ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
30-04-2025, 22:34
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  บทเรียนจาก ผู้เขียนวันสิ้นประวัติศาสตร์ 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
บทเรียนจาก ผู้เขียนวันสิ้นประวัติศาสตร์  (อ่าน 1698 ครั้ง)
********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« เมื่อ: 26-01-2008, 13:59 »

บทเรียนจาก ผู้เขียนวันสิ้นประวัติศาสตร์
คอลัมน์ ระดมสมอง  โดย ดร.ไสว บุญมา  ประชาชาติธุรกิจ  วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3969 (3169)

ไม่นานหลังการแตกสลายของสหภาพ โซเวียตเมื่อปี 2534 นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชั้นนำชื่อ ฟรานซิส ฟูกุยามา (Francis Fukuyama) พิมพ์หนังสืออันโด่งดังเรื่อง The End of History and the Last Man ออกมา เนื่องจากชื่อของหนังสือมีความหมายว่า "วันสิ้นประวัติศาสตร์" ในตอนแรกๆ ผู้อ่านจำนวนมากมักไม่แน่ใจว่า ผู้เขียนหมายถึงอะไร หลังจากได้ถกเถียงกันอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ข้อสรุปว่า ผู้เขียนตั้งชื่อหนังสือเช่นนั้น ส่วนหนึ่งเพื่อล้อเลียน คาร์ล มาร์ก บิดาแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งเสียชีวิตไป ตั้งแต่ปี 2426 จริงอยู่มาร์กไม่เคยใช้วลี "the end of history" แต่ผู้ที่ศึกษาแนวคิดของเขาแน่ใจว่า เขาคิดถึงเรื่องนี้แต่ใช้วลีอื่น ซึ่งมีความหมายในแนวเดียวกัน "วันสิ้นประวัติศาสตร์" ของมาร์ก คือ วันที่ประชาชนบนพื้นโลกยุติการแบ่งชั้นกัน นั่นคือไม่มีชนชั้นนายทุนและชนชั้นกรรมกร แน่ละวันนั้นคือวันที่ระบบคอมมิวนิสต์ครองโลก การแตกสลายของสหภาพโซเวียต หลังทำสงครามเย็น กับระบอบประชาธิปไตยอยู่หลายทศวรรษชี้ว่า ชาวโลกไม่ต้องการระบบคอมมิวนิสต์ หากต้องการระบอบประชาธิปไตย

ฉะนั้น "วันสิ้นประวัติศาสตร์" ในความหมายของฟูกุยามาคือ ต่อไปนี้จะไม่มีการต่อสู้กันในด้านของแนวคิดอีกต่อไป เพราะประชาธิปไตยเป็นฝ่ายชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว

แม้ประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ทุกสังคมจะพัฒนาต่อไปได้อย่างราบรื่น ฉะนั้นฟูกุยามาจึงเขียนหนังสือออกมาอีก 5 เล่มหลังจากนั้น ซึ่งส่วนใหญ่ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคของการพัฒนาว่ามีอะไรบ้าง เล่มแรกพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2539 ชื่อ Trust : The Social Virtues And the Creation of Prosperity ซึ่งเสนอว่า "ความไว้เนื้อเชื่อใจกัน" (Trust) เป็นทุนทางสังคมอันสำคัญยิ่งสำหรับการพัฒนา

อันที่จริงแนวคิดเรื่องบทบาทของทุนทางสังคมไม่ใช่ของใหม่ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ชาวเยอรมัน ชื่อ Max Weber ได้เสนอไว้ในหนังสืออันโด่งดังตั้งแต่ปี 2447 เรื่อง The Protestant Ethic and the Spirit of Capitalism และในขณะที่ฟูกุยามาเขียนหนังสือเรื่อง Trust ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชื่อ David S. Landes ก็เขียนหนังสือในแนวเดียวกันซึ่งหนากว่า 650 หน้า เรื่อง The Wealth and Poverty of Nations : Why Some Are So Rich and Some So Poor (มีบทคัดย่อในหนังสือเรื่อง "กะลาภิวัตน์) หนังสือเหล่านี้มีขอบเขตและจุดเน้นต่างกัน ฟูกุยามาเชื่อว่าความไว้เนื้อ เชื่อใจกันของคนในสังคมซึ่งนำไปสู่ความสมานฉันท์และการร่วมมือกันเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาในยุคโลกาภิวัตน์

อีก 3 ปีต่อมา ฟูกุยามาพิมพ์เรื่อง The Great Disruption : Human Nature and the Reconstitution of Social Order ซึ่งเสนอว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงนี้ใหญ่หลวงไม่ต่างกับการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด 2 ครั้งในประวัติศาสตร์ นั่นคือ (1) การปฏิวัติเกษตรกรรม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมนุษย์เปลี่ยนวิถีชีวิตจากแบบเร่ร่อนเพื่อเก็บของป่าและล่าสัตว์ มาเป็นการตั้งหลักแหล่งถาวรเพื่อปลูกพืชและ เลี้ยงสัตว์ การปฏิวัติครั้งนั้นเริ่มขึ้นเมื่อราว 10,000 ปีมาแล้ว และ (2) การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเกิดขึ้นหลังการประดิษฐ์เครื่องจักรกลได้เมื่อราว 250 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ติดตามงานของ Alvin Toffler ย่อมนึกออกทันทีว่าวิวัฒนาการเหล่านี้คือคลื่นลูกที่ 1 ถึงลูกที่ 3 ฟูกุยามาเสนอว่า การเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ทางเทคโนโลยีแต่ละครั้ง จะก่อให้ เกิด "ความยุ่งเหยิง" (disruption) ทางสังคม เช่น ความล่มสลายของครอบครัว การขาดความเชื่อมั่นในสถาบันของสังคมและความแตกแยกระหว่างกลุ่มชน แต่เขาเชื่อว่าหลังจากเวลาผ่านไป มนุษย์เราจะแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ เพราะโดยธรรมชาติแล้วเราเป็นสัตว์สังคมที่มีคุณธรรม และต้องการอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่น นั่นหมายความว่าเราจะฟื้นฟูทุนทางสังคมขึ้นมาได้ ซึ่งจะเป็นฐานของการพัฒนาต่อไปในอนาคต

เมื่อปี 2545 ฟูกุยามาพิมพ์หนังสืออีกเรื่องหนึ่งออกมาชื่อ Our Posthuman Future : Consequences of the Biotechnology Revolution ซึ่งเน้นเรื่องผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านชีวภาพ เป็นที่ยอมรับกันว่า ความก้าวหน้าด้านนี้เป็นคลื่นลูกที่ 4 ที่จะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง แต่ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต่างกับ ครั้งก่อนๆ นั่นคือมันอาจทำให้ธรรมชาติของมนุษย์เปลี่ยนไป จนเราไม่เหมือนมนุษย์แบบปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลง จะมาจากหลายปัจจัย เช่น การผลิตลูก "ตามสั่ง" โดยกำหนดให้มีลักษณะตามที่พ่อแม่ต้องการ การใช้ยาเพื่อควบคุมพฤติกรรมและการเปลี่ยนอวัยวะที่เสื่อมลง เพื่อยืดชีวิตมนุษย์ออกไปเป็นหลายร้อยปี

การเปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์เช่นนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนฐานทางคุณธรรมและทุน ทางสังคมแบบถึงรากเหง้า ซึ่งเขาเห็นว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการพัฒนา ฉะนั้น ฟูกุยามาจึงเสนอให้มีการควบคุมการวิจัย และการใช้เทคโนโลยีในด้านนี้อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันมิให้มันเปลี่ยนธรรมชาติของมนุษย์ จนเราไม่ใช่มนุษย์ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันอีกต่อไป

อีก 2 ปีต่อมา ฟูกุยามาพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆ ขนาด 160 หน้าออกมาชื่อ State-Building : Governance and World Order in the 21st Century (มีบทคัดย่อใน "กะลาภิวัตน์") หนังสือเล่มนี้พูดถึงความล้มเหลวของการพัฒนา ว่าเกิดจากความอ่อนแอของสถาบัน เพราะประเทศด้อยพัฒนาไม่มีฐานทางวัฒนธรรม หรือทุนทางสังคม มากพอที่จะสร้างและรักษาสถาบันที่ต้องการ สถาบันในที่นี้หมายถึงสถาบันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยและสถาบันทางเศรษฐกิจในระบบตลาดเสรี ซึ่งล้วนมีกฎเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดทั้งสิ้น

ฉะนั้นเขาเสนอให้ประเทศก้าวหน้าที่เข้าไป ช่วยพัฒนาประเทศล้าหลังให้เน้นการปลูกฝังวัฒนธรรม สร้างผู้นำ และสถาบันอันแข็งแกร่ง เป็นอันดับแรก กิจกรรมเหล่านี้สหรัฐอเมริกา จะต้องเป็นผู้นำ เพราะสถาบันระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ ไม่สามารถทำได้

เล่มสุดท้ายเพิ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2549 ชื่อ America at the Crossroads : Democracy, Power, and the Neoconservative Legacy เนื้อหาของเรื่องนี้ตำหนินโยบายต่างประเทศ ของรัฐบาลอเมริกัน นำโดย ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช และคณะ ซึ่งเป็นกลุ่มหัวอนุรักษนิยมรุ่นใหม่ ฉะนั้นมันจึงไม่มีบทเรียนสำหรับการพัฒนาประเทศในยุคโลกาภิวัตน์ เช่นเดียวกับเล่มอื่น

การมองเมืองไทยผ่านการใช้กล้องของฟูกุยามา อาจปรากฏออกมาเป็น 2 ภาพหลักๆ คือ ภาพแรกเป็นการมองในแง่ดีซึ่งจะชี้บ่งว่า ปัญหายุ่งเหยิงที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความแตกแยกทางด้านการเมืองและสังคม หรือความล่มสลายในครอบครัว หรือความเสื่อมของคุณธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวอีกไม่นานสังคมไทยจะปรับตัวได้และการพัฒนา จะดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ภาพที่สองเป็นการมองในแง่ร้าย นั่นคือสังคมไทยไม่มีทุนทางสังคมมากพอ ฉะนั้นการพัฒนาจะไม่มีวันสำเร็จเฉกเช่นการพัฒนาประชาธิปไตยที่ต้องล้มลุกคลุกคลาน มาเป็นเวลา 75 ปี เรามีความคิดทันสมัยในแง่ที่ต้องการใช้ระบอบประชาธิปไตยและตลาดเสรี ซึ่งฟูกุยามาคิดว่า เป็นทางเลือกเดียวของสังคมมนุษย์แห่งอนาคต แต่เรามักไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของระบบทั้งสองอย่างเคร่งครัด

จะเห็นว่าทุกครั้งที่มีการสำรวจประชามติผลออกมาบ่งว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่รังเกียจ ความฉ้อฉล ส่วนใหญ่จะโกงเมื่อมีโอกาสทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งจะมีการใช้วิชามารและการซื้อสิทธิ/ขายเสียง หากฐานทางคุณธรรมของเรายังเป็นเช่นนี้ เราคงไม่มีโอกาสสร้างทุน ทางสังคมตามที่โลกยุคโลกาภิวัตน์ต้องการ


ในสองภาพนี้ ภาพไหนใกล้ความจริงกว่ากัน คงเป็นสิ่งที่ถกเถียงกันไม่มีวันสิ้นสุด แต่การมองในแง่ร้ายไว้ก่อนน่าจะมีผลดีกว่า เพราะมันอาจจะกระตุ้นให้เราเสริมสร้างทุนทางสังคม ให้มากขึ้น การกระทำเช่นนั้นจะไม่มีวันสูญเปล่าอย่างแน่นอน

หน้า 42

บันทึกการเข้า

********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 26-01-2008, 17:01 »




กระบือเทพ ตามเว็บบอร์ดต่างๆจะคงอ่านไม่เข้าใจ

ยังคงเล็มหญ้าเปื้อนน้ำคัดหลั่งไปตามเดิม
 
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: