จำคุกประธานฮุนได3ปีข้อหาฉ้อโกง
6 กุมภาพันธ์ 2550 กองบรรณาธิการ
ศาลกรุงโซลพิพากษาจำคุก ชุง มง-คู ประธานกลุ่มฮุนไดมอเตอร์ เป็นเวลา 3 ปี ข้อหาฉ้อโกงเงินกว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะกลุ่มธุรกิจต่างร้องขอศาลผ่อนผันบทลงโทษ
ชี้คำพิพากษาอาจสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ
คิม ดอง-โอ หัวหน้าผู้พิพากษาศาลกรุงโซล เกาหลีใต้ อ่านคำพิพากษาตัดสินจำคุกนายชุง มง-คู ประธานกลุ่มฮุนไดมอเตอร์ เป็นเวลา 3 ปี ในข้อหายักยอกฉ้อโกงทรัพย์สินด้วยการตกแต่งบัญชีเป็นจำนวนเงินราว 90,000 ล้านวอน หรือราว 96 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำไปติดสินบนนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งศาลระบุว่าเป็นการกระทำ "ที่ละเมิดคดีอาญาอย่างชัดเจน"
ชุง ในวัย 68 ปี มีสีหน้าเรียบเฉยหลังรับฟังคำพิพากษา และปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ โดยชุงถูกจับเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว ก่อนถูกกักขังไว้ 2 เดือน และได้รับการประกันตัวในวงเงิน 1,000 ล้านวอน ขณะที่โฆษกของฮุนได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า คำพิพากษารุนแรงมาก "เราผิดหวังกับคำพิพากษาที่ออกมา โดยท่านประธานชุงจะยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไป"
ขณะที่ทนายของชุง ร้องขอศาลให้มีการผ่อนผัน พร้อมกับชี้ว่า หากนำตัวจำเลยไปกักขังจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงต่อกลุ่มฮุนได อีกทั้งยังจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ ธุรกิจกลุ่มฮุนไดมอเตอร์มีบริษัทเกียมอเตอร์รวมอยู่ด้วย ครองสัดส่วนตลาดยานยนต์ในประเทศถึง 70% คิดเป็น 5.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีของเกาหลีใต้ อีกทั้งยังเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 6 ของโลก
แต่ผู้พิพากษาคิมกล่าวว่า พฤติกรรมของชุงนั้นละเมิดกฎระเบียบของบริษัท "ศาลไม่สามารถช่วยอะไรได้ การกระทำที่ผิดกฎระเบียบควรจะถูกถอนรากถอนโคนออกไปจากแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของเกาหลีใต้"
ศาลกรุงโซลยังพิพากษาผู้บริหารระดับสูงของฮุนไดอีก 3 คน รวมถึงรองประธานบริษัท คิม ดอง-จิน ว่ามีความผิดด้วย แต่บทลงโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้เนื่องจากทั้ง 3 คนปฏิบัติตามคำสั่งของประธานบริษัท
ด้านปาร์ก กุน-ยอง นักเคลื่อนไหวเศรษฐกิจ แสดงความเห็นต่อผลคำพิพากษาของศาลว่า เบาเกินไปเมื่อเทียบกับข้อเรียกร้องของอัยการที่ให้จำคุก 6 ปี "หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ศาลจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ไม่มีการผ่อนผันให้นักธุรกิจที่กระทำความผิด"ขณะที่โช ชูล นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมยานยนต์จากสถาบันเศรษฐกิจการค้าเกาหลีใต้ กล่าวว่า คำพิพากษาจะส่งผลกระทบด้านลบในการกระตุ้นการเติบโตของฮุนไดมอเตอร์ รวมถึงส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์คุณภาพของผลิตภัณฑ์ในสายตาของลูกค้า ด้านหอการค้าและอุตสาหกรรมเกาหลี เรียกร้องให้มีการผ่อนผันบทลงโทษเช่นกัน
ทั้งนี้ ชุงซึ่งเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของเกาหลีใต้ ขึ้นมาเป็นประธานกลุ่มฮุนได เมื่อปี 2542 เคยประกาศเป้าหมายว่าจะก้าวขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ยานยนต์อันดับ 5 ของโลก แต่การถูกตัดสินจำคุกของชุง ทำให้ฮุนไดต้องเลื่อนแผนการขยายตลาดในยุโรปและสหรัฐอเมริกาออกไป
ก่อนหน้านี้ ฮุนไดยังมีปัญหาขัดแย้งในกับพนักงาน ยอดขายที่ตกต่ำ และการแข่งขันด้านราคากับคู่แข่งสำคัญจากญี่ปุ่นด้วย ทำให้สูญเสียมูลค่าตลาดไปกว่า 1.6 ล้านล้านวอนเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่ราคาหุ้นร่วงลงกว่า 30%.
ไทยโพสต์
http://www.thaipost.net/index.asp?bk=thaipost&post_date=6/Feb/2550&news_id=137557&cat_id=800
ประเทศไทยน่าเอาเป็นตัวอย่าง ถ้าทำได้ระดับที่เกาหลีทำ
น่าจะถือได้ว่าเป็นการปราบคอรัปชั่นที่เข้าหลักธรรมาภิบาลจริงๆ