สรุปยอด 7 วันอันตราย วันที่ 3 ยอดตายพุ่งแซงปีก่อนเป็น 188 รายแล้ว นครปฐม ขอนแก่นเยอะสุด บาดเจ็บอีกว่า 2 พัน จยย.นำโด่งเสี่ยงอุบัติเหตุสูงสุด พบประชาชนไม่สวมหมวก-ขาดเข็มขัดนิรภัยกันมาก เร่งกวดขันเมาแล้วขับ
วันนี้(31 ธ.ค.) เมื่อเวลา 11.00 น. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย นายชัยสวัสดิ์ กิตติพรไพบูลย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม แถลงสถิติของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ถึงของยอดผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ จากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2551 ของวันที่ 30 ธันวาคม 2550 เป็นยอดรวม 3 วันของช่วง 7 วันอันตรายว่า ตั้งแต่วันที่ 28 - 30 ธันวาคม 2550 ปรากฏว่า มียอดอุบัติเหตุเกิดขึ้น รวม 1,965 ครั้ง มากกว่าปี 2550 จำนวน 47 ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.45 โดยมียอดผู้เสียชีวิตรวม 188 คน มากกว่าปี 2550 จำนวน 9 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.03 ผู้บาดเจ็บรวม 2,131 คน เท่ากับปี 2550 ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดในช่วง 3 วัน ได้แก่ เชียงใหม่ 69 ครั้ง เชียงราย 68 ครั้ง สุรินทร์ 66 ครั้ง และนครปฐม 65 ครั้ง ทั้งนี้จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ขอนแก่น และนครปฐม จังหวัดละ 11 คน รองลงมาเป็น กรุงเทพมหานคร ระยอง และสระแก้ว จังหวัดละ 7 คน และศรีสะเกษ หนองคาย และราชบุรี จังหวัดละ 6 คน โดยจังหวัดที่ไม่มียอดของผู้เสียชีวิตจำนวน 12 จังหวัด
นายชัยสวัสดิ์ กล่าวต่อว่า จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 75 คน รองลงมา เชียงใหม่ นครปฐม จังหวัดละ 73 คน ซึ่งทาง ศปถ.ได้ใช้มาตรการในการเรียกตรวจประชาชนที่ใช้รถตามมาตรการ 3 ม 2 ข 1 ร ไปแล้วจำนวน 1,580,370 คัน พบว่า มีการกระทำผิด และจับดำเนินคดี จำนวน 44,168 คัน คิดเป็นร้อยละ 2.79 เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนยานพาหนะที่เรียกตรวจ ไม่สวมหมวกนิรภัยสูงสุด ร้อยละ 9.00 รองลงมา ได้แก่ ไม่มีใบขับขี่ ร้อยละ 3.25 และมอเตอร์ไซด์ ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 2.97 ร้อยละของผู้กระทำความผิดและถูกดำเนินคดีแต่ละมาตรการ ได้แก่ ไม่มีใบขับขี่สูงสุด ร้อยละ 35.19 รองลงมา ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 32.48 และไม่คาดเข็มขัดนิรภัย ร้อยละ 14.53 โดยในวันที่สามของช่วง 7 วันระวังอันตราย มีการจัดตั้งจุดตรวจ รวม 3,051 จุดตรวจเฉลี่ย 3.29 จุดตรวจ/อำเภอ เฉลี่ย 28 คน/จุดตรวจ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานประจำจุดตรวจ รวม 87,899 คน
สำหรับการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีการจัดตั้งในหมู่บ้าน/ชุมชน จำนวน 8,062 จุด มีการจัดตั้ง จุดบริการประชาชน 3,307 จุด และตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมฯ จังหวัด/อำเภอ 973 จุด พบว่า ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 818 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 70 คน บาดเจ็บ 877 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสุงสุดเกิดจากการเมาสุรา ร้อยละ 46.45 รองลงมาคือ ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.42 และ ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 11.12 ตามลำดับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 86.25 รองลงมา รถปิคอัพ ร้อยละ 6.33 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนทางตรงนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 65.89 และช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 31.17 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สระบุรี จำนวน 4 คน รองลงมา นครปฐม กรุงเทพมหานคร ลพบุรี และอุบลราชธานี จังหวัดละ 3 คน ผู้เสียชีวิต 2 คน มี 14 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 31 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 35 ครั้ง รองลงมาได้แก่ เชียงราย 30 ครั้ง นครศรีธรรมราช และเชียงใหม่ จังหวัดละ24 ครั้ง สำหรับจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ สุรินทร์ 43 คน รองลงมาได้แก่ เชียงราย 29 คน เชียงใหม่และศรีสะเกษ จังหวัดละ 28 คน
นายชัยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ศูนย์ปฏิบัติการฯ ทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจได้ปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะจุดตรวจ/จุดสกัดกั้นในชุมชนและหมู่บ้าน ให้เน้นหนักการกวดขันจับกุมผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เมาสุรา ขับรถเร็ว ไม่สวมหมวกนิรภัย และรถปิคอัพที่บรรทุกผู้โดยสารเกินอัตรา เป็นพิเศษ หากพบการกระทำผิด ฝ่าฝืน หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุให้จับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอเตือนให้ประชาชนผู้ขับขี่เตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทาง เนื่องจากอุบัติเหตุใหญ่ในวันนี้เกิดจากผู้ขับขี่หลับใน ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ส่วนใหญ่ประชาชนเป็นผู้นำส่งโรงพยาบาล จึงขอขอบคุณประชาชนที่มีน้ำใจช่วยเหลือต่อผู้ร่วมทาง แต่หากพบว่ามีผู้บาดเจ็บสาหัส ขอให้แจ้งหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทางสายด่วน 1669 เพราะมีเครื่องมือทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญพร้อมให้การช่วยเหลือแก่ผู้บาดเจ็บ ได้ดีกว่า ทั้งนี้ ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เร่งตรวจสอบเส้นทางที่เป็นจุดเสี่ยง พร้อมติดป้ายเตือนบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และให้มีการปรับแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพการณ์เกิดอุบัติเหตุทุกวัน
===================
ไม่รู้ผมคิดไปเองหรือเปล่าว่าคนไทยขับรถเร็วแลแย่ลงทุกวันๆ จนแต่ละวันที่ผมต้องขับรถกลับจากออกไปทำธุระนอกบ้านมาถึงบ้านได้ ต้องพนมมือท่วมหัวในความโชคดีของตนเอง อีก 5-10 ปี ผมคิดว่าตนเองคงไม่มีปัญญาขับรถออกไปจากบ้านได้อีกต่อไปแล้ว เนื่องจากมันเกินความสามารถของมนุษย์ที่จะขับรถในเมืองไทยโดยไม่มีการเฉี่ยวชนเลย
