ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 16-10-2006, 12:15



หัวข้อ: รื้อแต้มต่อ กฟผ.รวบผลิตไฟฟ้า
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 16-10-2006, 12:15
รื้อแต้มต่อ กฟผ.รวบผลิตไฟฟ้า
วันที่ : 16/10/49 ที่มา : มติชน


เน้นเปิดเอกชนแข่งลดค่าบริการ

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงนโยบายการเปิดให้เอกชนประมูลก่อสร้างโรงไฟฟ้าหรือไอพีพี รอบใหม่ว่า จะต้องมีการทบทวนหลักเกณฑ์เดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วกำหนดไว้ เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมประมูล โดยเฉพาะการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้รับสิทธิก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ในสัดส่วน 50% ของความต้องการไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในปี 2554-2558 โดยไม่ต้องมีการประมูล ซึ่งกำหนดไว้รองรับสำหรับการแปรรูป กฟผ. แต่ปัจจุบัน กฟผ.ไม่ได้มีการแปรรูปแล้ว จึงต้องนำเรื่องนี้มาทบทวนใหม่ ประเมินทั้งความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ฐานะทางการเงินของ กฟผ. เพราะโรงไฟฟ้าใหม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก

"การให้สิทธิ กฟผ. 50% ไม่มีเหตุผลที่จะต้องให้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว เพราะการผลิตไฟฟ้าควรจะเปิดกว้างให้มีการแข่งขันมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการแข่งขันจะนำมาซึ่งค่าไฟราคาถูก ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะได้ประโยชน์มากกว่า ดังนั้นนโยบายต่างๆ ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องมาก่อน" นายปิยสวัสดิ์กล่าว และว่า เช่นเดียวกับกรณีของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก้ กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน) ที่เอกชนรายอื่นไม่อยากให้เข้าร่วมประมูล เพราะเป็นบริษัทลูก กฟผ. อาจจะผูกขาด ก็ไม่มีเหตุผล เพราะถ้าให้เข้าร่วมไอพีพีได้ก็จะเกิดการแข่งขันมากขึ้น ผู้ใช้ไฟฟ้าก็จะมีทางเลือกมากขึ้น ในขณะที่ 2 บริษัทก็เติบโตต่อไปได้

นายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังต้องมีการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ ทั้งในส่วนของค่าไฟฟ้าฐานและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) เพราะโครงสร้างเดิมก็ทำไว้รองรับการแปรรูป กฟผ. เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการกำหนดให้ราคาอ้างอิงผลตอบแทนการลงทุน (ROIC) กว่า 8% เท่ากับว่าการรับรองผลตอบแทนการลงทุนไว้ล่วงหน้า ซึ่งกิจการทั่วไปไม่มีแบบนี้ ประกอบกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าเดิมยังส่งผลให้ผู้ผลิตสามารถผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดไปยังค่าไฟฟ้าได้ ทั้งๆ ที่หากเปิดให้มีการแข่งขัน แม้ว่าต้นทุนจะเพิ่มสูงขึ้นก็ไม่สามารถผลักภาระทั้งหมดไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าได้ เพราะการแข่งขันจะบังคับให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนเอง

"ทางกระทรวงจะเร่งทำหลักเกณฑ์ต่างๆ ให้แล้วเสร็จ และออกประกาศให้เอกชนเข้าร่วมประมูลเร็วที่สุด เพื่อให้สามารถเปิดประมูลได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอาจจะไม่ได้ผู้ก่อสร้างทัน เพราะต้องเผื่อเวลาให้เอกชนยื่นข้อเสนออย่างน้อย 6 เดือน แต่ก็ต้องเริ่มขั้นตอนให้ได้ เพราะหากล่าช้าอาจจะส่งผลกระทบให้ไฟฟ้าในปี 2554 เป็นต้นไปขาดแคลนได้" นายปิยสวัสดิ์กล่าว