ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 06-10-2006, 10:03



หัวข้อ: 3 ทศวรรษ 6 ตุลา’ นาฏกรรมแห่งอุดมการณ์!?
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 06-10-2006, 10:03
ว่ากันตามจริง ยากยิ่งหากใครสักคนจะธำรงอุดมการณ์ช่วงเยาว์วัยให้ช่วงโชติเมื่อล่วงเลยสู่วัยเติบใหญ่ ยิ่งธงนำในชีวิตถักถ้อยร้อยรัดอยู่กับเหตุการณ์พลิกผันชะตากรรมตัวเองแลประเทศชาติด้วยแล้ว ยิ่งหนักหน่วงหากปรารถนายืนหยัดปักธงแผ่นผืนเดิมให้คงมั่นในจิตใจ ไม่สั่นคลอนโยกไหวไปตามผลประโยชน์ลวงเร้าในกลเกมอำนาจและความแปลบปวดรวดร้าวจากความ***มโหดทารุณของบุคคลควบสถาบันฟากฝั่งปฏิปักษ์
       
       แม้ย่างเท้าเข้าทศวรรษที่ 3 แล้ว ทว่าความจริงในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ยังถูกปกปิด กลบเกลื่อนเบือนบิดจนเสี่ยงก้าวพลาดผิดทางความทรงจำและวิชาการ กระทั่งสถาปนาตัวเองเป็นความกระอักกระอ่วน อิหลักอิเหลื่อ ยามเอื้อนเอ่ย ขณะเดียวกันอุดมการณ์ทั้งฝ่ายปราบปรามและถูกล้อมปราบก็เปลี่ยนแปรและถูกท้าทายทดสอบจากโศกนาฏกรรมที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วมในวันมหาวิปโยคยันปัจจุบัน โดยเฉพาะห้วงปี 2549 ที่การเมืองภาคประชาชนเสมือนหวนมาทบทวนพลังและพื้นที่ความทรงจำที่ตกหล่นบนรายทางพัฒนาการประชาธิปไตย
       
       * สายธารอุดมการณ์
       
       ดังทราบกันทั่วไปว่าการพินิจประวัติศาสตร์เฉพาะเหตุการณ์นอกจากคับแคบ ตัดตอนและขาดการเชื่อมร้อย จนไม่อาจเห็นกระแสสายธารประวัติศาสตร์และอุดมการณ์ที่เคียงคู่กันมาทั้งในบริบทการเมืองโลกและประเทศไทยแล้ว ยังอาจตีความคลาดเคลื่อนว่าสงครามเย็นระหว่างสหภาพโซเวียตกับอเมริกาเป็นเพียงแค่ฉากหลัง 6 ตุลา 19 เฉกเช่นขบวนการพลังประชาชน 14 ตุลา 16 ก็มิได้เป็นเงื่อนปมนำไปสู่รัฐประหารใน 3 ปีต่อมา
       
       “6 ตุลา 19 เป็นตรรกะความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองที่ต่อเนื่องจาก 14 ตุลา 16 โดยแนวร่วมเป็นชนชั้นกลางและกลุ่มทุนที่ต้องการสลัดตัวเองให้พ้นจากเผด็จการทหาร โดยขบวนการนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำขับเคลื่อน ประกอบกับการเมืองระหว่างประเทศที่เคยเป็นเสาค้ำทหารก็กลับมาพ่ายแพ้สงครามอินโดจีน การสนับสนุนลดลง จนพลังประชาชนโค่นล้มเผด็จการทหารได้สำเร็จในเหตุการณ์ 14 ตุลา”
       ‘สมชาย หอมลออ’ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เผยลำดับประวัติศาสตร์ที่เสมือนนำชัยชนะมาเยือนประชาชน ก่อนจะหักมุมปราชัย
       ด้วยแม้เผด็จการทหารจะยอมถอยหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่โครงสร้างการเมืองสังคมแค่สั่นคลอนชั่วคราวแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย ขณะนายทุนเองก็กลับมาประนีประนอมมากขึ้นเพราะหวาดกลัวอิทธิพลขบวนการฝ่ายซ้าย นำไปสู่การโดดเดี่ยวขบวนการนิสิตนักศึกษา กระทั่งถูกโต้กลับจากผู้ครองอำนาจเดิมด้วยการล้อมปราบ 6 ตุลา
       
       “เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 แปลกมาก เพราะสังคมไทยในช่วง 14 ตุลามองนักศึกษาเหมือนฮีโร่ ก่อนถึง 6 ตุลากลับกลายเป็นผู้ร้าย แต่หลังเห็นโศกนาฏกรรม ความทารุณโหดร้ายป่าเถื่อนของผู้โจมตีนักศึกษา ความรู้สึกของคนในสังคมก็เปลี่ยนขั้วชั่วข้ามคืนหันมาเห็นใจนักศึกษา อุดมการณ์ขบวนการฝ่ายซ้ายจึงเติบใหญ่ขึ้นมาก” สมชายให้ภาพในห้วงเวลานั้น
       
       ทั้งนี้ เหตุการณ์มหาโหดวันนั้นไม่เพียงเกิดจากดุลอำนาจเปลี่ยนไปหลัง 14 ตุลา หากยังมาจากการปลุกปั่นขบวนการขวาพิฆาตซ้ายอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบความขัดแย้งระหว่างคอมมิวนิสต์กับเสรีประชาธิปไตย โดย ‘ธเนศ วงศ์ยานนาวา’ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ อธิบายว่าภายหลังอินโดจีนเปลี่ยนการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ปี 2519 ก็เป็นดั่งกลจักรผลักการเมืองไทยให้เข้มข้นรุนแรงขึ้น จนผู้อยู่บนโครงสร้างอำนาจต้องตัดสินใจใช้กำลังปราบปรามเพราะสถานการณ์ถึงระดับจ่อคอหอยแล้ว ถ้าไม่เร่งทำก็สูญเสีย
       
       “ความหวาดวิตกขบวนการฝ่ายซ้ายมีนานแล้ว ซึ่งตอนนั้นชัดเจนว่าคนพรรคคอมมิวนิสต์จำนวนมากเกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษา จนถูกไล่ฆ่า ตายไปหลายราย ก่อนจะระเบิดรุนแรงใน 6 ตุลา” ธเนศเล่าพลางอรรถาธิบายต่อว่าอาชญากรรมรัฐครั้งนั้นชอบธรรมถูกต้องตามกฎหมาย ด้วยนิยามของรัฐคือผู้ผูกขาดความรุนแรง ซึ่งจะว่าไปแล้วหากไม่มองมิติถูกหรือผิด จะพบว่าสอดคล้องกับแนวโน้มการปราบปรามด้วยกำลังทหารทั่วโลกห้วงเวลานั้น กระทั่งไม่ขัดเขินในจารีตไทยเองเพราะรัฐมักกระทำการโหด***มไม่น้อยเพื่อจัดระเบียบการเมืองสังคม
       
       อย่างไรก็ตาม ขบวนการนิสิตนักศึกษาไม่ได้แพ้พ่ายในเหตุการณ์ 6 ตุลา แค่ถูกทำลายหลังผลิบานระยะสั้น ดังสะท้อนผ่านถ้อยคำอดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทยปี 2519 ‘อมร อมรรัตนานนท์’ ว่า หลัง 14 ตุลา ขบวนการนักศึกษาเติบโตรวดเร็วกว้างขวาง ขณะทางสากลเองการต่อสู้ระหว่างสังคมนิยมกับเสรีนิยมก็พัฒนาขีดสุด ประชาชนในประเทศต่างๆ ลุกขึ้นไขว่คว้าหาเสรีภาพภายใต้ธงสังคมนิยม
       
       ยุทธศาสตร์ปัญญาชนเป็นแถวหน้าขบวนการปฏิวัติคอยประสานกรรมกรชาวนาได้ผลักดันฝ่ายขวาให้โต้ตอบด้วยวิธีแยกสลายมวลชน เริ่มจากนักเรียนอาชีวะที่กลายเป็นกลุ่มกระทิงแดง นักธุรกิจสู่กลุ่มนวพล รวมทั้งลูกเสือชาวบ้านที่จัดตั้งขึ้นมาสกัดกั้นอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายไม่ให้กัดกร่อนอุดมการณ์หลักของชาติ เพราะแม้จะเป็นแค่โฆษณาชวนเชื่อ แต่ก็ได้รับการบิดเบือนอย่างยาวนานจนเป็นมายาคติที่ไม่มีใครในสังคมตั้งคำถาม
       
       “จากใส่ร้ายป้ายสี ก็เริ่มปราบปรามเป็นรายๆ แต่ไม่อาจหยุดยั้งพลังนักศึกษาได้ กลายเป็นตายสิบเกิดแสน เพื่อนล้มเราลุก กระทั่งการล้อมปราบในธรรมศาสตร์ที่มาพร้อมกับการปิดล้อมสื่อและโฆษณาชวนเชื่อว่าฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป ความรุนแรง 6 ตุลาจึงไม่บังเอิญ แต่เป็นเจตนาของขบวนการขวาพิฆาตซ้ายที่ไม่ต้องการหยุดแค่ประชาธิปไตยทางการเมือง แต่ในทางเศรษฐกิจซึ่งไปกระทบผลประโยชน์ของพวกเขาด้วย”อมรอธิบาย
       
       แต่แล้วผลลัพธ์การบั่นสายธารอุดมการณ์คราวนั้นกลับพูนเพิ่มเนื้อนาดินอุดมสมบูรณ์แก่ขบวนการฝ่ายซ้ายหลังนิสิตนักศึกษาหลายพันชีวิตเลือกวิถีทางต่อสู้ในป่า ก่อนกลับคืนเมืองปี 2523-24 ยามอุดมการณ์บริสุทธิ์เหนื่อยล้าเกินคว้าฝัน ...กระนั้น ใช่ว่าอุดมการณ์หลักจะสูญสลาย กลับแยกย่อยเป็นลำธารน้อยใหญ่มากมายก่อนไหลเวียนมาบรรจบกันอีกคราก่อนและหลังรัฐประหาร 19 กันยา 49
       
       * ลำธารสานฝัน
       
       สายธารอุดมการณ์ที่แตกแขนงจากรั้วมหา’ ลัยสู่ห้องเรียนใหญ่ในสังคมใช่ว่าทุกคนจะกระทำได้เท่าเทียม ด้วยปัจจัยหลายหลากมากมายพาดผ่านเข้ามาทดสอบความหนักแน่นเป็นระยะ ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจว่าทำไม ‘คนเดือนตุลา’ ส่วนหนึ่งจึงยืนข้างระบอบทักษิณ ขณะอีกฝ่ายเคียงข้างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่สำนึกร่วมกันของสังคมคือคนเดือนตุลาน่าจะตกผลึกหนึ่งเดียวไม่ว่าเวลาผันผ่านนานเนิ่น
       
       ทว่า ท้ายสุดเราต่างต้องยอมรับความจริงและให้ความเป็นธรรมแก่คนเดือนตุลาที่แปรเปลี่ยนอุดมการณ์ไปแล้ว ดังคำอธิบายของอดีตนักกิจกรรมที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสจากฝูงชนบ้าคลั่งครานั้นก่อนหยัดยืนอุดมการณ์ปกป้องสิทธิมนุษยธรรมในฐานะประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ว่า เหตุการณ์ทั้ง 14 และ 6 ตุลา เป็นแค่ส่วนเสี้ยวชีวิตของแต่ละคน อีกทั้งผู้เข้าร่วมขบวนการก็มาด้วยหลากเหตุผล หลายภูมิหลัง แม้จะมีจุดร่วมเดียว แต่ท้ายสุดพัฒนาการแต่ละคนก็ต่างกัน
       
       “อุดมการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนได้ด้วยประสบการณ์ สถานะทางสังคม ที่มาของผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่อายุ” สมชายให้เหตุผลก่อนขยายความว่ากระบวนการเรียกร้องให้เพื่อนเดือนตุลาถอยออกจากระบอบทักษิณนั้น ไม่เพียงหวังให้รัฐบาลลดทิฐิและกลับมาอยู่ในครรลองประชาธิปไตย หากยังเตือนว่าความคิดจุดยืนทางการเมืองที่เพื่อนเลือกนั้นไม่ถูกต้อง เพราะบางคนถึงขั้นไม่อาจแยกแยะระหว่างจริยธรรมกับกฎหมาย
       
       ทั้งที่คนเดือนตุลาไม่น้อยบาดเจ็บสาหัสจากการถูกรุมทำร้ายและยัดเยียดข้อหาคุมขังนานหลายเดือน ก่อนอัยการจะสั่งไม่ฟ้องในสุดท้ายเช่นเดียวกับสมชาย แต่หลายคนกลับชาชิน กลมกลืนกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เคยต่อต้านช่วงหนุ่มสาว ไม่ว่าจะความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฐานะ การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร กระทั่งไม่ยอมรับความคิดเห็นแตกต่าง ขัดขวางการเดินขบวน อึดอัดยามเผชิญความขัดแย้ง จนวัฒนธรรมทางการเมืองลักษณะนี้ซ่านซึมสู่คนไทยทั่วไป ส่งผลให้ไม่ใคร่รู้สึกเดือดร้อนนักถ้าเห็นผู้อื่นถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ยกเว้นเกิดกับตัวเองพวกพ้อง
       
       สายธารอุดมการณ์ 6 ตุลา ทั้งๆ ที่พัฒนาการไปไกลกว่า 14 ตุลาถึงขั้นสังคมนิยม ตามการนิยามของผอ.โครงการเอเชียตวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ‘รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ’ กระนั้นท้ายสุดเสมือนว่าจะขาดหายระหว่างทาง แม้จะมีกระบวนการเรียนรู้ตามมาอย่างต่อเนื่องก็ตาม
       
       “ส่วนใหญ่อุดมการณ์การเมืองพลิกผันไปเพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์ที่สัมพันธ์กับความเชื่อ คุณธรรม จริยธรรมที่แต่ละคนยึดไว้ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ของชีวิต รวมถึงคุณค่าความดีงามที่มองด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนได้เพราะประสบการณ์ยันกระทั่งการมีครอบครัว”
       
       * สานสืบคุณูปการ
       
       ใช่ไหมว่า ความ***มโหดระหว่างมนุษย์กระทำต่อกันมักมอบลักษณะพิเศษต่างจากแม่ธรรมชาติสั่งสอนเรา เพราะนอกจากถ่ายทอดเจตนาร้ายชัดแจ้งแล้ว ยังส่งผ่านบทเรียนมากคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไว้เตือนสติคนรุ่นต่อไปให้ระลึกถึงยามสถานการณ์คล้ายๆ กันก่อตัว ไม่เว้นกระทั่งความเถื่อนถ่*** 6 ตุลา 19 ยังปรากฏคุณูปการอุดมการณ์ที่ส่งผ่านกาลเวลามายังปัจจุบันเคียงคู่ความอัปลักษณ์ในอดีตที่สังคมไทยไม่กล้าเชิญหน้าอย่างตรงไปตรงมา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วคนย่อมผิดพลาดกันได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าจะยอมรับว่าตัวเองผิดพลาดหรือเปล่าเท่านั้น
       
       “หากมองย้อนไป อาชญากรรรมรัฐครั้งนี้อธิบายได้ว่าประชาธิปไตยต้องยอมรับความแตกต่างและเปิดกว้างทางความคิด อย่าหวาดกลัวสังคมนิยมโดยไม่เคยศึกษาเพราะนั่นสะท้อนความอ่อนด้อยทางปัญญาของคนในสังคม”อมรแจกแจง
       
       ยิ่งกว่านั้น อมรฟันธงว่าสารัตถะที่ 6 ตุลาส่งผ่านมาถึงปัจจุบันคือเสรีภาพและความเสมอภาคไม่ได้มาด้วยการร้องขอ สายธารการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยยาวนานจนไม่อาจแยกจากการเคลื่อนไหวภาคประชาชนนับแต่อภิวัฒน์การปกครอง 2475 และต่อเนื่องมายังขบวนการนิสิตนักศึกษาช่วง 14 และ 6 ตุลา แม้บางคราปราชัยรวดร้าว กระทั่งสละชีวิต ทว่าอย่าหวังว่าชนชั้นนำจะดลบันดาล ประชาชนต้องผลิตัว ไม่อย่างนั้นดอกผลจะถูกฉกฉวยโดยนักเลือกตั้งดั่งแล้วมา
       
       ครั้นสถานการณ์แวดล้อมแปรเปลี่ยน จะเรียกร้องนิสิตนักศึกษาปัจจุบันเป็นดังรุ่นก่อนจึงนับว่าอยุติธรรม กระนั้นไม่ได้หมายความว่าการขจัดข้อด้อยสังคมไทยที่ไม่เรียนรู้ความถูกต้อง ผิดพลาด หรือสำเร็จในอดีตตามที่ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มองจะไม่สำคัญ ด้วยเราต่างตระหนักว่า 6 ตุลาคือบทเรียนประวัติศาสตร์ที่ชี้ชัดว่าการนองเลือดเลวร้าย แต่น้อยคนนักจะเรียนรู้ ทั้งนี้แนวโน้มน่ายินดีก็มีขึ้นในหมู่ผู้กุมกำลังที่พยายามสร้างวัฒนธรรมไม่ปราบปรามประชาชน จนวิวัฒน์เป็นพื้นฐานสำคัญของการชุมนุมขับไล่ระบอบทักษิณ
       
       ทว่า การส่งผ่านบทเรียน 6 ตุลายังเผชิญขวากนาม ดังรศ.ดร.ธเนศ อธิบายว่าโดยวิธีการสร้างประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากการบันทึกรวบรวมเรียบเรียงเพื่อสร้างเรื่องในอดีตขึ้นมาอีกครั้งในความเข้าใจและความทรงจำของคนรุ่นหลังนั้นส่งผลให้การสังหารโหด 6 ตุลาถูกเหมารวมว่าปกติธรรมดาเนื่องด้วยเป็นการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับรัฐบาล จึงไม่เผยที่มาที่ไปหรือใครต้องรับผิดชอบ จะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกนานตราบใดที่สังคมไทยยังอยู่ในโครงสร้างวัฒนธรรมแบบชนชั้นนำอนุรักษ์นิยม
       
       “30 ปีผ่านมา โดยเฉพาะหลังพฤษภาเลือด 6 ตุลาได้ส่งผ่านความสำคัญทางอ้อมแก่ระบบการเมืองให้เริ่มดำเนินไปได้ ในขณะเดียวกันภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนโดยคนตุลาเริ่มก้าวหน้ามากขึ้น รวมถึงอดีตนักศึกษาช่วงนั้นก็กลับมาเล่นการเมืองมากขึ้นทั้งอยู่พรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ นั่นแสดงให้เห็นว่ามีการถ่ายทอดอุดมการณ์และประสบการณ์”
       
       กระนั้นการส่งผ่านคุณูปการอุดมการณ์ 6 ตุลาสู่ปัจจุบันสมัยยากลำบากยิ่ง ด้วยปีนี้ยังเกือบขยับซ้ำรอยล้อมปราบจากเหตุการณ์เซ็นทรัลเวิร์ล เนื่องจากรัฐบาลล้าหลังก้าวไม่ทันขบวนการประชาสังคมที่นับวันจะรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม รวมทั้งหากสถานะทางประวัติศาสตร์ 6 ตุลายังคับแคบ ขาดหายจุดเชื่อมต่ออุดมการณ์ มีแค่ความรวดร้าวหล่อเลี้ยงก็ยากที่คนรุ่นใหม่จะจดจำ
       
       * จารจดก่อนเลือกเลือนลืม
       
       หากกล่าวอย่างรวบรัดจะพบว่า ‘ไทยฆ่าไทย’ ในช่วงเช้าวันนี้เมื่อ 30 ปีก่อน นำความพ่ายแพ้แก่ร่างกายและจิตวิญาณมนุษย์อย่างลึกซึ้งมาให้ไม่ว่าจะฝ่ายซ้ายฝั่งขวา ด้วยขณะฟากหนึ่งปรีติกับการใช้อุดมการณ์หลักมาเป็นเงื่อนไขล้อมปราม***มโหดทารุณกลางพระนครเพื่อหยุดยั้งการแพร่ขยายคอมมิวนิสต์ในเมืองได้สำเร็จ อีกฟากกลับไหลรวมสายธารอุดมการณ์เชี่ยวกรากจำนวนมากไปสู่พงพนาสมทบเข้าขบวนการปฏิวัติ ก่อนบอบช้ำซ้ำกลับมาจนถูกขนานนามว่า ‘นักรบผู้แพ้พ่าย’
       
       จะอย่างไรก็แล้วแต่ ท้ายสุดทุกฝ่ายกลับเลือกเลือนลืมเหตุการณ์วันนั้น ด้วยไม่อาจทานภาพมนุษย์กระทำต่อกันอย่างไร้ความปราณีที่ตามหลอนหลอกได้ ไม่ว่าจะการแขวนคอ ตอกลิ่ม นั่งยาง เปลื้องผ้า ท่ามกลางวงล้อมห่ากระสุนสงครามถล่มเข้าใส่ผู้ชุมนุม 4-5 พันคนในธรรมศาสตร์ที่กำลังประท้วงการคืนแผ่นดินของ 1 ใน 3 ทรราช จอมพลถนอม กิตติขจรในชุดสามเณร
       
       อีกทั้งจุดพลิกผันการเมืองครั้งนี้ มิได้รับการกล่าวอ้างเท่า 14 ตุลา หรือพฤษภา 35 ทั้งแง่ตัวเหตุการณ์และเหยื่อ ที่แม้จะถูกรัฐก่ออาชญากรรมเหมือนๆ กันก็ตาม นั่นเป็นอื่นใดไม่ได้นอกจากสถานะทางประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาเองที่ไร้พื้นที่ยืนทางประวัติศาสตร์ ดังคำอธิบายของอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 'ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ' ที่ชี้ว่าแม้เหตุการณ์นี้จะเป็นคู่แฝดพฤษภาเลือด แต่ฐานะผู้แพ้จึงไม่ค่อยปรากฏตัวในหน้าประวัติศาสตร์มากเท่า 14 ตุลาที่ป็นผู้ชนะ มิพักจะเอ่ยอ้างการดำรงอยู่ในประวัติศาสตร์ฉบับข้าราชการหรือกระทรวงศึกษาฯ
       สอดคล้องมุมมองรศ.ดร.ธเนศที่ว่าชัยชนะจากการหยุดยั้งระบอบ รสช. จนนำกลับสู่กระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยนั้นต่างอย่างมากกับ 6 ตุลาที่ลงเอยด้วยอำนาจเถื่อนฆาตกรรมสังหาร ไม่สร้างสิ่งใดใหม่ขึ้นมาควรค่าแก่การพูดถึง
       
       “หากปรารถนาให้คนรุ่นหลังจดจำต้องค้นหาจุดเชื่อมร้อยการรับรู้คุณค่าอุดมการณ์ของ 6 ตุลาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพหรือประชาธิปไตยก็ตามที ที่สำคัญต้องมองเป็นกระบวนการต่อเนื่องจาก 14 ตุลา มิเช่นนั้นจะสลัดไม่พ้นความอัปยศของตัวเหตุการณ์ กระทั่งไม่อาจหวนคืนกลับมาหาอุดมการณ์ที่หล่อเลี้ยงได้”
       
       ขณะอาจารย์รัฐศาสตร์ผู้ผ่านการสูญเสียเพื่อนร่วมรุ่น คณะเดียวกัน จากการถูกจับแขวนคอ มองว่าเหตุที่ 6 ตุลาเงียบงันเนื่องจากถึงที่สุดแล้วทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีจุดมืดซึ่งกันและกัน ด้วยด้านหนึ่งกล่าวหานิสิตนักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ การฆ่านอกจากไม่บาปแล้วยังธำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์หลักของชาติได้ ขณะอีกด้านกลับแย้งว่าการสังหารโหดพวกเขาที่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์ ประชาชนรับไม่ได้ สภาวการณ์เช่นนี้เองทำให้ท้ายสุดทั้ง 2 ฝั่งไร้ทางออก
       
       “ที่สุดแล้วการชำระประวัติศาสตร์คือการทำให้สะอาด ทั้งที่ความจริงเป็นสิ่งไม่สะอาด สิ่งสกปรกจึงต้องตัดออกไป อีกทั้งความจริง 6 ตุลาขมขื่นเราจะยอมรับได้ไหม ปล่อยให้คลุมเครือแบบสังคมไทยชอบต่อไปดีกว่า เพราะความคลุมเครือทำให้เรายืนได้ทั้ง 2 ฝ่าย เอี้ยวได้ กระโดดไปมาได้ หากเมื่อใดชัดเจน เราจะรู้สึกแตกแยก หันหลังชนกำแพง" ธเนศมอง ก่อนเน้นว่าแท้จริงแล้วโดยระบบเสรีประชาธิปไตย การแบ่งขั้วคือสิ่งปกติ เพราะการยึดติด ‘ผไทของไทยทุกส่วน’ นั้นมุ่งสนองตอบโครงสร้างรัฐประชาชาติมากกว่า
       
       ยิ่งกว่านั้น ทุกชาติจำต้องมีกระบวนการลืมและจำ ถ้าประชาชนเลือกจะจำสิ่งที่นำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยกก็ไม่อาจทำได้ โดยเฉพาะประเทศเสรีประชาธิปไตยกำลังเปลี่ยนแปลงเช่นเราเวลานี้ หลายเรื่องต้องให้ผ่านไป มองไปข้างหน้าแล้วสร้างสิ่งใหม่ ทั้งที่ความจริงแล้ว 6 ตุลาคือหลักไมล์สำคัญในการเรียนรู้ว่าเรากล้าพอไหมที่จะยอมให้คนที่เห็นตรงกันข้ามมาอยู่ด้วยกันในสังคม
       
       ความหวังจะชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลาจึงเลือนรางเต็มที เพราะไม่เพียงรื้อฟื้นความปราชัยระดับปัจเจกให้ปรากฏควบคู่อัปลักษณ์ประวัติศาสตร์ชาติเท่านั้น หากยังไม่อาจกระทำได้ในเจเนอเรชันนี้ด้วย เนื่องจากโครงสร้างอำนาจสังคมไทยยังโอบอุ้มบุคคลและสถาบันที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงครั้งนั้นอยู่ จนเป็นที่มาของความเห็นพ้องต้องกันว่า ‘ยากมาก’ หากปรารถนาจะชำระ แม้แต่ละท่านจะแจงรายละเอียดเงื่อนปมต่างกันบ้าง ทว่าท้ายสุดจุดร่วมที่ตื่นตระหนกคือหากเกิดขึ้นจริงคงสร้างความชอบธรรมแก่รัฐเท่านั้น
       
       ทั้งนี้ แม้ไร้การชำระประวัติศาสตร์ 6 ตุลา กระทั่งคำขอโทษหรือเยียวยาจากผู้ก่อการ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ แนะว่าการรวมกลุ่มผู้สูญเสียเรียกร้องความถูกต้อง ยุติธรรม จากสังคม รัฐ หรือฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง คล้ายขบวนการญาติวีรน 14 ตุลาและพฤษภา ย่อมแสดงตัวตนและพลังได้มากกว่าการพึ่งพิงองค์กรอื่น
       
       “แม้จะ 30 ปีมาแล้ว แต่ความยุติธรรมไม่ใช่เรื่องช้าหรือไม่ช้า อันที่จริงไม่ได้เรียกร้องให้แค่ตัวเอง หากความถูกหรือผิดยังมีผลต่อสังคม สังคมต้องรู้อะไรผิดอะไรถูก ในกระบวนการประชาธิปไตยคนผิดเหล่านั้นจะต้องไม่ลอยนวล อย่างน้อยก็ต้องเป็นตราบาปติดตัว แต่วันนี้ปัญหาคือพวกเขาไม่เชื่อมั่นพลังตัวเอง”สมชายสรุป
       
       หากกล่าวถึงที่สุด อุดมการณ์ช่วงชีวิตหนึ่งหรือห้วงเพลาหนึ่งทางประวัติศาสตร์มักเลื่อนไหลไม่หยุดนิ่ง เฉกเช่นเดียวกับนาฏกรรมที่เคลื่อนไหว ถ่ายทอดเรื่องราวชวนหัวหรือดราม่าสุดซาบซึ้ง ต่างเพียงแต่ว่าอุดมการณ์ขับเคลื่อนคนเดือนตุลาและพวงผลผลิตของพวกเขาล้วนผูกพันชะตากรรมบ้านเมืองไว้ไม่มากก็น้อย
       
       
       เรื่อง....ภาณุเบศร์ มหาเรือนขวัญ