จาตุรนต์ รอแป๊บนึงนะครับ!
โดย ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ 6 มิถุนายน 2550 18:18 น.
24 พฤษภาคม 2550 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานกระแสพระราชดำรัสต่อคณะตุลาการศาลปกครองว่าพระองค์จะเดือดร้อนจากคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ว่าผลของคำวินิจฉัยจะเป็นเช่นไร และได้ทรงพระราชทานแนวทางให้ตัดสินด้วยความกล้าหาญและซื่อสัตย์ และอธิบายให้ความรู้กับประชาชนให้มีความเข้าใจในคำวินิจฉัย
25 พฤษภาคม 2550 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ให้สัมภาษณ์แสดงความตระหนักในความ เดือดร้อน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
พรรคไทยรักไทยรู้สึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงห่วงใยบ้านเมืองและได้พระราชทานคำแนะนำให้หาทางป้องกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง พรรคไทยรักไทยมิอาจก้าวล่วงตีความหรือวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ได้
สิ่งที่พรรคดำเนินการได้คือสนองน้อมรับฯ ใช้เป็นหลักปฏิบัติ ช่วยกันไม่ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และพรรคไทยรักไทยได้วางแนวทางที่ไม่ให้เกิดความวุ่นวายไว้แล้ว
โดยกำชับสมาชิกพรรคและอดีต ส.ส. ไม่ให้สร้างความเดือดร้อนใดๆต่อคดียุบพรรค ไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไร เราพร้อมจะรับและดำเนินงานทางการเมืองต่อไป
27 พฤษภาคม 2550 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันอีกว่า
สิ่งที่พรรคจะทำได้ คือพยายามทุกวิถีทางเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผชิญหน้า ซึ่งอาจสร้างความวุ่นวายและทำให้สังคมเดือดร้อน
พรรคเคารพการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญไม่ว่าผลออกมาเป็นอย่างไร เราจะไม่ประท้วงคัดค้านใดๆ
29 พฤษภาคม 2550 นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนที่จะหน้าวันที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง 1 วันความตอนหนึ่งว่า
ไม่ว่าผลของคดีจะออกมาอย่างไร ก็จะไม่มีการออกมาประท้วงคำตัดสินและแสดงพลังอะไรทั้งสิ้น..... แม้ในกรณีที่ผลการตัดสินของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญจะยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดก็ตาม
ถ้าเป็นนักการเมืองคนอื่นที่ไร้ซึ่งสัจจะ โกหก หลอกลวง ตลบตะแลง ตระบัดสัตย์ อยู่เป็นเนืองนิตย์ก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่เมื่อการผิดคำพูดของตัวเองกลับมาเป็นนายจาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ อนาคตไกล พูดจามีเหตุผลตั้งอยู่ในแนวทางสันติวิธีในช่วงเวลาที่ผ่านมา ก็ต้องถือได้ว่าน่าเสียดาย
30 พฤษภาคม 2550 คำวินิจฉัยของตุลการรัฐธรรมนูญสรุปว่าไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ยุบพรรคไทยรักไทยและเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค เช่นเดียวกับพรรคการเมืองขนาดเล็กทั้งหมด
31 พฤษภาคม 2550 นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ว่า เรามีความเห็นแตกต่าง เราเห็นว่า เราไม่ได้รับความเป็นธรรม....คำตัดสินที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากแนวความคิดที่ยอมรับว่าใครยึดอำนาจรัฐได้ คือความถูกต้อง ใครยึดอำนาจรัฐได้ แม้จะมาจากปากกระบอกปืนก็เป็นผู้กำหนดความถูกผิดในสังคมได้ การตัดสินแบบนี้เรายอมรับ ไม่ได้
การตัดสิทธิ์ถือเป็นโทษร้ายแรง เพราะผมเป็นนักการเมืองมาตลอดชีวิต แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าว มาจากคณะที่ยึดอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แล้วมาสร้างกลไกลงโทษนักการเมืองซึ่งอยู่ตามรัฐธรรมนูญ
คำพูดที่เหมือนกับการตระบัดสัตย์ของนายจาตุรนต์ ฉายแสงจากวลีที่ว่า ไม่ว่าผลการพิจารณาจะออกมาเป็นเช่นไร เราพร้อมจะรับ กลายมาเป็น เรารับไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือ เรายอมรับไม่ได้ ในวันนั้นอาจจะพออนุโลมได้ว่าเป็นการพลั้งเผลอในคำพูดด้วยอารมณ์ที่กำลังว้าวุ่นใจและสับสนกับเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นก็เป็นได้
4 มิถุนายน 2550 นายจาตุรนต์ ฉายแสง ให้สัมภาษณ์ความตอนหนึ่งว่า:
การใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเรียกหาประชาธิปไตย ย่อมเป็นเรื่องที่ นอกจากผมไม่สามารถที่จะไปห้าม ในใจก็ยังต้องให้การสนับสนุนด้วย เพียงแต่กลุ่มไทยรักไทยจะทำอะไรก็จะคิดถึงว่า อะไรที่จะเป็นประโยชน์และเหมาะสมกับแต่ละขั้นละตอน อะไรที่จะเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองมากที่สุด
และอยากให้ตั้งคำถามแบบนี้ไปถาม พล.อ.สนธิ ว่าถ้าท่านเป็นแม่ทัพ แล้วกองทัพของท่านถูกยุบ เพราะมีสัสดีไปทำผิด และคำสรุปว่าสัสดีสนิทกับรองแม่ทัพ แล้วรองแม่ทัพก็สนิทกับแม่ทัพ เลยยุบกองทัพของท่านไป แล้วให้ท่านเปลี่ยนเครื่องแบบ นอกจากไม่ให้แต่งตัวเป็นพลเอกแล้ว ยังให้กลายเป็นพลเรือนไปเลย ท่านจะรู้สึกอย่างไร
แม้ว่าในความเป็นจริงคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญจะยังมีข้อถกเถียงทางวิชาการที่น่าสนใจ แต่เมื่อเสียงข้างมากของตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยออกมาแล้วก็ควรที่จะต้องยอมรับและเคารพต่อคำวินิจฉัยในท้ายที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สัมภาษณ์ของรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทยเอาไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะยอมรับ จะไม่ประท้วง และ จะไม่สร้างความเดือดร้อน ในคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญควบคู่กับการแสดงความตระหนักในเรื่อง ความเดือดร้อน หลังจากที่มีกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก่อนหน้านี้ ทำให้การพูดและการแสดงออกในทางตรงกันข้ามกับสิ่งที่เคยพูดนั้นควรจะต้องมีความระมัดระวังมากกว่าเป็นหลายเท่าทวีคูณ
ตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมาจากตัวแทนศาลปกครองและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาที่คัดเลือกคนที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิ โดยปราศจากการเมืองและการทหารที่แทรกแซง อีกทั้งยังไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทางการเมืองในคำวินิจฉัยกับผลการตัดสินอีกด้วย ซึ่งแตกต่างจากศาลรัฐธรรมนูญที่เคยอ้างกันว่าอยู่ในคณะอำนาจที่เป็นประชาธิปไตยในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้ว กลับถูกข้อครหาในเชิงการมีผลประโยชน์ทับซ้อน ถูกอำนาจทางการเมืองแทรกแซงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญจนทำให้การตรวจสอบพิกลพิการและเกิดวิกฤตการณ์ในบ้านเมืองในท้ายที่สุด
อย่างน้อยที่มาของตุลาการรัฐธรรมนูญชุดนี้ไม่ใช่หรอกหรือที่ทำให้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ไม่ได้ปฏิเสธความเที่ยงธรรมในตัวบุคคลของตุลาการรัฐธรรมนูญเอาไว้ล่วงหน้า และยังยอมเอ่ยปากให้สัมภาษณ์ติดต่อกันมาเป็นเวลานานหลายวันว่าพร้อมจะยอมรับในคำตัดสินไม่ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาเช่นไร
การจะไปเปรียบเทียบการกระทำความผิดของสัสดีกับกองทัพนั้นไม่น่าจะถูกต้อง เพราะเมื่อความผิดตามคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคไทยรักไทยระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นความผิดที่ร้ายแรง เป็นปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยและเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ถือว่าเป็นระดับของความผิดที่มีความรุนแรงที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ตามคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว การจัดจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งมิได้จัดโดยคนที่เป็นแค่ระดับสัสดี แต่เป็นระดับแกนนำคนสำคัญของพรรคที่กุมบังเหียนและมีอำนาจในการตัดสินใจในการเลือกตั้ง
จริงอยู่! แม้จะเชื่อได้ว่านายจาตุรนต์ ฉายแสง และกรรมการบริหารพรรค ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำการจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง...
แต่ขอตั้งคำถามหาจิตสำนึกและสามัญสำนึกที่แท้จริงของคนในพรรคไทยรักไทยว่า จะไม่รู้จริงๆ หรอกหรือว่าการที่มีพรรคการเมืองที่มีชื่อไม่คุ้นหู ไม่เป็นที่นิยมของประชาชน และไม่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว กลับมาลงสมัครรับเลือกตั้งแข่งกับพรรคไทยรักไทยกันอย่างเอิกเกริกกระจายไปตามจุดต่างๆ ทั่วประเทศ โดยผู้สมัครที่ทำตัวเหมือนคู่แข่งพรรคไทยรักไทยเหล่านั้น ไม่ได้ออกตระเวนหาเสียงเพื่อหวังชัยชนะใดๆ มันเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่?
ไม่ต้องตอบผ่านสาธารณะก็ได้ เอาแค่ถามและตอบตัวเองในใจว่า ในฐานะที่เป็นวิญญูชนจบการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี จะไม่รู้เชียวหรือว่านี่คือการจัดตั้งพรรคไทยรักไทยเพื่อหวังเข้าสู่อำนาจรัฐเท่านั้น
เมื่อตอบได้แล้วก็ควรจะตอบคำถามต่อไปว่าการที่จะตอบแบบไม่รับผิดชอบต่อไปว่า มันเป็นเรื่องการกระทำของคนบางคน โดยที่กรรมการบริหารพรรคไม่ได้รู้เรื่องนั้น มันเป็นความจริงหรือไม่?
ส.ส. ในเขตต่างๆ ทั่วประเทศ และกรรมการบริหารพรรคไม่รู้จริงๆ เลยหรือ? หรือว่าแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น?
3 เมษายน 2549 หลังการเลือกตั้งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยผ่านไป 1 วัน นายวีระ มุสิกพงศ์ คณะกรรมการดูแลพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้ พรรคไทยรักไทย กล่าวถึงผลเลือกตั้งภาคใต้ความตอนหนึ่งว่า:
พวกผมชินกับการแพ้ในพื้นที่ภาคใต้มานาน ทั้งนี้หวังอย่างเดียวคือเลือกตั้งซ่อม เพราะจะเป็นหนทางเดียวที่จะให้ชนะได้ ดังนั้นระหว่างนี้พรรคจะประกาศเชิญชวนหาพรรคการเมืองอื่นมาลงแข่งขัน แม้จะดูไม่ชอบธรรมนัก แต่เราก็ถือว่าชนะเหมือนกัน
นี่คือการแถลงข่าวที่รู้อยู่แก่ใจว่า ไม่ชอบธรรมนัก ออกไปในที่สาธารณะ โดยที่กรรมการบริหารพรรคและผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยรักไทยย่อมรู้อยู่แก่ใจว่ามีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นในการเลือกตั้ง
มีกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย 111 คนไหนบ้างหรือไม่ ได้แสดงปกป้องสถาบันพรรคการเมืองของตัวเองและประชาชน 19 ล้านเสียงที่เลือกพรรคไทยรักไทยโดยการส่งเสียงคัดค้านการกระทำลักษณะเช่นนี้บ้าง?
ถ้ายังไม่มีความกล้าหาญแสดงความสำนึกรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น แม้แต่นิดเดียว แล้วจะไปหวังให้ประชาชนมาเห็นใจ หรือจะให้มานิรโทษกรรมได้อย่างไร?
ด้วยความปรารถนาดี....ถ้าจะยังมาฝืนกระแสปลุกระดม บิดเบือน ตระบัดสัตย์กันต่อไปอีก ระวังกระแสความนิยมจะแย่ลงไปยิ่งกว่านี้!!!
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9500000065542 และอยากให้ตั้งคำถามแบบนี้ไปถาม พล.อ.สนธิ ว่าถ้าท่านเป็นแม่ทัพ แล้วกองทัพของท่านถูกยุบ เพราะมีสัสดีไปทำผิด และคำสรุปว่าสัสดีสนิทกับรองแม่ทัพ แล้วรองแม่ทัพก็สนิทกับแม่ทัพ เลยยุบกองทัพของท่านไป แล้วให้ท่านเปลี่ยนเครื่องแบบ นอกจากไม่ให้แต่งตัวเป็นพลเอกแล้ว ยังให้กลายเป็นพลเรือนไปเลย ท่านจะรู้สึกอย่างไรโอกาสรอดอาจจะมี ถ้าไม่เปรียบพล.อ.ธรรมรักษ์ พงษ์ศักดิ์ และแกนนำอื่น ๆ เป็น "สัสดี" ....
เปรียบเทียบเป็น "เด็กส่งโอเลี้ยง" ดีกว่า................ฮ่า ฮ่า ฮ่า ฮ่า