นายกฯสั่งยธ.แก้ก.ม.เพิ่มอำนาจคตส.
6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 19:30:00
ปปช.ตั้ง"วิชา"ประธานอนุกรรมการด้านกฎหมาย ดันแก้เพิ่มอำนาจปราบโกง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : มีรายงานข่าวจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เปิดเผยว่า ในที่ประชุมวันนี้( 6 ก.พ.) มีการหารือกรณีที่ข้าราชการยังไม่กล้าให้ข้อมูลและความร่วมมือกับ คตส.หากต้องการกฎหมายที่จะให้คตส.ทำงานได้ง่ายขึ้น ต้องใช้กฎหมายภาวะไม่ปกติ คือ แก้ไขกฎหมายป.ป.ช.มาตรา 66-68 หรือแก้ประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 เพื่อให้คตส.มีอำนาจและสิทธิในการร้องทุกข์กล่าวโทษการทุจริตโครงการต่างๆต่ออัยการได้โดยตรง ซึ่งเรื่องดังกล่าวพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ดูแลเรื่องการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มอำนาจคตส. วันเดียวกัน นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกป.ป.ช. แถลงผลการประชุม ว่า การเตรียมปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ ป.ป.ช.นั้น ขณะนี้รัฐธรรมนูญจะต้องร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งกรรมการป.ป.ช.ได้ตั้งอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายขึ้นมาแล้ว โดยมีนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการฯ ซึ่งกำลังพิจารณาว่ากฎหมาย ป.ป.ช.ทั้งหมด ว่ามีปัญหาอย่างไร ควรแก้ไขอย่างไรบ้าง สำหรับประเด็นที่สำคัญคือ เรื่องการเป็นผู้เสียหายในคดีที่เกี่ยวกับนักการเมือง ซึ่งขณะนี้ คตส.กำลังประสบปัญหาตรงนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าหากจะแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในเรื่องนี้ในมาตรา 66,67,68 เพื่อคลายล็อคเกี่ยวกับผู้เสียหายนั้น ป.ป.ช.ก็ไม่ได้ขัดข้องและสนับสนุน แต่เห็นควรที่จะให้กระทรวงยุติธรรมเป็นแม่งาน และนำเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)พิจารณาต่อไป
ส่วนกรณีที่รัฐบาลอยากให้มีการขยายอายุความ เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตนั้น กรรมการ ป.ป.ช.จะมาพิจารณารายละเอียดกันอีกครั้ง โดยจะมีการประชุมสัมมนาร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ และผู้บริหารระดับสูง ในช่วงปลายเดือนนี้ เพื่อระดมสมองในการแก้ไขกฎหมาย การบริหารงานบุคคล และยุทธศาสตร์ต่างๆ
นอกจากนี้ เห็นชอบแผนการจัดกิจกรรมในโครงการเสริมประสานวาระแห่งชาติ ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ที่รัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2549 โดยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้ จะเดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อประสานในเรื่องดังกล่าว
สำหรับกิจกรรม มีดังนี้ 1.ขอพระราชทานและอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ ประดิษฐานด้านหน้าอาคารสำนักงานป.ป.ช. ถ.พิษณุโลก และเปิดผ้าคลุมคำขวัญ ข้อความ ล้างทุจริตให้สิ้นแผ่นดินไทย ถวายไท้องค์ราชันย์ 2.พิธีถวายคำปฏิญาณของผู้นำองค์กรต่างๆ อาทิ ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ องค์กรอิสระ และองค์กรภาคเอกชน โดยทำพร้อมกันทั่วประเทศ
3.จัดสัมมนาทั้งที่กรุงเทพฯและภูมิภาค เพื่อให้ได้ผลเนื้อหา แนวคิด รูปแบบวิธีการที่นำไปสู่การปฏิบัติให้เป็นไปตามแนวพระบรมราโชวาท พระราชดำรัส เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตให้เกิดเป็นรูปธรรม 4.จัดกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านการทุจริตตลอดปี 5.กำหนดยุทธศาสตร์ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเพื่อเป็นแผนแม่บท 6.ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. 2542 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ
7. ดำเนินการวิจัยเพื่อสนับสนุนป้องกันและปราบปรามการทุจริต 8. พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้งานรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ 9.ประสานงานกับองค์กรต่างๆระดับนานาชาติและนักวิชาการด้านต่างประเทศมาปรับใช้
10.ติดตามมาตรการ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตภายในหน่วยงานของรัฐให้บังเกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง 11. ดำเนินโครงการประชาศึกษาและชุมชนสัมพันธ์ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 12. ดำเนินโครงการนำร่องการจัดตั้งคณะอนุกรรมการประสานงานป.ป.ช.ประจำจังหวัด 13. โครงการหรือกิจกรรมอื่นๆที่ จะสนับสนุนงานป้องกันแก้ไขปัญหาการทุจริต
http://www.bangkokbiznews.com/2007/02/06/WW01_0101_news.php?newsid=3079ถั่วสุก งาไหม้ รึป่าว