วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 3865 (3065)
ความจริงครึ่งเดียว
คอลัมน์ โปร่งใสไร้เหลี่ยม
โดย ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์
ในซุกหุ้นภาคสาม :
ก่อนการขายหุ้น บจม.ชินคอร์ปอเรชั่น ของครอบครัว ชินวัตร-ดามาพงศ์ จำนวน 1,487.7 ล้านหุ้น มูลค่า 73,269 ล้านบาทให้แก่ บริษัท เทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ในวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 เพียง 2 วันมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 (แก้ไขในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลต่างด้าวในกิจการโทรคมนาคม ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่าวด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งหมายถึงบุคคลต่างด้าวสามารถถือหุ้นเพิ่มได้ถึงร้อยละ 49) เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 และมีผลบังคับใช้วันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2549 จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจหน้าที่ในการเร่งผลักดันกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ในการขายหุ้นของครอบครัวครั้งนี้
อย่างไรก็ตาม มีการทำหนังสือปกแดงชื่อ "ข้อเท็จจริงกรณีขายหุ้นชินคอร์ป" (ไม่ระบุแหล่งพิมพ์และชื่อผู้เขียน) ชี้แจงข้อกล่าวหากรณีการขายหุ้นชินคอร์ปของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ทุกเรื่องรวมทั้งการแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วยโดยอ้างว่า "เราทำตามกติกา ที่เราไม่ได้เป็นคนเขียน" จึงไม่รู้ว่า "เรา" ในที่นี้หมายถึงใคร แน่
คำชี้แจงลึกลับดังกล่าวอ้างว่า เดิมนั้น รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 โดยกำหนดสัด ส่วนผู้ถือหุ้นบุคคลต่างด้าวในกิจการโทรคมนาคมให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจคนต่างด้าง พ.ศ. 2542 แต่มีการยุบสภาเสียก่อนในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 ร่างกฎหมายจึงค้างอยู่
จนภายหลังการเลือกตั้งเมื่อต้นปี 2544 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ จึงประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 โดยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคม ว่า สามารถถือหุ้นไม่เกินร้อยละ 25
หนังสือปกแดงอ้างว่า บริษัท แทค บริษัท ซีพี ออเรนจ์ (หรือทรูในปัจจุบัน) และบริษัททีทีแอนด์ที เป็นผู้เสนอนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น ขอให้แก้ไขกฎหมายให้บุคคลต่างด้าวถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมได้เกินร้อยละ 25 เพื่อรองรับการแข่งขันในการเปิดเสรีโทรคมนาคมซึ่งกระทรวงคมนาคมรับเรื่องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของรัฐสภาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2544
อย่างไรก็ตาม จากตารางเวลาที่หนังสือปกแดงนำเสนอระบุว่า วันที่ 8 ตุลาคม 2546 สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวและตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาพิจารณา แต่ไม่แล้วเสร็จ เพราะสภาหมดวาระ (การประชุม) ในปลายปี 2547
คำถามคือ ทำไมการผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้าในช่วงแรกคือ กว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาวาระแรกกินเวลาเกือบ 2 ปี และอยู่ในคณะกรรมาธิการสภาอีก 1 ปี
คำตอบคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ในเครือชินคอร์ป เป็นผู้ได้เปรียบในธุรกิจโทรคมนาคมอยู่แล้ว ถ้าเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจเดียวกันได้มากขึ้น จะทำให้คู่แข่งเข้มแข็งขึ้นใช่หรือไม่แต่หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 พรรคไทยรักไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง มีการหยิบยกร่างแก้ไขกฎหมายฉบับนี้มาพิจารณาใหม่อีกครั้งในวันที่ 17 เมษายน 2548 โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯขึ้นมาพิจารณา
ปรากฏว่า ร่างกฎหมายผ่านสภาวาระ 2 และ 3 ภายใน 5 เดือน คือวันที่ 14 กันยายน 2548 และผ่านวุฒิสภาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 ใช้เวลาประมาณ 1 เดือนนับแต่ลงมติรับหลักการในวาระที่ 1
คำถามคือ ทำไม รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณสมัยที่ 2 การผลักดันร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาเพียง 6 เดือน ผิดกับรัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ 1 ที่กินเวลายาวนานถึง 3 ปี
คำตอบคือ เพราะครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์วางแผนที่จะขายหุ้นชินคอร์ปให้ได้ภายในปี 2548 ใช่ หรือไม่
หลักฐานดังกล่าวดูได้จากหนังสือ ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 ของ น.ส.ปราณี เวชพฤกษ์พิทักษ์ คนสนิทของคุณหญิงพจมาน ชินวัตรหารือกรมสรรพากรว่า นายพานทองแท้ ชินวัตร มีภาระต้องเสียภาษีหรือไม่กรณีที่ซื้อหุ้นชินคอร์ปราคา 1 บาท จากบริษัท Ample Rich Investment Limited
ดังนั้น ข้อมูลในหนังสือปกแดงที่จัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงเรื่องร่างแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม จึงมีความจริงอยู่เพียง "ครึ่งเดียว" เพราะไม่ยอมพูดถึงการวางแผนการขายหุ้นของครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ด้วย
กลยุทธ์นี้เป็นวิธิการที่ พ.ต.ท.ทักษิณถนัดและใช้เป็นประจำ http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02pol05250150&day=2007/01/25§ionid=0202