รัฐบาลไม่สนลูกเล่นไอทีวี ขีดเส้นต้องจ่ายค่าสัมปทาน 2.2 พันล้านบาท วันที่ 31 ม.ค.นี้ก่อน ส่วนเรื่องอื่นค่อยว่ากันวันหลัง “อุ๋ย” บอกไม่อยากโง่ติดดิน
วันนี้ (25 ม.ค.) นายจุลยุทธ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวถึงผลการประชุมระหว่าง สปน.กับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เกี่ยวกับ 5 แนวทางในการดำเนินแก้ไขการเรื่องการชำระเงินคงค้างค่าสัมปทานและค่าปรับว่า การประชุมวานนี้ (24 ม.ค.) เป็นการพิจารณาด้านหลักการที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียด
เมื่อถามว่า ได้รับหนังสือที่ผู้บริหารไอทีวีขอผ่อนชำระค่าสัมปทาน 2 ปีวงเงิน 2 พันกว่าล้านบาทให้ภายใน 5 ปีแล้วหรือไม่ นายจุลยุทธ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับและไม่รู้ว่าจะเสนอมาอย่างไร หากได้รับหนังสือแล้วก็พร้อมพิจารณา โดยจะพิจารณาทั้งหมดและหารือกับกระทรวงการคลังด้วย เพราะในอดีตที่ผ่านมานั้นไอทีวีเคยผิดนัดการชำระค่าสัมปทาน 600 กว่าล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังยืนยันว่าไอทีวีผิดนัดชำระ ฉะนั้น ต้องสอบถามกระทรวงการคลังหากผิดนัดอีกจะดำเนินการอย่างไร
นายจุลยุทธ กล่าวว่า สปน.จะส่งหนังสือคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการตามที่ไอทีวีเสนอ และจะส่งหนังสือไปยังอัยการสูงสุดให้บังคับคดี โดยหนังสือทั้ง 2 ฉบับนี้จะส่งไปพร้อมๆ กัน เมื่อถามว่า หากไม่แต่งตั้งคณะอนุญาโตตุลาการตามข้อเสนอของไอทีวีแล้วนั้นจะมีวิธีอื่นๆ หรือไม่ นายจุลยุทธ กล่าวว่า หากไอทีวีไม่เห็นด้วยก็สามารถฟ้องศาลแพ่งได้ หากศาลรับตัดสินสปน.ก็พร้อมให้ศาลพิจารณา
ส่วนการนำ 5 แนวทางแก้ไขปํญหานี้เสนอให้ ครม.ชี้ขาดนั้น นายจุลยุทธ กล่าวว่า จะเสนอเรื่องนี้ให้ ครม.พิจารณาแต่ยังหาจังหวะอยู่ รวมทั้งจะเสนอเรื่องการคัดค้านการตั้งอนุญาโตตุลาการด้วย หาก ครม.เลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่งแล้ว สปน.ก็พร้อมรับมาดำเนินการและ ตนได้แจ้งเรื่องนี้ด้วยวาจาให้คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ รับทราบด้วยวาจาแล้ว โดยที่คุณหญิงทิพาวดีไม่ได้ว่าอะไร
ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กรณีไอทีวียื่น 5 แนวทางในการชำระสัมปทานค้างจ่ายจำนวน 2,210 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดต้องชำระในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ว่า วันนี้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รายงานความคืบหน้ากรณีไอทีวีต้องจ่ายสัมปทานให้กับนายกรัฐมนตรีรับทราบ โดยนำตนไปด้วย ซึ่งทางไอทีวีได้เสนอแนวทางมาหลายอย่าง และจากการปรึกษากันบอกว่า 1. ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ทางไอทีวีต้องนำเงินในส่วนนี้มาจ่ายก่อน ส่วนเรื่องอื่นค่อยมาว่ากันทีหลัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ให้แนวทางอย่างนี้
เมื่อถามว่า แสดงว่าคณะรัฐมนตรีจะไม่พิจารณา 5 แนวทางที่ไอทีวีเสนอมา จนกว่าไอทีวีจะจ่ายเงินค่าสัมปทานค้างจ่าย ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าวหนักแน่นว่า ใช่ ถ้าพิจารณาก่อนก็เสียเปรียบ อะไรที่ศาลตัดสินแล้วต้องปฏิบัติก่อน ถ้าไม่ปฏิบัติเริ่มไปคุยตัวอื่นคุณแพ้เขาทั้งวัน ถ้าศาลยังไม่ตัดสินไม่ว่า นี่ศาลตัดสินแล้วยังจะมาขออย่างอื่นอีก ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะฟ้องกันทำไมเหนื่อยตาย
เมื่อถามว่า ในส่วนที่ไอทีวีไปยื่นคำร้องต่ออนุญาโตตุลาการ รองนายกฯ กล่าวว่า เรื่องค่าปรับผิดสัญญากรณีปรับผังจำนวนกว่า 97,000 ล้านบาทนั้น ไว้คุยทีหลัง ขอ 2,210 ล้านบาทมาก่อน ต้องเอาทีละขั้น ถ้า 2,210 ล้านบาทยังไม่มาจะไปคุยให้เหนื่อยทำไม เอา 2,210 ล้านบาทมาก่อน
เมื่อถามถึงกรณีที่ไอทีวีเสนอแนวทางให้รัฐซื้อหุ้นคืน ม.ร.ว.ปรีดียาธร ย้อนถามว่า “ต้องเอาเงินไปให้เขาหรอ ทำไมต้องเอาเงินไปให้เขา ทุกอย่างเขาต้องเอาเงินให้เรา คิดดูถ้าเราเอาเงินไปให้เขา แล้วเขาบอกว่าเราเอาเงินไปให้ แหมถ้าใครทำโอ้ย..ต้องบอกว่าโง่ติดดินเลยนะ” เมื่อถามว่า หากไอทีวีไม่มีเงินสด 2,210 ล้านบาทมาจ่ายจะทำอย่างไร รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องดูก่อนซิ ถ้าไปบอกอย่างนี้ก็เท่ากับเชียร์เขา ต้องบอกว่าเขาผิด ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งไปให้ท่าเขา
ขณะที่ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล อดีต ส.ว.สุพรรณบุรี และอดีตกรรมการบริหารฝ่ายข่าวบริษัท ไอทีวี จำกัด กล่าวถึงการยื่นข้อเสนอของไอทีวีเพื่อจ่ายค่าสัมปทานค้างจ่ายว่า แนวทางทั้งหมดที่ไอทีวีเสนอมาถือเป็นดุลพินิจของ สปน.ว่าจะทำตามหรือไม่ก็ได้ เพราะท้ายที่สุดหากไอทีวี ไม่มีเงินชำระค่าสัมปทานและค่าปรับรวมกว่าแสนล้าน สปน.ก็สามารถยึดสัมปทานคืนได้อยู่แล้ว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าจะยึดคืนมาหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังมีข้อกังขาว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกฯ และคุณหญิงทิพพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำฯ ที่เป็นผู้กำกับนโยบายไม่มีความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาเชิงนโยบาย จึงทำให้นักธุรกิจมายื่นข้อเสนอตามอำเภอใจได้
“การยื่นข้อเสนอของไอทีวีต่อ สปน.ไม่ใช่หน้าที่ของไอทีวี เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับ สปน.จะเป็นผู้สั่งการด้วยตัวเอง ดังนั้นจึงขอเตือนให้รัฐบาล และ สปน.รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของนักธุรกิจ เพราะโดยธรรมชาติของการทำธุรกิจ ย่อมมีการถ่วงเวลาเพื่อนำเงินไปหมุนทำอย่างอื่นอยู่แล้ว รัฐบาลไม่ควรหน่อมแน้มกับเรื่องที่เด็ดขาด เพราะหากไปอ่อนข้อให้คนผิด ประชาชนก็จะกล่าวหาว่ารัฐบาลเปิดช่องซูเอี๋ยให้กับไอทีวี เมื่อรัฐบาลเด็ดขาดแล้วก็สามารถยึดคืนสัมปทานกลับคืนมาเป็นของรัฐ แต่ทั้งนี้ บมจ.ไอทีวีก็จะต้องจ่ายหนี้กว่าแสนล้านที่ค้างจ่ายอยู่เต็มจำนวน” นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า กระบวนการหลังการยึดคืนไอทีวีสามารถไปฟ้องศาลแพ่งเพื่อให้ศาลตัดสินให้เป็น นิติบุคคลที่ล้มละลายได้หรือไม่ก็ไประดมทุนจากผุ้ถือหุ้น ซึ่งตนเชื่อว่าผู้ถือหุ้นจากไอทีวี หรือชินคอร์ปไม่ใช่คนจน ทุกคนล้วนมีทรัพย์สินมากมายมหาศาลทั้งนั้น โดยเฉพาะกองทุนเทมาเส็กที่ขณะนี้เกือบจะเรียกว่าเป็นผุ้ถือหุ้นรายใหญ่ แต่ปัญหาตอนนี้ไอทีวีไม่ยอมควักเงินแม้แต่บาทเดียว แต่กลับยื่นข้อเสนอเพื่อต่อรองและประวิงเวลาเพื่อไม่ให้ตัวเองเสียเปรียบ
http://manager.co.th/Politics/ViewNews.aspx?NewsID=9500000009800