โดย หัวปิงปอง 9 พฤษภาคม 2549 17:39 น.ดูเหมือนว่าช่วงนี้ฟ้าเหนือประเทศไทยเราจะเริ่มสีทองผ่องอำไพขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่อึมครึมมานานกับนโยบายการบริหารงานของรัฐบาลภายใต้การดูแลของ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" ที่เรียกกันว่าระบอบ "ทักษิณ" ซึ่งส่อเจตนาชัดเจนว่าทุกอย่างที่ออกมาล้วนมีทิศทางในการที่จะเอื้อสร้างผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเองมาโดยตลอดทั้งสิ้น
ตัวอย่างหนึ่งในนั้นก็คือสถานีโทรทัศน์ "ไอทีวี" ที่ล่าสุดในวันนี้(9)เพิ่งจะมีการตัดสินจากศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการในคดีพิพาทระหว่าง สปน.กับ ไอทีวีในปี 2547(มกราคม)สั่งลดค่าสัมปทานให้ไอทีวีที่ต้องเสียให้กับรัฐฯ จากปีละ 1,000 ล้านบาท เหลือเพียงปีละ 230 ล้านบาท รวมถึงสัดส่วนของรายการข่าว : รายการบันเทิง จากเดิม 70 : 30 เหลือเพียง 50 : 50 ซึ่งกลายเป็นข่าวเกรียวกราวเพราะดูเหมือนว่าคนในรัฐบาลเองบางส่วนจะพอใจอย่างยิ่งกับการที่ประเทศชาติต้อง "เสียค่าโง่" ดังกล่าว
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2538 ที่ทีวีแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นมาซึ่งแม้ว่าจะมีพื้นฐานที่ตีราคาเป็นเงินไม่ได้จากเลือดเนื้อเชื้อไขของคนในชาติรวมทั้งจะเริ่มต้นด้วยคำว่า "สื่อเสรี" ทว่าภาพของความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น ไอทีวีไม่ได้ต่างอะไรเลยจาก "ตู้เอทีเอ็ม" ที่หลายฝ่ายจ้องจะเข้ามากดเงินออกไป
เริ่มกันตั้งแต่ขั้นตอนของการประมูลที่สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมากเมื่อกลุ่มบริษัทสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทในเครือทำธุรกิจด้านโทรทัศน์ สหศีนิมา โฮลดิ้งแอนด์ แมนเนจเม้นท์) ยื่นราคาค่าตอบแทนต่อรัฐฯ สูงถึง 25,000 ล้านบาทตลอดระยะอายุเวลาสัมปทาน 30 ปี
เป็นราคาที่มืออาชีพในวงการทีวีรู้ว่ามีทางเป็นไปได้น้อยมากถึงระดับที่ไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ทว่ารัฐบาล(ยุค "ชวน หลีกภัย") กลับกล้าที่จะรับเอาเงื่อนไขดังกล่าว และก็เป็นไปตามที่หลายคนคาด เมื่อผลการดำเนินการของไอทีวีในระยะ 4 ปี มีผลขาดทุนกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งนั่นเองเป็นชนวนเหตุที่ทำให้กลุ่มทุนในเครือชินคอร์ปของพ.ต.ท.ทักษิณ กระโดดเข้ามาพร้อมกับความวุ่นวายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ "23 กบฎไอทีวี" เรื่องของการบริหารงาน แต่ที่เลวร้ายที่สุดก็คือการที่ไอทีวียื่นเรื่องไปยังอนุญาโตตุลาการ (ประกอบไปด้วย ประดิษฐ เอกมณี จุมพต สายสุนทร และชัยเกษม นิติสิริ) กระทั่งมีคำวินิจฉัยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.)คู่สัญญาปรับลดค่าตอบแทนผลประโยชน์ที่ไอทีวีต้องจ่ายให้กับ สปน.เป็นรายปี จาก 1,000 ล้านบาท เหลือเพียง 230 ล้านบาท, สามารถออกอากาศรายการบันเทิงในช่วงไพร์ไทม์ได้ รวมถึงการปรับลดสัดส่วนของรายการที่มีสาระ อาทิ ข่าว+สารคดี จาก 70 เปอร์เซ็นต์ให้เหลือเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลจากข้อสัญญาที่ทางสปน.ทำไว้กับไอทีวี ข้อ 5 วรรค 4 (*)
นั่นเองที่เป็นเหตุผลให้ทีวีแห่งนี้เดินออกจากจุดประสงค์ที่แท้จริงของการกำเนิดอย่างสิ้นเชิงก่อนจะกลายเป็นเสมือนกับเครื่องมือในการหาผลประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุนประกอบกับการเป็นปากเสียงในการสร้างภาพให้กับรัฐบาล(ที่มีกลุ่มนายทุนรวมอยู่)โดยใช้อำนาจที่มีอยู่
ว่ากันตรงๆ แม้การตัดสินของศาลปกครองที่ออกมาจะมีผลทำให้รัฐฯ ได้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 1,000 ล้านบาทเช่นเดิม รวมทั้งมีแนวโน้มว่าไอทีวีจะต้องเพิ่มสัดส่วนของรายการที่มีสาระ อาทิ ข่าว สารคดี ต่อรายการบันเทิงให้เป็น 70 : 30 เช่นเดิม แต่เราต้องไม่ลืมว่าทีวีช่องนี้ไม่ได้เป็นของคนไทยอีกต่อไปแล้วนับตั้งแต่การขายหุ้นของเจ้าของทุนอย่าง บ.ชินคอร์ปให้กับกองทุนเทมาเส็กจากประเทศสิงคโปร์
ด้วยสถานะของความ "ไร้จุดยืน" ไม่มีรัฐฯ เป็นหลักให้เกาะ จะเป็นช่องข่าวก็ไม่เชิง จะเป็นบันเทิงก็ไร้สีสันอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันเช่นนี้ก็น่าคิดทีเดียวว่าทีวีช่องนี้จะไปแข่งกับใครเขาได้ เพราะหากเปรียบเทียบกับ 3, 5, 7 หรือ โมเดิร์นไน์ ทีวี แล้ว ช่องเหล่านั้นล้วนผ่านร้อนผ่านหนาวและมีจุดแข็งของตัวเองแทบทั้งสิ้น และก็ไม่แน่เช่นกันว่าหากมีการ "หัวหมอ" เกิดขึ้นก็เป็นไปได้สูงทีเดียวที่ว่ารายการที่ทีสาระที่จะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นมานั้น อาจจะหมายถึงรายการที่ชื่นชม เชิดชู ตลอดจนขายความเป็น(วัฒนธรม)สิงคโปร์ ที่เข้ามาล้างสมองคนไทยเราถึงหัวบันได ซึ่งถึงตอนนั้นก็คงจะต้องถามคนในไอทีวีกันแล้วล่ะว่ายังมีความรู้สึกภูมิใจหรือคิดว่าตนเองยังมีความเก่งกาจกันอยู่อีกหรือไม่?
แต่กว่าจะไปถึงวันนั้น "หัวปิงปอง" ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทันทีที่มีคำสั่งจากศาลปกครองออกมาจนเป็นเหตุที่ทำให้ราคาหุ้นของไอทีวีหล่นลงระนาว(24.06%)ทันทีเช่นกันนี้ จะทำให้คนในไอทีวีมีกะจิตกะใจเผื่อไปคิดถึงเรื่องที่ว่าหรือเปล่า
บอกหน่อยได้มั้ยเอ่ย...?
.....
หมายเหตุ (*) : หลังจากวันทำสัญญานี้ หากสำนักงานหรือหน่วยงานรัฐให้สัมปทานอนุญาต หรือทำสัญญาใด ๆ กับบุคคลอื่น เข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุ โทรทัศน์ โดยมีการโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับการเป็นสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมการงานได้รับผลกระทบต่อฐานะการเงินของผู้เข้าร่วมงานอย่างรุนแรง เมื่อผู้เข้าร่วมงานร้องขอ สำนักงานจะพิจารณาและเจรจรกับผู้เข้าร่วมงานโดยเร็ว เพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายที่ผุ้เข้าร่วมงานได้รับจากผลกระทบดังกล่าว
ซึ่งในขณะนั้นโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 และยูบีซี เคเบิลทีวี เริ่มปรากฏมีโฆษณามาออกอากาศทางสถานี เป็นเหตุให้ไอทีวี ยื่นเรื่องร้องเรียนจนประสบผลสำเร็จ (ที่มาข่าวปกนสพ.ผู้จัดการรายสัปดาห์)
http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9490000061053ทบทวนกันหน่อย