"
            พระมหาอุปราชา เมื่อทรงได้ยินดังนั้นก็ขับพลายพัทธกอซึ่งเป็นพระคชาธาร ออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพ
พระคชาธารของสมเด็จพระนเรศวร ในชั้นแรก เจ้าพระยาไชยานุภาพเสียที พลายพัทธกอได้ล่างแบกรุน พระยาไชยานุภาพ
เบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีฟันด้วยพระแสงของ้าว สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทัน ถูกแต่พระมาลาหนังขาดลิไป
พอพระยาไชยานุภาพสะบัดหลุด แล้วกลับชนได้ล่างแบกถนัดรุนพลายพัทธกอหัวเบนไป สมเด็จพระนเรศวรก็จ้วงฟัน
ด้วยพระแสงของ้าว ถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ขวาขาด สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ชนช้างกับ
เจ้าเมืองจาปะโร และฟันเจ้าเมืองจาปะโรตายเช่นกัน ทหารพม่าก็เข้ามากันพระศพพระมหาอุปราชา และเจ้าเมืองจาปะโรออกไป
แล้วเข้าระดมยิงถูกสมเด็จพระนเรศวรที่พระหัตถ์ได้รับบาดเจ็บ และถูกนายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่ง กับหมื่นภักดีศวร
กลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถ ตายทั้งสองคน ขณะนั้น กองทัพเจ้าพระยามหาเสนา พระยาสีหราชเดโชชัยตามไปทัน
ก็ช่วยกันรบพุ่งแก้กันทั้งสองพระองค์ออกมาได้ สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกแตกเฉพาะทัพหน้า
กำลังฝ่ายไทยที่ตามเสด็จไปถึงเวลานั้นมีน้อยนัก จึงจำต้องเสด็จกลับมาค่ายหลวง ฝ่ายข้าศึกก็เชิญพระศพพระมหาอุปราชา
เลิกทัพกลับไปเมืองหงสาวดี เหตุการณ์ในตอนนี้ วัน วลิต ได้บรรยายไว้ว่า

            ช้างข้าศึกพยายามเอางาเสยพระคชาธารให้ถอยห่างอยู่ตลอดเวลา แต่ในที่สุดพระคชาธารซึ่งเล็กกว่าก็ได้ทีช้างข้าศึก
โดยช้างข้าศึกไม่ทันรู้ตัว ขึ้นเสยช้างข้าศึกแล้วเอางวงตีด้วยกำลังแรงยิ่งนัก จนช้างข้าศึกร้องขึ้น กษัตริย์มอญก็ตกพระทัย
กษัตริย์ไทยเห็นได้ทีก็เอาพระแสงขอ ตีต้องพระเศียรกษัตริย์มอญ แล้วใช้พระแสงทวนแทงจนกษัตริย์มอญตกช้างสิ้นพระชนม์
แล้วทรงจับช้างทรงของกษัตริย์มอญนั้นไว้ได้ ทหารรักษาพระองค์ซึ่งตามมาโดยไม่ช้า ก็แทงชาวโปรตุเกส ซึ่งนั่งอยู่เบื้องหลัง
กษัตริย์มอญนั้นตาย เมื่อกองทัพมอญเห็นกษัตริย์ของตนสิ้นพระชนม์ ก็พากันล่าถอยไม่เป็นกระบวนกองทัพไทยก็ไล่ติดตามไป
อย่างกล้าหาญ จับเป็นได้เป็นจำนวนมาก ฆ่าตายเสียก็มาก ที่เหลือนั้นก็แตกกระจัดกระจายไปประดุจแกลบต้องลม
ทหารมอญหลายพันคนต้องตกค้างอยู่ และเมื่อต้องถอยทัพกลับโดยที่ขาดแคลนเสบียงอาหาร
จึงกลับไปถึงเมืองมอญได้น้อยคนนัก

            สมเด็จพระนเรศวรมีชัยในการกระทำยุทธหัตถีครั้งนี้ พระเกียรติยศได้เลื่องลือไปทั่วทุกประเทศในชมพูทวีป
ด้วยถือเป็นคติมาแต่โบราณว่า การชนช้างเป็นยอดวีรกรรมของนักรบ เพราะเป็นการต่อสู้ตัวต่อตัวมิได้อาศัยกำลังพล
หรือกลยุทธใดๆ เป็นการแพ้ชนะกันด้วยฝีไม้ลายมือและความแกล้วกล้า นอกจากนั้นโอกาสที่จะมีเหตุการณ์ดังกล่าวก็มีน้อย
ดังนั้น ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดกระทำยุทธหัตถีได้ชัยชนะ ก็จะได้รับความยกย่องว่ามีพระเกียรติยศอย่างสูงสุดถึงเป็นผู้แพ้
ก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญ ว่าเป็นนักรบแท้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นองค์หนึ่ง ตรงที่ได้กระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา
ณ ตำบลท่าคอย ซึ่งปัจจุบันเป็นตำบลดอนเจดีย์ อยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไปประมาณ 100 เส้น พระเจดีย์ทิ้งร้างมานานหลายร้อยปี
เพิ่งมาพบเมื่อปี พ.ศ. 2456 วัดฐานเจดีย์ได้ด้านละ 10 วา ความสูงประมาณ 20 วา ต่อมาได้มีการบูรณะเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์
ตามแบบอย่างเจดีย์ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ซึ่งสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงให้สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนั้น
ตามคำกราบทูลแนะนำของสมเด็จพระพนรัตน์วัดป่าแก้ว เป็นเจดีย์กลมแบบลังกา ดังที่ปรากฎอยู่ปัจจุบันนี้

            สมเด็จพระนเรศวร ทรงปูนบำเหน็จความชอบอันเนื่องมาจากการสงครามครั้งนี้โดยทั่วกันคือ ช้างพระที่นั่งที่ชนชนะข้าศึก
พระราชทานนามว่า เจ้าพระยาปราบหงสาวดี พระแสงของ้าวก็ได้นามว่าเจ้าพระยาแสนพลพ่าย นับถือเป็นพระแสงศักดิ์สิทธิ์
สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงคชาธารในรัชกาลหลังๆ สืบมา พระมาลาที่พระองค์ทรงในวันนั้น ก็ปรากฎนามว่าพระมาลาเบี่ยง
ดำรงคงอยู่มาถึงปัจจุบันนี้
            เมื่อเสร็จศึกแล้ว สมเด็จพระนเรศวรทรงโทมนัส ที่ไม่สามารถจะตีข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้เหมือนครั้งก่อนเพราะเหตุที่
แม่ทัพนายกองไม่สามารถตามเสด็จให้ทันการรบพุ่งพร้อมกัน พระองค์จึงให้ลูกขุน ประชุมปรึกษาโทษแม่ทัพนายกองเหล่านั้น
ตามพระอัยการศึก ลูกขุนปรึกษากันแล้ววางบทว่า

            พระยาศรีไสยณรงค์ มีความผิดฐานฝ่าฝืนพระบรมราชโองการ ไปรบพุ่งข้าศึกโดยพละการจนเสียทัพแตกมา
            เจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน พระยาพิชัยสงคราม พระยารามคำแหง มีความผิดฐานละเลย
มิได้ตามเสด็จให้ทันท่วงทีการพระราชสงคราม
            ทั้งหมดนี้ โทษถึงประหารชีวิตด้วยกัน พระองค์จึงทรงให้เอาตัวคนทั้งหมดดังกล่าวไปจำตรุไว้พอพ้นวันพระแล้ว
ให้เอาไปประหารชีวิตเสีย ตามคำพิพากษาของลูกขุน

ครั้นถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนพรัตน์ วัดป่าแก้ว กับพระราชาคณะรวม 25 รูป เข้าไปเฝ้าถามข่าวถึง
การเสด็จพระราชสงครามตามประเพณี สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสเล่าเหตุการณ์ทั้งปวงให้ฟังทุกประการ สมเด็จพระพนรัตน์ได้ฟังแล้ว
จึงถวายพระพรถามว่า พระองค์มีชัยแก่ข้าศึก แต่เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องรับราชทัณฑ์ สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า
นายทัพนายกองเหล่านี้กลัวข้าศึกมากกว่ากลัวพระองค์ ละให้แต่พระองค์สองคนพี่น้อง ฝ่าเข้าไปท่ามกลางข้าศึก
จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาต่อมีชัยกลับมาจึงได้เห็นหน้าพวกเหล่านี้ นี่หากว่าพระองค์ยังไม่ถึงที่ตาย
หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว

เหตุนี้พระองค์จึงให้ลงโทษตามอาญาศึก สมเด็จพระพนรัตน์จึงถวายพระพรว่า เมื่อพิเคราะห์ดูข้าราชการเหล่านี้
ที่จะไม่กลัวสมเด็จพระนเรศวรนั้นหามิได้ เหตุทั้งนี้เห็นจะเผอิญเป็นเพื่อจะให้พระเกียรติแก่พระองค์เป็นมหัศจรรย์
เหมือนสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้า เมื่อพระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ใต้ควงไม้โพธิ์ครั้งนั้น เทพเจ้าก็มาเฝ้า
พร้อมหมื่นจักรวาล พระยาวัสวดีมารยกพลเสนามาผจญ ถ้าพระพุทธเจ้าได้เทพเจ้าเป็นบริวาร มีชัยแก่พระยามารก็หาสู้เป็นอัศจรรย์ไม่
เผอิญให้หมู่เทพเจ้าทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น เหลือแต่พระองค์เดียวสามารถผจญให้เหล่ามารปราชัยไปได้ จึงได้พระนามว่า
พระพิชิตมาร โมฬีศรีสรรเพชญดาญาณ เป็นมหาอัศจรรย์บันดาลไปทั่วอนันตโลกธาตุ ก็เหมือนทั้งสองพระองค์ครั้งนี้
ถ้าเสด็จพร้อมด้วยโยธาทวยหาญมาก และมีชัยชนะแก่พระมหาอุปราชา ก็จะหาสู้เป็นมหัศจรรย์แผ่พระเกียรติยศ
ให้ปรากฎแก่นานาประเทศไม่ อันเหตุที่เป็นทั้งนี้ เพื่อเทพเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์ จักสำแดงพระเกียรติยศ เป็นแน่แท้

            สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงฟังแล้วก็ทรงพระปิติโสมนัส ตรัสว่า พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา สมเด็จพระพนรัตน์
จึงได้ถวายพระพรว่า ข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำราชการมา แต่ครั้งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช
และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ตลอดมาจนถึงพระองค์ดุจพุทธบริษัท สมเด็จพระบรมครู จึงขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้สักครั้งหนึ่ง
จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป สมเด็จพระนเรศวร จึงมีรับสั่งว่าเมื่อสมเด็จพระพนรัตน์ขอแล้ว พระองค์ก็จะถวาย แต่ทว่า
จะต้องไปตีเมืองตะนาวศรี เมืองทวายแก้ตัวก่อน สมเด็จพระพนรัตน์ ถวายพระพรว่า การจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้นสุดแต่พระองค์จะสงเคราะห์
มิใช่กิจของสมณะ แล้วก็ถวายพระพรลาไป สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้นายทัพนายกองที่มีความผิดพ้นจากเวรจำ แล้วทรงให้พระยาจักรี
ยกกองทัพมีกำลังพล 50,000 คน ไปตีเมืองตะนาวศรีทัพหนึ่ง ให้พระยาพระคลังคุมกองทัพมีกำลัง 50,000 ไปตีเมืองทวายอีกองทัพหนึ่ง

บันทึกเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี
            เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือนิทานโบราณคดี มีข้อมูลที่น่ารู้ดังนี้
            ในหนังสือพระราชพงศาวดาร ได้กล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงชนะยุทธหัตถีแล้ว
"ตรัสให้ก่อพระเจดีย์สถาน สวมศพพระมหาอุปราชาไว้ ณ ตำบลตระพังกรุ"
            สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงให้พระยากาญจนบุรี (นุช) ไปสืบหาได้ความว่าบ้านตระพังกรุมีมาแต่โบราณเป็นที่ดอน
ต้องอาศัยใช้น้ำบ่อ มีบ่อน้ำกรุอิฐข้างในซึ่งคำโบราณ เรียกว่า ตระพังกรุ อยู่หลายบ่อ แต่ไม่มีเจดีย์ที่สมควรว่า
เป็นของพระเจ้าแผ่นดินสร้างอยู่ในบริเวณนั้น
            เมื่อได้ประมวลเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ได้ข้อสรุปว่า สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้สร้างพระเจดีย์ยุทธหัตถี
ขึ้นตรงที่ชนช้างองค์หนึ่งแล้วทรงสร้างพระเจดีย์ใหญ่อีกองค์หนึ่ง ขนานนามว่า พระเจดีย์ชัยมงคล ขึ้นที่วัดเจ้าพระยาไทย
อันเป็นที่สถิตของพระสังฆราชฝ่ายขวา จึงมักเรียกกันว่า วัดป่าแก้ว ตามนามเดิมของพระสงฆ์คณะนั้น

            ในปีแรกรัชกาลที่ 6 พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ  ตาละลักษณ์) เมื่อยังเป็นหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้พบหนังสือ
เรื่องพงศาวดารเล่มหนึ่ง มีหลักฐานว่าเขียน เมื่อปี พ.ศ. 2223  ซึ่งต่อมาให้เรียกว่า พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ
 มีความในเรื่องสงครามยุทธหัตถีว่า
            "พระมหาอุปราชามาตั้งประชุมทัพอยู่ที่ตำบลตระพังกรุ แล้วมาชนช้างกับสมเด็จพระนเรศวรฯ ที่ตำบลหนองสาหร่าย
เมื่อวันจันทร์ แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง จุลศักราช 955 (พ.ศ. 2135)"
            สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ จึงทรงให้พระยาสุนทรบุรี (อี่  กรรณสูตร) สมุหเทศาภิบาลมณฑลนครไชยศรี ไปสืบหา
ตำบลหนองสาหร่าย ได้ความว่า ตำบลหนองสาหร่ายนั้นอยู่ใกล้ลำน้ำท่าคอย อยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองสุพรรณ
เป็นลำน้ำเดียวกันกับลำน้ำจรเข้สามพัน ที่ตั้งเมืองอู่ทอง แต่อยู่เหนือขึ้นไปไกล มีเจดีย์โบราณอยู่ ชาวบ้านเรียกว่า ดอนเจดีย์
เป็นเจดีย์ฐานทักษิณเป็น 4 เหลี่ยม 3 ชั้น ชั้นล่างกว้าง 8 วา องค์พระเจดีย์เหนือฐานทักษิณ ชั้นที่ 3 ขึ้นไป หักพังหมดแล้ว
ประมาณขนาดสูงเมื่อยังบริบูรณ์ เห็นจะราวเท่า ๆ กับ พระปรางค์ที่วัดราชบูรณะในกรุงเทพฯ
            ระยะทางระหว่างตำบลสำคัญที่ได้จากเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินโดยสถลมารค ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปสักการบูชา พระเจดีย์ยุทธหัตถี เมื่อ พ.ศ. 2453  พอประมวลได้ดังนี้


                 นครปฐม  ถึง  กำแพงแสน                                              ระยะทาง  568  เส้น      หรือประมาณ  23  กิโลเมตร
                 กำแพงแสน ถึง  บ้านบ่อสุพรรณ                                      ระยะทาง  706  เส้น      หรือประมาณ  28  กิโลเมตร
                 บ้านบ่อสุพรรณ  ถึง  บ้านตระพังกรุ                                  ระยะทาง  125  เส้น      หรือประมาณ   5   กิโลเมตร
                 บ้านตระพังกรุ  ถึง  บ้านดอนมะขาม                                 ระยะทาง  274  เส้น      หรือประมาณ  11  กิโลเมตร
                 บ้านดอนมะขาม  ถึง  บ้านจรเข้สามพัน                             ระยะทาง  411  เส้น      หรือประมาณ  16  กิโลเมตร
                 บ้านจรเข้สามพัน ถึง  อู่ทอง                                            ระยะทาง  140  เส้น      หรือประมาณ    6  กิโลเมตร
                 อู่ทอง  ถึง  บ้านโข้ง                                                       ระยะทาง  510  เส้น      หรือประมาณ  20  กิโลเมตร
                 บ้านโข้ง  ถึง  ดอนเจดีย์                                                 ระยะทาง 495  เส้น       หรือประมาณ  20  กิโลเมตร

ลำดับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ของห้วงเวลานั้นได้ดังนี้
            กองทัพพระมหาอุปราชา เดินทัพมาจนเข้าเขตเมืองสุพรรณบุรี แขวงบ้านพนมทวน หยุดตั้งกองทัพที่ตำบลตระพังกรุ
แขวงเมืองสุพรรณบุรี แล้วให้กองกำลังทหารม้าออกลาดตระเวณหาข่าว
            สมเด็จพระนเรศวร ยกกองทัพมาตั้งค่ายหลวงอยู่ที่หนองสาหร่าย ริมแม่น้ำท่าคอย เมื่อวันขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่
และทรงให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ กับพระราชฤทธานนท์ ที่ออกไปขัดตาทัพอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย เลื่อนออกไปขัดตาทัพที่ดอนระฆัง
            พระยาศรีไสยณรงค์ แจ้งข่าวข้าศึกว่า กองทัพใหญ่ข้าศึกเคลื่อนที่พ้นบ้านจรเข้สามพันมาแล้ว เมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่
สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้กองทัพทั้งปวง เตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น

            วันจันทร์แรม 2 ค่ำ เดือนยี่ สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงเครื่องพิชัยยุทธ ขณะนั้นได้ยินเสียงปืน
จากการปะทะกันของทัพหน้าไทยกับทัพหน้าพม่า ได้ความว่าปะทะกันที่ดอนเผาข้าว เมื่อเวลาเช้าจึงมีรับสั่งให้
กองทัพหน้าล่าถอยลงมาโดยเร็ว ทรงให้สงบทัพหลวงรออยู่จน 11 นาฬิกา เห็นข้าศึกรุกไล่ลงมาไม่เป็นกระบวน
จึงทรงให้สัญญาณกองทัพทั้งปวงยกออกตีข้าศึก
            จากเหตุการณ์ดังกล่าว จะพบว่าพระมหาอุปราชาเคลื่อนทัพจากตระพังกรุ มาถึงบ้านจรเข้สามพันเมื่อวันแรม 1 ค่ำ เดือนยี่
เป็นระยะทาง 685 เส้น หรือ 28 กิโลเมตร ซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 วัน ณ จุดนี้จะอยู่ห่างจากหนองสาหร่าย ที่ตั้งค่ายหลวงของไทย
เป็นระยะทาง 1145 เส้น หรือ 46 กิโลเมตร สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้เตรียมตัวรบข้าศึกในวันรุ่งขึ้น
            ในวันรุ่งขึ้นซึ่งข้าศึกจะเคลื่อนทัพมาได้อีกประมาณ 30 กิโลเมตร ซึ่งจะอยู่ห่างจากค่ายหลวงของไทยประมาณ 20 กิโลเมตร
ซึ่งจะใช้ระยะเวลาเดินทางอีกไม่เกิน 1 วัน
            วันต่อมาคือวันแรม 2 ค่ำ เดือนยี่ เวลาเช้าได้ยินเสียงปืนจากการปะทะกัน ได้ความว่าปะทะกันที่ดอนเผาข้าว
ซึ่งน่าจะอยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไม่เกิน 15 กิโลเมตร เพราะเป็นเวลาเช้าเสียงปืนใหญ่ได้ยินไปได้ไกล และพระองค์ทรงรออยู่
จน 11 นาฬิกา ข้าศึกจึงรุกไล่ทัพหน้าของไทยมาถึงทัพหลวง

            เมื่อสมเด็จพระนเรศวร กับพระเอกาทศรถ ยกกำลังทั้งปวงเข้าตีข้าศึก ช้างศึกของทั้งสองพระองค์เร่งรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
จนกองทัพตามไม่ทัน ผงคลีจากกองทัพทั้งสองฝ่ายที่สู้รบติดพันกันมาปลิวคลุ้งจนมืดมิด และเมื่อฝุ่นจางจึงทอดพระเนตรเห็น
พระมหาอุปราชายืนอยู่ช้างอยู่ใต้ร่มไม้ ระยะทางที่ช้างทรงของทั้งสองพระองค์ตลุยข้าศึกมานี้เป็นระยะทาง 100 เส้น หรือ 4 กิโลเมตร
เนื่องจากพระเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ห่างจากหนองสาหร่ายไปประมาณ 100 เส้น
            เหตุการณ์อันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ชาติไทยครั้งนั้น ก็สมจริงตามได้บันทึกกันไว้สืบต่อมาทุกประการ

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #14 เมื่อ: 23-05-2006, 21:19 »

สงครามไทย-พม่า ครั้งที่ 11 ไทยตีเมืองทวายและตะนาวศรี

เมืองทวาย และเมืองตะนาวศรี เป็นเมืองขึ้นของไทยแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี มาตกเป็นของพม่า
เมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนี้ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงให้ไปตีก่อนเมืองอื่น
เมืองทวายอยู่ต่อแดนมอญ ข้างเหนือเมืองตะนาวศรี พลเมืองเป็นทวายชาติหนึ่งต่างหาก ขึ้นกรุงศรีอยุธยา
เหมือนอย่างประเทศราช เมืองตะนาวศรีอยู่ใต้เมืองทวายมาต่อกับเมืองชุมพร พลเมืองมีทั้งพวกเม็งและไทยปนกัน
เมืองมะริดอันเป็นเมืองขึ้น ตั้งอยู่ที่ปากน้ำเมืองตะนาวศรี มีเรือกำปั่นแขกฝรั่งมาค้าขายที่เมืองนี้ และมีทางขนสินค้า
มากรุงศรีอยุธยาได้สะดวก เมืองมะริดจึงกลายเป็นเมืองท่าของไทยทางอ่าวบังกล่า ซึ่งเรียกว่าทะเลตะวันตก
ทางกรุงศรีอยุธยาจึงตั้งข้าราชการในกรุง ออกไปเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรีอย่างหัวเมืองทั้งปวงมาแต่โบราณ
เมื่อพม่าชิงเอาเมืองทวายกับตะนาวศรีไป ก็เอาแบบอย่างไทยไปปกครอง

            เมื่อพม่าเจ้าเมืองตะนาวศรี ทราบข่าวว่ากองทัพไทยจะยกไปตีเมือง ก็รีบบอกไปยังกรุงหงสาวดี ขอกองทัพมาช่วย
ครั้งนั้น พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ทรงทรงพิโรธแม่ทัพนายกองที่มาทัพกับพระมหาอุปราชา จึงทรงให้เขาเหล่านั้น
คุมกองทัพมาช่วยรักษาเมืองทวาย และเมืองตะนาวศรี ให้มารบกับไทยแก้ตัวใหม่ ขณะที่กำลังเตรียมทัพอยู่
เจ้าพระยาจักรีก็ยกทัพไปถึงเมืองตะนาวศรีเสียก่อนแล้วล้อมเมืองไว้ ทางตะนาวศรีสู้อยู่ได้ 15 วันก็เสียเมืองแก่ไทย
ส่วนกองทัพพระยาพระคลังที่ยกไปตีเมืองทวาย ได้รบพุ่งกับข้าศึกตรงด่านเชิงเขาบรรทัดครั้งหนึ่ง
ฝ่ายไทยตีข้าศึกแตกพ่ายไป จากนั้นกองทัพพระยาพระคลังก็ยกไปล้อมเมืองทวาย ล้อมอยู่ได้ 20 วัน
ทางเมืองทวายก็ออกมาอ่อนน้อม ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ของกรุงศรีอยุธยาดังแต่ก่อน

            ฝ่ายพระยาจักรี เมื่อได้เมืองตะนาวศรีและเมืองมะริดแล้ว วิตกว่าเมืองทวายซึ่งอยู่ต้นทางเกรงทางข้าศึก
ยกทัพมาตีกระหนาบกองทัพพระยาพระคลัง จึงให้จับเรือกำปั่นที่มาค้าขายอยู่ที่เมืองมะริด ได้เรือสลุปของฝรั่งลำหนึ่ง
ของแขก 2 ลำ และเรือพื้นเมืองอีก 150 ลำ จัดเป็นกองเรือรบ ให้พระยาเทพอรชุนเป็นนายทัพเรือ คุมกำลังพล 10,000 คน
ยกไปเมืองทวายทางทะเล ให้พระยาศรีไสยณรงค์ คุมกำลังพล 10,000 คน อยู่รักษาเมืองตะนาวศรี แล้วเจ้าพระยาจักรี
ยกกำลังพล 30,000 คน ยกขึ้นไปเมืองทวายทางบก กองกำลังทางเรือของพระยาเทพอรชุน ยกไปทางทะเล
ถึงตำบลบ้านบ่อในแดนเมืองทวาย ก็ปะทะกับกำลังทางเรือของสมิงอุบากอง สมิงพระตะบะ ซึ่งพระเจ้าหงสาวดี
ให้ลงมาช่วยรักษาเมืองตะนาวศรี มีกำลังทางเรือประมาณ 2,000 ลำ กำลังพลประมาณ 10,000 คน ก็เข้ารบพุ่งกันทางทะเล
ตั้งแต่เช้าถึงเที่ยง ยังไม่แพ้ชนะกัน ถึงเวลาบ่ายลมตั้งคลื่นใหญ่ จึงต้องทอดสมอเรือ รอกันอยู่ทั้งสองฝ่าย

            ฝ่ายพระยาพระคลัง เมื่อได้ตีเมืองทวายแล้ว ก็เป็นห่วงทางเจ้าพระยาจักรี เนื่องจากไม่ได้ข่าวว่า
ตีเมืองตะนาวศรีได้แล้วหรือไม่ จึงให้จัดกำลังทางเรือ มีจำนวนเรือ 100 ลำ กับกำลังพล 5,000 คนให้พระยาพิชัยสงคราม
พระยารามคำแหง คุมกำลังไปช่วยเจ้าพระยาจักรีที่เมืองตะนาวศรี พอกองทัพยกออกจากเมืองทวาย ก็ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น
ทางทิศใต้ จึงให้ขุนโจมจตุรงค์ คุมเรือลาดตะเวณลงไปสืบ ได้ความว่า กองกำลังทางเรือของไทยยกขึ้นมาจากทางตะนาวศรี
กำลังต่อสู้อยู่กับกองกำลังทางเรือของพม่า ฝ่ายไทยจึงยกกองทัพเข้าตีกระหนาบพม่าลงไปจากทางเหนือ กองทัพไทยยิงถูก
สมิงอุบากองนายทัพพม่าตายในที่รบ และยิงเรือสมิงพระตะบะ และเรือข้าศึกจมอีกหลายลำ กองกำลังทางเรือของพม่าก็แตก
กองทัพไทยจับเป็นได้ประมาณ 500 คน ได้เรือและเครื่องศัตราวุธเป็นจำนวนมาก

            ฝ่ายไทยได้ทราบความจากพวกเชลยว่า ยังมีกองทัพข้าศึกยกมาทางบก จากเมืองเมาะตะมะจะลงมาช่วยเมืองทวาย
เจ้าพระยาจักรีกับพระยาพระคลัง จึงจัดกำลังทางบกขึ้นไปทางแม่น้ำทวายเป็นสองทาง โดยที่กองทัพเจ้าพระยาจักรี
ยกขึ้นไปทางฝั่งตะวันออก กองทัพพระยาพระคลังยกไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ไปดักซุ่มอยู่สองฟากทางที่กองทัพข้าศึก
จะยกลงมา กองทัพข้าศึกมีเจ้าเมืองมล่วนเป็นนายทัพ ยกลงมาทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทางหนึ่ง ตรงมาทางเมืองกลิอ่อง
หมายที่จะเข้าเมืองทวายทางตำบลเสือข้าม โดยที่ไม่รู้ว่า เมืองทวายและเมืองตะนาวศรีเสียแก่ไทยแล้ว
ส่วนเจ้าเมืองกลิตองปุก็คุมกองทัพ มาทางชายทะเลด้านตะวันตก มาถึงป่าเหนือบ้านหวุ่นโพะ ฝ่ายไทยเห็นฝ่ายพม่า
ยกกำลังถลำเข้ามาในบริเวณที่ซุ่มอยู่ ก็ออกระดมโจมตีทั้งสองกองทัพ ฝ่ายข้าศึกไม่ทันรู้ตัวก็แตกพ่าย เสียช้างม้าผู้คน
และเครื่องศัตราวุธให้แก่ฝ่ายไทยเป็นอันมาก ฝ่ายไทยจับได้นายทัพนายกอง 11 คน ไพร่พล 400 คนเศษ
เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระนเรศวร พระองค์ก็โปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์ อยู่รักษาเมืองตะนาวศรีต่อไป ส่วนเมืองทวาย
ก็ให้เจ้าเมืองกรมการ เข้ามาเฝ้าถือน้ำพิพัฒน์สัจจา แล้วโปรดให้กลับไปรักษาเมืองตามเดิม แล้วมีตราให้กองทัพกลับพระนคร
เมื่อปี มะเส็ง พ.ศ. 2136

การปราบปรามเขมร และฟื้นฟูหัวเมืองเหนือ

สมเด็จพระนเรศวรทรงแค้นเคืองเขมร ที่ลอบเข้ามาทำร้ายไทย ทุกครั้งที่ไทยเกิดมีภัยพิบัติและอ่อนกำลังลง
ดังนั้น พอเสร็จศึกสำคัญหมดแล้ว พระองค์จึงเสด็จยกทัพไปตีกัมพูชา ในปีมะเส็ง พ.ศ. 2136 โดยจัดกำลังเป็นทัพเรือสองกองทัพ
ให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพเรือ ยกไปตีทางเมืองป่าสักทัพหนึ่งให้ พระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพเรือ ยกไปตีเมืองบันทายมาศอีกทัพหนึ่ง
ส่วนกองทัพบก ให้พระยานครราชสีมา คุมพลหัวเมืองตะวันออก ไปตีเมืองเสียมราฐ และฝั่งตะวันออกของทะเลสาบเขมรอีกทัพหนึ่ง
ส่วนกองทัพหลวง ให้พระราชมนูคุมกองทัพหน้า สมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกทัพหลวงไปตีเมืองพระตะบอง
ทางด้านฝั่งตะวันตกของทะเลสาบ นัดหมายให้ไปถึงเมืองละแวก อันเป็นนครหลวงของกัมพูชา พร้อมกันทุกกองทัพ
ในการนี้ ให้เกณท์ผู้คนในเมืองนครนายก เมืองปราจีณบุรีอันอยู่บนเส้นทางเดินทัพไปเขมร เข้าร่วมกองทัพด้วย
เมื่อไปถึงเมืองพระตะบองก็ตีเมืองได้ และจับตัวเจ้าเมือง คือพระยามโนไมตรีจิตได้ จากนั้นก็เข้าตีเมืองละแวกได้
เมื่อต้น ปีมะเมีย พ.ศ. 2137 จับนักพระสัตถาเจ้ากรุงกัมพูชาได้ แล้วให้ประหารชีวิตนักพระสัตถาเสียในพิธีปฐมกรรม
แล้วกวาดต้อนครอบครัวเขมรมาเป็นเชลยเป็นอันมาก พระองค์ได้ให้พระมหามนตรีปกครองเขมรชั่วคราว
แล้วให้นำราชอนุชานักพระสัตถา พระนามว่าพระเจ้าศรีสุพรรณมาธิราชมายังกรุงศรีอยุธยา
ต่อมาจึงโปรดฯ ให้กลับไปครองกรุงกัมพูชา เขมรจึงกลับเป็นเมืองขึ้นของไทยนับแต่นั้นมา

            เหตุการณ์ในตอนนี้ วัน วลิต ได้บรรยายไว้ว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปตีบ้านเมืองต่างๆ ได้เป็นอันมาก
และมีชัยต่อเจ้ากรุงกัมพูชา พระองค์จับพระเจ้ากรุงกัมพูชา และพระราชโอรสธิราชทั้งหมดเป็นเชลย แต่ทรงอนุญาตให้
พระราชโอรสองค์ใหญ่ของเจ้ากรุงกัมพูชา อยู่ครอบครองกัมพูชาต่อไป โดยให้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่าจะไม่คิดคดทรยศ
จะเป็นข้ากรุงศรีอยุธยาสืบไป เมื่อได้จัดการกับกรุงกัมพูชาเสร็จแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจึงยกทัพกับพระนครและให้เอาตัว
เจ้ากัมพูชากับราชโอรสอีกสามองค์มาเป็นเชลยด้วย เมื่ออยู่ต่อมาได้ระยะหนึ่งไม่นานก็โปรดให้ส่งเจ้ากรุงกัมพูชากลับไป
เสวยราชย์ ณ กรุงกัมพูชาตามเดิมโดยให้ถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ให้พระราชโอรสอยู่เป็นตัวจำนำที่กรุงศรีอยุธยา
และให้กรุงกัมพูชาถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองต่อกรุงศรีอยุธยาปีละครั้ง

            เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงพระนครแล้ว ได้มีพระราชดำรัสสั่งให้ตั้งหัวเมืองเหนือ ที่ได้ทิ้งให้ร้างตั้งแต่เริ่มทำสงคราม
กู้อิสรภาพอยู่ 8 ปีนั้น ให้กลับมีเจ้าเมืองกรมการปกครองดังแต่ก่อน ทรงตั้งให้ข้าราชการที่มีบำเหน็จความชอบ ให้ไปเป็นผู้ปกครองคือ
พระยาชัยบูรณ์ (ไชยบุรี) ข้าหลวงเดิม ที่ได้ทรงใช้สอยทำศึกมาแต่แรก ให้เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ ครองเมืองพิษณุโลก
พระยาศรีเสาวราช ไปครองเมืองสุโขทัย พระองค์ทอง ไปครองเมืองพิชัย หลวงจ่า (แสนย์) ไปครองเมืองสรรคโลก และเข้าใจว่า
ได้ส่งครอบครัวเขมรที่ได้มาคราวไปตีเขมรนั้น ไปอยู่หัวเมืองเหนือโดยมาก

สงครามไทย-พม่า ครั้งที่ 12 ไทยได้หัวเมืองมอญ
พวกมอญไม่ชอบพม่า คิดหาโอกาสที่จะพ้นอำนาจพม่าอยู่เสมอ เมื่อยังอยู่ในอำนาจพม่า ก็ต้องยอมให้พม่า ใช้มารบพุ่งกับไทย
ได้รับความยากลำบากมากเข้า ก็พยายามดิ้นรนให้พ้นจากอำนาจพม่ายิ่งขึ้น ครั้นเห็นกองทัพพระเจ้าหงสาวดี
ทำสงครามแพ้ไทยติดต่อกันหลายครั้ง ครั้งล่าสุด ไทยก็ได้ยกกองทัพไปตีเมืองทวายและเมืองตะนาวศรีได้
จึงพากันกระด้างกระเดื่องต่อพม่า พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคืองว่ามอญจะก่อการกบฏ จึงให้ยกกองทัพจากเมืองหงสาวดีมาปราบปราม
พวกมอญหนีกองทัพพม่าไปอยู่เมืองยะไข่บ้าง เชียงใหม่บ้าง แต่โดยมากเข้ามาอยู่กับสมเด็จพระนเรศวรที่กรุงศรีอยุธยา ต่อมา
พระเจ้าหงสาวดีทรงตั้งขุนนางผู้ใหญ่ชื่อพระยาลาว มาเป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ตำแหน่งเทศาภิบาลมณฑลหัวเมืองมอญฝ่ายใต้
ครั้งนั้น มีผู้กล่าวหาว่าพระยาโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิง (เมืองมรแมน) มาเข้ากับไทย พระยาลาวจะเอาตัวพระยาเมาะลำเลิงไปชำระโทษ
แต่พระยาเมาะลำเลิงรู้ตัวก่อน จึงรวบรวมกำลังตั้งแข็งเมือง แล้วส่งทูตเข้ามาขอสวามิภักดิ์กับกรุงศรีอยุธยา
และขอให้ทางไทยยกกองทัพออกไปช่วย สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้พระยาศรีไศล คุมกองพลมีกำลังพล 3,000
ยกไปช่วยเมืองเมาะลำเลิง พอกองทัพไทยยกไปถึง พวกมอญตามหัวเมืองก็พากันมาเข้ากับไทยเป็นอันมาก
จนพม่าที่รักษาเมืองเมาะตะมะต้องทิ้งเมืองหนีไป พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระเจ้าตองอูยกทับมาปราบปราม กองทัพไทย
กับมอญช่วยกันรบพุ่ง ตีกองทัพพระเจ้าตองอูแตกพ่ายไป กองทัพไทยมอญไล่ติตตามไปจนถึงเมืองสะโตง
แต่กำลังไม่พอที่จะรุกไล่ต่อไป จึงต้องยกกำลังกลับมาเมืองเมาะตะมะ
            ผลจากการรบครั้งนี้ ทำให้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ตั้งแต่เมืองเมาะตะมะ ตลอดมาจนต่อกับแดนไทย
ได้มาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด

สงครามไทย-พม่าครั้งที่ 13 สมเด็จพระเรศวรตีเมืองหงสาวดี

การที่สมเด็จพระนเรศวร ได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นเมืองขึ้น นับว่าเป็นจุดหักเหที่มีนัยสำคัญ ของการสงครามไทยกับพม่า
จากเดิมฝ่ายพม่าเป็นฝ่ายยกทัพมาย่ำยีไทยมาโดยตลอด การได้หัวเมืองมอญฝ่ายใต้ ทำให้ไทยใช้เป็นฐานทัพที่จะยกกำลัง
ไปตีเมืองหงสาวดีได้สะดวก
            สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงไปตีเมืองหงสาวดี ออกจากพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น3 ค่ำ เดือนอ้าย
ปีมะแม พ.ศ. 2138 มีกำลังพล 120,000 คน เดินทัพไปถึงเมืองเมาะตะมะ แล้วรวบรวมกองทัพมอญเข้ามาสมทบ
จากนั้นได้เสด็จยกกองทัพหลวงไปยังเมืองหงสาวดี เข้าล้อมเมืองไว้ กองทัพไทยล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ 3 เดือน และได้เข้าปล้นเมือง
เมื่อวันจันทร์ แรม 13 ค่ำ เดือน 4  ครั้งหนึ่ง แต่เข้าเมืองไม่ได้ ครั้นเมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าแปร พระเจ้าอังวะ พระเจ้าตองอู
ได้ยกกองทัพลงมาช่วยพระเจ้าหงสาวดีถึงสามเมือง เห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากนัก จึงทรงให้เลิกทัพกลับ เมื่อวันสงกรานต์
เดือน 5 ปีวอก พ.ศ. 2139 และได้กวาดต้อนครอบครัวในหัวเมืองมณฑลหงสาวดี มาเป็นเชลยเป็นอันมาก
และกองทัพข้าศึกมิได้ยกติดตามมารบกวนแต่อย่างใด

            การสงครามครั้งนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปครั้งนี้
เป็นการจู่ไปโดยไม่ให้ข้าศึกมีเวลาพอตระเตรียมการต่อสู้ได้พรักพร้อม และพระราชประสงค์ที่ยกไปนั้น น่าจะมีอยู่ 3 ประการคือ
                ประการแรก      ถ้าสามารถตีเอาเมืองหงสาวดีได้ก็จะตีเอาทีเดียว
                ประการที่สอง   ถ้าตีเมืองหงสาวดียังไม่ได้ครั้งนี้ ก็จะตรวจภูมิลำเนา และกำลังข้าศึกให้รู้ไว้ สำหรับคิดการคราวต่อไป
                ประการที่สาม   คงคิดกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยให้มาก เพื่อประสงค์จะตัดทอนกำลังข้าศึก และเอาผู้คนมาเพิ่มเติม
                                      เป็นกำลังสำหรับพระราชอาณาจักรต่อไป

            ข้อสันนิษฐานอื่นๆ มีอยู่ว่า การกวาดต้อนผู้คนกลับพระราชอาณาจักรไทยครั้งนี้ น่าจะได้ช่วยนำคนไทยผู้ซึ่งถูกพม่า
กวาดต้อนเอาไปเป็นเชลย แล้วเอาตัวไว้ใช้งานตามเมืองต่างๆ กลับมาด้วย ประการต่อมา สาเหตุที่ยกทัพกลับนั้น
นอกจากจะทรงเห็นว่า กองทัพข้าศึกกำลังระดมยกมาจากอีกสามเมืองใหญ่ มีกำลังมากแล้ว เสบียงอาหารของกองทัพไทย
ก็น่าจะขาดแคลน เพราะมีกำลังพลมากและล้อมเมืองหงสาวดีอยู่นานถึงสามเดือน ประกอบกับใกล้เข้าสู่ฤดูฝนแล้ว และประการสุดท้าย
การที่พระองค์ถอนทัพกลับโดยที่พม่าไม่ได้ยกติดตามตีหรือรบกวนแต่อย่างใด ทั้งที่มีพลเรือนที่ถูกกวาดต้อนมาเป็นจำนวนมาก
เช่นเดียวกับครั้งสงครามประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงก็น่าจะเป็นเพราะพระองค์ดำเนินการถอนทัพ และนำผู้คนพลเรือนกลับมา
อย่างมีระบบโดยให้พลเรือนล่วงหน้าไปก่อน อย่างครั้งสงครามประกาศอิสรภาพ พม่าไม่กล้าติดตาม เพราะได้ทราบบทเรียนจากครั้งนั้น
ประกอบกับความเกลงกลัวในพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระนเรศวร และความเข้มแข็งเก่งกล้าสามารถของกองทัพไทยในครั้งนั้น
ทำให้กองทัพไทยถอนทัพกลับได้โดยราบรื่น ปราศจากการรบกวนใดๆ

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23-05-2006, 21:21 โดย narong » บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #15 เมื่อ: 23-05-2006, 22:21 »

สงครามไทย-พม่าครั้งที่ 14 สมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดี ครั้งที่ 2

หลังจากที่สมเด็จพระนเรศวรยกทัพไปตีกรุงหงสาวดีครั้งแรกแล้ว ไทยก็ว่างศึกสงครามอยู่ 3 ปี ในระหว่างนั้น
พม่ามีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ล้วนแต่ไม่เป็นผลดีต่อพม่า พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงได้ยกพระเจ้าอังวะ
ให้เป็นพระมหาอุปราชา แทนที่จะยกให้แก่พระเจ้าแปร ซึ่งเคยทำสงครามมีความชอบมาแต่ก่อน พระเจ้าแปรคิดว่า
พระเจ้าตองอูส่งเสริมพระเจ้าหงสาวดี ให้ดำเนินการไปเช่นนั้น ก็แค้นพระเจ้าตองอู จึงยกทัพไปตีเมืองตองอู
เวลานั้นพระเจ้าตองอูยังอยู่ที่เมืองหงสาวดี ให้นัดจินหน่องผู้เป็นราชบุตรอยู่รักษาเมือง พระเจ้าแปรตีเมืองตองอูไม่ได้
จึงได้แต่แข็งเมือง ต่อมาเมืองตองอู เมืองยะไข่ เมืองเชียงใหม่ และกรุงศรีสัตนาคนหุต ก็ตั้งแข็งเมืองขึ้นมาบ้าง
พระเจ้าหงสาวดีไม่รู้ที่จะทำประการใด  เห็นว่าไม่มีกำลังพอที่จะปราบปรามได้ จึงต้องนิ่งอยู่

            ฝ่ายพระหน่อแก้ว เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ได้หนุนให้พระยาน่านซึ่งขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ ให้แข็งเมืองต่อเชียงใหม่
บรรดาชาวลานช้างซึ่งถูกกวาดต้อนไปจากถิ่นฐานเนื่องจากการสงคราม พอรู้ว่าพระหน่อแก้วประกาศเอกราชก็ดีใจ
พากันอพยพครอบครัวจะกลับไปเมืองลานช้าง แต่เส้นทางกลับต้องผ่านเขตเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ชื่อมังนรธาช่อ
ซึ่งเป็นน้องของพระเจ้าหงสาวดี ก็คอยขัดขวางเพื่อรักษาประโยชน์ของพม่า พระหน่อแก้วจึงเตรียมกองทัพมารับครัวลานช้าง
ไปจากเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าเชียงใหม่ทราบเรื่องก็ร้อนตัว ประกอบกับการที่ตนเป็นพม่าเข้ามาปกครองชาวไทย
เมื่อพม่าทำสงครามแพ้ไทย ราษฎรก็จะไม่กลัวเกรงพม่าอีกต่อไป ถ้ากองทัพกรุงศรีอยุธยาหรือกรุงศรีสัตนาคนหุตยกมาตี
เกรงว่าราษฎรจะไปเข้ากับฝ่ายข้าศึก เมื่อเห็นสถานการณ์เป็นเช่นนั้น จึงหาทางออกด้วยการมาสวามิภักดิ์กับไทย
พระเจ้าเชียงใหม่จึงส่งทูตเชิญราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการมายังกรุงศรีอยุธยา ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา
ต่อสมเด็จพระนเรศวร และขอพระราชทานกองทัพขึ้นไปช่วยคุ้มกันเมืองเชียงใหม่ สมเด็จพระนเรศวรจึงโปรดให้
เจ้าพระยาสุรสีห์ เจ้าเมืองพิษณุโลก คุมกองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นไปห้ามปราม มิให้ทางลานช้างมารุกรานเมืองเชียงใหม่
และให้พาตัวพระยารามเดโช ซึ่งเป็นท้าวพระยาเมืองเชียงใหม่ ที่หนีพม่ามาพึ่งสมเด็จพระนเรศวรที่กรุงศรีอยุธยา
ขึ้นไปช่วยพระเจ้าเชียงใหม่รักษาบ้านเมืองต่อไปด้วย

เจ้าพระยาสุรสีห์ยกทัพขึ้นไปถึงเมืองเชียงแสน ห้ามทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต ซึ่งยกกำลังมาตั้งติดเมืองเชียงแสนอยู่
ให้ยุติการรุกรานเมืองเชียงใหม่ ด้วยพระเจ้าเชียงใหม่ได้ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของกรุงศรีอยุธยาแล้ว
กองทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต ได้ทราบเรื่องก็เกรงพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระนเรศวร พากันเลิกทัพกลับไป
แต่เวลานั้นเมืองน่านและเมืองฝาง ยังไม่ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าเชียงใหม่ เจ้าพระยาสุรสีห์จึงให้พระยารามเดโช
เป็นข้าหลวงอยู่ที่เมืองเชียงแสน เพื่อให้เกลี้ยกล่อมหัวเมืองที่ยังกระด้างกระเดื่อง และคอยระวังมิให้เกิดเหตุ
กับเมืองลานช้างต่อไป

            ตั้งแต่นั้นมาดินแดนลานนาไทย ก็เข้ามาอยู่ในพระราชอาณาเขตของสมเด็จพระนเรศวรมาโดยตลอด
เป็นการเริ่มรวมชนชาติไทย เข้ามาเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน
            นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นทางเมืองยะไข่ ซึ่งแต่เดิมเป็นประเทศอิสระอยู่ทางชายทะเล
ด้านตะวันตก ต่อมาได้ตกเป็นประเทศราชของพม่า ในสมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง
เสื่อมอำนาจลง พระเจ้ายะไข่ก็ตั้งแข็งเมืองบ้าง เช่นเดียวกับเมืองใหญ่อื่นๆ ที่ได้กล่าวมาแล้ว เหตุการณ์ดังกล่าว
ได้เกิดขึ้นโดยต่อเนื่องกันมา ตั้งแต่ปีมะแม พ.ศ. 2138 จนถึงปีจอ พ.ศ. 2141

            สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริเห็นว่า เมืองหงสาวดีปั่นป่วน เป็นโอกาสของฝ่ายไทย จึงทรงให้เตรียมการ
ตีเมืองหงสาวดีอีกครั้งหนึ่ง การยกทัพไปครั้งนี้ได้มีการเตรียมการเป็นขั้นตอน ไม่ได้ยกแบบจู่โจมไปเช่นครั้งก่อน
เริ่มต้นด้วยการให้เจ้าพระยาจักรี คุมกองทัพ มีกำลังพล 15,000 คน ยกออกไปเมื่อต้นปีกุน พ.ศ. 2142
ไปตั้งทัพอยู่ที่เมืองเมาะลำเลิง เกณฑ์ผู้คนมาทำนาในปีฤดูฝนปีนั้น เพื่อเตรียมเสบียงอาหารไว้สำหรับกองทัพหลวง
และได้เกณฑ์กองทัพเมืองทวาย มีกำลังพล 5,000 คน ให้ไปตั้งต่อเรือสำหรับกองทัพ ที่เกาะพะรอก แขวงเมืองวังราว
(ปัจจุบัน คือเมือง อัมเฮิสต์ )

            ครั้งนั้น หัวเมืองขึ้นของเมืองหงสาวดี ทราบเรื่องว่า สมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองหงสาวดี
ก็พากันมาอ่อนน้อมหลายเมือง ที่สำคัญ คือ เมืองยะไข่ (ละเคิง) กับเมืองตองอู ซึ่งได้ตั้งแข็งเมืองอยู่ก่อนแล้ว
ทั้งสองเมืองนี้ได้มีศุภอักษร ให้ทูตถือมาถวายสมเด็จพระนเรศวร ที่กรุงศรีอยุธยา รับว่าถ้าเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีเมื่อใด
ก็จะยกกองทัพลงมาช่วย การดำเนินการทางการทูตของทั้งสองเมืองนี้ ทางกรุงหงสาวดีไม่ทราบเรื่อง
            การที่เมืองทั้งสองมาอ่อนน้อมต่อสมเด็จพระนเรศวรนั้น นอกจากจะเป็นการปลอดภัยจากกองทัพไทยแล้ว
ก็ยังหวังประโยชน์ที่จะได้เพิ่มเติมจากสถานภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบัน  กล่าวคือ

            เมืองยะไข่เป็นเมืองชายทะเล ชาวเมืองย่อมชำนาญในการใช้เรือ พระเจ้ายะไข่อยากได้หัวเมืองขึ้นหงสาวดี
ที่ต่อแดนกับทางชายทะเลตะวันออก ไปเป็นเมืองขึ้นของยะไข่ จึงมาขอเข้ากับไทย ด้วยหวังว่าจะให้สมเด็จพระนเรศวร
ยอมยกหัวเมืองดังกล่าวให้เป็นบำเหน็จ เมื่อทูตยะไข่กลับจากกรุงศรีอยุธยา พระเจ้ายะไข่ทราบว่า
สมเด็จพระนเรศวรรับเป็นไมตรีแล้ว ก็ให้กองกำลังทางเรือยกมายึดเมืองสิเรียม (เมืองเสรียง) ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากน้ำหงสาวดีไว้ได้
และรอท่ากองทัพไทยอยู่ สำหรับการปฏิบัติการขั้นต่อไป

            ส่วนเมืองตองอู พระเจ้าตองอูเห็นว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดีได้แล้ว คงจะแสวงหาผู้ที่จะครอบครอง
เมืองหงสาวดีต่อไป และเมื่อได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี โดยที่มีกำลังฝ่ายไทยสนับสนุนอยู่ ก็จะได้เป็นใหญ่ในเมืองพม่า
อย่างไรก็ตาม ที่เมืองตองอูในเวลานั้นมีพระภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อพระมหาเถรเสียมเพรียม เป็นผู้ที่มีความเห็นต่างไปจาก
พระเจ้าตองอู เมื่อทราบว่าพระเจ้าตองอู มาอ่อนน้อมต่อไทย จึงเข้าไปทัดทานด้วย เหตุผลว่าการที่พระเจ้าตองอู
หมายจะเป็นใหญ่ โดยปกติพึ่งไทยนั้นเห็นจะไม่สมคิด เพราะกรุงหงสาวดีและกรุงศรีอยุธยา ได้ทำศึกขับเคี่ยวกันมา
ก็ด้วยประสงค์จะแข่งอำนาจกัน ถ้าพระนเรศวรได้เมืองหงสาวดีแล้ว คงไม่ยอมให้ใครมีอำนาจเป็นคู่แข่งอีก
คงคิดจะตัดรอนทอนกำลัง ไม่ให้เมืองหงสาวดีกลับเป็นอิสระได้อีกต่อไป คงได้เป็นเพียงประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา
เหมือนอย่างที่เมืองตองอูขึ้นพระเจ้าหงสาวดีอยู่ปัจจุบัน หนทางที่พระเจ้าตองอูคิดจะเป็นใหญ่โดยลำพัง
ไม่ต้องไปเป็นเมืองขึ้นของไทยนั้นมีอยู่ แล้วก็ได้บอกอุบายให้พระเจ้าตองอูทราบ พระเจ้าตองอูก็เห็นด้วย
จึงได้แต่งคนสนิท ให้ลอบมาเที่ยวยุยงพวกมอญ ที่ถูกไทยเกณฑ์ให้ทำนา ให้เป็นอริกับไทย โดยยุยงมอญว่า
เมื่อเสร็จสงครามแล้ว พวกมอญก็จะถูกฝ่ายไทยกวาดต้อนมาไว้ที่กรุงศรีอยุธยา พวกมอญเหล่านั้นจึงซ่องสุมกัน
มีท่าทีว่าจะก่อการกบฎต่อไทย เมื่อสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพหลวงจากพระนครศรีอยุธยา พร้อมสมเด็จพระเอกาทศรถ
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2142  เมื่อมาถึงเมืองมอญ พระองค์ต้องใช้เวลาถึงสามเดือน จึงปราบมอญลงได้
นับเป็นอุปสรรคสำคัญประการหนึ่ง ในการยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี

            นอกจากนั้น พระเจ้าตองอูยังได้ดำเนินกุศโลบายขั้นต่อไป โดยแต่งทูตไปยังกองทัพเมืองยะไข่ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองสิเรียม
ชักชวนพระเจ้ายะไข่ ให้ยกทัพไปติดเมืองหงสาวดี ส่วนพระเจ้าตองอูจะยกกองทัพไป ทำประหนึ่งว่าจะไปช่วยพระเจ้าหงสาวดี
เมื่อเข้าเมืองหงสาวดีได้แล้ว ก็จะหย่าทัพกับพระเจ้ายะไข่ แล้วจะยอมยกหัวเมืองทางชายทะเลให้ตามที่ทางยะไข่ต้องการ
พระเจ้ายะไข่เห็นดีด้วยกับแผนการนี้ จึงตกลงด้วย แล้วทั้งสองเมืองก็เริ่มดำเนินการตามแผน โดยยกกองทัพไปตีเมืองหงสาวดี
เมื่อเดือน 12 ปีกุน แต่เหตุการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ พระเจ้าหงสาวดีมีความระแวง ไม่ไว้ใจพระเจ้าตองอู
จึงไม่ยอมให้กองทัพเมืองตองอูเข้าเมือง กองทัพเมืองตองอูและกองทัพเมืองยะไข่ จึงต้องล้อมเมืองหงสาวดีไว้

เมื่อเมืองหงสาวดีถูกล้อมอยู่นานเข้า เกิดขาดแคลนเสบียงอาหาร พวกผู้คนพลเมืองที่อดหยากก็พากันหลบหนี
ไปพึ่งพระเจ้าตองอูมากขึ้น จนถึงพวกข้าราชการ และในที่สุดพระมหาอุปราชาเอง ก็ไปข้ากับพระเจ้าตองอู
เมื่อได้ข่าวว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวร ยกไปถึงเมืองเมาะตะมะ พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าไม่มีทางเลือก
จึงยอมให้กองทัพพระเจ้าตองอูเข้าไปในพระนคร แล้วมอบราชการบ้านเมือง ให้พระเจ้าตองอูบังคับบัญชา
ต่างพระองค์แต่นั้นมา พระเจ้าตองอูจึงส่งราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงองค์หนึ่ง กับช้างเผือกเชือกหนึ่ง
ไปถวายพระเจ้ายะไข่ แล้วขอหย่าศึกตามที่ได้ตกลงกันมาแต่ต้น และขอให้กองทัพพระเจ้ายะไข่
คอยกีดกันกองทัพสมเด็จพระนเรศวร พระเจ้ายะไข่ก็ยินยอมตามนั้น จากนั้น พระเจ้าตองอูก็ทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า
กองทัพสมเด็จพระนเรศวรที่ยกมาครั้งนี้ มีกำลังมากนัก จะต่อสู้อยู่ที่เมืองหงสาวดี คงรับไว้ไม่ไหว ให้เชิญเสด็จไปเมืองตองอู
เพื่อตั้งรับต่อสู้ข้าศึกที่นั่น แล้วพระเจ้าตองอูก็ทะยอยส่งผู้คน และทรัพย์สมบัติส่งไปเมืองตองอู โดยส่งพระมหาอุปราชาไปก่อน
เมื่อไปถึงไม่นานนัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอู ก็ลอบปลงพระชนม์พระมหาอุปราชาเสีย แล้วปกปิดไม่ให้ความทราบถึง
พระเจ้าหงสาวดี

            สมเด็จพระนเรศวรพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพหลวงมีกำลังพล 10,000 คน
ออกจากกรุงศรีอยุธยา เมื่อวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 11 พ.ศ. 2142 เดินทัพไปทางด่านเจดีย์สามองค์ เมื่อเสด็จถึงเมืองเมาะตะมะ
ต้องทรงยับยังทัพ เพื่อปราบปรามพวกมอญกบฎอยู่เกือบสามเดือน จึงสงบราบคาบ เมื่อพระองค์ทราบว่า
กองทัพเมืองยะไข่กับกองทัพเมืองตองอู ตั้งล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ก็แคลงพระทัย ที่เห็นกองทัพทั้งสองเมือง
ด่วนไปกระทำการเสียก่อน ไม่เป็นไปตามที่ได้กราบทูลเอาไว้ ดังนั้น เมื่อปราบปรามพวกมอญเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองเมาะตะมะ เมื่อเดือนสาม ปีกุนนั้น

            ฝ่ายพระเจ้าตองอูทราบดังนั้น ก็พาพระเจ้าหงสาวดีออกจากพระนคร เมื่อวันขึ้น 2 ค่ำ เดือนสี่ มุ่งไปเมืองตองอู
ทิ้งเมืองหงสาวดีไว้ให้พวกยะไข่ พวกยะไข่จึงเก็บทรัพย์สมบัติที่ยังคงเหลืออยู่ที่เมืองหงสาวดี แล้วเผาปราสาทราชวัง
วัดวาอาราม จนไฟไหม้ลุกลามไปทั้วเมือง แล้วพากันหลบหนีจากพระนครไป
            สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองหงสาวดี เมื่อวันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 4 หลังจากที่พระเจ้าตองอู
พาพระเจ้าหงสาวดีหนีไปได้ 8 วัน พระองค์ทอดพระเนตรเห็นเมืองเหลือแต่ทรากก็ขัดพระทัย จึงทรงให้ทัพหลวง
ตั้งค่ายประทับอยู่ที่สวนหลวงใกล้พระธาตุมุตาว แล้วแต่งข้าหลวง ถือหนังสือรับสั่งไปยังพระเจ้าตองอู
ถึงเรื่องที่ได้ให้สัญญากันไว้ เมื่อเหตุการณ์มาเป็นเช่นนี้ ถ้าหากว่าพระเจ้าตองอูซื่อตรงคงความสัตย์อยู่ก็ให้มาเฝ้า
และพาพระเจ้าหงสาวดีมาถวายตามประเพณี ถ้าไม่ทำดังนั้น จะยกกองทัพตามไปตีเมืองตองอูให้จงได้

            พระเจ้าตองอูได้ทราบหนังสือรับสั่ง พยายามหาทางผ่อนคลายประณีประนอม แก้ตัวและประวิงเวลา
โดยให้มังรัดอ่องเป็นทูต เชิญพระธำมรงค์เพชรสามยอด อันเป็นเครื่องราชูปโภคสำหรับพระเจ้าหงสาวดี
มาถวายสมเด็จพระนเรศวร ทูลว่า พระเจ้าหงสาวดีประชวรอยู่ และทางตองอูกำลังรวบรวมช้างม้าพาหนะ
ที่ได้จากเมืองหงสาวดี เมื่อพระเจ้าหงสาวดีหายประชวร ก็จะนำมาถวายพร้อมกัน พระเจ้าตองอูยังมีความสามิภักดิ์ซื่อตรงอยู่
หาได้คิดกลับสัตย์อย่างไรไม่ ขอเชิญเสด็จพักอยู่ที่เมืองหงสาวดีก่อน สมเด็จพระนเรศวรทรงรู้เท่าทันว่า
พระเจ้าตองอูไม่สุจริตจริง ต้องการหน่วงทัพหลวงประวิงเวลาไว้ เพื่อให้มีเวลาเตรียมรักษาเมืองตองอู
จึงทรงปรึกษานายทัพนายกอง ถึงการที่จะยกไปตีเมืองตองอูต่อไป

ฝ่ายพระเจ้ายะไข่ เมื่อหย่าทัพกับพระเจ้าตองอูแล้ว ก็ถอยทัพกลับไปตั้งอยู่ที่เมืองสิเรียม เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จถึง
เมืองหงสาวดี พระเจ้ายะไข่จึงให้ขุนนางผู้ใหญ่เป็นทูต เข้าไปเฝ้ากราบทูลชี้แจงว่า ได้ยกทัพมาช่วยตามที่ได้รับไว้
แต่พระเจ้าตองอูคิดกลอุบายชิงเอาเมืองหงสาวดีได้ กองทัพยะไข่ไม่รู้ที่จะทำประการใด จึงถอยไปรอกองทัพไทยอยู่ที่
เมืองสิเรียม ได้เตรียมกำลังพลไว้ 5,000 คน จะให้กองทัพยะไข่ปฏิบัติการอย่างไร ก็พร้อมที่จะปฏิบัติ สมเด็จพระนเรศวร
ทรงแคลงพระทัย ที่พระเจ้ายะไข่ไม่ได้มาเฝ้าเอง และทรงทราบกิตติศัพท์ว่า พวกยะไข่เผาเมืองหงสาวดี จึงมีรับสั่งตอบว่า
กองทัพหลวงมีกำลังพลมากพออยู่แล้ว อย่าให้กองทัพยะไข่ยกมาเลย

            สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้กองทัพพระยาจันทบุรี อยู่รักษาเมืองหงสาวดี แล้วพระองค์เสด็จยกกองทัพหลวง
ขึ้นไปเมืองตองอู เมืองตองอูตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำสะโตง อยู่ทางเหนือของเมืองหงสาวดี ห่างไปประมาณ 6,000 เส้น
(240 กิโลเมตร) เส้นทางที่ไปเป็นทางทุรกันดาร ต้องข้ามเทือกเขาสูงและป่าสูง มีไข้ป่าชุกชุม
สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปครั้งนั้น มุ่งหมายเพียงจะตีเมืองหงสาวดีซึ่งอยู่บนที่ราบ ไม่ได้เตรียมการที่จะยกทัพ
ไปถึงเมืองตองอู แต่เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลานั้น ทำให้พระองค์ต้องขยายผลการรบออกไป
การเดินทัพของพระองค์ ไม่ได้มีการขัดขวางต้านทานจากข้าศึกแต่อย่างใด

เมื่อกองทัพหลวงยกไปถึงเมืองตองอู ก็ให้ล้อมเมืองไว้ โปรดให้พระยาแสนหลวง พระยานคร คุมกองทัพเมืองเชียงใหม่
ตั้งทางด้านใต้ ร่วมกับกองทัพพระยาศรีสุธรรม พระยาท้ายน้ำ และหลวงจ่าแสนบดี กองทัพหลวงก็ตั้งอยู่ทางด้านใต้เช่นกัน
ด้านตะวันออกให้กองทัพพระยาเพชรบูรณ์ พระยาสุพรรณบุรี กับหลวงมหาอำมาตย์ไปตั้ง ด้านเหนือให้กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์
และพระยากำแพงเพชรไปตั้ง ด้านตะวันตก ให้กองทัพพระยานครราชสีมา พระสิงคบุรี ขุนอินทรภิบาล แสนภูมิโลกาเพชร
ไปตั้งให้เจ้าพระยาสุรสีห์เป็นผู้ตรวจตราหน้าที่ทั้งปวงทั่วไป

            เมืองตองอูมีคูเมืองกว้างและลึกมาก สมเด็จพระนเรศวรจึงมีรับสั่งให้ขุดเหมือง ไขน้ำในคูเมืองให้ไหลออกไปลงแม่น้ำ
เหมืองนั้นยังปรากฎอยู่ พม่าเรียกว่าเหมืองสยามมาจนถึงทุกวันนี้ ครั้นไขน้ำออกหมดแล้ว ก็ให้กองทัพยกเข้าปล้นเมือง
ฝ่ายเมืองตองอูก็ต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ ฝ่ายไทยเข้าปล้นเมืองหลายครั้ง ก็ยังเข้าเมืองไม่ได้
กองทัพไทยล้อมเมืองตองอูอยู่สองเดือน เสบียงอาหารก็ขาดแคลน เพราะเส้นทางส่งกำลังจากทางใต้ก็ยาวไกลและทุรกันดาร
นอกจากนั้นพวกกองโจรยะไข่ ก็คอยตีตัดการลำเลียง อีกประการหนึ่ง ให้กองทัพออกลาดตระเวณหาเสบียงอาหารในพื้นที่
ขึ้นไปถึงเมืองอังวะ ก็ได้ไม่เพียงพอ ประกอบกับล่วงเข้าต้นฤดูฝน จึงทรงให้ถอยทัพกลับจากเมืองตองอู
เมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 6 ปีชวด พ.ศ. 2143  ฝ่ายพระเจ้าตองอูก็มีความครั่นคร้าม ไม่กล้ายกทัพออกติดตามจึงเป็นการหย่าทัพ
ถอยมาได้โดยสะดวก กองทัพไทยกลับมาทางตรอกหม้อ เมื่อถึงตำบลคับแค ก็โปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถ
ยกกองทัพแยกมาทางเมืองเชียงใหม่ เพื่อระงับเหตุวิวาทระหว่างพระเจ้าเชียงใหม่กับพระยารามเดโช ส่วนสมเด็จพระนเรศวร
เสด็จกลับทางเมืองเมาะตะมะ ทรงตั้งพระยาทะละเจ้าเมืองมอญ ให้เป็นเจ้าเมืองเมาะตะมะ ดูแลหัวเมืองมอญ
ต่างพระเนตรพระกรรณ แล้วทรงยกทัพกลับพระนคร

            ฝ่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ เมื่อเสด็จยกกองทัพถึงเมืองเถิน ก็ให้ตั้งทัพอยู่ ณ ที่นั้น แล้วมีรับสั่งให้เจ้าเมืองเชียงใหม่
และเจ้าเมืองใหญ่น้อยในดินแดนลานนา ให้มาเฝ้าพระองค์ที่เมืองเถิน เพื่อทรงจัดการระงับเรื่องวิวาทที่เกิดขึ้น
อันมีสาเหตุมาจากที่มีผู้คนมาเข้ากับพระยารามเดโชเป็นอันมาก พวกเจ้าเมืองที่กระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าเชียงใหม่
ก็มีพระยาราม และพระยาฝาง อาณาเขตลานนาจึงแตกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายเหนือขึ้นต่อพระยารามเดโช เป็นข้าหลวงอยู่ที่
เมืองเชียงแสน ฝ่ายใต้ขึ้นต่อพระเจ้าเชียงใหม่

บรรดาเจ้าเมืองใหญ่น้อยในแคว้นลานนา ต่างพากันมาเฝ้าถวายต้นไม้ทองเงิน และเครื่องราชบรรณาการถึงเมืองเถินทุกเมือง
เว้นเจ้าเมืองเชียงใหม่ ให้บุตรคุมเครื่องราชบรรณาการมาแทน สมเด็จพระเอกาทศรถจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปยังเมืองลำพูน
แล้วให้ข้าหลวงเข้าไปบอกพระเจ้าเชียงใหม่ ถึงเรื่องที่สมเด็จพระนเรศวรทรงมอบหมายมา พระเจ้าเชียงใหม่ได้แจ้ง
กระแสรับสั่งดังนั้น ก็มีความเกรงกลัว มาเฝ้าที่เมืองลำพูน แล้วถวายพระทุลองราชบุตร ให้ลงมาทำราชการที่กรุงศรีอยุธยา
และถวายพระราชธิดาอีกองค์หนึ่งด้วย

            สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเห็นว่า พระเจ้าเชียงใหม่สิ้นทิษฐิแล้ว จึงมีรับสั่งให้ตั้งการพิธีที่พระธาตุหริภุญชัย
ให้พระเจ้าเชียงใหม่ถือน้ำกระทำสัตย์ต่อกรุงศรีอยุธยา แล้วให้เจ้าเมืองใหญ่น้อยทั้งปวง ถือน้ำกระทำสัตย์ต่อพระเจ้าเชียงใหม่
แล้วเสด็จกลับพระนคร

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
narong
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 654



เว็บไซต์
« ตอบ #16 เมื่อ: 23-05-2006, 22:22 »

สงครามไทย-พม่าครั้งที่ 15 สงครามครั้งที่สุดของสมเด็จพระนเรศวร

ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพกลับจากเมืองตองอูแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็ว่างศึกกับพม่ามอญถึงสามปี
ตั้งแต่ พ.ศ. 2143 ถึง พ.ศ. 2146 ในระหว่างนั้น ดินแดนพม่าทางภาคใต้ ตั้งแต่กรุงหงสาวดีลงมา ตกเป็นของไทยทั้งหมด
ส่วนดินแดนทางพม่าเหนือ อันประกอบด้วยรัฐไทยใหญ่ต่างๆ นั้น ตั้งแต่รัฐแสนหวี ยอมเป็นข้าขอบขัณฑสีมาของ
สมเด็จพระนเรศวรแล้ว รัฐไทยใหญ่อื่นๆ เช่น เมืองนาย (เมืองหน่าย) เมืองหาง (เมืองห้างหลวง) ก็เข้ามาเป็นข้า
ขอบขันฑสีมาเพิ่มขึ้นอีก พม่าที่ก่อนหน้านี้เป็นประเทศใหญ่ ก็กลายเป็นประเทศเล็กลงมาก ครั้งนั้น อาณาเขตไทย
ทางด้านทิศเหนือ จึงแผ่เข้าไปจนต่อกับแดนประเทศจีน

            ฝ่ายพระเจ้าตองอู เมื่อพาเอาพระเจ้าหงสาวดีไปประทับที่ที่เมืองตองอูดังกล่าวแล้ว เพื่อประสงค์จะให้คนทั้งปวง
เห็นว่าเป็นผู้อุปถัมภ์พระเจ้าหงสาวดี แล้วจะแอบอ้างรับสั่ง เพื่อบังคับบัญชาปกครองพม่าทั่วราชอาณาเขต
และคงจะได้เป็นผู้รับรัชทายาท เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเลิกทัพกลับไป พระเจ้าตองอูจึงทำหนังสือรับสั่งพระเจ้าหงสาวดี
ประกาศไปตามหัวเมืองทั้งปวงว่า การที่เกิดศึกสงครามถึงพระนคร เป็นเพราะชะตาเมืองหงสาวดีถึงเวลาเสื่อมทราม
พระเจ้าหงสาวดีจึงเสด็จแปรพระราชฐานไปอยู่ที่เมืองตองอู เอาเมืองนี้เป็นราชธานีสัก 7 ปี เมื่อบ้านเมืองสิ้นเคราะห์แล้ว
ก็จะเสด็จกลับไปอยู่เมืองหงสาวดีตามเดิม เจ้าทั้งปวงได้รับหมายประกาศแล้วที่เชื่อถือก็มี แต่ที่สงสัยว่าพระเจ้าตองอู
คิดกลอุบาย ที่จะชิงราชสมบัติมีมากกว่า มีเจ้าเมืองที่ยังสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าหงสาวดีหลายคนพากันยกกองทัพ
ไปยังเมืองตองอู หวังจะไปชิงเอาพระเจ้าหงสาวดีมา พระเจ้าตองอูทราบเรื่อง จึงไปทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า
เจ้าเมืองเหล่านั้นเห็นจะไปเข้าด้วยกับสมเด็จพระนเรศวรเสียแล้ว ที่ยกกองทัพมา ก็เพื่อจะล่อลวงเอาพระองค์
ไปถวายพระนเรศวร จึงขอให้ทำหนังสือรับสั่ง ประทับพระราชลัญจกรเป็นสำคัญ ส่งไปยังบรรดาเจ้าเมืองเหล่านั้นมีความว่า

            ตามพระราชประเพณีมาแต่เดิม ย่อมจะต้องมีท้องตราสั่ง หัวเมืองจึงจะยกกองทัพเข้ามายังราชธานีได้ ถ้ายกเข้ามา
โดยอำเภอใจ ก็มีความผิดฐานเป็นกบฎ ในครั้งนี้หาได้มีท้องตราให้หาไม่ การที่บังอาจยกกองทัพเข้ามาเช่นนี้
จะคิดเป็นกบฎหรืออย่างไร
            พวกเจ้าเมืองได้เห็นหนังสือรับสั่งก็จนใจ พากันเลิกทัพกลับไป และเมื่อทราบว่าราชการงานเมืองสิทธิ์ขาดอยู่กับ
พระเจ้าตองอูทั้งสิ้น ก็พากันท้อใจ ที่เป็นเมืองใหญ่อยู่โดยลำพังได้ ก็พากันตั้งแข็งเมือง ไม่ยอมขึ้นต่อพระเจ้าตองอู
เหล่าหัวเมืองมอญในมณฑลราชธานี ที่ยังไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของไทยแต่ก่อน ก็พากันมาอ่อนน้อมต่อพระยาทะละ
ขอเป็นข้าขอบขันฑสีมาของสมเด็จพระนเรศวร ในพงศาวดารพม่ากล่าวว่า ครั้งนั้นบรรดาหัวเมืองมอญ
ที่อยู่ใต้เมืองหงสาวดีลงมา ก็มาเป็นเมืองขึ้นของไทยทั้งสิ้น

            เมื่อพระเจ้าหงสาวดีประทับอยู่ที่เมืองตองอูได้ 8 เดือน นัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอูวิตกว่า
พระเจ้าหงสาวดียังประทับอยู่เมืองตองอูตราบใด แทนที่เมืองตองอูจะได้ประโยชน์ ดังที่พระเจ้าตองอูคาดหวัง
เมืองตองอูกับจะเป็นอันตราย ทั้งจากภายในพม่าเอง และจากสมเด็จพระนเรศวร เมื่อคิดเห็นดังนั้น จึงได้วางยาพิษ
ปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดี เมื่อ วันแรม 10 ค่ำ เดือน 12 ปีชวด พ.ศ. 2143 พระเจ้าตองอูทราบเรื่องก็ตกพระทัย
แต่เมื่อเห็นว่าเหตุการณ์สายเกินแก้แล้ว จึงให้จึงให้มีหมายประกาศว่า พระเจ้าหงสาวดีประชวรสิ้นพระชนม์
และขณะประชวรหนักอยู่ ได้ทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระเจ้าตองอูผู้เป็นพระอนุชาธิราช แต่ประกาศนั้น
ไม่มีเมืองใดเชื่อถือ

            ขณะเมื่อพระเจ้าหงสาวดี อพยพออกจากเมืองหงสาวดีไปเมืองตองอูนั้น เจ้านะยองราม พระอนุชา
ได้หนีไปอยู่เมืองพุกาม เมื่อทราบว่า พระเจ้ากรุงหงสาวดีนันทบุเรงสิ้นพระชนม์ ก็รวบรวมผู้คนอยู่ที่เมืองอังวะ
เวลานั้นเมืองอังวะ มีแต่ขุนนางว่าราชการเมือง เนื่องจากพระเจ้าอังวะได้ไปเป็นพระมหาอุปราชา พวกชาวเมืองเห็นว่า
เจ้านะยองรามเป็นราชบุตรพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ก็พากันนิยมยินดี ยกเจ้านะยองรามขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะ
ตั้งตนเป็นอิสระ ดังนั้น เมืองพม่าจึงแตกเป็นสามพวก คือ พระเจ้าตองอู ซึ่งตั้งตัวเป็นพระเจ้าหงสาวดีพวกหนึ่ง
พระเจ้าแปรซึ่งตั้งแข็งเมืองมาแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง พวกหนึ่ง และพระเจ้าอังวะอีกพวกหนึ่ง

            พระเจ้าตองอูกับพระเจ้าแปรเห็นผู้คนพากันนิยมพระเจ้าอังวะมากขึ้นก็เกิดความวิตก เกรงว่าเมื่อพระเจ้าอังวะ
มีกำลังมากขึ้นจะยกกองทัพมาตีเมืองตองอู และเมืองแปร จึงได้ปรึกษาหารือกันที่จะร่วมกัน ยกกองทัพไปตีเมืองอังวะเสียก่อน
เมื่อตกลงกันได้แล้ว ก็ให้พระเจ้าแปรยกกำลังทางเรือ พระเจ้าตองอูยกกำลังทางบก เข้าตีเมืองอังวะพร้อมกัน
เมื่อถึงวันกำหนดที่จะยกกองทัพออกไป พระเจ้าแปรถูกลอบทำร้ายถึงแก่พิราลัย พระเจ้าตองอูไม่ทราบเรื่อง
ต่อมาเมื่อยกกองทัพออกไปแล้ว จึงมาทราบเรื่องทีหลัง ก็เลยคิดจะเอาเมืองแปรไว้ในอำนาจก่อน จึงยกกองทัพไปตีเมืองแปร
แต่ไม่สามารถตีหักเอาเมืองแปรได้ ต้องเลิกทัพกลับไปเมืองตองอู พม่าก็คงแบ่งออกเป็นสามพวก เป็นอิสระแก่กันต่อมาดังเดิม
เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นในห้วงเวลาระหว่าง ปีชวด พ.ศ. 2143  ถึง ปีเถาะ พ.ศ. 2146 ต่อมาพระเจ้าอังวะก็ทำพิธีราชาภิเษก
เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา แล้วก็คิดขยายอาณาเขตให้กว้างขวางออกไป

เนื่องจากเมืองอังวะอยู่ข้างเหนือใกล้กับแดนไทยใหญ่ จึงได้แผ่อำนาจออกไปทางดินแดนไทยใหญ่ ในเวลานั้น
ประเทศราชไทยใหญ่ที่เรียกว่า 19 เจ้าฟ้า แต่เดิมเคยขึ้นอยู่กับพระเจ้าหงสาวดี ครั้งเห็นพระเจ้าหงสาวดีหมดอำนาจ
ก็พากันตั้งแข็งเมือง ที่อยู่ใกล้เขตแดนไทย ก็พากันมายอมขึ้นแก่ไทยบ้าง ครั้นพระเจ้าอังวะมีอำนาจขึ้น พวกที่อยู่ใกล้แดนพม่า
ก็กลับมายอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าอังวะ ส่วนพวกที่อยู่ห่างไกลออกไปก็ยังตั้งแข็งเมืองอยู่ พระเจ้าอังวะก็ยกกองทัพไปปราบปราม
ตีได้หัวเมืองไทยใหญ่ ที่ตั้งตัวเป็นอิสระได้มาตามลำดับ จนมาถึงเมืองหน่ายซึ่งมาขึ้นอยู่กับไทย พระเจ้าอังวะตีได้เมืองหน่าย
แล้วก็จะเข้าตีเมืองแสนหวี สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็ขัดเคือง จึงดำรัสสั่งให้เกณฑ์กำลังพล จำนวน 100,000 คน
จะเสด็จยกไปตีเมืองอังวะ

            กองทัพไทยจะเดินไปทางเมืองเชียงใหม่ ไปข้ามแม่น้ำสาลวินที่เมืองหาง แล้วเดินทัพผ่านดินแดนไทยใหญ่
เข้าไปแดนพม่า ที่ใกล้เมืองอังวะ เส้นทางเดินทัพนี้ จะสะดวกกว่าเส้นทางที่ผ่านเมืองมอญ เพราะเส้นทางนั้น
จะต้องผ่านเมืองตองอู และเมืองแปรก่อน จึงจะผ่านไปเมืองอังวะได้ การเดินทัพครั้งนี้ใช้พื้นที่เขตเมืองเชียงใหม่
เป็นที่ประชุมพล แล้วเกณฑ์กองทัพเมืองมอญ กับกองทัพชาวลานนาไทย จำนวนกำลังพลประมาณ 200,000 คน

สมเด็จพระนเรศวร กับสมเด็จพระเอกาทศรถ  เสด็จยกกองทัพออกจากพระนคร เมื่อ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง
พ.ศ. 2148  เสด็จโดยกระบวนเรือจากพระตำหนักป่าโมก แล้วเสด็จขึ้นบนที่ตำบลเอกราช ไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลพระหล่อ
แล้วยกกองทัพบกไปทางเมืองกำแพงเพชรสู่เมืองเชียงใหม่ ครั้นเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ ก็หยุดพักจัดกระบวนทัพอยู่หนึ่งเดือน
แล้วให้กองทัพสมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ครั้นเสด็จถึงเมืองหางแล้ว
ก็ให้ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว  สมเด็จพระนเรศวรประชวนเป็นระลอก ขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเป็นบาดทะพิษ
พระอาการหนัก จึงโปรดให้ข้าหลวง รีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงได้ 3 วัน
สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคต เมื่อ วันจันทร์ ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง พระชันษา50 ปี เสวยราชสมบัติได้ 15 ปี

สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงทำสงครามกับพม่าตั้งแต่พระชันษาได้ 20 ปี การสงครามช่วงแรกเป็นการกู้อิสรภาพของไทย
ให้พ้นจากอำนาจของพม่า พระองค์ใช้เวลา 9 ปีในช่วงนี้ ต่อมา เป็นการรวบรวมอาณาเขตของไทยที่ได้เสียไป คือ
เมืองทวาย เมืองตะนาวศรี กลับมาจากพม่าและนำกรุงกัมพูชา กลับมาเป็นของไทยทั้งหมด ช่วงนี้ใช้เวลา 4 ปีและท้ายสุด
เป็นการแผ่พระราชอาณาเขต ให้กว้างขวางออกไป ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ตอนต้น รวมเวลาที่ทรงทำสงครามมา 16 ปี
ด้วยพระปรีชาสามารถ และพระปรีชากล้าหาญ อันพึงเห็นได้จากการทำสงครามทุกครั้งของพระองค์ จนประเทศไทย
มีอาณาเขตแผ่ไพศาล รุ่งเรืองเดชานุภาพ คนทั้งหลายทั้งชาวไทยและต่างชาติ ต่างพากันยกย่องพระเกียรติยศของพระองค์
ว่า วิเศษทั้งที่เป็นนักรบ และที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นับเป็นมหาราชพระองค์หนึ่ง ที่เคยปรากฎในโลกนี้
หนังสือพงศาวดารของชาติอื่น เช่น พม่า มอญ เขมร ลานช้าง และจดหมายเหตุของจีน และชาวตะวันตก บรรดาที่กล่าวถึง
พงศาวดารของประเทศตะวันออก ในสมัยนั้น ต่างก็ยกย่องสมเด็จพระนเรศวรมหาราชว่าเป็นวีรมหาราช สอดคล้องต้องกัน
พระเกียรติยศเป็นที่ปรากฎอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ และจะคงอยู่ตลอดไปชั่วกาลนาน

http://61.19.220.3/heritage/king/naresuan/naresuan.htm
บันทึกการเข้า

ผู้ที่ไม่สามารถจะใช้คนดี
ก็ย่อมจะใช้คนไม่ดีหรือคนเลว
ถ้าไม่เชื่อผู้ซื่อสัตย์หวังดีต่อตน
ก็จะต้องไปเชื่อคนประจบสอพลอ
เจนจิรา
สมาชิกสามัญขั้นที่ 3
****
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: หญิง
กระทู้: 127


ราชาวดี


« ตอบ #17 เมื่อ: 24-05-2006, 08:56 »

เซฟต่อค่ะ...
บันทึกการเข้า

ความอดทนเป็นคุณสมบัติของนักปราชญ์
หน้า: [1]
    กระโดดไป: