เมื่อธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ
คอลัมน์ ดุลยภาพดุลยพินิจ โดย นวลน้อย ตรีรัตน์ มติชนรายวัน วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10266
หัวเรื่องที่ขึ้นไว้ข้างบน มาจากหนังสือเรื่อง "ธรรมาธิปไตยไม่มา จึงหาประชาธิปไตยไม่เจอ (จุดบรรจบ : รัฐศาสตร์ กับ นิติศาสตร์)" ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อเป็น "ธรรมทานจากพหุบุคคลเพื่อพหูชน" ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านระหว่างช่วงวันหยุดสงกรานต์ ในหนังสือมีอยู่ด้วยกัน 9 บท ประกอบด้วย 1.เป็นกลาง? กว้าง และ ไกล 2.ธรรมาธิปไตย กับ หรือ ใน ประชาธิปไตย 3.กฎคนทำ ต้องเพื่อ กฎแห่งธรรม 4.ธรรมาธิปไตยของผู้ปกครอง 5.เพื่อธรรม จึงต้องการปัญญา 6.หนทางสู่ประชาธิปไตยที่เป็นธรรม 7.นำธรรมาธิปไตยมาให้แก่ประชาธิปไตย 8.ธรรมาธิปไตย ตอนเดียวจบ และ 9.เก่าไป ใหม่มา อย่าให้เป็น เก่าแค่ใด ใหม่ก็คือกัน เมื่ออ่านแล้วจะได้เห็นคำตอบหลายประการไม่ว่า จะเป็น
เป็นกลางต้องเป็นธรรม ไม่ใช่อยู่กึ่งกลาง หรือครึ่งๆ กลางๆ
จะตัดสินใจได้ดี คนต้องมีปัญญา ตัดสินใจด้วยปัญญา โดยมีเจตนาเป็นธรรม จึงจะเกิดธรรมาธิปไตย
เมื่อเป็นผู้ปกครอง จะปฏิบัติอย่างชาวบ้านไม่ได้ ต้อง ปฏิบัติธรรมของผู้ปกครอง
กฎหมาย หรือ กฎคนทำ ต้องมีไว้เพื่อสนับสนุนให้กฎแห่งธรรมสัมฤทธิผลขึ้นมาในสังคมมนุษย์
จะปฏิรูปการเมือง ผู้ร่างรัฐธรรมนูญต้องพัฒนาปัญญา จะต้องทำประชาธิปไตยให้เป็นธรรม
และขอคัดลอกความบางส่วนในบทที่ 8 ของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
"ธรรมาธิปไตย เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ ให้ได้ประชาธิปไตยที่ดี
ตรงนี้ดูให้ชัดนะว่า ในการปกครองทุกระบอบ มีองค์ประกอบสำคัญ คือ อำนาจตัดสินใจ อันนี้เป็นตัวกำหนดเด็ดขาด
การปกครองระบอบต่างๆ ทั้งหลายนั้น เมื่อมองไปให้ถึงที่สุดตัวกำหนดก็อยู่ที่ อำนาจตัดสินใจ หมายความว่า อำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ไหน การปกครองก็คือระบอบนั้น จะเป็นระบอบการปกครองไหนก็ดูว่าอำนาจตัดสินใจสูงสุดอยู่ที่ใด
ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่บุคคลผู้เดียว ก็เป็น เผด็จการ
ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่คณะบุคคล ก็เป็น คณาธิปไตย
ถ้าอำนาจตัดสินใจอยู่ที่ประชาชน ก็เป็น ประชาธิปไตย
ตอนนี้ บ้านเมืองของเรานี้ ตกลงกันว่าให้เป็นประชาธิปไตย อำนาจตัดสินใจก็จึงมาอยู่ที่ประชาชน
ทีนี้ ปัจจุบัน เรามีระบอบประชาธิปไตยที่มีตัวแทน ประชาชนก็มอบอำนาจตัดสินใจนี้ ให้แก่พวกตัวแทนที่พวกตนเลือกตั้งไปนั้น แล้วตัวแทนหรือผู้แทน (ส.ส.) เหล่านี้ ยังไปประชุมกันเลือกผู้นำหรือหัวหน้าผู้บริหารขึ้นมาให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง
ก็เลย เท่ากับมอบอำนาจตัดสินใจ ให้กับคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น
ดังนั้น นายกรัฐมนตรีก็จึงเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ และทำการตัดสินใจในนามของประชาชน
ถึงแม้จะได้จัดวางกระบวนการในการตัดสินใจ และมีระบบตรวจสอบถ่วงดุลคานอำนาจ เป็นต้น (ไม่ให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็นผู้เผด็จการ) แต่นายกรัฐมนตรีก็เป็นแกนหรือเป็นศูนย์กลางของกระบวนการตัดสินใจนั่นแหละ
ทีนี้ ในเมื่ออำนาจตัดสินใจเป็นสิ่งสำคัญ เรียกได้ว่าเป็นหัวใจของการปกครองนั้น มันก็เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งว่า บุคคลผู้ตัดสินใจ จะใช้อำนาจตัดสินใจนั้น ด้วยเอาอะไรเป็นตัวกำหนด หรือเอาอะไรเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ
นี่เราดูตรงนี้นะ ไม่ว่าระบอบไหน จะเป็นระบอบเผด็จการหรือเป็นระบอบคณาธิปไตย หรือเป็นระบอบประชาธิปไตย ในเวลาที่ใช้อำนาจตัดสินใจ จะเอาอะไรเป็นเกณฑ์
-ถ้าเอาตัวเอง เอาความยิ่งใหญ่ของตน เอาความทะนงของตัว เอาทิฐิความเห็น ความเชื่อ ยึดถือส่วนตัว เอาผลประโยชน์ของตนเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ ก็เป็น อัตตาธิปไตย
-ถ้าตัดสินใจไปตามกระแสความนิยม เสียงเล่าลือ หรือแม้แต่ไม่เป็นตัวของตัวเอง คอยฟังว่าใครจะว่าอย่างไร อย่างที่ว่า แล้วแต่พวกมากลากไป หรือตามแรงกดดัน จะเอาใจเขา จะหาคะแนน หรือตอบแทนการเอื้อประโยชน์ ก็เป็น โลกาธิปไตย
-ถ้าเอาความจริง ความถูกต้องดีงาม หลักการ กฎ กติกา เหตุผล ประโยชน์ที่แท้จริงของชีวิตและสังคม เป็นเกณฑ์ตัดสินใจ โดยใช้ปัญญาหาข้อมูลตรวจสอบข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่รับฟังอย่างกว้างขวาง ให้ถ่องแท้ ชัดเจน และพิจารณาอย่างดีที่สุด เต็มขีดแห่งสติปัญญา จะมองเห็นได้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ก็เป็น ธรรมาธิปไตย
ฉะนั้น ผู้เผด็จการ ก็เป็นได้ทั้ง อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธรรมาธิปไตย
คณาธิปไตย ก็เป็นได้ทั้ง อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธรรมาธิปไตย
ประชาธิปไตย ก็เช่นเดียวกัน ก็เป็นได้ทั้ง อัตตาธิปไตย โลกาธิปไตย และธรรมาธิปไตย
แต่ที่เราต้องการ ซึ่งดีที่สุด คือให้เป็นธรรมาธิปไตย
ถ้าเป็นผู้เผด็จการใช้เกณฑ์ตัดสินใจแบบธรรมาธิปไตย ก็เป็นเผด็จการที่ดี แต่เรากลัวว่าเขาจะตัดสินใจไม่รอบคอบ เพราะรู้ข้อมูลไม่ทั่วถึง หรือปัญญาอาจจะไม่พอ เป็นต้น
ถ้าคณาธิปไตยที่ไหน เป็นธรรมาธิปไตย มันก็ยังดี คือเป็นอย่างดีที่สุดของคณาธิปไตย แต่เราเห็นว่ายังมีจุดอ่อนอยู่มาก
ทีนี้เราหวังว่า ถ้าระบอบเป็นประชาธิปไตย และคนใช้อำนาจตัดสินใจด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย ก็จะดีที่สุด
จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็ต้องให้ประชาชนทุกคนเป็นธรรมาธิปไตย เพราะประชาชนทุกคนมีอำนาจตัดสินใจ ตั้งแต่เลือกตั้งเลยทีเดียว ทุกคนต้องตัดสินใจเลือกด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย
พอถึงวันเลือกตั้ง เราตัดสินใจด้วยธรรมาธิปไตย เลือกใครล่ะ ก็ใช้ปัญญาพิจารณาตรวจตราไล่ดูให้ชัดที่สุด ใครพรรคไหนเป็นคนดี มีธรรม มีปัญญา ซื่อสัตย์ สุจริตมุ่งทำประโยชน์แก่ส่วนรวมแน่นอน ก็ได้ตัวเลย บอกว่าคนนี้เป็นผู้แทนของเราได้
ผู้แทนเป็นอย่างไร ก็แสดงว่าผู้เลือกคงเป็นอย่างนั้น ถ้าผู้เลือกเป็นคนดี ก็คงได้ผู้แทนที่เป็นคนดี ถ้าผู้แทนชั่ว ก็ต้องสงสัยไว้ก่อนว่าผู้เลือกก็คงจะชั่วหรือมีคุณภาพต่ำ มองไปได้ถึงทั้งประเทศ คนชาติอื่นมองดูที่ ส.ส. ไทย แล้วบอกว่า คนไทยก็คืออย่างนี้
พูดสั้นๆ ว่า ธรรมาธิปไตยจะต้องเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจของทุกกิจกรรมในระบอบประชาธิปไตย เริ่มตั้งแต่การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นบททดสอบการใช้อำนาจตัดสินใจครั้งสำคัญยิ่งใหญ่ สำหรับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
ทีนี้ คนที่มีอำนาจตัดสินใจใหญ่ที่สุด คือผู้บริหารสูงสุด ในกรณีนี้ก็คือนายกรัฐมนตรี เพราะได้รับมอบความไว้วางใจให้เป็นผู้ใช้อำนาจตัดสินใจแทนประชาชน ในนามของประชาชน หรือในนามของประเทศชาติทั้งหมด
เพราะฉะนั้น การใช้อำนาจตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีจึงสำคัญที่สุด
ถ้านายกรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่ตัดสินใจแทนประชาชนนี้ ใช้อำนาจตัดสินใจสูงสุดนั้น ด้วยเกณฑ์ธรรมาธิปไตย ก็ดีนะซิ ก็หวังได้ว่าเขาจะรักษาประเทศชาติไว้ด้วยดี และตัวเขาเองก็จะเป็น รัฐบุรุษ
แต่ถ้านายกรัฐมนตรีใช้เกณฑ์อัตตาธิปไตย หรือโลกาธิปไตยในการตัดสินใจ แล้วไม่ช้าไม่นานนัก ประเทศชาติก็มีหวังปั่นป่วน วุ่นวาย และตัวเขาเองก็จะเป็นอะไรที่ตรงข้ามกับรัฐบุรุษ
ตอนนี้ เรามีประชาธิปไตยที่ว่าเป็นระบอบการปกครองที่ดีที่สุดหรือเลวน้อยที่สุดแล้ว ทำไมจึงต้องมาโอดครวญแต่ปัญหากันอยู่เรื่อย
เรื่องก็คือว่า การใช้อำนาจตัดสินใจมันไปไม่ค่อยจะถึงธรรมาธิปไตยกันเลย หรือว่าธรรมาธิปไตยมันไม่ค่อยจะเด่นขึ้นมาให้เห็นชัดที่จะทำให้ชื่นใจ มั่นใจ
เมื่อไรๆ ก็ได้แต่นัวเนียตัดพ้อต่อว่า กระทั่งทะเลาะกันอยู่ ที่เรื่องอัตตาธิปไตยกับเรื่องโลกาธิปไตยนั่นแหละ
บางทีทำท่าจะเอาธรรมาธิปไตย แต่ก็อยู่แค่ธรรมชั้นสองที่เป็น กฎคนทำ อ้างกันอยู่นั่นแหละ ติดอยู่แค่นั้น ขึ้นไม่ค่อยถึงธรรมแท้ ที่เป็น กฎแห่งธรรม ก็เลยเอาดีจริงไม่ได้
เอาละ ระบอบประชาธิปไตยจะดีได้ คนต้องเป็นธรรมาธิปไตย
ระดับชี้ชะตาของประเทศ : ประชาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัดสินใจ แต่ละคนต้องทำการตัดสินใจในการเลือกตั้ง ที่จะเลือกผู้แทนมารับมอบอำนาจตัดสินใจของตนไป โดยใช้เกณฑ์ธรรมาธิปไตย
ระดับตัดสินชะตากรรมของประเทศ : นายกรัฐมนตรี และผู้ร่วมขบวนการปกครอง ซึ่งใช้อำนาจตัดสินใจในนามของประชาชน จะต้องทำการตัดสินใจในการบริหารกิจการของประเทศชาติ โดยใช้เกณฑ์ธรรมาธิปไตย
นี่แหละ ประชาธิปไตย กับ ธรรมาธิปไตย มาบรรจบกันที่นี่ ถ้าอย่างนี้จะไม่สับสน ไม่เช่นนั้นก็ยุ่งอยู่นี่ว่าจะทำประชาธิปไตย ให้เป็นธรรมาธิปไตยได้อย่างไรดี
จำไว้เลย ธรรมาธิปไตยมิใช่เป็นระบอบที่มาแข่งกับประชาธิปไตย แต่ธรรมาธิปไตยเป็นแกนกลาง อยู่ที่ตรงหัวใจของประชาธิปไตย พอดีๆ (หน้า 70-74)"
http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2006q2/2006april19p1.htmบทความที่เกี่ยวเนื่องค่ะ
หวังว่าผู้บริหารเวป จะบริหารอย่างมีธรรมาธิปไตยด้วยนะคะ
