กลุ่มทุนเพื่อนทักษิณ ผลประโยชน์'ไม่เหมือนเดิม'
หลังยุคทักษิณไม่เพียงตระกูลชินวัตร และเทมาเสก คู่ค้ารายสำคัญ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจใหม่ที่มี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.)เป็นแกนหลัก หากกลุ่มทุนที่เคยอยู่วงใน คณะรัฐมนตรี (ครม.) และ เคยอยู่ใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ล้วนได้รับ ผลข้างเคียงกับถ้วนหน้าโดยเฉพาะหลัง อดีตนายกรัฐมนตรี เดินสายให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเขย่ารัฐบาลและคมช. ในช่วงที่ผ่านมา
เริ่มจากกลุ่มทุนวงในครม.ซึ่งมีอยู่ 3 ตระกูลคือ จึงรุ่งเรืองกิจ มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำ สุริยะเป็นอดีตเลขาธิการ พรรคไทยรักไทย (ทรท.) และเคยนั่ง เก้าอี้กระทรวงใหญ่ โดยเฉพาะกระทรวงเกรดเอ อย่าง อุตสาหกรรม และคมนาคม
ในยุคทักษิณช่วงที่ สุริยะ ว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ผลักดันโครงการมากมาย รวมทั้ง ส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ในนาม ดีทรอย์แห่ง เอเชีย ซึ่งส่งผลดีโดยตรง ต่อกลุ่มธุรกิจของตระกูล จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะยักษ์ใหญ่วงการผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
ปัจจุบันโอกาสที่นโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์จะประจวบเหมาะกับทิศทางธุรกิจของกลุ่มจึงรุ่งเรืองกิจเป็นไปได้ยาก อีกทั้ง สุริยะ ในฐานะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังเป็นจำเลยคนสำคัญของ คตส. (คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ) ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด(ซีทีเอ็กซ์ 9000 )มูลค่า 2,600 ล้านบาทอีกด้วย
คนถัดมา ประชา มาลีนนท์ ประชาเป็นตัวแทนของ ตระกูลมาลีนนท์ หนึ่งในเศรษฐีหุ้นอันดับต้นของไทยเจ้า บมจ.บีอีซี เวิล์ด หรือ สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 แม้ประชาไม่ติดร่างแหทุจริตเช่นอดีตรัฐมนตรีร่วม ครม.คนข้างต้น หาก การออกมาประกาศของ นายจรัญ ภักดีธนากุล รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม ว่าจะตรวจสอบสัญญาของช่อง 3 หลังพบว่าช่อง 3 เปลี่ยสัญญาการแพร่ภาพจากระบบ วีเฮชเอฟ(VHF) มาเป็นย่านความถี่ ยูเฮชเอฟ (UHF) โดยไม่แจ้ง บมจ.อสมท. ในฐานะเจ้าของสัมปทาน ถ้าเป็นยุคทักษิณช่อง 3 คงไม่เจอเรื่องกวนใจแบบนี้
!!!
กลุ่มทุนที่มีตัวแทนนั่งร่วมครม.ทักษิณอีกกลุ่มตระกูล ชาญวีรกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.ซิโนทัย คอนสตรัคชั่น หนึ่งในยักษ์บริษัทรับเหมาของไทย ตระกูลชาญวีรกุล มีชวรัตน์ร่วมอยู่ในครม. ก่อนอวสานรัฐบาลทักษิณ อนุทิน นั่งเก้าอี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธ รณสุข
ในยุครัฐบาลทักษิณ บมจ.ซิโนทัยฯ มาแรงแซงหน้าพรรคพวกในวงการคว้าทั้งโครงแอร์พอร์ตลิงค์ และ โครงการศูนย์ราชการ แต่เมื่อขั้วการเมืองเปลี่ยนมีการตรวจสอบว่าเพราะเหตุ
ใด การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมล่วงหน้าให้ บมจ.ซิโนทัย ฯ
ถัดมาคือกลุ่มทุนที่ใกล้ชิดรัฐบาลทักษิณแต่ไม่มีตัวแทนไปนั่งใน ครม. โดยตรง เช่นตระกูลเจียรวนนท์ ยุครัฐบาลทักษิณ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของไทย ถูกมองว่าได้ประโยชน์ทางธุรกิจจากความใกล้ชิด เช่นกรณี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ ในเครือเจริญภัณฑ์ได้สิทธิในดครงการ ส่งเสริมปลูกยางพาราก 1 ล้านไร่ แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว โครงการดังกล่าวถูก คตส.ตรวจสอบทุจริตและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตรทั้งปรับ 69 ล้านบาท ปรับค่าเกษตรกรเสียโอกาสอีก 100 ล้านบาท พร้อมกับ ยกเลิกต่อสัญญาโครงการในส่วนที่เหลือ
เช่นเดียวกับ อนันต์ อัศวโภคิณ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.แลนด์แอนด์
เฮ้าส์ ผู้นำตลาดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแนบแน่นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรีมากงานกุศลที่ทักษิณเป็นเจ้าภาพ อาทิ งาน Beyond Education Reform
The Hub of Knowledge 72 ปีโรงเรียนมงฟอร์ตเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2548 อนันต์ นั่งประกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ตีคู่กับ เจริญ สิริวัฒนภักดี ประธานกรรมการทีซีซี และเป็นผู้บริจาครายสำคัญในงานดังกล่าว ตัวเลขที่ใส่ลงไปเป็นรองแค่เจ้า สัวเจริญเท่านั้น
ช่วงรัฐบาลทักษิณ กลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถูกวิจารณ์ว่า ได้ประโยชน์ จากนโยบายกระตุ้นธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อีกทั้งตัวอนันต์เองยังใช้สายสัมพันธ์ที่แนบแน่น ดังกล่าวร้องขอให้ อดีตนายกรัฐมนตรี ทบทวนเรื่องนำธุรกิจน้ำเมาเข้าระดมทุนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จน บมจ.ไทยเบฟ ต้องระเห็จไปเข้าตลาดหุ้นสิงคโปร์แทน และส่งผลให้สัมพันธ์ระหว่าง เจริญ ประธานกลุ่มทีซีซี (บริษัทแม่ บมจ. ไทยเบฟ) กับ พ.ต.ท.ทักษิณ จืดจางลงไปทันที แม้ธุรกิจของกลุ่มแลนด์แอนด์เฮ้าส์ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนขั้วการเมือง แต่ อนันต์รู้สึกตัวเองถูกเพ่งเล็งจาก คมช. พอสมควร!!
อีกรายคือ ประยุทธ มหากิจศิริ นักอุตสาหกรรหนัก และเป็นอดีต รองหัวหน้าพรรคทรท.ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ประยุทธ์หรือ "เสี่ยเนสกาแฟ" ถูกวิจารณ์เรื่องได้ประโยชน์
จากการเป็นกลุ่มทุนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ หลายโครงการ เช่นการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ระหว่าง บมจ.ไทยคอปเปอร์ ที่ประยุทธถือหุ้นใหญ่และดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กับ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.)ที่ ประยุทธสามารถลดหนี้(แฮร์คัท) จาก 11,000 ล้านบาทลงเหลือ 5,000 ล้านบาท หรือหนี้ลดไป 60 % แต่สถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว บมจ.ไทยคอปเปอร์ ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบังกำลังถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานรัฐว่าเป็นตัวการปล่อยมลพิษ กระทั่ง เสี่ยเนสกาแฟต้องออกมาพูดตีกันว่าอย่าใช้การเมืองมาตรวจสอบ
กลุ่มทุนอีกรายคือ กลุ่ม กรรณสูตร (สายอิตาเลียนไทย) บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนท์ โดย เปรมชัย กรรสูตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ยุครัฐบาลทักษิณได้งานใหญ่ในสนามบินสุวรรณภูมิ และโครงการบ้านเอื้ออาธรอีกชุดใหญ่ แต่สภาพวันนี้ บมจ.อิตาเลียนไทย ตกเป็นจำเลยสังคมในกรณีปัญหาจากการก่อสร้างในสนามบินสุวรรณภูมิ และสัญญาก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาธรที่เซ็นสัญญากับ การเคหะแห่งชาติ ไปแล้ว 300,000 หน่วยที่สร้างเสร็จไปแล้ว 60,000 หน่วยเหลืออีก 340,000 หน่วย กำลังถูกทบทวนซึ่งไม่แน่นักว่า บมจ.อิตาเลียนไทยฯจะเหลืองานจากส่วนนี้เท่าไหร่
สำหรับวิชัย รักศรีอักษร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท คิงส์พาวเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ช่วงรัฐบาลที่แล้วหลายกลุ่มอิจฉาวิชัยที่ได้สิทธิในการบริหารพื้นที่ใน สนามบินสุวรรณภูมิ และมีเสียงวิจารณ์ว่า วิชัย ชี้พื้นที่ตรงไหนในสนามบินต้องได้ตรงนั้น กระทั่งเกิดปัญหาพื้นที่งอก หากสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว สัญญาที่ บริษัท คิงส์พาวเวอร์ฯทำไว้กำลังถูกตรวจสอบที่มาที่ไปว่าโปร่งใสหรือไม
กลุ่มทุนต่อไปคือกลุ่มสามารถ หรือ บมจ. สามารถ คอร์ปอเรชั่น ภายใต้การนำของ ธวัชชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ตระกูลวิไลลักษณ์เปรียบเหมือนเพื่อนสนิทของตระกูลินวัตรและสายสัมพันธ์มายาวนาน ช่วงรัฐบาลทักษิณ กลุ่มสามารถร่วมกับพันธมิตรได้งานพัฒนาระบบสารสนเทศภายในสนามบิน (AMIS) และรับเหมาขนขยะ แม้วันนี้ กลุ่มสามารถยังไม่ถูกตรวจสอบเช่นเดียวกับกลุ่มทุนอื่นๆหากการดำเนินธุรกิจของกลุ่มสามารถส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของรัฐ ในช่วงต่อไปนี้คงไม่ราบรื่นเหมือนก่อนแน่
สิ่งที่กลุ่มทุนที่เคยแวดล้อม พ.ต.ท.ทักษิณ เผชิญอยู่ในวันนี้ ถือเป็นสัจจธรรม เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ผลประโยชน์ก็เปลี่ยนไป ยิ่งครั้งล่าสุดเป็นการเปลี่ยนแปลงมิได้ เป็นไปตามครรลองระบอบประชาธิปไตยหากเป็นไปด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจ โดยยกเรื่องอดีตนายกรัฐมนตรีเกี่ยวพันกับคอรัปชั่นเป็นหนึ่งในข้ออ้างที่ตัดสินใจกระทำการดังกล่าว
ด้วยเหตุผลข้างต้น การจัดการกับคน รวมทั้ง กลุ่มทุนใกล้ตัวอดีตนายกรัฐมนตรี จึง
มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ด้านหนึ่งเพื่อตอกย้ำความชอบธรรมในการยึดอำนาจของ คมช. และอีกด้านหนึ่งเป็นการตัดตอนเครือข่าย และระบบทุนเพื่อเป็นหลักประกันว่าระบอบทักษิณจะไม่ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก .
