ชี้ พ.ร.บ.อัปยศ"นครสุวรรณภูมิ"เมืองขึ้นทักษิณโดย ผู้จัดการรายวัน
19 กรกฎาคม 2549 22:03 น.
ผู้จัดการรายวัน - เครือข่ายจุฬาฯ ระบุร่างพ.ร.บ.เขตปกครองพิเศษ มหานครสุวรรณภูมิ เอื้อประโยชน์ทักษิณ-นักการเมือง จงใจยกเว้นมาตรา 73 เปิดทางโกยผลประโยชน์นาน 8 ปี โดยไม่เปิดช่องให้หน่วยงานกลางเข้าไปตรวจสอบ ทั้งอนุมัติโครงการ คุมนโยบาย ก่อนทิ้งปัญหาผูกพันระยะยาว ชี้อยู่นอกเหนือจากกฎหมายการปกครองส่วนท้องถิ่นที่โดยยกเว้นหมวด 9 ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ด้านต่อตระกูล ยมนาค ยันเป็นกฎหมายเถื่อนที่ออกโดยคนบางกลุ่มไม่ใช้ความต้องการของประชาชน ให้อำนาจนายกล้นฟ้า ยกเลิก-อนุมัติได้ทุกอย่างกระทั่งผังเมือง
วานนี้ (19 ก.ค.) เครือข่ายจุฬาฯเชิดชูธรรม นำประชาธิปไตย ร่วมกับสถาบันสหสวรรษ จัดการเสวนาภาคประชาชนหัวข้อเรื่อง เปิดโปงขุมทรัพย์...มหานครสุวรรณภูมิ โดยมีนายสัก กอแสงเรือง รักษาการ สมาชิกวุฒิสภากรงเทพมหานคร นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตกรรมการสภาสถาบันเศรษฐกิจและสังคมฯ และนางนวพร เรืองสกุล นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ และนักเขียน เป็นวิทยากรบรรยายพิเศษ โดยมีนายวุฒพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการสถาบันสหสวรรษ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายสัก กอแสงเรือง กล่าวว่า การออกพระราชบัญญัติเขตปกครองพิเศษ ซึ่งขณะนี้เป็นร่างกฎหมายเขตปกครองพิเศษมหานครสุวรรณถูมิ นั้นมีข้อสังเกตหลายอย่างที่เป็นการเอื้อประโยชน์ และให้อำนาจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี แบบเบ็ดเสร็จในการบริหาร ซึ่งเมื่อพิจารณาแล้วอำนาจที่ให้ดังกล่าวมีครอบคลุมและมากกว่า อำนาจที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีการคัดค้านไม่ให้มีการประกาศใช้ถึง 2 เท่าตัว
ในระยะแรกของการบริหารงานมหานครสุวรรณภูมินั้น มีการกำหนดให้ใช้กฎหมายในพระราชบัญญัติเขตปกครองพิเศษ ในมาตรา77-101 เท่านั้น โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายในมาตรา 1- 73 ออกไป ซึ่งจะทำให้ในระยะเริ่มต้นนั้น การบริหารงานนครสุวรรณภูมิ มีรูปแบบการบริหารงานแบบจังหวัดโดยมีผู้ว่าการสุวรรณภูมิ เป็นผู้คุมอำนาจในการบริหาร และมีนายยกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการบริหาร ซึ่งเป็นตัวแทนจากองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) และผู้แทนจากองค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไม่เกิน 5 คน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร มีอำนาจในการลงมติอนุมัติงานบริหารทุกเรื่อง
**ออกกฎเอื้อทักษิณใหญ่คับฟ้า** อำนาจในการคัดเลือกผู้ว่าการมหานครสุวรรณภูมิ คณะรัฐมนตรีมีอำนาจในการแต่งตั้ง โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในการคัดเลือก นอกจากนี้ในมาตรา 67 ยังกำหนดให้การบริหารงานนครสุวรรณภูมิ 4 ปีแรก และสามารถต่ออายุได้อีก 4 ปี ไม่ต้องบังคับใช้ มาตรา 1-73 ซึ่งเท่ากับว่าเปิดโอกาศให้มีการหาผลประโยชน์จากการบริหารงานได้โดยไม่มีการตรวจสอบจากหน่วยงานกลางหรือหน่วยงานอิสระในระยะ 8 ปีหลังจากที่มีการประกาศให้เป็นนครสุวรรณภูมิ และนอกจากนี้หลังจากพ้นระยะ 8 ปีที่มีการยกเว้นการบังคับใช้มาตรา 1-73 แล้วมาตรา 62. ยังกำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการเพิกถอนมติของของสภาสุวรรณภูมิได้ด้วย นายสัก กล่าว
นายสักกล่าวว่า การกำหนดให้มีนายกรัฐตรี เป็นประธานในการบริหารงาน เช่นเดี่ยวกับพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ นั้นเท่ากับว่าให้อำนาจในทุกเรื่องในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิก หรืออนุมัติโครงการใดๆ ก็ตาม ซึ่งตามมาตรา 70 ที่กำหนดในพรบ.เขตปกครองพิเศษ กำหนดให้รัฐบาลมีอำนาจในการเข้ามาตั้งกรรมการบริหาร และผู้ว่าการได้ เท่ากับว่าเป็นการเปิดช่องให้รัฐบาลแฝงตัวเข้ามาบริหารงานในนครสุวรรณภูมิได้ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรกับการที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ใต้การสั่งการและปกครองของผู้นำรัฐบาล
นอกจากรัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการบริหารประเทศแล้ว ยังมีอำนาจในการกำหนดนโยบายในมหานครสุวรรณภูมิด้วย ซึ่งในความเป็นจริงการกำหนดนโยบายบริหารนครสุวรรณภูมิต้องมากจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะในมาตรา 70 (1) กำหนดว่าให้คณะกรรมการมีอำนาจในการเห็นชอบในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสามารถยกเลิกเขตพื้นที่ที่เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้
**เปิดทางนักการเมืองงาบโดยไม่มีการตรวจสอบ** ส่วนในเรื่องของรายได้ที่เกิดจากการบริหารมหานครสุวรรณภูมิ นับว่ามีการกำหนดไว้กว้างมาก โดยในมาตรา 92 ได้ให้อำนาจว่าไม่ต้องมีการส่งรายได้ต่อกระทรวงการคลัง ไม่ต้องมีการทำงบประมาณเบิกจ่าย ไม่มีบทบัญญัติว่าด้วยการจัดการงบประมาณรายจ่าย หรือการตรวจสอบงบการเบิกจ่าย ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการหาผลประโยชน์ ได้โดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งทำให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบการทุจริตได้ เพราะไม่มีการทำงบเบิกจ่าย
ดังนั้น ร่างกฎหมายเขตการปกครองพิเศษดังกล่าว จึงบ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่าการมีนายกเป็นประธานเท่ากับเป็นการเปิดโอกาส ให้คุมนโยบายการบริหารงานและการอนุมัติโครงการได้โดยไม่มีการตรวจสอบ หรือกล่าวได้ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นการสร้างกฎหมายใหม่ ที่นอกเหนือไปจากกฎหมายการปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ มหานครสุวรรณภูมิจะมีรูปแบบการปกครองที่ไม่อยู่ภายใต้การ บริหารงานแบบการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นการยกเว้นหมวด 9 ของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งยกเว้นในเรื่อง การบริการงานโดยท้องถิ่น การเงิน งบประมาณ การร่วมทุน โครงการโครงสร้างสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ที่ปราศจากการตรวจสอบ
นายสักกล่าวต่อว่า สิ่งที่ตามมาหลังจาก 8 ปีที่มีการบริหารงานโดยมีนายกเป็นผู้กุมอำนาจในการตัดสินใจการบริหารงาน คือสัญญาผูกพัน จากการให้สัมปทาน และอีกมากมาย ซึ่งในที่สุดสิ่งตามมาก็คือ ต้องนำเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศเข้ามาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้หากมีการประกาศใช้ ร่าง พรบ.เขตการปกครองพิเศษ เมื่อพิจารณาแล้ว พบว่าจริงๆ ขุมทรัพย์เป็นของใคร ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นของเครือข่ายนักการเมือง ซึ่งในขณะนี้ต้องถามว่า ใครบ้างที่ถือครองที่ดิน อยู่จำนวนมาก ซึ่งบางแปลงมีมูลค่าถึง 6-7 พันล้านบาท และหากมีการประกาศใช้ร่างพรบ.ฉบับนี้ มูลค่าที่จะตามมาจาก 6-7 พันล้านก็จะกลายเป็น 6-7 หมืนล้านบาท
นอกจากนี้ สิ่งที่จะตามมาก็คือประชาชนในพื้นที่จะถูกเบียดบังจากอำนาจเบ็ดเสร็จ เพื่อนำมาสร้างเป็นเมือง ผลประโยชน์ต่างๆ จากการก่อสร้างจากการอนุมัติโครงการก่อสร้าง ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รถไฟฟ้า โรงพยาบาล ทั้งของรัฐบาลและเอกชน บริการสถานบันเทิง สัมปทานต่างๆ ที่จะถูกแปรรูปเป็นทรัพย์ เป็นทุน ในรูปแบบต่างๆ การให้สิทธิ์ผูกขาดต่างๆ ที่เขากอบโกยไป เชื่อว่ามากกว่า การขายหุ้น 7.3 หมืนล้านแน่นอน
ร่างกฎหมายดังกล่าว ที่ออกมาอยากจะบอกว่าเป็นกฎหมายเถื่อน ที่ร่างและออกมาโดยคนบางกลุ่ม ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายที่จะมีการประกาศใช้นั้น ต้องมาจากความต้องการของประชาชน และนำผ่านขั้นตอนต่างๆ จนเกิดเป็นกฎหมาย แต่ที่เกิดอยู่ในขณะนี้ เป็นการร่างตามความต้องการของคนบางกลุ่มเท่านั้น นายสักกล่าว
**คลอดกฎผังเมืองเอื้อนายทุน** ด้านนายต่อตระกูลกล่าวว่า เดิมที่พื้นที่หนองงูเห่าก่อนที่จะมีการนำมาสร้างเป็นสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นพื้นที่รับน้ำ(แก้มลิง)ตามโครงการพระราชดำริของในหลวง ซึ่งไม่เหมาะกับการนำมาก่อสร้างตึกอาคารสูงบ้านที่อยู่อาศัย แต่นักวิชาการเสนอแนะให้เป็นเมืองน้ำ ซึ่งในการประกาศให้เป็นมหานครสุวรรณภูมินี้ เป็นเรื่องที่ขัดจากลักษณะของพื้นที่ ทำให้ในการกำหนดผังเมืองหรือออกประกาศ มีการกำหนดให้ในพื้นที่ 500 ตารางกิโลเมตรที่จะตั้งมหานครสุวรรณภูมินี้ สามารถใช้งานก่อสร้างได้เพียง 30% ของพื้นที่เท่านั้น
ทั้งนี้ ในพรบ. เขตปกครองพิเศษ ที่จะประกาศใช้นี้กลับ มีการเอื้อประโยชน์ โดยการให้สามารถมีการยกเลิกข้อกำหนดข้อบังคับได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกผังเมือง และสิ่งจำเป็นต่างๆได้ทุกอย่าง ซึ่งไม่ได้ตรงกับความต้องการของประชาชน
นอกจากนี้ การออกผังเมืองของมหานครสุวรรณภูมิ ยังเป็นการออกผังเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้นักเก็งกำไรที่ดิน เนื่องจากมีการกันพื้นที่ 20,000 ไร่ไว้เป็นพื้นที่ รับน้ำแล้ว รัฐบาลยังมีแผนจะขุดแม่น้ำเจ้าพระยา 2 เพื่อเป็นทางระบายน้ำ โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานไปศึกษาและมีกระทรวงเกษตรเป็นผู้กำกับดูแล คาดว่าจะใช้งบประมาณ 8,400ล้านบาท ระยะความยาว 15 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อคำนวณแบ่งแปลงที่ดินริมฝั่งน้ำทั้ง 2 ด้านแล้ว จะขายได้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องใช้งบประมาณ จากเงินภาษีของประชาชนไปใช้ในการขุดแต่เพิ่มมูลค่าให้ที่ดินของนายทุน และกลุ่มคนบางกลุ่ม
ในขณะที่นางนวพร เรืองสกุล กล่าวเห็นด้วยว่า
มหานครสุวรรณภูมิ เป็นการนำเงินประชาชนมาพัฒนาให้คนบางกลุ่มและในที่สุดก็ถูกขโมยและหาประโยชน์จากคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น.....ผู้จัดการ
http://www.parliament.go.th/news/news_detail.php?prid=19651ขอนำมาโพสต์ซ้ำอีกครั้งค่ะ ขอบคุณรัฐบาลนี้ที่ยกเลิก พรบ. อัปยศนี้ไปแล้ว