http://www.thannews.th.com/detialnews.php?id=M3922326&issue=2232ชำแหละร่างประกาศไอซีที กฎหมายลูก พ.ร.บ. กระทำผิดคอมพ์
ตามที่หนังสือพิมพ์ "ฐานเศรษฐกิจ" ฉบับ 2,231 วันที่ 1-4 กรกฎาคม 2550 ได้นำเสนอข่าว "ไอซีทีไล่บี้ฟอร์เวิร์ดเมล์"
ซึ่งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที อยู่ระหว่างการได้จัดทำร่างประกาศกระทรวง
ประกอบประกอบพระราชบัญญัติการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่เป็นพรบ. ฉบับแรกที่กำลังจะมีผลบังคับใช้
ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2550 นี้เป็นต้นไป
โดยสาระสำคัญของ พรบ.ดังกล่าว คือ มาตรา 26 ระบุว่าผู้ให้บริการจะต้องเก็บจัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log File)
สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เป็นเวลา 90 วันนับตั้งแต่วันที่ข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ หากผู้ให้บริการรายใดไม่ดำเนินการ
จัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ (Log File) มีความผิดปรับไม่เกิน 500,000 บาท หากเจ้าหน้าที่เรียกตรวจสอบข้อมูลแล้ว
ผู้ให้บริการไม่มีข้อมูลดังกล่าวถูกปรับไม่เกิน 200,000 แสนบาท และปรับเป็นรายวันอีกไม่เกินวันละบาทจนกว่าจะปฏิบัติถูกต้อง
อย่างไรก็ตามเพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานในการจัดเก็บข้อมูลตามพรบ.ดังกล่าว กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
หรือ ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจตาม พรบ. ดังกล่าวนั้นจึงได้เตรียมออกประกาศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
เกี่ยวกับ หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ.2550 อันเป็นกฎหมายลูกของพรบ.ดังกล่าวตามมา
ซึ่งสาระสำคัญ ของประกาศดังกล่าว ที่สำคัญ คือ ประกาศข้อ 5 ที่ระบุถึง ข้อบังคับมาตรา 25 ของ พรบ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับ
คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ที่กำหนดประเภทของผู้ให้บริการที่มีหน้าที่จัดเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ที่แบ่งเป็น ประกาศข้อที่1.
ผู้ให้บริการแก่บุคคลอื่นในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกัน โดยผ่านทางระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการ
ในนามของตนเองหรือเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น และผู้ให้บริการเสริมอินเตอร์เน็ต หรือให้สามารถติดต่อถึงกันด้วยระบบคอมพิวเตอร์
โดยผู้ให้บริการไม่มีการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์
ประกาศข้อที่2.ผู้ให้บริการในการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์เพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่นหมายถึงผู้ให้บริการข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือ
ให้บริการเสริมอินเตอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการมีการเก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นๆ
ซึ่งหากพิจารณาจากประกาศข้อดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าประกาศดังกล่าว มีผลต่อมีผลวงกว้างมาก เพราะผู้ให้บริการจะครอบคลุมตั้งแต่
ร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่ โรงเรียน องค์กร ห้างร้าน หรือแม้กระทั่งองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่มีคอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต
ผู้ให้บริการเว็บไซต์ ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต และผู้ให้บริการโทรคมนาคม
นอกจากนี้ในประกาศข้อ 6 ระบุถึงข้อมูลที่ผู้ให้บริการจะต้องทำการจัดเก็บ ซึ่งจะครอบคลุมข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามถึงแหล่งกำเนิด
ต้นทาง และ ปลายทาง ของการติดต่อสื่อสารถึงกันผ่านระบบคอมพิวเตอร์ หรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ รวมถึงข้อมูลที่สามารถระบุพฤติกรรม
การติดต่อสื่อสารถึงกันด้วยระบบคอมพิวเตอร์ หรือการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต อาทิ วันที่ เวลา ปริมาณการติดต่อ และระยะเวลาการติดต่อ
เช่นเดียวกับประกาศข้อ 7 ที่ระบุว่าการเก็บข้อมูลจราจรคอมพิวเตอร์ ตามประกาศข้อ 6 นั้นต้องสามารถระบุผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลได้ อาทิ
ลักษณะการใช้บริการ Proxy Server , Network Address Translation (NAT) หรือ Proxy Cache หรือ Cache Engine หรือ บริการฟรีอินเตอร์เน็ต
อาทิ บริการ 1222 ที่ต้องสามารถระบบตัวตนผู้ใช้บริการเป็นรายบุคคลได้ ไม่ใช่ผู้ร่วมใช้บริการ
ส่วนประกาศข้อ 8 นั้นยังกำหนดให้ผู้ให้บริการที่ใช้ระบบผู้อื่น จะต้องมีวิธีการในการระบุ และยืนยันตัวบุคคล ของผู้ใช้บริการผ่านบริการของตนเอง
และในประกาศข้อ 9 ยังระบุให้ผู้ให้บริการต้องมีการตัดเก็บรักษาข้อมูลจราจรอย่างมั่นคงและปลอดภัย โดยกำหนดให้มีการเก็บบันทึกในสื่อที่สามารถ
รักษาความครบถ้วน และระบุตัวบุคคลที่เข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือ ติดต่อสื่อสารผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และจะต้องมีระบบเก็บรักษาความลับ
ข้อมูลที่เก็บรักษาไว้ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้บริการจะต้องตั้งตัวแทนขึ้นมาประสาน และให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับแต่งตั้งตาม พรบ.ดังกล่าว
แม้ว่ากระทรวงไอซีที ยังไม่ได้ประกาศร่างดังกล่าวออกมาต่อสาธารณชน แต่หลายฝ่ายก็แสดงความเป็นห่วง และต้องการให้กระทรวงไอซีที
เปิดให้มีการทำประชาพิจารณ์ หรือสอบถามความคิดเห็นของผู้ประกอบการมากกว่านี้ โดยเฉพาะ กลุ่ม ผู้ให้บริการร้านอินเตอร์เน็ต และผู้ให้บริการ
อินเตอร์เน็ต ที่แสดงความเป็นห่วงเรื่องวิธีการจัดเก็บ หรือ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการจัดเก็บ รวมถึงกังวลเรื่องอำนาจที่กระทรวงไอซีที ได้รับตามกฎหมาย
ในขณะที่องค์กรปฎิรูปสื่อ ออกมาระบุว่า พรบ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นั้นออกมาเร็วเกินไป โดยยังไม่ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดของ
ประชาชน และยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิ์
ขณะที่มุมมองจากกลุ่มผู้ปกครองกลับมองว่าหากพ.ร.บ.การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มีผลบังคับใช้และใช้ได้จริงเมื่อไหร่ สังคมอินเตอร์เน็ต
คงจะได้จัดระเบียบใหญ่กันเสียที และโลกไซเบอร์แห่งนี้ก็จะเป็นสถานที่เรียนรู้ และให้ประโยชน์กับผู้ใช้อย่างแท้จริง ไม่ใช่เรื่องลามก อนาจาร
แอบแฝงเข้ามาอีกต่อไป