วันที่ 02 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3909 (3109)
แกะรอยเครือข่ายแม้วซิตี้โฮลดิ้ง "บิ๊กบ้านฉาง-D1-ถิรชัย-วิกรม"เปิดเครือข่ายพันธมิตร "ทักษิณ" ซื้อแมนฯซิตี้ ลากผ่านจิ๊กซอว์สำคัญ "ศศิน" แห่งคลับ 21 "อดีตทูตลอนดอน" พบโยงใยแนบแน่น ทั้งขาใหญ่ในตลาดหุ้นและเครือญาตินักการเมือง "วิกรม คุ้มไพโรจน์" สุดฮอต หลังเกษียณนั่งตำแหน่งกรรมการในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยหลายแห่ง ตั้งแต่ D1-โออิชิ-การบินไทยท่ามกลางแรงกดดันจากการตรวจสอบอย่างเข้มข้นของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เส้นทางการซื้อสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีไทย ยังคงเดินหน้าตลอด และดูเหมือนความสำเร็จกำลังอยู่ใกล้แค่คืบ หลังจากได้ไฟเขียวจากคณะกรรมการบริหารสโมสรดัง ทั้งมีมติยอมรับในหลักการและเสนอแนะให้ผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ ยอมรับข้อเสนอเทกโอเวอร์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตลอดจนการกว้านซื้อหุ้นแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในตลาดหุ้น ไว้ในมือได้เกือบ 66% นับถึงวันพฤหัสบดี (28 มิ.ย.)
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเอกสารประกอบการยื่นเสนอซื้อกิจการสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ โดยเฉพาะในเอกสารแนบท้ายฉบับที่ 3 (appendix 3) ซึ่งให้ข้อมูลรายละเอียดการจดทะเบียนของบริษัท และโครงการการถือหุ้น รวมถึงข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพบว่าบริษัท ยูเค สปอร์ตส อินเวสต์เมนต์ส ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้นทางอ้อม จัดตั้งเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2550 โดยระบุวัตถุประสงค์ของการก่อตั้งไว้ว่า เพื่อประกอบธุรกิจในอังกฤษและเวลส์ โดยเฉพาะการจัดทำข้อเสนอซื้อกิจการของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
ส่วนโครงสร้างการถือหุ้นในยูเค สปอร์ตส อินเวสต์เมนต์ส จำกัด ถือหุ้น 100% โดยยูเคเอสไอ โฮลดิงส์ ซึ่งก่อตั้งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2550 เพื่อประกอบธุรกิจในอังกฤษและเวลส์ เช่นเดียวกับบริษัทลูก คือ ยูเค สปอร์ตส อินเวสต์เมนต์ส จำกัด ซึ่งให้ข้อมูลโครงสร้างการถือหุ้นไว้ดังนี้ พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นสามัญเพียง 57 หุ้น มูลค่า 100 ปอนด์ต่อหุ้น นายพานทองแท้ และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตรชายและบุตรสาว ถือหุ้นเท่ากันฝ่ายละ 2,845 หุ้น
นอกจากนี้ยังมีบริษัท ประไหมสุหรี พร็อพ เพอร์ตี้ จำกัด ซึ่งถูกสั่งอายัดเงินเพิ่มทุน 2 พันล้านบาท รวมอยู่ด้วย
ในส่วนของฝ่ายบริหาร บริษัท ยูเค สปอร์ตส อินเวสต์เมนต์ส ประกอบด้วย พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งนั่งตำแหน่งประธาน ขณะที่กรรมการบริหารอื่นๆ ประกอบด้วย นายพานทองแท้ และนางสาว พิณทองทา ชินวัตร กับนางศศิน มองวัวแซงค์
สำหรับนางศศิน มองวัวแซงค์ ซึ่งข้อมูลอ้างอิงระบุว่า ร่วมถือหุ้นในบริษัท ยูเค สปอร์ตสฯด้วย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และเป็นกรรมการบริษัท คลับ 21 (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้า โดยนางศศิน หรือคุณหรั่ง เป็นภริยาของนายวิกรม คุ้มไพโรจน์ อดีตเอกอัครราช ทูตไทยประจำกรุงลอนดอน
นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ เป็นหนึ่งในรายชื่อที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เสนอให้บอร์ดแมนเชสเตอร์ ซิตี้ พิจารณาในฐานะกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นตัวแทนของยูเค สปอร์ตส อินเวสต์เมนต์ส ร่วมกับ นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ อดีตประธานกลุ่มบ้านฉางที่เคยยิ่งใหญ่ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แถบภาคตะวันออก นายถิรชัย วุฒิธรรม อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยุคนายพิจิตต รัตตกุล และอดีตอุปนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งพบว่าชื่อของทั้ง 4 บุคคล มีความสัมพันธ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในหลายๆ กรณี
และที่สำคัญนายถิรชัยยังนั่งเป็นประธานกรรมการ บริษัททราฟฟิกคอนเนอร์โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทดังกล่าวมีสายสัมพันธ์ที่แนบเแน่นกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ชื่อของนางศศิน และนายวิกรม มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในฐานะที่บุคคลทั้งสองมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เห็นได้จากทั้งคู่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นตัวแทนเจรจาซื้อทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้
และคอยดูแลให้การต้อนรับ ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณพักอยู่ในกรุงลอนดอน (มติชนรายวัน 23 มิถุนายน พ.ศ.2550)
ทั้งนี้ นายวิกรมเป็นนักการทูตและข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเพียง รายเดียวที่ได้รับการแต่งตั้ง
เป็นกรรมการบริหาร บริษัทการบิน ไทย เมื่อปี 2549 ซึ่งเป็นปีที่เขาจะเกษียณอายุราชการในช่วงปลายปี ประกอบกับในบอร์ดชุดนั้น มีนายถิรชัย วุฒิธรรม เป็นกรรมการ ในส่วนของตัวแทนผู้ถือหุ้นข้างน้อย และเพิ่งลาออกจากตำแหน่งในช่วงปลายปี
หลังเกิดกรณีโบนัส 10 ล้านบาท และการจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 20 ลำ
ในช่วงที่นายวิกรมได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบอร์ดการบินไทยมีการตั้งข้อสังเกตว่า ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการบริษัทการบินไทย ทั้งๆ ที่ยังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทย ประจำกรุงลอนดอน และมีวาระถึงแค่สิ้นปี 2549 ซึ่งอาจทำให้มีปัญหาในเรื่องการทำงาน ซึ่งอาจทำให้การบินไทยเสียประโยชน์ ทั้งๆ ที่ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอื่นๆ ที่ประจำอยู่ที่กรุงเทพฯก็มีเป็นจำนวนมาก
ปัจจุบัน นายวิกรม คุ้มไพโรจน์ นั่งเป็นกรรมการในบริษัทเอกชนหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นประธานกรรมการตรวจสอบของ
บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ธุรกิจในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าพ่อเบียร์ช้าง, บริษัท อุตสาห กรรมพรมไทย จำกัด (มหาชน)
ขณะเดียวกันยังนั่งเป็นประธานกรรมการ ในบริษัท ดราก้อน วัน (D-1) โดยโครงสร้างบริหารของดราก้อน วัน มี
นายจเรรัฐ ปิงคลาสัย อดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัทไออีซี นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
รวมทั้งยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท 22.33% ด้วย โดยที่ผ่านมา นายจเรรัฐเคยนั่งเป็นที่ปรึกษาให้กับ นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานวุฒิสภา ชุดล่าสุดก่อนเกิดเหตุการณ์ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ในบอร์ดเดียวกัน มีนายธราดล เปี่ยมพงษ์ศานต์ อดีต ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์พรรคประชาธิปัตย์ นามสกุลเดียวกับไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ ซึ่งมีกระแสข่าวในวงการตลาดหุ้นตั้งข้อสงสัยว่า เขาคือเจ้าของ D-1 ตัวจริง
นายไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ หรือ "ไพโรจน์ บ้านฉาง" เจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์ใน เครือบ้านฉางกรุ๊ป ปัจจุบันอายุ 52 ปี แต่งงานกับ อดีตเลขานุการส่วนตัวของ พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ทำให้มีความใกล้ชิดกับกลุ่มซอยราชครูและพรรคชาติไทย และเคยเป็นเลขา พล.ต.อ.ประมาณ สมัยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ในอดีตยังมีตำแหน่งในแวดวงธุรกิจ การเมือง และสังคมมากมาย เช่น ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีสมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กรรมการบริหาร บริษัท อาราเบียนไทย อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ฯลฯ
ชื่อของไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์ศานต์ หายเงียบไปนาน กระทั่งในช่วงที่ผ่านมามีข่าวลือในตลาดหุ้นเป็นระยะๆ ว่า "เจ้าพ่อบ้านฉาง เป็นกุนซือให้กับ "หุ้นร้อน" หลายตัว โดยเฉพาะการอยู่หลังฉาก ไออีซี และดราก้อน วัน"
นอกเหนือจากตระกูลปิงคลาสัยและเปี่ยมพงษ์ศานต์แล้ว ใน D-1 ยังมีคนจากตระกูลรักตพงศ์ไพศาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ด้วย 0.60% คือ น.ส. ศรีวรรณ รักตพงศ์ไพศาล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นบริษัท กลอรี่คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากโครงการบ้านเอื้ออาทร
จากสายสัมพันธ์ของเครือข่ายของธุรกิจและเครือญาติที่อยู่เบื้องหลังดีลเทกโอเวอร์แมนฯซิตี้ สามารถโยงให้เห็นกลุ่มทุนใหญ่ของพรรค ไทยรักไทยที่เชื่อมเข้าไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งในตลาดทุนและตลาดการเงินอย่างแนบแน่น ไม่เพียงเท่านั้น เครือข่ายของกลุ่มนี้ยังมีคอนเน็กชั่นในระดับนานาชาติอีกด้วย
นายจเรรัฐ ปิงคลาศัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดราก้อนวัน จำกัด กล่าวว่า บริษัท ดราก้อนวันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทางการเมืองเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเงินทุนที่มาลงทุนก็เป็นเงินส่วนตัว และถ้าเป็นเงินที่มาจากกลุ่มการเมืองคงไม่มามองบริษัทที่มีมูลค่าแค่ 300-400 ล้านบาท สู้ไปลงทุนในบริษัทที่มีมูลค่าสูงแล้วทำราคาหุ้นขึ้นมาเพราะมีธุรกิจรองรับจะง่ายกว่าอีก ส่วนการที่ใครจะจับบริษัทไปผูกโยงกับบริษัทอื่นๆ ว่ามีความเกี่ยวพันกัน ตนคงไปห้ามไม่ได้เพราะเป็นความคิดของแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ตามในส่วนของประธานกรรมการบริษัท ดร.วิกรม คุ้มไพโรจน์ เป็นเพียงผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ตนเคารพ และชวนให้มานั่งเป็นที่ปรึกษา ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องว่ามีความสัมพันธ์กับใคร แต่ในส่วนตัวของท่านจะรู้จักใครในวงการทางการเมืองก็เป็นสิทธิ เพราะคงไปห้ามไม่ได้ว่าไม่ให้ใครรู้จักกับใคร
สำหรับการติดตามเส้นทางเงินของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในต่างประเทศ ล่าสุดแหล่งข่าวยืนยันว่า ทาง ปปง.ได้ตรวจพบบัญชีเงินฝากของลูกสาว พ.ต.ท.ทักษิณ เพิ่มเติมที่แบงก์ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ หน้า 1
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02p0101020750&day=2007/07/02§ionid=0201**