คนเราไม่มีใครเก่งไปทุกเรื่องหรอกครับ
เวลาป่วยจะจ่ายยาให้ตัวเองแทนหมอก็ใช่ที่
แต่ยังไงก็ต้องศึกษาไว้บ้าง
เผื่อเจอหมอเถื่อนจะได้รู้ตัวทัน
อ่านเรื่องเศรษฐศาสตร์จากวีแล้วเลยเอาเรื่องเศรษฐศาสตร์จากนักวิชาการมาฝากมั่ง
http://www.midnightuniv.org/midculture44/newpage12.html | เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เตือนแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
มหันตพลังทำลายชาติ วิจารณ์หนังสือ Globalization and its discontents โดย ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เขียนโดย ศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz เจ้าของรางวัลโนเบล ปี ค.ศ. 2001 เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 11 เมษายน 2547
ศาสตราจารย์ Joseph Stiglitz (โจเซฟ สติ๊กสิทซ์) เคยเป็นประธานที่ปรึกษาเศรษฐกิจของประธานาธิบดี บิล คลินตัน แห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นรองประธานอาวุโสของธนาคารโลก ศึกษาปัญหาการพัฒนาตามกระแสโลกาภิวัตน์ ในหมู่ประเทศยากจน กำลังพัฒนามาทั่วโลกอย่างยาวนาน ปัจจุบันสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อปี ค.ศ. 2001 เป็นผู้รอบรู้และประสบการณ์เรื่องผลกระทบของการพัฒนาที่ตามกระแสโลกาภิวัตน์ว่า ทำลายรากฐานเศรษฐกิจและสังคมของประเทศยากจนและกำลังพัฒนาเพียงไร โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ทำลายรากฐานการพัฒนาในหลายประเทศไปแล้ว อย่างที่จะให้อภัยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ ผู้บงการในฐานะนายทุนเงินกู้ ไม่ได้
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของไอเอ็มเอฟหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวในหลายประเทศ เพื่อทำตามสูตรคำแนะนำของ ไอเอ็มเอฟ โดยเร่งเร็ว ขาดความรอบคอบ ไม่คำนึงถึงหลักการสำคัญพื้นฐาน และผลสุดท้าย ก็ร่ำรวยกันเฉพาะคนกลุ่มน้อยคือนักลงทุนต่างชาติ กับนักการเมืองผู้กุมอำนาจสั่งการนโยบายแปรรูป
น่าเสียใจที่ ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก มองเรื่องแปรรูปโดยอุดมการณ์ที่คับแคบ โดยต้องแปรรูปรัฐวิสาหกิจให้ได้โดยเร็ว ถึงขั้นเก็บคะแนนกัน ประเทศไหนทำได้มาก ก็ได้คะแนนมาก ผลลัพธ์ก็คือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจมักจะไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ตามคำมั่นสัญญา
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ กล่าวว่า ยิ่งแปรรูปล้มเหลว ก็ยิ่งชิงชังความคิดแปรรูปมากขึ้น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวอย่างความล้มเหลวมากที่สุดให้ดูที่รัสเซีย รัสเซียใช้นโยบายตาม ไอเอ็มเอฟ คือแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยไม่ยั้งมือ โดยแปรทุกอย่างที่ขวางหน้า เสียหายเท่าไหร่ไม่สนใจ ต้องแปรรูปให้หมด
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ วิจารณ์ว่าไม่น่าแปลกใจเลยที่ กระบวนการโกงการแปรรูปนั้นออกแบบมาเพื่อให้รัฐมนตรีในรัฐบาลได้กอบโกยผลประโยชน์สูงสุด เรื่องการแปรรูปไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์ที่จะเกิดแก่รัฐ ไม่มีใครคำนึงถึงเรื่องประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ รัสเซียคือตัวอย่างกรณีศึกษาที่พินาศร้ายกาจที่สุด ซึ่งว่าด้วยเรื่องอันตรายของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแบบไม่สนใจความเสียหายอะไรทั้งสิ้น
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ กล่าวย้ำหนักแน่นว่า ที่จะต้องห่วงมากที่สุดในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็คือ การทุจริตคอรัปชั่น ท่านบอกว่า "หากไม่แปรรูปรัฐวิสาหกิจ และหากมีการคอรัปชั่นก็จะกินกันเป็นรายปี เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทีละเล็กทีละน้อย แบ่งกันไปในหมู่นักการเมืองและผู้บริหาร เป็นอย่างนี้ไปตลอด"
แต่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นเลวร้ายยิ่งกว่า การแปรรูปในหลายประเทศได้ผลตรงกันข้ามกับที่อยากได้ จนเรียกกันติดตลกว่า "Briberization"(การติดสินบน) ไม่ใช่ "Privatization" (การแปรรูป) เป็นการแปรรูปลักษณะติดสินบน ไม่ใช่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ กล่าวว่า หากรัฐบาลมีคณะรัฐมนตรีนิสัยโกหก ก็จะไม่มีหลักฐานใด ๆ บอกว่า การแปรรูปจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะรัฐบาลที่จะแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก็เป็นรัฐบาลเดียวกับที่แก้ปัญหาการบริหารรัฐวิสาหกิจที่ไร้ประสิทธิภาพไม่ได้
ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ เดินทางไปศึกษาความล้มเหลวในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย ท่านกล่าวว่า ประเทศแล้วประเทศเล่า ทุกรัฐบาลรู้ว่า "การแปรรูปรัฐวิสาหกิจครั้งเดียวหมายถึงการที่จะไม่ต้องมาจำกัดตัวเองให้คอยเก็บเกี่ยวใต้โต๊ะเป็นรายปี โดยการขายรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าราคาตลาด
นักการเมืองทุจริตสามารถกอบโกยหุ้นมหาศาลให้กับตัวเอง แทนที่จะปล่อยให้กับนักการเมืองรุ่นถัดไป หมายความว่านักการเมืองคดโกงเหล่านี้ สามารถขโมยความมั่งคั่งจากการขายรัฐวิสาหกิจในวันนี้วันเดียวได้มหาศาล มากกว่าที่จะให้นักการเมืองสมัยหน้าเก็บกินในอนาคต หัวใจสำคัญของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้น ศาสตราจารย์โจเซฟ สติ๊กสิทซ์ บอกว่าอยู่ที่
1. การแข่งขันอย่างเต็มที่ 2. การควบคุมโดยรัฐหลังการแปรรูป
รัฐวิสาหกิจใด ๆ ที่แปรรูปแล้วยังไม่มีการแข่งขัน ยังคงการผูกขาดเหมือนเดิม เช่น กิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำประปา และกิจการโทรคมนาคม ไม่ต้องแปรรูป เพราะสถานการณ์จะเลวร้ายกว่าเดิม เนื่องจากการผูกขาดจะย้ายไปอยู่ที่นายทุน นักลงทุนภาคเอกชนที่ต้องทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
ส่วนการแปรรูปอย่างเร่งด่วน โดยยังไม่มีกฎหมายหรือมาตรการกำกับดูแลหลังการแปรรูปรองรับ ผนวกกับการขาดการแข่งขันเสรี จะทำให้ไม่มีใครกำกับควบคุมใครได้ทั้งสิ้น ทิ้งให้เป็นเสรีภาพในการผูกขาดโดยบริษัทเอกชนโดยสมบูรณ์
ด้วยเหตุนี้ รัสเซียและอีกหลาย ๆ ประเทศ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจของประเทศเหล่านั้นจึงไม่ประสบผลสำเร็จ ในการเป็นพลังเพื่อสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จริงแล้วการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ก่อให้เกิดการตกต่ำและพิสูจน์ว่า เป็นมหันตพลังในการทำลายสถาบันประชาธิปไตยและตลาดเศรษฐกิจ
|