วันที่ : 29 มกราคม 2550
เวลา : 8:32
กมธ.ยัน'กันยา'คนไทยได้เลือกตั้ง
ครป.เปิดโปงมีจริงยุทธศาสตร์คว่ำ รธน.มาร์คชี้ต้องเลือก ส.ว.
ครป.แฉยุทธศาสตร์คว่ำ รธน. มีอยู่จริง เรียกร้อง "ระบอบทักษิณ" เลิกใช้เกมการเมืองทำลายล้างกัน ส่วน "บิ๊กแอ้ด" จุดพลุได้ผล "นักการเมืองอาชีพ" ดาหน้าค้านลด "ส.ส.-ส.ว." กันไม่หยุด "มาร์ค" ชี้ ส.ว. ต้องเลือกตั้ง หวั่นใจสรรหาย้อนยุคเป็นสภาข้าราชการ "ปชป." ชูธงซักฟอกนายกฯ ย้ำ "ทัก ษิณ" ควรล้างมือการเมืองเพื่อชาติได้แล้ว ฝ่าย "อดีต ส.ว.เลือกตั้ง" รุมต้านไอเดียถอยหลังเข้าคลอง เตือนฝืนกระแสระวังเกิดวิกฤติการเมืองอีกระลอก จี้ "กมธ." อย่าสร้างปมขัดแย้งใหม่ ด้าน "ทรท." วอนรัฐเลิกประกาศ คปค. ห้ามประชุมพรรค ปูดข้อมูล "สภายุคปฏิรูป" รับเงินเดือนหลายทาง ฟื้นความจำ "มีชัย-จำลอง" อย่าลืมอดีต ส่วน "กมธ." เผยปฏิทินทำคลอด รธน.ปี 50 ชี้ 19 เม.ย. ได้ต้นแบบ-ปลาย มิ.ย. ได้ตัวจริง-เลือกตั้ง ก.ย. ชัวร์ ขณะที่ "สนธิ" เช็กร่างกายฟิตเปรี๊ยะ
19 เม.ย.คลอดรธน.ต้นแบบ
เมื่อวันที่ 28 ม.ค. นายวิชา มหาคุณ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ว่า จากการหารือเบื้องต้น กมธ. ได้ข้อสรุปว่าจะจัดทำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้เสร็จในวันที่ 19 เม.ย. เพื่อส่งให้องค์กรต่าง ๆ และประชาชนได้ดูในเบื้องต้นว่าพอใจหรือไม่พอใจ และจะแก้ไขในเรื่องใด ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่ได้ข้อยุติแล้วคาดว่าจะเสร็จในวันที่ 9 มิ.ย. หรืออย่างช้าต้องเสร็จก่อนวันที่ 24 มิ.ย. นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่าหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการลดจำนวน ส.ส. และ ส.ว. จนถึงขั้นอาจจะมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายวิชากล่าวว่า เป็น การคิดไกลไป ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องใด ๆ และ กมธ. พร้อมเปิดรับฟังข้อเสนอจากทุกฝ่าย จึงไม่ควรตีตนไปก่อนไข้หรือกลัวกันไปก่อน มั่นใจว่าหากขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญดำเนินไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้เบื้องต้นแล้ว หลังจากเดือน มิ.ย. นี้ ก็จะเปิดให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากนั้นเชื่อว่าในเดือน ก.ย.นี้ จะจัดให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้
"วิชา" หนุนลดอำนาจ ส.ว.
สำหรับข้อเสนอของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ให้ลดจำนวน ส.ส. และ ส.ว. นั้น นายวิชา กล่าวว่า เป็นแค่ข้อเสนอแนะของนายกฯ ตามที่มีผู้เสนอมา แต่ยังไม่ถือเป็นความคิดที่ตกผลึก ส่วนตัวเห็นว่า ส.ส. ไม่ควรมีมากถึง 500 คน เพราะต้องใช้งบประมาณจัดเลือกตั้งมาก มีหน่วยเลือกตั้งหลายแสนหน่วย และต้องใช้เจ้าหน้าที่ดูแลเลือกตั้งกว่า 1 ล้านคน รวมทั้งถ้าหากไม่มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ก็จะทำให้จำนวน ส.ส. ลดลง
รองประธาน กมธ. กล่าวว่า ในส่วนของ ส.ว. ก็ไม่ควรให้มีอำนาจล้นฟ้าเหมือนสมัยที่ผ่านมาที่สามารถถอดถอน ให้คุณให้โทษแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ถ้ามีอำนาจมากเกินไปจะไปเหมือนกับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐ ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรให้ ส.ว. มีหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และเป็นที่ปรึกษาด้านจริยธรรมคุณธรรมเท่านั้น ขณะที่การคัดเลือกองค์กรอิสระนั้นก็ไม่ควรให้นักการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวในขั้นตอนการคัดเลือก เพราะจะทำให้เกิด การแทรกแซงองค์กรอิสระได้ ส่วนที่มาของ ส.ว. ก็ให้สรรหามาจากผู้ทรงคุณวุฒิแทน กมธ.ยัน "แอ้ด" ไม่ได้กดปุ่ม
นายปกรณ์ ปรียากร โฆษก กมธ. กล่าวว่า กมธ. ยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียดซึ่งการประชุมวันที่ 29 ม.ค. จะมาหารือเพิ่มเติมจากกรอบที่วางเอาไว้ หลังจากนั้นค่อยลงลึกในรายละเอียด โดยจะมีคณะอนุ กมธ. ของกรอบต่าง ๆ นำประเด็นทั้งหมดไปศึกษา "ตอนนี้เรายังไม่มีธงในเรื่องต่าง ๆ ทั้งที่มา ส.ว. การลดจำนวน ส.ส. สิ่งที่เป็นข่าวออกไปถือเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายกฯ ผมไม่ทราบว่าท่านไปเอาตัวเลข 300 มาจากไหน แต่ทั้งนี้ท่านไม่ได้สั่งอะไรมาที่ กมธ. ว่าจะต้องเอาแบบนี้ และ กมธ. บางคนยังไม่ทราบข่าวที่ออกไปเลยก็มี"
โฆษก กมธ. กล่าวว่า หากพิจารณาถึงสัดส่วนของผู้แทนกับประชาชน ถ้าประชาชนเพิ่มขึ้นก็ต้องมี ส.ส. เพิ่มขึ้น มิฉะนั้นจะเป็นการเสียสิทธิของประชาชนหรือไม่ ต้องตอบคำถามเหล่านี้กับประชาชนให้ได้ด้วย ซึ่งตนเห็นว่าหากจะลดจริง ๆ อาจไปลดที่ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ส่วนจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กมากขึ้นหรือไม่นั้น เราต้องดูถึงความเท่าเทียมกัน แต่หากตามธรรมชาติถ้ามีพรรคมากเกินไปก็จะเกิดความสับสน เราต้องการความคิดเห็นจากประชา ชนเพื่อมาวิเคราะห์ในประเด็นเหล่านี้
อดีต ส.ว.ชี้สืบทอดอำนาจ 100%
นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กมธ. ปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นในเรื่องดังกล่าว โดยเห็นว่า สิ่งที่ผู้ยกร่างต้องคำนึงถึงคือ ควรจะมาดูเรื่อง กรอบเวลาการทำงาน รวมทั้งโครงสร้างของรัฐธรรมนูญในอดีตทั้ง 18 ฉบับมากกว่า หากจะพูดอะไรควรออกจากโฆษก กมธ. เท่านั้น
นายไสว พราหมณี อดีต ส.ว.นครราชสีมา กล่าวถึงแนวคิดการลดจำนวน ส.ส. และ ส.ว. ว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ความจริงยิ่งมี ส.ส. มากคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน เพราะนักการเมืองจะได้เข้าไปดูแลปัญหาอย่างทั่วถึง แต่มีข้อเสียคือต้องเพิ่มงบเป็นค่าเงินเดือนอีกเล็กน้อย ส่วน ส.ว. จำนวน 200 คนนั้นเหมาะสมอยู่แล้วและต้องมาจากการเลือกตั้งเหมือนเดิมตามรัฐธรรมนูญปี 2540 เพียงแต่ต้องแก้ไขในส่วนสำคัญอย่างเช่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ที่มาขององค์กรอิสระ เท่าที่ดูการรับลูกกันเป็นทอด ๆ แบบนี้โดยเฉพาะประเด็น ส.ว. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง มีเจตนาที่จะสืบทอดอำนาจกัน 100%
เตือนการเมืองปรอทแตกแน่
อดีต ส.ว.นครราชสีมา กล่าวว่า การแก้ไขปรับปรุงไม่ควรหยิบยกประเด็นขึ้นมามากมาย แค่ริเริ่มก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคมแล้ว ถ้ายังดึงดันต่อไปอาจจะเกิดวิกฤติการเมือง ยิ่งกว่านี้ ดังนั้นคนกุมอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติจะต้องรีบคืนอำนาจให้ประชาชน อย่าไปสร้างเงื่อนไขของความให้มากกว่านี้ และคนที่รับผิดชอบในการร่างรัฐธรรมนูญก็อย่าเอาแต่โยนหินถามทาง
นายพิชัย บุณยเกียรติ อดีต ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า อยากจะท้วงติงนายจรัญ ภักดีธนากุล รองประธาน กมธ. ว่าการร่างรัฐธรรมนูญต้องมองในภาพกว้าง ต้องดูต้นตอปัญหาที่แท้จริงคือการใช้อำนาจเงินซื้อทุกอย่าง การรับลูกความคิดจากนายกฯ อาจทำให้ประชาชนมองได้ว่ามีการฮั้วกันระหว่างนายกฯ และ กมธ. ไม่อยากให้เกิดภาพการครอบงำหรือการชี้นำจากส่วนบนลงล่าง โดยที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอะไรเลย กมธ. ควรรับฟังความเห็นจากประชาชนในภาพรวมเสียก่อนแล้วค่อยมากำหนดประเด็นว่าจะแก้ตรงไหน อย่างไร ตอนนี้ยังไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นอะไรเลย การออกมาขานรับกันเรื่อย ๆ อย่างนี้ตนกลัวว่าจะนำไปสู่วิกฤติการเมืองอีกครั้ง
"มาร์ค" ไม่เอา ส.ว. แต่งตั้ง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เขียนบทความเรื่อง "ข้อเสนอเกี่ยวกับวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : สร้างสภาให้นักการเมืองภาคประชาชน" มีเนื้อหาว่า ประเด็นการร่างรัฐธรรมนูญที่มองว่ายากที่สุดคือประเด็นที่มาของวุฒิสภา ตนขอเสนอกรอบความคิดเห็นเกี่ยวกับวุฒิสภาในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าประเทศไทยยังควรใช้ระบบสองสภา ส.ว. ควรเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ส่วนที่มาของ ส.ว. ไม่ควรมาจากการแต่งตั้งหรือสรรหา เพราะมีความเสี่ยงที่วุฒิสภาจะกลายเป็นสภาข้าราชการอีก
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ทาง ออกที่ดีที่สุด คือ การเลือกตั้ง แต่ปรับปรุงระบบเลือกตั้ง คุณสมบัติ และบทบาทใหม่ คือ 1.ห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในสภาหนึ่งสภาใดไปสมัครรับเลือกตั้งในอีกสภาหนึ่ง 2.อนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ว. หาเสียงได้เพื่อประกาศกำหนดจุดยืน แทนที่จะอิงกับการเป็นญาติของนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง 3.ขยายเขตเลือกตั้งให้ใหญ่กว่าจังหวัดอาจเป็นกลุ่มจังหวัด 4.ยกเลิกอำนาจในเรื่องการถอดถอนแต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะเป็นเหตุจูงใจให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำวุฒิสภา "ปชป." ชูธงซักฟอกนายกฯ
ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้าม ไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า พรรคมีข้อเสนอ 4 ประการต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ 1.นายกฯ ต้องมาจาก ส.ส. 2.ต้องหาทางป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญมาสร้างเผด็จการรัฐสภา จนรัฐสภากลายเป็นสภาเป็ดง่อยไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ ของตัวเองได้สมศักดิ์ศรี 3.ไม่ควรเอาวุฒิการศึกษามาปิดกั้นการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะการตัดสินใจว่าบุคคลนั้นจะได้เป็น ส.ส.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชน 4.ต้องหาทางสร้างกลไกของรัฐสภา เช่น คณะกรรมาธิการสามัญเป็นยักษ์ที่มีกระบองไม่ใช่ยักษ์หลับเหมือนในอดีต และที่สำคัญการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีต้องเกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะมีฝ่ายค้านกี่คนก็ตาม เพราะการไม่สามารถตรวจสอบนายกฯ จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงของผู้คนในสังคมและในบ้านเมือง
วอน "แม้ว" วางมือเพื่อชาติ
นายองอาจ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างชัดเจน ตรงข้ามกับสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เคยพูดไว้ว่าจะไม่เคลื่อนไหวอะไรและจะวางมือทางการเมือง อีกทั้งยังออกมาบอกว่าจะกลับมาทำประโยชน์ให้กับประเทศโดยแสดงท่าทีกลับมาทวงคืนอำนาจทุกรูปแบบเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง ดังนั้นขอเรียกร้องว่า พ.ต.ท.ทักษิณอย่าได้เอาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นตัวประกันอีกต่อไปเพื่อประ โยชน์ของตัวเองและบริวารโดยควรหยุดเคลื่อน ไหวใด ๆ ที่ก่อให้เกิดปัญหาบานปลาย
"วันนี้ถ้าอดีตนายกฯ ทักษิณ รักชาติจริงเหมือนที่เคยพูดไว้ เหมือนกับที่ท่านตั้งคำถามกับคนอื่นว่ารักชาติหรือไม่ ผมคิดว่าท่านควรจะหยุดเคลื่อนไหวใด ๆ อันมีส่วนทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น เพราะตราบใดที่ท่านเคลื่อนไหวอยู่ ผมคิดว่าปัญหาจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และแน่นอนที่สุดผมคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม ถ้าท่านรักชาติจริง ถ้าท่านอยากเห็นประเทศชาติบ้านเมืองไม่มีปัญหา ผมคิดว่าท่านไม่ควรเคลื่อนไหวอีกต่อไป"
http://www.dailynews.co.th/dailynews/pages/front_th/popup_news/Default.aspx?Newsid=115616&NewsType=1&Template=2 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ทาง ออกที่ดีที่สุด คือ การเลือกตั้ง แต่ปรับปรุงระบบเลือกตั้ง คุณสมบัติ และบทบาทใหม่ คือ
1.ห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งในสภาหนึ่งสภาใดไปสมัครรับเลือกตั้งในอีกสภาหนึ่ง
2.อนุญาตให้ผู้สมัคร ส.ว. หาเสียงได้เพื่อประกาศกำหนดจุดยืน แทนที่จะอิงกับการเป็นญาติของนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง
3.ขยายเขตเลือกตั้งให้ใหญ่กว่าจังหวัดอาจเป็นกลุ่มจังหวัด
4.ยกเลิกอำนาจในเรื่องการถอดถอนแต่งตั้งองค์กรอิสระ เพราะเป็นเหตุจูงใจให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงครอบงำวุฒิสภา ผมอยากเสนอความคิดเห็นเพิ่มเติม คือ....เนื่องจาก'วุฒิสมาชิก'เป็น'สภาพี่เลี้ยง'หรือ'สภาที่ปรึกษ' ดังนั้นจึงต้องพิจารณาคุณสมบัติให้เหมาะสม จึงควรกำหนดข้อห้ามไว้ดังนี้....
1. 'วุฒิสมาชิก'ไม่สามารถไปสมัครเป็น'สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ได้อีก'....
2. 'วุฒิสมาชิก'ไม่สามารถเป็นต่อเนื่อง 2 สมัย...
3. อดีต'สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร์' สามารถสมัครเป็น 'วุฒิสมาชิก'ได้
แต่ได้เป็นแล้ว จะกลับไปสมัครเป็น 'สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์'อีกไม่ได้..
'วุฒิสมาชิก' จะต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น....
ถ้ามาจากการแต่งตั้ง ไม่มีเลย ดีกว่า..........