ต่อท่อโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ณ บัดนี้ เห็นได้ค่อนข้างชัดเสียแล้วว่า ไม่มีบุคคลใดที่มีอำนาจทางการเมืองในเวลา
นี้ จะสามารถ "ต่อท่อ" อำนาจของตนให้ยั่งยืนสืบไปได้ อย่างน้อยก็ด้วยวิถีทางของ
กฎหมาย
อย่าคิดถึงหลังเลือกตั้งเลย แม้แต่จะให้ท่อยาวไปถึงวันเลือกตั้งตามความตั้งใจเดิม
ก็ยังน่าสงสัยว่าจะทำได้หรือไม่
หากอยาก "ต่อท่อ" หรือจำเป็นที่จะต้อง "ต่อท่อ" เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ก็
เหลืออยู่วิถีทางเดียวคือวิถีทางนอก "กฎหมาย" และหากผู้มีอำนาจกลุ่มใดเลือกใช้
วิธีนี้ เช่น ชิงยึดอำนาจด้วยกำลังทหารเสียก่อน ท่อก็จะแตกเป็นเสี่ยงๆ แถมแผ่นดิน
ก็จะพังพินาศเป็นจุณไปด้วย
ฉะนั้น หากสำนวน "ต่อท่อ" หมายถึงการต่ออำนาจของบุคคล ผมคิดว่าความเป็นไปได้
ในแง่นี้ได้หมดไปแล้ว
แต่ "ต่อท่อ" ในความหมายถึงการทำให้ระบบการเมืองที่กองทัพเป็นปัจจัยตัดสินทาง
การเมืองที่สำคัญสุด ได้ดำรงอยู่สืบไปในการเมืองไทย นี่ต่างหาก ที่มีความพยายาม
กระทำกันอยู่ อีกทั้งมีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายได้รับความปลอดภัย
หลังเลือกตั้ง
วีรบุรุษไม่ต้องกลายเป็นโมฆบุรุษในฉับพลัน
แต่ทางลงที่ดีที่สุดแก่ฝ่ายอำนาจเช่นนี้ อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ทุกคนเลือกเหมือนกัน
อคติทั้งสี่ เพราะรัก เพราะชัง เพราะโลภ เพราะหลง อาจบดบังปัญญา จนบางคน
บุ่มบ่ามและทุกอย่างพังลงได้ในพริบตา
ระบบการเมืองที่กองทัพเป็นผู้ชี้ขาดทางการเมือง แม้มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมือง
คือ ระบบการเมืองที่ครอบงำสังคมไทยระหว่าง พ.ศ.2521-2531 โดยมีนายกรัฐมนตรี
ซึ่งกองทัพเลือกหนุนหลังสองคน คือพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ และพลเอกเปรม
ติณสูลานนท์
ในระหว่างนั้น แม้มีการเลือกตั้งและมีพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นปกติ
แต่เงื่อนไขสำคัญที่พรรคการเมืองจะสามารถตั้งรัฐบาลผสมได้ ก็คือต้องยอมรับเอา
บุคคลที่กองทัพหนุนหลังเป็นนายกรัฐมนตรี อำนาจต่อรองของบุคคลที่เป็นนายกฯ สูง
มาก แม้ไม่มีพรรคการเมืองของตนเอง เขาคือคนที่ตัดสินใจเลือกบุคคลที่เขาไว้วางใจ
ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญๆ ของรัฐบาล เช่น รัฐมนตรีคลัง, ต่างประเทศ, และ
มหาดไทย เป็นต้น
ตำแหน่งที่เหลือ นักการเมืองที่รวมตัวกันสนับสนุนแบ่งสรรโควต้ากัน จะโกงกินกัน
อย่างไรก็ตามสะดวก แต่อย่าให้จับได้คาหนังคาเขาเกินไป เพราะเปิดช่องให้ฝ่ายค้าน
และสื่อโจมตีรัฐบาลซึ่งเป็นการบั่นรอนเสถียรภาพของรัฐบาล ฝ่ายค้านเองก็โจมตีนัก
การเมืองด้วยกันที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต ไม่ใช่ด้วยจุดมุ่งหมายที่จะล้มรัฐบาล ต้องการ
เพียงเปลี่ยน "หุ้นส่วน" ในรัฐบาลผสมเท่านั้น
โฟกัสของการเมืองที่แท้จริงเลื่อนมาอยู่ที่กองทัพและระบบราชการ การเมืองในสภา
เป็นแค่ปาหี่ต้มคนดู และเพราะเป็นแค่ปาหี่ จึงดูเหมือนเป็นการเมืองระบบ "เปิด" เช่น
มีการถ่ายทอดสดการอภิปรายในสภา และปล่อยให้นักแสดงปาหี่ดำเนินกิจกรรมทาง
การเมืองกันอย่างเต็มที่
ดูเผินๆ เหมือนเป็นระบบการเมืองที่ลงตัวดี เพราะทุกฝ่ายได้รับส่วนแบ่งของอำนาจ
ไปตามสัดส่วนความสำคัญของตัว ใครคุมกองทัพซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญทางการเมือง
ได้มาก ได้น้อย ก็มีสิทธิมีส่วนตัดสินทางการเมืองตามสัดส่วนแห่งอำนาจในการคุม
กองทัพของตัว ในขณะที่ผู้ดำรงตำแหน่งบังคับบัญชาในกองทัพ ก็จัดสรรแบ่งส่วน
ตำแหน่งให้พรรคพวกหรือคนที่เข้ามาขอพึ่งใบบุญ เสริมกำลังทางการเมืองให้แก่ตัว
หรือแก่เจ้าพระเดชนายพระคุณของตัว
ในขณะที่ภาคธุรกิจเข้าถึงทั้งนายกฯ และนักการเมือง ฉะนั้นจึงคุมนโยบายให้เอื้อต่อ
ผลประโยชน์ของตนได้อย่างสม่ำเสมอ
ประชาชนในชนบทได้รับการอุปถัมภ์จากนักการเมือง หรือเครือข่ายของนักการเมือง
ตอบแทนการที่พวกเขาไม่ได้เรียกร้องอะไรเชิงนโยบาย
กลุ่มคนที่ได้ส่วนแบ่งของอำนาจมาไม่สมกับความคาดหวังคือคนชั้นกลางที่มีการศึกษา
ซึ่งขยายตัวมาอย่างต่อเนื่อง เขาคือกลุ่มคนที่ต้องเสพย์สื่อซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของ
รัฐ หรือมิฉะนั้นก็ "แหย" เขาคือกลุ่มที่อยากได้ระบบการเมืองซึ่งเปิดพื้นที่ให้เขาเข้าไป
มีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ในทางตรงกันข้าม ผลประโยชน์ของพวกเขาผูกพันกับการจ้างงาน
ของภาคธุรกิจซึ่งแนบแน่นกับระบบการเมืองที่เป็นอยู่ ฉะนั้น แม้ว่าคนชั้นกลางเหล่านี้
ต้องการระบบการเมืองใหม่ที่เปิดกว้างขึ้น แต่ก็ยังต้องการทหารและระบบราชการไว้
ถ่วงดุลกลุ่มอื่นด้วย เพราะสังคมที่ "สงบเรียบร้อย" ประกันรายได้ของตนได้ดีกว่าความ
วุ่นวายทางการเมือง
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ
คนชั้นกลางไทยไม่ได้มีอุดมคติเป็นประชาธิปไตย เพียงแต่เห็น
ว่าประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพในการต่อรองเชิงอำนาจ
เท่านั้น
หากการเมืองในระบอบเลือกตั้งลิดรอนอำนาจของตนไป ก็อาจหันไปหา
เผด็จการทหารได้แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบการเมืองเช่นนี้มีความตึงเครียดภายในสูง การต่อสู้
ช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์เป็นไปอย่างเข้มข้น ทั้งด้วยเล่ห์กลทางการเมืองใน
สภาและการใช้กำลังทหาร รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพแต่อย่างใด สิ่งที่พอจะเรียกได้ว่า
เสถียรภาพคือ อำนาจนำของกองทัพในการเมืองเท่านั้น ดังนั้น นายกรัฐมนตรีอาจ
เป็นคนเดิม แต่รัฐบาลผสมต้องเปลี่ยนอยู่บ่อยครั้ง และสภาถูกยุบอยู่เป็นประจำ
ระบบการเมืองที่จะเกิดสภาพที่กองทัพกำกับการเมืองอยู่เบื้องหลังเช่นนี้ได้ มาจาก
ปัจจัยสำคัญสองสามอย่าง ประการแรกคือนายกฯ ไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง,
พรรคการเมืองต้องไม่ได้คะแนนเสียงเด็ดขาดจากการเลือกตั้ง และจะทำให้เป็นอย่าง
นั้นได้ ก็ต้องตัดหนทางที่พรรคการเมืองจะ "ระดม" กำลังทรัพย์, กำลังหัวคะแนน, และ
กำลัง "ประชานิยม" ฉะนั้นจึงไม่ควรมี ส.ส. ระบบบัญซีรายชื่อ ซึ่งเป็นช่องทางให้พรรค
การเมือง "ระดม" กำลังทรัพย์ได้ง่าย ต้องไม่มีการเลือกตั้งระบบเขตเดียวเบอร์เดียว ซึ่ง
ทำให้พรรคการเมืองกว้านหัวคะแนนได้สะดวก และต้องไม่ปล่อยให้เกิดสื่อเสรีขึ้นมากนัก
ไม่ว่าจะเป็นวิทยุชุมชน, ทีวีเสรี, หรือสื่ออินเตอร์เน็ตที่ไม่ถูกรัฐแทรกแซง ทั้งนี้ เพื่อจะ
สามารถคุมการเคลื่อนไหวของคนชั้นกลางได้สะดวก
ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเห็นได้ในความพยายาม "ต่อท่อ" ของกลุ่มอำนาจในขณะนี้ทั้งสิ้นแต่ไม่ใช่ "ต่อท่อ" ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เท่ากับ "ต่อท่อ" ให้แก่ระบบการเมือง
ของเมื่อสองทศวรรษที่แล้ว
ประหนึ่งว่าเวลาร่วมสองทศวรรษที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์
ที่ไม่มีเหตุการณ์ เป็นความว่างเปล่าของเวลาแต่สองทศวรรษที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ลบออกไปไม่ได้ เป็นเวลาที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์
ซึ่งถือได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนของสังคมไทย เช่น พฤษภามหาโหดในพ.ศ.2535 ทำให้คน
ชั้นกลางซึ่งแม้ไม่ได้ศรัทธาต่อประชาธิปไตยแน่นแฟ้นนัก แต่ก็ได้สำนึกในอำนาจของตน
เป็นครั้งแรก และอำนาจนั้นเป็นของประหลาด ใครได้ลิ้มรสของมันแล้ว ก็ไม่สามารถถอย
กลับไปจ๋องอย่างเก่าได้อีก
สองทศวรรษที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนระดับ
รากหญ้า ประสบความสำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง แต่ทุกความเคลื่อนไหวล้วนแผ่รสแห่ง
อำนาจไปถึงประชาชนผู้ไร้อำนาจกว้างขวางขึ้นเรื่อยๆ คนเหล่านี้ถอยกลับไปรับบริจาค
จากนักการเมืองแล้วจำนนอย่างราบคาบไม่ได้อีกแล้วเช่นกัน
เป็นความเพ้อฝันของกลุ่มอำนาจในปัจจุบัน (ซึ่งประกอบด้วยหลายฝ่าย) ที่ฝันว่าจะนำ
ประเทศไทยกลับไปสู่ระบบการเมืองของเมื่อ 20 ปีก่อนได้ และพยายาม "ต่อท่อ" ระบบ
การเมืองเช่นนั้นให้พลิกฟื้นคืนชีพในสังคมไทย
ผมเชื่อว่าจะล้มเหลวในที่สุด แม้สมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านการลงประชามติ และ
เกิดการเลือกตั้งขึ้น ระบบการเมืองที่ได้รับการ "ต่อท่อ" มานี้ก็จะไม่ทำงาน กองทัพ
ในปัจจุบันไม่มีตัวแทนของตัวเองที่จะส่งมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกแล้ว เพราะ
ไม่มีใครมีบารมีในกองทัพพอจะคุมความเคารพจากทุกฝ่ายในกองทัพได้อีกแล้ว หาก
เชิดนักการเมืองขึ้นเป็นนายกฯ ในกำกับของกองทัพ นักการเมืองก็จะหักหลังกองทัพ
ในเวลาไม่นาน ทั้งด้วยเหตุจำเป็นทางการเมืองที่จะต้องหักหลัง และเหตุของความ
ละโมบของตนเอง
ผมไม่ห่วงว่าระบบการเมืองที่ถูก "ต่อท่อ" มานี้จะล้มเหลว แต่
ผมห่วงว่าความล้มเหลว
ในครั้งนี้ อาจนำไปสู่การนองเลือดที่สูญเปล่า นั่นก็คือสูญเสียเลือดเนื้อกันไปโดยไม่มี
เป้าหมายว่า จะเดินต่อไปทางไหนมติชน วันที่ 09 เมษายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10621http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03090450&day=2007/04/09§ionid=0130เราต้องหาทางได้ในที่สุดค่ะเมื่อถึงเวลา
หวังว่าเมื่อถึงวันนั้น สังคมไทยจะได้เรียนรู้ว่า
รัฐประหารไม่ใช่ทางออก
แต่เป็นทางตัน ...
และจะได้ช่วยกันป้องกันมิให้เกิดขึ้นอีก
แต่ว่าอย่าต้องให้เกิดการนองเลือดอีกเลย
Thats too high a price to pay. 