สังคม"แอ๊บแบ๊ว"กับอาการ"แอ๊บแม้ว"
29 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 00:08:00
สังคมไทยกำลังอยู่ในภาวะ "แอ๊บแบ๊ว" ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหง คือ เกิดอาการผิดปกติแบบแอ๊บๆ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : หรือ Abnormal ผสมกับทำท่าทางตาใส "บ้องแบ๊ว" ให้ดูเหมือนว่า บริสุทธิ์ไร้เดียงสาผสมกับคิขุอาโนเนะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการกระทำของตัวเอง จนทำให้ต่างฝ่ายต่างยึดตั้งธง หลัก "กู" แล้วอ้าง "หลักการ" จนทำให้สังคมไทยไม่กลับสู่ภาวะปกติเสียที
บอกตามตรง ผมเริ่มเกิดอาการเบื่อมากๆ กับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมล และการออกมาประกาศจุดยืนแย่งพื้นที่ข่าวจากกลุ่มองค์กรทั้งชื่อทางการ และ "ชื่อจัดตั้ง" ที่มีแค่ไม่กี่คนทำงานจริง แสดงจุดยืนหลังเหตุการณ์วันที่ 22 ก.ค.กลุ่มคนที่อ้างว่าเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" กับ กองกำลังผสมเจ้าหน้าที่ตำรวจกับทหาร เกิดปะทะกัน จนเลือดตกยางออกไปทั้งสองฝ่าย บาดเจ็บหัวร้างข้างแตกขาหักกันไปกว่า 200 คน
เริ่มจาก อาการแอ๊บแบ๊วของ "คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ" ที่เป็นองค์กรอิสระภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ตกทอดเข้าไปภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2549 ที่จัดทำโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อใดก็ตาม ที่องค์กรอิสระแห่งใดเกิดความแตกแยกภายในองค์กร ย่อมไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามเจตนารมณ์เดิมที่ตั้งไว้สวยหรู กรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นตัวอย่างขององค์กรแตกแยก จนทำให้กรรมการสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิออกอาการ "แอ๊บแบ๊ว" ทำตัวไม่ถูกกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นทำทองไม่รู้ร้อน
เมื่อ อาจารย์จรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิฯ ได้กลายเป็น 1 ใน 9 แกนนำกลุ่ม นปก. จนกระทั่งตกเป็น 1 ใน 9 ผู้ต้องหาตัวการก่อเหตุจลาจล เมื่อคืนวันที่ 22 ก.ค.2550 แล้วขอประกันตัวออกมาจากการฝากขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยอ้างภารกิจหน้าที่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน 4 คณะ
ผมไม่ทราบตื้นลึกหนาบางความขัดแย้งภายในคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้ ที่มี อาจารย์เสน่ห์ จามริก เป็นประธาน และไม่เสียเวลาอ่านสงครามอีเมลจำนวนหลายต่อหลายครั้ง จากกรรมการสิทธิฯ บางคน และเจ้าหน้าที่ภายในคณะกรรมการสิทธิฯ ได้เพียรพยายามเป็นอันมากในการเขียนเล่าเรื่องราวเน่าๆ สารพัดของอาจารย์เสน่ห์เพื่อบอกกับสื่อ
เพราะหลายเรื่องเป็นความเห็นในเชิงปัจเจกบุคคล จนอีเมลเหล่านี้กลายเป็น "จังค์อีเมล" ที่ลบทิ้งอย่างเดียว ทำไมผู้เขียนเหล่านี้ไม่เลือกดำเนินการอย่างเปิดเผย และเป็นรูปธรรมในการกล่าวโทษหรือกล่าวหาความไม่ชอบมาพากลของอาจารย์เสน่ห์อย่างเป็นทางการ แล้วให้กระบวนการยุติธรรมไต่สวนพฤติกรรมของประธานคณะกรรมการสิทธิฯ
อาจารย์จรัลมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการคัดค้าน ไม่ยอมรับการรัฐประหาร เมื่อ 19 ก.ย.2549 แต่ในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชนที่มีภารกิจหน้าที่ชัดเจน ดังเช่นที่อาจารย์จรัลได้ใช้เป็นเหตุผลในการขอประกันตัว หลังจากประกาศตัวเป็น 1 ใน 9 แกนนำกลุ่ม นปก.ขึ้นเวทีโจมตีรัฐบาลและคมช.ทุกคืน รวมทั้งเห็นคล้อยตามไปกับกลุ่ม นปก.ที่เชื่อว่าประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549
ทำไมอาจารย์จรัลไม่ใช้กระบวนการของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ไต่สวนหรือแสวงหาหลักฐาน เพื่อกล่าวโทษประธานองคมนตรี พล.อ.เปรมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว
[color=red ในขณะที่อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร เช่น อาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ อาจารย์วรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ใจลส์ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ ไม่ได้เลือกวิธีเดินสายปลุกระดมมวลชนกลางสนามหลวงแล้วกล่าวหาผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองโดยปราศจากหลักฐานใดๆ [/color]
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงอยู่อาการ "แอ๊บแบ๊ว" ผิดปกติ-ทำท่าไร้เดียงสา บอกว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคลของอาจารย์จรัล ที่กลายเป็นแกนนำปลุกระดมขับไล่ พล.อ.เปรมบริเวณหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ ทั้งๆ ที่โดยประสบการณ์ควบคุมฝูงชนของอาจารย์จรัลที่ผ่านมาหลายสถานการณ์ ย่อมมองเห็นความรุนแรงอยู่เบื้องหน้าในคืนวันนั้น
หากอาจารย์จรัลในฐานะกรรมการสิทธิมนุษยชน เชื่อมั่นในแนวทางการต่อสู้กับเผด็จการอย่างสันติวิธีด้วยความจริงใจใสๆ ย่อมจะต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อป้องกันการเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรงของทั้งฝ่ายประชาชนและฝ่ายรัฐ
แต่อาจารย์จรัลกลับไม่ได้ห้ามปราบฝูงชนของกลุ่มนปก.ที่อ้าง "ประชาธิปไตย" ไปยืนด่าพ่อล่อแม่คนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ กับ ประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม แล้วขว้างก้อนหินขวดน้ำใส่บ้านประธานองคมนตรี โดยอ้างว่า จำเป็นต้องทำไปตามสัญชาตญาณป้องกันตัว หลังจากถูกตำรวจฉีดก๊าซน้ำตาและใช้โล่กับกระบองไล่ดันไล่ตี อีกองค์กรหนึ่ง ที่เริ่มมีอาการ "แอ๊บแบ๊ว" อยู่ระยะกลางคือคณะกรรมการรณรงค์ปฏิรูปสื่อ (คปส.) ที่เป็นขาประจำในการวิพากษ์สื่อ อาจจะเป็นเพราะช่วงก่อนรัฐประหาร 19 ก.ย.ยืนอยู่คนละข้างกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เมื่อตั้งธงว่าคัดค้านรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 ที่ผลลัพธ์เหมือนกันคือล้มอดีตนายกฯ ทักษิณได้ จุดยืนจึงค่อนข้างออกอาการ Abnormal เบลอๆ มักไม่เสนอทางออกของปัญหา แตกต่างจากสมัยก่อนที่ยังมีข้อเสนอเชิงสร้างสรรค์มากกว่า เช่น
ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนสถานีโทรทัศน์ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะที่ได้ภาษีทางตรงที่รัฐยังแทรกแซงได้เช่นเดิม แต่กลับยกย่องการต่อสู้ของพนักงานไอทีวี ที่พยายามรักษาสถานะเดิมที่เป็นการรักษาผลประโยชน์ตัวเองมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม
ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมในทุกกรณี แต่ไม่ได้ใส่ใจมากนักกับการละเมิดสิทธิผู้อื่นของกลุ่มผู้ชุมนุม นปก. แถลงการณ์จึงค่อนข้างกั๊กๆ ติงผู้ชุมนุมเล็กน้อยแต่พองามว่า การกระทำอาจจะเป็นเหตุให้เกิดความรุนแรง แต่ประณามเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า ทำรุนแรงเกินไป จนละเมิดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน
แล้วทุกครั้งของแถลงการณ์มักลงท้ายสั่งสอน "สื่อโทรทัศน์" อีกเช่นเดิมว่า กำลังทำหน้าที่ในการรับใช้อำนาจรัฐ ขาดอิสระในการนำเสนอ ฯลฯ จนแทบกลายเป็นสูตรสำเร็จในแถลงการณ์ของคปส.
หากการจัดตั้งคปส.มีเจตนารมณ์ในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ เพื่อให้เกิดการตอบสนองไปสู่การปฏิรูปสื่อในระยะยาว กรุณาอย่าตั้งธงไว้ก่อนว่า คนทำงานในสื่อโทรทัศน์ "แอ๊บแบ๊ว" ชอบอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ จนกลายเป็นกลัวหัวหดไม่กล้าทำหน้าที่เสนอความจริง คนทำงานสื่อโทรทัศน์ส่วนใหญ่ 99% ยึดมั่นในหลักจรรยาบรรณวิชาชีพที่นำเสนอความจริงอยู่แล้ว แต่ในบางสถานการณ์มีข้อจำกัดจากสถานะการทำงาน
คปส.กลับละเว้นไม่กล้าวิพากษ์การทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมเอกชน ASTV ที่พัฒนาไปสู่ "มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน" ที่ประกาศเป็น "สื่อเลือกข้าง" ไม่เป็นกลาง สนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมนปก.ให้สิ้นซากเสียที ด้วยความเชื่อว่า ประเทศจะกลับสู่สันติสุขได้เมื่อกลุ่มนปก.และคนรักทักษิณถูกกำจัดให้หมดไปจากแผ่นดินไทย
คปส.คงจะกลัวการตอบโต้แบบตาต่อตาฟันต่อฟันจาก ASTV ที่วิพากษ์ทุกคนที่มีจุดยืนและท่าทีต่อต้านคมช. แต่กรณีการวิพากษ์สื่อฟรีทีวีเป็นอาจิณ ที่ "คนทำงานฟรีทีวี" ไม่เคยตอบโต้คปส.สักครั้งเดียว
คปส.จึงควรจะช่วยสร้าง "เกราะ" จากสังคม เพื่อช่วยตรวจสอบและสะท้อนการทำหน้าที่ของสื่อโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโทรทัศน์ของรัฐ 2-3 ช่อง เพื่อช่วยทำให้ "คนทำงานสื่อโทรทัศน์" มีความมั่นใจและความกล้าในการทำหน้าที่ตามหลักวิชาชีพมากขึ้น แต่เมื่อทุกครั้งเริ่มต้นจากประณาม หรือเพียงเรียกร้องให้ทำหน้าที่อย่างอิสระ
"คนทำงานสื่อโทรทัศน์" จะชินชาไม่ยินดียินร้ายกับแถลงการณ์ของคปส.ที่ออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนแทบไม่เกิดผลใดๆ ในทางปฏิบัติ ทำไมบรรดาคณาจารย์ในคปส.ที่เก่งกาจสามารถในเชิงวิชาการแต่อ่อนด้อยกับโลกความเป็นจริง เดินเข้าหาพวกเขาด้วยท่าทีเป็นมิตร แล้ว "รณรงค์" ส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปสื่อจริงๆ แทนการแถลงการณ์อย่างพร่ำเพรื่อ
เขียนถึงคปส.ครั้งนี้ ด้วยกัลยาณมิตรห่วงใยว่า กำลังเกิดอาการแอ๊บแบ๊วขั้นเริ่มต้น ถ้าไม่ระวังจะยกระดับกลายเป็น "แอ๊บแม้ว" ที่ไม่รู้ไม่เห็นกับพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นอย่างมโหฬารในรัฐบาลทักษิณ
ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับกลุ่มชังทักษิณในอดีตที่เข้าไปร่วมกับกลุ่มรักทักษิณก่อตัวขึ้นมา แล้วอ้างว่าเป็น "แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ" หรือนปก. ซึ่งนักวิชาการหลายคนที่เคยคัดค้านระบอบทักษิณแล้วไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่กลับไม่สนใจว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ มีพฤติกรรมฉ้อฉลในการใช้อำนาจรัฐอย่างไร มองการต่อสู้กับคมช.อย่างเถรตรงว่า กำลังสถาปนารัฐเผด็จการทหารและอำมาตยาธิปไตย
ขอถามว่า ทำไมพวกเขาจึงรังเกียจ "อำมาตยาธิปไตย" อย่างรุนแรง โดยไม่เคยมองย้อนกลับไปว่า "กลุ่มอำมาตยาธิปไตย" ในอดีตได้ทำหน้าที่ "ข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" อย่างเต็มภาคภูมิในการวางพื้นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมมาตั้งแต่ยุคต้นๆ
แม้ว่าหลายแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่มองในระยะ 20 ปี อาจจะบิดเบี้ยวไปบ้าง เมื่อประเมินจากสภาพปัจจุบัน แต่โดยภาพรวมแล้วสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไทยไม่ได้พิกลพิการน่าทุเรศทุรัง จนตั้งแง่รังเกียจมองเป็นปิศาจร้ายมากกว่าอำนาจที่มาจาก "นายทุนนักการเมือง" ที่ใช้ "เงิน" เข้ามายึดอำนาจรัฐแล้วแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง
กลุ่มนปก.จึงอยู่ในอาการ "แอ๊บแบ๊ว" เข้าขั้นสูงสุด กลายสภาพเป็น "อาการแอ๊บแม้ว" ที่มักบอกว่า รักทักษิณเพราะทักษิณรักประชาธิปไตย ทักษิณรักคนจน ทักษิณโกงบ้าง แต่เสียสละทำงานเพื่อชาติ ฯลฯ
อาจารย์จักรภพ เพ็ญแข เป็นบุคคลที่ป่วยเข้าขั้น Abnormal ผสมกับบ้องแบ๊วจากอารมณ์รักแม้วสุดหัวใจขั้นสมบูรณ์แบบที่สุด จนพัฒนากลายเป็น "แอ๊บแม้ว"
ท่ายืนข้างรถตู้ก่อนนำไปฝากขัง ชูกำปั้น-ขบกรามฟันแน่น-ตะโกนสู้ๆ คงจะตึดตรึงตาแฟนพันธุ์แท้การเมืองไปอีกนานแสนนาน หลังจากวงการการเมืองห่างหายจากภาพความเด็ดเดี่ยวของนักต่อสู้ทางการเมือง แต่ครั้งนี้อาจารย์จักรภพมีอาการ "แอ๊บแบ๊ว" จนกลายเป็น "แอ๊บแม้ว" เข้าขั้นมากที่สุด ] ไม่ได้ห่วงคำว่า "แอ๊บแบ๊ว" ที่เป็นภาษาไทยของวัยรุ่น ที่ใช้เรียกขานเพื่อนๆ ที่ทำตัวเพี้ยนๆ บ๊องๆ คิขุอาโนเนะไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการกระทำของตัวเอง [color=navyแต่ห่วงอาการแอ๊บแบ๊วที่กำลังระบาดไปทั่วกับองค์กรภาคประชาชน,องค์กรอิสระ,กลุ่มนปก.,คมช., สำนักงานตำรวจแห่งชาติ,รัฐบาล,สภานิติบัญญัติ ,สภาร่างรัฐธรรมนูญ ฯลฯ ที่มีความแตกต่างทางความคิด แล้วต่างฝ่ายต่างยึด "หลักกู" แบบแอ๊บๆ จนเกิด "แอ๊บแบ๊ว" กับ "แอ๊บแม้ว" ซึ่งต่างความหมายกับ "แอ๊บแบ๊ว" ของวัยรุ่น ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใครมากนัก [/color](อ่านคอลัมน์ย้อนหลังและแสดงความเห็นทาง
www.oknation.net/blog/adisak นี่เป็นมุมมองหนึ่งของสื่อฯ ต่อพฤติกรรม"แอ๊บแบ๊ว"ของแกนนำม๊อบ"จลาจลไข่แม้ว" ที่พยายามชักชวนประชาชนเข้าร่วมกับม๊อบ เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยบังหน้า ซ่อนเร้นความต้องการ"เปิดทาง"ให้อดีตเผด็จการจากการเลือกตั้ง กลับประเทศเพื่อปกป้องทรัพย์สินของตนเองและครอบครัวจากการ"อายัดทรัพย์"ของคณะกรรมการ คตส. ที่ดำเนินการสู่ขบวนการยุติธรรม......