http://www.matichon.co.th/news_detail.php?id=8129&catid=1นักวิชาการห่วงผลสำรวจความเห็นประชาชนกว่าร้อยละ 60 พร้อมรับเงิน-สิ่งของแลกการลงคะแนนเสียงเลือก ส.ส. กว่า 80% ระบุไม่แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง เผยชาวบ้านต้องการให้การแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ห่วงผลโพลประชาชนกว่า60%พร้อมขายเสียง-ต้องการแก้ไขปัญหาปากท้องอันอับหนึ่ง
นักวิชาการห่วงผลสำรวจความเห็นประชาชนกว่าร้อยละ 60 พร้อมรับเงิน-สิ่งของแลกการลงคะแนนเสียงเลือก ส.ส. กว่า 80% ระบุไม่แจ้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง กกต.บุรีรัมย์มาแปลกเสนอการซื้อสิทธิ์ขายเสียงถูกกฎหมาย เผยประชาชนต้องการให้การแก้ไขปัญหาปากท้องเป็นวาระแห่งชาติของรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ตุลาคมถึงผลสำรวจเรื่อง 'วาระแห่งชาติที่ประชาชนต้องการในรัฐบาลสมัยหน้าหลังการเลือกตั้ง'โดยสำรวจประชากร 14 จังหวัด จำนวน 3,758 ตัวอย่าง ซึ่งสำรวจในระหว่างวันที่ 15-20 ตุลาคม 2550
เมื่อสอบถามถึงประเด็นที่น่าจะเป็นวาระแห่งชาติในรัฐบาลสมัยหน้าหลังการเลือกตั้งพบ 10 อันดับแรกที่ประชาชนอยากเห็นในรัฐบาลสมัยหน้า ได้แก่
อันดับแรก หรือร้อยละ 38.5 เป็นแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน
อันดับที่สองหรือร้อยละ 26.6 เป็นการแก้ปัญหายาเสพติด
อันดับที่สามหรือร้อยละ 25.5 เป็นการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อันดับที่สี่หรือร้อยละ 21.7 เป็นการดำเนินการกับอดีตรัฐมนตรี นักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริตคอรัปชั่น
อันดับที่ห้าหรือร้อยละ 18.8 เป็นการจัดระเบียบสังคม
อันดับที่หกหรือร้อยละ 13.7 เป็นการลดความขัดแย้งวุ่นวายทางการเมือง
อันดับที่เจ็ดหรือร้อยละ 13.5 เป็นการสานต่อโครงการตามพระราชดำริต่างๆ อาทิ โครงการเศรษฐกิจพอเพียง
อันดับที่แปดหรือร้อยละ 11.2 เป็นเรื่องคุณภาพเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและคนพิการ
อันดับที่เก้าหรือร้อยละ 9.9 เป็นเรื่องคุณภาพการศึกษาของประชาชน
และอันดับที่สิบหรือร้อยละ 7.8 เป็นเรื่องความอยู่ดีมีสุขของประชาชน
เมื่อถามถึงสิ่งที่จะใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง พบว่า ประมาณครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 51.9 ระบุพิจารณาทั้งพรรคและตัวบุคคล ร้อยละ 28.0 ดูที่ตัวบุคคลมากกว่า และร้อยละ 20.1 ดูที่พรรคมากกว่า
ผลการสำรวจลักษณะพรรคการเมืองที่ประชาชนชอบพบว่า ร้อยละ 36.8 ระบุชอบพรรคการเมืองที่ซื่อสัตย์สุจริต ร้อยละ 25.4 ระบุชอบพรรคการเมืองที่มีผลงานในอดีต แก้ปัญหาเดือดร้อนของประชาชน ร้อยละ 12.7 ระบุพรรคที่มีความสามัคคี ไม่วุ่นวาย ร้อยละ 9.1 ระบุพรรคที่ใกล้ชิด ลงพื้นที่เข้าถึงประชาชน ร้อยละ 5.7 ระบุความมั่นคง ยาวนานของพรรค
สำหรับความคิดเห็นกรณีบุคคล/กลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลชี้นำในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งนั้น พบว่า ร้อยละ 56.3 ระบุคนในครอบครัว ร้อยละ 41.4 ระบุผู้สมัครรับเลือกตั้ง ร้อยละ 40.4 ระบุสื่อมวลชน ร้อยละ 36.2 ระบุเพื่อน และร้อยละ 35.3 ระบุผู้นำในท้องถิ่น ตามลำดับ
ผลสำรวจความเอนเอียงในพฤติกรรมการรับเงิน/สิ่งของหรือผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนนนั้น พบว่า ประมาณ 2 ใน 3 คือร้อยละ 64.6 ระบุจะรับหากมีคนเสนอเงิน/สิ่งของหรือผลประโยชน์ต่างๆ เพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนนให้ ขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 คือร้อยละ 35.4 ระบุไม่รับ ที่น่าเป็นห่วงคือร้อยละ 82.9 ระบุจะไม่แจ้งกรรมการการเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่เมื่อพบเห็นการซื้อเสียง ทั้งนี้มากกว่าครึ่งหนึ่งคือร้อยละ 66.7 ระบุปัญหาการซื้อสิทธิ-ขายเสียงของการเมืองไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับรุนแรงมาก-มากที่สุด
ดร.นพดล กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นสิ่งที่น่าพิจารณาหลายอย่าง เช่น สิ่งที่ควรเป็นวาระแห่งชาติหรือเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลในสมัยหน้าหลังเลือกตั้งควรดำเนินการ ที่พบว่า 'ปากท้องของประชาชน ต้องมาก่อน' รวมทั้งลักษณะพรรคการเมืองที่ประชาชนต้องการ
นอกจากนี้ข้อมูลที่ค้นพบในครั้งนี้ อาจสะท้อนให้เห็นด้วยว่าประชาชนมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต กล่าวคือถ้าได้พรรคการเมืองที่เก่งมีผลงานแต่มีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเข้ามาเป็นรัฐบาล ประเทศชาติก็จะกลับเข้าสู่วัฏจักรความชั่วร้ายและความรุนแรงเหมือนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ประชาชนส่วนใหญ่มีความเอนเอียงที่จะรับเงิน สิ่งของและผลประโยชน์อื่นๆ เพื่อแลกกับการออกเสียงลงคะแนน และส่วนใหญ่จะไม่แจ้ง กกต.หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐถ้าพบเห็นการซื้อสิทธิขายเสียง แต่ก็เห็นด้วยที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เข้ามาดูแลป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียง
วันเดียวกัน ในการประชุมชี้แจง 'เตรียมความพร้อมการจัดการเลือกตั้งส.ส. ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550'ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ระหว่างการประชุม กกต.จังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวกับนายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. ว่า 'ผมมีแนวความคิดเสนอให้การซื้อสิทธิขายเสียงเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและเท่าเทียมกันระหว่างทุกพรรค' แต่นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คงเป็นไปไม่ได้ และทุกประเทศในโลกก็ไม่มีการบัญญัติกฎหมายเช่นนี้
กกต.จังหวัดบุรีรัมย์จึงถามนายประพันธ์เกี่ยวกับความชัดเจนในเรื่องการปราศรัยของอดีตนักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ซึ่งนายประพันธ์ กล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ห้ามให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองดังกล่าวทำกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นการปราศรัยและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองจึงสามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม หากปราศรัยโดยมีการใส่ร้ายผู้อื่น ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ขณะที่นายณรงค์ โชควัฒนา ประธานกรรมมาธิการการมีส่วนร่วมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวระหว่างการบรรยายเรื่อง 'ภารกิจงานสืบสวนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งส.ส.' ว่า เสียดายที่การเมืองไทยกลายเป็นเพียงธุรกิจประเภทหนึ่ง เพื่อแสวงหากำไรจากเงินที่นำไปซื้อเสียง ด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น อย่างที่เห็นกันอยู่ขณะนี้ว่าพรรคการเมืองต่างๆ กำลังรวบรวมเงิน เพื่อนำมาใช้เป็นกระสุนหรือเงินซื้อเสียงในการสู้ศึกเลือกตั้ง ส่วนสาเหตุที่ทำให้การเมืองไทยเป็นเพียงธุรกิจนั้น เป็นเพราะประชาชนไทยมีวัฒนธรรมทางการเมืองที่ไม่สอดคล้องกันแนวคิดการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เนื่องจาก ประชาชนแทบทุกคนคิดหาประโยชน์จากการเลือกตั้ง โดยไม่สนใจว่าคนที่ตนเลือกเป็นส.ส.นั้นจะเป็นคนดีหรือคนเลว เช่น การประชาชนรอรับเงินซื้อเสียง การที่ประชาชนรอถูกรับจ้างเป็นหัวคะแนน และการที่นักธุรกิจดีใจที่สินค้าจะซื้อง่ายขายคล่องกว่าเดิม ดังนั้น ไม่ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญออกมาดีเพียงใดหรือจะเลือกตั้งอีกกี่ครั้ง การเมืองไทยก็จะไม่มีวันดีขึ้น
'มีคนพูดว่า คนไทยในชนบทยากจน เมื่อมีคนเอาของมาแจกก็ต้องรับไว้ก่อน ซึ่งเมื่อรับของเขามาแล้วก็เกรงใจ จึงเลือกคนนั้นเป็นส.ส. แต่ในความเป็นจริงนั้นคนอินเดียยากจนกว่าคนไทยมาก ซึ่งเมื่อมีคนเอาของมามอบให้คนอินเดีย คนอินเดียก็จะรับแต่จะไม่เลือกคนนั้นเข้าสภาฯ เนื่องจากคนอินเดียสามารถแยกผลประโยชน์และบุญคุณส่วนตัว ออกจากผลประโยชน์ส่วนรวม คนอินเดียมีจิตสำนักทางการเมืองสูง ในขณะที่คนไทยมีจิตสำนักและวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยังไม่สูงนัก' นายณรงค์ กล่าว
นายณรงค์ กล่าวว่า จำเป็นต้องเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมืองไทยที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเชื่อว่าคนไทยสามารถเปลี่ยนได้ โดยการร่วมกันรณรงค์และออกกฎหมายบังคับ เช่น กฎหมายที่กำหนดให้การรับเงินซื้อเสียงเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกกต.และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคประชาชน หน่วยงานราชการ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันทำโครงการ 'รณรงค์การเลือกตั้งให้ใสสะอาด' ขึ้น ทั้งนี้ กกต.จะทำโปสเตอร์ เสื้อ หมวก และสติ๊กเกอร์ติดรถยนต์ นอกจากนี้ กกต.ยังมีโฆษณาทางโทรทัศน์ 4 เรื่อง และโฆษณาทางวิทยุอีก 20 เรื่องด้วย เพื่อรณรงค์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวด้วย