ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
27-11-2024, 19:25
378,182 กระทู้ ใน 21,926 หัวข้อ โดย 9,412 สมาชิก
สมาชิกล่าสุด: MAN4U
ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)  |  ทั่วไป  |  ห้องสาธารณะ  |  คำฟ้องอาญา 4 กกต. เลือกตั้ง "ไม่สุจริตเที่ยงธรรม" เอื้อ "ทรท." 0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้
หน้า: [1]
คำฟ้องอาญา 4 กกต. เลือกตั้ง "ไม่สุจริตเที่ยงธรรม" เอื้อ "ทรท."  (อ่าน 1594 ครั้ง)
Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« เมื่อ: 03-05-2006, 23:22 »

คำฟ้องอาญา4กกต. เลือกตั้ง"ไม่สุจริตเที่ยงธรรม"เอื้อ"ทรท."

หมายเหตุ - เป็นคำฟ้องต่อศาลอาญา ที่มี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กับพวกรวม 9 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นจำเลยที่ 1 ร่วมกับ กกต.อีก 3 คน เป็นจำเลยที่ 2-4 ในข้อหาร่วมกันกระทำความผิดจัดการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตเที่ยงธรรม เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา



ข้อ 1 โจทก์เป็นผู้มีถิ่นกำเนิดและตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทย เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 โจทก์ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ตามหน้าที่ของพลเมือง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 68 ซึ่งหากประชาชนไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องเสียสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีสิทธิคัดค้านต่อการกระทำอันไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 94 และเป็นผู้เสียหายจากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ในการเลือกตั้งดังกล่าวแล้ว

จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้ผ่านกระบวนการคัดสรรและเข้าดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการการเลือกตั้ง ตามที่ถูกระบุอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ซึ่งกล่าวโดยสรุปคือ จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายและต้องกระทำการโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ข้อ 2 จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้บังอาจกระทำความผิด กล่าวคือ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 เมษายน 2549 ซึ่งเป็นระยะเวลาน้อยกว่าที่กฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไว้ กล่าวคือ ถ้ามีการอยู่ครบวาระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องประกาศเลือกตั้งภายใน 45 วัน นับแต่วันที่อายุสภาสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 115 ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญกำหนดระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งไว้เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยรวดเร็วและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่ประสงค์จะเข้าชิงชัยในการเลือกตั้ง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกันจนสูญเสียความเป็นธรรมอันทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่สุจริต

สำหรับการกำหนดวันเลือกตั้งกรณีสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเพราะการยุบสภาพรรคการเมืองและผู้สมัครที่ไม่ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่อาจรู้ล่วงหน้า การจัดการเลือกตั้งในกรณียุบสภาจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่วันยุบสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 116 ดังนั้น การวินิจฉัยมาตรา 116 ต้องวินิจฉัยมาตรา 115 ประกอบกัน คือ ในกรณียุบสภาต้องกำหนดวันเลือกตั้งในระหว่าง 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน และประการสำคัญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 144 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม แต่จำเลยทั้งสี่ได้บังอาจกระทำความผิดโดยรู้เห็นเป็นใจไม่ทักท้วง การกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 2 เมษายน 2549 ว่าเป็นระยะเวลาที่น้อยกว่าระยะเวลาขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดดังกล่าว

นอกจากนั้น ในวันเลือกตั้งจำเลยทั้งสี่คนได้บังอาจมีคำสั่งให้คูหาเลือกตั้งหันหลังให้กรรมการการเลือกตั้งในลักษณะให้ผู้อื่นเห็นการกาบัตรเลือกตั้ง และจำเลยทั้งสี่ยังบังอาจแก้ไขแบบบัตรเลือกตั้ง โดยเปลี่ยนตำแหน่งการกาบัตรไม่ใช้สิทธิไว้ด้านล่างขวาของบัตรเลือกตั้ง ในประการที่สามารถให้เห็นได้ว่าผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้ใด โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีประเด็นสำคัญว่าผู้ใช้สิทธิจะเลือกผู้สมัครหมายเลข 2 หรือผู้ใช้สิทธิลงคะแนนไม่ประสงค์จะลงคะแนนให้ผู้ใด และจำเลยยังมีคำสั่งอนุญาตให้มีการนำเอารูปและบัตรผู้สมัครหมายเลข 2 เข้าไปติดไว้เหนือคูหาเลือกตั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจทำให้ผู้อื่นสามารถเห็นการกาบัตรว่าเลือกตั้งผู้ใด อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญในหลักการที่ว่าการเลือกตั้งต้องกระทำโดยสมัครใจ อิสระ โดยตรงและลับตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 104 วรรค 3 และการนำรูปผู้สมัครและหมายเลข 2 ติดไว้เหนือคูหาเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุว่าเตือนความจำผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่มีผู้สมัครรายอื่น จึงเป็นการกระทำเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้สมัครรายนั้น ย่อมเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ซึ่งใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบหรือวางตัวไม่เป็นกลาง ทำให้ผู้สมัครได้เปรียบเสียเปรียบกันในการเลือกตั้ง

การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการกระทำของกรรมการการเลือกตั้งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเป็นคุณเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด หรือกระทำการหรือละเว้นกระทำโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541

ข้อ 3 โจทก์ขอประทานกราบเรียนต่อศาลถึงพฤติการณ์และการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 4 ได้บังอาจกระทำการโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมหลายประการ ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ

3.1 การกำหนดให้มีการเลือกตั้งใน 37 วันนับแต่วันยุบสภานั้น จำเลยทั้งสี่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น เพราะจำเลยทั้งสี่อย่างน้อยต้องปรึกษาหารือกับนายกรัฐมนตรี ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้ง อันเป็นเงื่อนไขการเข้าทำหน้าที่ของกรรมการการเลือกตั้งในกระบวนการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งหมายความว่าการดำเนินการตามกฎหมายต้องเป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ดังนั้น เมื่อการกำหนดวันเลือกตั้งโดยคณะรัฐมนตรีที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติ มาตรา 115 และมาตรา 116 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องมีหน้าที่ชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรีว่าเป็นกำหนดวันเลือกตั้งที่ไม่ชอบรัฐธรรมนูญ และไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ แต่คณะกรรมการการเลือกตั้งกลับนิ่งเฉย และได้แถลงข่าวต่อสาธารณชน โดยจำเลยที่ 1 (พล.ต.อ.วาสนา) เป็นผู้แถลงเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 ณ อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ว่าการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของรัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่เพียงแจ้งรัฐบาลจะใช้เวลาในการจัดการเลือกตั้งแค่ไหน เพียงใดเท่านั้น อันแสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกระทำโดยมิชอบ เพื่อเป็นคุณแก่ผู้สมัครและพรรครัฐบาล คือพรรคไทยรักไทย

3.2 การจัดคูหาเลือกตั้ง การแก้ไขบัตรเลือกตั้ง จำเลยทั้งสี่ได้บังอาจกระทำการโดยผิดต่อหลักกฎหมายในเรื่องเสรีภาพการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 104 (3) และหลักการเลือกตั้งสากล รามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเลือกตั้งข้อ 25 ซึ่งหมายความว่าในการเลือกตั้งผู้มีอำนาจในการจัดการเลือกตั้งมีหน้าที่ ทำให้การใช้สิทธิของประชาชนเป็นความลับไม่อาจให้ผู้ใดรู้ได้ เพื่อป้องกันมิให้มีการละเมิดสิทูธิของผู้เลือกตั้งโดยการข่มขู่ ขู่เข็ญหรือทำประการใดที่จะทำให้ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยไม่เบี่ยงเบนจากเจตนาแท้จริงของผู้เลือกตั้ง เมื่อมีการสั่งหันคูหาออกตามคำสั่งกรรมการการเลือกตั้ง ทำให้การลงคะแนนของผู้ใช้สิทธิสามารถมองเห็นได้และไม่เป็นความลับ ประกอบกับการแก้ไขบัตรลงคะแนนโดยนำช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนลงมาไว้ด้านล่าง และมีประเด็นทางการเมืองต้องการคำตอบว่า ผู้คนที่ไปใช้สิทธิเลือกพรรคไทยรักไทยหมายเลข 2 หรือกาช่องไม่ใช้สิทธิ การกำหนดหรือคำสั่งเปลี่ยนแปลงการตั้งคูหาและการใช้บัตรที่ถูกแก้ไขเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้สมัครเพียงฝ่ายเดียว รายละเอียดปรากฏตามสำเนาหนังสือของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1

3.3 การรู้เห็นเป็นใจหรือมีคำสั่งให้นำรูปและเลขหมายผู้สมัครหมายเลข 2 ติดไว้ในคูหาเลือกตั้ง โดยกรรมการการเลือกตั้งอ้างว่าเพื่อป้องกันการสับสน ซึ่งไม่มีเหตุเพียงพอที่จะรับฟังได้ เพราะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 นั้น โดยทั่วไปมีผู้สมัครน้อยราย และในหลายเขตการเลือกตั้งมีผู้สมัครเพียงรายเดียว

3.4 การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นการเลือกตั้งใหม่ ในการเลือกตั้งทั่วไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 74 ซึ่งมีผู้สมัครคนเดียว จะต้องเลือกตั้งซ้ำจนกว่าจะได้คะแนนร้อยละ 20 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น จะทำการรับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ เนื่องจากการเลือกทั่วไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 74 นั้น จะต้องมีการเลือกตั้งซ้ำจนเสร็จสิ้นตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้นจะทำการรับสมัครใหม่ไม่ได้ และประการสำคัญ สิทธิของผู้สมัครในการเลือกตั้งในแต่ละครั้งจะมีสิทธิครั้งเดียวในเขตเลือกตั้งเดียว แต่จำเลยทั้งหลายกลับกระทำการรับสมัครผู้สมัครเพื่อช่วยเหลือหลีกเลี่ยงการต่อสู้กับตนเองอันเป็นจงใจฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 74 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 108 ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำสั่งตามมาตรา 34 และมาตรา 34/1 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 แล้วหลายคดีซึ่งโจทก์จะได้นำเสนอในชั้นพิจารณา ปรากฏตามสำเนาคำพิพากษาฎีกา เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 แต่จำเลยทั้งสี่กลับไม่นำพาและเพิกเฉยต่อคำสั่งศาลฎีกา กลับมีคำสั่งให้มีการรับผู้สมัครเพิ่มเติมกระทำผิดดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและเอื้อต่อพรรคไทยรักไทยให้มีจำนวนสมาชิกครบจำนวนของสภาผู้แทนราษฎรพรรคใหญ่เพียงพรรคเดียว และการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคไทยรักไทยหมายเลข 2 กับผู้ประสงค์ลงคะแนนไม่ประสงค์จะเลือกฝ่ายใด และมีหลายหน่วยทำการติดภาพและเบอร์ผู้สมัครในหลายหน่วยเลือกตั้งตามคำสั่งนี้ ซึ่งการออกคำสั่งดังกล่าวนี้ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว จึงเป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

ข้อ 4 เหตุในคดีนี้เกิดต่อเนื่องตั้งแต่เมื่อก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2548 จวบจนปัจจุบันตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 และเป็นการชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 จนถึงวันที่ 28 เมษายน 2549 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน ทั่วราชอาณาจักร

โจทก์ไม่มีทางอื่นใดที่จะบังคับจำเลย จึงต้องนำคดี มาสู่ศาลยุติธรรม เพื่อขอบารมีศาลมีคำพิพากษาว่า การกระทำของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือจำเลยทั้งสี่เป็นการกระทำความผิดโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ลงโทษจำเลยตามคำขอท้ายฟ้องต่อไป
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 04-05-2006, 00:48 โดย CanCan » บันทึกการเข้า

Can ไทเมือง
ขาประจำขั้นที่ 3
*******
ออฟไลน์ ออฟไลน์

กระทู้: 13,486



เว็บไซต์
« ตอบ #1 เมื่อ: 04-05-2006, 00:55 »

มาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541

ใครหาได้บ้าง...อ้อ...กำหนดโทษ อยู่ประมาณ มาตรา 42 โทษหนักไม่เบา จำ 1-10 ปี ปรับ 2 แสน

ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง 10 ปี

ใครมีขอด้วยครับ
บันทึกการเข้า

หน้า: [1]
    กระโดดไป: