สุดทน ยักษ์ซีพี ฮุบตลาดหมู นัดม็อบหน้าสวนลุมฯ จี้หยุดฆ่ารายย่อย โดย ผู้จัดการออนไลน์ 7 พฤษภาคม 2550 15:14 น.
นายสมคิด เรืองวิไลทรัพย์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย แถลงข่าวการเตรียมการชุมนุม ที่สำนักงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เมื่อ 6 พ.ค.ที่ผ่านมา
ผู้เลี้ยงสุกรอิสระ สุดทน ซีพี ขยายธุรกิจเลี้ยงหมูจนครองตลาดมหาศาลกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ทั้งเลี้ยงเอง และส่งเสริมเกษตรกรในเครือข่ายเลี้ยง คิดเป็นหมูขุนกว่า 3 ล้านตัว จนล้นตลาด ผู้เลี้ยงอิสระขาดทุนย่อยยับต่อเนื่อง 6 เดือน รอวันตายลูกเดียว นัดรวมพลหน้าสวนลุมฯ 8 โมงเช้าพรุ่งนี้ ก่อนเคลื่อนขบวนพบผู้บริหารยักษ์การเกษตร เรียกร้องหยุดขยาย-ลดการเลี้ยง ระบุ โครงการช่วยเหลือของรัฐไม่ทันเกมเอกชน ล้มเหลวไม่เป็นท่า นายสมคิด เรืองวิไลทรัพย์ ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ในรายการ สภาท่าพระอาทิตย์ ออกอากาศทาง เอเอสทีวี เมื่อเช้าวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ถึงการนัดชุมนุมเพื่อประท้วงเครือซีพีในวันที่ 8 ก.พ.ว่า เนื่องจากสถานการณ์ของผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยในขณะนี้อยู่ในขั้นย่ำแย่หนัก เพราะราคาหมูเป็นตกต่ำ ทำให้ประสบปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องมาแล้ว 6 เดือน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่สาเหตุใหญ่จริงๆ เป็นเพราะการขยายการเลี้ยงสุกรของบริษัทยักษ์ใหญ่ คือ เครือซีพี ซึ่งมีทั้งฟาร์มของบริษัทเลี้ยงเอง และฟาร์มเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การส่งเสริมของเครือซีพี
นายสมคิด กล่าวต่อว่า การขยายการเลี้ยงสุกรของบริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว ทำให้หมูขุนล้นตลาด ก่อให้เกิดปัญหาราคาตกต่ำ ทำให้ผู้เลี้ยงเกษตรกรรายย่อยขาดทุน เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงสุกรจะตกประมาณ 42 บาทต่อหมูเป็น 1 กิโลกรัม แต่ปัจจุบันขายได้เพียง 36-37 บาทต่อกิโลกรัม แม้ว่าจะกระเตื้องขึ้นจากกิโลกรัมละ 28 บาท ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่ขาดทุน และเป็นการขาดทุนต่อเนื่องมา 6 เดือนแล้ว ซึ่งเมื่อคิดโดยเฉลี่ยจะขาดทุนประมาณ 1,000 บาทต่อหมูขุน 1 ตัว ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงสุกร กล่าวอีกว่า นอกจากปริมาณสุกรจะล้นตลาดแล้ว ราคาวัตถุดิบในการเลี้ยงก็สูงขึ้น โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 5 บาทกว่า เป็น 8 บาทกว่า ในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นช่วงที่บริษัทยักษ์ใหญ่ไล่ซื้อเก็บเข้าไซโลอาหารสัตว์ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ส่วนราคามันสำปะหลังเส้นเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 2-3 บาท ขึ้นมาเป็น 4-5 บาท เนื่องจากมีการนำมันสำปะหลังส่วนหนึ่งไปผลิตเอทานอล
นายสมคิด กล่าวถึงปริมาณสุกรที่บริษัทยักษ์ใหญ่และเกษตรกรในเครือข่ายเป็นผู้เลี้ยง ว่า จากการวิเคราะห์พบว่า มีประมาณร้อยละ 35 ของปริมาณสุกรเลี้ยงทั้งประเทศ โดยคำนวณจากแม่พันธุ์สุกรทั้งประเทศที่มีอยู่ 9 แสนตัวนั้น เป็นของบริษัทยักษ์ใหญ่เลี้ยงเองประมาณ 1 แสนตัว และเป็นของเกษตรกรภายใต้การส่งเสริมของบริษัทยักษ์ใหญ่อีก 2 แสนตัว
เกษตรกรที่เลี้ยงภายใต้การส่งเสริมของเขานั้น ผมอยากจะใช้คำว่า ทาส เพราะว่าถ้าเป็นลูกจ้าง ก็จะได้รับเงินเดือนและไม่ต้องลงทุนเอง แต่นี่เกษตรกรต้องมีทุนของตัวเองเพียงพอ แล้วเขาก็จะทำโปรเจกต์กู้เงินให้ในชื่อของเกษตรกร เมื่อได้เงินมา เอามาสร้างโรงเรือน บริษัทยักษ์ใหญ่ก็ขายอุปกรณ์ให้ แล้วขายพันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ยา อาหารเสริม วัคซีน ยาฆ่าเชื้อให้ แบบครบวงจรทั้งหมด โดยไร้คู่แข่ง เวลาขายลูกหมู ขายได้ตัวหนึ่งเขาก็หักค่าหัวคิวอีก 40 บาท ไม่ต้องรับความเสี่ยงอะไรเลย มีแต่ได้กับได้นายสมคิดกล่าว และว่า เมื่อมีการเลี้ยงจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เลี้ยงหมูอิสระก็อยู่ไม่ได้ เพราะจำนวนหมูล้นตลาด
นายสมคิด กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่มีต่อซีพี ว่า ต้องให้หยุดการขยายการเลี้ยงทั้งโดยบริษัทเองและเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การส่งเสริม และนอกจากหยุดขยายแล้วยังต้องลดปริมาณการเลี้ยงที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย เนื่องจากซีพียังครองสัดส่วนการเลี้ยงมหาศาล หากคิดเฉลี่ยแม่พันธุ์สุกร 1 ตัว ให้ลูกหมู 10 ตัว ก็เท่ากับว่าขณะนี้เครือซีพีและเกษตรกรในเครือข่ายมีหมูขุนรวมกันประมาณ 3 ล้านตัว ซึ่งถือว่ายังล้นตลาดอยู่
นายสมคิด กล่าวว่า การชุมนุมประท้วงในวันพรุ่งนี้จะรวมตัวกันในเวลาประมาณ 08.00-09.00 น.ที่สวนลุมพินี ด้านอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 หลังจากนั้น จะเคลื่อนขบวนไปยังตึกซีพี เพื่อเจรจากับผู้บริหารบริษัทด้วย ซึ่งไม่ว่าทางซีพีจะรับฟังหรือไม่ ก็จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีนี้ และที่ผ่านมา ก็ได้มีการประชุมหาทางออกกันในกลุ่มผู้เลี้ยงอิสระทั่วประเทศแล้ว ซึ่งหลายฝ่ายได้เสนอว่าควรใช้วิธีนี้ เนื่องจากว่าที่ผ่านมา รัฐบาลได้ใช้หลายวิธีในการแก้ไขปัญหา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการทำหมูหัน การกำจัดหมูแลกเกิดคอกละ 1-2 ตัว หรือการลดแม่พันธุ์ ก็มีแต่เกษตรกรอิสระที่ลด และถูกแทนที่ด้วยแม่พันธุ์ในบริษัทยักษ์ใหญ่และเกษตรกรในเครือ
นายสมคิด กล่าวอีกว่า การหวังให้รัฐบาลเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหานั้น คงจะยาก เพราะบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าใจดีว่ารัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา ไม่เข้าใจเรื่องการเลี้ยงปศุสัตว์ชนิดนี้ดีพอ หรือเข้าใจก็น้อย การแก้ไขปัญหาจึงไม่ตรงจุดเสียที แม้ว่าจะมีคณะกรรมการที่เรียกว่า Pig Board (คณะกรรมการพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์) ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนหลายๆ ฝ่าย แต่ก็มีปัญหาเรื่องสัดส่วนของตัวแทนจากเกษตรกร ซึ่งเดิมนั้นจะให้มีกรรมการใน Pig Board 28 คน และเกษตรกรเสนอตัวแทนเข้าไป 12 คน แต่ไปๆ มาๆ เหลือกรรมการแค่ 12 คน มีตัวแทนเกษตรกรเพียง 2 คน คือ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งประเทศ กับประธานชุมนุมสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกร เท่านั้น ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ก็มีคนเข้าไปในฐานะตัวแทนภาคเอกชนเช่นกัน
ถ้าเป็นอย่างนี้ อนาคตเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอิสระตายแน่นอน ที่เราเรียกร้อง ก็แค่อยากจะให้รายเล็กรายย่อยสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงหมูได้อย่างยั่งยืนชั่วลูกชั่วหลาน ไม่ใช่รอเป็นลูกจ้าง หรือเป็นทาสเขาไปตลอด นายสมคิด กล่าว
ส่วนราคาเนื้อหมูตามแผงที่ไม่ได้ลดลงไปตามราคาหมูเป็นนั้น นายสมคิด กล่าวว่า ต้องไปถามนายศิริพล ยอดเมืองเจริญ (อธิบดีกรมการค้าภายใน) แต่ผู้เลี้ยงแทบจะสิ้นเนื้อประดาตัวแล้ว หมูหันที่นครปฐมที่เห็นตัวละ 250 บาทนั้น คือ เลือดเนื้อและน้ำตาของผู้เลี้ยงสุกรอิสระ
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9500000052072 ในสมัยรัฐบาลเก่า ลูกหลานเจ้าสัวฯ
จะมีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงพาณิชย์ตลอด
ไม่สนใจกระทรวงอื่น ๆ เว้นแต่ถูกผลักใสไปกระทรวงอื่น ๆ........