เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัว3ตุลาการรัฐธรรมนูญ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2550 19:37:00
ศาลปค.เปิดคำวินิจฉัยส่วนตัว3ตุลาการรัฐธรรมนูญ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลรัฐธรรมนูญว่า ในช่วงบ่ายตุลาการรัฐธรรมนูญ นัดตัวแทนพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค ประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า มารับคำวินิจฉัยส่วนตน ของตุลาการฯ ทั้ง 9 ในคดียุบพรรค ทั้งนี้มีเพียงตัวแทนจากพรรคไทยรักไทย นำโดยนายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความผู้รับมอบอำนาจ มารับคำวินิจฉัยส่วนตนเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่จะมีการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนนั้น สำนักงานเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ แจ้งว่า ในวันที่ 5 มิ.ย.นี้ จะให้เฉพาะคู่ความเท่านั้น ส่วนการเผยแพร่ จะต้องรอให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน หรือไม่เช่นนั้นจะต้องขออนุญาตจากตุลาการเป็นการส่วนตัวเอง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับตุลาการรัฐธรรมนูญ ที่มาจากสายศาลปกครองสูงสุดนั้น เว็บไซต์ของศาลปกครองสูงสุด
www.admincourt.go.th <http://www.admincourt.go.th/> ได้ตีพิมพ์คำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการฯทั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายอักขราทร จุฬารัตน นายจรัญ หัตถกรรม และนายวิชัย ชื่นชมพูนุท ซึ่งทั้ง 3 คนเป็นตุลาการเสียงข้างมาก ที่เห็นควรให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ และให้ยุบพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทย และพรรคพัฒนาชาติไทย อีกทั้งเป็นเสียงข้างมากที่ระบุว่าคำสั่งคปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3 ที่ให้ตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ของกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกสั่งยุบพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุผลของนายอักขราทร ที่เห็นว่าประกาศคปค.ฉบับที่ 27 สามารถมีผลบังคับใช้กับกรรมการบริหารพรรคที่ถูกสั่งยุบพรรคทั้ง 4 ระบุว่า จากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงทั้งหมดเห็นควรว่ายุบพรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย และยังควรพิจารณาคำแก้ต่างว่าประกาศคปค.ไม่มีผลย้อนหลัง โดยพิจารณาว่า หลักของกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังเกิดจากคำกล่าวที่ว่า ตั้งแต่สุภาษิตลาติน Nullum crimen sine lege ไม่มีการกระทำความผิดหากไม่มีกฎหมายกำหนดและ Nulla poena sine lege บุคคลจะไม่ต้องรับโทษหากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้หลักกฎหมายดังกล่าวมิใช่เป็นหลักกฎหมายที่เป็นหลักเด็ดขาดแต่อย่างใด แม้จะมีขึ้นเพื่อให้มีการป้องกันสิทธิเสรีภาพต่อเอกชน แต่ในระยะเวลาต่อมา จนถึงปัจจุบันแนวคิดในทางกฎหมายเห็นว่า สังคมต้องมีการพัฒนาและกฎหมายที่ได้ตราขึ้นใหม่ ย่อมเป็นที่เข้าใจและยอมรับว่าเป็นกฎหมายที่ต้องดีกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เดิม เป็นธรรมต่อสังคม และเหมาะสมกว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ ดังนั้น จึงควรให้กฎหมายที่ได้ตราขึ้นใหม่มีผลใช้บังคับได้ทันที
นายอักขราทร ยังระบุอีกว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งย่อมไม่ใช่โทษในทางอาญาอย่างแน่นอน หากแต่เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายที่เกิดจากผลของกฎหมาย ที่ให้อำนาจในการยุบพรรคการเมือง ที่กระทำการต้องห้ามตามมาตรา 66 เพื่อมิให้กรรมการบริหารพรรคดังกล่าวไปก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยได้มีโอกาสกระทำความเสียหายขึ้นอีกชั่วระยะ เวลาหนึ่งอันเป็นมาตรการที่เหมาะสมแก่การคุ้มครองประโยชน์ของความสงบสุข เพื่อให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยดำรงอยู่ได้
ด้านนายวิชัย ให้เหตุผลว่า ประกาศคปค.ฉบับที่ 27 บัญญัติไว้ชัดเจนว่าให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบเป็นเวลา 5 ปี นับ แต่มีคำสั่งยุบพรรคนั้นไม่เปิดโอกาสให้แปลความเป็นอย่างอื่น จึงต้องสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามกฎหมาย ส่วนที่อ้างว่าการใช้กฎหมายให้มีผลย้อนหลังขัดกับหลักกฎหมายอาญาทั่วไปหรือขัดต่อประเพณีการปกครอง ข้ออ้างดังกล่าวต้องเป็นกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนั้นบังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ปี 2549 มาตรา 36 บัญญัติไว้โดยแจ้งชัดว่าประกาศคปค.ทุกฉบับชอบด้วยกฎหมาย ถือได้ว่ามีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญบังคับแก่กรณี ประกาศคปค.โดยชัดแจ้งจึงไม่มีเหตุจะต้องนำประเพณีการปกครองมาใช้บังคับแทนอีก
นายวิชัย ระบุอีกว่า เมื่อประกาศคปค.ฉบับที่ 27 ข้อ 3 เป็นกฎหมายชอบด้วยรัฐธรรมนูญและบัญญัติให้มีผลใช้กับการกระทำใดๆที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองย้อนหลังได้ ทั้งนี้สภาพการบังคับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ใช่โทษในทางคดีอาญา ซึ่งจะนำกฎหมายทั่วไปในความผิดอาญามาบังคับใช้ไม่ได้ คณะตุลาการฯจึงต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคตามกฎหมาย
ด้านนายจรัญ ระบุว่า การลงโทษทางอาญามีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการตอบแทนต่อการกระทำผิดเรื่องการแก้แค้น ทดแทน และเป็นการป้องกันสังคมได้แก่ การปราบปรามซึ่งเป็นการรักษาความสงบเรียบร้อย โดยทั่วไปเพื่อแสดงให้เห็นว่าสังคมไม่ยอมให้มีการกระทำผิดเช่นนั้นเกิดขึ้น และเป็นการป้องกันมิให้ผู้นั้นกระทำผิดได้อีกตลอดไป หรือเป็นการชั่วคราว และเป็นการดัดนิสัยให้กลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไป ดังนั้น มาตรา 18 แห่งประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดจึงมีการกำหนดไว้เช่น การประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ และยึดทรัพย์ เป็นต้น
ส่วนการจำกัดสิทธิเสรีภาพในทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้มิได้มีเจตนาเหมือนกับการลงโทษทางอาญา แต่มีเจตนาเพื่อเป็นการปกป้องและคุ้มครองในระบอบประชาธิปไตย ตามมาตรา 63 ที่ให้บรรลุผลโดยกำหนดมาตราการบังคับทางกฎหมายด้วยการจำกัดสิทธิทางการเมืองที่สำคัญ ดังนั้นจะเป็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองที่บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองที่ต้องยุบไป เพราะไม่ดำเนินการตามมาตรา 35 หรือ 62 หรือการกระทำตามมาตรา 66 ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไปจะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือมีส่วนร่วมในการขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ตามาตรา 8 อีกไม่ได้ ภายในกำหนด 5 ปี ซึ่งมิใช่เป็นการลงโทษอาญาแก่บุคคล และมิใช่เป็นการปฎิบัติต่อบุคคลเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา
ดังนั้นจึงไม่อาจกล่าวได้ว่าการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง เป็นการปฎิบัติต่อบุคคลเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญา หลักในเรื่องกฎหมายไม่มีผลย้อนหลังทางอาญา จึงไม่อาจจะนำมาใช้บังคับกับกรณีนี้ได้ ในคำวินิจฉัยของนายจรัญ ยังได้มีการเปรียบเทียบการตัดสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองในระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยได้มีการยกข้อกฎหมายมาประกอบและชี้ให้เห็นในหลายประเด็น โดยเฉพาะมาตราฐานในการจำกัดสิทธิทางการเมืองของ ส.ส.ที่ถือเป็นนักการเมืองระดับชาติ ถือว่าเป็นการระทำผิดรุนแรงกว่าสมาชิกสภาพท้องถิ่น ซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นมาตราฐานในการจำกัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.จะต้องมีมาตราฐานสูงกว่าสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น เพราะหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จะเป็นผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งส่งผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ อีกทั้งการจำกัดสิทธิ์และเสรีภาพทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางอาญา จึงมีเหตุผลและความจำเป็นในการบังคับใช้กับหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค ที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 40 ประกอบกับมาตรา 66 และมาตรา 27 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง