จุดอ่อน "อัศวินม้าขาว" ม.67 กู้วิกฤตชาติผ่านความเห็นเบื้องต้นไปแล้ว
สำหรับข้อเสนอให้มีคณะบุคคลมาเป็นอัศวินม้าขาว แก้ปัญหาวิกฤตของประเทศชาติ
ผ่านในการประชุมเพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ของคณะกรรมาธิการ
(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม
ก่อนจะมีการพิจารณากันอีกครั้งระหว่างวันที่ 6-11 เมษายน ซึ่ง น.ต.ประสงค์กำหนด
ให้เริ่มมีการลงมติกันในวันที่ 10 เมษายน
ความเห็นที่ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบกันนั้น
เป็นการคงข้อความตามมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และมีการเพิ่มเติม
ข้อความในวรรคสอง
เบื้องต้นกำหนดไว้เป็นมาตรา 67 แห่งร่างรัฐธรรมนูญ ความว่า
"..บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ
ในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
นี้..
ในกรณีที่ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต ภาวะคับขันหรือเกิดสถานการณ์จำเป็นอย่างยิ่ง
ในทางการเมือง ให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร
ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาล
ฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด และประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณา
หาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาดังกล่าว"
แต่ กมธ. เองก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้เติมความเป็นวรรคสามว่า
"..มติของคณะบุคคลดังกล่าว ให้มีผลบังคับใช้ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย โดยคณะ
บุคคลดังกล่าวและผู้ปฏิบัติตามมติดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้"
ข้อเสนอนี้
"จรัญ ภักดีธนากุล" รองประธาน กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 ในฐานะ
ผู้เสนอ ชี้แจงว่า เป็นข้อเสนอจากคณะนักวิชาการ ที่ต้องการให้มีกลไกแก้ปัญหาเมื่อ
ประเทศตกอยู่ในภาวะวิกฤต
หลังการเสนอความเห็นนี้ออกมา ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
หลายฝ่ายมองว่า การให้คณะบุคคลที่มีลักษณะเป็นประมุขของแต่ละฝ่าย ไม่น่าจะใช้
แก้วิกฤตทางการเมือง หรือแก้วิกฤตของบ้านเมืองได้
ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นการแก้ปัญหาโดยตั้งโจทย์จากเหตุการณ์ความวุ่นวายในปี 2549
ที่มีทั้งการชุมนุมเรียกร้องให้ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นลาออก
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ไม่ลาออก แต่กลับประกาศยุบสภา
เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ ก็เกิดปัญหาอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้านบอยคอตการเลือกตั้งและเกิด
ปัญหาอันนำไปสู่การเพิกถอนการเลือกตั้งในครั้งนั้น
กอปรกับวุฒิสภาในขณะนั้นก็หมดวาระลง
มีการติติงและตั้งข้อสังเกตในหลายๆ จุด
จุดแรก มีการตั้งคำถามว่า เหตุการณ์แบบไหน หรือจะต้องถึงขั้นไหน จึงจะเรียกว่า
เกิดภาวะวิกฤตของประเทศ
จุดที่สอง หากกำหนดกันได้จริงว่า ตรงนี้หรือแบบนี้คือ วิกฤตของประเทศ แล้วใคร ?
จะเป็นผู้เรียกประชุม
อย่าลืมว่า ในช่วงปี 2549 ที่เรียกกันว่าวิกฤตของประเทศนั้น สองฝักสองฝ่ายทาง
การเมือง ต่างช่วงชิงจังหวะขอเป็นหัวขบวนในการเรียกประชุมเพื่อหาทางออก
ฝ่ายอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน ก็ทำหนังสือขอเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณมาร่วมประชุม
ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณก็ชิงจังหวะเรียกประชุมตัวแทนพรรคการเมือง
หากมีการกำหนดกันตามมาตรา 67 วรรคสองเช่นนี้
เป็นไปได้ว่า จะได้เห็นนายกรัฐมนตรีและผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ชิงกันเรียก
ประชุมองค์ประกอบที่เหลือขององค์คณะ
จะกลายเป็นว่าเร่งให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นหรือไม่
เพราะอาจจะมีการประชุมตามมาตรา 67 วรรคสองนี้กัน 2 คณะ !!
หรือหากประชุมกันได้โดยสะดวกเพียงคณะเดียว
หากตกลงกันไม่ได้จะดำเนินการอย่างไร
จุดที่สาม การระบุให้ที่คณะบุคคลตามวรรคสองมาประชุมกันเพื่อพิจารณาหาทาง
ป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยให้ตัดวรรคสาม ที่รองรับการออกมติไปนั้น
จะทำให้มติของคณะบุคคลดังกล่าวมีผลบังคับใช้หรือชอบในทางกฎหมายหรือไม่
จุดที่สี่ มีการเป็นห่วงถึงผลกระทบจากมติของคณะบุคคลที่จะเข้ามาแก้ไขวิกฤตของ
ประเทศนี้
สมมุติว่า ที่ประชุมของคณะบุคคลเหล่านี้มีมติให้นายกรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่ง
หากนายกรัฐมนตรียอมลาออกแต่โดยดีคงไม่มีปัญหาอะไร
แต่หากเทียบเคียงกับปัญหาในปี 2549 นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลาออก แล้วจะทำอย่างไร..?
กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไปเพิ่มเติมในมาตราที่เกี่ยวกับการพ้นตำแหน่งของ
นายกรัฐมนตรีด้วยหรือไม่ว่า เป็นไปตามมติของคณะบุคคลตามมาตรา 67 วรรคสอง
หากทำอย่างนั้น ก็ต้องเขียนกำหนดในทุกตำแหน่ง ที่อาจจะถูกสอยโดยมติของคณะ
บุคคลขจัดวิกฤตตามมาตรา 67 วรรคสอง
และหากมติของคณะบุคคลนี้ให้นายกรัฐมนตรี หรือผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ ออกจาก
ตำแหน่งได้จริง จะถือว่าเป็นการขัดต่อหลักการต่างๆ ที่เกี่ยวกับตำแหน่งเหล่านี้ใน
รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้หรือไม่
ข้อวิพากษ์วิจารณ์ ข้อติติง ข้อสังเกต และคำถามต่างๆ เหล่านี้ เป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่าง
รัฐธรรมนูญจะต้องนำไปประกอบการพิจารณาให้ดี
หากจะยังคงสาระสำคัญในลักษณะนี้ไว้เพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประเทศยามที่ไม่ทางออก
จริงๆ ก็ควรจะปิดช่องทางต่างๆ ที่จะทำให้เกิดปัญหาตามมามากกว่าเดิม
เพราะหากทำไม่ดี สุดท้ายแล้ว วิกฤตของประเทศไทยอาจจะต้องจบลงเหมือนเดิม
จบลงที่ภาพของทหารเอารถถังออกมาล้อมสถานที่สำคัญในกรุงเทพฯ
เหมือนอย่างที่เคยๆ เป็นมา..
มติชน วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10611http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pol06300350&day=2007/03/30§ionid=0133ขอแก้ มาตรา 67 ที่แหล่งที่มาพิมพ์ผิดเป็น 27