ไอทีวี ค่าโง่ของ "เทมาเซก"
วันที่ 14 Dec 2006 แสดงข่าวมาแล้ว 1วัน 21ช.ม. 58นาที
ในที่สุดผลคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด กรณีพิพาทระหว่างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน)หรือITV ก็มีผลออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง ที่มีคำสั่งให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลการ เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ทำให้ ITV ต้องจ่ายค่าปรับกรณีปรับผังรายการที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาเดิม และค่าสัมปทานย้อนหลัง ด้วยวงเงินที่สูงถึง 94000 ล้านบาท โดยมีรายละเอียดดังนี้
ศาลปกครองสูงสุด ได้อ่านคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง โดยเห็นว่าคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทอนุญาโตตุลาการ ตามหมายเลขแดงที่ 4/2547 และข้อพิพาทตามหมายเลขดำหมายที่ 29/2545 ที่ให้ สปน.ชดเชยความเสียหายในวงเงิน 20 ล้านบาท
โดยให้ไอทีวีปรับลดผลประโยชน์ค่าตอบแทนตามสัญญา รวมทั้งปรับลดสัดส่วนการเสนอรายการข่าวและสาระประโยชน์ จากเดิมไม่ร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
เพราะเห็นว่าสัญญาร่วมงาน ข้อ 5 วรรค 4 ที่มีการเพิ่มเติมในภายหลัง ไม่มีผลใช้บังคับ เนื่องจากไม่ผ่านมติครม. และไอทีวีเป็นฝ่ายเพิ่มเติมเนื้อหาข้อความดังกล่าว หลังไอทีวีได้รับสัมปทาน ซึ่งถือว่าการร้องของไอทีวี ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทาน เป็นการดำเนินการที่ไม่สุจริต
นอกจากนี้ในคำอุทธรณ์ที่ระบุว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการที่ได้มีการบัญญัติห้ามมิให้ศาลปกครองกลาง พิจารณาคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ แต่มีการบัญญัติตามมาตรา 40 วรรค 3 ของอนุญาโตตุลาการระบุว่า
ในกรณีคำชี้แจงของอนุญาโตตุลาการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ถือว่าศาลปกครองจะพิจารณาเพิกถอนได้ ซึ่งกรณีดังกล่าว คำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ให้ปรับลดสัดส่วนรายการข่าวและสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อบริการสาธารณะ
ศาลปกครองกลางจึงไม่สามารถละละเลยที่จะไม่พิจาณาได้ จึงเห็นว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอยู่ในเขตอำนาจที่ศาลปกครองกลางที่จะเพิกถอนได้ คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการถือว่าชอบแล้วจึงพิพากษายืนตามคำสั่งศาลปกครองกลาง
ขณะเดียวกัน หลังคำพิพากษาพนักงานไอทีวีได้ออกแถลงการณ์ยอมรับคำสั่งศาล และยืนยันว่า จะยึดมั่นในวิชาชีพสื่อและจรรยาบรรณอย่างมั่นคงต่อไป
สำหรับค่าปรับจำนวนเกือบ 1 แสนล้านบาท(รวมค่าปรับ)ที่สปน.บังคับให้ไอทีวีต้องจ่ายฐานผิดสัญญานั้นถือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ต้องไปต่อสู้กันตามขั้นตอนต่อไป
โดยก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางได้พิพากษา เมื่อวันที่ 9 พ.ค.2549 ที่ผ่านมา ให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ที่เคยชี้ขาดให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ลดค่าสัมปทานให้ไอทีวี จากปีละ 1000 ล้านบาท เหลือแค่ปีละ 230 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังให้ สปน.จ่ายค่าชดเชยให้ไอทีวี 20 ล้านบาท
ดังนั้น ผลคำพิพากษาดังกล่าวส่งผลให้ไอทีวีต้องจ่ายให้ สปน.คือ ปีละ 1000 ล้านบาท และไอทีวีต้องปรับผังรายการให้กลับไปเหมือนเดิม คือ สาระต้อง 70 ส่วนบันเทิงแค่ 30 เท่านั้น และไอทีวียังต้องเสียค่าปรับจากการเปลี่ยนแปลงผังรายการในช่วงที่ผ่านมาให้ สปน.ด้วย โดยต้องเสียค่าปรับ 10% ของค่าสัมปทานในแต่ละปีให้ สปน.คิดเป็นค่าปรับประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท และต่อมาทาง สปน.ได้คำนวณโดยบวกค่าปรับจนถึงขณะนี้รวมแล้วเกือบ 1 แสนล้านบาท
คำตัดสินของศาลปกครองกลางต่อ กรณีพิพาทระหว่าง สปน.กับ ITV ทำให้ ITV รับรู้ผลขาดทุนทันที โดยจะต้องกลับมาจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญาเดิมคือปีละ 1000 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยและส่วนต่างค่าสัมปทานย้อนหลัง ประกอบกับต้องมีการปรับผังรายการโดยออกอากาศรายการที่เป็นสาระไม่ต่ำกว่า 70%
รวมทั้งต้องจ่ายเบี้ยปรับผิดเงื่อนไขผังรายการ ซึ่งปัจจุบันวิธีการคำนวณคิดค่าปรับ เกิดความเห็นขัดแย้งระหว่าง สปน. และ ITV โดย สปน. คำนวณคิดค่าปรับ 100 ล้านบาทต่อวัน ขณะที่ ITV เห็นว่าการคิดค่าปรับที่ถูกต้องควรเป็นปีละ 100 ล้านบาท
คนที่ต้องรับวิบากรรมที่สุดคงไม่พ้นผู้ถือหุ้นใหญ่ อย่าง "เทมาเซก" อย่างแน่นอน ..............................ล้อมกรอบ
รากเหว้าของปัญหา
สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ถือกำเนิดจากดำริของ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ต้องการให้มี สถานีโทรทัศน์เสรี เพื่อการนำเสนอข่าวสารและสาระความรู้สู่ประชาชน โดยเปิดให้เอกชนเช่าสัมปทาน เพื่อให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง
การจัดตั้งโครงการสถานีโทรทัศน์เสรีดังกล่าวนั้น มีสาเหตุมาจาก ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 ที่ประชาชนไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะสถานีโทรทัศน์ทั้งหมด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ทำให้รัฐสามารถบิดเบือนการนำเสนอข่าวให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้จัดตั้งสถานีข่าวขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อสำหรับประชาชน
โดยเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (อังกฤษ: Black May) เป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนเคลื่อนไหวประท้วงอำนาจเผด็จการโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ระหว่างวันที่ 17-20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ที่นำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดบนท้องถนน และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2538 สปน.ได้เปิดประมูลสัมปทานการดำเนินงาน สถานีโทรทัศน์เสรี ขึ้น โดย กลุ่มบริษัท สยาม ทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นต้น เป็นผู้ชนะการประมูล และ ได้รับอนุมัติให้ดำเนินงาน โครงการสถานีโทรทัศน์เสรีช่องใหม่ ในระบบ ยูเอชเอฟ (UHF) จาก สปน.
ต่อมา กลุ่มบริษัท สยาม ทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ได้ก่อตั้ง บริษัท สยาม อินโฟเทนเมนท์ จำกัด (ต่อมา ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เมื่อเข้าจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2541) โดยทางบริษัทได้รับสัมปทานจาก สปน. ให้เป็นผู้ดำเนินการมีการลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม
2538 เป็นระยะเวลา 30 ปี สิ้นสุดวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
นับตั้งแต่ วันที่เริ่มต้นแพร่ภาพ นับว่าไอทีวีเข้ามาสร้างความตื่นตัวให้กับวงการโทรทัศน์ไทย โดยเฉพาะวงการข่าวทางโทรทัศน์มาโดยตลอด เมื่อกลุ่มเนชั่นได้เข้าร่วมถือหุ้นและเป็นผู้ผลิตรายการข่าว
ต่อมาเมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ขายหุ้นให้กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น เค้าลางของการเปลี่ยนแปลงในไอทีวีก็เริ่มมีให้เห็น ไม่ว่าจะเป็น การล่าถอยออกจากไอทีวีของกลุ่มเนชั่น กรณีกบฏไอทีวี ตลอดจนทิศทางการนำเสนอข่าว จนในที่สุดเมื่อคณะอนุญาโตตุลาการได้วินิจฉัยของขัดแย้งดังกล่าว ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนแปลงของไอทีวีอย่างสิ้นเชิง เจตนารมณ์ในการนำเสนอข่าวสารด้วยข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นกลาง ถูกตั้งคำถามจากประชาชนมากขึ้น
นอกจากนี้ กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปให้กลุ่มเทมาเส็กจากสิงคโปร์ ทำให้ไอทีวีต้องไปซุกอยู่ใต้ปีกของเทมาเส็กด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งทำให้ภาพของไอทีวีในสายตาประชาชนยิ่งดูย่ำแย่มากขึ้นในแง่ของเจตนารมณ์ในการจัดตั้ง
ในขณะเดียวกัน น้ำหนักของกระแสข่าวว่า มีข้อตกลงจะมีการซื้อคืนหุ้นไอทีวีจากเทมาเส็ก กลับเพิ่มขึ้น เมื่อเกิดความเคลื่อนไหวของกลุ่มทุนหลายรายแสดงความสนใจจะเข้ามาซื้อหุ้นไอทีวี ทั้ง กลุ่มบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด(มหาชน) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือแม้กระทั่งรายล่าสุดคือ นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ โรงพยาบาลปิยะเวท และเป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับทีมที่ปรึกษาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ต่างก็แสดงความสนใจซื้อไอทีวี แม้ว่าบางรายอาจถูกตั้งคำถามว่าเป็นตัวแทนให้กับนายทุนบางกลุ่มหรือไม่
การซื้อหุ้นครั้งนี้ จะต้องเกิดขึ้นภายหลังจากกระบวนการศาลเสร็จสิ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพของไอทีวีในการคำนวณราคาหุ้น และอาจเลยไปถึง เกิดความพยายามให้ สปน. แก้ไขรายละเอียดสัญญาบางข้อ เพื่อเป็นข้ออ้างให้ไอทีวีสามารถดำเนินการต่อไปได้ ไม่ต้องแบกภาระต้นทุนจ่ายผลตอบแทนปีละ 1 พันล้านบาท ขณะที่ช่องอื่นจ่ายเพียงปีละประมาณ 200 ล้านบาท
เป็นที่ทราบกันดีว่าไอทีวี (ITV : Independent Television) ก่อตั้งขึ้นก็เพราะผลจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ที่ขณะนั้นมีการปิดกั้นสื่ออย่างหนัก แต่ความเป็นสื่อเสรีก็อยู่กับไอทีวีได้ไม่กี่ปี ก็ถูกกลุ่มชินคอร์เปอเรชั่นเข้ามาซื้อหุ้น หลังจากนั้นสังคมก็รู้สึกได้อย่างชัดเจนว่าไอทีวีเปลี่ยนไป พอข้ามมาปี 2548 ไอทีวีก็เปลี่ยนมืออีกครั้งจากชินคอร์ปมาสู่อ้อมอกของเทมาเส็ก
ที่มา....จากนสพ.ข่าวหุ้นรายวัน
ขอนุยาดเป็นมาดามตัดแปะ อีกคนนะ หวังว่าคงไม่สงวนลิขสิทธิ์ ฮ่าๆๆๆๆ