(ร่าง)รัฐธรรมนูญฉบับคมช.
โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่
มีคนที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) บางคน บอกว่า 180 วัน สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จนั้นเป็นเวลาที่สั้นมาก น่าจะมีเวลานานกว่านี้ พร้อมกับเสนอว่าอยากให้ขยายเวลาออกไป
หากการพูดนั้นมาจากความเข้าใจในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า ในกรณีสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วันก็ดี สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ประชาชนโดยเสียงข้างมากออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ดี ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.100 คน) ก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่ไม่อาจจะให้อภัยได้ ถ้าพูดหรือคิดสั้นๆ แค่นี้
เพราะ ส.ส.ร.100 คน ควรจะรู้ดีกว่าใคร (ควรจะรู้ดีกว่าคนไม่ได้เป็น ส.ส.ร.ซึ่งทั้งประเทศมีมากกว่า 60 กว่าล้านคน) ว่าการนับเวลา 180 วันนั้นเริ่มตั้งแต่วันแรกของการเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรก ดังนั้น นับแต่วันแรกของการเปิดประชุม (วันที่ 8 มกราคม 2550) ซึ่งได้ตัวประธานและรองประธานสภาร่างฯ 2 คน จากนั้น สภาร่างฯที่ลงเรือลำเดียวกันแล้วย่อมจะต้องช่วยกันจ้ำ ช่วยกันพาย ช่วยกันคิดอ่าน ว่าการจะไปถึงฝั่งให้ทันเวลาที่กำหนดไว้ (วันที่ 2 กรกฎาคม 2550) จะต้องทำอย่างไร
ประการสำคัญ ต้องไม่ปล่อยวันเวลาให้ผ่านไป แม้เพียงวันเดียวโดยไม่มีความคืบหน้าอะไร
ด้วยเหตุนี้ ส.ส.ร.ที่พูดว่าเวลาน้อยและคนไม่ได้พูด แต่รู้ดีว่าเวลา 180 วันค่อนข้างจำกัด จึงต้องร่วมมือกันขวนขวาย ผลักดันให้สภาร่างฯ จัดระบบ การบริหารจัดการ ทำตารางเวลาแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ให้เร็วที่สุดเพื่อจะได้เริ่มต้นเดินหน้าโดยไม่ชักช้า
น่าเสียดาย การเริ่มต้นสตาร์ตในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 35 คน ที่จะเริ่มประชุม และการตั้งคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ การกำหนดวิธีการทำงานของสภาร่างฯ กว่าจะเข้าที่เข้าทางหมดเวลาไปเกือบ 1 เดือน นั้นหมายความว่า เหลือเวลาอีกแค่ 5 เดือนเศษๆ เท่านั้น
5 เดือนเศษๆ เป็นช่วงเวลาของคณะกรรมาธิการยกร่างฯที่จะต้องรีบนำเสนอกรอบการยกร่าง เมื่อยกร่างฯเสร็จจะต้องทำคำชี้แจงว่า ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในเรื่องใด พร้อมด้วยเหตุผล แล้วเสนอส่งไปยัง ส.ส.ร.,คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ,สภานิติบัญญัติแห่งชาติ,คณะรัฐมนตรี,ศาลฎีกา,ศาลปกครองสูงสุด,คณะกรรมการการเลือกตั้ง,คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ,ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน,ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ,สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ,สถาบันอุดมศึกษา เพื่อให้องค์กรเหล่านี้พิจารณาและเสนอความคิดเห็น
กฎเกณฑ์กำหนดไว้ดังนี้ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แต่ละองค์กรจะได้ประชุมบุคลากรอย่างเป็นกิจจะลักษณะเพื่อพิจารณาซึ่งไม่ได้ห้ามหากจะเสนอความคิดเห็นเรื่องอื่นๆ นอกเหนือไปจากเรื่องที่เกี่ยวข้องกับองค์กรของตน สำหรับสถาบันอุดมศึกษาซึ่งมีอยู่มาก ข้อคิดเห็นย่อมมาจากหลายแห่งและความคิดเห็นอาจจะสอดคล้องหรือแตกต่างกันก็ได้
พร้อมกันนั้น คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องทำเอกสารชี้แจงให้ประชาชนรับทราบเพื่อให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นเหมือนกับที่การร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2540 เคยทำมาแล้ว
สำหรับ ส.ส.ร.หากใครจะยื่นแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมก็ให้กระทำได้ เพียงแต่ว่า ส.ส.ร.จะลงชื่อรับรองในญัตติไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของ ส.ส.ร.ที่มีอยู่และเมื่อลงชื่อรับรองญัตติใดไปแล้วจะไปลงชื่อรับรองให้กับญัตติอื่นไม่ได้
นี่คือปัญหาที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวล็อคไว้เพื่อไม่ให้มีการยื่นขอแปรญัตติมากเกินไป เหมือนกับที่เคยกระทำกันในการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่ใช่ว่า ส.ส.ร.จะถูกมัดมือมัดเท้าจนทำอะไรไม่ได้ก็หาไม่ ส.ส.ร.อาจเสนอไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างฯให้พิจารณา ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อยู่ที่การจัดรูปการณ์ระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างฯกับ ส.ส.ร.จะเชื่อมประสานกันได้อย่างไร หากคณะกรรมาธิการยกร่างฯใจกว้าง คำนึงถึง ส.ส.ร.และภาคส่วนต่างๆ ในสังคมที่มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องอยากให้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ การจัดทำรัฐธรรมนูญก็จะดำเนินไปด้วยความราบรื่นและจะได้รับการสนับสนุนอย่างกว้างขวางอันจะนำไปสู่ความสำเร็จในการออกเสียงประชาชาติในขั้นตอนสุดท้าย
กฎเกณฑ์วางไว้ว่า มีเวลา 30 วัน สำหรับองค์กรต่างๆ และน่าจะรวมถึงความเห็นของประชาชนที่จะประมวลขึ้นมา ตลอดทั้งคำแปรญัตติของ ส.ส.ร. จากนั้นคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะพิจารณาความเห็นที่ได้รับพร้อมกับแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนจะเสนอต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญให้พิจารณาและลงมติในขั้นสุดท้ายว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่
การทำงานร่วมกันของสภาร่างฯและคณะกรรมาธิการยกร่างฯหากเป็นไปด้วยดีก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่สภาร่างฯโดยเสียงส่วนใหญ่จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นเดียวกับองค์กร สถาบันต่างๆ ในสังคมก็ควรจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญถ้าได้รับการตอบรับอย่างดีในการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างฯ
จะมีปัญหาก็ตรงที่นักการเมือง จะพอใจหรือไม่ ซึ่งเนื้อหารัฐธรรมนูญซึ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การดำรงตำแหน่งทางการเมือง การถูกตรวจสอบ ฯลฯ เป็นเงื่อนไขหลัก อย่างไรก็ตาม นักการเมืองต้องดูกระแสสังคมและสื่อมวลชนด้วยว่าจะเอาด้วยหรือไม่ นอกจากนี้มีเงื่อนไขในเรื่องผลการวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญว่าด้วยการยุบพรรคจะออกมาเช่นไร และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเดินทางมาหรือไม่ ถ้ากลับมาจะวางมือทางการเมืองหรือยังคิดดิ้นรนเพื่อจะกลับไปมีอำนาจทางการเมืองอีกหรือไม่
นี่คือตัวแปรที่อาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและต่อการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2550
การร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างฯ ที่อยู่ในยุคของการรัฐประหาร คณะมนตรีความมั่นคงฯเป็นผู้ออกกติกาต่างๆ กำหนดตัวบุคคลไปเป็นผู้ยกร่างฯและ ส.ส.ร.จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเรียกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ว่า "ฉบับ คมช." เหมือนกับที่เคยเรียกรัฐธรรมนูญปี 2534 ว่าเป็น "ฉบับ รสช." เพราะคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งวชาติ (รสช.) เป็นคณะรัฐประหาร และจัดการให้มีคณะบุคคลมายกร่างขึ้น จะต่างกันก็คือ ฉบับ คมช.วางขั้นและกระบวนการที่เชื่อมต่อไปถึงประชาชน ทั้งการรับฟังความคิดเห็นและการออกเสียงประชามติ ในขณะที่สมัย รสช.ไม่มีกระบวนแบบนี้กระนั้นก็ตาม การเรียกรัฐธรรมนูญ 2550 เป็น "ฉบับ คมช." ก็ดูจะไม่น่าพิสมัยนัก อุตส่าห์รับฟังความคิดเห็นกันมาจากประชาชน แต่สุดท้ายกลายเป็นรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร
หากต้องการให้เรียกว่าเป็นรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชนเหมือนปี 2540 ก็อยู่ที่สภาร่างฯและคณะกรรมาธิการยกร่างฯจะต้องคิดและอยู่ที่กระบวนการร่างว่า ถึงที่สุดแล้ว เนื้อหาในรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับว่าจะเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ (ดีกว่าเดิม)http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act03250150&day=2007/01/25