ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
10-07-2025, 01:47
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ชายคาพักใจ  |  บทสัมภาษณ์ คุณพจนา จันทรสันติ ในนิตรสาร GM 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
บทสัมภาษณ์ คุณพจนา จันทรสันติ ในนิตรสาร GM  (อ่าน 3846 ครั้ง)
ชัย คุรุ เทวา โอม
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,846


สมัครรักแมว แต่ผมรัก Cat


« เมื่อ: 28-11-2007, 21:15 »

บทสัมภาษณ์ คุณพจนา จันทรสันติ

เรื่อง : วรพจน์ พันธุ์พงศ์

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร GM เล่มที่ ๒๓๗ ปีที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๓


--------------------------------------------------------------------------------

 

เพื่อทำการสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ผมนัดหมายกับ พจนา จันทรสันติ ที่สวนลุมพินี ตอนห้าโมงเย็น ( เป็นสถานที่และเวลาที่เขาเลือกเอง ) เขามาก่อนเวลา ๑ นาที มาถึงก็ทักทายกันสักครู่ ช่างภาพขอเวลาก่อนแสงจะหมด เขาให้ความร่วมมือด้วยดี แต่ไม่นานนักก็บอกว่า" พอเถอะ " ช่างภาพยอมตาม ( อย่างเสียไม่ได้ ) และเราก็เริ่มต้นสนทนากัน

 

GM : คุณไปเลือก ส. ว. หรือเปล่า

พจนา : ไปครับ เพราะเพื่อนที่ธรรมศาสตร์ของผมคนหนึ่งเขาเป็นเอ็นจีโออยู่ ลงสมัครด้วย นี่เป็นครั้งแรกของผมที่ไปเลือกตั้ง

 

GM : พอจะเปิดเผยได้ไหมว่าไปเลือกใคร

พจนา : ผมเลือกคุณรสนา โตสิตระกูล ซึ่งก็ไม่ได้ เพราะคนรู้จักน้อย แต่ไม่เป็นไร ผมได้ทำหน้าที่ของผมแล้ว เขาเป็นเพื่อนและคิดว่าเขามี ความสามารถจริงๆ ผมไม่ชอบระบบการเลือกตั้ง ไม่เคยไปเลือกมันเลย ไอ้ห่าส.ส.หรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่มีความหวัง ระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตย เราไม่ศรัทธามัน เหมือนไว้หลอกคนเล่น เหมือนโรงละครที่แหกตาคน เราเชื่อในคนมากกว่า เชื่อคนที่มีคุณธรรมมีธรรมะ ตัวระบบมันการรันตีอะไรไม่ได้ มันไม่มีระบบที่ดีที่สุดในโลก ระบบคือสิ่งที่คนสร้างขึ้นมา ถึงเราจะสร้างระบบที่ดีขึ้นมา คนจะฉ้อฉลมันก็ฉ้อฉล ยังไงมันก็ซิกแซกจนได้ คนส่วนมากที่มันเข้าสู่ระบอบการเมืองก็มีเป้าหมายชัดเจน คือเพื่อทำเงินและอำนาจ มันเป็นวัฏจักรน้ำเน่าอยู่แบบนี้

 

GM : ทำไมคุณมองในแง่ร้ายขนาดนั้น เคยเห็นหรือสัมผัสใกล้ชิดแล้วหรือ

พจนา : เยอะแยะ ในอเมริกาก็มีให้เห็นเต็มไปหมด บางคนว่าในอเมริกาประสบความสำเร็จด้วยดี ผมไม่เชื่อแบบนั้น ประชาธิปไตยเป็นระบบที่ล้มเหลว ภาพกว้างๆของมันดูงดงาม แต่เป็นการ play แสดงให้งดงาม แต่จริงๆ ข้างใต้เน่าไม่ต่างกับเรา เพียงแต่เขาโกงแนบเนียนกว่าเท่านั้น

 

GM : แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เพื่อการจัดการและบริหารประเทศ รัฐก็ต้องมีระบบใดระบบหนึ่ง

พจนา : ใช่ รัฐชั่วร้าย แต่รัฐจำเป็น เป็นความจำเป็นที่ชั่วร้าย หรือเป็นความชั่วร้ายที่อาจจำเป็นอยู่ และมิติใดมิติหนึ่ง เรายังต้องสัมพันธ์กับรัฐหรือระบอบสังคม ปัญหาคือจะทำยังไงให้สร้างพื้นฐานที่มีธรรม เข้าไปสู่ระบอบระบบเหล่านี้ ช่วงกันพยายามสร้างมันขึ้นมา ผมมองเป็นเรื่องของคน ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือทรัพยากรมนุษย์ เราไม่ได้ขาดระบบระบอบที่ดี แต่เราขาดมนุษย์ที่มีคุณภาพขาดคนที่มีคุณธรรม โอเคในแง่การปฏิรูปการเมืองอาจมีหวัง ถ้ามีคนดีเข้าไปมากอาจช่วยเปลี่ยนอะไรได้บ้าง แต่อุปสรรคใหญ่ยังขวางอยู่ นั่นคือเรื่องของการเงิน คนดีมักไม่ค่อยมีเงิน เมื่อไม่มีเงิน ไม่คออร์รัปชั่น เขาจึงเข้าไปสู่ระบอบนี้ลำบาก แต่ช่างมันเถอะ อย่าพูดเรื่องนี้เลย ไม่มีประโยชน์

 

พจนาเปิดกระเป๋าสะพายและหยิบกระติกน้ำร้อนออกมา เราแปลกใจเล็กน้อย เพราะที่เห็นๆมาไม่ว่าใคร ( โดยเฉพาะผู้ชาย )มักไม่ค่อยตระเตรียมข้าวของ ต้องการอะไรก็เอาง่ายเข้าว่าคือใช้เงินซื้อ " กินกาแฟกัน " เขาเชื้อเชิญ พร้อมทั้งรินกาแฟ และส่งน้ำตาลให้" มานั่งในสวนลุมฯ แบบนี้ จิบกาแฟไปผมว่ามันสบายดี " เขาว่าพลางจุดไปป์สูบ เย็นวันนั้นอากาศดีจริงๆ แดดสุดท้ายของวันส่องสะท้อนน้ำเป็นสีทอง นกพิราบบินว่อนไปมา กลางสระน้ำมีเป็นฝูง และหนุ่มสาวหลายคู่แจวเรือคุยกันเงียบๆ

 

GM : ย้อนไปเมื่อ ๒๐ - ๓๐ ปี ช่วงที่คุณเลือกเดินออกจากกระแสหลัก หันมาใช้ชีวิตอย่างแตกต่าง คุณรู้สึกว่าคุณก้าวพลาดไหม

พจนา : ปัญหาไม่ใช่เรื่องเหมือนหรือแตกต่างแต่อยู่ที่แก่นแท้ ฉะนั้น ถ้าคนทั่วไปทำถูกต้องแล้ว ดีแล้ว อยู่กับแก่นแท้อยู่แล้วผมว่าไม่เห็นต้องปฏิเสธอะไร แต่ถ้าสิ่งที่คนอื่นทำนั้นเป็นเปลือก นี่ต่างหากต้องเปลี่ยน ต้องแตกต่างออกมา มันเป็นความต่างเรื่องการค้นหาความจริง ความเท็จ ที่ผมต่างเพราะผมเห็นว่ามันใช้ไม่ได้ คือผมไม่ค้านแบบหัวชนฝา อันไหนดีอยู่แล้ว ยอมรับเขาทุกวันนี้มีเทรน์ใหม่คือคุณต้องมีรสนิยมเป็น somebody ความเป็นเอกลักษณ์ ผมว่าไร้สาระ เพราะเอกลักษณ์ไม่ใช่สิ่งที่เราพยายามสร้างขึ้นมา เพื่อให้ต่างจากคนอื่นแต่มันเกิดจากการค้นพบเนื้อหาสาระบางอย่างของชีวิตแบบแผน วิธีคิด การดำรงชีวิตก็ตาม

... นั่นคือเอกลักษณ์เอกลักษณ์คือเนื้อแท้ ข้อนี้อันตราย ต้องไม่เหมือน สิ่งที่ดีอยู่แล้ว เหมือนได้ จะเป็นไร ถ้าดีใช้ได้ ถ้ามันเฮงซวย โอเค ค้นหาสิ่งใหม่ ไม่ได้ทำลาย ยังไงเราก็เกิดเป็นเผ่าพันธุ์มนุษย์อยู่ไม่ว่าโชคร้ายหรือโชคดีต้องยอมรับเบสิกนี้นี่คือแกนของเรา จะแตกกิ่งไปก็แล้วแต่ละคน ฟังเสียงหัวใจตนเอง และแตกไปภายใต้ energy ของมนุษย์ ซึ่งไม่มีทางเหมือนกันอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แต่สามารถอยู่ในป่าเดียวกันได้อย่างกลมกล่อม นี่คือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่อให้เกิดเป็นประกายให้คนค้นหาความถูกต้อง ไม่ใช่พวกปฏิเสธทุกอย่าง กลายเป็นพลังการทำลายล้างมากกว่าสร้างสรรค์ กลายเป็นทุกคนไม่มีความเชื่ออะไรเลย อันตรายมากถ้าคนไม่เชื่ออะไรเลย ผมคิดว่าคนเราต้องมีความเชื่อบางอย่าง ความเชื่อจะช่วยขัดเกลาตัวเองได้ พัฒนาไปสู่ความเชื่อที่ลุ่มลึกขึ้นได้

 

GM : ตั้งแต่ตั้งใจแสวงหา ค้นคิด เพื่อตอบสนองตัวเอง คุณเคยคิดอยากเลิกไหม เลิกเพราะรู้สึกว่ามันสูญเปล่า

พจนา : ไม่เคย มันเหมือนกับคนเดินอยู่ในทะเลทราย ยิ่งได้ลิ้มรสแล้วอยากไปให้ถึงแหล่งกำเนิด ถามว่าเหนื่อยไหม ก็ธรรมดา ทุกคนเหนื่อยกันทั้งนั้น เดินตามกระแสหลักก็เหนื่อย ไม่ไช่ก็เหนื่อย บางคนวันๆ เอาแต่หาเงินหาทอง เอาแต่เดินตามโลก เขาเหนื่อยกว่าผมอีก ผมจึงไม่มีเหตุผลต้องท้อถอยอะไร เราอย่าคิดว่าเราหนักที่สุดในโลก วิธีคิดนี้เป็นอาการสงสารตัวเอง และคนยุคผมมีอาการแบบนี้เยอะ คิดว่าตัวเองทุกข์ที่สุด ลำบากที่สุด เจ๋งที่สุด อาการแบบนี้เป็น self center ถ้าอยากจะโตเราต้องผ่านความรู้สึกนี้ให้ได้ ไม่งั้นจะหมกหมุ่นกับความทุกข์ตัวเอง

 

GM: ถ้าถามว่าแสวงหาอะไร? ครั้งหนึ่งคุณเคยเขียนว่าบางทีก็ตอบตัวเองไม่ชัด แล้วตอนนี้ล่ะ ตอบได้ชัดหรือยัง

พจนา : แสวงหาความจริง แต่ความจริงมีหลายนิยามมาก และไม่สิ้นสุดเลย คงต้องต่อเนื่องไป ค้นหาความจริงทุกมิติ

 

GM: จับต้องได้ไหมความจริงที่ว่า สามารถเปรียบเทียบเป็นกลุ่มก้อนเป็นอะไรสักอย่างได้หรือเปล่า

พจนา : เป็นนามธรรม ผมว่ามันเป็นอาการเคลื่อนไหว มูฟเมนต์ ลีลา การเคลื่อนการแปรเปลี่ยน ให้กำหนดเป็นก้อนยาก เพราะมันเปลี่ยนตลอดไม่มีหยุด ต้องติดตามไปตลอด พูดลำบาก สัจจะเป็นแสงคือเปลี่ยนตลอดจากโมเมนต์หนึ่งและเปลี่ยน ไม่มีความคงที่

 

GM : คุณเคยถามตัวเองไหมว่า การเลือกใช้ชีวิตแบบนี้ สรุปแล้วมันเป็นสุขหรือทุกข์มากกว่ากันแน่

พจนา : ถ้าถามผม ทุกวันนี้ผมไม่เจ็บปวดกับอะไร คงจะทุกข์จนชำนาญแล้ว และประเด็นสุขหรือทุกข์ ก็ไม่ค่อยได้คิดเท่าไหร่ ไม่คาดหวังเจออะไรก็เผชิญไป เรียนรู้ไป ผมว่าการเรียนรู้สำคัญมากกว่าสุข ทุกข์ คนต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา กระบวนการเรียนรู้สำคัญมาก ผมว่าคนเรารู้อะไรนั้นไม่สำคัญมาก ทุกอย่างจะสอนเราได้ ไม่ใช่แค่จบมหาวิทยาลัยแล้วจบเลยนิ่ง การเรียนรู้จำเป็นมาก และเราจะเห็นรายละเอียดเล็กๆ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

 

GM : หลังจากผ่านกฤษณะมูรติ เต๋า เซน และอินเดียนแดงมาแล้ว ตอนนี้คุณสนใจอะไร

พจนา : หลังจากที่ผ่านมาโน่นผ่านมานี่ ไม่ใช้รู้ บางทีผมก็ไม่รู้จริง เรื่องของเรื่องคือ ความสนใจมันเปลี่ยน ผมสนใจกว้าง ไม่ยึดสำนักหรือศาสนาองค์หนึ่ง ฉะนั้นแนวคิดหรือวิธีคิดหนึ่งๆ ก็จะตอบสนองในช่วงนั้นพอผ่านไป อาจมีความคิดใหม่ซึ่งอยู่ในแนวเดียวกันมา ตอบสนองเรา เกิดความอยากรู้อยากเห็นต่อ ผมศึกษากว้าง สะเปะสะปะ อะไรใช้ได้ผมเอาหมด ไม่ได้แปลว่ารู้จริงแล้ว และเรื่องสัจจะ บอกว่ารู้จริงไม่ได้อาจจะแค่เปลี่ยนวิธีการซึ่งมีเยอะแยะในโลก เต๋า ทิเบต อินเดียนแดง วิธีการทั้งนั้น

... ถามตอนนี้ ผมกำลังสนใจเรื่องพุทธตันตระ เป็นวิธีการปฏิบัติทางพุทธเพื่อเข้าถึงธรรม แต่เป็นสายตันตระ คล้ายๆทิเบต บางทีเรียก พุทธตันตระ คือเป็นพุทธนี่แหละ เพียงแต่พิธีการไม่อยู่ในรูปแบบ ความไม่เคร่งครัด พุทธตันตระต่างจากทางเถรวาท ที่มีรูปแบบดีงามชัดเจน แต่นี่บางทีดูหลุดๆ นอกแบบแผนไป คนจึงมองว่าเป็นเรื่องของทางโลก ผมว่าจริงๆแล้วดีมาก เป็นชีวิตจริง โลกกับธรรมะอยู่ด้วยกันคนละด้านของเหรียญ จะว่าไป ก็เป็นการพูดเรื่องพลังงาน ความโกรธ ความรัก ความชัง ริษยา ทุกอย่างเป็นพลังงานหมด พุทธบ้างเราว่าความเกลียดไม่ดี ทำลายมันซะ หันไปหาความเมตตาหรือความรักแทน คือไปหาขั้วตรงข้าม แต่ทางตันตระไม่มองแบบนั้น เขามองว่าเป็นสิ่งเดียวกัน และสามารถเปลี่ยนความเกลียดให้เป็นความรัก เข้าใจธรรมชาติของมันให้ได้ และแปรเปลี่ยนโดยใช้ energy ตัวเดิมคือเปลี่ยนnegative ennergy ให้เป็น positive ennergy โดยการปฏิบัติบางอย่างเป็นการยอมรับและการเปลี่ยนรูป ไม่ใช่การปฏิเสธ เหมือนเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นน้ำแข็ง

 

GM : สมมุติว่าถ้ามีความโกรธเยอะ ก็ให้เปลี่ยนพลังโกรธนั้น ให้เป็นพลังรักอย่างนั้นหรือเปล่า

พจนา : ใช่ เพราะแท้จริงที่จริงก็คือพลังงานเดิม เหมือนเรื่องวิทยาศาสตร์ energy ไม่ได้หายไปไหน สิ่งเดิมแต่เปลี่ยนรูป แล้วแต่ว่าจะใช้ennergy นั้นไปทำอะไร สิ่งเดียวกันแต่ใช้งานคนละอย่าง ตันตระคืออย่างนี้ เขามองมนุษย์และสรรพสิ่งในธรรมชาติเป็น ennergy เป็นความสัมพันธ์ ในพลังงานชีวิตในรูปแบบต่างๆ และที่สุดคือ การเปลี่ยนมนุษย์ให้เพียวมากจนเป็นennergy ของจักรวาล เรียกว่าการบรรลุธรรมคือ ennergy นี้จะประจักษ์แจ้งในตัวเอง

... ตันตระไม่มองเรื่องดี - ชั่ว จึงโดนโจมตีเยอะว่าไม่มีศีลธรรม จริงๆไม่ใช่ เขาไม่สนใจว่าคุณเลวหรือดี เขาสนใจแต่ว่าคุณตั้งใจที่จะปฏิบัติจากพื้นฐานที่คุณเป็นจริง สมมุติว่าถ้าคุณงี่เง่า จงงี่เง่าไปให้ถึงที่สุด แล้วพอเห็นตัวเองปุ๊ป ให้เริ่มเปลี่ยนแปลง พุทธบ้านเราใช้ระบบให้รู้สึกผิด ความโกรธเป็นสิ่งผิด ผิดแล้วจงพยายามทำลาย และเป็นสงครามที่สู้ระหว่างความรู้สึกที่ไม่ดีคือขี้โมโห กับความรู้สึกที่อยากเป็นคนมีเมตตา ซึ่งจะเป็นสงครามกันตลอด แต่ตันตระไม่ใช่แบบนี้ เขาให้เห็นเนื้อแท้สิ่งที่ตัวเองเป็น และเปลี่ยนแปลงผมว่าเป็นวิธีที่เป็นธรรมชาติดีกว่า

... เมื่อพูดถึงศาสนา เรามักยึดสำนัก เช่น พุทธ คริสต์ อิสลาม จริงไม่ใช่ๆ เพราะวัฒนธรรมหนึ่งๆ สร้างศาสนาขึ้นมาเพื่อรองรับคนในวัฒนธรรมนั้น คงไม่มีอะไรน่ายึดมั่น ศาสนาหนึ่งอาจเหมาะกับพื้นที่หนึ่ง แต่อาจไม่เหมาะกับที่อื่นหรือคนอื่น เพราะมันเป็นแค่จริตที่เหมาะกับแต่ละแนวทาง แนวทางสามารถมีได้สารพัด ถ้าจะค้นหาเรื่องสัจจะ สร้างแนวทางใหม่ขึ้นมาก็ได้ ขอให้เหมาะสมกับจริตตัวเองอาจจะเดินไปบนเส้นทางของช่างภาพ ของซามูไร หรืออาร์ติสท์ เพราะทั้งกล้อง ดาบหรือแปรง ล้วนสามารถเป็นหาทางสู่สัจจะ อย่างช่างภาพก็สามารถถ่ายรูปจนเจอเนื้อแท้ของสรรพสิ่ง มองให้เห็นสิ่งสำคัญคือตา เลนส์คือเครื่องมือที่นำไปสู่บางอย่างเท่านั้น

... ผมรู้สึกแบบนี้และคนในโลกต่างก็เลือกทางของตัวเอง นักธุรกิจใช้ธุรกิจเป็นทางที่บรรลุธรรมได้ ถ้าเขาตั้งใจจริงที่จะใช้มันไปถึงขั้นนั้น หนทางของการพายเรือก็ได้ ( เขาชี้ไปที่คนกำลังพายเรืออยู่เบื้องหน้า ) พายจนบรรลุธรรม สมัยโบราณก็มีการปั้นหม้อ และช่างเหล็กบรรลุธรรม ทุกทางเป็นไปได้ อย่าไปจำกัดว่าต้องเป็นพระเท่านั้น ผมไม่เห็นด้วย เท่าที่เห็น บางทีพระเป็นผู้ที่ห่างไกลธรรมะที่มุดเลย คือใกล้จนไกล ผมเชื่อว่าในโลกสมัยใหม่ ต้องให้ความสำคัญกับวิถีฆราวาสผู้ปฏิบัติธรรม

 

GM: แปลว่าไม่ต้องปฏิเสธอะไรหรอก ไม่ว่าสิ่งต้องห้ามอย่างเหล้าหรือเซ็กซ์

พจนา : ทุกอย่างเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าใจความจริงในชีวิตได้ แต่นี่อันตรายถ้าเอาไปอ้างหรือจงใจสร้างปรัชญาชีวิตแบบผิดๆขึ้นมาตะลุยโลกียะแบบสุดๆ อันตรายถ้าคิดแบบนั้น ผมพูดว่าทุกอย่างที่มีอยู่ในโลกเป็นหนทางสู่ธรรมะได้ แต่อย่าเอาไปใช้เพื่อเป็นข้ออ้างของการเสพ ยุคนี้เป็นยุคสมัยของฆราวาส ยุคสมัยของการบวชที่ใจ การนุ่งเหลืองเป็นฟังก์ชั่นของคนบางคน ซึ่งถ้าดีเราเคารพเขาได้สำหรับคนทั่วไป เราต้องกว้างกว่านั้น คือเป็นฆราวาสที่บวชในใจ

... ผมไม่ได้หมายถึงการตัดโลก คุณอาจมีครอบครัว มีเมีย มีลูก ทำมาหากินบางคนกินเหล้า และเหล้าก็เป็นวิถีหนึ่ง ถ้ากินแบบไม่ใช่ข้ออ้าง ญี่ปุ่นมีคำคำหนึ่งคือสาเกโตะ วีถีของสาเก คือกินให้ถึงที่สุด ก็บรรลุธรรมได้กวาดพื้นก็บรรลุธรรมได้ ถ้าคุณตั้งใจทำสิ่งนั้น ทำให้เต็มที่ ทำและมีสติ ตันตระยอมรับวิถีทางโลกว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมะ และมีคนหลายคนมีชีวิตจิตใจเป็นตันตระอยู่ โดยไม่รู้เรื่องของตันตระเลย คือธรรมชาติของเขาเป็นตันตระ เขาเรียนรู้จากการมีชีวิตในโลก โลกทำให้เขาเห็นธรรม มีคนแบบนั้นเยอะ คนพวกนั้นเรียกว่ามีธาตุตันตระอยู่โดยธรรมาชาติ ผมว่าอินเดียนแดงก็ใช่ เป็นตันตระรูปแบบหนึ่ง โดยที่เขาไม่รู้ว่าตันตระเป็นยังไง แต่วิถีของเขาเป็นและเป็นธรรมชาติมาก



 

บันทึกการเข้า

"...สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดก็คือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่าวันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จักต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้ เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่าชีวิตของฉัน และพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้ นั่นคือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์..."

คำรำพัน ณ สุสานสหายผู้เสียสละในการต่อสู้ปฏิวัติ จากนวนิยายโซเวียตยอดนิยมเรื่อง เบ้าหลอมวีรชน

(How the Steel Was Tempered)

นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ เขียน ค.ศ.1933


*******************************

เชิญเยี่ยมชมบล็อคครับ
http://www.oknation.net/blog/amalit1990
ชัย คุรุ เทวา โอม
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,846


สมัครรักแมว แต่ผมรัก Cat


« ตอบ #1 เมื่อ: 28-11-2007, 21:16 »

( จันจั่นร้องระงม พลังเสียงนั้นดังจนทุกคนต้องหยุดฟัง )

พจนา : คุณฟังเสียงจักจั่นสิ นักดนตรียังตะลึงเลย ( จุดไปป์สูบ หยุดฟัง ) เสียงนี้บริสุทธิ์มาก ในคัมภีร์หลายเล่มบอกว่า เสียงเกิดก่อนสิ่งอื่นในโลก อาจเกิดพร้อมๆกับแสงฉะนั้นเสียงที่บริสุทธิ์ที่สุด ที่สุดแล้วอาจนำไปสู่ภาวะการรู้แจ้ง เป็นวิถีหนึ่งของการเข้าใจธรรมะ เข้าใจโดยผ่านธรรมชาติ

 

GM : แต่ทางพุทธก็ปฏิเสธเรื่องดนตรี แต่ศีล ๘ ก็ห้ามยุ่งการมหรสรรพทุกอย่างแล้ว

พจนา : เป็นการปฏิเสธในเบื้องต้นเท่านั้น ปฏิเสธเพื่อคอนโทรลจิต ไม่ฟังเพลง ไม่เต้นรำ เพื่อเฝ้ามองจิตอย่างมีสติ พอถึงที่สุด เมื่อจิตสงบสิ่งเหล่านี้เป็นสื่อจะสู่สัจจะหมด หลายคนบรรลุธรรมจากเสียง เช่น นกร้อง กบร้อง การปฏิเสธเป็นแค่เบื้องต้นเท่านั้น เมื่อมองอย่างชัดเจนได้แล้ว ทุกอย่างไม่เป็นอุปสรรค เหมือนเป็นพื้นฐานสมาธิ จุดสูงสุดคุณต้องออกไปสู่ชีวิตจริง อยู่ในภวังค์ของการตระหนักรู้ นั่นคือจุดสูงสุดของสมาธิ ไม่ใช่แค่นั่ง เพราะนั่งนั้นแค่เบื้องต้นเพื่อคอนโทรลความฟุ้งซ่านโลกนี้มีความลี้ลับมาก และมนุษย์ส่วนใหญ่ก็พอใจที่จะอยู่กับความเคยชินบางอย่างเท่านั้น เขาไม่เคยจะสำรวจความลี้ลับของโลกเลย นี่เป็นสิ่งที่ทำให้ด้อยค่าแบบแผนแบบเดิมๆ ที่มีอยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่เกิดการค้นพบสิ่งใหม่ ทุกวิถีทาง ทุกสิ่งทุกอย่างมีความลี้ลับ และมีความหมายซ่อนเร้นอยู่ผมอยากให้คนสำรวจความลี้ลับของโลก ผ่านดวงจิตของเรา โดยไม่เดินตามวิถีชีวิตเดิมๆ เดินก็ได้แต่ต้องเดินให้หลุดออกนอกแบบ ให้ไปไกลกว่านั้น

 

GM : คุณกำลังบอกว่าไม่วาเราจะสามารถพยากรณ์อากาศได้ หรือกำหนดเวลาอบผ้าให้แห้งได้ โลกก็ยังมีเรื่องลี้ลับอยู่

พจนา : ใช่ และไอ้พวกนั้นก็กำหนดไม่ได้นะ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องกำหนดได้ เป็นแค่การควบคุมปัจจัยบางอย่างได้เท่านั้น วิทยาศาสตร์เป็นแค่ความเข้าใจพื้นฐานเล็กๆ ในเรื่องธรรมะเท่านั้นเอง ไม่เข้าใจจริงด้วย อันตรายคือ คิดว่าเข้าใจทั้งหมด ทั้งที่จริงเข้าใจแค่หลักการพื้นฐานบางอย่างและนำเอาสิ่งที่เข้าใจมาทำเครื่องมือเครื่องใช้ พอทำได้จริงก็ยิ่งทำให้เชื่อจริงๆ วิทยาศาสตร์เป็นแค่ myth หรือเรื่องโกหกอยางหนึ่งที่เอามาใช้ได้ และทุกวันนี้ก็เรื่องโกหกอย่างหนึ่งที่ดูมีเหตุผลรองรับ โลกที่เป็นจริงอาจไม่ใช่เลยก็ได้

. . . เราพยายามมองโลก เราเห็นสิ่งที่เราต้องการจะแลเห็นเท่านั้น โลกที่แท้จริงอาจไม่ใช่อย่างที่เราเห็นเลยก็ได้ ฉะนั้นความพยายามมองโลกอย่างลึกซึ้ง มองลึกเข้าไปให้เห็นมากกว่าที่ตามองเห็น ความพยายามนี้ก็คือศาสนา การแสวงหาความจริง แสวงหาธรรมะ วิทยาศาสตร์ มองโลกผ่านสมมุติฐาน และหาเหตุผลมาสนับสนุนข้อสมมุติฐานนั้น ไม่มีอะไรเป็น absolute reality แล้วบังเอิญมันใช้ได้ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้จริง จึงทำให้ยิ่งเชื่อ ที่จริงอาจเป็นความจริงเพียงเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น

 

GM : ใช้วิธีสรุปจากปรากฏการณ์ซ้ำ

พจนา : ใช่ และปรากฏการณ์ซ้ำ นั้นก็เป็นแค่ความจริงเล็กๆ ของธรรมชาติ ไม่มหัศจรรย์อะไร เรื่องธรรมดา (เสียงจักจั่นยังคงดังกังวาน)ถ้าจะยกตัวอย่างเรื่องจักจั่นว่ามันสร้างเสียงได้ยังไง นักวิจัยเขาก็มีวิธีคิดเดียวคือจับมันมาผ่า ดูปีก ดูกล้ามเนื้อไปตามเรื่อง จริงๆเป็นเรื่องไร้สาระหมดเลย เพราะจักจั่นยิ่งใหญ่กว่านั้น มันไม่สามารถแยกเป็นชิ้นได้ จักจั่นคือทั้งหมด คือจักรวาล เป็นความยิ่งใหญ่เกินกว่าแมลงตัวเล็กๆที่เรามองเห็น และวิทยาศาสตร์เข้าใจจุดนี้ไม่ได้ เพราะระบบความคิดของเขาคือการมองอย่างแยกส่วน ขณะที่ในสายธรรมะเรามองทุกอย่างในเป็นเอกภพ ทุกอย่างในเอกภาพนี้สัมพันธ์กันหมด มองสรรพสิ่งแบบองค์รวม ฉะนั้น มนุษณ์ไม่ได้ยิ่งใหญ่กว่าทุกอย่าง เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของทั้งหมด เราต้องเรียนรู้เพื่อเข้าใจเพื่อนของเรา ที่อยุ่ในมิตินี้ หรือมิติอื่นด้วย ผมว่าแนวคิดเรื่องอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือการอยู่อย่างกลมกลืน ทางพุทธมีมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมี

 

GM : คุณคิดว่าอะไรเป็นอุปสรรค เป็นตัวปิดกั้นไม่ให้คนเราเข้าถึงธรรมะได้ และเวลาที่ผ่านๆไป ต่างคนก็ต่างทำงานจนลืมคิดถึงเรื่องของจิตใจ

พจนา : เราเป็นเจ้านายของการงานได้ งานเป็นแค่อุบายที่อยู่ในโลกเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่อมีชีวิตอยู่อย่างกลมกลืน ระหว่าง ๒ โลก ใครมุ่งหาเงินอย่างเดียวก็บ้า น่าเศร้า แต่โดยพื้นฐาน มนุษย์กลัวความไม่มั่นคง กลัวอดอยาก นี่เป็นสัญชาติญาณพื้นฐานพอสังคมหนุนความโลภด้วยทุนนิยมเข้าไปอีก เน้นกินมากใช้มาก เน้าการเสพอย่างถึงที่สุดทุกรูปแบบ จึงยิ่งไปกันใหญ่ ระบบมันเป็นแบบนี้ ทุนนิยมก็คือ slot machine อยู่ที่ว่าใครใครจะมีสติปัญญาเห็น และหลุดออกมาคิดได้ แน่นอน โดยระบบไม่เอื้อนัก แต่บางทีก็มีความหมาย คือการเสพจนสุดทางเกิดภาวะซ็อคและกระตุ้น ทิ่มตำให้คิดได้ และที่สุดอาจจะเห็นธรรมขึ้นมา เรื่องข้างในเห็นแทนกันไม่ได้ วันหนึ่งรู้สึกไม่เข้าท่าในการมีชีวิต คนจะเริ่มตั้งคำถาม ผมว่าความสงสัยสำคัญมาก ในการเริ่มต้นค้นหาบางอย่าง มีบางอย่างที่มากกว่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ที่จะต้องค้นหา

 

GM : แต่คนที่เดินออกจากระบบก็มักเอาตัวรอดไม่ได้ หลายคนเป็นภาระคนอื่นด้วยซ้ำ

พจนา : ไม่จำเป็นต้องเดินออกจากระบบ อยู่ในทุนนิยม และมีชีวิตทางธรรมด้วย เป็นไปได้ เพราะโลกนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อวิถีโลกเท่านั้น โลกยังมีอยู่เพื่อธรรมะด้วย ทุกอย่างในโลกเป็นฐานของการเข้าใจเรื่องธรรมะ จิตวิญญาณของโลกเป็นเหมือนสปริงบอร์ด ถ้าไม่มีฐานนี้คนก็ไม่มีจุดก้าวกระโดด โลกคือฐาน ทุนนิยมเป็นส่วนหนึ่งของโลก มันใช้ได้ นี่มองแบบตันตระ ทุกอย่างที่มีอยู่สามารถใช้ได้ ใช้อย่างถูกทางจะเห็นผล

. . . ตันตระยอมรับว่ากิเลสตัณหามันมีอยู่จริง ฉะนั้นจงใช้มันอย่างแยบยลเพื่อให้เกิดปัญญา อย่าปฏิเสธ แต่ต้องยอมรับ การยอมรับเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าใจสิ่งที่เรามีอยู่ เป็น energy เข้าใจแล้วจะสามารถใช้ในทางสร้างสรรค์ ผมว่าถ้าใช้ทุนนิยมอย่างเข้าใจ มันใช้การได้ข้อสำคัญ ต้องหาบาลานซ์ไม่งั้นคนทิ้งโลกหมด แน่นอน ทุกคนต้องเดินตามเสียงเรียกร้องภายใจ แต่ละคนก็มีด้านในที่ต่างกันไป ต้องหาให้เจอว่าศักยภาพของตนเอง เหมาะกันอะไร บางคนเหมาะจะทำธุรกิจ เขาก็เป็นนักธุรกิจที่ดีได้ บางคนเป็นอาร์ติสท์ บางคนเป็นข้าราชการ เป็นเสรีภาพกว้างใหญ่มาก ต้องตัดสินในเองว่าความเหมาะสมของตัวเองอยู่ที่ไหน

 

GM : โดยศักยภาพสมองคน คุรคิดว่าทุกคนสามาถเห็นธรรมในชาตินี้ไหม

พจนา : การเห็นธรรมไม่ใช่เรื่องสมอง แต่เป็นเรื่องของจิตวิญญาณ การปลูกฝังความละเอียดอ่อน สมองเป็นตัวแทนความคิด ทางธรรมเป็นเรื่องของญาณ การรู้ด้วยสัมผัสที่ลึกเกินกว่าความคิด มโนภาพ ซึ่งจุดนี้ทุกคนที่เท่ากัน คนเราทุกคนมีศักยภาพเท่าพระพุทธเจ้า ปัญหาคือคนเรามักดูถูกตัวเองเกินไป เพราะถูกสังคม สื่อ และเอนเตอร์เทนเมนต์หยาบๆ ทำให้ศักยภาพอันปราดเปรื่องทื่อ ตาที่แหลมคมของเราถูกทำให้พร่ามัว มืดบอด บรรยากาศในเมืองสมัยใหม่ พวกเพลงเฮงซวยทั้งหลาย เพลงหยาบๆไร้สุนทรีย เหล่านี้ยิ่งทำให้เราทื่อ ผมว่าเราต้องเทรนสิ่งเหล่านี้ใหม่ จะนำไปสู่ญาณ หรือภาวะจิตรู้ ผมยืนยันว่ามีจิตแห่งพุทธะ ทุกคนมี แต่ไม่รู้จะปลุกยังไง ไม่ต้องหาใหม่ มันมีอยู่แล้วลองค้นหาดู

...ไม่ต้องรอชาติหน้า ถ้าคิดแบบนั้นหมดมันเหมือนมือตีนงอ ชาตินี้ถ้าไม่มีบุญก็ก้มหน้ารับกรรมไป ผมว่าเลิกคิดวิธีนั้นซะ ทำได้แต่ต้องพากเพียรลับสัมผัสรับรู้ให้แหลมคม จิตวิญญาณจะแหลมคมขึ้น ต่อไปจะเห็นธรรม เห็นด้วยตาข้างใน หรือตาที่สาม ไม่ใช่การคิด จุดเริ่มต้นการเทรน ผมว่าอาจฝึกการคิดให้นอกกรอบที่เคยถูกเทรนมา จะเริ่มเห็นบางสิ่งบางอย่าง และจงติดตามสิ่งนั้นไป แล้วจะพบอีกมิติหนึ่งซึ่งไม่ใช่โลกนี้ ใช่แต่ไม่ใช่ บางครั้งผมเห็นชั่วแวบ ไม่ถาวร แต่คอนเฟิร์มว่ามี มันซ้อนกันอยู่ เกิดเสียงข้างในแล้วต้องตามไป ของจริงนะ ถ้าเทรนตนเองเสมอจนเป็นคนจริง เสียงข้างในเป็นเสียงจากใจตามแล้วไม่พลาด

 

GM: ทำไมเสียงข้างในจึงมักมี ๒ เสียง

พจนา : เพราะใจถูกแบ่งให้เป็น ๒ ใจ ถ้าสามารถรวมใจเป็นหนึ่งเดียวเสียงนั้นจะเป็นเสียงเดียว คนเราคิดฟุ้งซ่าน ไม่ใช่ ๒ เสียง บางทีมีหลายเสียงด้วย ต้องจดจ่อ เลิกฟุ้งซ่าน การทำสามาธิจะช่วยได้ เสียงข้างในจะเป็นเสียงเดียวอย่างแท้จริง ยุติสงครามในใจได้ หนทางจะชัดเจน โดยธรรมชาติมนุษย์เหมือนมี ๒ ขั้ว เป็นสัตว์ ๒ ขั้ว และต่อสู้กันตลอดใน ๒ ฝ่ายนั้น ผมสังเกตว่าอะไรที่มี ๒ ผมพบว่ามันจะมีแกน จงกลับไปหาแกนนั้น ถ้าสมองมี ๒ ซีกจริง มันจะมีแกนอยู่ หรือต้นไม้ต้องมีรากก่อนถึงมีกิ่งก้าน อะไรที่มี ๒ ต้องมีแกนเชื่อม ๒ อันนี้เข้าด้วยกัน หลักธรรมชาติคือสิ่งนี้

... มันเป็นความหมายของ unity หรือการรวมเป็นเอกภาพ ต้องกลับไปหาเซ็นเตอร์ ปัญหาสำคัญของมนุษย์ ทุกวันนี้ผมว่าต้องกลับไปหาเซ็นเตอร์ อย่างรีบด่วน เพราะเราแตกไม่รู้กี่แฉก แต่ละแฉกแตกไปไม่รู้กี่ทิศทาง เราเป็นมนุษย์ประหลาด เหมือนเม่น มีชีวิตอยู่ในขนเม่นทุกเส้น คำโบราณเรียกคนใจแตก อธิบายชัดมากนะคำนี้

 

GM : ในยุคสมัยที่มีหลากหลายความคิดเห็นนี้ คุณพอจะชี้ได้ไหมว่าสังคมควรฟังใคร หรือนักคิดคนไหนที่น่าสนใจที่สุด

พจนา : เยอะแยะ ปัญหามันไม่ได้อยู่ควรจะฟังใคร ปัญหาคือคนไม่เคยสนใจฟังใครเลย โดยเฉพาะคนนอกกระแส คุณจะเอาศาสดากี่องค์ พระดีๆ มีมากมาย เขาไม่เคยหยุดมอง ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ ขาดสติอย่างสิ้นเชิง ประเทศไทยไม่ได้ไร้นักคิด มีคนคิดสวนกระแสเยอะแยะที่คิดลึกซึ้ง เช่นหมอประเวศ วะสี , เจ้าคุณธรรมปิฏก , นิธิ เอียวศรีวงศ์ , โสภณ สุภาพงษ์ ใครว่าเมืองไทยไม่มีนักคิด ไม่จริง

... ก่อนหน้านี้ก็มีท่านพุทธทาส , อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ , อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ประเทศในเอเชียอื่นๆ เขาไม่มีนักคิดเท่าบ้านเรา ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำเรายังมองเป็นบวกได้ นั่นคือการหยุดคิด แต่ที่อื่นงง เขาคิดอย่างเดียวว่าจะทำยังไงให้เศรษฐกิจดีขึ้นมา ทำยังไงจะดีเท่าเดิม เขาไม่เคยคิดเลยว่า จะลดการบริโภคยังไง หรือเลือกอันเทอร์เนทีฟเวย์ ทำไม่มองอย่างอื่นที่ไม่ใช่ระบบเดิม ทำไมไม่กลับไปหาความพอเพียงแบบบรรพบุรุษ

... คุณดูก็ได้ ประเทศเราแย่ขนาดนี้ ยังไงมันก็ไม่เป็นเหมือนอินโดฯ เพราะอะไร เพราะเรามีรากลึกมาก นี่เป็นบุญเก่า เมืองไทยมีรากสังคมพุทธ คนไม่มีข้าวกิน ช่วงหนึ่งทางวัดก็ช่วยหุงหา จำได้ไหมที่เป็นข่าวคราวอยู่พักหนึ่ง คือใช้วัฒนธรรมเก่ารองรับความลำบาก โอเค มีอาชญากรรมเพิ่มขึ้น แต่ยังมีสันติสุขพอสมควร เราโชคดีมากที่มีรากพุทธ ถึงคนจะเพี้ยน จะบ้า แต่ไม่ฆ่าตัวตาย หลายคนเข้าหาธรรมะ ที่อื่นไม่มีแบบนี้ อย่างที่ญี่ปุ่นสับสนมืดดำขึ้นมา ใครจะช่วยคุณ ศาสนาหรือก็เป็นธุรกิจหมดแล้ว ผมว่าบางทีมันต้องทุกข์จนสุดถึงที่สุดก่อนคนถึงจะกลับมาสนใจเรื่องจิตวิญญาณ ถ้ายังไม่สุดก็ปล่อยมันไป เราแทรกไม่ได้ เดี๋ยวสุดเมื่อไหร่จะกลับมาเอง ขอเพียงเราเตรียมพื้นฐานรองรับบ้าง และอย่าให้รากขาด วันหนึ่งคนจะกลับมาหารากนี้

... นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมทำงานหนังสือ หมั่นทำไว้ วันนี้คนอาจไม่อ่าน แต่ผมคิดถึงวันข้างหน้า วันที่ผู้คนค้นหาอะไรบางอย่าง เขาอาจจะกลับมาสนใจ เช่นเดียวกับวิถีทางของคนเล็กๆ ในสังอีกหลายคน แม้กระทั่งงานของชั้นดีของท่านพุทธทาส วันหนึ่งคนจะหวนมาศึกษา สังคมไทยไม่ได้ไร้ราก เพียงแต่เราลืมไปเท่านั้น เรานึกว่าเป็นเทพ ลืมไปว่าเราอยู่บนโลก เราไม่มีวันชูยอดขึ้นฟ้าได้เลยถ้าไม่เข้าใจในรากของเรา แล้วสภาพก็อย่างที่เห็น เทพชั่วคราวตกจากฟ้าลงมาเป็นแค่สัตว์ที่น่าสงสาร

 

GM : คุณเคยเขียนว่าโลกนี้มืดมน จงอย่าลังเลที่จะเป็นดาวดวงหนึ่ง ถ้าถามตอนนี้คุณยังคิดว่าโลกมืดมนอยู่หรือเปล่า

พจนา : ผมว่ามันก็เปลี่ยนไป ช่วงทุกข์ทุกคนอาจรู้สึกว่าโลกมืดมาก แต่พอหายก็รู้สึกว่าโลกไม่มืดอย่างที่เราคิด คนมีแต่ละช่วง งานผมก็เป็นแค่ช่วงหนึ่งในอดีต ถึงโลกจะมืด คุณไม่ต้องเป็นดาวก็ได้ เป็นกิ่งไม้แห้งก็ได้ บุหรี่ก็ได้ ไม่ต้องดาว ดาวมันแค่สัญลักษณ์ที่โรแมนติก และคนมักชอบความโรแมนติก สิ่งธรรมดาในโลกนี่แหละ ถ้าคนไม่เข้าใจก็ได้เห็น ผมคิดว่าคนต้องผ่านงานสายลมแสงแดดให้ได้ พัฒนาไปสู่ภาวะพ้นไปกว่านั้น ต้องเห็นสายลมแสงแดดลึกกว่านั้น ไม่แค่หวานแหววต้องโต คือมองเห็นความงามนอกรูปแบบ นั่นคือภาวะของการคลี่คลาย

 

GM : ชีวิตตอนนี้ คุณอยู่ของคุณเงียบๆ หรือยังตามข่าวคราวสังคมอยู่ตลอด

พจนา : สังคมเป็นแค่ปรากฏการณ์ เวลาดูอะไรอย่าดูแค่ปรากฏการณ์ ดูเนื้อหาเพราะถึงที่สุด ปรากฏการณ์ก็ไม่มีอะไรสำคัญ ส่งที่อยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์นั้นต่างหากที่น่าสนใจ

 

GM : ในสายตาคุณคนหนุ่มสาวยุคนี้ต่างไปจากเมื่อ ๒๐ ปีก่อนไหม เห็นแล้วรู้สึกไร้ความหวังหรือเปล่า

พจนา : ผมว่าคนทุกยุคเหมือนกัน การรับรู้ของเขาเท่านั้นที่ไม่เหมือน ยุคแบบนั้นเนื้อหาคนไม่ต่างกัน คนรุ่นผมจิตสำนึกทางสังคมจะมีเยอะ ยุคนี้ไม่มีแบบนั้น ถ้ามีกระแส เขาก็อาจคล้ายเรา เท่าที่เห็น รู้สึกว่าคนยุคผมชอบด่าคนรุ่นอื่น ซึ่งผมว่าไม่ใช่เรื่อง ใครที่คิดว่าคนรุ่นตัวเองเท่านั้นที่เจ๋ง ไม่ไช่เลย ถ้าเจ๋งจริง คงสร้างสรรค์ได้มากกว่านี้ โอเค คนสร้างสรรค์ก็สร้างสรรค์ แต่คนที่เป็นนักทำลายก็มีเยอะ คนเหมือนกันหมด มีคนทุกรูปแบบในทุกกระแส ไม่ต่างกัน อย่าคิดว่าคนรุ่นตัวเองเจ๋งสุด อันตราย อย่าคิดว่าโลกฝากความหวังไว้กับเราเท่านั้น วิธีคิดเช่นนี้จะทำให้ไม่มองคนอื่น

... จริงๆโลกอยู่กับคนทุกยุค แต่ละยุคมีภาระหน้าที่ต่างไปตามยุคสมัยของตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่ ต้องให้โอกาสคนรุ่นหลังเขาเป็นฮีโร่ด้วย คนยุคก่อนหลายคนคิดว่าตัวเองเป็นฮีโร่และไม่หลุด วนเวียนอยู่กับความคิดนี้ และเจ็บปวดไม่สร่างซา ผมว่าเราอย่าคิดถึงความเป็นฮีโร่ หันมาสร้างด้านความคิด ทำงานวิชาการอะไรไป มันจะเกิดมรรคผลที่เป็นประโยชน์จริงๆ

 

GM : คุณเคยเขียนว่าถ้าขาดพลังเกื้อหนุนจากสตรีเพศ บุรุษก็ไม่อาจบรรลุธรรมชั้นสูงได้ ตอนนี้ยังคิดอย่างนี้อยู่ไหม

พจนา : ผมเขียนในแง่ว่า energy ของสองเพศนี้มันต่างกัน ผู้หญิงของคือโลกของความลี้ลับ แรงบันดาลใจ ศิลปะ ความฝัน กลางคืน ขณะที่ผู้ชายจะเป็นกลางวัน มีความชัดเจน ความกระตือรือร้น มีกระบวนการคิดเป็นเรียลิสติก ทำสงคราม ล่าสัตว์ ผู้หญิงจะอยู่กับงานฝีมือ เลี้ยงลูก และโลกทุกวันนี้เป็นโลกของผู้ชาย ผมไม่ได้หมายถึงเพศชายนะ แต่เป็นพลังผู้ชาย dominate เป็นคอนเซ็ปต์และวีธีคิดของผู้ชาย โลกนี้จึงเต็มไปด้วยสงคราม การค้า การแข่งขัน การแผ่ขยายอิทธิพล อำนาจการค้าและการปกครอง

... หลายศตวรรษที่ผ่านมา พลังผู้ชายครอบงำโลก แต่เมื่อก่อนผมคิดว่าผู้หญิงครองโลก อาจจะสักห้าพันปีขึ้นไปถึงหนึ่งหมื่นปี เมื่อโลกเปลี่ยนยุคสมัยเปลี่ยน โลกจึงปั่นป่วน เพราะนี่คือโลกของผู้ชาย นี่คือโลกของการเอาชนะ ต้องการรู้ทุกอย่าง เป็นโลกที่เน้นเรื่องสมอง การคิด ขณะที่ผู้หญิงจะเน้นจิตใจ ความรัก อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าโลกกำลังมาถึงจุดเปลี่ยนอีกครั้ง สังเกตได้ว่าผู้หญิงเริ่มมีบทบาท และกำลังหาจุดบาลานซ์ เริ่มต้นค้นหาความกลมกลืนให้โลก นี่จะเป็นการเปลี่ยนยุค ผมไม่รู้ว่ากี่พันปีที่โลกจะเปลี่ยนครั้งหนึ่ง แต่จะมีการเปลี่ยนแปลงแน่ๆ ต่อไปคนจะสนใจศาสตร์ลี้ลับ ศิลปะ เรื่องของหัวจิตหัวใจ ธุรกิจจะเป็นเพียงเรื่องหยาบๆ ตัวผมเองก็ได้เรียนรู้พลังส่วนนี้จากผู้หญิง เพราะผมไม่มี

... โลกสร้างหญิงชายให้อยู่ด้วยกัน เพื่อให้เรียนรู้กันและกัน ไม่ใช่แง่สามีภรรยาเท่านั้น แง่เพื่อนหญิงกับชายก็ได้ เราสัมพันธ์กับผู้หญิงอยู่แล้วด้วยบทบาทใดบทบาทหนึ่ง แม่ น้อง เพื่อนร่วมงาน เราจะได้จากเขา ผู้ชายต้องอาศัยพลังนี้ ต้องเรียนรู้ energy ของผู้หญิงเพื่อมาพัฒนาตัวเอง ลบความก้าวร้าวทิ้ง เท่าที่สักเกต๒๐ปีที่ผ่านมา ผู้หญิงเด่นมาก ทั้งในด้านความสามรถและสติปัญญา เทียบโดยจำนวนที่ผมเจอมาด้วยตัวเอง ผู้ชายสู้ไม่ได้ ผมจึงคิดว่าโลกกำลังจะเปลี่ยนไปหาสตรีเพศ เริ่มบาลานซ์ขึ้น นับว่าเป็นเรื่องดี

บันทึกการเข้า

"...สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดก็คือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่าวันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จักต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้ เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่าชีวิตของฉัน และพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้ นั่นคือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์..."

คำรำพัน ณ สุสานสหายผู้เสียสละในการต่อสู้ปฏิวัติ จากนวนิยายโซเวียตยอดนิยมเรื่อง เบ้าหลอมวีรชน

(How the Steel Was Tempered)

นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ เขียน ค.ศ.1933


*******************************

เชิญเยี่ยมชมบล็อคครับ
http://www.oknation.net/blog/amalit1990
ชัย คุรุ เทวา โอม
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

เพศ: ชาย
กระทู้: 2,846


สมัครรักแมว แต่ผมรัก Cat


« ตอบ #2 เมื่อ: 28-11-2007, 21:18 »

GM : คุณเห็นด้วยไหมว่าความรักของหนุ่มสาวยุคนี้มีอายุเพียงสั้นๆ แตกร้าวเร็ว

พจนา : ผมไม่ค่อยรู้นัก แต่ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าน่าจะมีปัญหาเรื่องวิธีมองคือหวังเกินไป มองแค่เรื่องทางโลกเท่านั้น เรื่องทำมาหากิน ฉันบริการเธอ เธอบริการฉัน ความรักแบบนี้ก็ย่อมจบเร็ว ผมว่าความรักต้องมองเป็นเรื่องทางธรรมด้วย สปิริตแล้วมีพัฒนาการไม่สิ้นสุด โดยทางโลกเซนส์ของครอบครัวหมายถึงสั่งสม แต่ทางธรรมคือคลี่คลาย ไม่คาดหวัง ค้นหาชีวิตที่ดีร่วมกัน ชีวิตครอบครัวของคนขาดตรงนี้ ถ้ามี คนเราจะลึกซึ้งมากขึ้น เรื่องทางธรรมต้องมองให้ผ่านบอดี้ และแบ่งปันเรื่องความรู้สึกเอื้ออาทรต่อกัน เป็น spiritual sharing ไม่งั้นมองฝ่ายตรงข้ามมีค่าแค่มาเสริฟ์ตนเอง พอใจแค่มีเมียสวย หรือเรื่องเซ็กซ์แค่นั้น แต่นั่นแหละ ..นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะ ๒ เพศนี่เป็นพลังดึงดูดซึ่งกันและกัน ต้องใช้ความเพียรสติปัญญาอย่างมาก

 

GM : ความรักเป็นทางหนึ่งที่สามารถเข้าถึงธรรมได้ใช่ไหม

พจนา : โดยตรงเลย ศาสนามี ๒ ทาง คือใช้ความรักเป็นทาง เช่น ศาสนาคริสต์

 

GM : โดยวิธีการของคุณคือเขียนงานออกมาแบ่งปันให้ผู้คน คำถามคือเมื่อสังคมเปลี่ยนไป คุณปรับเปลี่ยนวิธิการนำเสนอเพื่อให้งานนั้นๆ เข้าถึงผู้คนได้มากที่สุดหรือเปล่า

พจนา : ผมแบ่งปันเท่าที่ตัวเองมีใจแต่ละช่วง ถามว่าผมปรับตามสังคมที่เปลี่ยนไปไหม ผมปรับตามตัวเอง แชร์ในสิ่งที่ตัวเองมี ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ ผมว่าคนเราควรแบ่งปันทุกอย่างที่มีอยู่ ยิ่งพวกความรู้ ความเข้าใจ ถ้าเราเก็บมันจะกลายเป็นความตีบตัน การแบ่งจะเกิดกระแสการเคลื่อนไหวบางอย่างที่ดีมาก ยิ่งแบ่งปันเรายิ่งได้มากขึ้น แม้กระทั้งข้าวของเงินทอง มีก็ใช้ไป ถ้าเหลือก็ควรแบ่งปัน

 

GM : ยุคสมัยและสังคมเปลี่ยนไป วิธีการหาเงินของคุณเปลี่ยนไปไหม หรือยังเขียนและแปลหนังสือที่อยากจะทำอยู่เหมือนเดิม

พจนา : ใช่ เหมือนเดิม ไม่เคยมีวิธีหาเงินแบบอื่น ก็ยังไม่ตาย ยังมีชีวิตอยู่ โชคดีผมมีบ้าน อยู่กับพ่อแม่ บ้านไม่ต้องเช่า ตัดไปเรื่องหนึ่ง รายจ่านหลักๆ ก็มีแค่เวลาออกไปข้างนอก ก็พออยู่ไป

 

GM: แต่ละเดือน คุณใช้จ่ายเท่าไหร่

พจนา : น่าจะต้องประมาณ ๖,๐๐๐ บาท คือวันละ ๒๐๐ บาท ถึงอยู่ได้ แต่โดยความจริงแล้วก็หาไม่ได้ บางเดือนผมไม่มีรายได้เลย เพราะหนังสือมันนานๆออกที ไม่ได้ออกทุกเดือน ถ้าออกมาก็ได้เป็นก้อนเล็กๆ เฉลี่ยใช้ไป คนทำหนังสือเล่มก็แบบนี้ ผมทำมาทั้งงานเขียน แปล ประมาณ ๘๐ เล่ม ก็ยังอยู่ไม่ค่อยได้ เคยบอกรุ่นน้องบางคนเหมือนกันว่า ถ้าจะเขียนหนังสือก็อาจต้องเจอสภาพแบบนี้ ให้ทำใจและเข้าใจ เพราะไม่งั้นก็ไปหาอย่างอื่นทำ เว้นแต่พวกบอร์น ทู บี ไม่เขียนหนังสือแล้วมันจะเป็นจะตาย นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ต้องยอมรับสภาพนี้ให้ได้

 

GM : ถ้าคิดว่าเราก็ทำงานด้วยจิตบริสุทธิ์ มีความรู้ ความคิดอะไรก็แบ่งให้ผู้คน แต่ผลตอบแทนหรือรางวัลของมันแค่นี้หรือ

พจนา : ก็อย่าไปคิดแบบนั้นสิ คิดว่ามีอะไรทำฆ่าเวลาก็พอ อย่าคิดว่าทำอันนี้แล้วต้องได้อันนั้น หรือคิดเป็นค่าตอบแทน รักจะทำก็ทำไปให้เต็มที่ ผลตอบแทนแค่ไหนนั้นก็เป็นอีกเรื่อง หรือไม่มีเลยก็อีกเรื่อง อย่าคิดถึงมัน

 

GM : มันจะง่ายอย่างนั้นเลยหรือ แค่บอกตัวเองว่าอย่าคิด คือเปรียบเทียบแล้วมันก็เหมือนเรื่องความทุกข์ สมมุติว่าทุกข์มากก็บอกตัวเองว่าอย่าทุกข์ ทุกคนพูดได้ แต่ความจริงมันจะเป็นไปได้ยังไง

พจนา : แต่มันจะมีวิธีไหนล่ะ นอกจากไม่คิด ผมไม่คิดจริงๆ อาจจะชินด้วย ทำอะไรก็ทำไปเพียวไปเลย มีผลตอบแทนหรือไม่ ช่างมัน ถ้ามันเพียว โอเค ผลตอบแทนอาจจะไม่ใช่ตัวเงินก็ได้ ผมคิดว่าบางทีสิ่งที่เราทำ รางวัลของมันอาจเป็นนามธรรมกับคนอื่น หรือกับอะไรก็ไม่รู้ อาจเป็นแค่พลังงานหรือคลื่นดีๆ ที่เปล่งออกไปโดยไม่มีผลตอบแทนเลยก็ได้ เป็นแค่บรรยากาศ ดูแสงแดดซิ พระอาทิตย์ไม่ได้ค่าจ้าง ทั้งที่ทำงานทุกวัน เราเป็นไม่ได้เท่าเขา

... ..ฉะนั้น อย่าคิด พยายามดูสิ่งอื่น ลมพัดให้เราเย็นสบาย ลมก็ไม่ได้ค่าจ้าง ผมว่าถ้าเราทำอะไรแล้วได้เงินนิดหน่อยก็น่าจะดีใจแล้ว เพราะโลกให้เรามากพอแล้วจริงๆ เรารับจากโลกเยอะแล้ว ที่เราเอื้อเฟื้อไปบ้างมันเล็กน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราได้ เรายังเป็นหนี้แบงค์ธรรมชาติอยู่เยอะมาก และแบงค์ก็ไม่เคยมาเร่งรัด ไม่ทวงคืนด้วย บางคนเกิดมาทั้งชีวิตแม่งทำแต่ความชั่ว เขายังไม่มาทวงเลย ตายไปก็จบเท่านั้น ธรรมชาติไม่เคยทวง เขายิ่งใหญ่ขนาดไหน ฉะนั้น ถ้าเราเรียนรู้จากธรรมชาติ เราจะเห็น

..... ผมว่าทำอะไรก็ช่าง สำคัญที่สุดคือขอให้ทำด้วยความรักเมื่อเราได้ทำ ผลตอบแทนอยู่ในสิ่งนั้นแล้ว โดยเฉพาะความปิติของงาน นั่นคือผลตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นอกนั้นไม่มีอะไร อย่าหวัง เพราะมันจบแค่ตัวการกระทำของเรา ส่วนการส่งต่อไปให้กระบวนการอื่น แล้วใครจะเห็นคุณค่าหรือไม่ เป็นเรื่องของทางโลกแล้วล่ะ

..... การทำงานของผมเป็นเหมือนบทกวีเล็กๆ เห็นความงอกงามของมัน เราก็เขียนการตีพิมพ์เป็นเรื่องทีหลังมาก ณ ตรงนี้งดงามมาก งามจนกระทั่งเราไม่สามารถถอดใจที่จะเก็บรูปนี้ไว้ได้ จบ นี่คือความรัก เป็นสิ่งเล็กๆของเรา ผมเขียนบทกวีเป็นแค่บันทึกเล็กๆ ไว้ โอเค ถ้าเราจะแบ่งปันคนอื่นด้วยก็ดี หรือไม่แบ่งปันก็ไม่เป็นไร แบ่งได้หรือไม่ได้ก็อยู่ที่เงื่อนไข ถ้ามีเงื่อนไขแบ่งได้ แบ่ง

 

GM : แม้ว่ายุคหนึ่งจะขายดี และยุคหลังๆ ขายได้น้อยมาก มันก็ไม่มีผลต่อคุณเลย ยังงั้นหรือ

พจนา : ใช่ ผมว่าดีด้วยที่ขายไม่ได้เพราะให้เห็นว่าคนที่อ่าน เขาซื้อจริงๆ ไม่ได้ซื้อเพราะกระแส มีคนคนหนึ่งที่อ่านอย่างจริงๆ กับการที่คนอ่านเยอะแยะเพราะกระแส ผมเลือกคนหนึ่งที่อ่านจริงๆ ดีกว่า มันมีความหมายกว่า ผมคิดว่าจำนวนไม่ได้ไม่ได้พิสูจน์อะไร ปริมาณไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งทีสำคัญที่สุดคนเราต้องชัดเจนในตัวเอง ถ้าไม่ชัดเจนจะไหวง่าย ถ้าชัดแล้วไม่มีอะไร จะเข้าใจว่ามันเป็นไปยังไง ขึ้นสูงหรือลงต่ำ ไม่มีความหมายอะไร บอกตรงๆผมเคยรุ่งเรืองถึงที่สุดมาแล้ว รู้แล้วว่าความรุ่งเรืองไม่มีอะไร ไม่มีแก่นสาร ไร้สาระทั้งหมด โกหก เมื่อเราตก เราจึงไม่รู้สึกอะไร เรื่องขึ้น ตก เป็นเรื่องทางโลกหมด หัวเราะกับมันได้ คนเราไม่ได้อยู่เพื่อเรื่องขึ้นหรือตก หากอยู่เพื่อสิ่งที่เขาเชื่อ สิ่งที่เราต้องการจะทำ เพื่อสิ่งที่เรารัก

..... ไม่มีอะไรจริง ชื่อเสียงก็แค่มายาภาพเท่านั้น ทำไมเราต้องให้คนอื่นมายอมรับ หรือมาคอนเฟิร์มว่าเราเป็นคนแบบไหน ทำไมเราไม่ค้นหาตัวเอง และรู้ให้ได้ว่าคุณค่าของเราอยู่ที่ไหน ทำไมต้องรอให้คนอื่นมาให้คุณค่า ถ้าวันหนึ่งคนอื่นเลิกให้คุณค่ากับเรา มันหมดความมั่นใจในตัวเองงั้นหรือ ผมว่าค่อนข้างเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป

 

GM : แต่ใครๆ ต่างก็วิ่งไปสู่การมีชื่อเสียงและสะสมทรัพย์สินเงินทอง เพื่อความสุขสบาย เพื่อเกียรติยศในวันหน้าด้วยกันทั้งนั้น

พจนา : แต่ทั้งหมดนั่นก็เป็นสิ่งชั่วคราว เดี๋ยวก็ตาย คิดแบบนี้จะสบายไม่ต้องการอะไรมาก

 

GM : ระยะนี้คุณเดินทางบ้างหรือเปล่า

พจนา : น้อยมาก เพราะไม่มีตังค์ แต่หลังๆ ผมว่าการเดินทางข้างในสำคัญกว่าข้างนอก พักนี้มันเป็นเรื่องการเดินทางข้างในมากกว่า ข้างนอกเป็นแค่ที่ สถานที่เอื้อให้เราคิด

 

GM : คุณเคยเขียนว่าในชีวิตคนเรามีสิ่งที่เป็นอัปมงคลอยู่ ๓ สิ่งคือความมั่งมี ความมั่นคง และความสุขสบายจนเกินการ ณ วันนี้ยังรู้สึกอย่างนี้อยู่ไหม

พจนา : อัปมงคงแน่ๆ ถ้ามันทำให้เราเป็นเนื้อเยื่อยุ่ยๆ เป็น soft tissue เพราะจะทำให้เราไม่แกร่ง ไม่โต จิ้มแล้วยุบ แต่ ๓ สิ่งนี้ก็สามารถเป็นมงคลได้ ถ้าใช้มันเป็นปัญหาคืออยู่ที่เราใช้ยังไงมากกว่า สมมุติว่าถ้าเรามีเงินมากและใช้เป็น เราก็สามารถเกื้อกูลคนอื่นได้ ช่วงสังคมได้ ความร่ำรวยไม่ใช่สิ่งผิด แต่ถ้าใช้ไม่เป็น ใช้เพื่อบำเรอตัวเอง ก็เป็นแค่เสพ ไม่มีอะไร ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นมงคลและอัปมงคลในตัวมันเอง ทุกๆเรื่อง เขียนหนังสือก็เช่นกัน ถ้าใช้ไม่เป็นก็เป็นอัปมงคล เขียนเหยียบย่ำคนอื่น เห็นแก่ตัว ทุกอย่างเป็นดาบสองคม ธรรมะก็เป็นดาบสองคม บางคนค้นหาทางธรรมและทำประหนึ่งว่าเข้าใจ แต่จริงๆ ไม่เข้าใจและพลาดตกหลุมพลาง ยึดติดใจศีลธรรมสำเร็จรูป คิดว่าตัวเองประเสริฐว่าคนอื่น

 

GM : คนจำนวนมากมักบ่นว่าจิตใจแห้งแล้ง เพราะทำแต่งานหาเงินกันตัวเป็นเกลียว เมื่อเจอเพลงดีๆ หนังสือดีๆ ก็รีบถลาเข้ามา มันคล้ายๆ เป็นการต่อเติมความฝันที่หายไป ที่จริงวิธีนี้ช่วยได้มากแค่ไหน

พจนา : การเติมเป็นแค่ขนมหวาน ไม่ช่วยอะไรมากนัก เหมือนยากล่อมประสาทที่ช่วยให้คลายเคลียดชั่วคราว ของจริงต้องเจอหนัก ชัด หลุดทะลุในตัวเอง แล้วพลิกกลับ ต้องชัดเจนว่าต้องการมากกว่าขนมหวาน เพื่อนผมหลายคนทำโฆษณา บ่นกันเสมอว่าข้างในแห้งมาก เหมือนตายซาก ก็ลำบาก ผมรู้สึกว่าไอ้สิ่งที่เสพไป หนังสือหรือหนังดีๆ ก็พอช่วยได้แต่มันน้อยมาก

..... คนมักง่ายด้วย ต้องการแม้กระทั่งความสุขสำเร็จรูป คิดว่ามีเงินซื้อได้จริงๆ ราคาที่จ่ายบางทีไม่ใช่เงิน คุณต้องจ่ายไป แต่จ่ายอะไร ความทุ่มเท ความเพียร ความจริงใจ ต้องจ่ายไป ไม่มีอะไรได้ฟรี บางคนไม่พร้อมจะจ่ายก็เลยซื้อเอาอย่างกรณีธรรมกาย คนต้องการธรรมะแบบ instant ทางวัดก็เลยขายดี หรือช่วงหนึ่งก็มีข่าวการใช้เงินเปิดจักร จักรหนึ่งเสียเท่านี้

..... จักรชั้นสูงต้องเสียแพง เป็นการแหกตาที่สยดสยองมาก คนสมัยก่อนทำสมาธิ ๒๐ ปี กว่าจะเปิดจักรได้ ไอ้นี่ใช้เงินซื้อ นี่คือภาพสะท้อนสังคมยุคใหม่ คิดว่ามีเงินก็ซื้อได้หมด คนไม่เข้าในว่าเรื่องธรรมะคุณต้องจ่ายเป็นชีวิตของคุณเอง ในอนาคต ธรรมะในรูปธุรกิจจะเยอะขึ้น เพราะคนมันขาด จะมีกลยุทธ์แปลกๆมาแหกตาชาวบ้าน

 

... .. ..มีเสียงเพลงดังขึ้นมา ได้ยินแต่เสียงกลองกระฉึกกระฉัก ฟังไม่ได้ศัพท์

..... " นี่ไง เสียงที่หยาบกระด้าง เพลงแบบนี้ทำให้คนหยาบ " พจนาชี้ให้เห็น

......" ไม่ใช่เพลง มันเป็นเครื่องมือทำลายล้าง มีแต่ฉุดคนลงนรก เพลงในเธคมักเป็นแบบนี้ คนไม่ค่อยรู้ว่า เสียงกลองกับจังหวะการเต้นของหัวใจนั้นเป็นจังหวะเดียวกัน และกลองสามารถเปลี่ยนจังหวะการเต้นของหัวใจได้ ฉะนั้น จึงเปลี่ยนอารมณ์คนได้ ขณะที่เพลงดีๆนั้นก็เป็นถึง spiritual มีความละเอียดลึกซึ้ง

....... ผมถามทรรศนะเขาต่อถึงเรื่องหนังและเพลงในยุคนี้พจนาตอบว่ามันก็เป็นอิทธิพลตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่ ไอ้ที่ดีๆ ก็มี ไม่ดีก็แยะ เท่าที่เห็น เนื้อหาของหนังจำกัดอยู่กับเซ็กซ์และความรุนแรง หนีเรื่องนี้ไม่ค่อยพ้น

 

GM : บางคนบอกว่ากิเลสเป็นเรื่องดี โดยเฉพาะวันหนุ่มสาว สมมุติว่าอยากเป็นช่างภาพที่ดีก็มุ่งไป อย่าปลงกับทุกอย่าง คุณเห็นด้วยหรือเปล่า

พจนา : บางทีอาจใช้คำผิด ผมไม่อยากใช้คำว่ากิเลส ผมคิดว่าคนเรามีความใฝ่ฝันอะไรสักอย่าง สิ่งนั้นมันไม่ใช่เนกาทีฟ หรือทำลายล้าง ผมว่าดีควรให้เขาทำไป เพราะว่าวิถีนั้นจะทำให้เข้าใจด้วยตัวเองด้วย มันนำไปสู่การเข้าใจอะไรบางอย่างที่ลึก คนที่มีความใฝ่ฝันก็เหมือนคนเราเกิดมาเป็นหน่ออ่อนใช่ไหม และจากหน่ออ่อน เราอยากโต อยากเป็นไม้ใหญ่สูงขึ้นไป หายใจข้างบน รับแดด นี่เป็นความใฝ่ฝันที่ดีงาม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ไม่เบียดเบียนคนอื่น แต่จงให้และเอื้อเฟื้อกัน ต่อไปจะเป็นไม้ใหญ่ที่งดงาม

 

GM : คุณว่าอัตตามีข้อดีบ้างไหม อย่างมีอัตตาในเรื่องาน

พจนา : คนเราต้องมีไฟ อุทิศงานนั้นให้ไร้ตัวตน สิ่งนี้จะทำให้เราลึกซึ้ง ไฟสร้างสรรค์ต้องมี ศิลปินจำนวนมากเข้าใจผิดเพราะเราเลียนแบบตะวันตก ลองสังเกตดู งานในโลกตะวันออกมักจะเป็นงานนิรนาม ไม่มีลายเซ็นผู้สร้าง เพราะเขาอุทิศให้ความไร้ตัวตนและธรรมะ ธรรมะมีตัวตนไม่ได้ เป็นแค่เครื่องมือ ผลงานไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เป็นจอมพลัง ศิลปะเป็นภาวะธรรม การสร้างสรรค์ระดับลึก ถ้าไม่เข้าใจ ทำไม่ได้ นี่เป็นเรื่องอนัตตาโดยตรง วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ยิงหัวตัวเองเพราะอะไร ก็เพราะเจอพลังมหาศาล บ้า รุนแรงมาก เขาจีเนียสมาก แต่ไม่สามารถคอนโทรลพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่นั้นได้ ศิลปินตะวันตกหลายคนบ้าเพราะเขาเข้าถึง energy ที่ยิ่งใหญ่ แหล่งกำเนิดพลังเจอแล้วหลุด ดิลไม่ได้

..... เรื่องธรรมะหรือสัจจะมีพลังมาก แรง ฉะนั้น การฝึกแต่ละขั้นตอนเป็นการฝึก energy เพื่อให้รับความจริงในแต่ละระดับได้โดยไม่เสียสติ ถ้าข้ามขั้นไม่มีเบสิก พื้นฐานรองรับ เจอธรรมะขั้นสูงมากอาจช๊อกหรือบ้าได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงอริยสัจ ถ้าไม่มีพื้นฐานพอ มีสิทธิ์ไหม้เป็นจุล แรงมากเป็น energy จักรวาล ขณะที่ energy ของเล็กมาก คนนึกว่าสัจจะเป็นเรื่องเล่นๆ ไม่ใช่ แรงมาก อาจเทียบเท่าไฟเป็นแสนโวลด์

 

GM : คุณเชื่อเรื่องภพหน้าหรือเปล่า

พจนา : อย่าคิดเรื่องพวกนี้ ไม่มีประโยชน์ การเข้าถึงธรรมไม่มีผล เหมือนอย่างวันหนึ่งสามารถระลึกชาติได้ เห็นขึ้นมา อำนาจนั้นมีอยู่จริงนะเป็นหลุมพรางด้วย หลายคนติด พอเห็นมากกว่าคนอื่นติด หยุด ไม่ไปต่อ อำนาจพวกนี้อันตราย เหมือนเล่นกับไฟ พลังอำนาจของเรามีร้อยแต่ทุกวันนี้ยังใช้ไม่ถึง ๑% ต่อให้เป็นนักวิชาการแหลมคมแค่ไหนก็ช่าง ยังใช้ศักยภาพในตัวน้อยมาก ใช้แค่หากิน หาเงิน แค่นั้น จริงๆ ความรู้ของจิตยิ่งใหญ่ เพราะเป็นธาตุของจักรวาล

 

GM : คุณมักพูดอยู่เสมอว่าเสมอว่าค้นหาสัจจะ หรือกำลังเดินเส้นทางของการแสวงหา ถ้าเปรียบเทียบในทางพุทธแล้ว คุณหมายถึงการมุ่งสู่หนทางแห่งการบรรลุธรรม หรือมีจุดมุ่งหมายนิพพานอย่างนั้นหรือเปล่า

พจนา : ทุกคนอยากค้นพบ อย่างแสวงหาเพื่อบรรลุธรรม แต่จะพบไหม ก็เป็นอีกเรื่อง เป็นใฝ่ฝันอันเดียวกันไหม ตอบตอนนี้ ผมคงพูดแค่ว่าไม่รู้ ถึงแล้วคงรู้ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร อย่าทำให้เป็นเรื่องสูงส่ง พยายามทำให้เป็นเรื่องธรรมดาดีกว่า พูดเป็นเรื่องสูงส่งมากจะไม่มีใครกล้าเดิน จริงๆธรรมดามาก หลักการทางพุทธก็คือกินดื่มอย่างมีสติ ทำงานด้วยสติ เพราะขณะที่เดือนอยู่ในโลกก็เป็นเรื่องทางธรรมด้วย พลิกอีกนิดหนึ่งเป็นเรื่องทางธรรม

........ทุกวันนี้มันแยกให้เป็นเรื่องสูงส่งกับต่ำต้อย จริงๆเราเดินอยู่แล้วมีสติอีกนิดอาจเข้าใจมากขึ้น คนทุกวันนี้กระด้างเยอะ แต่แก้ไม่ยาก แค่ใส่ใจอีกนิดก็ละเอียดอ่อนมากขึ้น ก็เท่านั้น   



« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28-11-2007, 21:20 โดย amalit1990 » บันทึกการเข้า

"...สิ่งที่มนุษย์เราหวงแหนที่สุดก็คือชีวิต และก็เป็นสิ่งที่ให้แก่เขาเพื่อดำรงอยู่ได้แต่เพียงครั้งเดียว เขาจักต้องดำรงชีวิตอยู่เพื่อที่ว่าจะไม่ต้องทรมานใจด้วยความโทมนัสว่าวันเดือนปีที่ผ่านไปนั้นปราศจากจุดหมาย จักต้องไม่มีความรู้สึกอับอายว่าตนมีอดีตอันต่ำต้อยด้อยคุณค่า ชีวิตเช่นนี้ เมื่อตายลงก็สามารถพูดได้ว่าชีวิตของฉัน และพลังกายพลังใจทั้งหมดของฉันได้อุทิศให้แก่อุดมการณ์ที่ดีงามที่สุดแล้วในโลกนี้ นั่นคือการต่อสู้เพื่อกอบกู้อิสรภาพของมนุษย์..."

คำรำพัน ณ สุสานสหายผู้เสียสละในการต่อสู้ปฏิวัติ จากนวนิยายโซเวียตยอดนิยมเรื่อง เบ้าหลอมวีรชน

(How the Steel Was Tempered)

นิโคไล ออสตร๊อฟสกี้ เขียน ค.ศ.1933


*******************************

เชิญเยี่ยมชมบล็อคครับ
http://www.oknation.net/blog/amalit1990
********Q********
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 8,520


I'm Looking At You.


เว็บไซต์
« ตอบ #3 เมื่อ: 28-11-2007, 21:26 »





อิอิ เผลอแป็บเดียว ผมหายไปเยอะ

ดีเหมือนกัน.
.....
บันทึกการเข้า

aiwen^mei
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 1,732



« ตอบ #4 เมื่อ: 28-11-2007, 22:32 »

ขอบคุณสำหรับบทสัมภาษณ์นี้ค่ะ

ได้ยินชื่อเสียงของคุณพจนา จันทรสันติมานาน ครั้งแรกจากเพื่อนนักเรียนสมัยมัธยมปลายที่หอบหนังสือเล่มหนาเกี่ยวกับวิถีแห่งเต๋าที่คุณพจนา จันทรสันติแปลมาให้อ่าน 
บันทึกการเข้า

有缘千里来相会,无缘对面不相逢。
หน้า: [1]
    กระโดดไป: