ขบวนการเสรีไทยเว็บบอร์ด (รุ่นแรก)

ทั่วไป => สภากาแฟ => ข้อความที่เริ่มโดย: taworn09220 ที่ 01-10-2006, 08:03



หัวข้อ: รัฐบาลทหาร
เริ่มหัวข้อโดย: taworn09220 ที่ 01-10-2006, 08:03
รัฐบาลทหาร

(บทบาทรัฐบาลชุดที่ 19 – ชุดที่ 32, พ.ศ.2490 – พ.ศ.2516)


การกระทำรัฐประหารในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีพลโท ผิน ชุนหะวัน อดีตแม่ทัพภาคพายัพ เป็นหัวหน้า และมีผู้ร่วมก่อการอีก 3 คน คือนาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม นายทหารนอกประจำการและสมาชิกพฤฒสภา พันเอก สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ เจ้ากรมเกียกกาย ทหารบก พันโท ก้าน จำนงภูมิเวท นายทหารนอกประจำการ และสมาชิกพฤฒสภา บุคคลเหล่านี้เรียกตัวเองว่า “ทหารของชาติ” ผู้เข้าร่วมกับกลุ่มรัฐประหาร มีทหารบกเป็นส่วนใหญ่ ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจและพลเรือน เข้าร่วมด้วยบ้างเป็นส่วนน้อย คณะรัฐประหารได้อ้างเหตุผลในการยึดอำนาจการปกครองประเทศซึ่งปรากฎอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2490 ว่า

-บัดนี้ประเทศชาติตกอยู่ในภาวะวิกฤตการณ์ ประชาชนพลเมือง

ได้รับความลำบาก เดือดร้อน เพราะขาดอาหาร เครื่องนุ่งห่ม

และขาดแคลนสิ่งอื่น ๆ นานัปการ เครื่องบริโภคอุปโภคทุกอย่าง

มีราคาสูงขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก เป็นเหตุให้เกิดความ

เสื่อมทรามในศีลธรรมอย่างไม่เคยมีมาก่อน…ผู้บริหารราชการ

แผ่นดินและสภาไม่อาจดำเนินการแก้ไขสิ่งที่ไม่ดีให้กลับสู่ภาวะ

ดังเดิมได้…เป็นการผิดหวังของประชาชนทั้งประเทศ…ถ้า

จะคงปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ก็จะนำซึ่งความหายนะแก่

ประเทศชาติ…

คณะรัฐประหารได้ส่งทหารไปจับกุมตัวผู้บริหารประเทศและบุคคลสำคัญแต่ไม่สำเร็จ ผู้ปบริหารประเทศที่เป็นเป้าหมายในการจับกุมคือ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ พลเรือตรี สังวร สุวรรณชีพ อธิบดีตำรวจ ที่มีการระบุตัวนายปรีดี พนมยงค์ เพราะมีเสียงโจษจันว่า รัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อยู่ในอาณัติของนายปรีดี พนมยงค์ และจะนำลัทธิการปกครองแบบมหาชนรัฐมาใช้ในการปกครองประเทสอันจะทำให้ราชบัลลังก์หมดสิ้นไป

ต่อมา คณะรัฐประหารได้เชิญ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และได้ประกาศวัตถุประสงค์ ดังนี้

เป็นการทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง มิใช่เพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีประสิทธิภาพ เทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ
เพื่อเชิดชูเกียรติของทหารบกที่ถูกเหยียบย่ำทำลายให้กลับคืนดังเดิม ปรับปรุงให้มีเกียรติและสมรรถภาพให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
เพื่อแก้ไของค์การปกครองที่เสื่อมลงให้มีสมรรถภาพและแก้ไขทางเศรษฐกิจ ลดค่าครองชีพให้ถูกลง ให้ประชาชนอยู่ดีกินดี
เพื่อสืบหาผู้ร้ายที่ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และจัดฟ้องร้องลงโทษตามกฎหมาย
เพื่อกำจัดลัทธิคอมมิวนิสต์ให้สูญสิ้นไปจากแผ่นดินไทย เชิดชูบวรพุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป
หลังจากนั้นได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 แล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว ลงวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2490 เป็นฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 นี้ เป็นรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเตรียมร่างไว้ก่อนแล้ว และเกรงว่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลค้นพบและถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎ นาวาอากาศเอก กาจ กาจสงคราม จึงนำไปซ่อนไว้ในตุ่ม รัฐธรรมนูญจึงรู้จักกันในนามว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” ผู้ที่ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้คือ จอมพล ป. พิบูลสงคราม

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 10 กำหนดให้มีคณะอภิรัฐมนตรี จำนวน 5 นาย ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์และเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร ดังนั้นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้ประกาศแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรี ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2490 ดังต่อไปนี้

1) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานอภิรัฐมนตรี

2) พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ อภิรัฐมนตรี

3) พลโท พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอลงกฎ อภิรัฐมนตรี

4) พระยามานนวราชเสวี อภิรัฐมนตรี

5) พลเอก อดุล อดุลเดชจรัส อภิรัฐมนตรี

สาเหตุที่ต้องมีการแต่งตั้งคณะอภิรัฐมนตรีในทันทีก็เพราะรัฐธรรมนูญระบุให้คณะอภิรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี เพื่อต้องการจะแสดงว่า คณะรัฐประหารไม่ได้ยึดอำนาจเพื่อตนเองตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 จึงได้ทาบทาม พันตรี ดวง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทั้งพันตรี ควง อภัยวงศ์ มีลักษณะเป็น “นักประชาธิปไตยหน้าบาง” หมายความว่าต้องการให้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ ออกจาตำแหน่งเมื่อไรก็ได้ อีกประการหนึ่งเกรงว่า รัฐบาลต่างประเทศจะไม่ยอมรับรัฐบาลประเทศไทย ถ้าให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเพิ่งพ้นจากการเป็นอาชญากรสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลชุดที่ 19 ( 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 – 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491)

พันตรี ควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2490 มีรัฐมนตรีร่วมคณะ 21 คน ได้แถลงนโยบายต่อวุฒิสภา ในวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 และได้รับความไว้วางใจ ถือว่าวุฒิสภาคือรัฐสภา เมื่อยังไม่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาได้รับการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 มีจำนวน 100 คน

ภาระของรัฐบาลคือการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้อายุผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องไม่ต่ำกว่า 35 ปี และยอมให้พระบรมวงศานุวงศ์ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ กับตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรให้แล้วเสร็จภายใน 180 วัน

การเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 99 คน กระทำในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2491

เมื่อเลือกตั้งได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐบาลได้กราบถวายบังคลลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลชุดที่ 20 (21 กุมภาพันธ์ – 8 เมษายน พ.ศ.2491)

ประธานรัฐสภาเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภา เพื่อสรรหาผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผล ปรากฏว่า พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้รับความนิยมสูงสุด ดังนั้นจึงมีพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 ให้พันตรี ควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมรัฐบาล จำนวน 24 คน รัฐบาลต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาถึง 5 วัน จึงจะได้รับความไว้วางใจ

รัฐบาลชุดนี้ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนต่อสภา เพื่อยกฐานะครูประชาบาล สารวัตรศึกษา ขึ้นเป็นข้าราชการ และได้ผ่านสภาถือเป็นกฎหมาย จากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลทำให้ครูประชาบาลทั่วประเทศประมาณ 6 หมื่นคนเศษ เป็นข้าราชการพลเรือน

การบริหารงานของรัฐบาลดำเนินมาได้เพียงเดือนเศษ คณะรัฐประหารได้ส่งตัวแทนไปแจ้งต่อพันตรี ควง อภัยวงศ์ ให้พิจารณาตัวเอง และลาออกจากตำแหน่งภายใน 24 ชั่วโมง สาเหตุเพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาค่าครองชีพ และไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ทางการทหาร และสถานการณ์ภายในประเทศให้สงบเรียบร้อยเท่าที่ควร ที่เป็นเช่นนี้เพราะคณะรัฐประหารได้สืบทราบว่ามีการสะสมอาวุธซึ่งเป็นอาวุธที่สหประชาชาติให้ไว้กับพวกเสรีไทยไว้ต่อต้านญี่ปุ่นและทางเสรีไทยไม่คืนสหประชาชาติ และเมื่อส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจค้นบ้านนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม และอดีตผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ก็พบอาวุธอย่างที่ได้สืบมาได้ซุกซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน คณะรัฐประหารเกรงว่า นายปรีดี พนมยงค์ กับพวกเสรีไทยในประเทศ จะเคลื่อนไหวยึดอำนาจการปกครองคืน อีกประการหนึ่ง พันตรี ควง อภัยวงศ์ ไม่ยอมรับฟังคำแนะนำของคณะรัฐประหาร คณะรัฐประหารก็มองว่ารัฐบาลพันตรี ควง อภัยวงศ์ ไม่มีฝีมือในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่สามารถลดค่าครองชีพของประชาชน ไม่สามารถปราบฉ้อราษฎร์บังหลวงได้

พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการด่วน กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และตำรวจ ที่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ก็ไม่สามารถจะต้านกำลังของรัฐประหารได้ พันตรี ควง อภัยวงศ์ จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2491 จากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้กลับมาสู่อำนาจทางการเมืองอีกครั้ง โดยได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลชุดที่ 21 ( 8 เมษายน พ.ศ.2491 – 24 มิถุนายน 2492)

คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้มีหนังสือโปรดเกล้าฯ ให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2491 โดยไม่ได้ปรึกษาประธานรัฐสภา และสมาชิกสภาตามที่เคยปฏิบัติมาแต่อย่างใด คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลมีจำนวน 27 คน และ รัฐบาลได้รับความไว้วางใจจากสภา

จอมพล ป.พิบูลสงคราม ใช้เวลานานถึง 10 วัน ระหว่างวันที่ 8 เมษายน ถึงวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2491 จึงได้คณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วย นายทหารและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคน จากพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนจากพรรคการเมืองหลายพรรค จึงทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม หนักใจในการรวมรัฐบาล เพราะต้องหาสิ่งตอบแทนที่เป็นประโยชน์แก่รัฐมนตรีจากพรรคต่าง ๆ เช่น “แจกเงินเป็นครั้งคราวในสมัยปิดประชุมสภา และให้อภิสิทธิบางประการในการค้าขาย”

ปัญหาจากสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากพรรคที่เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมิได้คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงเกิดมีข้อขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร และมีเหตุการณ์ที่ผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับรัฐบาล จนเป็นกบฎแบ่งแยกดินแดน ดังนี้

ข้อขัดแย้งในสภาผู้แทนราษฎร เริ่มที่รัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2491 มีรายจ่ายเกี่ยวกับการเงินเพิ่มพิเศษของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกคนละหนึ่งพันบาทต่อเดือน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้อภิปรายคัดค้านไม่เห็นด้วย และมีผู้ลาออกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คน คือ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร และ ร้อยโท สัมพันธ์ ขันธชวนะ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา โดยอ้างเหตุผลว่าไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ด้วยความไว้วางใจของประชาชนได้ต่อไปอีก ผู้แทนราษฎรสองคนนี้ลาออกเมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2491
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เชิญให้หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 ทำให้สมาชิกสภาผู้แทนฝ่ายรัฐบาลไม่เห็นด้วย และแสดงปฏิกิริยาคัดค้าน ในที่สุด หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ลาออกจากตำแหน่งเมื่อ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2492
เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องอกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2491 ได้จับนายฟอง สิทธิธรรม ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ข้อหาว่าได้สมคบกับพรรคพวกลักลอบจัดส่ง ชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งไปศึกษาวิชาทหารที่คุณมิง เพื่อกลับมาเป็นกำลัง ดำเนินการแบ่งแยกดินแดนภาคอีสานออกจากประเทศไทยเป็นรัฐอิสระ และยุยงประชาชนภาคอีสานให้เกลียดชังรัฐบาลไทยด้วย จึงถือเป็นความผิดฐานกบฎ อย่างไรก็ตามที่ประชุมสภามีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปล่อยตัว นายฟอง สิทธิธรรม
ตำรวจจำนวนหนึ่งได้เข้ามาในที่ประชุมรัฐสภา เมื่อ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 เพื่อจับกุมพันโท โพยม จุฬานนท์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบุรี ในข้อหาผู้ร่วมก่อการปฏิบัติ ใน วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2491 สาเหตุนี้จึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งกระทู้ถามในรัฐสภา
ปัญหาในคณะรัฐบาล

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2491 มีกระทู้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลางโหม เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ชอบด้วยระเบียบด้วยการเบิกเงินบาทไปแลกเงินรูปี และเงินปอนด์ ผู้กระทำการซึ่งมีหลักฐานปรากฏว่ากระทำผิดจริงนี้คือ นาวาอากาศ กาจ กาจสงคราม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม โดยเบิกเงินเพื่อการนี้ทั้งหมด 1,621,910 รูปีเศษ กับเงินปอนด์อีก 81,250 ปอนด์ คณะรัฐมนตรีได้ส่งให้ตำรวจพิจารณา

อนึ่ง รัฐมนตรีในคณะได้ลาออก และบางคนก็สิ้นสุดสภาพการเป็นรัฐมนตรีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 4 ครั้ง

กบฎ

รัฐบาลต้องประสบกับการต่อต้านของฝ่ายตรงกันข้าม ซึ่งการขนานนามในภายหลังว่ากลุ่มกบฎหลายครั้ง จนรัฐบาลต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491 กบฎทั้งหมดมีดังนี้

กบฎแยกดินแดน ( 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2491) เนื่องด้วยรัฐบาลรับทราบว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทางภาคตุวันออกเฉียงเหนือ พยายามที่จะดำเนินการแบ่งแยกดินแดน บางส่วนทางภาคอีสานออกเป็นอิสระ จะสถาปนา “สมาพันธรัฐแหลมทอง” ด้วยการส่งคนไปฝึกอาวุธที่คุณมิง แล้วกลับมาเตรียมการ การจับกุมนั้นทำไม่ได้เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีเอกสิทธิ์ทางการเมือง
กบฎไฮยิดดิน ( สิงหาคม พ.ศ.2491) เป็นการพยายามจะแบ่งแยกดินแดนทาง ภาคใต้ในจังหวัดปัตตานีไปรวมกับสหพันธรัฐมลายู หัวหน้ากบฎชื่อ มไฮยิดดิน ทำการก่อวินาศกรรมในจังหวัดปัตตานี รายนี้รัฐบาลจับหัวหน้ากบฎได้
กบฎเสนาธิการหรือ กบฎนายพล ( 1 ตุลาคม พ.ศ.2491) ผู้ก่อการกบฎคือนายทหารในกรมเสนาธิการทหาร นำโดยพลตรี สมบูรณ์ ศรานุชิต และพลตรี เนตร เขมะโยธิน มีความมุ่งหมายจะยึดอำนาจการปกครองและปรับปรุงกองทัพไทยให้ดีขึ้นและไม่ต้องการให้ทหารเข้ายุ่งกับการเมือง
กบฎระบบสังหารอูอองซาน ( 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492) อูอองซานคือ หัวหน้ารัฐบาลของประเทศพม่า ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกยิงตายขณะประชุมคณะรัฐมนตรี ฝ่ายกบฎจึงคิดวางแผนใช้วิธีการเดียวกันขณะคณะรัฐมนตรีประชุม ผู้ถูกจับกุมคือ พันเอก ทวน วิชัยขัทคะ ร้อยเอก สุนทร ทรัพย์ทวี ร้อยเอกชลิต ชัยสิทธิเวช ผู้ที่เข้าจับกุมคือ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์
กบฎวังหลวง ( 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2492) เป็นความพยายามของนายปรีดี พนมยงค์ ที่จะเข้ามามีอำนาจทางการเมืองอีก โดยใช้กำลังทหารเรือสนับสนุน
ฝ่ายทหารเรือได้เคยช่วยเหลือทั้งพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้พ้นจากการจับกุมของคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2490 นายปรีดี พนมยงค์ ให้หนีออกนอกประเทศได้สำเร็จมาแล้ว ก่อนเกิดกบฎวังหลวง นายปรีดี พนมยงค์ ก็ได้หลบเข้าประเทศไทย วางแผนยึดอำนาจร่วมกับพลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ ที่เรียกว่า กบฎวังหลวง เพราะฝ่ายกบฎยึดพระบรมมหาราชวังเป็นกองบัญชาการ จากนั้นจึงใช้กำลังยึดสถานีวิทยุกระจายเสียงออกอากาศให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม และรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งทั้งคณะ แล้วประกาศแต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม เนนายกรัฐมนตรี ฝ่ายรัฐบาลได้ทำการปราบปรามอย่างเด็ดขาด นับว่ากบฎวังหลวงเป็นการชิงอำนาจที่นองเลือด แตกต่างจากทุกครั้งที่ผ่านมา ผลคือรัฐบาลได้ชัยชนะ ส่วนนายปรีดี พนมยงค์ หนีรอดไปได้

นักการเมืองทีมีชื่ออยู่ในฝ่ายกบฎถูกจับกุมและถูกสังหาร เช่น อดีตรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา 4 คนได้แก่ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายถวิล อุดล นายจำลอง ดาวเรือง นายทองเปลว ชลภูมิ ถูกยิงทิ้งขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวย้ายที่ฝากขังไปไว้ที่สถานีตำรวจบางเขน เมื่อ 4 มีนาคม พ.ศ.2492

จากการปราบกบฎในสมัยรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้พันตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กับพลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นมาอำนาจทางด้านการเมือง

มีเหตุการณ์สำคัญคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงประสงอุบัติเหตุโดยรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2491 ต้องรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาล รัฐบาลได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปเฝ้าเยี่ยมพระอาการ

ประกาศใช้รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492

สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาตามวิธีการ ที่ประชุมรัฐสภาให้ความเห็นชอบ และอภิรัฐมนตรีในหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ลงนามในรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492 และประกาศให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2492 ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้เลือกผู้แทนราษรโดยตรง และรวมเขตจังหวัดโดยถือเกณฑ์จำนวนราษฎร แต่ละจังหวัดหนึ่งแสนห้าหมื่นคนต่อผู้แทนราษฎร 1 คน สภาผู้แทนราษฎรที่ได้เลือกตั้งทั่วไป เมื่อ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ.2491 ยังคงอยู่จนครบวาระสี่ปี การเลือกตั้งในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2492 เป็นการเลือกตั้งเพิ่มได้ผู้แทนราษฎร 21 คน จาก 19 จังหวัด

สมาชิกผู้แทนราษฎรทั้งเก่าและใหม่ รวมทั้งสมาชิกวุฒิสภได้ประชุมในวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2492 เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภา

คณะรัฐมนตรีคณะที่ 21 ได้สิ้นสุดลงตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดให้สิ้นสุดเมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เลือกตั้งเพิ่มเข้ารับตำแหน่งแล้ว


รัฐบาลชุดที่ 22 (25 มิถุนายน พ.ศ.2492 – 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2494)

รัฐบาลได้ประชุมสรรหานายกรัฐมนตรี ซึ่งที่ประชุมลงมติให้เป็นจอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะจำนวน 25 คน ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาลได้ถ่ายทอดเสียงการประชุมให้ประชาชนได้ฟังทั่วราชอาณาจักรด้วย การแถลงนโยบายต่างกับคราวก่อน กล่าวคือ สภาผู้แทนราษฎรพิจารณานโยบายเป็นเวลา 11 วัน จากนั้นวุฒิสภาพิจารณาอีก 3 วัน แล้วจึงกลับมาลงมติในสภาผู้แทนราษฎร

เพื่อความมั่งคงทางการเมือง คณะรัฐประหารจึงตั้งพรรคการเมืองอีก 2 พรรค สนับสนุนรัฐบาลให้มั่นคงยิ่งขึ้น ได้แก่ พรรคสังคมประชาธิปไตย มีพลโท บัญญัติ เทพหัสดินทร เป็นหัวหน้าพรรค พรรคกสิกรรมกร มีพันเอก นายถาวรการบัญชา เป็นหัวหน้าพรรค

รัฐสภาตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล

ต้นเดือนมกราคม พ.ศ.2493 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่าจะคิดปฏิวัติ ผู้ถูกจับมี พลโท กาจ กาจสงคราม รองผู้บัญชาการทหารบกรวมอยู่ด้วย สมาชิกผู้แทนราษฎรจึงเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป ให้รัฐบาลแถลงข้อเท็จจริงในสภา ได้อ้างในญัตติว่า “ความรู้สึกของประชาชนทั่วไปในขณะนี้ ดูประหนึ่งว่าได้ตกอยู่ใน อาณาจักรแห่งการปฏิวัติ” นายกรัฐมนตรีได้แถลงต่อสภาว่าถ้าเปรียบเทียบสถานการณ์รอบบ้าน ประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ในความสงบ ส่วนคดี พลโท กาจ กาจสงคราม นั้น เป็นเรื่องที่ พลโท กาจ กาจสงคราม ทำแผนปฏิวัติเพื่อล้วงหาผู้คิดทำการปฏิวัติอีกทีหนึ่ง แล้วได้ให้ออกไปนอกประเทศแล้ว และตำรวจก็ยังคงทำสำนวนสอบสวนอยู่

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ.2493 สมาชิกวุฒิสภาตั้งกระทู้ถามถึงเรื่องที่กระทรวงกลาโหมได้ชื้อรถบรรทุกปืนกลเบรนด้วยราคาแพงเกินควร และได้จ่ายเงินไปก่อนได้รับของ

ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้มีวาระครบ 3 ปี จับฉลากออก จึงให้มีการจับฉลากออก 50 คน เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 และในวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2493 ก็ได้มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเข้ามาใหม่ให้ครบจำนวน 100 คน

ประเทศไทยเข้าร่วมสงครามระหว่างสาธารณรัฐเกาหลีกับสาธารณรัฐประชาชนเกาหลี

รัฐบาลได้ขอความคิดเห็นจากสภาเกี่ยวกับสงครามกลางเมืองในประเทศเกาหลี สืบเนื่องจากสาธารณรัฐประชาชนเกาหลีโจมตีสาธารณรัฐเกาหลี องค์การสหประชาชาติให้สาธารณรัฐประชาชนเกาหลีถอยกลับไปที่เส้นขนานที่ 38 สาธารณรัฐประชาชนเกาหลีไม่ปฏิบัติตาม เลขาธิการองค์การสหประชาชาติจึงขอให้องค์การสมาชิกสหประชาชาติช่วยเหลือสาธารณรัฐเกาหลี ประเทศไทยจึงจะส่งกำลังทหารไปช่วยรบ และส่งอาหารไปช่วย รัฐสภามีมติสนับสนุนรัฐบาล รัฐบาลจึงส่งทหารไปร่วมปฏิบัติการรบที่ประเทศเกาหลี

วันที่ 12 มกราคม พ.ศ.2494 รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน และเสนอกฎหมายวิธีพิจารณาในเรื่องเด็กและเยาวชนมาเพื่อพิจารณาด้วย รัฐสภาเห็นชอบให้ตราเป็นกฎหมายได้

ต่อมารัฐบาลได้เสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการใหม่ แก้เหตุออกเพราะสูงอายุจากเดิม 55 ปี เป็น 60 ปีบริบูรณ์ และอาจต่ออายุให้อีกคราวละ 1 ปี แต่ไม่เกินอายุ 65 ปีบริบูรณ์

คำแถลงของนายกรัฐมนตรีในวาระปิดสมัยประชุมสภาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ.2494 สรุปผลงานว่า

ประเทศอยู่ในความสงบเรียบร้อย
ดุลการค้าในปี 2493 สินค้าขาออกมีมากกว่าสินค้าขาเข้า 1,000 ล้านบาทเศษเปรียบเทียบใน พ.ศ.2490 ติดลบอยู่300ล้านบาทเศษ
ทุนสำรองที่เป็นหลักทรัพย์ของชาติ นับแต่ของมีค่า 2 ประการ คือ (1) ทองคำ ปี 2490 มี 769 ล้านบาทเศษ ในปี 2494 ราคาทองคำมีถึง 1478.8 บาท (2) เงินปริวรรตต่างประเทศ ได้แก่ เงินดอลลาร์กับเงินปอนด์ ปี 2490 มี 447.5 ล้านบาท ปี 2494 คิดเป็นมูลค่า 19,312 ล้านบาทเศษ
กบฎแมนฮัตตัน

ในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 เป็นวันที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยมิสเตอร์ วิลเลียม ที. เทอร์เนอร์ ( Mr.William T.Turmer) อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตอเมริกาประจำประเทศไทย ได้มอบเรือขุด “แมนฮัตตัน” ที่ท่าราชวรดิษฐ์ รัฐบาลไทยได้เชิญทูตานุทูตไปเป็นเกียรติในพิธีนี้ เมื่อถึงเวลาประมาณ 15.30 ผู้แทนอเมริกันกล่าวมอบเรือขุด จอมพล ป.พิบูลสงคราม รับมอบ จากนั้นจึงเดินไปยังเรือขุดดังกล่าว นาวาตรี มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรัตนโกสินทร์ พร้อมด้วย อาวุธยิงเร็วได้จู่โจมเข้าจับกุมตัวจอมพล ป. พิบูลสงคราม ลงจากเรือขุดแมนฮัตตัน ไปขึ้นเรือเปิดหัวที่จอดเตรียมไว้ นำไปควบคุมตัวไว้ในเรือรบหลวงศรีอยุธยา ท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคนในที่นั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกบังคับให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกาศปลดบุคคลสำคัญในคณะรัฐประหาร และแต่งตั้งบุคคลฝ่ายกบฎเข้าดำรงตำแหน่ง ซึ่งประกอบด้วย พลเรือตรี ขำหิรัญ นาวาเอก อานนท์ ปุณฑริกา นาวาตรี มนัส จารุภา ฯลฯ

ฝ่ายกบฎได้นำกำลังทหารเรือเข้ายึดสถานที่สำคัญต่าง ๆ ทางราชการ แถลงการชี้จุดบกพร่องของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นเหตุให้ฝ่ายกบฎจำต้องยึดอำนาจรัฐบาล

วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2494 มีประกาศพระบรมราชโองการว่า มีจลาจลในประเทศ ประกาศใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจล และประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2494 คณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งพันเอก นายวรการบัญชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รักษาการแทนนายกรัฐมนตรี

การปราบจลาจลรัฐบาลได้ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ให้เครื่องบินทิ้งระเบิดเรือรบหลวงศรีอยุธยา ลูกระเบิดตกลงตรงห้อง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกควบคุมตัวอยู่เป็นเวลา ถึง 2 วัน 2 คืน เมื่อเรือรบหลวงศรีอยุธยากำลังจะจม จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตัดสินใจว่ายน้ำไปขึ้นที่ท่าน้ำพระราชวังเดิม จึงรอดพ้นจากการควบคุมตัว

เมื่อเหตุการณ์ต่อสู้กับฝ่ายกบฎสิ้นสุดลงแล้ว รัฐบาลจึงทำการกวาดล้างจับผู้ที่กระทำผิด ทั้งนี้มีนายทหารเรือถูกจับ 70 นาย เป็นชั้นนายพล 4 นาย ส่วนนาวาตรี มนัส จารุภา หนีไปต่างประเทศ จึงทำให้ถูกตำหนิว่าการปราบปรามรุนแรงเหมือนกระทำต่อข้าศึกระหว่างประเทศ

กบฎแมนฮัตตันนับเป็นปฎิกิริยาของทหารเรือที่มีต่อคณะรัฐประหารและทหารบกที่ขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในการเมืองการปกครอง และเข้าไปในกิจการของทหารเรือด้วย

จากเหตุการณ์กบฎวังหลวงและเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน ทำให้ทหารเรือถูกริดรอนอำนาจ ไม่ได้มีบทบาททางการเมืองอีกเลย จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เมื่อพลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จึงเป็นบทบาทของทหารเรือ อีกครั้ง แต่เป็นเพียงการมีบทบาทเฉพาะตัวของบุคคลเหล่านั้น กลุ่มทหารเรืออื่น ๆ มิได้เข้มามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งแตกต่างกับอิทธิพลของกลุ่มทหารบกที่ครอบคลุมอยู่ในวงการเมืองไทยเป็นเวลาช้านาน


การยึดอำนาจการปกครองประเทศ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494

หลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตัน บุคคลคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ได้ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 เหตุผลในการยึด อำนาจได้ปรากฏในคำแถลงการณ์ดังนี้

เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตกอยู่ในความคับขันทั่วไป

ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้ถูกคุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน

นี้ก็ยังดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นมาก

แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหา

เรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รับชั่น

ดังที่มุ่งหมายว่าจะปราบนั้นด้วย ความเสื่อมโทรมมีมากขึ้น จนเป็นทีวิตก

กันทั่วไปว่า ประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์

การเมืองอย่างนี้

จึงคณะทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ ผู้ก่อการ

เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 คณะรัฐประหาร พ.ศ.2490

พร้อมด้วยประชาชนผู้รักชาติ มุ่งความมั่นคงดำรงอยู่แห่งชาติ ศาสนา

พระมหากษัตริย์บรมราชจักรีวงศ์ และระบอบรัฐธรรมนูญ ได้พร้อมกัน

เป็นเอกฉันท์ กระทำการเพื่อนำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

ฉบับลงวันที่ 10 ธันวาคม พุทธศักราช 2475 กลับมาใช้ให้เป็นความ

รุ่งเรืองสถาพรแก่ประเทศชาติสืบไป

คณะบริหารประเทศชั่วคราวมีรายนามดังนี้

1) พลเอก ผิน ชุณหะวัน

2) พลโท เดช เดชประดิยุทธ์

3) พลโท สฤษดิ์ ธนะรัชต์

4)พลเรือตรี หลวงยุทธศาสตร์โกศล

5)พลเรือตรี หลวงชำนาญอรรถยุทธ

6)พลเรือตรี สุนทร สุนทรนาวิน

7)พลอากาศเอก ฟื้น รณภากาศ ฤทธาคนี

8)พลอากาศโท หลวงเชิดวุฒากาศ

9)พลอากาศโท หลวงปรุงปรีชากาศ

เมื่อมีการยึดอำนาจ จึงทำให้รัฐบาลชุดที่ 22 ที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายก รัฐมนตรี สิ้นสุดอำนาจและหน้าที่ รัฐสภาทั้งวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรยุบเลิกไป

แท้ที่จริงแล้วเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการทำรัฐประหารรัฐบาลของตนเองของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม และได้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ไม่เอื้อให้เกิดอำนาจ คือให้ผู้ที่เป็น สมาชิกวุฒิสภาจะเป็นข้าราชการประจำไม่ได้ จึงให้ยกเลิก แล้วหันกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับเดิม

หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชั่วคราวขึ้น โดยคณะบริหารประเทศชั่วคราวขึ้น โดยคณะบริหารประเทศชั่วคราวเป็นผู้ลงนามในประกาศ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราว

คณะบริหารประเทศชั่วคราว ได้ประกาศแต่งตั้ง พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้รักษาความสงบภายใน ประกาศตั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมการเสนอข่าวของหนังสือพิมพ์ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง

รัฐบาลชุดที่ 23 ( 29 พฤศจิกายน - 6 ธันวาคม พ.ศ.2494)

คณะบริหารประเทศชั่วคราวได้ประกาศแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชั่วคราว จำนวน 16 คน มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

ในวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้แต่งตั้งสมาชิก ประเภท 2 มี จำนวน 123 คน ทำหน้าที่เป็นผู้แทนราษฎรจนกว่าจะได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 มาตรา 65 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 จำนวน 123 คนนี้ ประกอบด้วยนายทหารเกือบทั้งหมด มีทหารบก 63 คน ทหารเรือ 13 คน ทหารอากาศ 15 คน ตำรวจ 11 คน และพลเรือน 21 คน

ในวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2494 จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีชั่วคราว ได้แจ้งไปยับงประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าขอให้ดำเนินการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงเลือกสรรผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ เห็นว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม สมควรดำรงตำแหน่งนั้น

ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้กราบบังคมทูลตามความเห็นชอบของที่ประชุม และได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2494 และในวันเดียวกันก็มีพระบรมราชโองารให้ใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 พร้อมทั้งรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามประเทศ พุทธศักราช 2482 และรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยบทเฉพาะกาล พุทธศักราช 2483

รัฐบาลชุดที่ 24 (6 ธันวาคม พ.ศ.2494 – 23 มีนาคม พ.ศ.2495)

มีประกาศพระบรมราชโองการ ลงวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ.2494 ให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีร่วมคณะ จำนวน 24 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2494 ได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรเป็นเอกฉันท์

ลำดับแรกที่ได้บริหารประเทศ รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการเพื่อนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 กลับมาใช้ พร้อมทั้งรับรองประกาศและคำสั่งที่ออกใช้ในการยึดอำนาจการปกครอง ให้นับว่าเป็นประกาศและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้อนุมัติให้เป็นกฎหมายได้

ต่อมา จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 เพื่อให้รัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่นั้นเป็นปัจจุบัน ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจึงตั้งกรรมการวิสามัญขึ้นจำนวน 25 นาย มี พลเอก ผิน ชุณหะวัน เป็นประธาน พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 เมื่อได้พิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ได้มีรัฐพิธีลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2495 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ได้เพิ่มบทเฉพาะกาล มาตรา 115 ให้มีสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 ประเภท ประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้ง ประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้ง และให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 อีก 10 ปี นับแต่วันประกาศใช้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากัน จึงเห็นได้เด่นชัดว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยประสบความยุ่งยากในการบริหารประเทศตามแนวทางที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ไม่สามารถคุมเสียงสมาชิกวุฒิสภาได้ จึงให้มีบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2495 ให้คณะรัฐมนตรีสามารถคุมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้โดยวิธีการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรเท่ากับสมาชิกประเภทที่ 1 ซึ่งประชาชนเลือกตั้ง

จากการที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2475 รัฐบาลจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495 เป็นการเลือกตั้งทางตรงด้วยวิธีรวมเขตจังหวัดหนึ่งถือเป็นเขตเลือกตั้งหนึ่ง จำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทน 1 คน ได้มีผู้แทนราษฎรรวม 123 คน

ในการประชุมสมัยสามัญสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ.2495 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้กระทำพิธีเปิดประชุมในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 เข้ารับหน้าที่แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงสิ้นสุดลงตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ

รัฐบาลชุดที่ 25 (24 มีนาคม พ.ศ.2495 - 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500)

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเห็นสมควรให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และได้มีรัฐมนตรีร่วมคณะรวม 27 คน เมื่อรัฐบาลแถลงนโยบายขอความไว้วางใจต่อรัฐสภา รัฐสภาให้ความไว้วางใจ 167 : 64 สมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 246 คน

รัฐบาลคณะนี้มีเสถียรภาพมั่นคง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 หลายคนได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นเสียงส่วนใหญ่ของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งให้พลตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้เป็นผู้ประสานงานควบคุมเสียงสมาชิกในสภา (whips)

ในปี พ.ศ.2494 รัฐบาลได้จัดตั้ง “คณะกรรมการร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการกับต่างประเทศ” มีหน้าที่ประสานงานที่เกี่ยวกับงานช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการจากสหรัฐอเมริกา ให้กับกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ของรัฐบาลตามสนธิสัญญาความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา จึงได้มีนักหนังสือพิมพ์กลุ่มหนึ่ง เขียนข้อความโจมตีรัฐบาลว่าเป็นเผด็จการ และสนับสนุนให้สหรัฐอเมริการเข้ามามีบทบาทในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และการทหาร รัฐบาลได้จับกุมบุคคลหลายคน เช่น นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายสุพจน์ ด่านตระกูล นายอุทธรณ์ พลกุล นายประสิทธิ์ เทียนศิริ นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์ รวมทั้งสิ้น 53 คน ในวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 ในข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง ขบวนการกู้ชาติ ยังผลให้รัฐบาลออกประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็ได้สลายตัวไป

รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการนิติบัญญัติ มีหน้าที่ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ของรัฐบาลก่อนนำเข้าสู่สภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการนิติบัญญัติ จะได้รับประโยชน์ทางการเมืองตอบแทน เช่น ได้รับเงินช่วยพิเศษเป็นรายเดือน เดือนละ 2,000 บาท ดังนั้นคณะกรรมการนิติบัญญัติจึงมีลักษณะเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาล แต่ไม่ประกาศเป็นลักษณะของพรรคการเมืองอย่างเปิดเผย เพราะเกรงว่าฝ่ายค้านจะพยายามตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาบ้าง ส่วนเงินเดือน 2,000 บาท เป็นการจัดสรรจากเงินงบราชการลับ ซึ่งอ้างว่าใช้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งได้จากการค้าฝิ่นเถื่อนของบุคคลบางคนในคณะรัฐประหาร และจากผลประโยชน์ด้านธุรกิจการค้า

สืบเนื่องจากการแถลงนโยบายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 3 เมษายน พ.ศ.2495 ซึ่งกล่าวถึงในด้านการเศรษฐกิจว่าต้องการขยายการส่งเสริมช่วยเหลือให้ประชาชนมีที่ดินและเคหสถานบ้านเรือนเป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามควรแก่อัตภาพ รัฐบาลจึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจการออกโฉนดที่ดิน ให้ออกโฉนดที่ดินเป็นหลักฐานด้วยความยุติธรรม สำนักนายกรัฐมนตรียังได้ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนทราบถึงสาเหตุการเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการสำรวจและการออกโฉนดที่ดินว่า ประชาชนบางท้องที่ได้รับความเดือนร้อน เช่น กรณีที่ดินตำบลบางบ่อและบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนได้อาศัยที่ทำกินมาเป็นเวลาช้านาน แต่ถูกแย่งสิทธิ์ในที่ดิน โดยอุบายของผู้มีกำลังทรัพย์และอิทธิพลอื่น ๆ รวบเอาที่ดินไปจากประชาชน ประชาชนต่างใช้กำลังป้องกันรักษาสิทธิของตนเอง รัฐบาลจำเป็นต้องเข้าจัดการเพื่อมิให้ประชาชนใช้กำลังประหัตประหารกันเอง ผลปรากฏที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรรับหลักการและให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้

ต่อมาก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และกฎหมายเกี่ยวกับการกู้เงินเพื่อการบูรณะและวิวัฒนาการแห่งประเทศไทย เพื่อการบริการสาธารณะ ทำให้เกิดโครงการเขื่อนเจ้าพระยา โครงการชลประทานทุ่งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตข้าวในที่ลุ่มภาคกลาง อีกประการหนึ่งเพื่อการเติบโตของภาคเอกชนและการอุตสาหกรรม กำลังไฟฟ้าไม่พอต่อความต้องการ จึงได้นำเงินกู้จากธนาคารโลกมาทำเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าภายหลังในปี พ.ศ.2505

การเมืองการปกครองในช่วงเวลานี้ไม่มีปัญหาใด เนื่องจากรัฐบาลมีฐานมั่นคงจากสภาผู้แทนราษฎร ได้มีการขอพระราชทานยศให้ พลเอก ผิน ชุณหะวัน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนยศเป็น จอมพล เมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2496 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เลื่อนยศ พลอากาศเอกฟื้น รณนภากาศฤทธาคนี เป็น จอมพลอากาศ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ.2497

การเสนอร่างพระราชบัญญัติในช่วง พ.ศ.2497 ได้ประกาศเป็นกฎหมายใช้ได้ถึง 49 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พระราชบัญญัติขนส่ง พระราชบัญญัติประกันสังคม พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ สำหรับพระราชบัญญัติสุดท้ายนี้ สืบเนื่องจากการที่สาธารณรัฐประชาชนจีนปกครองโดยระบอบคอมมิวนิสต์ และรัฐบาลไทยรับรองรัฐบาลสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ของนายพลเจียงไคเชค รวมทั้งกรณีที่ประเทศฝรั่งเศสแพ้ในสงครามเวียดนาม คู่สงครามคือชาวเวียดนามกู้ชาตินำโดยโฮจิมินห์

นโยบายสำคัญของรัฐบาลอีกเรื่องหนึ่งคือ การสังคมสงเคราะห์ รัฐบาลประสงค์จะให้ความสงเคราะห์ประชาชนซึ่งไม่สามารถช่วยตัวเองได้ และสงเคราะห์แก่ประชาชนซึ่งต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นพิเศษในบางโอกาส รัฐบาลสร้างนโยบายเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์เป็นหลักสำคัญเหมือนนานาประเทศ ดังนั้นจึงได้ตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะได้ออกไปรับราชการตามหน่วยราชการต่าง ๆ เป็นประโยชน์ในการให้ความสงเคราะห์แก่ประชาชน

ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2497 รัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติที่ดินเพื่อความเป็นธรรมแก่สังคมต่อสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลว่าในบางท้องที่มีบุคคลเข้าไปใช้อิทธิพลข่มขู่ให้ประชาชนต้องสละการครอบครองที่ดินโดยไม่ชอบธรรม สภาผู้แทนราษฎรประกาศให้ใช้เป็นกฎหมาย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2497 แต่ต่อมาคณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติดังกล่าวนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ในด้างการต่างประเทศ รัฐบาลได้พยายามส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในช่วงดังกล่าวประเทศไทยมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับสหรัฐอเมริกาโดยรับความช่วยเหลือทั้งทางเศรษฐกิจและการป้องกันประเทศ นอกจากที่รัฐบาลได้ปฏิบัติตามมติสหประชาชาติอพยพทหารจีนคณะชาติออกจากประเทศพม่าไปยังไต้หวัน และในวันที่ 8 กันยายน พ.ศ.2497 ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาการป้องกันร่วมกันแห่งเอเซียอาคเนย์ (สปอ.) ซึ่งมีประเทศสมาชิก 8 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ไทย สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชสัตยาบันแก่สนธิสัญญา ส.ป.อ. ด้วย

จัดสร้างพุทธมณฑล

รัฐบาลได้ลงมติให้จัดสร้าง “พุทธมณฑล” ขึ้นที่บริเวณพื้นที่คลองมหาสวัสดิ์ ต.บางทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่ดินของทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ในเนื้อที่ 2,500 ไร่ ให้จัดทำบริเวณโดยรอบเป็นพุทธสีมา มีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ 1 องค์ เป็นปางสีลา เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองปี 25 พุทธศตวรรษ ซึ่งจะมาถึงในปี พ.ศ.2500 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางศิลาฤกษ์ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2498 พุทธมณฑลได้สร้างสำเร็จบริบูรณ์ในปี พ.ศ.2531 สมัยพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันเป็นสถานที่ประกอบกิจในวันสำคัญทางพุทธศาสนา นับว่าเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของโลก

ด้านคมนาคม

รัฐบาลเห็นความสำคัญของการคมนาคมทางบก ซึ่งจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญยิ่งในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ และการรักษาความมั่งคงของประเทศ ช่วงระยะเวลาหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง เริ่มปี พ.ศ.2479 ได้มีประกาศการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินเป็นครั้งแรก โดยมีนโยบายสร้างทางหลวงจากกรุงเทพมหานครติดต่อเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วทุกจังหวัด ครั้นมาถึงรัฐบาลชุดนี้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างถนนเพื่อการคมนาคมและเพื่อป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ เริ่มในปี พ.ศ.2498 ได้จัดงบประมาณเป็นพิเศษเพื่อก่อสร้างทาง ประกอบกับมีปัญหากับกองพลที่ 93 ของกองทัพจีนคณะชาติ ซึ่งแตกมาจากคุณมิง และบางส่วนตกค้างอยู่ในประเทศไทยในภาคเหนือของจังหวัดเชียงราย ซึ่งก่อปัญหาให้กับประเทศไทยในเรื่องการปลูกต้นฝิ่นเป็นยาเสพติดมาโดยตลอด

ด้านการอุตสาหกรรม

ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการสนับสนุนการอุตสาหกรรม ได้แก่ การตั้งโรงงานทำน้ำตาลทรายขาวที่ลำปาง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 มีพระราชบัญญัติโรงงานใน พ.ศ.2482 การอุตสาหกรรมหนักยังไม่มีในประเทศไทย ส่วนใหญ่ได้สั่งซื้อสินค้าอุปโภคมาจากต่างประเทศเป็นผลให้เกิดการขาดดุลการค้า มาในปี พ.ศ.2494 รัฐบาลมีความจำเป็นจะต้องสั่งซื้อสินค้าเหล็กจากต่างประเทศปีหนึ่ง ๆ จำนวนหลายสิบล้านบาท ดังนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2495 จึงได้จัดตั้งกรมโรงงานโลหกรรมในกระทรวงการอุตสาหกรรม มีหน้าที่ทำการถลุงเหล็ก ทำเหล็กให้เป็นเหล็กกล้าและทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ในการเกษตรและอุตสาหกรรม ในปีเดียวกันนี้ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวงกรม พ.ศ.2495 จึงให้เปลี่ยนชื่อกระทรวงการอุตสาหกรรม เป็นกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนทุกวันนี้

ปี พ.ศ.2495 รัฐบาลได้เสนอพระราชบัญญัติธนาคารอุตสาหกรรม พ.ศ.2495 เพื่อส่งเสริมการประกอบอุตสาหกรรม ธนาคารอุตสาหกรรมนี้ได้ยกเลิกเมื่อ พ.ศ.2502 แล้วมีพระราชบัญญัติบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2502 แทน การอุตสาหกรรมในสมัยรัฐบาลชุดที่ 25 ได้มีการจัดตั้งโรงงานผลิตสารส้มและโครงการสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาล การสำรวจและพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคและบริโภค และเพื่อใช้ในการเกษตรกรรม การปศุสัตว์ และการอุตสาหกรรม

นายกรัฐมนตรีไปราชการต่างประเทศ

วันที่ 14 เมษายน พ.ศ.2498 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กับคณะเดินทางไปราชการต่างประเทศในทวีปเอเซีย สหรัฐอเมริกา ยุโรป และอาฟริกา รวม 17 ประเทศ และกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2498

ในวาระแรกที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ถึงกรุงเทพฯ ก็ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือเพื่อให้ซักถามปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการปฎิบัติงานของรัฐบาล และให้สัมภาษณ์อีกหลายครั้ง ทุกครั้งก็ได้ยืนยันอย่างแน่วแน่ว่าจะให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ทั้งโดยนิตินัย และโดยพฤตินัย หนังสือพิมพ์จึงลงประโคมข่าวว่า จอมพล ป. พิบูลสงคราม จะเป็นนักประชาธิปไตย ทั้งนี้เพราะหนังสือพิมพ์และบุคคลหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ตลอดเวลาที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดิน ไม่เคยแสดงความเป็นประชาธิปไตย มีแต่แสดงออกถึงความเป็นเผด็จการ

หลังจากนั้นได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศ รัฐบาลอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองที่เรียกว่า “ไฮปาร์ค” (Hyde-park) ตามแบบอังกฤษ การพูดไฮด์ปาร์ค จึงมีขึ้นในที่สาธารณะต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ท้องสนามหลวง ประชาชนสนใจมาฟังอย่างล้นหลาม ถ้าจะวิเคราะห์รัฐบาลชุดที่ 25 ซึ่งได้บริหารประเทศมา 5 ปี มีฐานอำนาจในรัฐสภาอย่างที่ทำให้รัฐบาลดำรงอยู่ได้ แต่พอเปิดโอกาสให้มีการพูดไฮปาร์ค ก็มีการตำหนิรัฐบาลโดยเฉพาะโจมตี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่เป็นรัฐมนตรีประจำกระทรวงที่สำคัญ เช่น กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เรียกร้องให้ล้มเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 ความวุ่นวายจากการพูดไฮด์ปาร์คจึงทำให้รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกคำอนุญาต ด้วยเหตุผลที่ว่าเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

กรณีสวรรคต

เจ้าหน้าที่ตำรวจเริ่มทำการจับกุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่า จะเป็นผู้ลอบปลงพระชนม์และผู้ร่วมการลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 นายปรีดี พนมยงค์ และเรือเอก วัชรชัย ชัยสิทธิเวช ร.น. หลบหนีออกนอกประเทศไปก่อนถูกหมายจับกุม ผู้ที่ถูกจับได้แก่ นายเฉลียว ปทุมรส นายชิต สิงหเสนี และนายบุศย์ ปัทมศิริน สุดท้ายคำพิพากษาของศาลฎีกาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้ง 3 คน ในฐานะผู้สมคบร่วมคิดและพัวพันกับการลอบปลงพระชนม์ ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2498

วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2499 โปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนยศให้ พลเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นจอมพล จอมพลเรือ และ จอมพลอากาศ และวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2499 โปรดเกล้าฯ พระราชทานยศจอมพลเรือให้แก่ พลเรือเอก หลวงยุทธศาสตร์โกศล

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ได้สิ้นสุดสภาพลงตามวาระในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 (เลือกตั้งเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2495) รัฐบาลจึงได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 เป็นการเลือกตั้งโดยตรง โดยวิธีรวมเขตจังหวัด ถือเกณฑ์จำนวนประชาชน 150,000 คน ต่อผู้แทนราษฎร 1 คน รวมแล้วได้ผู้แทนราษฎร 160 คน ได้เข้ามาทำหน้าที่นิติบัญญัติในรัฐสภาร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งแต่งตั้งเมื่อ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 จำนวน 123 คน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน เพราะแข่งขันกันในนามพรรคการเมือง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติพรรคการเมืองโดยมีเหตุผลว่า ระบอบประชาธิปไตยดำเนินมากว่า 20 ปี สมควรที่จะมีการก่อตั้งพรรคการเมืองให้สมบูรณ์ สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย จึงลงมติให้เป็นกฎหมายพรรคการเมืองได้เมื่อวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2498 ซึ่งนับว่าเป็นกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรก ตั้งแต่นั้นทำให้พรรคการเมืองจดทะเบียนเป็นจำนวนมาก นับถึงวันเลือกตั้งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 มีพรรคการเมืองลงแข่งขัน 23 พรรค

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่ามีพรรคที่ได้รับการเลือกตั้ง 8 พรรค โดยมีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด 3 อันดับแรก คือ พรรคเสรีมนังคศิลา พรรคชาตินิยม และพรรคประชาธิปัตย์

การเลือกตั้งครั้งนี้รัฐบาลถูกกล่าวหาว่าดำเนินการเลือกตั้งไม่สุจริต มีการใช้อิทธิพลข่มขู่ผู้ไปลงเสียงเลือกตั้ง เพราะคิดว่าผู้นั้นจะไปลงคะแนนเสียงให้พรรคอื่นที่ไม่ใช่พรรคของตน และกล่าวหาว่าหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยมีผู้อื่นไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนก่อนเสียบ้าง ไม่มีชื่อในบัญชีผู้ออกเสียงเลือกตั้งบ้าง บางหน่วยนับคะแนนล่าช้าอย่างผิดสังเกต ในตอนค่ำวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 นั้นเอง ประชาชนและนักศึกษาในกรุงเทพมหานคร ได้เดินขบวนไปที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี เป็นทำนองคัดค้านการเลือกตั้งว่าดำเนินการโดยไม่สุจริต โดยขว้างปาทำร้ายเจ้าหน้าที่รักษาการณ์หน้าทำเนียบด้วย

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลาได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด พรรคการเมืองอื่นบางพรรค คิดที่จะฟ้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวและบทความโจมตีรัฐบาลเรื่องการเลือกตั้งสกปรกทุกวัน ขณะเดียวกันนิสิต นักศึกษา ก็จะทำการประท้วงอีก ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2500 ห้ามการชุมนุมสาธารณะ การเดินขบวน และมั่วสุมกันเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ห้ามพิมพ์หรือโฆษณาข้อความและเอกสารใด ๆ ที่จะกระทบกระเทือนถึงความมั่งคงหรือความปลอดภัยแห่งราชอาณาจักรหรือเป็นการก่อกวนความสงบเรียบร้อยของประชาชน คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหาร มีอำนาจในการสั่งเคลื่อนย้ายกำลังทหารบก เรือ อากาศ ได้อย่างเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่ประชาชนทั่วไป นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มชุมนุมกันภายในมหาวิทยาลัย และยื่นข้อเสนอต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 เป็นโมฆะ ให้นักศึกษาเข้าไปเป็นกรรมการเลือกตั้ง ให้สอบสวนลงโทษผู้กระทำผิด และขอให้ผู้รับผิดชอบตอบคำถามนี้ภายใน 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมการปกครองเป็นผู้ตอบคำถามแต่ไม่เป็นที่พอใจ ผู้ชุมนุมจึงเดินขบวนต่อไปยังทำเนียบ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกมาพบกลุ่มคนที่เดินขบวน แต่แล้วก็ไม่สามารถเจรจาด้วยได้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเป็นผู้ออกมาพบกับผู้ชุมนุม สลายฝูงชนได้สำเร็จ รัฐบาลจึงแก้ปัญหาความตึงเครียดด้วยการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ.2500

จากเหตุการณ์ครั้งนี้ มีผลให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีบทบาททางการเมืองเด่นชัดเหนือกว่าพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งเป็นคู่แข่งคนสำคัญ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นกำลังสำคัญของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ตั้งแต่มีรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2490 เมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 เมษายน พ.ศ.2491 มีกบฎหลายกลุ่ม เพื่อจะวางแผนปราบปรามผู้ที่คิดการปฎิวัติหรือรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงได้แต่งตั้งให้พันเอก เผ่า ศรียานนท์ ไปเป็นรองอธิบดีตำรวจฝ่ายปราบปราม และต่อมาได้เลื่อนยศเป็นพลตำรวจตรี ได้ทำการกวาดล้างพวกกบฎ พร้อมกับพลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ตำแหน่งในขณะนั้น) ทั้งสองคนได้ทำงานคู่กันมาโดยตลอด ตั้งแต่กบฎวังหลวงถึงกบฎแมนฮัตตัน ต่อมาพลตำรวจตรี เผ่า ศรียานนท์ ได้เลื่อนยศเป็นพลตำรวจเอก ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจ ได้ขยายกำลังตำรวจอย่างเต็มที่ มีทั้งตำรวจม้า ตำรวจสุนับ ตำรวจน้ำ ตำรวจตระเวนชายแดน ตำรวจพลร่มและกองทัพเสือดำ เป็นการสร้าง “รัฐตำรวจ” ตำรวจจึงศรัทธา พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อย่างยิ่ง นอกจากสร้างฐานอำนาจด้วยตำรวจแล้ว พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ยังสร้างอิทธิพลทางการเมืองเข้าร่วมคณะรัฐบาล และทำการค้าด้วย ทางฝ่ายจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ควบคุมกำลังทหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องอาศัยการสนับสนุนจากบุคคลทั้งสองไปพร้อม ๆ กัน แต่พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ กับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความขัดแย้งกันมาโดยตลอด แม้จะร่วมอยู่ในรัฐบาลเดียวกัน พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้ให้ตำรวจสันติบาลสืบทั้งความเคลื่อนไหวของฝ่ายจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เสมอ และทั้งสองฝ่ายต่างใช้หนังสือพิมพ์โจมตีซึ่งกันและกัน หนังสือพิมพ์ของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ สารเสรีและพิมพ์ไทยรายวัน ส่วนของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ คือ เผ่าไทยและหนังสือพิมพ์ 2500 หนังสือพิมพ์ฝ่ายจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะโจมตีพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เรื่องการค้าฝิ่นเถื่อนและเรื่องการสนับสนุนให้มีการลอบทำร้ายนักการเมืองและนักหนังสือพิมพ์ฝ่ายตรงกันข้าม ส่วนหนังสือพิมพ์ของฝ่าย พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ก็จะลงข่าวโจมตีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในเรื่องชู้สาว และการใช้เงินกองสลากกินแบ่ง ความขัดแย้งทวีความรุนแรงเมื่อพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ย้ายนายยศ โกมาลยสุต หัวหน้ากองคลัง สำนักงานสลากกินแบ่ง ซึ่งเป็นคนของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วแต่งตั้ง นายปุ่น จาติกวณิช เข้าดำรงตำแหน่งแทน การแตกแยกของบุคคลสำคัญซึ่งเป็นฐานอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีผลกระทบกระเทือนเสถียรภาพของรัฐบาล สุดท้ายในการหาเสียงของพรรคเสรีมนังคศิลาซึ่งมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค และพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ เป็นทั้งเลขาธิการพรรค และอธิบดตำรวจจึงมีอำนาจมากในขณะนั้น พรรคเสรีมนังคศิลา ได้ทุ่มเททรัพย์ แจกของกินของใช้ ประมาณการจ่ายเงินเป็นจำนวนถึง 20 ล้านบาท

ในเวลาเดียวกัน ความจงรักภักดีของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีต่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เปลี่ยนไป สาเหตุจากการที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้เสรีภาพแก่หนังสือพิมพ์วิพากษ์วิจารณ์งานของรัฐบาล และปล่อยให้มีการพูดในที่สาธารณะ การแสดงออกของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ โน้มเอียงไปทางแยกพวกจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นได้ชัดจากการที่ประนีประนอมกับประชาชน แสดงตนเป็นฝ่ายนิสิต นักศึกษา เมื่อมีการเดินขบวนเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งไม่เรียบร้อย เมื่อ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 คำปราศรัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับขบวนการเรียกร้องดังกล่าว จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้นำไปปราศรัยทางวิทยุกระจายเสียงด้วย ย่อมจะพิจารณาว่า จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หาคะแนนนิยมให้ตนเองด้วย

รัฐบาลชุดที่ 26 (21 มีนาคม - 16 กันยายน พ.ศ.2500)

เมื่อพรรคเสรีมนังคศิลา มีผู้แทนราษฎรที่เข้ามาในสภาสูงสุด จึงทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาลขึ้น พรรคได้เสนอจอมพล ป. พิบูลสงคราม หัวหน้าพรรคดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2500 แต่งตั้งรัฐมนตรี 28 คน ร่วมรัฐบาล ได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรและได้รับมติไว้วางใจ

รัฐบาลได้บริหารราชการแผ่นดิน เริ่มด้วยงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ คือการฉลองที่พุทธศาสนาได้ยั่งยืนมาจนถึง 2500 ปี นับแต่วันที่พระพุทธเจ้าดับขันธ์ปรินิพพาน จัดในวันวิสาขบูชา วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2500 และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติลบล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ และร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาส 25 พุทธศตวรรษ เป็นการอภัยทานแก่บุคคลที่เคยต้องโทษและเป็นการให้อภัยแก่ผู้ที่มุ่งร้ายรัฐบาลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ

สภาผู้แทนราษฎรนำโดยนายควง อภัยวงศ์ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อให้รัฐบาลแถลงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ การบริหารการคลัง การบริหารกิจการด้านต่างประเทศ การจัดการศึกษา มาตรฐานการครองชีพของประชาชน การเศรษฐกิจ การป้องกันและการปราบปรามคอรัปชั่น การไม่รับผิดชอบต่อประชาชน และการรักษาสัจวาจา แต่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ลงชื่อขอเปิดอภิปรายมีเพียง 68 นาย จึงไม่สามารถอภิปรายตามมาตรา 76 คือ ไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือรัฐมนตรีรายตัวได้ จึงทำได้เพียงการอภิปรายให้รัฐบาลตอบ ซึ่งรัฐบาลก็ไม่อาจตอบปัญหาข้องใจของฝ่ายค้านให้กระจ่างชัดได้ ผลจากการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลโท ถนอม กิตติขจร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลตรี ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตรี ศิริ ศิริโยธิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสหกรณ์ และพลอากาศโท เฉลิมเกียรติ วัฒนางกูร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ขอลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2500 เป็นการแยกตัวของสมาชิกพรรครัฐบาลหรือพรรคเสรีมนังคศิลา

เสถียรภาพของรัฐบาลยังไม่มั่นคง เมื่อ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับนายทหารอื่น ๆ จำนวน 46 คน (ไม่ใช่นายทหาร 2 คน) ลาออกจากสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา ต่อมาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ก็ได้ลาออกอีก 91 คน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลคือ ขอให้รัฐบาลลาออกทั้งคณะ เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และให้พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองและราชการประจำทุกตำแหน่ง และจะต้องเดินทางไปอยู่ต่างประเทศ ข้อเสนอนี้ยื่นเมื่อ 13 กันยายน พ.ศ.2500 ในวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2500 รัฐบาลออกแถลงการณ์ทางวิทยุกระจายเสียง มีใจความว่า รัฐบาลได้ปรับปรุงคณะให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย และเสียงเรียกร้องของประชาชน เช่น ถอนตัวออกจากการค้า และแยกข้าราชการประจำออกจากข้าราชการการเมืองแล้ว พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ก็ได้ออกจากตำแหน่งอธิบดตำรวจแล้ว ข้อเสนอของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ควรตกไปด้วย

การแถลงการณ์ตอบโต้ของฝ่ายรัฐบาลแสดงว่ารัฐบาลไม่ยอมลาออก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงกระทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 และมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้หนี้ออกนอกประเทศ ส่วนพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ขอเดินทางไปสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตตามคำขอ

ในวันที่ 18 กันยายน พ.ศ.2500 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช 2495 โดยมีเงื่อนไขดังนี้

สมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกประเภทที่ 1 และประเภทที่ 2 สิ้นสุดลง

ให้ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 1 ภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันประกาศพระบรมราชโองการนี้

จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 จำนวนไม่เกิน 123 นาย ระหว่างที่สมาชิกประเภทที่ 1 ยังไม่เข้ารับหน้าที่ ให้สมาชิกประเภทที่ 2 ทำหน้าที่ไปพลางก่อน

ผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดิน

ในวันเดียวกันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภท 2 จำนวน 121 คน สภาผู้แทนราษฎรได้ประชุมและเลือกสรรผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมลงมติว่าผู้ที่เหมาะสมกับตำแหน่งนี้ได้แก่นายพจน์ สารสิน ตำแหน่งเลขาธิการ ส.ป.อ. เหตุผลที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ แนะนำให้เลือกนายพจน์ สารสิน เพราะประเทศไทยผูกพันกับประชาคมโลก การรับรองรัฐบาลไทยโดยรัฐบาลต่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็น องค์การ ส.ป.อ. เป็นองค์การที่มีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ จะช่วยให้รัฐบาลใหม่ได้รับการรับรองจากต่างประเทศได้ง่ายขึ้น ทั้งนายพจน์ สารสิน เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ฐานะตระกูลมั่งคั่ง ได้รับความเชื่อถือจากฝ่ายทหาร ตลอดจนไม่อยู่ในอาณัติพรรคการเมืองใด

รัฐบาลชุดที่ 27 (21 กันยายน – 26 ธันวาคม พ.ศ.2500)

นายพจน์ สารสิน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีรัฐมนตรีร่วมคณะ 27 คน รัฐบาลแถลงนโยบายและสภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจ

รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติการตรวจสอบจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการศึกษาอบรมจากชั้นประถมศึกษา ตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่า ถ้าผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในจังหวัดใดได้รับการศึกษาอบรมจบชั้นประถมศึกษาเกินกว่าครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดในจังหวัดให้สมาชิกประเภทที่ 2 พ้นจากตำแหน่งมีจำนวนเท่ากับจำนวนผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งในจังหวัดนั้น โดยคณะรัฐมนตรีประกาศจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งที่จบชั้นประถมศึกษาในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบด้วย จึงให้ประกาศเป็นกฎหมาย นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรได้ตราข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการพ้นจากสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติที่กล่าวมาแล้วไว้ด้วย

เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 มีการติดต่อพบปะกับประชาชนอยู่เสมอ รัฐบาลเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมอบค่าใช้จ่ายให้ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ได้ค่ารับรองเดือนละ 3,000 บาท

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2500 เป็นไปตามกำหนด ผลการเลือกตั้งมีพรรคที่ได้เสียงข้างมากคือ พรรคสหภูมิ ได้รับเลือกตั้ง 44 คน พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 39 คน ไม่สังกัดพรรคใด 58 คน นอกนั้นเป็นพรรคที่ได้ผู้แทนราษฎรน้อยกว่า 10 คน อีก 6 พรรค รวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 160 คน

ภายหลังการเลือกตั้งแล้ว นายพจน์ สารสิน ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและกลับไปทำงานที่องค์การ ส.ป.อ. เช่นเดิม

รัฐบาลชุดที่ 28 (1 มกราคม – 20 ตุลาคม พ.ศ.2501)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ให้ พลโท ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี การที่พลโท ถนอม กิตติขจร ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นเกี่ยวเนื่องจากการที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ.2500 หลังจากได้พ้นตำแหน่งผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร ต่อมาจดทะเบียนตั้งพรรคชาติสังคม จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นหัวหน้าพรรคและพลโท ประภาส จารุเสถียร เป็นเลขาธิการพรรค ได้รวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 จากพรรคต่าง ๆ ที่ สำคัญ คือ พรรคเสรีมนังคศิลา และผู้แทนราษฎรไม่สังกัดพรรค รวมได้ 80 คน และรวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่สมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติสังคม รวมได้ 202 คน พรรคชาติสังคมจึงได้เป็นผู้จัดรัฐบาล โดยสนับสนุนพลโท ถนอม กิตติขจร

พลโท ถนอม กิตติขจร ได้จัดตั้งรัฐมนตรีร่วมคณะ 29 คน สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจนโยบายของรัฐบาลคณะนี้เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2501

การเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 แทนสมาชิกประเภทที่ 2 ที่จับสลากออกจากตำแหน่ง (30 มีนาคม พ.ศ.2501)

การเลือกตั้งเข้าแทนตำแหน่งครั้งนี้เป็นครั้งแรก โดยจัดขึ้นใน 5 จังหวัด ได้แก่ พระนคร ธนบุรี กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ได้ผู้แทนราษฎร 26 คน เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ 13 คน พรรคชาติสังคม 9 คน ไม่สังกัดพรรค 4 คน

การบริหารประเทศของรัฐบาลพลโท ถนอม กิตติขจร ไม่ราบรื่นเท่าที่ควร เกิดปัญหา ที่กระทบกระเทือนเสถียรภาพของรัฐบาล ดังนี้

1.ความขัดแย้งในหมู่สมาชิกผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล

เนื่องจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคชาติสังคม ไม่ได้รับการเลือกตั้งมาในนามพรรคชาติสังคม แต่มาจากพรรคการเมืองอื่น ๆ จึงมีความคิดเห็นต่างกัน เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งก็กล่าวโจมตีซึ่งกันและกัน การที่เข้ามาร่วมในพรรคชาติสังคมก็หวังจะได้ตำแหน่งบริหาร ตั้งแต่ตำแหน่งรัฐมนตรี จนถึงตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตลอดถึงประโยชน์ต่าง ๆ ที่พึงได้ในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล

เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมใน 5 จังหวัดดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์ได้ชัยชนะในกรุงเทพและธนบุรีทั้งหมด แสดงว่าประชาชนในเมืองหลวงไม่ให้การสนับสนุนรัฐบาลเท่าที่ควรและมีข่าวว่าคณะรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 ขอให้พรรคชาติสังคมเปิดประชุมและขอทราบเหตุผลในการพ่ายแพ้การเลือกตั้ง พลโท ถนอม กิตติขจร จึงจัดการปรับคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2501 ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 คน เดิมอยู่พรรคสหภูมิและไม่สังกัดพรรค เข้าร่วมรัฐบาล ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ผู้ที่ไม่ได้ตำแหน่งมีทีท่าจะปลีกตัวไป ตั้งพรรคใหม่เป็นฝ่ายค้าน

2. ปัญหาเรื่องงบประมาณปี 2502

รัฐบาลประสบปัญหาเรื่องงบประมาณรายจ่ายเกินรายรับถึง 2,200 ล้านบาท ถึงจะพยายามเพิ่มรายได้จาการบริหารจัดเก็บภาษีอากรต่าง ๆ ก็เพิ่มได้อีก 700 ล้านบาท จึงได้ออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเดือนละ 3 งวด ทำรายได้เพิ่มอีก 117 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลจึงต้องกู้เงินจากธนาคารโลกและกองเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อให้งบประมาณลงตัว

ปัญหาเรื่องงบประมาณ พ.ศ.2502 นี้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งลี้ภัยอยู่ที่ญี่ปุ่นได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ต่างประเทศ และเขียนจดหมายถึงหนังสือพิมพ์ในประเทศไทย ทำนองว่ารัฐบาลไม่มีสมรรถภาพในการทำงบประมาณ ถึงอย่างไรก็ตาม ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2502 ก็ผ่านสภาผู้แทนราษฎรด้วยคะแนนเสียง 131 ต่อ 66

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องสุขอนามัยของประชาชน กล่าวคือ เกิดอหิวาตกโรคระบาดอย่างรุนแรงในประเทศไทย รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาอย่างรีบด่วน แต่กระนั้นก็ไม่ทันการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงชักชวนให้ประชาชนโดยเสด็จพระราชกุศลซื้อเครื่องกลั่นน้ำ เกลือและเวชภัณฑ์ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ตลอดจนทรงให้แพทย์หลวงช่วยฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ประชาชน จำนวนคนเจ็บป่วยและต้องเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรคจึงลดลง

ปัญหาที่ประชาชนเกิดความไม่พอใจรัฐบาลอีกประการหนึ่งก็คือ การที่รัฐบาลมีนโยบายให้ขึ้นค่าเล่าเรียนในสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้บรรดาผู้ปกครอง นักเรียนยกขบวนไปร้องเรียนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพื่อจะเสนอญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ถนอม กิตติขจร (ปรับการเลื่อนยศจากเดิม พลโท) บริหารประเทศได้ไม่ครบปี ก็ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501

หากจะวิเคราะห์สถานการณ์บ้านเมืองขณะนั้น ที่ยังไม่อยู่ในวาระที่ พลเอก ถนอม กิตติขจร จะบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ แต่ พลเอก ถนอม กิตติขจร ต้องการจะเปิดโอกาสให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บริหารประเทศ จึงได้ลาออกจากตำแหน่ง โดยให้เหตุผลว่า ไม่อาจบริหารราชการแผ่นดินให้บรรลุผลสมตามความปรารถนาได้ การที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่บริหารประเทศ เมื่อคราวทำรัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ.2500 และต่อมาเมื่อคราวเปลี่ยนรัฐบาลชุดนายพจน์ สารสิน มาเป็นรัฐบาลชุดพลโท ถนอม กิตติขจร ก็เพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีความจำเป็นต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลวอเตอร์รีด โรงพยาบาลศูนย์กลางทางการแพทย์ทหารบกของสหรัฐอเมริกา ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2501 ประการหนึ่ง และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือเมื่อทำรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 นั้น มิได้มีการแก้ไขรูปแบบการปกครองบ้านเมืองใหม่ คงปล่อยให้ดำเนินการไปตามแบบเดิม มีรัฐสภา มีพรรคการเมือง มีเสรีภาพที่จะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองการปกครองอย่างกว้างขวาง มีสิทธิตามที่ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ รัฐบาลพยายามที่จะบริหารประเทศให้ดีที่สุด แต่ทำไม่ได้เพราะผู้แทนราษฎรทั้งหลายในระยะนั้นแย่งกันเป็นรัฐมนตรี หรือแย่งกันที่จะได้ประโยชน์ มิฉะนั้นก็จะต้องเป็นฝ่ายค้าน จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร เมื่อ 16 กันยายน พ.ศ.2500 จึงถือว่าเป็นความรับผิดชอบของตนที่จะแก้ไขเหตุการณ์ด้วยการก่อการปฎิวัติ

ดังนั้นในวันเดียวกันกับที่พลเอก ถนอม กิตติขจร ลาออก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้เป็นหัวหน้าคณะปฎิวัติทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีเหตุผลว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แทรกซึม และสร้างอิทธิพลเหนือจิตใจประชาชนคนไทย ด้วยวิธีการและแผนการที่ฉลาดเพื่อทำลายสถาบันของชาติ ตัวแทนของคอมมิวนิสต์ได้ขัดขวางการบริหารประเทศ ทำให้เกิดความกินแหนงแคลงใจ ทำให้รัฐบาลไม่มีโอกาสจรรโลงประเทศชาติได้เต็มที่

การดำเนินการบริหารประเทศ ตามประกาศของคณะปฏิวัติสรุปได้ดังนี้

1. คณะปฏิวิติกระทำการปฏิวัติโดยความยินยอมและสนับสนุนของรัฐบาลชุดที่ลาออกไป

2. ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495

3. จะดำเนินการปกครองระบอบรัฐธรรมนูญ เทิดทูนพระมหากษัตริย์และจะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมให้สภาผู้แทนและคณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง

4. ศาลทั้งหลายคงมีอำนาจพิจารณาอรรคคดีตามบทกฎหมายเช่นเดิม

5. คณะปฏิวัติมีกองบัญชาการปฏิวัติ มีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้บังคับบัญชา

6. ปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ปฏิบัติงานในอำนาจของรัฐมนตรีด้วย ถ้าเป็นเรื่องด่วนและมีปัญหาให้เสนอขอความวินิจฉัยต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติ

7. ประกาศใช้กฎอัยการศึกษาทั่วราชอาณาจักร

หัวหน้าคณะปฏิวัติได้ประกาศยกเลิกพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พุทธศักราช 2498 และให้บรรดาพรรคการเมืองที่จัดตั้งไว้สิ้นสุดลงตั้งแต่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501

การยึดอำนาจการปกครองที่ผ่านมา คณะรัฐประหารก็มักจะยกเลิกรัฐธรรมนูญและยุบสภาผู้แทนราษฎร พร้อมกับจัดให้มีการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งสมาชิกใหม่เข้ามาแทนที่ จึงยังคงให้มีรัฐสภาทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติเช่นเดิม

อย่างไรก็ตาม ในครั้งนี้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไม่ได้ทำเช่นคณะรัฐประหารชุดก่อน ๆ เพราะได้มองเห็นว่ารัฐสภา ทำตนเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐมนตรีจึงไม่ให้มีรัฐสภา เมื่อพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นอุปสรรคก็จะสั่งเลิกหรือระงับเสีย อาทิไม่พอใจรัฐธรรมนูญก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ปกครองแผ่นดินโดยไม่มีรัฐธรรมนูญนานถึง 3 เดือน ต่อมาจึงได้ประกาศธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502

ประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

คณะปฏิวัติได้ประกาศธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เมื่อวันที 28 มกราคม พ.ศ.2502 มีบทบัญญัติเพียง 20 มาตรา กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยสมาชิกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้ง จำนวน 240 คน สภาดังกล่าวทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย

จากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญประชุมและสรรหาบุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมาชิกมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลชุดที่ 29 (9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 – 8 ธันวาคม พ.ศ.2506)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี และแต่งตั้งรัฐมนตรีร่วมคณะจำนวน 13 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายให้สภาร่างรัฐธรรมนูญทราบ โดยไม่มีการลงมติไว้วางใจ ระหว่างที่รัฐบาลบริหารประเทศสภาร่างรัฐธรรมนูญมิได้มีบทบาทใดมาก จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเป็นผู้มีอำนาจมากได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นอธิบดีกรมตำรวจอีกตำแหน่งหนึ่ง ขอบเขตอำนาจของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงครอบคลุมทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ และเมื่อประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2502 มาตรา 17 ของธรรมนูญให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีที่จะทำการใด ๆ อันเกี่ยวข้องการบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ โดยถือว่าคำสั่งของนายกรัฐมนตรีนั้นชอบด้วยกฎหมาย

ช่วงระยะเวลา 4 ปีเศษ ที่ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีผลงานโดยสรุป คือ

1. การบริหารประเทศ

นโยบายการบริหารประเทศ คือการพัฒนา ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่กับการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ ได้จัดให้มีสภาพัฒนาทางเศรษฐกิจแห่งชาติ และคณะกรรมการบริหารสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ได้ประกาศแผนการพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ.2504 – 2509) เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของชาติ เป้าหมายในการพัฒนามีดังนี้ ยกระดับอัตราการเพิ่มรายได้ประชาชาติจากร้อยละ 4 เป็นร้อยละ 5 รักษาการสะสมทุน เพิ่มมูลค่าผลผลิตทางเกษตร เพิ่มมูลค่าผลิตผลทางอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ เพิ่มพลังการผลิตพลังงานไฟฟ้า ก่อสร้างทางหลวงใหม่ 1000 กิโลเมตร พัฒนาการขนส่ง คมนาคม สาธารณสุข และชลประทาน จนมีคำขวัญว่า “น้ำไหลไฟสว่าง ทางดี”

2. ด้านการศึกษา

ได้มีแผนการศึกษาของชาติ พ.ศ.2530 ขยายการศึกษาชั้นประถมศึกษาถึง ป.7 มีโรงเรียนมัธยมแบบประสม ตั้งมหาวิทยาลัยในส่วนภูมิภาค เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีความช่วยเหลือการต่างประเทศหลายหน่วยงาน เช่น ยูซอม (USOM) ให้อุปกรณ์การศึกษา ทุนการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญ มีโครงการซีแรพ (SEARP) สอนภาษาอังกฤษ มีหน่วยสันติภาพ (Peace Corps) อเมริกันฟิลเซอร์วิส (American Field Service) มูลนิธิฟูลไบรท์ (Fullbright Foundation) มูลนิธิเอเซีย (Asia Foundation) และยังมีประเทศอื่นๆ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศสให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษา รวมทั้งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)

3.ด้านความมั่นคงของประเทศ

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้วิธีปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายก่อกวนหรือคุกคามคววามสงบ เช่น การลักลอบวางเพลิง การค้าเฮโรอีน และมีพฤฒิกรรมเป็นคอมมิวนิสต์ มีผู้ต้องโทษถึงประหารชีวิต 11 คน ตั้งโรงพยาบาลรักษาผู้ติดฝิ่น ปราบปรามหญิงโสเภณี และกวดขันการเล่นการพนัน

รัฐบาลได้จัดตั้งกรรมการคณะหนึ่ง พิจารณาจับกุมบุคคลที่เห็นว่ามีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ ปิดหนังสือพิมพ์ โรงพิมพ์ โรงภาพยนต์ ยึดหนังสือ ฟิลม์ภาพยนต์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน

ได้ยุบกระทรวงยุติธรรมเอาหน่วยงานในกระทรวงวัฒนธรรมไปรวมกับกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตั้งกระทรวงใหม่คือ กระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ สภาวิจัยแห่งชาติ การพลังงานแห่งชาติ สำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงบประมาณ ฯลฯ

อาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ บริหารประเทศ ได้เริ่มพัฒนาประเทศอย่างจริงจังเป็นระบบอย่างชัดเจน

กรณีเขาพระวิหาร เจ้านโรดมสีหนุ ยื่นฟ้องต่อศาลโลกว่าไทยได้เอาปราสาทหินเขาพระวิหาร ซึ่งเป็นของเขมรไปเป็นของไทย ผลของคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารเป็นของกำพูชา

จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506

รัฐบาลชุดที่ 30 (9 ธันวาคม พ.ศ.2506 – 6 มีนาคม พ.ศ.2512)

ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญได้นำชื่อ พลเอก ถนอม กิตติขจร ทูลเกล้าฯ เสนอให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศสืบต่อจากรัฐบาลของ จอมพลสฤษดิ์ ธระรัชต์ คณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ยังคงเป็นชุดเดิม จำนวน 19 คน และรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อขอความไว้วางใจ

สภาร่างรัฐธรรมนูญยังคงดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ มาแล้วเสร็จในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511

รัฐบาล พลเอก ถนอม กิตติขจร ได้บริหารงานต่อในปี พ.ศ.2507 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศ พลเอก ถนอม กิตติขจร เป็นจอมพล จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ

จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้ใช้อำนาจที่มีอยู่ตามมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502 ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณษความผิดและพิจารณษยึดทรัพย์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นเรื่องอื้อฉาวมาก คำสั่งเรื่องให้ทรัพย์สินในกองมรดก ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐในคำสั่งอ้างว่า โดยปรากฎโดยแจ้งชัดปราศจากข้อสงสัยว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขณะยังมีชีวิตอยู่ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในราชการมิชอบ กระทำการเบียดบังและยักยอกทรัพย์สินของรัฐไปหลายครั้งหลายหน มีจำนวนมากมายถึง 604,551,276 บาท 62 สตางค์ การกระทำดังกล่าวนี้มีผลเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร การยึดทรัพย์รายการนี้ ทำให้จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้รับสมญาว่า “นายกคนซื่อ” มิได้เห็นแก่พวกพ้อง ส่วนภาพพจน์ของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเคยเป็น “ขวัญใจของประชาชน” ถูกมองเป็นผู้โกงกินและบ่อนทำลายชาติ

นโยบายต่างประเทศ

รัฐบาลชุดนั้นได้ดำเนินความผูกพันกับสหรัฐอเมริกาแบบเดียวกับที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำไว้ ได้แก่ การส่งทหารเข้าไปช่วยร่วมรบในเวียดนาม ยินยอมให้สหรัฐอเมริกาใช้ฐานทัพในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2506 เพื่อปฎิบัติการรบในเวียดนามสถานการณ์การรบในเวียดนามรุนแรงเพิ่มขึ้น รัฐบาลส่งกำลังทหารไทยไปช่วยสหรัฐอเมริกาและเวียดนามใต้ อีก 2 รุ่น คือ หน่วยจงอางศึกกับกองพลเสือดำ ทำให้ประเทศไทยมีส่วนพัวพันกับสงครามเวียดนามเต็มตัว ต่อมาไทยยินยอมให้สหรัฐอเมริกาตั้งสถานีเรดาร์ที่ค่ายราสูร จังหวัดขอนแก่น

ในเวลาเดียวกัน ประเทศไทยได้ส่งทหารรับจ้างในความดูแลของกองทัพไทยไปสนับสนุนการรบป้องกันคอมมิวนิสต์ในประเทศลาว นโยบายต่างประเทศของไทยถูกโจมตีว่าเป็นนโยบายตามหลังสหรัฐอเมริกา

นโยบายด้านเศรษฐกิจ

ประเทศไทยเปลี่ยนทุนสำรองโดยเอาค่าของเงินบาทออกจากมาตราฐานทอง มาเป็นการใช้เงินบาทอิงดอลล่าร์สหรัฐอเมริกา สงครามเวียดนามและความไม่สงบในชนบทของไทยมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ สงครามเวียดนามทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น จากค่าใช้จ่ายของทหารอเมริกาที่เข้ามาพักผ่อนในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการตั้งฐานทัพ สร้างสนามบิน สร้างเครือข่ายโทรคมนาคม และยังมีค่าจ้างให้ทหารรับจ้างไปรบอีกด้วย ส่วนความไม่สงบในชนบท มาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ต่อสู้ด้วยอาวุธ การต่อต้านคอมมิวนิสต์เป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โครงการของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทส่วนใหญ่จึงอยู่ภาคนี้ มุ่งใช้งบประมาณไปในการสร้างถนนยุทธศาสตร์ เพื่อการทหาร การเมือง และเศรษฐกิจ ภาคอุตสาหกรรม มีการลงทุนโดยเอกชนที่มีฐานการเงินร่วมกับทุนนิยมต่างชาติ ภาคเกษตรกรรมยังล้าหลัง ขาดบริการทางเทคโนโลยี่ สินเชื่อ การตลาด การอุตสาหกรรม จะอยู่ในเขตุกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ เพราะใกล้ศูนย์กลางการบริหารประเทศและใกล้ท่าเรือ สะดวกในการขนถ่ายสินค้าและค้าขายต่างประเทศ กิจการอุตสาหกรรมในส่วนภูมิภาคที่ได้รับการส่งเสริมมักจะเป็นโรงแรม ทางภาคเหนือมีโรงบ่มใบยาสูบ และทางภาคใต้มีห้องเย็น ในต่างจังหวัดอื่นๆจะเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่ผลิตสินค้าสำหรับท้องถิ่น

นโยบายด้านความมั่นคงของชาติ

รัฐบาลได้ตั้งหน่วยงานเสริมการพัฒนาชนบท คือกองอำนวยการรักษาความปลอดภัยหน่วยกลางเพื่อการพัฒนา (กรป.กลาง) และสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท (รพช.) จัดตั้งกอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในประเทศ (กอ.รมน.) ทำหน้าที่ช่วงชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ได้เกิดความไม่สงบภายในประเทศ เหตุการณ์ที่สำคัญในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2508 เกิดการประทะระหว่างเจ้าหน้าที่ กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เป็นครั้งแรก ที่อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งเรียกวันนี่ว่า “วันเป็นแตก” จอมพล ถนอม กิตติขจร สั่งให้ใช้กำลังขนาดใหญ่ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน เข้าโจมตีกวาดล้าง ก่อให้เกิดการสู้รบอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ทวีความรุนแรง ทำให้ราชการต้องสูญเสียชีวิตข้าราชการและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้กำหนดพื้นที่สีแดงในหลายท้องที่เป็นแหล่งแทรกซึมและเขตอิทธิพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511

สภาร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาถึง 9 ปี จนกระทั่งวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 จึงแล้วเสร็จ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511 รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นในวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2511 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งวุฒิสภา จำนวน 120 คน

ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ได้ให้เสรีภาพบริบูรณ์ในการรวมกันเป็นพรรคการเมืองวุฒิสภาในฐานะรัฐสภา จึงได้ตราพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ.2511 ประกาศใช้วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2511 ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป มีพรรคการเมืองมาจดทะเบียน รวม 17 พรรค

รัฐบาลให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 ได้ผู้แทนราษฎรรวม 219 คน พรรคสหประชาไทย ซึ่งมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุดจำนวน 76 คน รองลงไปได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ 57 คน การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า พรรครัฐบาลของจอมพล ถนอม กิตติขจร เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ โดยใช้งบประมาณและอุปกรณ์ของทางราชการในการหาเสียง

เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 219 คน จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาเพิ่มอีก 44 คน รวมเป็น 164 คน เพื่อให้มีจำนวนเท่ากับ 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รัฐบาลชุดที่ 31 (7 มีนาคม พ.ศ.2512 – 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2514)

พรรคสหประชาไทยมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงได้จัดตั้งรัฐบาล ในวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2512 จอมพล ถนอม กิตติขจรได้รับโปรดเกล้าฯให้เป็นนายกรัฐมนตรี และได้แต่งตั้งคณะรัฐมนตรี จำนวน 28 คน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อทราบ

รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการคือ

ปัญหาที่เกิดจากสภาผู้แทนราษฎร
เนื่องจากคะแนนเสียงในพรรครัฐบาลมีเพียง 110 เสียง เกินกว่าครึ่งเพียง 1 เสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการเสียงของพวกตน จึงทำให้เกิดการต่อรองและสร้างความสับสน ทำให้การบริหารราชการของรัฐบาลติดขัดอยู่เนืองๆ เช่น ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ พ.ศ.2512 – 2513 รัฐบาลถูกคณะกรรมาธิการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกฝ่ายค้านถ่วงดึงเรื่องให้ช่กว่าปกตินานถึง 2 – 3 เดือน ทำให้เกิดภาวะเงินฝืด เพราะขาดเงินทุนหมุนเวียนในตลาดการเงิน การลงทุนก็ต้องหยุดชะงักชั่วขณะ และเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพ ฯ ปี 2514 แทนตำแหน่งที่ว่างลง คุณหญิง เลขา อภัยวงศ์ ลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ ชนะพรรคสหประชาไทยอย่างท่วมท้น

ปัญหาภายในประเทศ
ช่วงปี พ.ศ.2513 มีการก่อการร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมากขึ้น โดยจัดตั้งฐานที่มั่นขึ้นทั่วประเทศ มีการรบในพื้นที่มากกว่า 20 จังหวัด ทำให้เกิดปัญหาทางความมั่น