'อัยการสูงสุด'ระบุไทย-อังกฤษมีกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน 29 มิถุนายน พ.ศ. 2550 15:28:00
โฆษกอัยการ เผย"ทักษิณ"อยู่ลอนดอน "หญิงอ้อ"อยู่รพ.สิงคโปร์ รอ"คตส.-บัวแก้ว-สตช."ส่งอ้างอิงที่พำนัก4ก.ค. ก่อนแถลงศาล 9ก.ค. ระบุมีประกาศสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนไทย-อังกฤษ ใช้บังคับ
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ผู้ตรวจราชการสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะโฆษก นายสัมพันธ์ สาระธนะ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ ร่วมแถลงข่าวถึงกรณี ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำสั่งให้อัยการสูงสุด ติดตามหาที่อยู่ในต่างประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิง พจมาน ชินวัตร จำเลยที่ 1-2 ในคดีทุจริตการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก
โดยระบุว่า ขณะนี้อัยการได้ประสานด้วยวาจา และทำหนังสือขอความร่วมมือ พร้อมส่งสำเนาคำสั่งศาล ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ในฐานะเจ้าของสำนวนการไต่สวน ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ สถานฑูตอังกฤษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้ประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) รวมทั้งศูนย์เจ้าหน้าที่ตำรวจสากล เพื่อสืบหาที่อยู่ของจำเลยทั้งสองแล้ว โดยเริ่มตรวจสอบที่อยู่ของจำเลยทั้งสอง ตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้องจนถึงปัจจุบัน และอัยการยังให้ตรวจสอบรายละเอียดด้วยว่า บ้านที่พักนั้นใครเป็นเจ้าของ และพ.ต.ท.ทักษิณ พักอยู่เป็นประจำหรือชั่วคราว โดยการสืบหาที่อยู่จะต้องมีเอกสารอ้างอิงอย่างเป็นทางการด้วย
นายอรรถพล กล่าวว่า ขณะนี้ นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. ได้ประสานให้กระทรวงการต่างประเทศและ สตช. ให้ส่งรายละเอียดข้อมูลที่อยู่ ซึ่งสืบหาได้ให้ส่งกลับมาที่ คตส.ภายในวันที่ 4 กรกฎาคม เพื่อส่งต่อให้กับอัยการนำข้อมูลไปแถลงต่อศาลภายในวันที่ 9 กรกฎาคม ก่อนเวลา 12.00 น. ตามกำหนดนัดของศาล โดยหาก คตส.ประสานไปยังหน่วยงานต่างๆ แล้วไม่สามารถรวบรวมข้อมูลหลักฐาน การค้นหาที่อยู่เพิ่มเติมได้ทัน อัยการสูงสุดจะยื่นคำร้องต่อศาลขอขยายเวลาออกไป
จากการสืบหาเบื้องต้น ทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ของบางหน่วยงานอย่างไม่เป็นทางการว่า ปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณ พักอาศัยอยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนคุณหญิงพจมาน รักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ แต่ยังไม่สามารถนำไปแถลงต่อศาลได้ เพราะการสืบหาที่อยู่ จะต้องมีเอกสารหลักฐานระบุที่อยู่อย่างเป็นทางการ ส่วนที่สื่อมวลชนได้เผยแพร่ข้อมูลที่อยู่จำเลยทั้งสองมาบ้างแล้ว อัยการจะนำข้อมูลดังกล่าวมาเป็นเบาะแส เพื่อสืบหารายละเอียดที่อยู่ที่มีเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการ ยื่นต่อศาลต่อไป หรือถ้าจำเลยจะส่งหนังสือแจ้งถิ่นที่อยู่มา อัยการก็จะรับไว้ เพราะถือว่าเป็นหลักฐานสำคัญ ที่จะยื่นต่อศาลด้วย ซึ่งหากได้ข้อมูลมาแล้ว อัยการจะไม่นำไปเปลี่ยน หรือแก้ไขที่อยู่ในคำฟ้องเดิม แต่อัยการจะยื่นแถลงถิ่นที่อยู่ของจำเลยเพิ่มเติม ตามที่ศาลต้องการ
"คำสั่งศาลดังกล่าว ที่ปรากฏออกมาว่าเป็นมติขององค์คณะทั้ง 9 คน ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นคำสั่งขององค์คณะทั้ง 9 คน ซึ่งตามกฎหมายให้องค์คณะผู้พิพากษา 3 คน ร่วมประชุมกัน และมีคำสั่งใดๆ ในคดีออกมาก็ได้ แต่ไม่ใช่เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดคดี ซึ่งเรื่องนี้นายเศกสรร บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าพนักงานอัยการ ที่รับผิดชอบว่าความในคดีนี้ ได้เข้าหารือกับ นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด และผม ได้พิจาณาร่วมกันแล้วเห็นว่า อัยการจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสั่งขององค์คณะ เพราะเชื่อว่าศาลทำด้วยเจตนาดี ที่ต้องการได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดี"
นายอรรถพล ชี้แจงด้วยว่า การยื่นฟ้องคดีของอัยการ เป็นไปตาม มาตรา 25 พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 ที่ให้อัยการส่งเฉพาะคำฟ้อง สำเนาการไต่สวน และพยานหลักฐานเท่านั้น ส่วนการระบุที่อยู่ ให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (4) ที่ให้พนักงานอัยการระบุที่อยู่ของจำเลย โดยยึดตามภูมิลำเนาเป็นสำคัญ ซึ่งหมายความถึงที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน และในการส่งหมายเรียก หรือหมายนัดประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กำหนดให้ส่งไปยังภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของบุคคลซึ่งระบุไว้ในหมายหรือเอกสารนั้น
ในกรณีที่ผู้ที่ต้องรับหมายไม่ยอมรับ หรือไม่มีผู้ใดยอมรับไว้แทน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 78 และ 79 กำหนดให้ปิดหมาย หรือวางหมาย หรือเอกสารไว้ ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของผู้นั้น แล้วแต่กรณี และให้ถือว่าการส่งหมาย หรือเอกสารนั้นเป็นการถูกต้องตามกฎหมาย หรือในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการโดยวิธีดังกล่าวข้างต้น ศาลมีอำนาจมอบหมายเรียก หรือเอกสารไว้แก่เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองในท้องถิ่น หรือเจ้าหนักงานตำรวจ แล้วปิดประกาศแสดง หรือลงโฆษณา หรือทำวิธีการใดตามที่ศาลเห็นสมควร ในกรณีที่มีการกำหนดให้แจ้งที่อยู่จริงของจำเลยลงในคำฟ้องนั้น สำนักงานอัยการสูงสุดถือปฏิบัติตาม
ทั้งนี้เนื่องจากว่าตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66 ซึ่งกำหนดเรื่องการออกหมายจับมีความตอนหนึ่ง หมายจับจะออกได้ในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ดังนั้นหากจำเลยไม่พำนักไม่เป็นที่เป็นทาง อยู่ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะสั้นๆ แล้วให้ระบุที่อยู่ตามพำนักนั้นย่อมไม่อาจทำได้ กฎหมายจึงให้ถือเอาภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามในการที่ศาลต้องการที่อยู่จริง พนักงานอัยการจะดำเนินการตามที่ศาลมีสั่งให้ดำเนินการต่อไป
นายอรรถพล กล่าวถึงกระบวนการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินในคดีในประเทศไทยว่า สำหรับคดีทุจริตที่ดินรัชดา หากศาลฎีกาฯตรวจสำนวน แล้วมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดี ก็จะต้องมีการกำหนดวันนัดพิจารณาคดี และส่งสำเนาคำฟ้อง พร้อมแจ้งวันนัดให้จำเลยทราบตามที่อยู่ หากจำเลยไม่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดี ศาลก็ชอบที่จะออกหมายจับตาม มาตรา 27 พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 เพราะจำเลยไม่มาตามหมายเรียก หรือตามนัด โดยไม่มีข้อแก้ตัวที่สมควร
ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฎว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ประเทศอังกฤษ และศาลมีหมายจับแล้ว ก็สามารถดำเนินการได้ตามข้อ 7 ของประกาศสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ.130 แต่เนื่องจากขอบเขตอำนาจศาลฎีกาฯ มีอยู่เฉพาะภายในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการส่งสำเนาฟ้องและหมายจับ อัยการจึงจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้อัยการสูงสุด เป็นผู้ประสานงานกลาง เพื่อดำเนินการดังกล่าวตามวิธีการฑูต แต่การจะส่งกลับมาหรือไม่เป็นอำนาจของประเทศที่ถูกร้องขอจะพิจารณา
นายอรรถพล กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงถึงการส่งตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ.2472 มาตรา 3 และมีบางหน่วยงานระบุว่า เป็นหน้าที่ของอัยการสูงสุด ว่า การดำเนินการตาม พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน สามารถทำได้เฉพาะกรณีที่ต่างประเทศ ขอให้ประเทศไทยส่งจำเลย หรือผู้ต้องหากลับไปดำเนินคดีในประเทศผู้ร้องเท่านั้น แต่หากประเทศไทยจะขอให้ต่างประเทศส่งตัวจำเลย หรือผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีในประเทศ จะต้องดำเนินการตามสัญญา อนุสนธิสัญญา สนธิสัญญา หรือ พ.ร.บ.ที่ประเทศไทยได้ทำเป็นข้อตกลงไว้ในประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จีน เบลเยี่ยม ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงไว้เป็น พ.ร.บ.
ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งอยู่ในประเทศอังกฤษ พนักงานอัยการต้องดำเนินการตาม ประกาศสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ.130 ที่ปัจจุบันยังใช้บังคับอยู่ ซึ่งต้องร้องขอผ่านวิธีการทางการฑูต และตามสัญญาดังกล่าว ยังมีหลักเกณฑ์การพิจารณา 5 ข้อ คือ 1.ผู้ร้ายนั้นเป็นบุคคลที่ถูกขอให้ส่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดน 2. ความผิดที่ร้องขอไปดำเนินคดีนั้น สามารถลงโทษได้ทั้งสองประเทศ 3.ไม่เป็นการพิจารณาคดีเพื่อลงโทษซ้ำซ้อน 4.ไม่เป็นความผิดเกี่ยวกับการเมือง และ 5.คดีที่ร้องขอไม่ขาดอายุความ
นายอรรถพลกล่าวว่า ในข้อ 2 ของประกาศสัญญาดังกล่าว ยังระบุความผิดที่จะส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ไว้ 31 ฐานความผิด แต่มีปัญหาที่บางคดี เช่น คดีบริษัทเอสซี แเอสเซท ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกล่าวหากระทำผิดกฎหมายไทย ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งความผิดดังกล่าว ไม่มีระบุไว้ในประเภทความผิดในประกาศสัญญาดังกล่าว เพราะสมัยนั้นยังไม่มีตลาดหลักทรัพย์ แต่อย่างไรก็ตามในสัญญาข้อ 2 ยังระบุไว้ในวรรคท้ายกำหนดให้ทั้งสองประเทศ ใช้ดุลยพินิจส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ หากกฎหมายทั้งสองประเทศกำหนดไว้ว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมาย "การจะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้นั้น ไม่ใช่มีเพียงหมายจับ แล้วจะให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้ทันที แต่คดีต่างๆที่จะให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน จะต้องผ่านการพิจารณาจากพนักงานอัยการ ว่าคดีดังกล่าวนั้นจะฟ้องหรือไม่ฟ้อง ถ้าคดีนั้นอัยการพิจารณาแล้วมีคำสั่งไม่ฟ้อง ก็จะขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนไม่ได้ เพราะการส่งผู้ร้ายข้ามแดน คือเพื่อให้ได้ตัวคนร้ายมาดำเนินคดี ดังนั้นทุกกรณีจะต้องมีความเห็นของอัยการในการสั่งคดีก่อนทั้งสิ้น เทียบเคียงได้กับกรณีการขอส่งตัวนายราเกซ สักเสนา อดีตที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ จำกัด (มหาชน)หรือบีบีซี จากประเทศแคนาดา กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยที่อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้องในความผิดฐานฉ้อโกงและพ.ร.บ.หลักทรัพย์ นายอรรถพล กล่าว
ด้านนายสัมพันธ์ สาระธนะ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้อัยการกำลังศึกษา และตรวจดูฐานความผิดของกฎหมายไทย กับประเทศอังกฤษ เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับฐานความผิด ซึ่งหากพบว่าความผิดที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกกล่าวหาเป็นไปตามฐานความผิดใน 31 ประการ ที่บัญญัติไว้ในประกาศสัญญาฯ ก็สามารถดำเนินการได้ เช่น ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งในประเทศอังกฤษ ก็มีกฎหมายปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นอยู่แล้ว ดังนั้นฐานความผิดดังกล่าว อาจไม่ใช่ปัญหาการขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามประกาศสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ ร.ศ.130 ที่ปัจจุบันยังใช้บังคับอยู่ฯ แต่ที่มีปัญหาคือ ความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ ที่ชัดเจนว่า ประกาศสัญญาฯ ไม่มีบัญญัติไว้ ซึ่งต้องตรวจสอบด้วยว่า การกระทำในคดีที่เป็นการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น จะเป็นความผิดตามกฎหมายภายในของประเทศอังกฤษหรือไม่ หากเป็นความผิดก็สามารถยื่น
ขอให้ส่งตัวกลับมาได้
อธิบดีอัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ กล่าวย้ำด้วยว่า ในการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนตามประกาศสัญญาฯ นั้นถ้าแม้ว่าความผิดจะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนแล้วแต่การพิจารณาว่าจะให้ส่งหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของประเทศอังกฤษด้วย ส่วนกรณีการขอลี้ภัยในต่างประเทศนั้น หากจะดำเนินการจริงต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายลี้ภัย โดยผู้ขอลี้ภัยจะต้องส่งหนังสือร้องขอต่อสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ส่วนการพิจารณาจะให้ลี้ภัยได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประเทศผู้ถูกร้องขอเช่นเดียวกัน และหากมีการอ้างเหตุขอลี้ภัยทางการเมือง ประเทศนั้นอาจไม่พิจารณาให้ลี้ภัยก็ได้
http://www.bangkokbiznews.com/2007/06/29/WW10_WW10_news.php?newsid=81638ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการ คตส. คณะดีเอสไอ ต้องสืบสวน หาหลักฐานมัดตัวเหลี่ยม ลี สิงกะโปโตก ในขณะที่"ทนายหน้าหอ" "ม๊อบไข่แม้ว" และคนรักเหลี่ยมฯ ปากกล้า ขาสั่น คุยโตว่า เหลี่ยม ลี สิงกะโปโตก และครอบครัวไม่กลัวข้อกล่าวหาต่าง ๆ พร้อมจะต่อสู้ทางศาลยุติธรรม.....
วันนี้"ทนายหน้าหอ" ประกาศลั่นไม่อายฟ้า ไม่อายดินว่า เหลี่ยม ลี สิงกะโปโตกจะไม่กลับมาต่อสู้ทางศาลยุติธรรมอย่างที่เคย"ถ่มน้ำลาย" รดฟ้าใส่หน้าตนเองแล้ว.....คณะกรรมการ คตส. อัยการสูงสุด เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ และ คณะ ดีเอสไอ ต้องควานหาที่อยู่ที่แน่นอนของเหลี่ยม ลี สิงกะโปโตก และภรรยาที่เป็น"คนหลักลอย"อีกคนหนึ่งแล้ว เมื่อจนตัวไม่สามารถหลีกเลี่ยง ผลัดผ่อนศาลยุติธรรม ได้อีก....
พรุ่งนี้จะเป็น"แม้วดำดิน" "อ้อดำดิน" หรือไม่.........ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า