ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
18-05-2025, 02:19
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  สภากาแฟ  |  รายงานพิเศษ : เมื่อ “บ่วงอุบาย” รัดคอ “หญิงอ้อ” เอง!?! 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
รายงานพิเศษ : เมื่อ “บ่วงอุบาย” รัดคอ “หญิงอ้อ” เอง!?!  (อ่าน 1109 ครั้ง)
RONALDO
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 684


ไม่มีใคร ทำให้เรารู้สึกต่ำต้อยได้ หากเราไม่ยินยอม


« เมื่อ: 28-03-2007, 21:52 »

 กรณี “คุณหญิงพจมาน” ต้องขึ้นศาล เมื่อวันที่ 26 มี.ค.นับเป็นคดีแรกที่บุคคลในครอบครัว “พ.ต.ท.ทักษิณ” ถูก คตส.ตรวจสอบ-ชำแหละ และมีพยานหลักฐานแน่นหนาพอ อัยการจึงได้ส่งฟ้องต่อศาล ฐานปิดบังอำพราง-ใช้อุบาย-ฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีให้พี่ชายบุญธรรมอย่าง “บรรณพจน์ ดามาพงศ์” ...จริงๆ แล้ว คุณหญิงพจมาน จะโอนหุ้นให้ญาติพี่น้องคนไหนก็ย่อมได้ ไม่มีปัญหา ถ้าเพียงแต่ผู้รับหุ้น จะยอมเสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด แต่กรณีนี้ดูเหมือนคุณหญิงพจมานจะรักพี่ชายบุญธรรมมากไปหรืออย่างไรไม่ทราบ จึงต้องมีการออกอุบาย-หลอกลวงอำพราง เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษี ...และวันนี้ คุณหญิงพจมาน กำลัง “ติดบ่วงอุบาย” ดังกล่าวเข้าให้แล้ว?
       
กรณีการใช้กลอุบายหลอกลวง และแจ้งเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีจากการโอนหุ้นให้กัน ระหว่างคุณหญิง พจมาน ชินวัตร กับนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ พี่ชายบุญธรรมของตนที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 เริ่มมาเห็นเค้าลางแห่งความหายนะจากการกระทำในครั้งนั้น เมื่อที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 13 พ.ย.2549 ว่า จะสั่งการไปยังกรมสรรพากรให้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากนายบรรณพจน์ ที่อ้างว่า ซื้อหุ้นบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2540 จาก น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ตระกูลชินวัตร (ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิง พจมาน) จำนวน 4.5 ล้านหุ้น หุ้นละ 164 บาท มูลค่า 738 ล้านบาท โดยอ้างว่าซื้อ-ขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ จึงไม่ต้องเสียภาษี แต่ คตส.ตรวจสอบพบว่า นายบรรณพจน์ ไม่ได้เป็นผู้จ่ายเงินซื้อหุ้นดังกล่าวเอง แต่คนจ่ายเงิน คือ คุณหญิง พจมาน โดยคุณหญิง พจมาน เป็นคนเสียค่าธรรมเนียมให้แก่นายหน้า (โบรกเกอร์) ทั้งค่าธรรมเนียมของฝ่ายตนและฝ่ายนายบรรณพจน์รวมเป็นเงิน 7.38 ล้านบาท!
       
       คตส.จึงมองว่า การซื้อหุ้นดังกล่าวเป็นการทำ “นิติกรรมอำพราง” โดย นายบรรณพจน์ ควรจะต้องเสียภาษีจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิง พจมาน แต่ที่ผ่านมากรมสรรพากร เห็นว่า นายบรรณพจน์ ได้รับการยกเว้นภาษี เนื่องจากคุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ แจ้งว่า เป็นการโอนหุ้นให้ในลักษณะอุปการะโดยเสน่หาโดยธรรมจรรยา ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ในโอกาสที่นายบรรณพจน์แต่งงานและมีบุตร!?!
       
       เมื่อ คตส.เห็นว่า เรื่องนี้ไม่ใช่การหลีกเลี่ยงภาษีธรรมดา แต่ผู้เกี่ยวข้องน่าจะเข้าข่ายหลอกลวงด้วย จึงส่งเรื่องนี้ให้ที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่พิจารณาเพื่อมีมติอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 20 พ.ย.2549 เมื่อถึงวันดังกล่าว คตส.ก็ได้มีมติส่งเรื่องถึงกรมสรรพากรให้เก็บภาษีและเบี้ยปรับจาก นายบรรณพจน์ เป็นเงิน 546 ล้านบาท (2 เท่าของยอดเงินต้นภาษีที่ควรจะเสีย คือ 273 ล้าน) โดยให้เรียกเก็บภาษีจากนายบรรณพจน์ภายใน 30 วัน เนื่องจากเห็นว่ามีการดำเนินการที่อาจจงใจหลีกเลี่ยงภาษี
       
       ส่วนข้ออ้างที่ว่า คุณหญิง พจมาน โอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ เป็นลักษณะการอุปการะตามธรรมเนียมประเพณีที่นายบรรณพจน์แต่งงานและมีบุตรนั้น คตส.พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะที่ผ่านมานอกจากคุณหญิง พจมาน จะไม่เคยอุปการะพี่น้องคนอื่นๆ แล้ว ยังประจักษ์ชัดว่า ช่วงเวลาที่ นายบรรณพจน์ แต่งงาน และมีบุตรก็ไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาที่คุณหญิง พจมาน โอนหุ้นให้ เพราะระยะเวลาห่างกันเป็นปี โดยนายบรรณพจน์แต่งงานต้นปี 2539 มีบุตรปลายปี 2539 (4 ธ.ค.) แต่โอนหุ้นให้ในวันที่ 7 พ.ย.2540
       
       ไม่เพียงช่วงเวลาในการโอนหุ้นจะไม่สอดคล้องกับเหตุผลที่อ้าง แต่การที่คุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ อ้างว่า เป็นการโอนหุ้นให้ในลักษณะอุปการะนั้น ยังอาจไม่เข้าข่ายด้วย เพราะ คตส.พบว่า เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาว่า “การอุปการะ” นั้น เป็นเรื่องของ “พ่อแม่” ที่จะให้แก่ “ลูก” เท่านั้น ไม่ใช่การให้ระหว่าง “พี่-น้อง” ที่ประชุมใหญ่ คตส.จึงเห็นควรให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเรื่องนี้ เพื่อเอาผิดทางอาญาคุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ ฐานให้ถ้อยคำเท็จ ฉ้อโกงและหลีกเลี่ยงการเสียภาษี!
       
       หลังจากไต่สวนนานประมาณ 1 เดือน อนุกรรมการของ คตส.ได้มีมติให้ทำหนังสือเชิญผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ 6 คนมารับทราบข้อกล่าวหาฐานจงใจให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จในวันที่ 4 ม.ค.2550 ประกอบด้วย คุณหญิงพจมาน, นายบรรณพจน์, น.ส.ดวงตา วงศ์ภักดี คนรับใช้ตระกูลชินวัตร(ที่ถือหุ้นแทนคุณหญิงพจมาน), นางกาญจนาภา หงส์เหิน เลขานุการส่วนตัวคุณหญิงพจมาน ,นายวันชัย หงส์เหิน สามี นางกาญจนาภา ในฐานะโบรกเกอร์ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ และนางปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ เลขานุการส่วนตัวคุณหญิง พจมาน
       
       แต่เมื่อถึงวันนัด (4 ม.ค.) ปรากฏว่า มีเพียง นางปราณี และนายวันชัย เท่านั้น ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนคุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ ส่งทนายเข้าแจ้งต่ออนุกรรมการ คตส.ว่า ติดภารกิจสำคัญ ไม่สามารถเข้ารับทราบข้อกล่าวหาได้ ขณะที่ น.ส.ดวงตา ไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาและไม่ได้ชี้แจงใดๆ อนุกรรมการ คตส.จึงแก้ปัญหาด้วยการทำหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาทางไปรษณีย์และให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 6 ชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน (ภายใน 19 ม.ค.) โดยจะเข้าชี้แจงด้วยตนเองหรือชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้
       
       เมื่อถึงเส้นตายดังกล่าว ปรากฏว่า คุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ กับพวก ได้ส่งนายวีรภัทร ศรีไชยา ทนายความ เข้ายื่นเอกสารเพื่อชี้แจงข้อกล่าวหาต่ออนุกรรมการไต่สวนของ คตส.โดย นายวีรภัทร ยืนยันว่า คุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ ไม่ได้กังวลหรือหนักใจที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาเรื่องนี้ เพราะมั่นใจว่า ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนทางกฎหมาย คือ ให้หุ้นโดยเสน่หาตามขนบธรรมเนียมประเพณี!?!
       
       เกือบ 1 เดือนต่อมา วันที่ 12 ก.พ.ที่ประชุม คตส.ชุดใหญ่ได้มีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องนี้ถึงอัยการสูงสุด เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องคุณหญิง พจมาน นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา ต่อศาล ส่วนผู้ถูกกล่าวหาที่เหลืออีก 3 คน คือ น.ส.ดวงตา-นายวันชัย และนางปราณี นั้น คตส.สรุปว่า ไม่มีหลักฐานว่ากระทำผิด จึงไม่ส่งฟ้อง สำหรับข้อกล่าวหาที่ คตส.สรุปส่งฟ้องคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ต่ออัยการสูงสุดนั้นมี 2 กระทง คือ เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร (มีลักษณะใช้อุบายหรือฉ้อโกง) และมาตรา 37(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา (มีลักษณะแจ้งเท็จหรือให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ) ส่วนนางกาญจนาภา คตส.เห็นควรให้ส่งฟ้องข้อหาเดียว คือ ร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรือโดยอุบาย ตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร
       
       โดยมติดังกล่าวของที่ประชุมใหญ่ คตส.มีขึ้นหลังจากอนุกรรมการไต่สวน สรุปความผิดของบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ว่า นายบรรณพจน์-คุณหญิง พจมาน กับพวก จงใจหลีกเลี่ยงภาษี โดยพบว่า ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ย.2540 นายบรรณพจน์-คุณหญิง พจมาน-นางกาญจนาภา ได้ร่วมกันโอนหุ้น บ.ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ จำนวน 4.5 ล้านหุ้น มูลค่า 738 ล้านของคุณหญิง พจมาน ที่ให้ น.ส.ดวงตา ถือหุ้นแทนไว้ ไปให้กับนายบรรณพจน์ โดยอ้างว่าเป็นการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ความจริงเป็นเรื่องที่คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ (ไม่ใช่การซื้อขาย) ซึ่งเข้าข่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร นายบรรณพจน์จึงต้องเสียภาษีประมาณ 273 ล้านบาท การที่บุคคลทั้งสามร่วมกันอำพรางการโอนหุ้นดังกล่าวให้เป็นการซื้อขายหุ้นในตลาด โดยยอมเสียค่าธรรมเนียมประมาณ 7 ล้านบาท จึงเป็นการกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง หรืออุบายเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร เป็นความผิดอาญา ตามมาตรา 37(2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
       
       ไม่แค่นั้น เมื่อ ป.ป.ช.และกรมสรรพากรตรวจสอบในปี 2544 พบว่า มิได้มีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์ ดังที่คุณหญิง พจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา อ้าง บุคคลทั้งสามกลับร่วมกันให้ข้อมูลใหม่ว่า เป็นการให้หุ้นกันโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือให้โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อให้นายบรรณพจน์ไม่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 42(10) ซึ่งเป็นการให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จอีกเช่นกัน!
       
       นอกจากนี้ ในรายงานที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ นายบรรณพจน์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท ชินวัตร คอมพิวเตอร์ฯ ก็รายงานว่า ได้รับหุ้นดังกล่าวมาจากการซื้อขายในตลาดฯ โดยอ้างว่า ซื้อผ่าน บล.ภัทร นายบรรณพจน์ ไม่ได้รายงานว่า ได้รับหุ้นมาโดยการ “ให้” แต่อย่างใด ซึ่งถือเป็นการ “ปกปิดข้อมูล” จากการได้รับหุ้น การกระทำของคุณหญิงพจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภาโดยจงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือนำหลักฐานมาแสดงเพื่อเลี่ยงการเสียภาษีอากร จึงเป็นความผิดทางอาญา ตามมาตรา 37(1) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ ระหว่างวันที่ 7-12 พ.ย.2540
       
       จากวันที่ 12 ก.พ.ที่ คตส.มีมติส่งฟ้องคุณหญิง พจมาน-นายบรรณพจน์-นางกาญจนาภา ต่ออัยการสูงสุด ปรากฏว่า 1 เดือนต่อมา 14 มี.ค. อัยการสูงสุดก็ได้มีความเห็นสั่งฟ้องบุคคลทั้งสาม โดยสั่งฟ้องคุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ 2 ข้อหา ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง และโดยอุบาย ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(2) และร่วมกันแสดงข้อความเท็จ ใช้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ และตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ โดยจงใจเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37(1) และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91 เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏในสำนวนว่า ครั้งแรกคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ให้การกับ คตส.ว่า ที่ไม่ได้เสียภาษี เนื่องจากเป็นการโอนหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งยกเว้นภาษี แต่ภายหลังบุคคลทั้งสองกลับให้การใหม่ว่า คุณหญิงพจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์โดยธรรมจรรยา ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งเป็นการให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จ!
บันทึกการเข้า

เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน ถ้าไล่พวกโกงกิน ขจัดระบอบทักษิณ ให้ออกไป
RONALDO
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 684


ไม่มีใคร ทำให้เรารู้สึกต่ำต้อยได้ หากเราไม่ยินยอม


« ตอบ #1 เมื่อ: 28-03-2007, 21:53 »

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า ความผิดดังกล่าวมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน - 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท ดังนั้น หากศาลพิพากษาว่าผิดจริงและลงโทษเต็มอัตรา คุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ จะต้องได้รับโทษ 2 เท่า คือ จำคุกสูงสุด 14 ปี และปรับสูงสุด 4 แสนบาท ส่วนนางกาญจนาภา อัยการสูงสุดก็มีความเห็นเช่นเดียวกับ คตส.คือ สั่งฟ้องข้อหาเดียว ฐานร่วมกันหลีกเลี่ยงภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง และโดยอุบาย ตามประมวลรัษฎากร ม.37(2)


ส่วนกรณีที่คุณหญิง พจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา ได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดให้สอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากรนั้น นายอรรถพล ชี้แจงว่า คณะทำงานของสำนักงานอัยการสูงสุด เห็นว่า พยานดังกล่าว คตส.ได้สอบสวนแล้ว และได้ส่งเอกสารเพิ่มเติมให้อัยการสูงสุดพิจารณาแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดจึงไม่จำเป็นต้องสอบพยานดังกล่าวเพิ่มเติมอีก โดยอัยการสูงสุดได้กำหนดให้คุณหญิง พจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา เข้ารายงานตัวเพื่อส่งฟ้องต่อศาลอาญาในวันที่ 26 มี.ค.
       
       และเมื่อถึงวันนัด (26 มี.ค.) คุณหญิงพจมาน กับพวก ก็ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ในการเข้ารายงานตัวต่อกระบวนการยุติธรรม คือ แทนที่จะไปรายงานตัวต่ออัยการก่อน แล้วอัยการค่อยนำตัวส่งฟ้องต่อศาลอาญา คุณหญิง พจมาน กลับขออัยการสูงสุด ว่า จะไปรายงานตัวที่ศาล เลย โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งฝ่ายอัยการเห็นว่า การกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นการขัดขวางหรือก่อให้เกิดความยุ่งยากในการฟ้องคดี จึงอนุญาตให้ผู้ต้องหาทั้งสามไปรอที่ศาลอาญาได้เลย!?!
       
       หลังกระบวนการส่งฟ้องแล้วเสร็จ ศาลได้ประทับรับฟ้องและนัดคู่ความตรวจสอบพยานหลักฐานในวันที่ 14 พ.ค.โดยอนุญาตให้จำเลยทั้งสาม (คุณหญิง พจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา) ใช้หลักทรัพย์ประกันตัวในวงเงินคนละ 5 ล้านบาท แต่ห้ามจำเลยทั้งสามหรือผู้แทนหรือผู้เกี่ยวข้องกับจำเลยกระทำการใดๆ หรือให้ข่าวที่อาจกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการพิจารณาคดีนี้ มิฉะนั้นศาลอาจเพิกถอนการปล่อยตัวชั่วคราว!
       
       ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณหญิง พจมาน-นายบรรณพจน์ และนางกาญจนาภา ต่างยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาที่อัยการส่งฟ้องต่อศาล ซึ่งหากพิจารณาสำนวนในคำฟ้องของอัยการที่มีความยาว 12 หน้าแล้ว จะเห็นว่า มีการลำดับข้อมูลเรื่องราวที่ประจักษ์ชัดถึงความพยายามใช้กลอุบายหลอกลวงปิดบังอำพรางและให้ข้อมูลเท็จของคุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์กับพวก เพื่อจงใจหลีกเลี่ยงภาษีที่ นายบรรณพจน์ ควรจะต้องเสียจากการได้รับโอนหุ้นจากคุณหญิง พจมาน


โดยเริ่มตั้งแต่การใช้กลอุบายอำพรางการโอนหุ้น (เมื่อวันที่ 7 พ.ย.40) ให้เป็นการซื้อ-ขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ เพื่อที่นายบรรณพจน์ ในฐานะผู้ได้รับหุ้นจากคุณหญิงพจมานจะได้ไม่ต้องเสียภาษี โดยมีการสร้างหลักฐานการจ่ายเช็คค่าธรรมเนียมให้โบรกเกอร์/นายหน้า เพื่อยืนยันว่า มีการซื้อขายหุ้นดังกล่าวจริง และมีการจ่ายเช็คค่าหุ้นประมาณ 740 ล้านให้ น.ส.ดวงตา แต่ภายหลังมีการตรวจสอบ พบว่า การซื้อ-ขายหุ้นดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นจริง และผู้ที่จ่ายเช็คค่าหุ้นก็ไม่ใช่นายบรรณพจน์ แต่เป็นคุณหญิงพจมาน ซึ่งที่สุดแล้ว คุณหญิง พจมาน และนางกาญจนาภา ก็ร่วมกันนำเช็คที่ตนเองจ่ายให้ น.ส.ดวงตา ไปเข้าบัญชีของคุณหญิง พจมาน สรุปก็คือ นำเงินที่ตนเองทำทีจ่ายออกไป กลับมาเป็นของตนเองอีกครั้งนั่นเอง!
บันทึกการเข้า

เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน ถ้าไล่พวกโกงกิน ขจัดระบอบทักษิณ ให้ออกไป
RONALDO
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 684


ไม่มีใคร ทำให้เรารู้สึกต่ำต้อยได้ หากเราไม่ยินยอม


« ตอบ #2 เมื่อ: 28-03-2007, 21:54 »

 ถือได้ว่า จำเลยได้ร่วมกันกระทำโดยความเท็จ โดยฉ้อโกง โดยอุบาย หรือโดยวิธีอื่นใด เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ทำให้รัฐเสียหายขาดรายได้จากภาษีที่จำเลยที่ 1 คือ นายบรรณพจน์ จะต้องเสียภาษีในปี 2540 เป็นเงินกว่า 273 ล้านบาท!
       
       เมื่อเรื่องนี้ถูกตรวจสอบพบในปี 2544 คุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ ก็ได้ร่วมกันแจ้งข้อความเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีต่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรอีก โดยนายบรรณพจน์ อ้างว่า ตนเป็นพี่ชายบุญธรรมของคุณหญิง พจมาน และช่วยเหลือกิจการของคุณหญิง พจมาน จนมีความเจริญก้าวหน้า กระทั่งปี 2538 คุณหญิง พจมาน สนับสนุนให้ตนมีครอบครัว และดำริจะมอบของขวัญให้แก่บุตรของตนซึ่งมีอายุครบ 1 ปี ในปลายปี 2540 ด้วยการมอบหุ้นให้ 4.5 ล้านหุ้น ตนจึงเข้าใจโดยสุจริตว่า เป็นการให้โดยเสน่หาตามธรรมเนียมประเพณีและธรรมจรรยาของสังคมไทย!?!

ขณะที่คุณหญิง พจมาน ก็อ้างว่า นายบรรณพจน์ เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาตน ได้เข้ามาช่วยบริหารจัดการธุรกิจของครอบครัวตนจนมีความมั่นคงและมีทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อตนเห็นว่านายบรรณพจน์ควรมีครอบครัว จึงสนับสนุนให้แต่งงานกับ น.ส.บุษบา วันสุนิล เมื่อต้นปี 2539 และให้ปลูกสร้างเรือนหอในที่ดินของครอบครัวตน (ดามาพงศ์) นอกจากนี้ ยังตั้งใจจะมอบหุ้นให้ในวันแต่งงาน เพื่อให้พี่น้องมีฐานะทัดเทียมกัน อย่างไรก็ตาม คุณหญิง พจมาน อ้างว่า ตอนนั้นให้หุ้นไม่ทัน เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เตรียมเข้าทำงานการเมือง จึงต้องจัดการเรื่องบริหารงานให้เสร็จก่อน กระทั่งบุตรชาย นายบรรณพจน์ ซึ่งเกิดวันที่ 4 ธ.ค.2539 จะมีอายุครบ 1 ปี และการจัดการด้านบริหารงานของตนเสร็จสิ้นพอดี จึงยกหุ้นให้นายบรรณพจน์ 4.5 ล้านหุ้น ในวันที่ 7 พ.ย.2540 เพื่อเป็นของขวัญ....
บันทึกการเข้า

เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน ถ้าไล่พวกโกงกิน ขจัดระบอบทักษิณ ให้ออกไป
RONALDO
ขาประจำขั้น 2
******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 684


ไม่มีใคร ทำให้เรารู้สึกต่ำต้อยได้ หากเราไม่ยินยอม


« ตอบ #3 เมื่อ: 28-03-2007, 21:56 »

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คุณหญิง พจมาน และนายบรรณพจน์ ไม่เคยเผยต่อสาธารณชนถึงเหตุผลที่ต้องมีการอำพรางหลอกลวงการโอนหุ้นว่า เป็นการซื้อ-ขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ตามที่พวกตนได้เคยอ้างแต่อย่างใด ขณะที่คำอ้างของคุณหญิง พจมาน ก็เปลี่ยนไปจากก่อนหน้านี้อีกเล็กน้อย เพราะก่อนหน้านี้ยังอ้างว่า โอนหุ้นให้ในโอกาสนายบรรณพจน์แต่งงาน และมีบุตร แต่พอถูกจับได้ว่า ช่วงเวลาไม่สอดคล้องกัน จึงได้อ้างใหม่ว่า โอนหุ้นให้ในโอกาสบุตรนายบรรณพจน์จะมีอายุครบ 1 ปี ซึ่งคงไม่ง่ายนัก ที่ผู้เกี่ยวข้องจะเชื่อในถ้อยคำที่ “เท็จแล้ว-เท็จอีก”
       
       โดยอัยการได้ระบุในคำฟ้องว่า การกระทำของคุณหญิงพจมานและนายบรรณพจน์ ที่ให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จดังกล่าว เป็นเพียง “ข้ออ้าง” เพื่อให้เจ้าหน้าที่สรรพากร เชื่อว่า การโอนหุ้นดังกล่าวเป็นการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือการให้โดยเสน่หา เนื่องในโอกาสตามขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อจะได้รับการยกเว้นภาษี ทั้งที่ความจริงแล้ว คุณหญิง พจมานโอนหุ้นให้นายบรรณพจน์ เพื่อเป็นการตอบแทนนายบรรณพจน์ที่ทำงานให้ครอบครัวตน แต่ทำอุบายอำพรางว่า เป็นการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
       
       การกระทำของจำเลยที่ 1-2 คือ นายบรรณพจน์ และคุณหญิง พจมาน จึงเป็นการกระทำเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีโดยให้ถ้อยคำอันเป็นเท็จและโดยการฉ้อโกง เป็นเหตุให้รัฐเสียหายต้องขาดรายได้เงินภาษีอากรและเงินเพิ่มกว่า 546 ล้านบาท!


คดีนี้ต้องจับตากันต่อไปว่า ที่สุดแล้วจะจบลงอย่างไร? จะจบแบบ “ให้ถ้อยคำเท็จ” ก็ให้ถ้อยคำใหม่ได้เรื่อยๆ เหมือนกับ “ติ๊กผิด” ก็ติ๊กใหม่ได้ดังกรณีวุ่นๆ เรื่องหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ-คุณหญิง พจมาน และลูกๆ หรือควรจะจบแบบ “ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง” อีกต่อไป เพราะใครก็ตาม ลำพังเอาเปรียบเพื่อนร่วมชาติด้วยการหลีกเลี่ยง-หลบเลี่ยงการเสียภาษี ก็แสดงถึงพฤติกรรมที่ไม่รักประเทศชาติมากพออยู่แล้ว ถ้าถึงขนาดกล้าออกอุบาย-หลอกลวง-ตบตาใครต่อใครด้วยสารพัดวิธี เพื่อให้ตนหรือเครือญาติไม่ต้องเสียภาษีด้วยแล้ว เราจะเรียก “คนเหล่านี้” ว่าอย่างไรดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนพวกนี้คือคนที่มีฐานะร่ำรวยมีทรัพย์สินหลายหมื่นล้านอยู่แล้ว แต่ยังกระทำการ “ฉ้อโกงภาษี” เพียงไม่กี่ร้อยล้านได้ลงคอ!!
บันทึกการเข้า

เงยหน้าไม่อายฟ้า ก้มหน้าไม่อายดิน ถ้าไล่พวกโกงกิน ขจัดระบอบทักษิณ ให้ออกไป
นทร์
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 7,441



เว็บไซต์
« ตอบ #4 เมื่อ: 28-03-2007, 23:07 »

หนังยาวมาก

อยากดูภาคจบ ไวๆ   
บันทึกการเข้า

"ประชาชน อย่าทิ้งประเทศชาติ"
หน้า: [1]
    กระโดดไป: