โกร่งเตือน"วิกฤติบาท"กลับด้านปี40ดร.โกร่ง หรือ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์กับสุทธิชัย หยุ่น ผ่านเวบบล็อก
http://www.oknation.net/blog/black หลังออกมาเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้ยาแรง เพื่อแก้ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่า ด้วยการลดดอกเบี้ยทันที 1-1.5% ก่อนที่จะเกิดวิกฤติ มีรายละเอียดดังนี้
สุทธิชัย : ดร.วีรพงษ์ รามางกูร หรืออาจารย์โกร่ง หายไปไหน 7-8 เดือน อยู่ดีๆ ออกมาที ก็โยนระเบิดตูมใส่รัฐบาลเลย
ไม่ได้โยนระเบิด เป็นความกังวลและเป็นห่วงบ้านเมือง ที่กำลังจะเลื่อนไหลไปสู่วิกฤติทางเศรษฐกิจในทางการเงิน ซึ่งเป็นเหตุต้องตัดสินใจออกมาพูด ทั้งๆ ที่เกรงใจพรรคพวก เพื่อนฝูงที่อยู่ในรัฐบาลเป็นอันมาก เรื่องบ้านเมืองก็ต้องพูด
สุทธิชัย : ถ้าอาจารย์คิดว่าไม่พูด รัฐบาลหรือนายกฯ หรือรมว.คลัง ผู้ว่าการแบงก์ชาติ จะไม่มีความรู้สึกว่า เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องทำอะไรบางอย่าง อ.คิดว่าจะต้องกระตุ้นมากขนาดนี้หรือครับ
เท่าที่ฟังทางการบอกว่า ทำดีที่สุดแล้ว ได้แค่นี้ ไม่มีอะไรที่จะทำได้มากกว่านี้แล้ว จนปัญญาแล้ว หรือบอกว่าทำให้เงินบาทอ่อนไม่ได้ แต่เงินบาทอาจจะแข็งต่อไปถึง 30 บาทเป็นไปได้ อย่างนี้ก็แย่
สุทธิชัย : รมว.คลัง คุณฉลองภพ บอกว่าอาจจะเห็นถึง 30 บาทเป็นไปได้ ทำไม คิดว่าบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร
บ้านเมืองก็แย่ เพราะว่าการส่งออกของเราที่มีความสำคัญอย่างยิ่งกับเศรษฐกิจ มีสัดส่วนถึง 65-70% แต่ก็ไม่ได้เสียหายอะไร การนำเข้าก็มีสัดส่วนเดียวกันกับจีดีพี การส่งออกน้อยกว่านำเข้านานๆ เข้า เราก็แย่ ที่จริงแล้ว ยังมีมาตรการอีกมากมายที่ทำได้ ไม่ใช่ทำไม่ได้ ข้อสำคัญที่จะเป็นวิกฤติก็คือว่า การที่รัฐบาลพูดเช่นนั้น หรือทางการพูดเช่นนั้น ทำให้บรรยากาศหรือว่าความรู้สึกหรือการคาดการณ์ของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมันไปในทิศทางเดียวกัน ทางการทำอะไรไม่ได้แล้ว จะต้องไป 32 หรือ 30 แล้ว เมื่อเป็นอย่างนั้นใครที่มีดอลลาร์ก็เทขายหมด ใครที่คาดว่าจะได้ดอลลาร์ก็ขายล่วงหน้าก่อนเลย คนนำเข้าก็เตรียมการชำระหนี้ไว้ เพราะว่าชำระช้าก็จะประหยัดอัตราแลกเปลี่ยนลงไป ก็เป็นอย่างนี้ ภาษาทฤษฎีเป็นการคาดการณ์ที่มีเหตุผล หากทุกส่วนคาดการณ์อย่างนี้ มันจะเป็นจริงตามที่คาดการณ์
สุทธิชัย : พอพูดมาก็จะออกไปทางทิศทางของมัน
เหมือนกับเมื่อตอนปี 39-40 ตลาดพังเพราะว่าเมื่อถึงจุดที่คนคาดว่า เงินบาทอยู่ไม่ได้ทั้งในและต่างประเทศ มันก็เลยอยู่ไม่ได้ ก็เหมือนกัน คาดว่าจะต้องแข็งทั้งหมด เพราะฉะนั้น การที่ทั้งตลาดในและต่างประเทศมีการคาดการณ์อย่างนี้ ผมถือว่าเป็นวิกฤติของค่าเงิน
สุทธิชัย : อาจารย์คิดว่านายกฯ ต้องลงมาทำเอง เพราะว่าไม่เชื่อฝีมือ รมว.การคลัง หรือผู้ว่าการแบงก์ชาติ
ไม่ถึงขนาดนั้น เพื่อให้มู้ดของตลาดพลิกกลับ ต้องทำหลายอย่าง ถ้ามู้ดของตลาดพลิกกลับเงินบาทอ่อนได้ อาจตีกลับมา 35-36 ได้ และมีมาตรการที่จะทำได้ด้วย คนสูงสุดในรัฐบาล เห็นว่าทำได้ เห็นว่าเป็นเรื่องที่ซีเรียส เป็นเรื่องสำคัญลงมาเล่นเอง อาจพลิกการคาดการณ์หรือการคาดหวังของตลาดให้พลิกกลับได้ เพราะฉะนั้น ต้องทุ่มทั้งในแง่ตำแหน่งหน้าที่ และความสำคัญของตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ รวมทั้งทำให้ผู้ที่รับผิดชอบเปลี่ยนทัศนคติได้
สุทธิชัย : อาจารย์เสนอ 'ยา' แรงไปไหมครับ ที่จะให้ลดดอกเบี้ยทันที 1-1.5%
ภาวการณ์เรื้อรังมานาน เงินบาทแข็งมาตั้งแต่ 41 บาท เรื่อยๆ เสี่ยงต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ทั้งที่ประเทศอื่นในภูมิภาคเขาแข็งเหมือนกัน แต่เขาไม่ได้แข็งขนาดนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าเผื่อไม่ทำยาแรง มันเอาไว้ไม่อยู่
สุทธิชัย : ต้องผ่าตัดอย่างครั้งใหญ่ แทนที่จะให้ยาไปเรื่อยๆ เคยปรากฏไหมที่ใช้ยาแรงขนาดนี้ 1-1.5% ทันที
เคยครับ สมัยนายกฯ ชาติชาย ตอนหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย ดอกเบี้ยในต่างประเทศขึ้นไปถึง 20% ดอกเบี้ยไทยถูกกฎหมายกำหนดว่า ไม่ให้เกินเพดาน 16% และมีการเปลี่ยน รมว.คลัง ผมเข้ามาเป็น รมว.คลัง ต้องขึ้นดอกเบี้ยถึงวันเดียว 3% จาก 16% เป็น 19% ผมก็ถูกด่าทั้งเมือง
สุทธิชัย : ได้ผลไหม
เมื่อเวลาผ่านไป 4-5 เดือน ก็ได้ผล ภาวะเงินตึงก็เริ่มไหลเข้า ดอกเบี้ยก็เริ่มลดลงและในที่สุด ก็เข้าสู่ภาวะปกติ หากไปขึ้นทีละ 0.25% ถ้าเผื่อจะขึ้นให้ได้ขึ้นได้ 3% ต้องใช้การขึ้นถึง 2 ครั้ง ถ้าเกิดขึ้นทีละนิด จะเกิดการคาดการณ์ทำให้ผลทางด้านจิตวิทยา ด้านความรู้สึกตลาดไม่ดี
สุทธิชัย : เสนอยาแรงได้ถึงขณะนั้น รมว.คลัง ฉลองภพ ลดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ใช่ยาวิเศษ ไม่ใช่ว่าจะแก้ได้
ผมไม่ได้บอกว่า ลดดอกเบี้ยอย่างเดียว ต้องทำหลายอย่าง ลดดอกเบี้ยต้องลด เพราะเป็นหัวใจ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเข้าแทรกแซงตลาด เอาเงินออกมาซื้อดอลลาร์ไปเก็บเป็นทุนสำรอง ทุนสำรองไม่ใช่ไม่ได้ผลประโยชน์ ทุนสำรองไปซื้อพันธบัตรในต่างประเทศ ไปฝากในต่างประเทศ ก็ได้ผลประโยชน์กลับคืนมา ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทจะท่วมตลาด ต้องดูดซับเงินบาทกลับคืนไป โดยการออกพันธบัตร ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า "เอาไปตอน ออกมาตอนเงิน" ถ้าเผื่อจะไม่ให้ขาดทุนอย่างที่ทำๆ มา ต้องลดดอกเบี้ย ให้ดอกบาทถูกกว่าดอกดอลลาร์ แบงก์ชาติก็จะได้กำไร อย่างที่สอง ต้องทำให้มากพอ ทำครึ่งๆ กลางๆ เอาไว้ไม่อยู่ เงินบาทแข็งขึ้นไปเรื่อยๆ แบงก์ชาติก็ขาดทุน อย่างที่ทำมาแล้ว แต่ถ้าทำจาก 33 ให้ขึ้นไป 35 นอกจากไม่ขาดทุนแล้ว ยังกำไรด้วยซ้ำไป ถ้าทำถูก ถ้าใจถึง
สุทธิชัย : คุณฉลองภพบอกว่า เงินไหลเข้าจากต่างประเทศตอนนี้มากมาย ไม่ได้เข้ามาเพื่อซื้อพันธบัตรอย่างเดียว เข้ามาในตลาดหุ้นซะมาก ฉะนั้นอาการนี้ไม่ได้ผล ถ้าลดดอกเบี้ย
ลดดอกเบี้ยอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องทำอย่างอื่นผสม คือแทรกแซง ดูดซับไปด้วย ทางการออกมาแทรกแซงตลาดดอลลาร์ด้วย ต้องทำให้มากพอจนกระทั่งเงินบาทอ่อน ไม่ใช่ทำให้แค่หยุดแข็ง ดังนั้นต้องทำให้อ่อน คือเปลี่ยนความรู้สึกของตลาด ต่อไปนี้ เงินบาทจะอ่อนแล้วน่ะ มันจะอ่อนได้เอง
นอกจากนั้น ขณะนี้ เอกชนยังมีหนี้ถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ มีหนี้ต่างประเทศ ถึงหมื่นกว่าล้านดอลลาร์ ต้องรีไฟแนนซ์ทำให้ได้เร็ว โครงการต่างๆ ก็เร่งรัด กู้เงินบาทให้มากขึ้น กู้เงินดอลลาร์ที่จะมาใช้ในโครงการให้น้อยลง คือ สร้างการคาดการณ์ว่า บาทจะต้องอ่อนลง แต่จะเปลี่ยนการคาดการณ์จากตลาดที่ว่าเงินจะแข็งขึ้น มาเป็นการคาดการณ์ว่า บาทจะอ่อนลง ต้องทำเยอะ ต้องทำให้ช็อกตลาด ทำทีละนิดทีละหน่อยดันจะขาดทุน และไม่ได้ผล
สุทธิชัย : อ.คิดว่าแบงก์ชาติไม่กล้าพอที่จะใช้มาตรการแรงอย่างนี้
ผมก็ไม่ทราบ
สุทธิชัย : อาจารย์ บอกเมื่อวานนี้ แบงก์ชาติต้องกล้าๆ อย่าออกมาตรการที่เอาใจตลาดเท่านั้น ต้องกล้าทำอะไรถึงแม้จะฝืนความรู้สึกคนบางกลุ่มในประเทศก็ต้องทำ
ผมพูดตรงๆ นัยก็คงเป็นอย่างนั้น นายกฯ ต้องลงมาช่วยด้วย ต้องให้กำลังใจ รมว.คลัง ให้กำลังใจผู้ว่าการแบงก์ชาติ กล้าทำเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่ได้ หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกว่า เป็นธรรมดา ทำงานใหญ่ ก็ต้องโดนทุกคนเป็นอย่างงั้น
สุทธิชัย : แบงก์ชาติดูประวัติศาสตร์ก็คงเข็ด เพราะมีแต่เสีย เรื่องแทรกแซงมีแต่จะเสีย และเคยถูกฟ้องร้อง เป็นจำเลยมาแล้ว แบงก์อาจจะกล้าก็ได้ เอาเงินสำรองระหว่างประเทศมาใช้เพื่อการนี้ และอาจโชคร้ายที่จะต้องเป็นคนรับผิดชอบ เช่น ผู้ว่าการแบงก์และเจ้าหน้าที่ก็ได้
ถ้าทำเที่ยวนี้มันกลับกัน เที่ยวก่อนเอาเงินตราต่างประเทศที่มีอยู่จำกัดเอาไปใช้ในการแทรกแซงตลาด แต่เที่ยวนี้เอาเงินบาทที่เรามีไม่จำกัด มาซื้อดอลลาร์เข้าประเทศ และออกพันธบัตรกลับคืนไปไม่ให้เงินบาทล้นตลาด เดี๋ยวจะกลายเป็นเงินเฟ้อขึ้นมาอีก และการที่จะขาดทุน ก็ขาดทุนส่วนต่างดอกเบี้ยบาทกับกับดอลลาร์เท่านั้นเอง ไอ้นี่เรื่องเล็ก แต่ที่ขาดทุนหนักคือทำไม่เต็มที่และเงินบาทแข็งต่อ ถ้าเงินบาทแข็งต่อ ซื้อ 33 อีกเดือนเป็น 30 ขาดทุน 3 บาท ถ้าซื้อ 33 ทำให้มากพอ กลายเป็น 36 ก็จะกำไร ไม่น่าห่วงเหมือนสมัยโน้น ปัญหากลับกัน 10 ปีก่อน
สุทธิชัย : 10 ปีกับวันนี้เหมือนด้านซ้ายด้านขวา หน้ามือหลังมือ
ปัญหากลับกัน
สุทธิชัย : แต่ร้ายแรงพอกัน ถ้าจัดการไม่ดี
อาจร้ายแรงพอๆ กัน ถ้าเผื่อผู้ส่งออกไปหมด ลุกลามไปถึงผู้ผลิต ไม่ใช่ผู้ส่งออก แต่ผลิตให้ผู้ส่งออก เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวนยาง ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ในที่สุด ก็จบลงที่ธนาคาร
สุทธิชัย : อาจารย์คิดว่าอัตราแลกเปลี่ยนกี่บาทต่อดอลาร์เหมาะสมที่สุดในจังหวะนี้
คิดว่า ถ้าเราสามารถทำให้อ่อนกลับคืนไปอยู่ในระดับที่เท่ากับประเทศจีน หยวนของจีนจากเดือนม.ค. ปี 49 มาถึงเดี๋ยวนี้ 6% เราแข็งขึ้น 23% ห่างกันมาก แต่ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น แต่ว่าต้องทำ
สุทธิชัย : เมื่อวานนี้อาจารย์พูดถึง 35-36 บาท
ผมอยากให้อ่อน 36 ด้วยซ้ำ มันจะทารุณท่านผู้ว่าการแบงก์ชาติ
สุทธิชัย : เพราะอะไร เมื่อเงินต่างประเทศก็ไหลเข้ามาในแถบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ในไทยอย่างเดียว ทำไมของเราจึงแข็งกว่าของคนอื่น
เพราะการบริหารจัดการไม่เหมือนกัน ถ้าเผื่อบริหารจัดการได้ดีอย่างคนอื่น อย่างเช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย ประเทศอื่นๆ ซึ่งเขาก็แข็งเหมือนกัน แต่ไม่แข็งมากขนาดนี้
สุทธิชัย : แปลว่าทางการเขาแทรกแซงมากกว่าไทย
ผมคิดว่าอย่างนั้น ฮ่องกงตรึงไว้เลยกับดอลลาร์
สุทธิชัย : อาจารย์ว่าเราควรตรึงหรือเปล่า
ทางรัฐมนตรีของเราบอกว่า ไม่เอา มันย้อนยุค ไม่มีอะไรย้อนยุค เรื่องเศรษฐศาสตร์มันเวียนไปวนมา 30 ปีที่ผมเกี่ยวข้อง ไม่เห็นมีปัญหาอะไรใหม่ ไม่เห็นเครื่องมืออะไรที่ล้าสมัย
สุทธิชัย : เมื่อ 10 ปีก่อน ก็เสนอให้แลกเปลี่ยนอัตราตายตัว มาเลเซีย ทำ ทุกคนก็บอกอาจารย์จะเพี้ยนไปหรือเปล่า
ทุกคนว่าผมสติไม่ดี
สุทธิชัย : วันนี้ อ.คิดว่า ถึงจุดหนึ่ง ถ้าไม่ไหวจริงๆ ควรจะไปฟิกซ์อัตราแลกเปลี่ยนบาทกับดอลลาร์ เลยไหม
ถ้าฟิกซ์ ก็ไม่ได้แปลว่า จะฟิกซ์ชั่วกัลปาวสาน ทางที่ดีเมื่อใจไม่กล้าพอ ก็ฟิกซ์ในใจ ไม่ต้องประกาศ แล้วทำให้ถึงเป้าหมาย
สุทธิชัย : แต่การบริหารอย่างนี้ ต้องใช้เงินทองเยอะ เรามีไหม หน้าตักเราพอไหม
ไม่เยอะครับ เซ็นเช็คซื้อดอลลาร์เข้าไปเก็บไว้ แล้วออกพันธบัตรดูดกลับ เพราะฉะนั้น ส่วนที่จะขาดทุนหรือกำไร ก็คือส่วนต่างของดอกเบี้ยกับส่วนต่างของอัตราแลกเปลี่ยนตอนซื้อในปัจจุบัน
สุทธิชัย : ถ้ามันง่ายอย่างที่ว่า ทำไมแบงก์ชาติไม่กล้าทำ กลัวอะไร
นั่นนะซิ ไม่ทราบเหมือนกัน
สุทธิชัย : เขาก็มีเหตุผลนะ
ผมก็อยากให้ชี้แจงประชาชน มีข้อมูลทีเด็ดอะไรที่เราไม่รู้
สุทธิชัย : เพราะถ้าฟังอาจารย์คือว่ามันน่าจะง่าย เพราะเราใช้เงินบาทคราวนี้ซื้อดอลลาร์
ต้องใช้ดอลลาร์ซื้อเงินบาท ถึงไม่แนะนำให้ทำ
สุทธิชัย : แต่เมื่อเงินบาทเรามีพอซื้อดอลลาร์เข้าไป เพื่อให้มีความมั่นใจว่า ธนาคารของไทยต้องการให้อยู่ 35-36 นี่แหละ
ทำได้ด้วย
สุทธิชัย : อาจจะมีคนบอกว่าอาจารย์โกร่งก็มาทำเองซิ
ผมมันเกินแล้ว อายุเกิน
สุทธิชัย : อาจารย์ได้พูดคุยกับใครในรัฐบาล เกรงใจท่าน เป็นเพื่อนกันทั้งนั้น
ไม่เคย
สุทธิชัย : อาจารย์รู้จักกับนายกฯ รองนายกฯ โฆสิต, อาจารย์ฉลองภพ ที่เคยทำทีดีอาร์ไอ มาด้วยกัน ก็เคยอยู่ด้วยกัน ทำไมไม่ปิดประตูคุยกัน มาคุยกับผม
ไม่กล้า เราประชาชนคนเล็กๆ คนหนึ่ง เพื่อนฝูงกัน
สุทธิชัย : 10 ปีต้มยำกุ้งพอดี และ 10 ปีที่ผ่านมา ได้เรียนรู้อะไร ต้มยำกุ้ง 10 ปีวันนี้มีสิทธิจะเกิดขึ้นอีกไหม
มี แต่ปัญหาจะกลับกัน ตอนนั้นมีดอลลาร์ไม่พอ แต่ตอนนี้มีดอลลาร์มากเกินไป และไม่ได้ทำอะไร จัดการให้ดี ผลคล้ายๆ กันในตอนจบ
สุทธิชัย : แปลว่าถ้าเงินบาทแข็งระยะหนึ่งวิกฤติจะเกิดขึ้น
คือธุรกิจล้มระเนระนาดต้องปิดกิจการ คนงานถูกลอยแพ ในที่สุด เอ็นพีแอลก็จะพุ่งขึ้น ก็จะไปเกิดปัญหาที่สถาบันการเงิน ซึ่งเราไม่อยากให้เกิด
สุทธิชัย : การที่เงินบาทแข็งไม่ใช่มีแต่ผลไม่ดี มีผลดีด้านอื่น
คนใช้น้ำมันราคาถูก คนได้ไปเที่ยวเมืองนอกในราคาถูก คนได้ใช้ของมีแบรนด์มากขึ้น มีข้อดี
สุทธิชัย : ไม่ถ่วงดุลกันเองหรือ
ข้อเสียคือเราอยู่ไม่ได้ ข้อดีไม่ช่วยให้เราอยู่ได้ เพียงสั้นๆ เท่านั้นเอง
สุทธิชัย : หมายความว่าพิษภัยที่เกิดจากบาทแข็ง ที่มีต่อการส่งออกมีผลดีมากกว่ามีการนำเข้าหลายเท่า
ครับ
สุทธิชัย : เพราะดูท่าทีของรัฐบาล ตั้งแต่ อ.โกร่งพูดออกมา คิดว่ามีการกระทำใดๆ ไปในทางทิศทางใดที่ อ.คิดไหม
สงสัยไม่มี พอพูดไปก็รับไม่ได้ เหมือนทุกครั้งที่พูด ตอนมีปัญหาหนักๆ แต่ผมก็พูด
สุทธิชัย : ที่ตัดสินใจพูดเพราะจำเป็นต้องพูด
ครับ
สุทธิชัย : แล้วหายไปไหนมาตั้ง 7-8 เดือน ไม่มีเสียงของอาจารย์โกร่ง
ก็อยู่นี่ครับ เห็นภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ ไม่รู้จะพูดกับใคร จนกระทั่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ เลยตัดสินใจมาพูด ถ้าไม่พูดแล้วเกิดขึ้นจริงๆ ถ้าจะตายก็ตายตาไม่หลับ
http://www.bangkokbiznews.com/2007/07/19/news_24197314.php?news_id=24197314